แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
ได้แสดงอธิบายข้อสัมมาทิฏฐิความเห็นชอบ ตามพระเถราธิบายของท่านพระสารีบุตรมาโดยลำดับ พระเถราธิบายของท่านนั้น (เริ่ม) ก็ได้แสดงข้อสัมมาทิฏฐิ จับตั้งแต่เบื้องต้น และเลื่อนขึ้นสู่ธรรมะที่อาศัยกันบังเกิดขึ้น อันเรียกว่าปฏิจจสมุปบาท นับแต่ชรามรณะมีเพราะชาติ สืบไปจนถึงอวิชชาอาสวะ แต่ละข้อก็แจกออกเป็น ๔ ตามหลักอริยสัจจ์ทั้ง ๔
และในการอธิบายก็ได้อธิบายในข้อที่ ๑ ของแต่ละหมวด เมื่อจบแล้วก็ได้จับอธิบายในข้อที่ ๒ ของแต่ละหมวด คือเป็นปัจจัยให้บังเกิดกันขึ้นได้อย่างไร จับแต่เพราะอาสวะบังเกิดขึ้น อวิชชาจึงเกิดอย่างไร เพราะอวิชชาบังเกิดขึ้น อาสวะจึงเกิดอย่างไร อันนับว่าเป็นการแสดงอริยสัจจ์สายสมุทัยที่สุดยอด จับอาสวะและอวิชชา หรืออวิชชาและอาสวะ เป็นสุดยอดของสายสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ และก็แสดงถอยลงมา ว่าเพราะอวิชชาเกิด สังขารเกิดขึ้นอย่างไร จึงมาถึงในข้อว่าเพราะสังขารเกิดวิญญาณจึงเกิด
สังขาร ๓
สังขารนั้นก็ได้แสดงอธิบายแล้ว กล่าวรวมๆ ก็ได้แก่สิ่งที่ผสมปรุงแต่ง หรือการผสมปรุงแต่ง ซึ่งตามพระเถราธิบายก็ได้ยกเอา กายสังขาร เครื่องปรุงแต่งกาย อันได้แก่ลมหายใจเข้าลมหายใจออก วจีสังขาร เครื่องปรุงแต่งวาจา ก็ได้แก่วิตกวิจารความตรึกความตรอง จิตสังขาร เครื่องปรุงจิต ก็ได้แก่สัญญาเวทนา
อาศัยสังขารทั้ง ๓ นี้ จึงมีการทำบุญทำบาป มีการปฏิบัติสมาธิจนถึงอัปปนาสมาธิได้ ทำบุญก็เรียกว่า ปุญญาภิสังขาร ปรุงแต่งบุญ ทำบาปก็เรียกว่า อปุญญาภิสังขาร ปรุงแต่งบาปที่มิใช่บุญ ทำสมาธิจนถึงอัปปนาสมาธิ ก็เรียกว่า อเนญชาภิสังขาร ปรุงแต่งธรรมะที่ไม่หวั่นไหว และก็ได้แสดงแล้วว่ากายและใจนี้ของทุกคน ก็รวมเรียกว่าอัตตภาพนี้ เป็นสังขารคือสิ่งผสมปรุงแต่ง ต้องมีการปรุงแต่งอยู่ตลอดเวลา หยุดไม่ได้ ชีวิตจึงดำรงอยู่ และการที่จะเข้าใจในข้อว่า เพราะสังขารเกิดขึ้นวิญญาณจึงเกิด หรือเพราะสังขารเป็นปัจจัยวิญญาณจึงเกิดขึ้น ดังที่ได้มีแสดงถึงชาติกำเนิดของสัตว์บุคคล ซึ่งมีพระพุทธภาษิตแสดงเอาไว้ ว่าบุรุษบุคคลนี้มีธาตุ ๖ คือ ปฐวีธาตุ ธาตุดิน อาโปธาตุ ธาตุน้ำ เตโชธาตุ ธาตุไฟ วาโยธาตุ ธาตุลม อากาสธาตุ ธาตุอากาศ และวิญญาณธาตุ ธาตุวิญญาณ ซึ่งแปลกันว่า ธาตุรู้
ธาตุ ๕ ข้างต้นคือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ธาตุอากาส คือช่องว่าง เป็น รูปธาตุ ธาตุที่เป็นส่วนรูป ไม่มีความรู้อยู่ในตัว หรือเรียกว่าเป็นส่วนที่เป็นวัตถุ
ปฏิสนธิวิญญาณ วิถีวิญญาณ
เมื่อธาตุทั้ง ๕ นี้ มาเป็นสังขารคือผสมปรุงแต่งกันขึ้น ดังที่มีพระบาลีแสดงไว้ถึงความเกิดขึ้นของบุคคลในครรภ์ของมารดา ว่าเริ่มตั้งต้นแต่เป็นกลละ ซึ่งเปรียบเหมือนเป็นหยดน้ำที่ละเอียดที่สุดติดอยู่ที่ปลายขนทราย ซึ่งในกลละนี้ ก็กล่าวได้ว่าธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ธาตุอากาส ได้รวมกันอยู่ วิญญาณจึงลงปฏิสนธิ อันเรียกว่าปฏิสนธิวิญญาณ ก็คือธาตุรู้ วิญญาณธาตุ
ธาตุรู้เข้ามาประกอบ เริ่มเป็นสัตว์บุคคล เพราะว่าจะเป็นบุคคลชายหญิงก็ต้องประกอบด้วยธาตุทั้ง ๖ คือต้องมีวิญญาณธาตุ ธาตุรู้เข้ามาประกอบด้วย และวิญญาณธาตุ ธาตุรู้นี้ก็เข้าสู่ปฏิสนธิในครรภ์มารดา ในเมื่อธาตุทั้ง ๕ ประกอบกันพร้อมเป็นสังขารคือผสมปรุงแต่ง วิญญาณจึงเข้าปฏิสนธิ ซึ่งมีพระบาลีเรียกว่า คันธัพพะ คนธรรพ์ หมายถึงสัตว์ที่จะบังเกิด ก็เข้าสู่ครรภ์ ก็คือปฏิสนธิวิญญาณนั้นเอง
เพราะฉะนั้น เพราะสังขารคือส่วนผสมปรุงแต่งนี้เกิด วิญญาณจึงเกิดมาตั้งแต่เบื้องต้นดั่งนี้ และแม้เมื่อก่อเกิดเป็นบุคคลชายหญิง มีธาตุ ๖ ดังกล่าวสมบูรณ์โดยลำดับ ตั้งแต่ในครรภ์ของมารดา จนถึงเมื่อคลอดออกมาแล้ว กายใจอันนี้ก็ต้องผสมปรุงแต่งกันอยู่ เป็น กายสังขาร วจีสังขาร จิตสังขาร วิญญาณจึงบังเกิดขึ้น
วิญญาณที่บังเกิดขึ้นถัดมาจากปฏิสนธิวิญญาณ ก็เป็นวิถีวิญญาณ ก็คือวิญญาณ ๖ รู้ทางตาคือเห็นรูปเรียกว่า จักขุวิญญาณ รู้ทางหูคือได้ยินเสียงก็เรียกว่าโสตวิญญาณ รู้ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ก็เรียกว่าฆานะวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ รู้ทางมโนคือใจ ซึ่งเรื่องราวทั้งหลายที่ใจคิดใจรู้ ก็เรียกว่ามโนวิญญาณ แม้วิถีวิญญาณดังกล่าวนี้จะบังเกิดขึ้น ก็ต้องอาศัย กายสังขาร วจีสังขาร มโนสังขาร ปรุงแต่งกันอยู่ วิญญาณจึงเกิดได้
ดังจะพึงเห็นได้ว่ากายสังขารเครื่องปรุงกาย ได้แก่ลมหายใจเข้าออก ซึ่งต้องหายใจเข้าออกกันอยู่ตลอดเวลา หยุดไม่ได้ เมื่อเป็นดั่งนี้วิญญาณจึงเกิดขึ้นได้ตามวิถี คือทางตา ทางหู เป็นต้น ดังที่กล่าวมาแล้ว ถ้าหากว่าดับลมหายใจเข้าออก กายนี้แตกสลาย วิญญาณก็ดับ
ชีวิตย่อมมีความตายเป็นที่สุด
ชีวิตนี้ย่อมมีความตายเป็นที่สุดเหมือนกันหมด ก็คือว่าจะต้องถึงเวลาหนึ่งซึ่งจะต้องหยุดหายใจ ที่เรียกว่าตายหรือสิ้นชีวิต ก็แปลว่าดับกายสังขาร ดับลมหายใจเข้าออก วิญญาณก็ดับ ไม่เกิด ดังที่มีพระพุทธภาษิตแสดงเอาไว้ว่า
อจิรัง วตยัง กาโย ปฐวิง อธิเสสสติ ไม่นานหนอ กายนี้จักนอนทับแผ่นดิน
ฉุฑโฑ อเปต วิญญาโณ มีวิญญาณไปปราศแล้ว คือปราศจากวิญญาณต้องถูกทอดทิ้ง
นิรัตถัง วะ กลิงคะรัง เหมือนอย่างท่อนไม้ท่อนฟืนไม่มีประโยชน์
และแม้ วจีสังขาร เครื่องปรุงกายวิตกวิจารไม่เกิดขึ้น คือเมื่อไม่ ไม่คิด ไม่นึก ไม่ตรึก ไม่ตรอง ถึงเรื่องอะไร วิญญาณก็ไม่เกิดขึ้นในเรื่องอันนั้น ต่อเมื่อตรึกตรองคิดนึกถึงเรื่องอันใด วิญญาณจึงเกิดขึ้นในเรื่องอันนั้น เพราะฉะนั้น เมื่อความตรึก ความตรอง ความคิด ความนึก ดับ วิญญาณก็ ดับ เมื่อ ความตรึก ความตรอง คิดนึก บังเกิดขึ้น วิญญาณก็เกิดขึ้นในเรื่องที่ตรึก ตรอง คิด นึก นั้น
แม้ จิตสังขาร คือสัญญาเวทนาก็เช่นเดียวกัน เมื่อมีสัญญามีเวทนา จิตจึงจะคิดนึกตรึกตรอง วิญญาณจึงเกิดขึ้นในเรื่องที่จิตคิดนึกตรึกตรองนั้น เพราะว่าจิตจะคิดนึกตรึกตรองได้ก็เพราะมี เวทนา มีความรู้เป็นสุขเป็นทุกข์ เป็นกลางๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข มีสัญญาจำได้หมายรู้อยู่ในเรื่องอันนั้น จิตจึงคิดถึงเรื่องอันนั้นได้
ถ้าไม่มี เวทนา ยกตัวอย่างเช่นฉีดยาชาที่ร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่ง หมดความรู้สึกเป็นสุขเป็นทุกข์ที่ร่างกายส่วนนั้น แม้จะเอามีดมาผ่าตัด อย่างหมอผ่าตัดคนไข้ ความรู้สึกเจ็บก็ไม่มี เมื่อความรู้สึกเจ็บไม่มี ก็ไม่ทำให้เกิดความคิดถึงส่วนนั้น วิญญาณก็ไม่เกิดขึ้นในส่วนนั้น ต่อเมื่อมีความรู้สึกเจ็บขึ้นในส่วนนั้น วิญญาณจึงจะเกิดขึ้นในส่วนนั้น คือเป็นความรู้ รู้ทางกายที่เรียกว่า กายวิญญาณ แต่เมื่อกายส่วนนั้นไม่มีความรู้สึกเจ็บ กายวิญญาณก็ไม่เกิดขึ้นในส่วนนั้น
มาถึง สัญญา ความจำก็เช่นเดียวกัน จิตจะคิดจะนึกถึงเรื่องอันใดก็เพราะจำเรื่องอันนั้นได้ ถ้าลืมเสียแล้ว ก็ไม่มีอะไรที่จะคิดนึกได้ จะคิดนึกได้ ก็คิดนึกได้ในเรื่องที่จำได้เท่านั้น ถ้าจำไม่ได้ หรือไม่จำ ก็คิดนึกไม่ได้ วิญญาณก็บังเกิดขึ้นในเรื่องนั้นไม่ได้ เพราะฉะนั้น เมื่อมีสัญญามีเวทนา จิตคิดถึงเรื่องอันใดอาศัยสัญญาเวทนา ก็เกิดวิญญาณขึ้นในเรื่องนั้นตามวิถี ถ้าดับสัญญาเวทนาเสีย วิญญาณก็ดับ
ยกตัวอย่างง่ายๆ ดังเช่น โสตะวิญญาณ วิญญาณทางหูคือได้ยินเสียง ในขณะนี้กำลังแสดงธรรมบรรยายเป็นเสียง เป็นเสียงที่ไปกระทบโสตะประสาท คือกระทบหู จิตตั้งใจฟัง ก็หมายความว่ามีสัญญามีเวทนาอยู่ในเสียงที่ไปกระทบโสตะประสาท โสตะวิญญาณความรู้เสียงทางหูจึงบังเกิดขึ้นคือได้ยิน ได้ยินถ้อยคำที่แสดงนี้ แต่ถ้าจิตไม่ตั้งอยู่ในเสียงที่แสดงนี้ ส่งจิตไปคิดถึงเรื่องอื่น ก็ไปมีสัญญาเวทนาในเรื่องอื่นที่ส่งจิตไปนั้น วิญญาณก็ไปบังเกิดขึ้นในเรื่องอื่นนั้น แต่ว่าวิญญาณไม่บังเกิดขึ้นในเสียงที่กำลังแสดงอยู่นี้ แปลว่าหูดับ แม้ว่าเสียงที่แสดงนี้จะไปกระทบโสตะประสาทอยู่เป็นปรกตินั่นแหละ โสตะประสาทก็ดีอยู่ แต่ว่าจิตไม่ตั้งใจฟัง คิดไป คิดถึงเรื่องอื่น หูก็ดับจากเสียงที่กำลังแสดงนี้ ไม่ได้ยิน ไม่เกิดโสตะวิญญาณในเสียง แต่ว่าไปเกิดมโนวิญญาณในเรื่องต่างๆ ที่ส่งจิตไปคิดถึงนั้น โสตะวิญญาณทางหูนี้ก็ดับ ไปเปิดมโนวิญญาณในเรื่องที่คิดไป
เพราะฉะนั้น จึงต้องอาศัยสังขาร เมื่อมีสังขารจึงมีวิญญาณดังกล่าวนี้ ตั้งแต่ถือกำเนิดเกิดก่อขึ้นในครรภ์ของมารดาดังกล่าว คือตั้งแต่ปฏิสนธิวิญญาณ และมาถึงวิถีวิญญาณคือวิญญาณที่บังเกิดขึ้น ทางตาทางหูทางจมูกทางลิ้นทางกายทางมนะคือใจก็เช่นเดียวกัน ต้องอาศัยสังขาร กายสังขาร วจีสังขาร มโนสังขาร จิตสังขาร ดังกล่าวนี้เป็นปัจจัย จึงได้เกิดวิญญาณขึ้นเป็นวิถีวิญญาณทางตาทางหูเป็นต้นตามประเภท เพราะฉะนั้น เพราะสังขารบังเกิดขึ้น วิญญาณจึงเกิด
ทางเจริญปัญญา
ข้อที่ท่านพระสารีบุตรได้แสดงมาโดยลำดับ เป็นธรรมะที่เป็นเหตุเป็นผลสืบต่อกัน เมื่อได้ตั้งใจฟัง และตั้งใจที่จะทำความเข้าใจ ย่อมจะได้ความเข้าใจในธรรมะ ที่เป็นสัจจะคือความจริงตามเหตุและผล จะทำให้จับเหตุจับผล ตั้งต้นแต่จับทุกข์ จับสมุทัยคือเหตุเกิดทุกข์ และทำให้จับเงื่อนต้นเงื่อนปลายได้ เพราะทุกๆ ข้อที่เป็นเหตุเป็นผลสืบต่อกันนั้น ต่างเป็นเงื่อนต้นเงื่อนปลายของกันและกันไปทุกๆ ข้อ และเมื่อจับได้ถูกต้อง ก็ย่อมจะมีความเข้าใจถึงเหตุและผลอันถูกต้อง (เริ่ม) การพิจารณาตามทางที่ท่านแสดงดั่งนี้ ย่อมเป็นทางเจริญปัญญา หรือโดยเฉพาะเรียกว่าเป็นทางวิปัสสนา ทางที่ให้เกิดปัญญาที่รู้แจ้งเห็นจริง อันจะทำให้จับสัจจะความจริงที่เป็นตัวเป็นเหตุ และเป็นผลได้ แม้การที่ปฏิบัติทำสติ หรือว่าตั้งสติในกาย เวทนา จิตธรรม อันเป็นตัวสติปัฏฐานทุกข้อ ก็เป็นการพิจารณาจับเหตุจับผลแต่ละข้อเช่นเดียวกัน ทำให้ได้สมาธิ และทำให้ได้ปัญญา เป็นเครื่องขัดเกลากิเลสไปได้โดยลำดับ
ต่อจากนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป