แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
จะแสดงพระพุทธคุณบทว่า อรหํ นำ ในความหมายว่าผู้หักกำแห่งสังสารจักร คำนี้มีความหมายที่ลุ่มลึก ทั้งมีศัพท์ที่ควรจะอธิบาย ที่ว่าลุ่มลึกนั้น อันที่จริงก็เป็นสัจจะคือความจริง ซึ่งเป็นธรรมดา เมื่อตั้งใจฟัง ตั้งใจพิจารณา ก็ย่อมจะเข้าใจได้
อันสัจจะคือความจริงนั้นก็จะต้องมีระดับ เหมือนอย่างมหาสมุทรซึ่งจะต้องมีระดับของความลึก แต่ว่าลึกลงไปโดยลำดับ ตั้งแต่ฝั่งแห่งมหาสมุทร และค่อยๆลึกลงไป จนถึงลึกอย่างยิ่ง อันนี้แหละที่เรียกกันว่าเป็น ปรมัตถธรรม คือธรรมะที่มีอรรถะคือเนื้อความเป็นอย่างยิ่ง คือละเอียดก็อย่างยิ่ง ลึกก็อย่างยิ่ง และให้ผลก็อย่างยิ่ง แม้ว่าจะมีลักษณะดังกล่าว ก็อาจหยั่งถึงได้ด้วยปัญญา ที่หยั่งรู้
เหมือนอย่างมหาสมุทรแม้จะลึกซึ้งเท่าไร ก็อาจที่จะวัดได้ ด้วยเครื่องวัดที่สามารถหยั่งถึงส่วนลึกที่สุดของมหาสมุทร ปัญญาก็เช่นเดียวกัน ก็สามารถหยั่งรู้ได้ และก็ปัญญาของทุกคนนี้เอง เพราะทุกคนผู้เกิดมาเป็นมนุษย์ที่แปลว่าผู้มีมนะสูง มนะนั้นแปลกันว่าใจ ผู้มีใจสูง แปลว่าความรู้ ก็แปลว่ามีความรู้สูง เพราะฉะนั้น จึงอาจที่จะอบรมความรู้ที่มีอยู่เป็นพื้น ที่เป็น สชาติปัญญา ปัญญาที่เกิดมาพร้อมกับชาติคือความเกิดนี้ ให้เฉียบแหลมมากขึ้น ให้เป็นความรู้ที่ยิ่งขึ้น ก็จะสามารถหยั่งรู้ถึงได้โดยลำดับ เพราะฉะนั้น ที่เข้าใจว่ายากก็จะเหมือนกับง่าย ในเมื่อได้อบรมปัญญาคือความหยั่งรู้ ให้หยั่งไปโดยลำดับ
เหมือนอย่างการขึ้นบันไดสู่ที่สูง ถ้ามองดูบันไดขั้นต่ำที่สุดกับบันไดขั้นสูงที่สุด ก็จะเห็นว่าอยู่ห่างไกลกัน ถ้าไม่มีบันไดก็ไม่สามารถจะขึ้นไปได้ แต่เมื่อมีบันไดที่เป็นขั้นๆขึ้นไป แม้ว่าขั้นต่ำสุดกับขั้นสูงสุด จะห่างไกลกันเท่าไหร่ก็ตาม เมื่อขึ้นไปโดยลำดับแล้ว ก็เหมือนง่าย ก็จะขึ้นไปถึงขั้นสูงสุดได้ และก็ถึงที่สูงสุดที่ต้องการ ฉะนั้น ปัญญาที่หยั่งรู้ไปโดยลำดับนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งทุกคนสามารถอบรมให้มีได้ และเมื่อมีขึ้นแล้วก็จะเห็นว่าธรรมะนั้นเป็นธรรมดา เป็นสัจจะคือความจริง ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ผิดธรรมดา หรือไม่ใช่เป็นสิ่งที่เหนือความจริง ไม่ใช่ความจริง แต่เป็นสัจจะคือความจริง เป็นธรรมดา จึงไม่ต้องกลัวความจริง ไม่ต้องกลัวธรรมดา ขอให้ตั้งใจฟัง ตั้งใจพิจารณาแล้วก็จะเห็นว่าเป็นความจริง และเป็นธรรมดา
ผู้หักกำแห่งสังสารจักร
จะจับกล่าวถึงอรรถะคือเนื้อความของความหมายแห่งพระคุณบท อรหํ ว่าผู้หักกำแห่งสังสารจักร สังสาระ หรือสงสารแปลว่าท่องเที่ยวไป จักร ก็คือ จักกะ หรือ จักกระ ที่แปลว่าล้อ
ล้อแห่งเกวียน ล้อแห่งรถ ก็เรียกว่าจักร คือจักกระ หรือจักกะ สังสาระจักรก็คือล้อแห่งการท่องเที่ยวไป หรือว่าล้อที่เป็นเครื่องท่องเที่ยวไป คือล้อที่หมุนนำให้ท่องเที่ยวไป และกำของสังสาระจักร ก็คือกำของล้อแห่งการท่องเที่ยวไปดังกล่าว
อันล้อนั้นพระอาจารย์ได้แสดงไว้ว่าย่อมมีดุม มีกำ มีกง นำเข้ามาเทียบกับธรรมะที่ตรัสแสดงในปฏิจจสมุปบาทคือธรรมะที่อาศัยกันบังเกิดขึ้น ท่านเทียบไว้ว่า ดุม ก็เปรียบเหมือนอย่างอวิชชา กง ก็เปรียบเหมือนชรามรณะ ดุมคืออวิชชาเป็นต้น กงคือชรามรณะ ซึ่งหมายรวมถึงโสกะปริเทวะเป็นต้นด้วย ก็เป็นเหมือนกงเป็นปลาย ส่วนกำก็เหมือนอย่างปัจจยาการที่เหลือทั้งหมด ระหว่างอวิชชาและชรามรณะ พร้อมทั้งโสกะปริเทวะเป็นต้น
ในความหมายแห่งพระพุทธคุณบทนี้ที่ว่าผู้หักกำแห่งสังสารจักร หักกำแห่งล้อแห่งสังสาระ หรือสงสาร คือความท่องเที่ยวไป เมื่อหักเสียได้ก็ทำให้ล้อหมุนไปมิได้ จึงทำให้ต้องหยุดการท่องเที่ยวไป พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงละอวิชชา ดับอวิชชา และดับปัจจยาการ ถัดจากอวิชชาไปโดยลำดับ จนถึงดับชรามรณะ พร้อมทั้งโสกะปริเทวะเป็นต้น จึงเป็นอันว่าได้ทรง หักกำ และเมื่อหักกำได้ ก็เป็นอันว่า หักดุม หักกง ของล้อนี้ได้ทั้งหมด เป็นอันว่าหักทำลายล้อที่ให้ท่องเที่ยวไปได้ทั้งหมด ก็คือทรงดับกิเลสและกองทุกข์ได้ทั้งหมดนั้นเอง
ปัจจยาการ
(เริ่ม ) การท่องเที่ยวไปนั้น ก็หมายความว่าท่องเที่ยวไปในกิเลส และในกองทุกข์ ซึ่งมีชาติชรามรณะเป็นต้น เพราะฉะนั้นจึงเป็นอันว่าดับกิเลส ดับกองทุกข์ มีชาติชรามรณะได้ คือดับปัจจยาการได้ทั้งหมด
ความท่องเที่ยวไปนั้น เมื่อกล่าวตามหลักของปฏิจจสมุปบาท ธรรมะที่อาศัยกันบังเกิดขึ้น ก็คือท่องเที่ยวไปในปัจจยาการ อาการที่เป็นปัจจัยอาศัยซึ่งกันบังเกิดขึ้นนี้ คือท่องเที่ยวไปในอวิชชา หรือในอาสวะ ในอวิชชาเป็นต้น จนถึงชาติชรามรณะโสกะปริเทวะเป็นต้น และก็ท่องเที่ยวไปในปัจจยาการดังที่กล่าวมานี้ ไม่หยุด คือท่องเที่ยววนเวียนกันไป ในปัจจยาการนี้เป็นวงกลม จากอวิชชาถึงชรามรณะโสกะปริเทวะเป็นต้น ก็กลับมาอวิชชาอีก แล้วก็ไปชรามรณะโสกะปริเทวะเป็นต้น แล้วกลับมาอวิชชาอีก ท่องเที่ยวเป็นวงกลมอยู่ดั่งนี้ ไม่ออกไปนอกจากวงของปัจจยาการ มีอวิชชาชรามรณะเป็นต้น
กิเลส กรรม วิบาก
ฉะนั้น เพื่อความเข้าใจได้โดยรวบรัด จึงย่อลงเป็น ๓ คือย่อปัจจยาการทั้งหมดลงเป็น ๓ คือ กิเลส กรรม และวิบาก กิเลสนั้นคือเครื่องเศร้าหมองที่อาศัยอยู่ในจิต มีอวิชชาตัณหาอุปาทานเป็นต้น หรือมีราคะโทสะโมหะ หรือโลภโกรธหลงเป็นต้น ที่มีอยู่ในจิตใจ อาศัยอยู่ในจิตใจ นี้เป็นกิเลส และกิเลสนี้เองก็เป็นเหตุให้กระทำกรรม คือการงานที่ทำทางกายทางวาจาทางใจ เป็นกุศลบ้าง เป็นอกุศลบ้าง เป็นกลางๆมิใช่กุศลมิใช่อกุศลบ้าง
และกรรมคือการงานที่กระทำทางกายทางวาจาทางใจนี้ ก็เป็นเหตุให้ต้องได้รับวิบาก คือผล ผลของกรรมที่กระทำ กรรมดีก็ให้ผลดี กรรมชั่วก็ให้ผลชั่ว กรรมที่เป็นกลางๆก็ให้ผลที่เป็นกลางๆ และวิบากคือผลของกรรมนี้ ก็กลับเป็นเหตุให้บังเกิดกิเลสขึ้นอีก กิเลสก็เป็นเหตุให้กระทำกรรมอีก กรรมก็เป็นเหตุให้ประสบวิบากคือผลอีก และผลก็เป็นเหตุก่อกิเลสขึ้นอีก เพราะฉะนั้น จึงต่างเป็นเหตุเป็นผลของกันและกัน เป็นวงกลมอยู่ดั่งนี้ เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่าวัฏฏะ ที่แปลว่าวน คือวนเวียน
สังสาระ คือ ท่องเที่ยวไปก็ท่องเที่ยวไปเป็นวงกลม คือเป็นวงเวียนอยู่ในกิเลสกรรมวิบากทั้ง ๓ นี้ เพราะฉะนั้น จึงเรียกเป็นศัพท์ว่าสังสารวัฏ ก็คือสังสารวัฏฏะที่แปลว่าวน คือการท่องเที่ยวไป หรือว่าการท่องเที่ยวไป เป็นวงเวียน เป็นวงกลมดังกล่าว
สังสารวัฏที่เป็นปัจจุบันธรรม
อธิบายของกิเลสกรรมวิบากนี้ อาจอธิบายได้ในปัจจุบัน เป็นปัจจุบันธรรม และอาจอธิบายได้เป็น อดีต อนาคต ปัจจุบัน ในวงใหญ่ สำหรับที่เป็นปัจจุบันธรรมนี้เรียกว่าเป็นวงเล็ก จิตใจของทุกคนนี้ในปัจจุบันบัดนี้ ก็ท่องเที่ยวอยู่ในกิเลสกรรมวิบากทั้ง ๓ นี้ ยกตัวอย่างกิเลสกรรมวิบากที่บังเกิดขึ้นอาศัยตา และรูปประจวบกัน ก็เช่นว่าตัณหาในรูป คือความทะยานอยากในรูปที่จะเห็นได้ทางตา เมื่อ รูปะตัณหา บังเกิดขึ้น ก็ทำให้เกิดเจตนาคือความจงใจ ต้องการจะดูรูป จะเห็นรูปด้วยตา จึงทำการดูรูปนั้น ดั่งนี้เป็นกรรม คือเป็นความที่จงใจจะดูรูป และทำการดูรูปด้วยตา ดั่งนี้เป็นกรรม และเมื่อเป็นกรรมคือทำการดูรูป เพราะกิเลสคือรูปะตัณหาความต้องการที่จะดูรูป เมื่อเป็นกรรมคือทำการดูรูปขึ้น ก็ย่อมได้วิบากคือการเห็นรูป ได้มองเห็นรูป
และเมื่อมองเห็นรูปซึ่งเป็นวิบากคือผลของการดู รูปที่เห็นอันเป็นตัววิบากนั้น เมื่อเป็นที่ตั้งของตัณหา ของรูปะตัณหา เช่นเป็นรูปที่สวยงามน่ารักน่าชม ก็เป็นที่ตั้งของกามตัณหา และเมื่อเป็นดั่งนี้ การเห็นรูปซึ่งเป็นตัววิบากคือผลนั้น ก็กลับเป็นเหตุให้บังเกิดกิเลสขึ้นอีก คือให้เกิดกามตัณหาในรูปขึ้น และเมื่อเกิดกามตัณหาในรูปขึ้น ก็เป็นกิเลส ก็เป็นเหตุให้ประกอบกรรม คือต้องการที่จะดูรูป และก็ทำการดูรูปนั้นต่อไปอีก แสวงหารูปที่ต้องการนั้นดูต่อไปอีก ก็ได้รับวิบากคือผลคือการเห็นรูปนั้น และเมื่อเห็นรูปนั้นเป็นวิบากคือผล รูปที่เป็นที่ตั้งของกามตัณหาก็ก่อกามตัณหาให้บังเกิดขึ้นอีก
ก็เป็นกิเลส ก็เป็นอันว่าก็วนเวียนอยู่ในกิเลสกรรมวิบาก วิบาก กิเลส กรรม วิบาก ดั่งนี้ แม้ในทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางมนะคือใจ ก็วนเวียนอยู่ในกิเลสกรรมวิบากนี้ เช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น ทุกๆวันตั้งแต่ตื่นเช้าขึ้นจนถึงนอนหลับไปใหม่ หากพิจารณาดูโดยนัยยะนี้ ก็จะเห็นได้ว่า จะเห็นอะไรได้ยินอะไรเป็นต้น จนถึงได้คิดนึกอะไรทางมโนคือใจก็ตาม จะเป็นเรื่องอะไรๆร้อยแปดพันแปด ซึ่งไม่สามารถจะนับถ้วน เมื่อกระจายเป็นเรื่องนั้นเรื่องนี้ออกไป แต่ว่าก็วนเวียนอยู่ในกิเลสกรรมวิบากเพียง ๓ นี้เท่านั้น ไม่พ้นไปจากกิเลสกรรมวิบากทั้ง ๓ นี้ นี้เป็นสังสารวัฏ คือเป็นวงเวียนที่เป็นปัจจุบันธรรม อันเป็นสังสารวัฏที่เป็นวงแคบ เป็นปัจจุบันธรรม
สังสารวัฏในวงกว้าง
คราวนี้หากจะพิจารณาย้อนไปถึงอดีตที่ล่วงมา เอาในชาตินี้ตั้งแต่เกิดมาจนถึงปัจจุบัน ก็วนเวียนอยู่ในกิเลสกรรมวิบากนี้ หรือจะคิดไปถึงอนาคต เอาในชีวิตนี้ก็ตั้งแต่อนาคตจากปัจจุบันบัดนี้ไปจนตาย ก็วนเวียนอยู่ในกิเลสกรรมวิบากนี้เช่นเดียวกัน คราวนี้เมื่อพิจารณาในวงกว้างออกไปอีก ถึงอดีตชาติ ถึงอนาคตชาติ ที่สืบต่อกัน ตามหลักที่ว่าเมื่อยังมีกิเลส คือมีทุกขสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ ที่พระพุทธเจ้าตรัสยกขึ้นแสดงเพียงข้อเดียวคือตัณหา ก็จะต้องมีทุกข์ซึ่งเป็นผล และทุกข์ซึ่งเป็นผลนั้น ก็เริ่มตั้งแต่ชาติคือความเกิด ดังที่ตรัสแสดงไว้ในอริยสัจจ์ทั้ง ๔
เพราะฉะนั้น เพราะมีกิเลส ซึ่งถ้าจะไม่ยกเพียงตัณหาข้อเดียว จะยกอีกบางข้อ ก็ยกตัวอย่าง อวิชชา ตัณหา อุปาทาน ยกสามข้อนี้ เมื่อยังมีกิเลส คือยังมีอวิชชาตัณหาอุปาทานอยู่ ก็จะต้องมีชาติคือความเกิด และเมื่อชาติคือความเกิด ก็จะต้องมีชรามีมรณะความแก่ความตาย อันหมายถึงว่าขันธ์เป็นที่อาศัยนี้แตกสลาย เป็นความตาย และเมื่อสัตว์บุคคลนั้นยังมีอวิชชาตัณหาอุปาทานอยู่ คือยังมีกิเลส ก็จะต้องยังมีกรรม และกรรมนั้นก็จะต้องมีชนกกรรม กรรมที่นำให้ไปเกิดขึ้นใหม่อีกเป็นชาติ ชาติใหม่ และเมื่อเป็นชาติใหม่ขึ้นก็จะต้องมีชรามรณะ และเมื่อยังมีกิเลสมีกรรม ก็จะต้องมีชาติคือความเกิดขึ้นใหม่อีก ก็เป็นอันว่าต้องเวียนเกิดแก่เจ็บตายอยู่ดั่งนี้ หรือเรียกว่าเวียนเกิดเวียนตาย
เพราะฉะนั้น เพื่อให้จับความหมายให้เห็นได้ไกลและลึกซึ้งขึ้น ท่านจึงมักแปลอธิบายคำว่าสังสาระคือท่องเที่ยวไป ว่าท่องเที่ยวเวียนเกิดเวียนตาย ท่องเที่ยวเวียนเกิดเวียนตายนี้คือสังสารวัฏ วัฏฏะวนคือสงสาร ซึ่งเป็นการยกขึ้นมาให้มองเห็น แต่เมื่อจะยกให้หมดก็คือว่า ท่องเที่ยวเวียนอยู่ในกิเลสในกรรมในวิบากคือผล มีชาติชรามรณะเป็นต้น และเมื่อมีชาติชรามรณะ เมื่อยังมีกิเลสมีกรรมอยู่ก็เกิดอีกเป็นชาติ และเมื่อมีชาติก็ต้องมีชรามรณะ เมื่อมีกิเลสมีกรรมอยู่ก็ต้องเกิดอีก เพราะฉะนั้น แม้ว่าจะเวียนเกิดเวียนตายอยู่ดั่งนี้ กี่ร้อยปี กี่พันปี กี่หมื่นปี กี่แสนปีก็ตาม ก็คงเวียนเกิดเวียนตายอยู่ดั่งนี้ ไม่พ้นไปจากกิเลสกรรมวิบาก หรือไม่พ้นไปจากเกิดแก่ตาย
เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าได้ทรงระลึกถึงชาติในหนหลังได้เมื่อก่อนจะตรัสรู้ อันเรียกว่าปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ญาณที่ระลึกชาติในหนหลังได้ และได้ทรงพบว่า ที่เวียนเกิดเวียนตายอยู่ดั่งนี้ก็เพราะกรรม ทำกรรมดีก็ไปเกิดดี ทำกรรมชั่วก็ไปเกิดชั่ว แต่ก็ยังต้องเวียนเกิดเวียนตายอยู่นั่นเอง อันเรียกว่าจุตูปปาตญาณ ครั้นทรงพบกรรม ก็ได้ทรงพบกิเลส คือได้ตรัสรู้พบว่าเพราะยังมีอาสวะ คือกิเลสที่ดองจิตสันดานอยู่ พระปัญญาที่ตรัสรู้ดั่งนี้ ก็ทำลายอาสวะคือกิเลสที่ดองจิตสันดานได้สิ้น เพราะฉะนั้น เมื่อสิ้นกิเลสก็สิ้นกรรมที่จะประกอบกระทำต่อไป เมื่อสิ้นกรรมก็สิ้นวิบากคือผล คือเกิดแก่ตายที่จะมีขึ้นในชาติภพต่อไป
และเมื่อยังทรงพระชนม์อยู่ประกาศพระศาสนา ก็ทรงอาศัยวิบากขันธ์ คือขันธ์ที่เป็นวิบากคือเป็นผลที่ยังเหลืออยู่นี้ คือชีวิตนี้ ทรงอุทิศชีวิตของพระองค์ทั้งหมดที่ยังเหลืออยู่นี้ประกาศพระพุทธศาสนาด้วยพระมหากรุณา ครั้นเมื่อขันธ์เป็นที่อาศัยอยู่นี้ ซึ่งเป็นวิบากขันธ์แตกสลายในที่สุด ก็ไม่ทรงไปถือชาติภพใหม่ เพราะว่าสิ้นกิเลสสิ้นกรรมก็สิ้นวิบากคือผล ตั้งต้นแต่ชาติความเกิด เพราะฉะนั้น จึงทรงดำรงภาวะเป็นพุทธะคือเป็นผู้ตรัสรู้ ซึ่งเป็นผู้ไม่เกิดไม่แก่ไม่ตาย
พระพุทธเจ้าทรงหักกำแห่งสังสารจักร ก็คือทรงหักกิเลสกรรมวิบากทั้ง ๓ นี้ หรือกล่าวโดยพิสดาร ก็ทรงหักปัจจยาการได้ทั้งหมด ดับอวิชชาดับอาสวะ หรือดับอาสวะ ดับอวิชชา ตลอดจนถึงดับ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ เป็นต้น ได้สิ้นเชิง ก็เป็นอันว่าหักกิเลส หักกรรม หักวิบากได้ทั้งหมด ก็เป็นอันว่าล้อที่ทำให้ต้องท่องเที่ยวเวียนเกิดเวียนตายถูกหักเสียแล้ว จึงไม่ทรงเวียนเกิดเวียนตายต่อไป เป็นผู้ที่ทรงไม่เกิดไม่แก่ไม่ตาย
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป