แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
ได้แสดงข้อสัมมาทิฏฐิตามพระเถราธิบายของท่านพระสารีบุตรมาโดยลำดับ โดยที่ท่านได้จับอธิบายในข้อสัมมาทิฏฐิคือความเห็นชอบ ว่าคือเห็นอย่างไร จำแนกแจกแจงตามลำดับธรรมะในปฏิจจสมุปบาท คือธรรมะที่อาศัยกันบังเกิดขึ้น จับแต่ข้อชรามรณะย้อนขึ้นไปจนถึงอวิชชาอาสวะ แต่ละข้อก็จำแนกออกตามหลักอริยสัจจ์ทั้ง ๔ ซึ่งเป็นผลและเหตุในด้านเกิดทุกข์ และผลและเหตุในด้านดับทุกข์ไปทีละข้อ
ในการอธิบายในที่นี้ ก็อธิบายไปตามแนวของท่าน และเมื่อขึ้นไปถึงอวิชชาอาสวะ จึงได้จับอธิบายในแต่ละข้อ ที่เป็นผลและเหตุในด้านเกิดทุกข์ หรือว่าในด้านเกิด ว่าเป็นปัจจัยที่สืบกันลงไปอย่างไร ก็จับแต่ข้ออวิชชาอาสวะ หรืออาสวะอวิชชาลงมา ว่าเป็นเหตุปัจจัยของกันอย่างใด และก็ต่อลงมา อวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขารอย่างไร สังขารเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณอย่างไร วิญญาณเป็นปัจจัยให้เกิดนามรูปอย่างไร นามรูปเป็นปัจจัยให้เกิดอายตนะ ๖ อย่างไร อายตนะ ๖ เป็นปัจจัยให้เกิดผัสสะอย่างไร ผัสสะเป็นปัจจัยให้เกิดเวทนาอย่างไร เวทนาเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหาอย่างไร
อุปาทาน ๔
ในวันนี้ก็จะได้จับอธิบายว่า ตัณหาเป็นปัจจัยให้เกิดอุปาทาน คือเมื่อมีตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก ก็ย่อมมีอุปาทานคือความยึดถือ และอุปาทานนั้นท่านพระเถระก็ได้แยกออกเป็นอุปาทาน ๔ คือ กามุปาทาน ยึดถือกาม ทิฏฐุปาทาน ยึดถือทิฏฐิคือความเห็น สีลัพพตุปาทาน ยึดถือศีลและพรต อัตตวาทุปาทาน ยึดถือวาทะว่าตน ซึ่งอุปาทาน ๔ นี้ก็ได้แสดงอธิบายแล้ว เมื่อได้แสดงมาถึงลำดับของอุปาทาน เพราะมีตัณหาคือความดิ้นรนทะยานอยาก จึงมีอุปาทานคือความยึดถือ คือเพราะอยากจึงยึด ถ้าหากว่าไม่มีอยากซึ่งเป็นตัวตัณหา ก็ย่อมไม่มียึดซึ่งเป็นอุปาทาน
แต่ได้มีพระพุทธาธิบายแทรกเข้ามาตรงตัณหานี้ในพระสูตรอื่นว่า เพราะตัณหา เป็นเหตุให้เกิดอะไรต่ออะไรต่างๆ อีกมากมาย ซึ่งก็เป็นข้อที่จะพึงเห็นได้อย่างง่ายๆ เพราะเป็นเรื่องที่มีอยู่ เป็นไปอยู่ เหมือนอย่างเป็นธรรมดาโลก ( เริ่ม ) ซึ่งโลกนั้นก็ได้มีพระพุทธภาษิตตรัสแสดงไว้ว่า อันตัณหาก่อให้เกิดขึ้น ตัณหายะ อุฑฑิโต โลโก โลกอันตัณหาก่อให้เกิดขึ้น
เพราะฉะนั้น ข้อที่ตรัสจำแนก ว่าอะไรเกิดขึ้นบ้างจากตัณหา จึงแสดงถึงความเป็นพระสัพพัญญูผู้รู้ธรรมทั้งหมดของพระพุทธเจ้า และแสดงถึงทรงเป็นพระผู้จำแนกแจกธรรม สั่งสอนได้อย่างถูกต้องแท้จริง คือได้ตรัสแสดงชี้แจงสิ่งที่เกิดขึ้นอันเนื่องมาจากตัณหา อันกล่าวได้ว่าเป็นเรื่องธรรมดาโลกที่ตัณหาก่อขึ้น คือได้ตรัสแสดงไว้ว่า เพราะมีตัณหาคือความดิ้นรนทะยานอยาก จึงมีการแสวงหา คือมีการแสวงหาสิ่งที่ตัณหาทะยานอยากเพื่อจะได้ ทะยานอยากเพื่อจะได้อะไร ก็แสวงหาสิ่งนั้น ทะยานอยากเพื่อจะเป็นอะไร ก็แสวงหาเพื่อจะเป็นอย่างนั้น ทะยานอยากเพื่อที่จะไม่ให้เป็นอะไร ก็แสวงหาเพื่อที่จะไม่ให้เป็นอย่างนั้น
เหตุแห่งการแสวงหา
เพราะฉะนั้น เพราะมีตัณหาจึงมีการแสวงหา และเพราะมีการแสวงหา ก็มีลาภ คือการได้มา ในเมื่อการแสวงหานั้นเป็นเหตุให้ได้มา ก็ย่อมจะได้ เช่น ได้ทรัพย์ ได้สิ่งที่ตัณหาต้องการ อันมีคำเรียก เช่นเรียกว่ากามหรือวัตถุกาม หรือกามคุณ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ สิ่งถูกต้อง ที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจทั้งหลาย ได้เป็นนั่นเป็นนี่ตามที่ตัณหาต้องการ หรือว่า ได้ที่จะไม่เป็นนั่นเป็นนี่ หรือที่ให้สิ่งที่เป็นนั่นเป็นนี่ ต้องหายไปหมดไป เสื่อมไปสิ้นไป ตามที่ตัณหาต้องการ เหล่านี้รวมเข้าในคำว่า การได้
และเพราะมี การได้ จึงมีความปลงใจตกลงใจว่า เราได้มาซึ่งสิ่งนั้นสิ่งนี้แล้ว และเพราะมีความปลงใจตกลงใจดั่งนี้ จึงมีฉันทราคะความพอใจยินดี ความติดใจ พอใจ อยู่ในสิ่งที่ได้นั้น ซึ่งตกลงใจว่าเราได้มาแล้ว รับรู้ว่าเราได้มาแล้ว ก็มีความยินดีพอใจ มีความพอใจติดใจ หรือติดใจพอใจอยู่ในสิ่งนั้น และเพราะมีความพอใจติดใจ หรือว่ายินดีพอใจอยู่ในสิ่งนั้น จึงได้มีความ สยบติด อันหมายความว่า ความพอใจติดใจนั้นทำให้ตนหรือจิตใจของตนสยบอยู่ในสิ่งนั้น ติดอยู่ในสิ่งนั้น เหมือนอย่างวัตถุที่ติดกันอยู่ด้วยกาว อันทำให้มีความสยบอยู่ด้วยความติด และเพราะมีความสยบอยู่ด้วยความติด จึงมีความยึดถือ รวบถือ อันหมายความว่า ไม่ต้องการที่จะพรากออก แต่ว่าแถมมีความยึดถืออยู่ในความติดนั้น
แปลว่าต้องการจะให้ติดอยู่ ต้องการที่จะให้สยบอยู่ ไม่ต้องการที่จะให้พรากออก แม้มีใครมาบอกว่าให้พรากออก เพราะความที่สยบติดอยู่นั้น ไม่ดีอย่างนั้นอย่างนี้ ก็ไม่ยอมฟัง ยังยืนยันอยู่ในความสยบติดนั้น ดั่งนี้คือความที่ยึดถือ หรือว่ารวบถือ ด้วยความสมัครใจ สมัครใจที่จะยึดถืออยู่อย่างนั้น และเพราะมีความยึดถืออยู่ดั่งนี้ จึงมี มัจฉริยะ ที่แปลกันว่าความตระหนี่เหนียวแน่น หวงแหน และเพราะมีมัจฉริยะคือความตระหนี่เหนียวแน่นหวงแหน จึงมี อารักขา คือการรักษาด้วยวิธีรักษาต่างๆ เป็นต้นว่า ต้องมีการถือกระบอง ถือท่อนไม้ ต้องมีการถือศัสตราวุธ ต้องมีการทะเลาะกัน ต้องมีการแก่งแย่งกัน ต้องมีการวิวาทกัน ต้องมีการกล่าวหากัน ว่าท่านนั่นแหละ ท่านนั่นแหละ หรือว่าเจ้านั่นแหละ เจ้านั่นแหละ ต้องมีการกล่าวส่อเสียด ต้องมีการกล่าวคำเท็จต่างๆ และก็จะต้องมีบาปอกุศลธรรมต่างๆ มากมาย บังเกิดขึ้นสืบต่อกันไปดั่งนี้
โลกย่อมเป็นไปดั่งนี้
นี้เป็นพระพุทธาธิบายที่ตรัสจำแนกเอาไว้ โดยที่ได้ทรงชี้ให้ทุกๆ คนได้มองเห็นได้ ว่าความวุ่นวาย ความทุกข์เดือดร้อนต่างๆ ที่มีอยู่ในโลกนั้น ได้มีขึ้นดั่งนี้ สืบจากตัณหา คือความดิ้นรนทะยานอยากและเมื่อพิจารณาดู ทุกคนก็จะเห็นได้ว่าเป็นอย่างนี้จริงๆ โลกที่ตัณหาก่อขึ้นย่อมเป็นไปดั่งนี้จริงๆ และทุกคนที่มีตัณหาก็ย่อมเป็นไปอย่างนี้มากหรือน้อย เพราะฉะนั้น ข้อที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสชี้แจงไว้นี้ จึงเป็นเรื่องที่บังเกิดขึ้นในโลกจริงๆ เพราะเหตุแห่งตัณหา คือความดิ้นรนทะยานอยาก
และเมื่อรวมเข้าแล้ว ก็รวมเข้าในอุปาทานทั้ง ๔ นั้นแหละ ที่ตรัสสรุปเข้าว่าเพราะตัณหามีขึ้น จึงมีอุปาทานคือความยึดถือ ยึดถือกาม คือสิ่งที่รักใคร่ปรารถนาพอใจทั้งหลาย ภาวะที่รักใคร่ปรารถนาพอใจทั้งหลาย ยึดถือทิฏฐิคือความเห็น ความเห็นที่เป็นไปตามอำนาจของตัณหา ยึดถือศีลและวัตร คือความประพฤติที่เป็นข้อเว้น และความประพฤติที่เป็นข้อที่พึงทำต่างๆ ไปตามอำนาจของตัณหา ยึดถือวาทะว่าตัวเราของเรา และก็สืบไปถึงตัวเขาของเขา เพราะเมื่อมีตัวเราของเรา ก็ต้องมีตัวเขาของเขา คู่กันไป ก็รวมเข้าในอุปาทานทั้ง ๔ นี้แหละ ซึ่งปรากฏออกไป ก็เป็นการแสวงหา เป็นการได้มาในเมื่อได้ เป็นการที่รับเข้ามาว่าเราได้ ยุติไปเป็นอย่างๆ และมีความพอใจติดใจ มีความสยบติด มีความยึดถือ มีความตระหนี่เหนียวแน่น และมีอารักขาต่างๆ ซึ่งต้องใช้กระบองท่อนไม้ ต้องใช้ศัตราวุธต่างๆ ต้องทะเลาะกัน แก่งแย่งกัน วิวาทกัน กล่าวหากัน ว่าท่านนั่นแหละ หรือว่าเจ้านั่นแหละผิดเป็นต้น ต้องพูดส่อเสียดกัน ต้องพูดเท็จกัน และต้องประกอบบาปอกุศลธรรมต่างๆ เป็นเอนก คือไม่น้อย มากมาย ก็สืบเนื่องมาจากตัณหาซึ่งเป็นปัจจัยให้เกิดอุปาทาน ดังนี้นี่แหละ
ข้อที่พึงพิจารณา
เพราะฉะนั้น ตามที่ทรงจำแนกไว้นี้ จึงเป็นข้อที่พึงพิจารณา และเมื่อพิจารณาดีแล้ว ก็จะทำให้จิตใจนี้เห็นโทษของตัณหา เห็นโทษของอุปาทาน ในการที่เพ่งพิจารณา ก็ต้องใช้สมาธิในสิ่งที่เพ่งพิจารณานั้น ปัญญาที่ได้มาจากความเพ่งพิจารณา ก็เป็นปัญญา และเมื่อเป็นปัญญาขึ้นดั่งนี้ ปัญญานี้เองก็จะทำให้เกิดการละได้ การสละได้ ดังที่ท่านพระเถระได้แสดงไว้ว่า สัมมาทิฏฐิความเห็นชอบ ก็คือความเห็นตรงเห็นถูกต้อง ประกอบด้วยความเลื่อมใสไม่หวั่นไหวในธรรม อันนำมาสู่พระสัทธรรม คือพระธรรมวินัยในศาสนานี้
เป็นเหตุละราคานุสัย อนุสัยกิเลสที่นอนเนื่องในจิตสันดาน คือราคะความติดใจยินดี บันเทาอนุสัยคือปฏิฆะความกระทบกระทั่ง อันเป็นต้นของความโกรธแค้นขัดเคือง โทสะพยาบาททั้งหลาย และถอนอนุสัยคือทิฏฐิมานะว่าตัวเราของเรา เป็นเหตุให้ละอวิชชา ทำวิชชาให้บังเกิดขึ้นได้ เพราะฉะนั้น จึงนำให้กระทำที่สุดของทุกข์ได้
ความที่ได้พิจารณาให้มองเห็นตามเป็นจริง ตามที่ตรัสไว้นี้แหละ คือสัมมาทิฏฐิความเห็นชอบในแต่ละข้อ และที่ตรัสแสดงไว้นี้ ก็เป็นข้อที่จะพิจารณาเห็นตามไปได้จริงๆ เพราะเป็นเรื่องที่มีอยู่เป็นไปอยู่จริงในโลกนี้ ซึ่งทุกๆ คนก็อยู่ในโลกนี้ โดยตรงก็อยู่ในจิตใจอันนี้นี่แหละ ของทุกๆ คน ซึ่งทุกๆ คนก็มีจิตใจอันนี้อยู่ มีตัณหามีอุปาทานอยู่ และมีความเป็นไปต่างๆ อยู่ตามที่ตรัสสอนไว้นี้ มากหรือน้อย
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวด และตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป