แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
จะแสดงพระพุทธคุณบทว่า วิชชาจรณสัมปันโน ผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ ได้แสดงวิชชา ๓ ไปแล้ว วันนี้จะได้แสดงวิชชา ๘ ที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ในหลายพระสูตร แต่ก่อนที่จะได้นำวิชชา ๘ มาแสดง ก็ต้องทำความเข้าใจว่า วิชชาที่แสดงเกี่ยวแก่ฤทธิ์ต่างๆ ซึ่งอาจเห็นว่าเป็นสิ่งที่ไม่เป็นไปได้ แต่ก็ควรจะรับฟังว่าได้มีวิชชาดังกล่าวนี้ในพุทธศาสนาเอง และท่านก็ได้อ้างถึงผู้ที่ปฏิบัติทางจิตอย่างยิ่งแม้ก่อนพุทธกาล ก็ได้ก็ถึงวิชชาที่เกี่ยวแก่ฤทธิ์ ต่างๆ นี้มาแล้วหลายประการ เรียกได้ว่าวิชชาข้อต้นๆ ทั้งหมดนั้นท่านได้ท่านถึงกันมาแล้ว แต่วิชชาข้อสุดท้ายคืออาสวักขยญาณความรู้เป็นเหตุสิ้นอาสวะ นอกจากในพุทธศาสนาแล้วยังไม่มีได้กันมา
พระพุทธเจ้าทรงได้ทรงถึงจนถึงอาสวักขยญาณ จึงทรงเป็นพระพุทโธคือเป็นพระผู้ตรัสรู้แล้ว ผู้ที่ยังมิได้ถึงอาสวักขยญาณ แต่ว่าได้วิชชาอย่างอื่นจากอำนาจจิตที่อบรมดีแล้ว คือ แม้ว่าจะได้ในข้อต้นๆ มาทั้งหมดแต่ก็มิได้เป็นพระพุทโธคือเป็นพระผู้ตรัสรู้แล้ว ฉะนั้น จึงสมควรที่จะรับฟังเพื่อทราบไว้ว่าท่านได้ท่านถึงกันมา และการได้การถึงนี้ก็เกิดจากข้อปฏิบัติเป็นเครื่องดำเนินถึงวิชชาที่เรียกว่าจรณะ เพราะฉะนั้น จึงจะไปอธิบายถึงทางปฏิบัติให้ถึงวิชชาในตอนที่จับแสดงจรณะ จรณะเป็นเหตุ วิชชาเป็นผล จึงจะแสดงผลก่อน ตามลำดับถ้อยคำที่ว่าวิชชาจรณสัมปันโน
วิชชา ๓ ที่ได้แสดงไปแล้วก็คือ ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ความรู้จักระลึกขันธ์เป็นที่อาศัยอยู่ในปางก่อนได้ หรือที่เรียกง่ายๆ ว่าระลึกชาติได้ ๒ จุตูปปาตญาณ ความรู้จักจุติคือความเคลื่อน และอุปบัติคือความเข้าถึง ชาตินั้นๆ ของสัตว์ทั้งหลาย ว่าเป็นไปตามกรรม อาสวักขยญาณ ความรู้เป็นเหตุสิ้นอาสวะกิเลสที่ดองจิตสันดาน วิชชา ๘ ที่จะแสดงในวันนี้ ก็คือมีเติมเข้าอีก ๕ ข้อข้างต้น ส่วน ๓ ข้อข้างหลังก็คือวิชชา ๓ นั้นเอง
วิปัสสนาญาณ
๕ ข้อข้างต้นที่เติมเข้ามานั้น ก็คือ วิปัสสนาญาณ ความรู้จักด้วยความรู้แจ้งเห็นจริงในกายนี้ซึ่งมีวิญญาณอาศัยอยู่ ว่าเป็นไปตามคติธรรมดาคือโดยไตรลักษณ์ อันได้แก่การที่มาพิจารณากายใจนี้ หรือนามรูปนี้โดยไตรลักษณ์ ว่ากายนี้อันเป็นส่วนรูป ประกอบด้วยธาตุดินน้ำไฟลม อาศัยอาหารมีข้าวเป็นต้นบำรุงเลี้ยง เป็นของไม่เที่ยง ต้องทะนุบำรุงมีบีบนวดเยียวยารักษาต่างๆ เป็นต้น และแม้นามคือความรู้เป็นสุขเป็นทุกข์เป็นกลางๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข ความรู้จำได้หมายรู้ ความรู้คิดปรุงหรือปรุงคิด ความรู้ที่เรียกว่าเห็นที่ได้ยินได้ทราบที่ได้คิดได้รู้ทางอายตนะ อันเรียกว่า เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งเป็นนามธรรมคู่อยู่กับรูปธรรม ก็เช่นเดียวกัน คือไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลง ไม่พึงเห็นยึดถือว่าเป็นเราเป็นของเรา
เมื่อพิจารณาที่กายนี้ จับที่รูปกายตลอดถึงนามกายโดยไตรลักษณ์ จนมีความรู้ความเห็นปรุโปร่ง คือชำแรก นิจจะสัญญา ความกำหนดหมายว่าเที่ยง สุขสัญญา ความกำหนดหมายว่าเป็นสุข อัตตสัญญา ความกำหนดหมายว่าเป็นตัวตน ในรูปในนาม กายนี้ก็จะโปร่งจะใส โดยไม่มีนิจจะสัญญา สุขสัญญา อัตตสัญญา ตั้งอยู่ในจิต จึงปรากฏรู้แจ้งเห็นจริงในวิญญาณที่บริสุทธิ์ผ่องใส อันตั้งอาศัยอยู่ในกายนี้ ซึ่งได้ตรัสไว้ว่าเปรียบเหมือนอย่างแก้วไพทูรย์ที่งดงามเกิดเอง ที่จาระนัยดี ซึ่งมีด้ายสีเขียวเหลืองแดงขาวนวลร้อยอยู่ในภายใน บุรุษผู้มีจักษุหยิบเอาแก้วไพทูรย์นี้ วางไว้ในมือ และมองดูก็จะมองเห็นด้ายสีเขียวเหลืองแดงขาวนวลที่ร้อยอยู่ในแก้วไพทูรย์นั้น
ก็เหมือนอย่างเมื่อน้อมจิตไปเพื่อญาณทัสสนะ ความรู้ความเห็นที่กายนี้ ก็ย่อมจะได้รู้ได้เห็นกายนี้ตามเป็นจริง และได้รู้ได้เห็นวิญญาณซึ่งอาศัยอยู่ในกายนี้ตามเป็นจริง เหมือนอย่างมองดูแก้วไพทูรย์ ที่งดงามและใส ก็มองเห็นด้ายสีต่างๆ ที่ร้อยอยู่ในแก้วไพทูรย์นั้น นี้เรียกว่าวิปัสสนาญาณเป็นวิชชาที่ ๑
มโนมยิทธิ
(เริ่ม) มโนมยิทธิญาณ คือความรู้จักแสดงฤทธิ์ นิรมิตมโนมัยกายคือกายที่สำเร็จจากใจ มโนมยะ มโนมัย แปลว่าสำเร็จจากใจ อิทธิแปลกันว่าฤทธิ์ ตามศัพท์แปลว่าความสำเร็จ ก็คือน้อมจิตไปเพื่อนิรมิตรูปที่สำเร็จจากใจ คือนิรมิตกายอื่นจากกายนี้ มีรูปที่สำเร็จจากใจ มีอินทรีย์ที่สมบูรณ์ คือเหมือนมีตามีหูมีจมูกมีลิ้นมีกายและมีมนะคือใจ ซึ่งเป็นอินทรีย์ ๖ ของกายใจบุคคลนี้
ตรัสเปรียบเหมือนอย่างว่าชักไส้ออกจากหญ้าปล้อง และก็พิจารณาดูรู้ว่า นี่เป็นไส้ นี่เป็นหญ้าปล้อง หรือเปรียบเหมือนชักดาบออกจากฝัก พิจารณาดูรู้จักว่านี่เป็นดาบนี่เป็นฝัก หรือเปรียบเหมือนอย่างดึงงูออกจากคราบ พิจารณาดูรู้จักว่านี่เป็นงูนี่เป็นคราบ ก็คือนิรมิตหรือนำมโนมัยกาย กายที่สำเร็จจากใจออกจากกายนี้ เหมือนอย่างชักไส้หญ้าปล้องออกจากหญ้าปล้องเป็นต้นนั้น อันมโนมัยกายนี้ไม่มีสรีระสัณฐานเหมือนอย่างรูปกาย
มโนมัยกาย กายทิพย์
ในเมืองไทยนี้ท่านผู้ปฏิบัติกรรมฐานและสนใจในวิชชานี้ ท่านตั้งชื่อเรียกว่ากายทิพย์ ส่วนกายธรรมดาซึ่งประกอบขึ้นด้วยธาตุดินน้ำไฟลมเรียกว่ากายเนื้อ กายทิพย์นี้ก็คือมโนมัยกาย หรือมโนมัยรูป ซึ่งท่านได้แสดงเอาไว้ในประวัติพระพุทธศาสนา ว่าพระพุทธเจ้าโดยปรกติเสด็จไปด้วยกายเนื้อ แต่ในบางคราวเสด็จไปด้วยกายทิพย์ หรือมโนมัยกายนี้
ดังเช่น ที่ได้มีแสดงไว้ว่าพระภิกษุบางรูป ได้ออกปฏิบัติกรรมฐานในป่า หรือในเสนาสนะป่า หรือในที่อันสงบสงัด เมื่อกระแสจิตของท่านได้ดำเนินไปในวิปัสสนากรรมฐาน แต่ว่าได้มีความชงักงันอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ปรากฏว่าพระพุทธเจ้าได้เสด็จ ไปประทับอยู่ในที่เฉพาะหน้าท่าน และก็ได้ทรงแสดงธรรมะสั่งสอนแก้ไขข้อที่ติดขัดนั้น ท่านเห็นพระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรด ได้ยินพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมะสั่งสอน แล้วก็เสด็จกลับ ท่านก็ดำเนินปฏิบัติต่อตามที่ตรัสแนะนำ ก็ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน มีแสดงไว้หลายเรื่องดั่งนี้ และท่านแสดงว่าที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปนั้น ก็เสด็จไปด้วยมโนมัยกายหรือกายทิพย์นี้เอง หลายครั้งหลายคราว มโนมยิทธินี้เป็นวิชชาที่ ๒
อิทธิวิธิญาณ
อิทธิวิธิญาณคือความรู้จักวิธีแสดงฤทธิ์ ก็คือน้อมจิตไปเพื่ออิทธิวิธิ แสดงฤทธิ์ด้วยวิธีต่างๆ ตามที่น้อมจิตไปว่าจะแสดงวิธีไหนอย่างไร ดังที่ท่านแสดงไว้เช่น คนเดียวเป็นมากคนหลายคนเป็นคนเดียว ปรากฏตัวหายตัว เดินทะลุฝากำแพงภูเขา เหมือนอย่างเดินไปในที่ว่าง ดำดินโผล่ขึ้นเหมือนอย่างดำน้ำโผล่ขึ้น ดำน้ำ เดินบนน้ำเหมือนเดินบนแผ่นดิน ไปในอากาศได้เหมือนนก ดั่งนี้เปนต้น ตรัสเปรียบไว้เหมือนอย่างช่างหม้อ หรือลูกศิษย์ของช่างหม้อผู้ฉลาด เมื่อได้เตรียมดินไว้ดี ก็ปั้นภาชนะดินต่างๆ ได้ตามต้องการ หรือเหมือนอย่างช่างงา เตรียมงาไว้ดี ก็แกะสลักงาเป็นเครื่องงาต่างๆ ได้ตามต้องการ หรือเหมือนอย่างช่างทองหลอมทองดี ก็ทำทองรูปพรรณต่างๆ ได้ตามต้องการ อิทธิวิธิญาณนี้เป็นวิชชาที่ ๓
ทิพยโสตญาณ
ทิพยโสตญาณ ญาณคือความหยั่งรู้ด้วยทิพยโสต หูทิพย์ น้อมจิตไปเพื่อทิพยโสตญาณ ก็ฟังเสียงได้ ๒ อย่างคือเสียงทิพย์ หรือเสียงมนุษย์ เสียงทิพย์และเสียงมนุษย์ ทั้งที่ไกลทั้งที่ใกล้ เหมือนอย่างคนเดินทางไกลได้ยินเสียงสังข์เสียงตะโพน ก็รู้ว่านี่เป็นเสียงสังข์เสียงตะโพน ในที่ใกล้บ้างที่ไกลบ้างที่ผ่านไป ทิพยโสตญาณนี้เป็นวิชชาที่ ๔
เจโตปริยญาณ
เจโตปริยญาณความรู้จักกำหนดใจของผู้อื่นได้ คือน้อมจิตไปเพื่อเจโตปริยญาณ ก็กำหนดรู้ใจได้ อ่านใจได้ ที่ท่านแสดงไว้ก็คือ จิตมีราคะก็รู้ว่าจิตมีราคะ จิตปราศจากราคะก็รู้ว่าจิตปราศจากราคะ จิตมีโทสะก็รู้ว่าจิตมีโทสะ จิตปราศจากโทสะก็รู้ว่าจิตปราศจากโทสะ จิตมีโมหะก็รู้ว่าจิตมีโมหะ จิตปราศจากโมหะก็รู้ว่าจิตปราศจากโมหะ จิตหดหู่ก็รู้ว่าจิตหดหู่ จิตฟุ้งก็รู้ว่าจิตฟุ้ง จิตถึงความเป็นใหญ่คือกว้างขวาง ก็รู้ว่าจิตถึงความเป็นใหญ่คือกว้างขวาง จิตไม่ถึงความเป็นใหญ่คือกว้างขวาง ก็รู้ว่าจิตไม่ถึงความเป็นใหญ่คือกว้างขวาง จิตที่มีจิตอื่นยิ่งกว่าก็รู้ว่าจิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า จิตที่ไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่าก็รู้ว่าจิตที่ไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า หรือจิตที่มีความยิ่งก็รู้ว่าจิตที่มีความยิ่ง จิตที่ไม่ยิ่งก็รู้ว่าจิตที่ไม่ยิ่ง จิตที่มีสมาธิก็รู้ว่าจิตมีสมาธิ จิตที่ไม่มีสมาธิก็รู้ว่าจิตไม่มีสมาธิ จิตวิมุติคือหลุดพ้นก็รู้ว่าจิตวิมุติหลุดพ้น จิตที่ไม่วิมุติหลุดพ้นก็รู้ว่าจิตไม่วิมุติหลุดพ้น ตรัสเปรียบไว้ว่าเหมือนอย่างบุรุษสตรีส่องดูเงาหน้าในแว่นส่อง หรือกระจกเงา หรือในน้ำที่สะอาด ก็จะเห็นหน้าของตนว่ามีตำหนิมีจุดไม่สะอาด หรือว่าไม่มีตำหนิสะอาด เจโตปริยญาณนี้เป็นวิชชาที่ ๕
วิชชา ๓
ปุพเพนิวาสนานุสสติญาณ ความรู้จักระลึกชาติหนหลังได้ ตรัสเปรียบไว้เหมือนอย่างบุรุษคนหนึ่งที่ออกจากบ้านของตนไปเยี่ยมบ้านนั้นบ้านนี้ แล้วก็กลับมาบ้านของตน ก็รู้ระลึกได้ว่าตนออกจากบ้านไปบ้านนั้น เดินยืนนั่งนอนพูดเป็นต้นอย่างนั้นๆ ออกจากบ้านนั้นไปบ้านโน้นก็ไปทำไปพูดอย่างนั้นๆ ออกจากบ้านโน้นกลับมาสู่บ้านของตน ปุพเพนิวาสานุสสติญาณนี้เป็นวิชชาที่ ๖
จุตูปปาตญาณ ความรู้จักจุติคือความเคลื่อน อุปบัติคือความเข้าถึงชาตินั้นๆ ของสัตว์ทั้งหลาย ว่าเป็นไปตามกรรม ตรัสเปรียบไว้เหมือนอย่างว่า บุรุษขึ้นไปสู่ปราสาทที่ตั้งอยู่ที่ถนนสามแพร่ง มองลงมาก็เห็นหมู่มนุษย์หมู่คน เดินออกจากบ้านบ้าง เดินเข้าบ้านบ้าง นั่งอยู่ที่ทางสามแพร่งบ้าง เดินไปตามถนนบ้าง จุตูปปาตญาณนี้เป็นวิชชาที่ ๗
อาสวักขยญาณ ความรู้จักทำอาสวะให้สิ้น คือญาณที่เป็นเหตุสิ้นไปอาสวะกิเลสที่ดองจิตสันดานทั้งหลาย ตรัสเปรียบไว้เหมือนอย่างว่าบุรุษผู้มีจักษุยืนอยู่ที่ริมสระน้ำที่ใสสะอาด ก็มองเห็นก้อนกรวดหอยโข่งเป็นต้นอยู่ในน้ำ มองเห็นปลาว่ายไปว่ายมาอยู่ในน้ำ
ญาณที่เป็นเหตุสิ้นอาสวะ ก็รู้เห็นทุกข์ เหตุเกิดทุกข์ ความดับทุกข์ ทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ รู้เห็นอาสวะ เหตุเกิดอาสวะ ความดับอาสวะ ทางปฏิบัติให้ถึงความดับอาสวะ เมื่อรู้เมื่อเห็นจิตก็พ้นจากอาสวะทั้งหลายไม่ยึดมั่น และเมื่อพ้นแล้วก็รู้ว่าพ้นแล้ว สิ้นชาติแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่พึงทำได้กระทำแล้ว ไม่มีกิจอื่นที่จะพึงทำเช่นนี้อีก ย่อมรู้เห็นตามเป็นจริงเหมือนอย่างบุรุษที่ยืนอยู่ริมฝั่งสระ มองเห็นก้อนหินหอยโข่งเป็นต้นอยู่ในสระ มองเห็นปลาว่ายไปว่ายมาอยู่ในสระฉะนั้น อาสวักขยญาณนี้เป็นวิชชาที่ครบ ๘ อันเป็นข้อสำคัญ พระพุทธเจ้าทรงถึงพร้อมด้วยวิชชาที่ตรัสแสดงไว้ก็คือวิชชา ๓ วิชชา ๘
และข้อสำคัญก็คืออาสวักขยญาณ ซึ่งด้วยญาณนี้จึงทรงเป็นพุทโธคือเป็นผู้ตรัสรู้แล้ว ญาณคือความหยั่งรู้ทั้งปวงนี้เป็นปัญญาเป็นวิชชา ซึ่งต้องอาศัยสติความระลึกได้ หรือความรู้ระลึก ก็คือระลึกรู้ในกายในเวทนาในจิตในธรรม สติปัฏฐานนี้เองเป็นตัวหลักใหญ่
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป