แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [ลองพูดคุยกับ AI ทาง Line]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
ได้แสดงพระเถราธิบายในข้อสัมมาทิฏฐิความเห็นชอบมาโดยลำดับ จับแต่ชาติชรามรณะ ขึ้นไปจนถึงอวิชชาอาสวะ และกำลังอธิบายในข้อที่ทั้งหมดนี้เป็นปัจจัยของกันอย่างไร คือเป็นเหมือนอย่างลูกโซ่ที่โยงกันไปเป็นสายโซ่อย่างไร จับแต่อวิชชาอาสวะ อาสวะอวิชชาซึ่งเป็นปัจจัยของกันและกัน และเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร สังขารก็เป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ วิญญาณก็เป็นปัจจัยให้เกิดนามรูป นามรูปก็เป็นปัจจัยให้เกิดอายตนะ และต่อจากนี้ก็ถึงเงื่อนหรือข้อต่อของลูกโซ่ ว่าอายตนะเป็นปัจจัยให้เกิดผัสสะหรือสัมผัส ผัสสะหรือสัมผัสเป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา ตามลำดับในปฏิจจสมุปบาทธรรมะที่อาศัยกันบังเกิดขึ้นที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้
ผัสสะ ๖
จึงจะจับอธิบายในเงื่อนหรือข้อต่ออันนี้ ว่าเพราะอายตนะทั้ง ๖ เกิดขึ้น จึงเกิดสัมผัสหรือผัสสะ สำหรับอายตนะทั้ง ๖ นั้นก็ได้อธิบายแล้ว ว่าได้แก่อายตนะภายในทั้ง ๖ คือตาที่เป็นเครื่องต่อรูป หูเป็นเครื่องต่อเสียง จมูกเป็นเครื่องต่อกลิ่น ลิ้นเป็นเครื่องต่อรส กายเป็นเครื่องต่อโผฏฐัพพะคือสิ่งที่กายถูกต้อง มโนคือใจเป็นเครื่องต่อธรรมะคือเรื่องราว และเมื่ออายตนะทั้ง ๖ ต่อกันดั่งนี้ ก็เป็นปัจจัยให้เกิดสัมผัสหรือผัสสะ อันแปลว่าความกระทบ ผัสสะหรือสัมผัสนี้ก็มี ๖ อันได้แก่จักขุสัมผัสสัมผัสทางตา โสตะสัมผัสสัมผัสทางหู ฆานะสัมผัสสัมผัสทางจมูก ชิวหาสัมผัสสัมผัสทางลิ้น กายสัมผัสสัมผัสทางกาย และมโนสัมผัสสัมผัสทางใจ
ในพระสูตรทั่วไปได้อธิบายสัมผัสไว้ว่า คือความประชุมกันขององค์ ๓ อันได้แก่อายตนะภายใน ๑ อายตนะภายนอก ๑ และวิญญาณอีก ๑ โดยที่ได้ตรัสแสดงอธิบายไว้ ดั่งเช่นในพระพุทธาธิบายอริยสัจจ์ข้อสมุทัยและข้อนิโรธ ในสัจจะปัพพะข้อที่ว่าด้วยสัจจะ ว่าเมื่ออายตนะภายในกับอายตนะภายนอก ประจวบกันหรือต่อกัน ก็เกิดวิญญาณ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อตาต่อกับรูป ก็เกิดจักขุวิญญาณ ความรู้รูปทางตา ที่เรียกว่าเห็นรูป และเมื่อทั้ง ๓ นี้มาประชุมกันก็เรียกว่าสัมผัส ที่แปลว่าความกระทบกัน ก็คือความประชุมกันของตา ของรูป และของจักขุวิญญาณ ความรู้รูปทางตาคือเห็นรูป และในอายตนะข้อต่อไปแต่ละข้อก็เช่นเดียวกัน
นี้เป็นการแสดงวิถีจิต คือทางดำเนินของจิตอย่างละเอียด และเมื่อเกิดสัมผัสดังกล่าวแล้ว จึงเกิดเวทนา เกิดสัญญา เกิดสังขาร และวิถีจิตดังที่กล่าวมานี้ก็พึงเข้าใจว่า ตัวจิตคือตัวธาตุรู้ หรือที่เรียกว่าวิญญาณธาตุ โดยปรกติย่อมอยู่ในภวังค์ อันเรียกว่า ภวังคจิต คำว่าภวังค์นั้นดังที่ได้เคยอธิบายแล้วว่า แปลว่าองค์ของภพคือความเป็น ซึ่งกล่าวง่ายๆ ว่าเป็นตัวชีวิตหรือเป็นตัวความดำรงอยู่ของชีวิต เพราะว่าทุกๆ คนนี้ดำรงชีวิตอยู่ ก็เพราะกายและจิตประกอบกันอยู่ เมื่อไม่มีจิต หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าปราศจากวิญญาณ ร่างกายนี้ก็กลายเป็นศพ กลายเป็นเหมือนอย่างท่อนไม้ ก้อนหินก้อนดิน แต่ความดำรงชีวิตอยู่นี้ก็เพราะกายและจิตนี้ประกอบกันอยู่
ภวังค์จิต วิถีจิต
จิตหรือธาตุรู้นี้ เมื่อยังอยู่เป็นปรกติเฉยๆ ยังไม่แสดงอาการอะไร ก็เรียกว่าภวังค์หรือภวังคะ เป็นองค์ คือเป็นองคคุณองคสมบัติของภพคือความเป็น คือความที่ยังดำรงความเป็นภพเป็นชาติ ความดำรงชีวิตอยู่ดังกล่าวจึงเรียกว่าภวังค์ ท่านจึงเปรียบเหมือนอย่าง บุรุษคนหนึ่งที่นอนหลับอยู่ใต้ต้นมะม่วง เพราะฉะนั้น จิตที่ยังอยู่เป็นปรกติเฉยๆ ก็เป็นเหมือนอย่างบุรุษที่นอนหลับอยู่ใต้ต้นมะม่วง คราวนี้เมื่อมีอารมณ์มากระทบ ก็กระทบทางอายตนะภายในทั้ง ๖ หรือทางทวารทั้ง ๖ มีตาหูเป็นต้นนั่นแหละ เช่นว่ามีรูปมาประจวบกับตา มีเสียงมาประจวบกับหู รูปเสียงที่มาประจวบนั้น ท่านเปรียบเหมือนอย่างว่าผลมะม่วงหล่นจากต้น หล่นตูมลงมาใกล้บุรุษที่นอนหลับ ก็เป็นเครื่องปลุกบุรุษที่นอนหลับนั้นให้ตื่นขึ้น
ฉันใดก็ดี จิตหรือธาตุรู้นี้เมื่อมีอารมณ์มากระทบทางทวาร หรืออายตนะภายในดังกล่าวนั้น ก็ออกจากภวังค์ เปรียบเหมือนอย่างว่าตื่นขึ้นมา และก็น้อมออกไปรับอารมณ์ ก็เหมือนอย่างบุรุษที่เมื่อมะม่วงหล่นลงมา เสียงมะม่วงกระทบหู ก็ตื่นขึ้น ก็เอื้อมมือไปหยิบมะม่วง จิตก็น้อมออกไปจับอารมณ์ กิริยาที่จิตน้อมออกไปนี้แหละเรียกว่านาม
คำว่านามนั้น ก็มีต้นศัพท์อย่างเดียวกับคำว่า นะโม ที่แปลว่าความนอบน้อม นามก็คือความน้อม หมายถึงอาการที่จิตน้อมออกรับอารมณ์ เช่นเดียวกับกิริยาที่บุรุษนอนหลับ ตื่นขึ้นเพราะเสียงมะม่วงหล่น ก็เอื้อมมือออกไป ยื่นมือออกไปจับผลมะม่วง อาการที่เอื้อมแขนออกไป นั่นก็คืออาการที่จิตน้อมออกไปรับอารมณ์นั้นเอง
และการรับอารมณ์ครั้งแรกของจิตนั้นเรียกว่า วิญญาณ ที่เราเรียกกันว่าเห็น ได้ยิน ทราบ หรือว่าคิดรู้ เห็นนั้นใช้ในอาการที่เกี่ยวกับรูปเห็นรูป ได้ยินนั้นใช้ในอาการที่เกี่ยวกับเสียงได้ยินเสียง ทราบนั้นใช้ในอาการที่เกี่ยวกับกลิ่นรส และโผฏฐัพพะ คือทราบกลิ่นทราบรสทราบโผฏฐัพพะสิ่งถูกต้อง คิดหรือรู้นั้นใช้ในอาการที่เกี่ยวกับมโนคือใจ ซึ่งเป็นอาตนะข้อที่ ๖ รู้หรือคิดธรรมะคือเรื่องราว มโนอันเป็นอายตนะข้อที่ ๖ นี้ ก็ได้เคยกล่าวอธิบายไว้แล้ว ว่าสัมพันธ์กับอายตนะ ๕ ข้อข้างต้นอย่างไร และสัมพันธ์กับจิตอย่างไร จึงจะไม่กล่าวซ้ำอีกในที่นี้
อาการที่จิตน้อมรับอารมณ์
ก็เป็นอันว่า อาการที่จิตออกจากภวังค์ ออกรับอารมณ์ น้อมออกรับอารมณ์ กิริยาอันนี้เองเรียกว่านาม แปลว่าน้อม จิตน้อมออกรับอารมณ์ อาการที่รับอารมณ์แรกก็คือวิญญาณ มีจักขุวิญญาณโสตะวิญญาณเป็นต้น และถ้าเป็นอารมณ์ที่เบามาก จิตก็อาจจะปล่อยอารมณ์ไว้แค่นั้น แค่วิญญาณเท่านั้น แล้วก็กลับเข้าภวังค์ไปใหม่ ถ้าจะเทียบก็เหมือนอย่าง บุรุษที่ตื่นขึ้นมา เอื้อมมือไปหยิบมะม่วง พอหยิบถูกมะม่วงก็ไม่สนใจต่อไป ก็ปล่อย แล้วก็หลับไปใหม่ ก็เป็นอันว่าอารมณ์ที่เข้ามาก็ยุติแค่นั้น
แต่ถ้าเป็นอารมณ์ที่แรงจิตก็ไม่ปล่อยแค่นั้น คือเมื่อเริ่มน้อมออกรับอารมณ์เป็นวิญญาณดังกล่าวแล้ว ก็ยึดอารมณ์นั้นแรงเข้าอีก อาการที่ยึดอารมณ์นั้นแรงเข้าอีกนั้น นี้เองที่ท่านแสดงว่าองค์ ๓ มาประชุมกัน คืออายตนะภายใน ๑ อายตนะภายนอก ๑ วิญญาณ ๑ มาประชุมกันเป็นสัมผัส หรือเป็นผัสสะ ก็เหมือนอย่างบุรุษที่นอนหลับเอื้อมมือออกไปถูกผลมะม่วง ก็ไม่ปล่อยแค่นั้น จับมะม่วงนั้น นี้คือสัมผัสหรือผัสสะแปลว่ากระทบมะม่วงนั้น ถูกต้องมะม่วงนั้น ไม่เพียงแต่ถูกต้องในขั้นแรกแต่เพียงเบาๆ เท่านั้น แต่ว่าจับหรือถูกต้องที่แรงขึ้นจึงเป็นสัมผัส และเมื่อเป็นสังผัสดั่งนี้แล้ว ก็เกิดเวทนา และเมื่อเกิดเวทนาก็เกิดสัญญา เมื่อเกิดสัญญาก็เกิดสังขารคือความคิดปรุงหรือความปรุงคิด เหมือนอย่างบุรุษนั้นเอื้อมมือไปจับมะม่วงแล้วก็นำมาเคี้ยวในปาก แล้วก็กลืนผลมะม่วงลงไป
อาการเหล่านี้เมื่อเทียบกับจิตที่น้อมออกไปรับอารมณ์ เป็นวิญญาณ เป็นสัมผัส เป็นเวทนา เป็นสัญญา เป็นสังขารปรุงคิดหรือคิดปรุง ก็คือว่าเคี้ยวมะม่วง กลืนมะม่วงเข้าไป เสร็จแล้วก็หลับไปใหม่ จิตนั้นเมื่อคิดปรุงหรือปรุงคิดแล้ว ก็เป็นอันว่าตกสู่ภวัง์ใหม่ เหมือนอย่างหลับไปใหม่ และเมื่อมีอารมณ์อื่นมากระทบเข้าอีกก็ออกจากภวังค์ น้อมออกไปรับอารมณ์ดังกล่าวนั้น แล้วก็กลับตกสู่ภวังค์ใหม่ เป็นดั่งนี้อยู่ทุกอารมณ์ที่มากระทบ
ท่านอธิบายดั่งนี้ เป็นการอธิบายอย่างละเอียด ถึงวิถีจิตที่เป็นไปของสัตว์บุคคลทั้งปวง แม้วิถีจิตของพระอริยบุคคลทั้งหลาย ท่านก็แสดงว่าก็เป็นไปอย่างนี้ อาการที่จิตน้อมออกรับอารมณ์ดั่งนี้แหละคือนาม และรูปก็คือกายส่วนที่เป็นรูป รวมทั้งอายตนะภายในที่เป็นส่วนรูปทั้ง ๕ ข้างต้น หรือประสาททั้ง ๕ ก็รวมเรียกว่าเป็นรูปทั้งหมด ส่วนที่เป็นนามก็คืออาการที่จิตน้อมออกไปรับอารมณ์ดังที่กล่าวมานั้น แต่ว่าในการที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงธรรมะสั่งสอน มิได้ทรงแสดงโดยละเอียดดั่งนี้ไปทุกแห่ง
ทรงแสดงเพื่ออะไร เพื่อให้จับพิจารณาทางปัญญา หรือทางวิปัสสนา ก็ตรัสแสดงโดยเป็นขันธ์ ๕ คือเป็นรูปเป็นเวทนาเป็นสัญญาเป็นสังขารและเป็นวิญญาณ แม้ว่าวิญญาณนั้นจะเกิดขึ้นก่อนตามวิถีจิตดังแสดงมาข้างต้น แต่ก็ตรัสไว้เป็นขันธ์ที่ ๕ และก็ยังมีแสดงไว้ในบางพระสูตรถึงความเกิดขึ้นของวิถีจิต เป็นวิญญาณ เป็นสัมผัส เป็นเวทนา เป็นสัญญา เป็นสังขาร แล้วก็เป็นวิญญาณต่อไปอีก โดยที่มิได้แจกแจงถึงวิถีจิตอย่างละเอียด ซึ่งจะต้องออกจากภวังค์ แล้วก็ตกภวังค์ไปทุกขณะจิต คือทุกอารมณ์ที่ประสบ
ไตรลักษณ์ในขันธ์ ๕
แต่แสดงในทางที่จะหยิบยกขึ้นมาพิจารณาทางปัญญา หรือทางวิปัสสนาได้ เพราะต้องการที่จะให้พิจารณาโดยไตรลักษณ์ ให้เห็นอนิจจะไม่เที่ยง ทุกขะเป็นทุกข์ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลง อนัตตามิใช่อัตตาตัวตน จึงแสดงจากหยาบไปหาละเอียด แสดงรูปซึ่งเป็นส่วนหยาบ เวทนาซึ่งเป็นนามธรรมอันนับว่าหยาบ เพราะเวทนานั้นเกิดขึ้นทั้งทางกายทั้งทางใจ ( เริ่ม ) คือทั้งทางรูป และทั้งทางใจ แล้วจึงมาสัญญาสังขาร แล้วจึงมาวิญญาณ ซึ่งเป็นนามธรรมที่ละเอียด เมื่อเป็นดั่งนี้จึงจะเห็นไตรลักษณ์ในรูปในเวทนาในสัญญาในสังขารในวิญญาณได้โดยง่าย
แม้ในการแสดงอริยสัจจ์อย่างละเอียด คือปฏิจจสมุปบาทธรรมะที่อาศัยกันบังเกิดขึ้น ดั่งที่กำลังกล่าวอยู่นี้ ในบางพระสูตรก็ตรัสรวบรัด เช่น ทรงแสดงจับแต่ชรามรณะชาติขึ้นมาจนถึงวิญญาณ ไม่ต่อขึ้นไปถึงสังขารถึงอวิชชาอาสวะ แค่วิญญาณ และบางแห่งก็ตัดอายตนะ กล่าวคือตรัสแสดงว่า เพราะวิญญาณเกิด นามรูปก็เกิด เพราะนามรูปเกิด สัมผัสก็เกิด ไปสัมผัสทีเดียว ไม่แสดงอายตนะไว้ตรงนี้ คือไม่แสดงว่า เพราะนามรูปเกิด อายตนะทั้ง ๖ ก็เกิด เพราะอายตนะทั้ง ๖ เกิด สัมผัสก็เกิด แต่ว่าตัดอายตนะเสีย ไม่แสดง ตรัสว่า เพราะนามรูปเกิด สัมผัสก็เกิด
วิปัสสนาภูมิ
และในการที่ตรัสแสดงนี้ ก็ตรัสแสดงในทางที่เป็นประโยชน์ สำหรับผู้ต้องการจะพิจารณาโดยไตรลักษณ์ ซึ่งเป็นวิปัสสนาธุระทางปัญญา สามารถที่จะพิจารณาจับนามรูป และสัมผัส ให้เป็นวิปัสสนาภูมิ ภูมิของวิปัสสนาได้ คือได้ตรัสแสดงไว้มีใจความว่า เมื่อนามรูปเกิดขึ้น สัมผัสจึงเกิดขึ้น ถ้านามรูปไม่มี สัมผัสก็ไม่มี
และการจับพิจารณานามรูป ก็ตรัสสอนให้จับพิจารณาโดยอาการ โดยเพศ โดยนิมิตคือเครื่องกำหนด และโดยอุเทศก็คือการแสดง หรือการที่จะตั้งชื่อสำหรับเรียกแสดง จับนามขึ้นก่อน เวทนาก็ให้จับพิจารณาว่า เวทนาที่บังเกิดขึ้นเป็นสุขเป็นทุกข์ หรือเป็นกลางๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข มีอาการเป็นอย่างไร ดูเวทนาที่บังเกิดขึ้นที่ตัวเองในปัจจุบัน ถ้าเป็นสุขมีอาการเป็นอย่างไร ทุกข์มีอาการเป็นอย่างไร ไม่ทุกข์ไม่สุขมีอาการเป็นอย่างไร มีเพศเป็นอย่างไร ก็คือมีลักษณะที่ละเอียดหรือที่ซ่อนเร้นอยู่อย่างใดของเวทนา มีนิมิตคือว่ามีเครื่องกำหนด มีที่ๆ จะกำหนดอย่างไร มีอุเทศคือมีการแสดง อันหมายความว่ายกชื่อเรียกขึ้นว่าเวทนา อย่างนี้ๆ
สัญญาก็เหมือนกัน ดูอาการของสัญญา คือความจำหมายของจิตในอารมณ์นั้นๆ ว่ามีอาการเป็นอย่างไร มีเพศคือมีลักษณะที่เร้นลับปกปิด อยู่ตรงไหน อย่างไร มีนิมิตคือเครื่องกำหนดอย่างไร มีอุเทศคือว่า ยกชื่อขึ้นเรียกว่านี่คือสัญญา
สังขารคือความปรุงคิดหรือคิดปรุงก็เหมือนกัน
ดูจิตของตัวเองที่คิดปรุงหรือปรุงคิด ว่ามีอาการเป็นอย่างไร มีเพศดังกล่าวเป็นอย่างไร มีนิมิตเครื่องกำหนดเป็นอย่างไร มีอุเทศคือว่าตั้งชื่อเรียกว่าเป็นสังขาร อย่างนี้ อย่างนี้ อย่างนี้ ไม่ให้ปนกัน นั่นเป็นเวทนา นี่เป็นสัญญา นี่เป็นสังขาร
และวิญญาณก็เหมือนกัน ก็ดูตัวที่เมื่ออายตนะต่อกัน ก็เกิดความรู้ขึ้น เป็นเห็น เป็นได้ยิน เป็นทราบ เป็นคิดหรือรู้ มีอาการเป็นอย่างไร มีเพศเป็นอย่างไร มีนิมิตเครื่องกำหนดเป็นอย่างไร และมีอุเทศคือว่าตั้งชื่อเรียกว่า นี่เป็นจักขุวิญญาณ นี่เป็นโสตะวิญญาณ ดั่งนี้เป็นต้น กำหนดดูจิตของตนเองที่น้อมออกรับอารมณ์ ซึ่งเป็นตัวนามดังกล่าว ให้รู้จักอาการ ให้รู้จักเพศ ให้รู้จักนิมิต ให้รู้จักอุเทศ ดั่งที่กล่าวมาแล้ว เป็นอันฝึกให้รู้จักวิปัสสนาภูมิ
และเมื่อกำหนดให้รู้จักดั่งนี้ จึงจะเกิดสัมผัสคือความกระทบดังที่กล่าว โดยชื่อในรูป คือในส่วนที่เป็นรูป เพราะว่าก็จะได้กำหนดชื่อ หรือรู้ชื่อของตาของหูจมูกลิ้นกาย รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะเป็นต้น อันเป็นส่วนรูปนั้นด้วย และก็ให้กำหนดรูปโดยอาการ โดยเพศ โดยนิมิต และโดยอุเทศคือการที่จะตั้งชื่อเรียก ดังที่กล่าวมานั้นด้วย และเมื่อเป็นดั่งนี้ จึงจะมีสัมผัสคือความกระทบในนาม คือกระทบในเวทนาในสัญญาในสังขารในวิญญาณดังที่กล่าวมานั้นด้วย
และเมื่อได้พิจารณาทั้งนามทั้งรูปให้รู้จักดังกล่าวมานั้น สัมผัสคือความกระทบ ทั้งโดยชื่อ ทั้งโดยการกระทบ กันและกัน ก็ย่อมบังเกิดขึ้น และเมื่อจับพิจารณาดู สัมผัสคือความกระทบ ทั้งโดยชื่อ ทั้งโดยความกระทบ ก็จะรู้จักตัวสัมผัสที่บังเกิดขึ้นในจิตใจ อันเป็นส่วนนาม และทั้งในกายอันเป็นส่วนรูป คือทั้งในนามรูป
ตามที่ตรัสแสดงไว้นี้ เป็นตรัสแสดงมุ่งทางวิปัสสนาภูมิ โดยที่ตัดเอาข้ออายตนะตรงกลางออกเสีย จากนามรูปก็มาสัมผัสทีเดียว แต่เมื่อแสดงโดยปรกติ ก็ตรัสแสดงนามรูปอายตนะแล้วจึงมาสัมผัส เพราะฉะนั้น ในการฟังความที่ข้อเหล่านี้เป็นปัจจัยของกัน จึงอาจใช้วิธีนี้พิจารณาทางวิปัสสนาภูมิได้ คือพิจารณาจับให้รู้จักนามรูปโดยอาการเป็นต้น นำให้รู้จักสัมผัสซึ่งเกิดสืบเนื่อง ก็จะเห็นนามรูปเห็นสัมผัสเป็นวิปัสนาภูมิ
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป