แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
ได้แสดงข้อสัมมาทิฏฐิความเห็นชอบ ตามพระเถราธิบายของท่านพระสารีบุตรมาโดยลำดับ จะได้แสดงต่อไปในข้อว่า เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย เกิดภพ ภพนั้นก็คือ ความเป็น ความมี อันได้แก่กามภพ รูปภพ อรูปภพ เพราะมีความยึดถือซึ่งเป็นอุปาทาน จึงมีภพ ความเป็น ความมี
ภพอย่างละเอียดก็คืออัสมิมานะ ความสำคัญหมายว่าเรามีเราเป็น ยึดถือในสิ่งในสิ่งใด ก็เกิดเป็นความมี ความเป็น คือเป็นเราสืบมาถึงเป็นของเราขึ้นในสิ่งนั้น ยึดอยู่ในกาม ก็เป็นเราขึ้นในกาม ก็เป็นกามภพ ยึดในรูป ก็เป็นเราขึ้นในรูป เป็นรูปภพ ยึดในอรูปก็เป็นเราขึ้นในอรูป เป็นอรูปภพ เพราะฉะนั้น เมื่อมีอุปาทานคือความยึดถือจึงมีภพ และเมื่อมีภพจึงมีชาติคือความเกิด
เพราะว่าเมื่อมีเราในกามก็ดี ในรูปก็ดี ในอรูปก็ดี ก็มีชาติคือความเกิดขึ้นแห่งเรา อันชาติคือความเกิดขึ้นนั้น เมื่อมีเป็นชาติขึ้นแล้ว ก็ต้องมีชรา มีมรณะ มีโสกะ ความโศก ปริเทวะ ความรัญจวนคร่ำครวญใจ เป็นต้น เป็นอันว่าทุกข์ทั้งหมดก็เกิดขึ้น
ชาติคือความเกิด
ตรงนี้ได้มีพระพุทธาธิบาย ขยายชาติคือความเกิดออกไป ตรงที่ทรงต้องการที่จะชี้ว่า เมื่อมีชาติคือความเกิด ก็มีชรา มรณะ หากไม่มีชาติคือความเกิด ก็ไม่มีชรา มรณะ
ดังที่ได้ตรัสถามพระอานนท์ว่า ชาติคือความเกิด คือความเกิดของมนุษย์ ความเกิดของเทพโดยความเป็นเทพ ความเกิดของคนธรรพ์โดยความเป็นคนธรรพ์ ความเกิดของยักษ์โดยความเป็นยักษ์ ความเกิดของภูติโดยความเป็นภูติ ความเกิดของมนุษย์โดยความเป็นมนุษย์ ความเกิดของสัตว์สี่เท้าโดยความเป็นสัตว์สี่เท้า ความเกิดของนกโดยความเป็นนก ความเกิดของงูสัตว์เลื้อยคลาน โดยความเป็นงูเป็นสัตว์เลื้อยคลาน หากว่าไม่มีความเกิดแห่งเทพเป็นต้นเหล่านี้ขึ้น จะมีชรา มรณะ หรือไม่
ท่านพระอานนท์ก็กราบทูลว่า ไม่มี ในเมื่อมีความเกิดแห่งเทพเป็นต้นดังกล่าว จึงมีชรามรณะ ใช่หรือไม่ พระอานนท์ก็กราบทูลว่า ใช่ ดั่งนี้
ตามที่อธิบายมาตั้งแต่อาสวะอวิชชา จนถึงชรามรณะนี้ เป็นการแสดงอธิบายเพื่อให้เชื่อมต่อ ว่าเป็นปัจจัยของกันมาโดยลำดับอย่างไร ในข้อสัมมาทิฏฐินี้ ท่านพระสารีบุตรจับแสดงไปทีละข้อ เป็นอริยสัจจ์ ๔ ไปทีละข้อ คือ ให้รู้จัก ชรา มรณะ ให้รู้จักเหตุเกิดแห่ง ชรา มรณะ คือ ชาติ ให้รู้จักความดับชรามรณะ คือ ดับชาติ ให้รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับชรามรณะ คือมรรคมีองค์ ๘
ท่านแสดงให้รู้จักชาติ คือความเกิด ให้รู้จักเหตุเกิดแห่งชาติคือ ภพ ให้รู้จักความดับชาติก็คือดับภพ ให้รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับชาติ ก็คือมรรคมีองค์ ๘
ท่านแสดงให้รู้จักภพ ให้รู้จักเหตุเกิดภพ คืออุปาทาน ให้รู้จักความดับภพก็คือดับอุปาทาน ให้รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับภพก็คือมรรคมีองค์ ๘
ท่านแสดงให้รู้จักอุปาทาน ให้รู้จักเหตุเกิดแห่งอุปาทานก็คือ ตัณหา ให้รู้จักความดับอุปาทานก็คือดับตัณหา ให้รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับอุปาทานก็คือมรรคมีองค์ ๘
( เริ่ม ) ท่านแสดงให้รู้จัก ตัณหา ให้รู้จักเหตุเกิดแห่งตัณหาก็คือ เวทนา ให้รู้จักความดับตัณหาก็คือดับเวทนา ให้รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับตัณหาก็คือมรรคมีองค์ ๘
ท่านแสดงให้รู้จัก เวทนา ท่านแสดงให้รู้จักเหตุเกิดเวทนาก็คือ ผัสสะ ท่านแสดงให้รู้จักความดับเวทนาก็คือดับผัสสะ ท่านแสดงให้รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับเวทนาก็คือมรรคมีองค์ ๘
ท่านแสดงให้รู้จัก ผัสสะ ให้รู้จักความเกิดเหตุเกิดแห่งผัสสะก็คือ อายตนะทั้ง ๖ ท่านแสดงให้รู้จักความดับผัสสะ ก็คือดับอายตนะทั้ง ๖ ท่านแสดงให้รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับผัสสะ ก็คือมรรคมีองค์ ๘
ท่านแสดงให้รู้จัก อายตนะทั้ง ๖ ให้รู้จักเหตุเกิดแห่งอายตนะทั้ง ๖ ก็คือ นามรูป ให้รู้จักความดับแห่งอายตนะทั้ง ๖ ก็คือดับนามรูป ให้รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับอายตนะทั้ง ๖ ก็คือมรรคมีองค์ ๘
ท่านแสดงให้รู้จัก นามรูป ให้รู้จักเหตุเกิดนามรูปก็คือ วิญญาณ ให้รู้จักความดับนามรูปก็คือดับวิญญาณ ให้รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับนามรูป ก็คือมรรคมีองค์ ๘
ท่านแสดงให้รู้จัก วิญญาณ ให้รู้จักเหตุเกิดวิญญาณก็คือ สังขาร ให้รู้จักความดับวิญญาณก็คือดับสังขาร ให้รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับวิญญาณ ก็คือมรรคมีองค์ ๘
ท่านแสดงให้รู้จัก สังขาร ให้รู้จักเหตุเกิดสังขารก็คือ อวิชชา ให้รู้จักความดับสังขารก็คือดับอวิชชา ให้รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับสังขารก็คือมรรคมีองค์ ๘
ท่านแสดงให้รู้จัก อวิชชา ท่านแสดงให้รู้จักเหตุเกิดอวิชชาก็คือ อาสวะ ท่านแสดงให้รู้จักความดับอวิชชาก็คือดับอาสวะ ท่านแสดงให้รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับอวิชชา ก็คือมรรคมีองค์ ๘
ท่านแสดงให้รู้จัก อาสวะ ให้รู้จักเหตุเกิดอาสวะก็คือ อวิชชา ก็กลับย้อนมาอวิชชาอีก ให้รู้จักความดับอาสวะก็คือดับอวิชชา ให้รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับอาสวะ ก็คือมรรคมีองค์ ๘
ก็เป็นอันว่ายุติลงแค่อวิชชาอาสวะ หรือว่าอาสวะอวิชชา อันนับว่าเป็นต้นเงื่อนที่ได้ทรงค้นพบได้ตรัสรู้ และได้ทรงนำมาแสดงชี้แจงจำแนก และก็เป็นอริยสัจจ์ไปทุกข้อ ดังจะพึงเห็นได้ว่าตามที่ได้สรุปมานี้ แต่ละข้อก็เป็นสี่ๆ ทั้งนั้น คือเป็นอริยสัจจ์ ๔ ไปทุกข้อ
ทางปฏิบัติให้ถึงความดับ
และทางปฏิบัติให้ถึงความดับของทุกข้อนั้น ก็ยืนตัวคือ มรรคมีองค์ ๘ อันได้แก่ สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ ก็คือเห็นในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ ก็คือดำริในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ นั่นแหละ แต่ท่านแสดงเป็นความดำริออก ดำริที่ไม่ปองร้าย ดำริที่ไม่เบียดเบียน สัมมาวาจา เจรจาชอบ สัมมากัมมันตะ การงานชอบ สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตชอบ สัมมาวายามะ เพียรชอบ สัมมาสติ ระลึกชอบ สัมมาสมาธิ ตั้งใจชอบ
ได้มีพระพุทธาธิบายในมรรคมีองค์ ๘ นี้ โดยตั้งข้อสัมมาทิฏฐินำ คือเมื่อมีความเห็นชอบนำก็ย่อมมีความดำริชอบ เมื่อมีความดำริชอบก็ย่อมมีวาจาชอบ เมื่อมีวาจาชอบก็ย่อมมีการงานชอบ เมื่อมีการงานชอบก็ย่อมมีการเลี้ยงชีวิตชอบ เมื่อมีการเลี้ยงชีวิตชอบก็ย่อมมีความเพียรชอบ เมื่อมีความเพียรชอบก็ย่อมมีสติชอบ เมื่อมีสติชอบก็ย่อมมีสมาธิชอบ และได้มีพระพุทธาธิบายต่อไปอีกว่า เมื่อมีสมาธิชอบก็ย่อมมี สัมมาญาณะ คือความหยั่งรู้ชอบ เมื่อมีความหยั่งรู้ชอบก็ย่อมมี สัมมาวิมุติ คือพ้นชอบ ดั่งนี้ มรรคมีองค์ ๘ นี้ย่อมเป็นหลักสำคัญในการปฏิบัติเพื่อดับแห่งทุกข้อ
และเมื่อพิจารณาดูตามพระเถราธิบายที่ท่านแจกข้อธรรม ในปฏิจจสมุปบาทธรรมะที่อาศัยกันบังเกิดขึ้น จับแต่ข้อชรามรณะ ไปจนถึงอวิชชาอาสวะ หรืออาสวะอวิชชา ก็แยกเป็นอริยสัจจ์ ๔ ไปทุกข้อดังที่กล่าว และก็กล่าวได้ว่า ก็แบ่งออกเป็นสายเกิด และแบ่งออกเป็นสายดับ
หากจะพูดรวบรัดเข้ามาว่า เป็นสายเกิดแห่งอะไร ก็กล่าวได้ว่าเป็นสายเกิดแห่งทุกข์ เพราะว่าในสายเกิดนั้นก็มาสุดลงที่ชรามรณะ แก่ ตาย และโสกะปริเทวะ ความโศกความรัญจวนคร่ำครวญใจเป็นต้น รวมเข้าก็คือทุกๆ อย่าง ต้นทางของสายเกิดก็เพราะอวิชชาอาสวะ หรืออาสวะอวิชชา ก็มาสุดลงที่กองทุกข์ทั้งหมด มีชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ เป็นต้น เพราะฉะนั้น จึงสรุปเข้าว่าเป็นสายเกิดทุกข์
ส่วนสายดับนั้น กล่าวอย่างรวบรัดเข้ามาว่าดับอะไร ก็กล่าวได้ว่าดับทุกข์ เพราะว่าปลายทางก็คือดับทุกข์ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะเป็นต้น ดับไปหมด เนื่องจากดับมาจากต้นทาง คืออวิชาอาสวะ หรืออาสวะอวิชชา ดับ ทุกอย่างก็ดับมาตลอดสาย จนถึงดับกองทุกข์ทั้งหมด มีชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะเป็นต้น
ฉะนั้น จึงกล่าวได้ว่าบรรดาข้อธรรมในปฏิจจสมุปบาทธรรมะที่อาศัยกันบังเกิดขึ้นทุกข้อ คืออาสวะอวิชชา หรืออวิชชาอาสวะ อาสวะ อวิชชา สังขาร วิญญาณ นามรูป อายตนะ ๖ ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ ชรามรณะโสกะปริเทวะเป็นต้น ทั้งหมดนี้เป็นทุกข์สัจจะสภาพที่จริงคือทุกข์ทั้งหมด เพราะว่าเป็นสิ่งที่เป็นทุกข์คือตั้งอยู่คงที่ไม่ได้ ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป คือต้องเกิดดับ คือเกิดได้ ดับได้ สิ่งที่เกิดดับได้นี้รวมเข้าในคำว่าทุกข์ทั้งหมด เพราะว่าตั้งอยู่คงที่ไม่ได้ ทุกข์จึงมิได้หมายความเฉพาะทุกขเวทนาเท่านั้น จึงได้มีแสดงถึงคำว่าทุกข์เอาไว้ว่า ทุกขทุกข์ ทุกข์โดยความเป็นทุกข์ สังขารทุกข์ ทุกข์คือสังขารสิ่งที่ผสมปรุงแต่งทั้งหลาย วิปรินามทุกข์ ทุกข์คือความแปรปรวนเปลี่ยนแปลง
สิ่งที่มีลักษณะเป็นทุกข์ โดยเป็นทุกข์ ดังที่เรียกกันว่าทุกขทุกข์ และสิ่งที่เป็นสังขารคือสิ่งผสมปรุงแต่งทั้งหมด และสิ่งที่ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปทั้งหมด รวมเข้าในคำว่าทุกข์นี้ทั้งนั้น แม้ตัวเวทนาเอง สุขเวทนาก็เป็นทุกข์ เพราะว่าต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลง ต้องเกิดดับ ทุกขเวทนาก็เป็นทุกข์ เพราะเป็นสิ่งที่ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลง ต้องเกิดดับ อุปเบกขาเวทนาก็เป็นทุกข์ เพราะเป็นสิ่งที่แปรปรวนเปลี่ยนแปลง ต้องเกิดดับ เพราะฉะนั้น การเห็นทุกข์นั้นจึงมิใช่หมายความว่า เห็นในขณะที่มีทุกขเวทนา เช่นในเวลาที่เหน็ดเหนื่อย หรือในเวลาที่ต้องอยู่ในที่ร้อนไปหนาวไป ในเวลาที่ต้องมีทุกข์เวทนาต่างๆ จากอาพาธป่วยไข้ การเห็นทุกข์ดั่งนี้ ทุกๆ คนเมื่อประสบทุกขเวทนาก็ต้องเห็นทั้งนั้น คือต้องเสวยทุกข์อยู่ด้วยกันทั้งนั้น แล้วก็ต้องเห็นทุกข์ดั่งนั้นทั้งนั้น แต่ว่าเมื่อเห็นก็ยังจมอยู่ในกองทุกข์ ยังต้องตกอยู่ในทุกข์ พรากจิตออกมาไม่ได้ เพราะฉะนั้นทุกข์อย่างที่เห็นๆ กันนี้ ผู้เห็นจึงไม่ชื่อว่าเห็นทุกข์
เห็นทุกข์นั้นจะต้องเห็นว่า แม้ทุกขเวทนาที่กำลังประสบอยู่ก็เป็นทุกข์ คือต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลง เป็นสังขารคือสิ่งผสมปรุงแต่ง ต้องเกิดต้องดับ แม้ในเวลาที่ประสบสุขเวทนาต่างๆ มีความสุขสบายต่างๆ ก็ต้องเห็นว่าสุขที่กำลังประสบอยู่นั้นเป็นตัวทุกข์ คือเป็นสิ่งที่แปรปรวนเปลี่ยนแปลง เป็นสิ่งที่ต้องเกิดดับ แม้ในขณะที่กำลังประสบหรือเสวยอุเบกขาเวทนา เวทนาที่ไม่ทุกข์ไม่สุข ก็ต้องรู้จักว่านั่นเป็นเวทนาที่เป็นกลางๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข ซึ่งก็ต้องเป็นตัวทุกข์ คือเป็นสังขารสิ่งผสมปรุงแต่ง ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลง
เห็นดั่งนี้จึงจะชื่อว่าเห็นทุกข์
จะต้องเห็นดั่งนี้จึงจะชื่อว่าเห็นทุกข์ เห็นทุกข์ในเวทนา เห็นทุกข์ในรูป เห็นทุกข์ในเวทนา เห็นทุกข์ในสัญญา เห็นทุกข์ในสังขาร เห็นทุกข์ในวิญญาณ ทั้งหมดว่าเป็นสิ่งที่ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลง ต้องเกิดต้องดับ ชรามรณะโสกะปริเทวะเป็นต้น ก็ต้องเป็นตัวทุกข์ดังกล่าว ชาติก็ต้องเป็นตัวทุกข์ดังกล่าว ภพก็ต้องเป็นตัวทุกข์ดังกล่าว อุปาทานก็ต้องเป็นตัวทุกข์ดังกล่าว ตัณหาก็ต้องเป็นตัวทุกข์ดังกล่าว เวทนาก็ต้องเป็นตัวทุกข์ดังกล่าว ผัสสะก็ต้องเป็นตัวทุกข์ดังกล่าว อายตนะทั้ง ๖ ก็ต้องเป็นตัวทุกข์ดังกล่าว นามรูปก็ต้องเป็นตัวทุกข์ดังกล่าว วิญญาณก็ต้องเป็นตัวทุกข์ดังกล่าว สังขารก็ต้องเป็นตัวทุกข์ดังกล่าว แม้อวิชชาอาสวะก็ต้องเป็นตัวทุกข์ดังกล่าว เพราะเป็นสิ่งที่ต้องเกิดต้องดับ คือดับได้ ดั่งนี้ จึงจะชื่อว่าเห็นทุกข์ในอริยสัจจ์ ที่สืบเนื่องกันไปเป็นสาย เป็นทุกข์ทั้งหมด คือเป็นสิ่งที่ต้องเกิดต้องดับหมด ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงหมด เพราะฉะนั้น เห็นดั่งนี้จึงจะชื่อว่าเห็นทุกข์
และเห็นว่าบรรดาข้อธรรมะเหล่านี้ เป็นสมุทัยของกันและกัน ดังที่ได้แสดงมาแล้ว อาสวะเป็นสมุทัยของอวิชชา อวิชชาเป็นสมุทัยของอาสวะ อาสวะเป็นสมุทัยของอวิชชา อวิชชาเป็นสมุทัยของสังขารเป็นต้น ลงมาจนถึงชาติเป็นสมุทัยของชรามรณะโสกะปริเทวะเป็นต้น เป็นสมุทัยของกันและกัน เป็นลูกโซ่มาโดยลำดับ ดั่งนี้ เป็นข้อสมุทัย
และเห็นความดับที่ต้องดับสืบต่อกันมาเป็นสาย จากอวิชชาอาสวะ อาสวะอวิชชาลงมา จนถึงดับชาติดับชรามรณะโสกะปริเทวะเป็นต้น นั่นก็เป็นเห็นนิโรธคือความดับทุกข์
และเห็นมรรค คือทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ คือมรรคมีองค์ ๘ ว่าเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ซึ่งมีสัมมาทิฏฐิคือความเห็นชอบเป็นข้อสำคัญ โดยที่มีมรรคทั้งหมดสนับสนุน คือจะต้องมีทั้งอีก ๗ ข้อมารวมเป็นมรรคสมังคี ความพร้อมเพรียงกันขององค์มรรค สัมมาทิฏฐิคือความเห็นชอบจึงจะมีกำลังแก่กล้า มองเห็นสัจจะคือความจริงในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ เหล่านี้ ที่จำแนกไปโดยลำดับตลอดสาย และเมื่อเป็นดั่งนี้แล้วจึงจะได้สัมมาญาณะ ความหยั่งรู้ชอบ สัมมาวิมุติ ความหลุดพ้นชอบในที่สุด
ท่านพระสารีบุตรได้แสดงธรรมะในปฏิจจสมุปบาทนี้ สืบต่อๆ จากที่ท่านได้แสดงถึงสัมมาทิฏฐิคือความเห็นชอบ คือเห็นชอบในกรรม พร้อมทั้งเหตุของกรรม ซึ่งท่านได้แสดงว่าสัมมาทิฏฐิคือความเห็นชอบ ก็ได้แก่ รู้จักอกุศล รู้จักอกุศลมูล คือ โลภะ โทสะ โมหะ รู้จักกุศล รู้จักกุศลมูล คือ อโลภะ อโทสะ อโมหะ รู้จักอาหารทั้ง ๔ อันได้แก่รู้จักว่าอาหารคือคำข้าว ซึ่งเป็นของหยาบเป็นอาหารของกาย รู้จักว่าผัสสะเป็นอาหารของเวทนา รู้จักมโนสัญเจตนาคือความจงใจ ว่าเป็นอาหารของกรรม และรู้จักวิญญาณว่าเป็นอาหารของนามรูป ดั่งนี้ แล้วท่านจึงแสดงอริยสัจจ์ทั้ง ๔ คือให้รู้จักทุกข์ รู้จักทุกขสมุทัย เหตุเกิดทุกข์ รู้จักทุกข์นิโรธ ความดับทุกข์ รู้จักมรรค คือทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ แล้วจึงขยายออกมาเป็นข้อธรรมในปฏิจจสมุปบาท โดยแยกเป็นอริยสัจจ์ ๔ ไปทุกๆ ข้อ
แต่ว่าข้อธรรมในปฏิจจสมุปบาทนี้ ท่านพระอานนท์ได้เคยกราบทูลพระพุทธเจ้าว่า ปรากฏแก่ท่านว่าเหมือนเป็นของง่าย แต่พระพุทธเจ้าตรัสว่า ท่านพระอานนท์อย่ากล่าวเช่นนั้น ธรรมะในปฏิจจสมุปบาทเป็นธรรมะที่ลุ่มลึก ซึ่งเห็นได้ยาก รู้ได้ยาก เพราะฉะนั้นเมื่อพระพุทธองค์ทรงแสดงอริยสัจจ์ทั้ง ๔ จึงได้แสดงโดยปริยายที่เข้าใจกันง่าย ทรงแสดง ทุกข์สัจจะ สภาพที่จริงคือทุกข์ ก็ทรงชี้ให้รู้จัก สภาวทุกข์ คือชาติชรามรณะ ให้รู้จัก ปกิณกทุกข์ ก็คือโสกะปริเทวะเป็นต้น ซึ่งรวบเข้าก็เป็นประจวบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก พลัดพรากจากสิ่งที่เป็นที่รัก สรุปลงเป็นหนึ่งก็คือปรารถนาไม่ได้สมหวัง และโดยย่อขันธ์เป็นที่ยึดถือทั้ง ๕ ประการเป็นตัวทุกข์ ก็คือรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ และทรงแสดง ทุกขสมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์ ทรงชี้เอาตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก ทรงแสดง ทุกขนิโรธ ความดับทุกข์ ก็คือดับตัณหา ทรงแสดง มรรค ทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ก็คือมรรคมีองค์ ๘ ดังกล่าว ซึ่งเป็นปริยายที่เข้าใจได้ง่าย
แต่ในทางพระสัพพัญญุตญาณที่ตรัสรู้นั้น ได้ตรัสแสดงไว้ ว่าได้ทรงพิจารณาปฏิจจสมุปบาทธรรมะที่อาศัยกันบังเกิดขึ้น คือได้ตรัสรู้อย่างละเอียด และเมื่อได้ตรัสรู้แล้ว ก็ยังได้พิจารณาปฏิจจสมุปบาทธรรมที่อาศัยกันบังเกิดขึ้นนี้ ทั้งโดยสมุทัยวาร วาระเกิด นิโรธวาร วาระดับ
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป