แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
การปฏิบัติกรรมฐาน ผู้ปฏิบัติใช้หลักปฏิบัติในสติปัฏฐานเป็นส่วนใหญ่ และพระสูตรที่แสดงสติปัฏฐานซึ่งเป็นพระสูตรใหญ่ ที่เรียกว่า มหาสติปัฏฐานสูตร ก็ได้ประมวลข้อกรรมฐานไว้เป็นอันมาก ซึ่งได้ถือเป็นหลักในการอบรมกรรมฐานในสำนักนี้ และสำหรับในพรรษกาลที่แล้วมาจนถึงบัดนี้ ก็ได้ถือหลักสติปัฏฐานดั่งกล่าว แต่ว่าได้แสดงแทรกธรรมะจากพระสูตรต่างๆ ได้อธิบายธรรมะจากพระสูตรต่างๆ นั้น มิได้แสดงอธิบายสติปัฏฐาน ๔ โดยตรง โดยพิสดาร เพราะว่าได้เคยอธิบายไว้โดยพิสดาร และได้พิมพ์เป็นเล่มไว้ ผู้ต้องการทราบอธิบายในสติปัฏฐานโดยตรง ก็อาจที่จะหาอ่านได้ และแม้ว่าธรรมะที่แสดงอธิบายแทรกเข้ามานั้น จะเป็นธรรมะจากพระสูตรอื่น แต่ก็รวมเข้าได้ในมหาสติปัฏฐานสูตรทั้งสิ้น ดังเช่นที่ได้ยกเอาข้อสัมมาทิฏฐิความเห็นชอบ จากสัมมาทิฏฐิสูตร ที่ท่านพระสารีบุตรได้แสดง มาอธิบายติดต่อกันมากครั้ง จนจบกระแสความในสัมมาทิฏฐิสูตรนั้น ก็รวมเข้าได้ในมหาสติปัฏฐานสูตรเช่นเดียวกัน เพราะในมหาสติปัฏฐานสูตรนั้น ก็ได้แสดงมรรคมีองค์ ๘ ในหมวดอริยสัจจ์ ๔ มรรคมีองค์ ๘ นั้น ก็มีสัมมาทิฏฐิเป็นข้อแรก เพราะฉะนั้น เมื่อจับแสดงสัมมาทิฏฐิ ก็เป็นอันว่าได้แสดงข้อธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน
ในวันนี้จะได้แสดงสรุปสติปัฏฐาน ๔ ตามที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสเอาไว้ในพระสูตรหนึ่ง แต่ก่อนที่จะแสดง ก็ขอกล่าวให้ทราบว่า ข้อที่แสดงจากพระสูตรที่กล่าวนี้ มิได้ยกข้อต่างๆ ตรงกับมหาสติปัฏฐานสูตรทั้งหมด แต่เลือกหยิบยกมาทรงแสดง และทรงแสดงในทางปัญญา แต่ก็พึงทราบว่าแม้ในทางสมาธิก็ย่อมรวมอยู่ในแนวเดียวกัน สติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้ที่จะแสดงในวันนี้ จึงอาจจะยากไปสำหรับผู้ที่มาอยู่ใหม่ ผู้ที่เข้ามาใหม่ แต่ว่าให้ถือว่าเป็นการแสดงสรุปในคราวสุดท้ายของพรรษกาลที่แล้ว เมื่อเริ่มแสดงใหม่เมื่อเข้าพรรษานี้แล้ว จึงจะได้แสดงตั้งต้น ซึ่งเป็นข้อที่จะฟังได้ง่ายขึ้น
สติปัฏฐานทั้ง ๔ ก็คือตั้งสติ คือความระลึกได้หรือความระลึกรู้ไว้ ในกาย ในเวทนา ในจิต และในธรรม ในมหาสติปัฏฐานสูตรได้รวบรวมข้อที่พึงพิจารณาในกายไว้ ก็คือ ข้อว่าด้วยลมหายใจเข้าออก ข้อว่าด้วยอิริยาบถทั้ง ๔ ยืนเดินนั่งนอน ข้อว่าด้วยสัมปชัญญะความรู้ตัว ในความเยื้องกรายอิริยาบถทั้ง ๔ นี้ และอิริยาบถประกอบทั้งหลาย ข้อว่าด้วยกายนี้จำแนกออกเป็นอาการทั้งหลายมี ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้น ข้อว่าด้วยธาตุ ๔ ดินน้ำไฟลม ข้อว่าด้วยป่าช้า ๙ คือพิจารณาศพที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า แยกออกเป็น ๙ ข้อ ตั้งต้นแต่ศพที่ตายแล้ววันหนึ่งสองวันสามวันเป็นต้นไป จนถึงเป็นกระดูกผุป่น
ตั้งสติ พิจารณาเวทนา ก็คือตั้งสติกำหนดเวทนา ความรู้เป็นสุขเป็นทุกข์ หรือเป็นกลางๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข ทั้งที่เป็นสามิสคือมีกิเลสเป็นเครื่องล่อให้เกิดขึ้น ทั้งที่เป็นนิรามิสคือไม่มีกิเลสเป็นเครื่องล่อ หรือเป็นเครื่องนำให้เกิดขึ้น
ตั้งสติ พิจารณาจิต ก็คือตั้งสติกำหนดดูจิตใจนี้ ที่มีราคะความติดใจยินดี หรือปราศจากราคะความติดใจยินดี ที่มีโทสะหรือปราศจากโมสะ ที่มีโมหะความหลงหรือปราศจากโมหะความหลง เป็นต้น
ตั้งสติ พิจารณาธรรม ก็คือตั้งจิตกำหนดดู ธรรมะทั้งหลายที่บังเกิดขึ้นในจิต ตั้งต้นแต่กำหนดดูนิวรณ์ทั้ง ๕ คือกิเลสที่เป็นเครื่องกั้นจิต บังเกิดขึ้นกลุ้มรุมจิต มีกามฉันท์ความพอใจรักใคร่อยู่ในกาม พยาบาทความมุ่งร้ายปองร้ายเป็นต้น
กำหนดดูขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ กำหนดดูความเกิดของขันธ์ ๕ ความดับของขันธ์ ๕
ตั้งสติกำหนดดูอายตนะภายในทั้ง ๖ ที่รับอายตนะภายนอกทั้ง ๖ อายตนะภายในภายนอกที่รับกัน ก็คือตากับรูปที่ประจวบกัน หูกับเสียงที่ประจวบกัน จมูกกับกลิ่นที่ประจวบกัน ลิ้นกับรสที่ประจวบกัน กายและสิ่งถูกต้องกายที่ประจวบกัน มโนคือใจกับธรรมะคือเรื่องราวที่ประจวบกัน เกิดสัญโญชน์คือความผูกใจ และก็ให้รู้จักความเกิดของสัญโญชน์ ความดับของสัญโญชน์ และสัญโญชน์ที่ดับแล้วจะไม่เกิดขึ้น
ตั้งสติกำหนดดูโพชฌงค์ทั้ง ๗ มีสติโพชฌงค์องค์แห่งความรู้คือสติ ธัมวิจยโพชฌงค์องค์แห่งความรู้ คือธรรมวิจัยความเลือกเฟ้นธรรมเป็นต้น
ตั้งสติกำหนดดูอริยสัจจ์ทั้ง ๔ คือทุกข์ เหตุเกิดทุกข์ ความดับทุกข์ ทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ก็รวมเป็นตั้งสติ ในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม ที่ตรัสไว้ในมหาสติปัฏฐานสูตร วิธีปฏิบัติตั้งสติใน กาย เวทนา จิต ธรรม และได้ตรัสสรุปไว้ในพระสูตรอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งได้ตรัสอธิบายวิธีปฏิบัติตั้งสติ ในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม
รวมความเข้ามาว่า ให้ปฏิบัติตั้งสติ คือความระลึกได้ ความกำหนดได้ ในกาย ก็คือใน ปฐวีกาย กายที่เป็นส่วนดิน อาโปกาย กายที่เป็นส่วนน้ำ เตโชกาย กายที่เป็นส่วนไฟ วาโยกาย กายที่เป็นส่วนลม เกสากาย กายที่เป็นส่วนผม โลมากาย กายที่เป็นขน ฉวิกาย กายที่เป็นส่วนผิว จัมมะกาย กายที่เป็นส่วนหนังมังสะกาย ที่เป็นส่วนเนื้อ นหารูกาย กายที่เป็นส่วนเส้นเอ็น อัฏฐิกาย ที่เป็นส่วนกระดูก อัฏฐิมิญชะ กายกายที่เป็นส่วนเยื่อในกระดูก
ตั้งสติ กำหนดเวทนา ก็คือใน สุขเวทนา เวทนาความรู้ที่เป็นสุข ทุกขเวทนา ความรู้ที่เป็นทุกข์ อทุกขมสุขเวทนา เวทนาที่มิใช่สุขมิใช่ทุกข์ ตั้งสติกำหนดเวทนาที่เกิดทางสัมผัสทางตา เวทนาที่เกิดจากสัมผัสทางหู เวทนาที่เกิดจากสัมผัสทางจมูก เวทนาที่เกิดจากสัมผัสทางลิ้น เวทนาที่เกิดจากสัมผัสทางกาย เวทนาที่เกิดจากสัมผัสทางมโนคือใจ ( เริ่ม) ตั้งสติ กำหนดจิตใจ ก็คือกำหนดดูจิตที่มีราคะคือความติดใจยินดี หรือที่ปราศจากราคะคือความติดใจยินดี จิตที่มีโทสะหรือจิตที่ปราศจากโทสะ จิตที่มีโมหะหรือจิตที่ปราศจากโมหะ จิตที่ฟุ้งซ่านหรือจิตที่หดหู่ จิตที่ถึงความใหญ่ด้วยเมตตาภาวนาสมาธิเป็นต้น หรือจิตที่ไม่ถึงความใหญ่ จิตที่ยิ่งคือยิ่งด้วยสมาธิปัญญาวิมุติหลุดพ้น หรือจิตที่ไม่ยิ่ง จิตที่มีสมาธิหรือจิตที่ไม่มีสมาธิ จิตที่หลุดพ้นหรือจิตที่ไม่หลุดพ้น
ตั้งสติ กำหนดดูธรรม คือธรรมะที่เป็นกุศล หรือเป็นอกุศล หรือที่เป็นกลางๆ ต่างๆ อันนอกไปจากข้อที่กล่าวแล้วในกายในเวทนาและในจิตทั้ง ๓ ข้างต้น และได้ตรัสทางปฏิบัติเพื่ออะไร หรือโดยวิธีอย่างไรไว้ว่า ในการปฏิบัติตั้งสติดั่งกล่าวนั้น ก็ให้ปฏิบัติพิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม ทั้งหมด โดยเป็นอนิจจะ คือไม่เที่ยง เป็นสิ่งที่เกิดดับ มิใช่โดยนิจจะคือเป็นของเที่ยง โดยเป็นทุกข์คือเป็นสิ่งที่ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไม่ตั้งอยู่คงที่ มิใช่โดยเป็นสุข โดยเป็นอนัตตามิใช่ตัวตน มิใช่เป็นเรา มิใช่เป็นของเรา ไม่ใช่โดยอัตตาคือโดยเป็นตัวตน เป็นตัวเราเป็นของเรา มีความหน่ายมิใช่มีความเพลิดเพลิน มีความคลายความติดใจ มิใช่ติดใจ มีความดับคือดับตัณหาความดิ้นรนทะยานอยากของใจ มิใช่ก่อตัณหา มีความสละวางมิใช่มีความยึดถือ
การปฏิบัติตั้งสติก็โดยวิธีดังที่กล่าวมานี้ เพื่อให้เห็นว่าไม่เที่ยง ต้องเกิดดับ เป็นทุกข์ ต้องมีความแปรปรวนเปลี่ยนแปลง เป็นอนัตตามิใช่ตัวเราของเรา และเพื่อหน่ายไม่เพลิดเพลิน เพื่อคลายความติดใจ มิใช่ติดใจ เพื่อดับตัณหาดับทุกข์ มิใช่ก่อให้เกิดตัณหาก่อทุกข์ เพื่อปล่อยวางมิใช่เพื่อยึดถือ
ภาวนา การปฏิบัติ ๔ ประการ
และได้ตรัสสอนถึงวิธีปฏิบัติ ว่าการปฏิบัตินั้นเรียกว่า ภาวนา ที่แปลว่า ทำให้เกิดขึ้น ทำให้มีขึ้น และภาวนานั้นจะทำอย่างไร ก็ได้ตรัสสอนเอาไว้อีกว่า ภาวนาอันหมายถึงปฏิบัตินั้น ก็คือปฏิบัติทำสติ ความระลึกได้ หรือความกำหนด ทำญาณความหยั่งรู้ที่เป็นตัวปัญญาให้บังเกิดขึ้น ให้มีขึ้น ทันในธรรมะที่เกิดขึ้นในเวลานั้น โดยไม่ให้พลาด ไม่ให้ล่วงเลยเผลอเรอในธรรมะที่บังเกิดขึ้นในเวลานั้น
ยกตัวอย่างเช่นว่า เมื่อตั้งจิตกำหนดดูกาย เช่นลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ก็หมายถึงว่ากำหนดลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ที่บังเกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน ดั่งเช่นกำหนดลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ที่บังเกิดยู่ในบัดนี้ หายใจเข้าในบัดนี้ ก็มีสติมีญาณกำหนดรู้ หายใจออกในบัดนี้ ก็มีสติมีญาณกำหนดรู้ มิใช่ว่าเผลอ หายใจเข้าหายใจออกอยู่ในบัดนี้ แต่ว่าจิตมิได้กำหนด หรือกำหนดไม่ทัน จึงไม่มีสติไม่มีญาณอยู่ในลมหายใจเข้า ลมหายใจออกนั้น เพราะว่าเผลอสติ หรือว่าจิตไม่ตั้งกำหนด ไม่ตั้งเพื่อที่จะรู้
ฉะนั้น หน้าที่ของภาวนาคือ การปฏิบัติประการแรก ก็คือกำหนดให้มีสติ ให้มีปัญญาหรือญาณ กำหนดทันต่อธรรมะที่เกิดขึ้นในเวลานั้น นี่เป็นหน้าที่ของภาวนาประการที่ ๑ และให้รวมอินทรีย์ทั้งหลายมาปฏิบัติกิจคือหน้าที่พร้อมกัน ได้แก่รวมตา หู จมูก ลิ้น กาย และมนะ คือใจ ให้มาปฏิบัติหน้าที่กำหนด อยู่ในธรรมะที่เกิดขึ้นในเวลานั้น สุดแต่ว่าจะยกเอาข้อไหน กายข้อไหน เวทนาข้อไหน จิตข้อไหน ธรรมะข้อไหน ขึ้นมา ก็ให้ทั้งตา ทั้งหู ทั้งจมูก ทั้งลิ้น ทั้งกาย ทั้งมนะคือใจ มาปฏิบัติหน้าที่กำหนดรู้พร้อมกัน ไม่ใช่ว่าทั้ง ๖ นี้จะแยกย้ายกันไปทำงานทำหน้าที่ต่างๆ กัน ตาไปดูเสียทางหนึ่ง หูไปฟังเสียทางหนึ่ง จมูก ลิ้น กาย มนะคือใจไปเสียทางหนึ่งๆ ต้องรวมกัน กล่าวย่อก็คือว่าต้องรวมกายใจนี้ทั้งหมดเข้ามาเป็นอันเดียวกัน นี่เป็นหน้าที่ของภาวนาประการที่ ๒
และนำความเพียรพยายามปฏิบัติ โดยเริ่มดำเนินและก้าวหน้าไป จนบรรลุถึงเป้าหมาย บรรลุถึงความสำเร็จ เป็นสติเป็นญาณ กำหนดรู้อยู่ในธรรมะที่เกิดขึ้นในเวลานั้น คือในกายในเวทนาในจิตในธรรมที่กำหนดนั้น นี่เป็นหน้าที่ของภาวนาเป็นประการที่ ๓
และใช้ความเพียรปฏิบัติส้องเสพอยู่ในข้อที่ปฏิบัตินี้เนืองๆ เสมอๆ ให้สม่ำเสมอไม่ทอดทิ้ง และความส้องเสพนี้ก็หมายความว่า ให้รับเอาข้อที่ปฏิบัตินี้เข้าไปให้ถึงใจ ให้ตั้งอยู่ในใจ เหมือนอย่างบริโภคอาหาร ส้องเสพอาหารบริโภคอาหาร ก็ให้นำเข้าปาก เคี้ยวกลืนเข้าไปให้เข้าถึงในท้อง เพื่อย่อยไปเลี้ยงร่างกาย ในการปฏิบัติก็เช่นเดียวกัน ต้องรับเอาข้อที่ปฏิบัติ กรรมฐานที่ปฏิบัติให้เข้าไปถึงใจ ให้ตั้งอยู่ในใจ ให้แผ่สร้านไปในใจ ดังเช่นที่ให้ปรากฏเป็นปีติเป็นสุขขึ้นในใจ เหมือนอย่างบริโภคอาหารเข้าไปย่อยเลี้ยงร่างกาย ให้ร่างกายอิ่มเอิบ ก็ส้องเสพเอาข้อที่ปฏิบัตินี้เข้าไปให้ถึงใจ ให้ใจอิ่มเอิบ เป็นปีติเป็นสุขขึ้น เป็นผลที่ได้รับ ดั่งนี้เป็นหน้าของภาวนาเป็นประการที่ ๔ ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอนเอาไว้ ก็เป็นอันว่าจบสรุปในสติปัฏฐาน
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป