แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
วันนี้เป็นวันเริ่มต้นอบรมปฏิบัติกรรมฐานในพรรษกาลนี้ และก็จะได้เริ่มต้นสวดมหาสติปัฏฐานสูตรตั้งแต่ต้น ต่อจากการแสดงบรรยาย ตามที่เคยปฏิบัติมาทุกปี เพราะว่าสติปัฏฐาน ๔ นี้ ที่พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงในมหาสติปัฏฐานสูตร ได้รวบรวมหลักธรรมะเข้าในแต่ละข้อ แห่ง ๔ ข้อนี้เป็นอันมาก เมื่อพิจารณาดูแล้ว ก็จะเห็นได้ว่ามิใช่เพียงสติเท่านั้น ยังประกอบไปด้วยปัญญา และหากว่าจะยกชื่อธรรมะหมวดอื่นขึ้นแสดง เช่น โพชฌงค์ ๗ มรรคมีองค์ ๘ ก็ตรัสประมวลไว้ในสติปัฏฐานข้อที่ ๔ นั้นด้วย
ในพระสูตรอื่นได้แยกแสดงจำเพาะข้อจำเพาะข้อ เช่นแสดงสติปัฏฐาน ๔ แสดงโพชฌงค์ ๗ แสดงมรรคมีองค์ ๘ แยกหมวดกันออกไป แต่ในมหาสติปัฏฐานสูตรนี้ ได้ทรงประมวลเข้าไว้ในพระสูตรเดียวกัน และก็ได้ขนานนามพระสูตรนำว่ามหาสติปัฏฐานสูตร และแม้ในแต่ละหมวดธรรมที่นำมาประมวลเข้าไว้นี้ ก็ลงท้ายด้วยสติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้ทั้งหมด เพราะฉะนั้น จึงเป็นที่นับถือว่าเป็นหลักปฏิบัติสำคัญ พระอาจารย์ผู้สอนกรรมฐานแม้ว่าจะมีวิธีสอน อันหมายถึงวิธีปฏิบัติประกอบแตกต่างกันไป แต่ก็ประมวลเข้าในหลักของสติปัฏฐานทั้ง๔ นี้ด้วยกันทั้งหมด ฉะนั้น จึงได้ถือเป็นพระสูตรหลัก ตั้งต้นแสดง ตั้งต้นสวด ตั้งแต่วันอบรมปฏิบัติกรรมฐาน หรือว่าจิตตภาวนา ต้นพรรษาทุกปีโดยลำดับมา
แต่ในการแสดงอบรมบรรยายนั้น ได้นำข้อธรรมต่างๆ มาแสดงนำ ได้อธิบายสติปัฏฐานโดยตรงตามสมควร เพราะว่าได้แสดงอธิบายสติปัฏฐานโดยตรงทุกข้อ เมื่อได้เข้ามาแสดงอบรมปีแรก ซึ่งได้พิมพ์ขึ้นไว้เป็นหลักฐานแล้ว รวมจำนวนที่แสดงอธิบายสติปัฏฐานโดยตรงทุกข้อนั้น ได้ ๒๒ ครั้ง รวมพิมพ์เป็นเล่มเดียวกัน ให้ชื่อว่า แนวปฏิบัติในสติปัฏฐาน ผู้ที่ต้องการจะทราบอธิบายมหาสติปัฏฐานสูตรแต่ละข้อ ก็อาจหาอ่านได้โดยสะดวก ในพรรษกาลนี้จะได้แสดงนำด้วย พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ ไปทีละข้อ ตามบทสรรเสริญ พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ ที่สวดกัน ว่า อิติปิโส ภวควา อรหัง สัมมาสัมพุทโธ เป็นต้น สวากขาโต ภควตา ธัมโม เป็นต้น สุปฏิปันโน ภควโต สาวกสังโฆ เป็นต้น
พระพุทธคุณ
ในหมวดพระพุทธคุณนั้น เริ่มด้วยคำว่า อิติปิโส ภควา พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น อะระหัง เป็นพระอรหันต์ อิติปิ แม้อย่างนี้ เป็นต้น คือยกศัพท์ขึ้นแปลได้ว่า ภควา พระผู้มีพระภาคเจ้า โส พระองค์นั้น อะระหัง เป็นพระอรหันต์ อิติปิ แม้อย่างนี้
คำว่า อิติปิ แปลว่าแม้อย่างนี้ เป็นคำแทนการพิจารณาของทุกคน คือในการพิจารณาพระพุทธคุณนั้น ก็คือยกเอาบทพระพุทธคุณแต่ละบทขึ้นพิจารณา บทแรกก็คือ อรหํ ก็ยกบท อะระหัง ขึ้นพิจารณา ว่าพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น อะระหัง เป็นพระอรหันต์อิติปิ แม้อย่างนี้ แม้อย่างนี้ คือว่าสุดแต่ผู้พิจารณา จะพิจารณาไปอย่างไร จะพิจารณาว่าเป็นพระอรหันต์อย่างไร เพราะฉะนั้น จึงใช้คำว่า อิติปิ แทน ว่าพิจารณาว่าเป็นพระอรหันต์ แม้อย่างนี้ แม้อย่างนี้
พุทธานุสสติ
แต่ว่าการพิจารณานั้น ถ้าไม่รู้เนื้อความ ก็พิจารณาไม่ถูกว่าเป็นพระอรหันต์อย่างไร เพราะฉะนั้น พระอาจารย์จึงได้แสดงสอนเอาไว้ (เริ่ม) สำหรับผู้พิจารณา จะได้ถือเป็นหลักในการปฏิบัติพิจารณา หรือเรียกว่าเจริญ พุทธานุสสติ ทำการระลึกถึงพระพุทธเจ้า ก็คือระลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้า อันนับว่าเป็นกรรมฐานอย่างหนึ่ง
ความหมายของบทว่า อรหํ
พระอาจารย์ได้แสดงเนื้อความของบทว่า อรหํ ประมวลเข้าแล้วก็เป็น ๕ ประการ คือ
๑ ชื่อว่า อรหํ เพราะเป็นผู้ไกลกิเลส
ข้อ ๒ ชื่อว่า อรหํ เพราะเป็นผู้กำจัดข้าศึกคือกิเลส
ข้อ ๓ ชื่อว่า อรหํ เพราะเป็นผู้หักกำแห่งสังสารจักร คือล้อแห่งสังสาระหรือสงสาร การท่องเที่ยวเวียนเกิดเวียนตายไปในภพชาติทั้งหลายเป็นอันมาก
ข้อ ๔ ชื่อว่า อรหํ เพราะเป็นผู้ควรไหว้ควรบูชา
ข้อ ๕ ชื่อว่า อรหํ เพราะเป็นผู้ไม่ทำบาป ทั้งหลายแม้ในที่ลับ คือไม่ทำบาปทั้งในที่แจ้งทั้งในที่ลับ คือไม่ทำบาปในที่ทุกสถาน
พระอาจารย์ได้แสดงไว้สำหรับเจริญพุทธานุสสติ หรือพิจารณาพระพุทธคุณของบทนี้ไว้เป็น ๕ ประการดั่งนี้
พระผู้ไกลกิเลส
ในวันนี้จะแสดงโดยสังเขปแต่ในข้อที่ ๑ ว่าเป็นผู้ไกลกิเลส กิเลสนั้นได้แก่เครื่องเศร้าหมองของจิต กิเลสที่พูดกัน รู้จักกันอยู่โดยมาก ก็คือราคะความติดใจยินดี หรือโลภะความโลภอยากได้ โทสะความโกรธแค้นขัดเคือง โมหะความหลง หรือที่เรียกกันว่า ราคะ โทสะ โมหะ หรือ โลภะ โทสะ โมหะ หรือที่ตรัสแสดงไว้เป็นทุกขสมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์ในอริยสัจจ์ ๔ ก็คือตัณหาความดิ้นรนทะยานอยากของใจ เพื่อจะได้พัสดุที่น่าใคร่น่าปรารถนาพอใจทั้งหลาย อันเรียกว่ากามตัณหา เพื่อเป็นนั่นเป็นนี่เรียกว่าภวตัณหา เพื่อที่จะไม่เป็นนั่นไม่เป็นนี่ คือเพื่อที่จะให้สิ่งที่ไม่ปรารถนาต้องการสิ้นไปหมดไป
นี้เป็นกิเลสที่แสดงกันอยู่ พูดกันอยู่ จึงมักจะได้ยินได้ฟังกันอยู่โดยทั่วไป กิเลสนี้พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่าเป็นเครื่องที่จรเข้ามาสู่จิตใจ จึงมิใช่เป็นเนื้อแท้ของจิตใจ แต่เป็นสิ่งที่เป็นอาคันตุกะคือแขก หรือผู้มาเยี่ยมเยียนเป็นต้นของจิตใจ แต่ก็อาศัยเกาะจิตใจอยู่ตลอดเวลาช้านาน คือเข้ามาอาศัย เข้ามาเยี่ยมจิตใจ แล้วก็ไม่ยอมออกไป หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือว่าจิตใจนี้เอง รับเอาไว้ให้อยู่อาศัย เหมือนอย่างอ้อนวอนให้อยู่อาศัย เชิญให้อยู่อาศัยอยู่ในจิตใจ มีอาลัยอยู่ในกิเลสทั้งหลาย ติดอยู่ในกิเลสทั้งหลาย กิเลสทั้งหลายจึงไม่ออกไปจากจิตใจ
เพราะฉะนั้น เพื่อแสดงว่ากิเลสนี้ไม่ใช่เป็นเจ้าถิ่นของจิตใจ ไม่ใช่เป็นเนื้อแท้ของจิตใจ พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสเรียกเมื่อแสดงถึงเรื่องที่กิเลสเข้ามาอาศัยอยู่ในจิตใจว่าอุปกิเลส แปลว่ากิเลสที่เข้ามาอาศัยอยู่ในจิตใจ ดังที่ได้ตรัสแสดงถึงเนื้อแท้ของจิต ธรรมชาติของจิต ว่าจิตนี้เป็นธรรมชาติปภัสสรคือผุดผ่อง แต่ว่าเศร้าหมองไปเพราะอุปกิเลสคือเครื่องเศร้าหมองทั้งหลายที่จรเข้ามา และเมื่อได้บำเพ็ญจิตตภาวนาอบรมจิต ก็อาจที่จะทำจิตให้วิมุติหลุดพ้น จากเครื่องเศร้าหมองที่จรเข้ามาทั้งปวงได้ ดั่งนี้
เพราะฉะนั้น ทางพุทธศาสนาจึงได้แสดงว่า ปฏิบัติทำจิตตภาวนาให้พ้นจากกิเลสได้ ดับกิเลสได้ ถ้าหากว่ากิเลสเป็นเนื้อแท้ของจิตใจ ก็ไม่อาจจะดับได้ แต่เพราะกิเลสไม่ได้เป็นเนื้อแท้ของจิตใจ เป็นอาคันตุกะคือเป็นผู้ที่จรเข้ามา ฉะนั้นจึงปฏิบัติดับกิเลส กำจัดกิเลส ให้กิเลสออกไปจากจิตใจ พ้นไปจากจิตใจ หรือให้จิตใจพ้นไปจากกิเลสได้
สัตวโลกผู้ข้องผู้ติด
และในข้อนี้พระพุทธเจ้าได้ทรงปฏิบัติดับกิเลสได้มาก่อนด้วยพระองค์เอง โดยที่เมื่อพระพุทธเจ้าก่อนจะตรัสรู้ เป็นพระโพธิสัตว์คือเป็นสัตว์ผู้แสวงหาทางเพื่อตรัสรู้ สัตว์ก็คือ สัตวโลก อันแปลว่าผู้ข้องผู้ติด เมื่อยังมีกิเลสอยู่ไม่ว่าจะเป็นเทวดามนุษย์เดรัจฉาน ก็เรียกว่าสัตว์ทั้งนั้น ได้ในคำว่าสัตวโลก ซึ่งเป็นคำรวมทั้งหมด เพราะยังเป็นผู้ข้องผู้ติดอยู่ ยังไม่พ้นไปจากกิเลส ยังข้องยังติดอยู่ด้วยอำนาจของกิเลส
พระพุทธเจ้าเมื่อก่อนจะตรัสรู้ เมื่อเสด็จออกทรงผนวช เพราะได้ทอดพระเนตรเห็นเทวทูต คนแก่คนเจ็บคนตายและสมณะ ทรงพิจารณาน้อมเข้ามาว่า ทุกคนไม่ว่าจะเป็นใคร เมื่อเกิดมาก็ต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย ไม่พ้นไปได้ ทรงปรารถนาโมกขธรรม ธรรมะเป็นเครื่องหลุดพ้น ได้ทอดพระเนตรเห็นสมณะคือนักบวชผู้ที่สละบ้านเรือน ออกจากเรือนเป็นผู้ไม่มีเรือน ออกปฏิบัติแสวงหาธรรมะที่สูงขึ้นกว่าสามัญชน ก็ทรงพอพระทัยในเพศบรรพชิต ว่าเป็นโอกาส เป็นช่องว่างที่จะได้พากเพียรทางจิต ให้ประสบโมกขธรรม ธรรมะเป็นเครื่องหลุดพ้นได้ จึงได้เสด็จออกทรงผนวช และก็ได้ทรงศึกษาในสำนักของคณาจารย์ผู้มีชื่อเสียงต่างๆ บ้าง ทรงปฏิบัติทดลองไปในวิธีต่างๆ ซึ่งนักบวชในครั้งนั้นได้ใช้ปฏิบัติกัน เพื่อบรรลุถึงผลเบื้องสูง ตามแต่ลัทธิของใครจะแสดงอย่างไร
ข้อปฏิบัติที่เป็นหนทางกลาง
เมื่อทรงเห็นว่าทุกวิธีนั้นไม่ใช่เป็นทางให้ประสบโมกขธรรม จึงทรงแสวงหาด้วยพระองค์เอง ทรงปฏิบัติไปจนทรงพบทางที่เป็นมัชฌิมาปฏิปทา ข้อปฏิบัติที่เป็นหนทางกลาง คือมรรคมีองค์ ๘ ไม่ข้องแวะด้วยทางที่เป็นกามสุขัลลิกานุโยค ประกอบตนให้พัวพันด้วยความสุขสดชื่นอยู่ในกาม และที่เป็น อัตตกิลมถานุโยค ทรมานตนให้ลำบากเปล่า ได้ทรงปฏิบัติไปในมรรคมีองค์ ๘ สมบูรณ์แล้ว จึงได้ตรัสรู้พระธรรม ก็คือตรัสรู้ในอริยสัจจ์ ๔ ดังที่ตรัสแสดงไว้เองในปฐมเทศนา
วิชชา วิมุติ ความรู้ และความหลุดพ้นจึงบังเกิดขึ้น จิตของพระองค์ก็หลุดพ้นจากกิเลสทั้งสิ้น ทั้งที่เป็นกิเลสอย่างละเอียด คือที่มาอาศัยอันเรียกว่าอาสวะหมักหมม หรืออนุสัยนอนจม อยู่ในจิตสันดานได้หมดสิ้น จิตของพระองค์จึงบรรลุถึงนิพพาน อันเป็นที่ดับกิเลสและกองทุกข์ทั้งหมด ด้วยอำนาจของมรรคมีองค์ ๘ มีสัมมาทิฏฐิความเห็นชอบเป็นต้น ฉะนั้น จึงทรงเป็นผู้บริสุทธิ์กาย บริสุทธิ์วาจา บริสุทธิ์ใจ สิ้นเชิง
เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าทรงเป็นผู้ไกลกิเลส คือหมายความว่าสิ้นกิเลสทั้งหมด ความไกลกิเลส คือความสิ้นกิเลสทั้งหมดนี้ พึงเข้าใจว่าสิ้นหมด ตลอดจนถึงกิเลสที่นอนจมหมักหมมอยู่ในจิตสันดาน อันเรียกว่าอาสวะอนุสัยดังที่กล่าวมาแล้ว ไม่ใช่หมายความว่า เป็นผู้ยังไม่สิ้นกิเลสจนถึงขั้นอาสวะอนุสัยนี้ เหมือนอย่างบุคคลแม้ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติธรรมะ ปฏิบัติในศีล ปฏิบัติในสมาธิ ปฏิบัติในปัญญา ในบางคราวเมื่อศีลสมาธิปัญญาเข้าถึงจิตใจ จิตใจก็สงบ ได้ปีติ ได้สุข มีความรู้ความเห็นที่เป็นตัวปัญญาแจ่มใส มีจิตที่เป็นสมาธิตั้งมั่นแน่วแน่ มีศีลที่บริสุทธิ์ จึงดูเหมือนจะสิ้นกิเลส บางท่านสำคัญตนว่าเป็นพระอรหันต์ สิ้นกิเลสแล้วก็มี
ลักษณะดังกล่าวนี้ได้มีมาแล้วตั้งแต่ครั้งพุทธกาล คือเมื่อปฏิบัติไปๆ จิตใจมีความสงบ บริสุทธิ์ดังกล่าว มีความรู้ความเห็นที่แจ่มชัดดังกล่าว ก็สำคัญตนว่าเป็นพระอรหันต์ เข้ามาเฝ้าพระพุทธเจ้า กราบทูลเพื่อให้ทรงพยากรณ์ และพระพุทธเจ้าได้ทรงทราบว่าภิกษุเหล่านั้นยังไม่เป็นพระอรหันต์ จึ่งให้ไปที่ป่าช้าผีดิบก่อน เพราะในครั้งนั้นผู้ที่ถึงแก่กรรม ไม่ว่าจะเป็นเด็กเป็นผู้ใหญ่ ญาติก็นำศพไปทิ้งไว้ในป่าช้า มอบให้ผู้รักษาป่าช้า หรือที่เรียกกันว่าสัปเหร่อจัดการเผา เมื่อภิกษุไปที่ป่าช้าผีดิบดังกล่าว ได้เห็นศพที่สดชื่นก็เกิดความรู้สึกยินดี จึงรู้ตนเองว่ายังไม่สิ้นกิเลส
ทั้งนี้ก็เพราะว่ากิเลสที่เป็นอาสวะอนุสัยนอนจมหมักหมมอยู่นั้นยังไม่สิ้นไป ธรรมะปฏิบัติทั้งปวงนั้นบังเกิดขึ้น เหมือนอย่างทับกิเลสเหล่านี้อยู่ในส่วนลึกของจิต กิเลสเหล่านี้ท่านจึงเปรียบเหมือนอย่างเป็นตะกอนที่นอนอยู่ก้นตุ่ม เมื่อยังไม่มีใครไปกวนน้ำในตุ่มให้หวั่นไหว ตะกอนก็ไม่ฟุ้งขึ้นมา ดูน้ำก็ใสสะอาด เหมือนอย่างไม่มีตะกอน ครั้นเมื่อไปกวนน้ำในตุ่มให้หวั่นไหว ตะกอนจึงจะฟุ้งขึ้นมา จิตก็เช่นเดียวกัน เมื่อยังไม่มีอารมณ์อันเป็นที่ตั้งของกิเลสนั้นๆ เข้ามา กิเลสก็เหมือนอย่างนอนสงบอยู่ คล้ายไม่มีกิเลส แต่ครั้นเมื่อมีอารมณ์นั้นๆ เข้ามากวน กิเลสในจิตที่เป็นตะกอนนั้นก็ฟุ้งขึ้นมา จิตจึงขุ่นมัว ด้วยราคะหรือโลภะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง ปรากฏเป็นกิเลสในจิต ที่ทุกๆ คนก็รู้อยู่
เพราะฉะนั้น การละกิเลสได้สิ้น ก็ต้องสิ้นให้ถึงอาสวะอนุสัย จึงจะเป็นอันว่าสิ้นหมด เมื่อเป็นดั่งนี้จึงจะชื่อว่าเป็นผู้ที่ไกลกิเลส ถ้ายังมีอาสวะอนุสัยอยู่ก็ไม่ชื่อว่าไกลกิเลส แต่ยังอยู่กับกิเลส เรียกว่ายืนทับกิเลส เดินทับกิเลส นั่งทับกิเลส นอนทับกิเลสอยู่ เพราะยังมีกิเลสอยู่ในจิตส่วนลึก จึงชื่อว่าเป็นผู้ใกล้กิเลส ยังไม่ไกลกิเลส ต่อเมื่อละอาสวะอนุสัยได้หมดสิ้น จึงจะเป็นผู้ไกลกิเลสได้ พระพุทธเจ้าทรงละกิเลสได้หมดสิ้น จนถึงขั้นอาสวะอนุสัยสิ้นเชิง ไม่มีหลงเหลืออยู่ เพราะฉะนั้น จึงได้พระนามว่า อรหํ ซึ่งแปลกันว่าผู้ไกลกิเลส ในภาษาไทยมักจะใช้คำนี้กันอยู่มาก เป็นคำแปลของคำว่าอะระหัง หรืออรหันต์
พระพุทธคุณเป็นกรรมฐานข้อหนึ่ง
เพราะฉะนั้น ในการเจริญพุทธานุสสติ เมื่อรู้เนื้อความของบทว่า อรหํ ดังนี้ แม้เพียงข้อเดียวแล้ว ก็พิจารณาได้สะดวก คือพิจารณาในใจของตน ว่าพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นทรงเป็นพระอะระหัง หรือเป็นพระอรหันต์อย่างนี้ๆ คืออย่างที่แสดงมานี้ เมื่อเป็นดั่งนี้การพิจารณาซึ่งเป็นพุทธานุสสตินี้ ก็จะทำให้จิตใจใสสะอาด เป็นตัวปสาทะคือความเลื่อมใสในพระคุณของพระพุทธเจ้า อันเป็นที่ตั้งของศรัทธาคือความเชื่อ จิตก็รวมเป็นสมาธิ สงบนิวรณ์ทั้งหลายลงได้ เพราะฉะนั้น พุทธานุสสติแม้ข้อนี้ ท่านจึงจัดเป็นกรรมฐานสำหรับปฏิบัติ เจริญพุทธานุสสติระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า อันจะทำจิตให้เป็นสมาธิได้ข้อหนึ่ง
สติปัฏฐานแปลว่าตั้งสติอย่างหนึ่ง สติตั้งอย่างหนึ่ง ที่แปลว่าตั้งสตินั้น มุ่งถึงสติปัฏฐานที่เป็นตัวเหตุ คือปฏิบัติ ปฏิบัติตั้งสติขึ้น เพราะว่าจะต้องปฏิบัติทำสติให้ตั้งขึ้น ในกาย ในเวทนา ในจิต และในธรรม คือธรรมะที่บังเกิดขึ้นในจิต เมื่อปฏิบัติทำสติให้ตั้งขึ้นดั่งนี้ ก็ชื่อว่าปฏิบัติในสติปัฏฐาน และเมื่อปฏิบัติไปจนได้ผล คือสติตั้งขึ้นในกายในเวทนาในจิตและในธรรมได้ ก็เป็นสติปัฏฐานที่เป็นส่วนผล เพราะฉะนั้น ที่แปลว่าตั้งสติ ก็เป็นสติปัฏฐานที่เป็นส่วนเหตุ คือปฏิบัติ เมื่อแปลว่าสติตั้ง ก็หมายถึงสติปัฏฐานที่เป็นส่วนผล คือสติตั้งขึ้นได้ อันเป็นผลมาจากการปฏิบัติตั้งสตินั่นเอง
ศีลทิฏฐิเป็นเบื้องต้น
พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนให้ปฏิบัติธรรมะที่เป็นเบื้องต้น ก็คือปฏิบัติศีลให้บริสุทธิ์ ทำทิฏฐิคือความเห็นให้ตรง การปฏิบัติศีลให้บริสุทธิ์นั้น ก็ประกอบด้วยสรณะ คือตั้งจิตถึงพระพุทธเจ้า ถึงพระธรรม ถึงพระสงฆ์ เป็นสรณะ ให้มีสรณะคือที่พึ่งอยู่ในใจ (เริ่ม ) เมื่อใจมีสรณะคือที่พึ่ง ใจก็ย่อมจะแล่นไปในพระพุทธเจ้า ในพระธรรม ในพระสงฆ์ ใจย่อมจะกำหนดอยู่ในพระพุทธเจ้า ในพระธรรม ในพระสงฆ์ จึงนำให้ปฏิบัติในศีล ทางกาย วาจา ตลอดถึงใจให้บริสุทธิ์ เป็นกุศลกรรมบถ เป็นสุจริตทางกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม และทำความเห็นให้ตรง ตรงต่อพระพุทธเจ้า ตรงต่อพระธรรม ตรงต่อพระสงฆ์ เมื่อเป็นดั่งนี้แล้วก็ให้เริ่มปฏิบัติในสติปัฏฐาน คือตั้งสติพิจารณากายเวทนาจิตธรรม
ต่อจากนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป