แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
จะแสดงพระพุทธคุณบทว่า อรหํ ในความหมายว่าผู้สมควร ซึ่งพระอาจารย์ได้แสดงคำต่อไปว่า ผู้สมควรแก่ปัจจัยทั้งหลาย มีจีวรเป็นต้น และมีอีกคำหนึ่งเพื่อให้มีความกว้างขึ้นว่า ผู้ควรบูชาสักการะ สำหรับคำต่อนี้ก็เป็นคำที่ต่อเข้ามา เพื่อขยายความออกไปว่าสมควรแก่อะไรบ้าง แต่คำสำคัญนั้นอยู่ที่ว่าผู้ควร หรือผู้สมควร คำนี้ย่อมมีความหมายรวมอยู่มาก
คำว่าผู้สมควรนั้น เป็นคำที่ใช้อยู่ในที่สำคัญๆ เช่นว่าบุคคลที่จะได้รับมอบหมายให้ทำการงานอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็จะต้องเป็นผู้สมควรที่จะได้รับมอบหมาย บุคคลที่จะได้รับแต่งตั้งให้มีตำแหน่งหน้าที่อย่างใดอย่างหนึ่ง บุคคลผู้ที่จะได้เลื่อนตำแหน่งหน้าที่อย่างใดอย่างหนึ่ง ก็จะต้องเป็นผู้ที่สมควร แม้ว่าในทางตรงกันข้าม เช่นในการที่จะต้องได้รับโทษทัณฑ์อย่างใดอย่างหนึ่ง ก็จะต้องเป็นผู้ที่สมควรที่จะได้รับโทษทัณฑ์อย่างนั้นๆ เพราะฉะนั้นคำว่าเป็นผู้ที่สมควรนี้ จึงมีความหมายที่สำคัญดังกล่าว อันแสดงถึงคุณลักษณะ ของความที่จะต้องได้รับภาวะอย่างใดอย่างหนึ่ง ฐานะอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นทางดีหรือทางไม่ดี ก็จะต้องเป็นผู้ที่สมควรจะได้รับอย่างนั้นๆ
แต่ในความหมายที่เป็นพระพุทธคุณนี้มีความหมายในทางที่ดี ที่สมบูรณ์ (เริ่ม) คือเป็นผู้ที่สมควร เป็นผู้ที่สมควรตั้งต้นแต่ในทางปฏิบัติเพื่อที่จะได้ตรัสรู้ เมื่อก่อนจะตรัสรู้ก็อยู่ในฐานะที่ทรงเป็นพระโพธิสัตว์ และก็ได้ทรงเรียกพระองค์เองว่าโพธิสัตว์ ก่อนที่จะได้ตรัสรู้ ได้ทรงปฏิบัติในมัชฌิมาปฏิปทาข้อปฏิบัติที่เป็นหนทางกลางได้สมบูรณ์ เป็นผู้ที่สมควรจะตรัสรู้ จึงได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ถ้าไม่เป็นผู้ที่สมควรจะตรัสรู้ ก็ไม่อาจจะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าได้
เพราะฉะนั้น จึงทรงเป็นผู้ที่สมควร เป็นผู้ที่มีคุณสมบัติ มีคุณปฏิบัติอันสมควร อันสมบูรณ์ อันเหมาะสมแก่ความที่ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า จึงได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น คำนี้จึงเป็นคำที่มีความหมายอันครอบงำถึงคุณลักษณะ คุณสมบัติทุกประการ ที่สมบูรณ์ ที่เหมาะสม อันรวมอยู่ในคำว่าสมควร และเมื่อตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ก็ทรงประกอบด้วยพระพุทธคุณอันสมควร มีพระพุทธคุณว่าอะระหังเป็นต้น ดังที่มีความหมายได้กล่าวมาแล้ว คือเป็นผู้ไกลกิเลส เป็นผู้กำจัดข้าศึกคือกิเลส เป็นผู้หักกำแห่งสังสารจักร เพราะฉะนั้น จึงเป็นผู้ที่สมควร ตลอดจนถึงสมควรบูชาสักการะ บูชานั้นก็คือ อามิสบูชา บูชาด้วยอามิส มีจีวรบิณฑบาตเป็นต้น ปฏิปัติบูชา บูชาด้วยการปฏิบัติตามที่ทรงสั่งสอน
พระองค์เป็นผู้ที่สมควรบูชาด้วยเครื่องสักการะ วรามิส ทุกอย่าง และสมควรบูชาด้วยการปฏิบัติตามคำสั่งสอน พระองค์สมควรที่จะอภิวาทกราบไหว้ อันแสดงความเคารพทุกอย่างทุกประการ ก็เพราะเป็นผู้ที่มีความสมควรดังกล่าวมาข้างต้น ทรงมีพระคุณอันสมควร ทรงมีความประพฤติที่เป็นประโยชน์อันเรียกว่า อรรถจริยา ความประพฤติประโยชน์อันสมควร คือทรงประพฤติประโยชน์แก่โลก ด้วยมีพระมหากรุณาทรงแสดงธรรมะสั่งสอน โปรดเวไนยนิกรให้พ้นจากกิเลสและกองทุกข์ต่างๆ ทรงประพฤติประโยชน์ต่อพระญาติ ทรงประพฤติประโยชน์โดยฐานะเป็นพระพุทธเจ้า คือทรงแสดงธรรม ทรงบัญญัติพระวินัย ทรงประกอบกระทำประโยชน์ทุกอย่างโดยฐานะเป็นพระพุทธเจ้า ผู้พระบรมศาสดาเอกในโลก อย่างสมบูรณ์
เพราะฉะนั้น ความสมควร คือความบริบูรณ์แห่งพระคุณทั้งปวงดังกล่าวมานี้ จึงทำให้ทรงเป็นผู้สมควรต่อบูชาสักการะ ต่อการกราบไหว้บูชา ต่อความที่จะมีศรัทธาความเชื่อ ปสาทะความเลื่อมใสในพระองค์ ทรงเป็นผู้สมควร โดยทรงเป็นที่ตั้งแห่งศรัทธาปสาทะอย่างแท้จริง อันนำให้ผู้ที่มาบูชาสักการะ มากราบไหว้แสดงความเคารพได้รับบุญกุศล ได้รับประโยชน์ต่างๆ เพราะฉะนั้น จึงเป็นผู้สมควรด้วยประการทั้งปวง มิใช่สมควรเฉพาะปัจจัยมีจีวรเป็นต้นเท่านั้น แต่เป็นผู้ที่มีความสมควรทุกอย่าง ในทางดี ในทางที่เป็นคุณประโยชน์ ดังเช่นที่กล่าวมา
อีกความหมายหนึ่งของพระพุทธคุณบทว่า อรหํ นี้ ก็คือผู้ไม่มีที่ลี้ลับ ที่ท่านแสดงไว้ยกเอาว่า ผู้ไม่กระทำบาปในที่ลับ ซึ่งมีความหมายว่า ไม่กระทำบาปทั้งในที่แจ้ง ทั้งในที่ลับ ทั้งนี้ก็เพราะว่าได้ทรงละกิเลสเครื่องเศร้าหมองในจิต เป็นต้นว่าราคะโทสะโมหะ หรือจะกล่าวอีกนัยหนึ่งว่าละอวิชชา ตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก อุปาทานความยึดถือ ซึ่งเป็นกิเลสได้หมดสิ้น ทรงละได้จนถึงกิเลสที่เป็นอาสวะอนุสัย ที่หมักหมมนอนจม ดองจิตสันดาน
จิตของพระองค์จึงเป็นจิตที่วิมุติหลุดพ้นแล้วจากกิเลสทั้งสิ้น เป็นจิตที่บริสุทธิ์แล้ว เป็นจิตที่ปภัสสรคือเป็นจิตที่ผ่องใส เพราะฉะนั้น จึงไม่มีกิเลสเหลืออยู่ในจิตแม้แต่น้อย เมื่อเป็นดั่งนี้จึงเป็นผู้ที่ไม่มีที่ลี้ลับที่จะซ่อนกิเลสเอาไว้ ที่จะซ่อนบาปอกุศลทุจริตเอาไว้ ทั้งทางกายทั้งทางวาจาทั้งทางใจ และทางใจนั้นก็ตลอดจนถึงในใจส่วนลึกที่สุด คือไม่มีที่ซ่อนอาสวะอนุสัยอยู่ทั้งหมด ต่างจากบุคคลทั่วไปที่ยังมีอาสวะอนุสัยอยู่ แม้ว่าจะปฏิบัติในศีลในสมาธิในปัญญา ละกิเลสอย่างหยาบ ละกิเลสอย่างกลางได้ แต่ว่ายังละอาสวะอนุสัยไม่ได้ เพราะฉะนั้น ในด้านของกายวาจาและใจที่เป็นส่วนตื้น ส่วนที่ปรากฏก็บริสุทธิ์สะอาดแจ่มใส แต่ว่ายังมีที่ลี้ลับ คือยังมีอาสวะอนุสัยดองจิตสันดานอยู่ เพราะฉะนั้นก็เป็นอันว่ายังมีที่ลี้ลับ ก็ชื่อว่ายังกระทำบาปอยู่ในที่ลับ เพราะว่ายังมีอาสวะอนุสัยอยู่
ที่ลับที่หยาบกว่านั้น ก็หมายเพียงว่าลับตาคน ดังคนทั่วไปที่ไม่ทำบาปในที่แจ้ง แต่ทำบาปในที่ลับ ในที่แจ้งก็คือที่คนเห็น แต่ในที่ลับก็ในที่คนอื่นไม่เห็น ที่ลับตาคนอื่น ดั่งนี้เป็นที่แจ้งและที่ลับทั่วๆไป แต่อันที่จริงนั้นแม้ว่าเป็นที่แจ้งที่ลับอย่างหยาบดั่งนี้ ตาคนอื่นไม่เห็น แต่ตาตนเองก็ยังเห็น หรือว่าตนเองก็รู้ตนเองอยู่ว่าทำชั่ว ถ้าทำชั่ว
คราวนี้ที่ลับที่แจ้งที่ละเอียดไปกว่านั้น ก็มีความหมายถึงที่ลับอันละเอียดที่สุด ก็คืออาสวะอนุสัยดังที่กล่าวมา เมื่อยังมีอาสวะอนุสัยอยู่ ก็ยังมีที่ลับอยู่ และแม้ว่าจะกล่าวให้หยาบขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง คือในชั้นที่ปรากฏอยู่ในจิตใจ แต่ไม่ละเมิดออกไปทางกายทางวาจา คือกายวาจานั้นไม่กระทำ เช่นว่าเกิดราคะโทสะโมหะ หรือโลภะโทสะโมหะ หรือตัณหาความดิ้นรนทะยานอยากอยู่ในใจ แต่ว่ากายวาจาไม่กระทำออกไป เช่นไม่มีโอกาสที่จะทำก็ตาม ยังมีศีลรักษาอยู่ มีหิริโอตตัปปะรักษาอยู่ก็ตาม
แต่ว่าใจนั้นยังมี ดั่งนี้ก็ชื่อว่ายังมีที่ลับอยู่เหมือนกัน ชื่อว่ากระทำบาปแม้ในที่ลับ ก็เพราะว่าใจยังบาปอยู่ ใจยังโลภยังโกรธยังหลง ใจยังดิ้นรนทะยานอยากอยู่ ยังมีบาปอยู่ในใจ นี้ว่าตามวิสัยของผู้ที่ยังมีกิเลส เมื่อยังมีกิเลสอยู่ก็ยังมีที่ลับอยู่ดั่งนี้ เป็นที่ลับอย่างหยาบบ้าง เป็นที่ลับอย่างละเอียดลงไปบ้าง จนถึงกิเลสที่ไม่ปรากฏอยู่ในใจ แต่ยังนอนจมดองจิตสันดาน ก็ชื่อว่ายังมีที่ลับซ่อนอยู่ คืออาสวะอนุสัย ก็นับว่าเป็นบาปเป็นอกุศล ที่เป็นอย่างละเอียด ดั่งนี้ก็ชื่อว่ายังมีกิเลส
แต่พระพุทธเจ้าได้ทรงละกิเลสได้หมดสิ้นดังที่กล่าวมาแล้ว เป็นผู้ที่ไกลกิเลสแล้ว เป็นผู้ที่หักกำจัดข้าศึกคือกิเลสแล้ว เป็นผู้ที่หักกำแห่งสังสารจักรได้แล้ว เป็นผู้ที่สมควรแล้ว เพราะฉะนั้น จึงทรงเป็นผู้ที่บริสุทธิ์บริบูรณ์ บริสุทธิ์กายบริสุทธิ์วาจาบริสุทธ์ใจสิ้นเชิง ไม่มีที่ๆจะซ่อนกิเลสเอาไว้ ซ่อนบาปอกุศลทุจริตเอาไว้ เพราะละอาสวะอนุสัยได้ทั้งหมดแล้ว จึงเป็นผู้ที่บริสุทธิ์บริบูรณ์จริงๆ ดั่งนี้แหละเป็นความหมายแห่งข้อว่าไม่มีที่ลับ ไม่กระทำบาปในที่ลับ
เพราะฉะนั้น จึงรวมความหมายแห่งพระพุทธคุณบทว่า อรหํ นี้ ว่าเป็นผู้ไกลกิเลส เป็นผู้กำจัดข้าศึกคือกิเลส เป็นผู้หักกำแห่งสังสารจักร เป็นผู้สมควร เช่นสมควรบูชาสักการะ เป็นผู้ไม่มีที่ลับ ไม่กระทำบาปในที่ลับ รวมความเข้าแล้วก็คือทรงเป็นผู้ที่บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง ทั้งทางกาย ทั้งทางวาจา ทั้งทางใจ ทั้งหมด
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป