แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนให้บุคคลปฏิบัติอบรมจิต อันเรียกว่า จิตตภาวนา หรือเรียกว่า กรรมฐาน อันแปลว่าการงานทางจิตที่ตั้งขึ้น คือที่ปฏิบัติ อันอาศัยข้อที่พึงถือเป็นที่ตั้งของการปฏิบัติ และก็ได้ตรัสแสดงถึงจิตนี้ว่า ดิ้นรนกวัดแกว่ง กระสับกระส่าย รักษายาก ห้ามยาก แต่ผู้มีปัญญาย่อมกระทำจิตของตนให้ตรงได้ เหมือนอย่างนายช่างศร ทำลูกศรให้ตรง หรือว่าดัดลูกศรให้ตรงฉะนั้น ดั่งนี้
จิตนี้ดิ้นรนกวัดแกว่ง
และข้อที่จิตนี้ดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่าย ถ้าไม่กำหนดก็อาจจะยังไม่ปรากฏแก่ความรู้ ( เริ่ม ) เพราะเป็นปรกติของทุกคนย่อมมีจิตใจไม่อยู่ที่ คิดไปถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้อยู่เป็นปรกติ และก็เป็นเรื่องที่รักใคร่ปรารถนาพอใจ อันทำใจให้อาลัย อันหน่วงใจไปให้คิดถึง หรือว่าคิดไปถึงเรื่องที่ขัดใจ คิดไปถึงเรื่องที่หลงสยบติดอยู่ ย่อมไปดั่งนี้อยู่เป็นประจำ จนถึงไม่สำนึกรู้ในจิตของตนเอง ว่ามีอาการดั่งที่ตรัสสอน
อาลัยของจิต
แต่เมื่อได้มาจับทำกรรมฐาน เช่น ตั้งจิตกำหนดในสติปัฏฐาน ที่ตั้งของสติ คือกายเวทนาจิตและธรรม ข้อใดข้อหนึ่ง เช่น กำหนดในข้ออานาปานสติ สติกำหนดลมหายใจเข้าออก ให้จิตกำหนดรู้อยู่ที่ลมหายใจเข้าออก หายใจเข้าก็ให้รู้ หายใจออกก็ให้รู้ จิตมักจะไม่ตั้งอยู่ในข้อที่ตั้งใจจะให้จิตตั้งอยู่นี้ จิตจะออกไปสู่อารมณ์คือเรื่องที่เป็นที่อาลัยของจิต คือที่ผูกจิต ทั้งเป็นเรื่องที่น่ารัก ทั้งเป็นเรื่องที่น่าชัง ต่างๆ
เมื่อมีสตินำจิตเข้ามาตั้งไว้ใหม่ อยู่ที่ลมหายใจเข้าลมหายใจออก เช่นตั้งไว้ที่ปลายจมูก หรือที่ริมฝีปากเบื้องบน เมื่อลมหายใจเข้า ลมหายใจก็ย่อมจะมากระทบที่จุดนี้ กำหนดจิตให้มีความรู้ในลม ที่เป็นตัวโผฏฐัพพะคือที่มาถูกต้องกายส่วนนี้ ทำความรู้ว่า นี่หายใจเข้า นี่หายใจออก จิตมักจะไม่ตั้งอยู่ ต้องนำกลับเข้ามาบ่อยๆ ดั่งกล่าวนั้น ก็เพราะจิตยังไม่ได้ความสุข ยังไม่ได้ความเพลิดเพลินในสมาธิ ยังติดอยู่ ยังเพลิดเพลินอยู่ในอารมณ์ที่ใคร่ที่ปรารถนาทั้งหลาย อันเป็นเหตุดึงจิตออกไป แต่ว่าเมื่อทำบ่อยๆ ได้ปีติคือความอิ่มใจ ได้สุขคือความสบายกายสบายใจ อันเกิดจากสมาธิ คือว่าจิตรวมเข้ามาตั้งได้ และทำให้ได้ปีติได้สุข ก็ย่อมจะทำให้จิตนี้เริ่มตั้งอยู่ในอารมณ์ของสมาธิได้ เพราะว่าได้ความสุข ไม่ได้ความอึดอัด เดือดร้อนรำคาญ
อานิสงส์ของสมาธิ
ฉะนั้น สมาธินี้จึงมีอานิสงส์ผล ทำให้ได้ความสุขอยู่ในปัจจุบัน สามารถที่จะถอนจิตออกจากอารมณ์ภายนอกอันทำให้วุ่นวายได้ แม้ว่าจะชั่วขณะ ที่เร็วหรือช้า สุดแต่ความเพียรที่ปฏิบัติ ถ้าไม่ทิ้งความเพียรที่ปฏิบัติแล้ว ก็จะทำให้สามารถปฏิบัติรักษาจิต อยู่ในอารมณ์ของสมาธิได้นาน
ความที่พรากจิตออกจากอารมณ์ภายนอกได้ มาตั้งอยู่ในอารมณ์ของสมาธิที่เป็นภายในดั่งนี้ ก็เป็นวิธีรำงับความทุกข์ต่างๆ อันเกิดจากอารมณ์ภายนอกได้ด้วย ถ้าหากว่าไม่สามารถที่จะพรากจิตออกมาได้ หากมีความทุกข์เพราะอารมณ์ภายนอก ก็ย่อมจะต้องเป็นทุกข์อยู่นาน น้อยหรือมาก สุดแต่ว่าความผูกพันของจิต อันเรียกว่าสัญโญชน์นั้น มีน้อยหรือมากเพียงไร ก็เพราะว่า อันอารมณ์ภายนอกต่างๆ นั้น เมื่อเป็น ปิยะสัมปโยค คือความประจวบกับสิ่งที่เป็นที่รัก ก็ย่อมจะทำให้ได้ความสุขความสำราญ หากเป็น ปิยะวิปโยค ความพลัดพรากจากสิ่งที่เป็นที่รัก ก็ย่อมจะทำให้เกิดความทุกข์โศกต่างๆ
เพราะฉะนั้น เมื่อมิได้ปฏิบัติทางสมาธิ จึงยากที่จะพรากจิตออกได้ ทั้งจากความสุขความเพลิดเพลิน ทั้งจากความทุกข์โศก แต่ว่าเมื่อได้ความสุขความเพลิดเพลิน ก็ย่อมจะไม่รู้สึกเป็นทุกข์เดือดร้อน เป็นแต่เพียงว่ารักษาจิตไว้มิให้มัวเมาเพลิดเพลินเกินไปเท่านั้น แต่ว่าจะได้ความสุขความเพลิดเพลินสมปรารถนาต้องการไปทุกเรื่องทุกราว ก็หาไม่ จะต้องพบกับความไม่สมปรารถนาควบคู่กันไปด้วย ตามธรรมดาของโลก ซึ่งจะต้องมีทั้งส่วนที่สมปรารถนา ทั้งส่วนที่ไม่สมปรารถนา คือทั้งส่วนที่ได้มา และทั้งส่วนที่จะต้องเสียไป เป็นไปตามคติธรรมดาของโลก ของสังขารสิ่งผสมปรุงแต่งทั้งหลาย และเป็นไปตามคติของกรรม ที่ได้กระทำไว้ เพราะฉะนั้น สุขกับทุกข์จึงมีคู่กันอยู่ในโลกเป็นธรรมดา ซึ่งทุกคนต้องประสบ
แต่ผู้ที่สามารถปฏิบัติอบรมจิตให้ตั้งอยู่ได้ในสมาธิ รู้จักที่จะพรากจิตออกได้จากอารมณ์ภายนอก ย่อมสามารถที่จะหนีทุกข์มาอยู่ในสมาธิ อันทำให้ได้ความสุขจากสมาธิ แต่คนที่ไม่สามารถทำสมาธิได้ ย่อมไม่สามารถจะหลีกหนีจากทุกข์ได้ ต้องเผชิญกับความทุกข์อยู่ร่ำไป
สมาธิสุข
ฉะนั้น ความที่ทำสติความระลึกได้ พร้อมทั้งปัญญาคือความรู้ดั่งนี้ มาหัดทำสมาธิ พรากจิตจากอารมณ์ภายนอก อันทำให้เกิดสุขก็ตาม ทำให้เกิดทุกข์ก็ตาม มาตั้งอยู่ในอารมณ์ของสมาธิ และเมื่อพรากออกได้ ก็ย่อมจะทำให้ระงับทุกข์ได้ ทำให้ได้ความสุขได้ แต่ว่าเมื่อออกจากสมาธิไป ก็ย่อมจะต้องไปอยู่กับอารมณ์ภายนอก เป็นทุกข์ขึ้นอีก แต่ถึงดั่งนั้นก็ยังดี เพราะเมื่อเห็นว่าจะทุกข์มากไป ก็หลบเข้ามาสู่อารมณ์ของสมาธิเสีย ก็จะทำให้ได้ความสุขจากสมาธิ ทำให้จิตใจได้กำลัง ได้เรี่ยวแรง ที่จะปฏิบัติกิจการทั้งหลาย
แต่ว่าเพียงสมาธิอย่างเดียว ยังไม่สามารถที่จะดับทุกข์ได้จริง จึงต้องปฏิบัติทางปัญญาประกอบไปด้วย กล่าวคือใช้สติความระลึกตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน ให้ได้ปัญญาคือความรู้ขึ้นรับรองว่าเป็นความจริง คือใช้สติระลึกไปตามที่ทรงสั่งสอน
ว่าเรามีความเกิดเป็นธรรมดา
ว่าเรามีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้
เรามีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปได้
เรามีความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้
เรามีความพลัดพราก คือจะต้องพลัดพรากจากสิ่งที่เป็นที่รักที่ชอบใจทั้งสิ้น
เรามีกรรมที่กระทำทางกายทางวาจาทางใจเป็นของๆ ตน เป็นทายาทรับผลของกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึงอาศัย จักกระทำกรรมอันใดไว้ ดีหรือชั่ว ก็จะต้องเป็นทายาทรับผลของกรรมนั้น ดั่งนี้
ความรู้ที่เป็นตัวปัญญา
เมื่อพิจารณาดั่งนี้ ด้วยสติคือระลึกไปตามที่ทรงสั่งสอน ให้ความรู้ของตนบังเกิดขึ้น รับรองว่าเป็นจริง เรามีความแก่เจ็บตายเป็นธรรมดาจริง เราจะต้องพลัดพรากจริง เรามีกรรมเป็นของๆ ตนจริง ความรู้ที่บังเกิดขึ้นรับรองดั่งนี้เป็นตัวปัญญา อันบังเกิดขึ้นจากสติที่พิจารณา เมื่อเป็นดั่งนี้ ก็จะทำให้รู้จักสัจจะคือความจริงของโลก โดยเฉพาะก็คือขันธโลก โลกคือขันธ์ คือชีวิตนี้ของตนว่าเป็นอย่างไร ให้รู้จักคติของกรรมว่าเป็นอย่างไร ตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน
เพราะฉะนั้น เมื่อต้องประสบกับคติธรรมดา ของชีวิต ของโลก ที่เป็นไปอยู่ ดังที่ตรัสสอนให้พิจารณานั้น ก็จะทำให้ได้สติระลึกได้ ว่าก็ต้องเป็นไปตามคติธรรดา และตามคติของกรรม ก็จะทำให้จิตใจนี้สามารถที่จะระงับความตื่นเต้นยินดีในความสุขต่างๆ หรือว่าความทุกข์โศกเพราะประสบเหตุของทุกข์ต่างๆ ได้ ยิ่งกว่าผู้ที่มิได้หัดพิจารณาให้ได้สติให้ได้ปัญญา และยิ่งขึ้นไปกว่านั้น ก็หัดกำหนดดูให้รู้จัก ตามที่พระพุทเจ้าทรงสั่งสอนเอาไว้ ในธรรมบทว่า ความโศกเกิดจากบุคคลและสิ่งซึ่งเป็นที่รัก ภัยคือความกลัวต่างๆ เกิดจากบุคคลและสิ่งที่เป็นที่รัก ความโศก ความกลัว เกิดจากความรัก เมื่อพ้นจากบุคคลและสิ่งซึ่งเป็นที่รัก พ้นจากความรักเสียได้ ความโศกความกลัวต่างๆ ก็ดับ
และได้ตรัสสอนไว้อีกว่า ความโศกความกลัวเกิดจากตัณหา คือความดิ้นรนทะยานอยาก เมื่อพ้นจากตัณหา ก็ย่อมจะพ้นจากความโศกความกลัวได้ ดั่งนี้
เพราะฉะนั้น ก็หัดพิจารณาจับดูที่จิตใจ ว่าจิตใจที่มีความทุกข์โศกก็ดี มีภัยคือความกลัวต่างๆ อยู่ก็ดี เกิดขึ้นจากอะไร ซึ่งโดยปรกตินั้น ก็มักจะไปเข้าใจว่า เกิดจากเหตุภายนอกต่างๆ เช่นเกิดจากบุคคลบ้าง สิ่งต่างๆ บ้าง ซึ่งถ้าเป็นที่รัก บุคคลหรือสิ่งนั้นๆ ก็ต้องพลัดพรากไป ถ้าไม่เป็นที่รัก บุคคลหรือสิ่งนั้นๆ ก็กล้ำกรายเข้ามา มักจะไปเพ่งดูดั่งนั้น และเมื่อเป็นดั่งนี้ก็ยิ่งทับถมทวีความโศก ทับถมทวีภัยคือความกลัวความหวาดระแวงต่างๆ ยิ่งขึ้น
จับเหตุให้ตรงกับผล
เพราะฉะนั้น ความที่มาพิจารณาจับเหตุดั่งนี้ เรียกว่าเป็นการจับเหตุไม่ตรงกับผล พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอนให้จับเหตุให้ตรงกับผล คือตรัสสอนให้จับเข้ามาดูเหตุ ที่เป็นตัวเหตุภายใน คือ ตัณหา ความดิ้นรนทะยานอยากในใจของตนเอง ซึ่งตรัสว่าเป็นทุกขสมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์
เพราะตัณหานี้เป็นปัจจัยให้เกิด อุปาทาน คือความยึดถือ ยึดถือว่าเป็นตัวเรา ยึดถือว่าเป็นของเรา ยึดถือว่านั่นเป็นที่รัก ยึดถือว่านั่นไม่เป็นที่รัก ตัณหาอุปาทานนี้เป็นตัวเหตุที่สร้างบุคคลและสิ่งที่เป็นที่รักบ้าง ไม่เป็นที่รักบ้าง สร้างตัวเราของเราขึ้นในสิ่งทั้งหลายโดยรอบ เพราะฉะนั้น ตัณหา ความดิ้นรนทะยานอยาก อุปาทาน คือความยึดถือนี้เอง จึงเป็นตัวเหตุที่มีอยู่ในจิตใจนี้เอง
หมั่นพิจารณาดั่งนี้ ให้ความรู้ของตนนี่แหละบังเกิดขึ้นรับรอง ว่าตัณหาอุปาทานในจิตใจของตนนี้ เป็นตัว ทุกขสมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์จริง ทุกข์ต่างๆ ที่ได้รับอยู่ เป็นความทุกข์โศกต่างๆ ก็ดี เป็นภัยคือความกลัวต่างๆ ก็ดี ก็มาจากตัณหาอุปาทานนี้เอง ให้ความรู้ของตนนี่แหละบังเกิดขึ้นรับรองว่าเป็นความจริง ด้วยการที่หมั่นพิจารณาอยู่เนืองๆ ให้มองเห็นว่านี่เป็นตัวเหตุ ทุกข์โศกภัยต่างๆ นั้นเป็นตัวผล เมื่อปัญญาบังเกิดขึ้น คือความรู้นี่แหละบังเกิดขึ้นรับรองว่าเป็นจริง ดั่งนี้ ทุกข์โศกต่างๆ ภัยคือความกลัวต่างๆ ก็จะดับไปทันที
สมาธิเพื่อปัญญา
พระพุทธเจ้า ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ก็ได้ตรัสแสดงไว้ในปฐมเทศนาของพระองค์ ว่าตรัสรู้ในอริสัจจ์ทั้ง ๔ คือ ทุกข์ เหตุเกิดทุกข์ ความดับทุกข์ ทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ทุกข์ต่างๆ นั้น ก็เพราะมี ทุกขสมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์ คือตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก ดับตัณหาเสียได้ ก็เป็น ทุกขนิโรธ ความดับทุกข์ จะดับได้ก็อาศัยปฏิบัติใน มรรคมีองค์ ๘ มีสัมมาทิฏฐิความเห็นชอบเป็นต้น มีสัมมาสมาธิความตั้งใจชอบเป็นที่สุด ซึ่งแสดงว่าต้องมีสมาธิ คือความที่กำหนดจิตเพ่งจิตอยู่ ในอารมณ์ของสมาธิ อารมณ์ของสมาธิเพื่อสมาธิ ก็เช่นอานาปานสติเป็นต้น อารมณ์ของสมาธิเพื่อปัญญา ก็คือนามรูปนี้ กำหนดดูให้รู้จักนามรูปนี้ ให้รู้จักกายใจนี้ ว่าเป็นอนิจจะคือไม่เที่ยง ต้องเกิดดับ เป็นทุกข์ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป และเป็นอนัตตาบังคับให้เป็นไปตามปรารถนามิได้ จึงมิใช่ตัวเรามิใช่ของเราตามที่ยึดถือกัน ดั่งนี้ ความรู้ที่บังเกิดขึ้นรับรองความจริงนี้ ก็เป็นสัมมาทิฏฐิความเห็นชอบ
พระพุทธเจ้าได้ทรงปฏิบัติมาในมรรคมีองค์ ๘ นี้ ที่ตรัสเรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา ข้อปฏิบัติที่เป็นหนทางกลางสมบูรณ์ ทรงกำหนดรู้ทุกข์ได้แล้ว ทรงละสมุทัยได้หมดแล้ว ทรงทำให้แจ้งนิโรธได้แล้ว ทรงปฏิบัติในมรรคมีองค์ ๘ ได้สมบูรณ์แล้ว จักษุ คือดวงตา ญาณ คือความหยั่งรู้ ปัญญา คือความรู้รอบ วิชชา คือความรู้จริง อาโลกคือความสว่างผุดขึ้นในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ กิเลสและกองทุกข์ดับไปหมดสิ้น จึงทรงเป็นพุทโธคือเป็นผู้ตรัสรู้แล้ว
อริยสัจจ์ ๔ โดยพิสดาร
และความตรัสรู้ของพระองค์ในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ นี้ เมื่อแสดงโดยพิสดารตามที่ตรัสไว้ก็คือ ( เริ่ม ) ปฏิจจสมุปบาทธรรมะที่อาศัยกันบังเกิดขึ้น ซึ่งมีอวิชชาอาสวะเป็นต้น มาจนถึง ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ เป็นต้น ซึ่งเป็นปัจจัยกันโดยลำดับ นี้เป็นฝ่ายสมุทัยวาร คือเป็นฝ่ายเกิด หรือเป็นฝ่ายก่อทุกข์ พระพุทธเจ้าเมื่อได้ตรัสรู้แล้ว ก็ได้ทรงพิจารณาอริยสัจจ์ทางปฏิจจสมุปบาทนี้ แล้วก็ได้ทรงเปล่งอุทานขึ้น ซึ่งแปลความว่า เมื่อใดธรรมทั้งหลายปรากฏแก่พราหมณ์ ผู้มีเพียรเพ่งอยู่ เมื่อนั้นความสงสัยของพราหมณ์นั้นย่อมสิ้นไป เพราะมารู้ธรรมะว่าเกิดจากเหตุ หรือรู้ธรรมะพร้อมทั้งเหตุ หรือรู้ธรรมะว่ามีเหตุที่เป็นปัจจัยสืบต่อกันไป จึงทำให้เกิดทุกข์
แล้วได้ทรงพิจารณาปฏิจจสมุปบาททางนิโรธวาร ทางนิโรธวาระ หรือนิโรธวาร คือวาระดับ คือดับทุกข์ ว่าเพราะดับอวิชชาอาสวะ หรืออาสวะอวิชชาเป็นต้น จึงได้ดับมาโดย จนถึงดับ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ เป็นต้น ได้ทรงเปล่งอุทานขึ้นว่า เมื่อใดธรรมทั้งหลายปรากฏแก่พราหมณ์ผู้มีเพียรเพ่งอยู่ เมื่อนั้นความสงสัยของพราหมณ์นั้นย่อมสิ้นไป เพราะมารู้ความสิ้นไปของปัจจัยคือเหตุทั้งหลาย ดั่งนี้
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป