แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
ได้แสดงพระเถราธิบายของท่านพระสารีบุตร ในข้อสัมมาทิฏฐิความเห็นชอบมาโดยลำดับ ภิกษุทั้งหลายได้กราบเรียนถามท่าน ถึงอธิบายในข้อสัมมาทิฏฐิ เมื่อท่านได้ตอบไปตอนหนึ่งแล้ว ภิกษุทั้งหลายก็ได้กราบเรียนถามปริยายคือทางอธิบายอย่างอื่นต่อไปอีก ซึ่งท่านก็ตอบไปโดยลำดับ ตามหลักแห่งปฏิจจสมุปบาทธรรมะที่อาศัยกันบังเกิดขึ้น โดยยกเอาธรรมะที่อาศัยกันบังเกิดขึ้นเหล่านี้ มาแสดงอธิบายทีละข้อ จำแนกออกเป็น ๔ ตามแนวแห่งอริยสัจจ์ทั้ง ๔ ทุกข้อ
จึงเท่ากับว่าพระเถราธิบายนี้ได้แสดงอธิบายอริยสัจจ์ ๔ หลายนัยยะ หลายปริยาย อย่างละเอียด ไปตามข้อธรรมะที่เนื่องกัน เป็นสายแห่งปฏิจจสมุปบาท ธรรมะที่อาศัยกันบังเกิดขึ้น โดยจับข้างปลายคือชรามรณะขึ้นมาจนถึงอวิชชาอาสวะ และก็ได้แสดงอธิบายอวิชชาอาสวะนี้ว่าต่างเป็นปัจจัยของกันและกัน พระพุทธาธิบายในปฏิจจสมุปบาทนี้จบลงแค่อวิชชาเป็นส่วนมาก ท่านพระสารีบุตรได้จับเอาพระพุทธาธิบาย หรือพระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าในที่อื่น มาเพิ่มขึ้นอีกข้อหนึ่งคืออาสวะ อวิชชาเกิดเพราะอาสวะ ก็จบลงแค่อาสวะ แต่ว่าอาสวะเกิดเพราะอะไร ก็ต้องกลับมาหาอวิชชาอีก ว่าเกิดเพราะอวิชชา ซึ่งได้แสดงอธิบายในที่นี้แล้วว่า อวิชชาเกิดเพราะอาสวะอย่างไร และอาสวะก็เกิดเพราะอวิชชาอย่างไร
จึงมาถึงข้อที่จะอธิบายต่อไปตามพระเถราธิบาย ว่าเพราะอวิชชาเกิดจึงเกิดสังขาร และคำว่าสังขารนั้น ก็ได้อธิบายในที่นี้แล้วว่าได้แก่สังขาร ๓ คือ กายสังขาร ได้แก่ลมอัสสาสะปัสสาสะ ลมหายใจเข้าลมหายใจออก วจีสังขาร ได้แก่วิตกวิจารความตรึกความตรอง จิตสังขาร ได้แก่สัญญาเวทนา ในวันนี้จะได้อธิบายว่าอวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร หรือว่าเพราะอวิชชาเกิดสังขารจึงเกิดอย่างไร จึงจะต้องอธิบายคำว่าสังขารก่อน
สังขาร
คำว่าสังขารนั้นใช้ในหมวดธรรมะหลายหมวด เช่นสังขาร ๒ คือสังขารที่มีใจครองหรือมีผู้ครองเรียกว่า อุปาทินนกสังขาร สังขารที่ไม่มีใจครองหรือไม่มีผู้ครองเรียกว่า อนุปาทินนกสังขาร สังขารในเบ็ญจขันธ์ คือรูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ ซึ่งหมายถึงความคิดปรุงหรือความปรุงคิดของจิตใจ สังขารที่แสดงไว้ในโลก ๓ คือ โอกาสโลก โลกคือโอกาสอันได้แก่พื้นพิภพนี้ สังขารโลก โลกคือสังขารอันได้แก่ทุกๆ สิ่งที่ปรุงแต่งขึ้นจากพื้นพิภพนี้ ตลอดจนถึงเป็นอุปาทินนกสังขาร อนุปาทินนกสังขารดังกล่าว
สัตวโลก โลกคือหมู่สัตว์โดยตรงก็หมายถึงจิตใจซึ่งครองสังขารอยู่ ซึ่งยังมีความข้องความติด สังขาร ๓ คือ กายสังขาร วจีสังขาร จิตสังขาร ที่ท่านพระสารีบุตรได้ยกมาอธิบายในข้อว่าสังขารนี้
และสังขาร ๓ อีกหมวดหนึ่ง ปุญญาภิสังขาร ปรุงแต่งบุญ ก็คือทำบุญ อปุญญาภิสังขาร ปรุงแต่งกรรมที่มิใช่บุญคือบาป ก็คือทำบาป อเนญชาภิสังชาร ปรุงแต่งธรรมะที่ไม่หวั่นไหว หมายถึงสมาธิที่เป็นอัปปนาสมาธิ สมาธิที่แนบแน่น สำหรับในข้อสังขารที่ว่าเพราะอวิชชาเป็นปัจจัยเกิดสังขาร หรือเพราะอวิชชาเกิดสังขารเกิดนี้ ก็มีอธิบายถึงสังขาร ๓ ปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร อเนญชาภิสังขาร ในที่บางแห่งด้วยเหมือนกัน จึงรวมเข้าได้ว่าท่านยกเอาสังขาร ๓ ทั้งสองหมวดนี้มาอธิบายสังขารในที่นี้
สังขารคือสิ่งผสมปรุงแต่ง
แต่ในเบื้องต้นนี้จะได้อธิบายเป็นกลางๆ ก่อน ว่าสังขารก็คือสิ่งผสมปรุงแต่ง หรือการผสมปรุงแต่ง ทุกๆ สิ่งทุกๆ อย่างที่เป็นไปทางจิตก็ตาม เป็นไปทางกาย หรือเป็นไปอยู่ในโลกธาตุทั้งสิ้น ที่ปรากฏเป็นนั่นเป็นนี่ ทั้งที่เป็นอย่างหยาบ ทั้งที่เป็นอย่างละเอียด ล้วนเป็นสังขารคือสิ่งผสมปรุงแต่งทั้งสิ้น ถ้าหากว่าไม่มีสิ่งผสมปรุงแต่ง หรือไม่มีการผสมปรุงแต่ง ก็จะไม่ปรากฏเป็นนั่นเป็นนี่อะไรทั้งสิ้น จะไม่ปรากฏสัตว์บุคคล จะไม่ปรากฏต้นไม้ภูเขา จะไม่ปรากฏโลกธาตุนี้ ไม่ปรากฏพื้นพิภพนี้ ไม่ปรากฏกลางวันกลางคืน ไม่ปรากฏหนาวร้อน ลม ฝน ไม่ปรากฏดวงอาทิตย์ดวงจันทร์ดวงดาว อะไรทั้งสิ้น
แต่ที่ปรากฏเป็นนั่นเป็นนี่อยู่ดังกล่าว ตลอดจนถึงสัตว์บุคคล ดังเราทั้งหลายทุกๆ คนที่มีกายมีใจ ก็เพราะมีการผสมปรุงแต่ง จึงมีสิ่งผสมปรุงแต่งปรากฏเป็นนั่นเป็นนี่ขึ้น ดังเช่นตัวอย่างที่ยกมากล่าวแล้ว และการผสมปรุงแต่งนี้ย่อมมีอยู่ตลอดเวลาไม่มีหยุด หยุดทีหนึ่งก็คือว่าแตกสลายหรือว่าดับไปทีหนึ่ง เกิดก็คือผสมปรุงแต่งขึ้นใหม่ แล้วก็ดับ ในระหว่างเกิดและดับซึ่งเรียกว่าตั้งอยู่ ก็ไม่หยุดผสมปรุงแต่ง ไม่หยุดความแปรปรวนเปลี่ยนแปลง
เกิดดับ
ดังจะพึงเห็นได้ว่าร่างกายของทุกๆ คนนี้ เป็นสังขารคือสิ่งผสมปรุงแต่งอย่างหนึ่ง ต้องมีความปรุงแต่งติดต่อกันอยู่ตลอดเวลา ไม่มีหยุด ดังเช่นต้องหายใจเข้าหายใจออก ติดต่อกันอยู่ตลอดเวลาไม่มีหยุด แต่อันที่จริงนั้นไม่ใช่หมายความว่าสืบเนื่องกันเป็นอันเดียว เพราะว่ามีเกิดมีดับต่อเนื่องกันไป คือหมายความว่าเกิดดับ แล้วก็เกิด แล้วก็ดับ แล้วก็เกิดติดต่อกันไปอันเรียกว่าสันตติ ( เริ่ม ) ลมหายใจเข้าลมหายใจออกนี้เป็นตัวอย่างที่ปรากฏ พิจารณาเห็นได้ คือเอาเป็นว่าหายใจเข้านี่เป็นเกิด และหายใจออกนั้นเป็นดับ ก็สมมติเท่านั้น แต่อันที่จริงนั้นหายใจเข้าเองก็เกิดดับๆ เข้าไป เช่นทีแรกอยู่ที่ปลายจมูก ก็แปลว่าเกิดที่ปลายจมูก แล้วก็เข้าไป ก็ดับจากปลายจมูกเข้าไป ถึงจุดหนึ่งก็ไปเกิดที่นั่นจุดหนึ่ง ผ่านจุดนั้นไปก็ดับจากจุดนั้น ไปเกิดในจุดอื่นต่อไปอีก หายใจออกก็เหมือนกัน ก็แปลว่าเกิดเหมือนกัน คือลมหายใจนั้นในส่วนที่นำออก ก็เกิดตั้งแต่จุดออกทีแรก ผ่านจุดนั้นมาก็ดับจากจุดนั้น อีกจุดหนึ่งก็มาเกิดที่จุดนั้น ผ่านแล้วก็ดับที่จุดนั้น มาสู่อีกจุดหนึ่งก็มาเกิดอีกจุดหนึ่ง เรื่อยมาดั่งนี้ จนถึงปลายจมูก ก็พ้นปลายจมูกไป ดั่งนี้คือสังขารปรุงแต่ง ไม่หยุด ชีวิตจึงดำรงอยู่ได้
นอกจากนี้อาการทั้งหลายในร่างกายนี้ ที่แบ่งเป็นอาการ ๓๑ หรืออาการ ๓๒ หรือว่าจะแบ่งตามหลักสรีระศาสตร์ในปัจจุบัน ทั้งที่เป็นส่วนภายนอก ทั้งที่เป็นส่วนภายใน ล้วนมีการปรุงแต่งอยู่ตลอดทุกส่วนทุกสิ่ง ไม่มีหยุดการปรุงแต่ง ชีวิตจึงดำรงอยู่ เพราะฉะนั้น สังขารคือความปรุงแต่งนี้ จึงเป็นตัวชีวิตของร่างกายนี้ เมื่อหยุดการปรุงแต่ง โดยที่ไม่มีสันตติคือความสืบต่อ ก็แปลว่าชีวิตนี้ดับ ซึ่งเรียกตามภาษาธรรมะว่ากายแตกทำลาย กายนั้นแปลว่าประชุม ส่วนทั้งหลายที่มาประชุมกันเป็นกายนี้แตกทำลาย จึงหยุดปรุงแต่ง ร่างกายนี้จึงเริ่มเป็นสิ่งที่เน่าเปื่อยผุพัง ต้องนำไปเผาไปฝัง แม้จะไม่เผาก็ผุพังไปเอง ซึ่งในที่สุดก็แตกสลายไปหมด เพราะเหตุว่าหยุดความเป็นสังขาร คือหยุดความปรุงแต่ง
เพราะฉะนั้น จึงได้ตรัสยกเอาลมอัสสาสะปัสสาสะขึ้นมา ว่าเป็นตัวกายสังขารเครื่องปรุงแต่งกาย เป็นตัวอย่างให้พิจารณาเห็นได้ กายนี้ดำรงชีวิตอยู่ก็เพราะมีลมหายใจเข้าลมหายใจออก ลมหายใจเข้าลมหายใจออกดับ ก็แปลว่าเครื่องปรุงกายนี้ดับ กายนี้ก็แตกสลาย
วจีสังขาร จิตสังขาร
จิตใจก็เหมือนกัน มีเครื่องปรุงแต่งคือมีวิตกมีวิจารความตรึกความตรอง หรือความคิด ซึ่งเป็นเหตุให้พูดออกมาเป็นวาจา วาจาที่พูดนี้ก็เพราะมีวิตกวิจารคือความตรึกความตรอง จึงเป็นอันว่าต้องมีวิตกวิจารความตรึกความตรองขึ้นก่อน วาจาจึงจะออกมา ถ้าหากว่าไม่มีความตรึกความตรอง ก็ไม่มีวาจา เพราะฉะนั้น ความตรึกความตรองจึงเป็นเครื่องปรุงวาจาที่เรียกว่า วจีสังขาร วาจานี้เป็นผลที่ออกมาจากวิตกวิจารความตรึกความตรอง
และจิตที่มีความคิดไปต่างๆ ดังเช่นมีวิตกวิจารความตรึกความตรอง ซึ่งเป็นความตรึกความตรองของจิตนั้นเอง ก็เพราะว่ามีสัญญามีเวทนา สัญญาก็คือความจำได้หมายรู้ เวทนาก็ความรู้เป็นสุขเป็นทุกข์เป็นกลางๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข เพราะมีสัญญาเวทนานี้จิตจึงมีความคิด หรือมีวิตกมีวิจารความตรึกความตรองไปต่างๆ ถ้าไม่มีสัญญาไม่มีเวทนา จิตก็ไม่ปรากฏ คือจะไม่มีความคิด ไม่มีความตรึกความตรองต่างๆ เพราะฉะนั้น สัญญาเวทนานี้จึงเป็น จิตสังขาร เครื่องปรุงจิต
อันคนที่จะตายนั้นท่านแสดงไว้ว่าดับวจีสังขาร คือดับวิตกวิจารความตรึกความตรองก่อน วาจาจึงดับ นิ่งไม่พูด เพราะไม่มีความตรึกความตรอง แต่ว่าเพียงนี้ยังไม่ตาย ต่อไปก็ดับกายสังขาร คือดับลมอัสสาสะปัสสาสะ หยุดหายใจ แต่ว่าแม้จะดับลมหายใจ ดับกายสังขาร ก็ยังไม่ตาย จะต้องดับสัญญาเวทนาซึ่งเป็นตัวจิตสังขาร เมื่อดับสัญญาเวทนาที่เป็นตัวจิตสังขาร นั่นแหละจึงจะตาย ซึ่งข้อนี้ก็ตรงกับความรู้ในปัจจุบัน ที่ว่าแม้ว่าจะดับลมหายใจเข้าออก แต่ว่าถ้าสมองยังไม่ดับคนก็ยังไม่ตาย ต้องสมองดับ เพราะฉะนั้นจึงมาตรงกับที่ว่า จะต้องดับสัญญาเวทนาซึ่งเป็นจิตสังขาร ดับจิตสังขาร ดับสัญญาเวทนา นั่นแหละจึงจะตาย
สังขาร ๓
นี้คือสังขาร ๓ และเมื่อสังขาร ๓ ดังกล่าวนี้ยังมีอยู่ คนยังมีลมหายใจเข้าออกอยู่ มีวิตกวิจารอยู่ มีสัญญาเวทนาอยู่ ร่างกายก็ยังดำรงอยู่ และเป็นไปได้ เดินยืนนั่งนอนได้ อาการต่างๆ ในร่างกายนี้ใช้ได้ มือเท้าใช้ได้ จักขุประสาทโสตประสาทเป็นต้นใช้ได้ และพูดได้ คิดอะไรได้ ก็เพราะว่าสังขารทั้ง ๓ นี้ยังดำรงอยู่ และเมื่อเป็นดั่งนี้ จึงทำดีได้ทำชั่วได้ ตลอดจนถึงทำสมาธิจนถึงได้อัปปนาสมาธิ สมาธิที่แนบแน่นได้ เพราะฉะนั้น จึงมีปุญญาภิสังขารปรุงแต่งบุญ อปุญญาภิสังขารปรุงแต่งบาปคือทำบุญทำบาป อเนญชาภิสังขารทำสมาธิกันได้ ดังที่มาปฏิบัติทำสมาธิกันนี้
ฉะนั้น แม้บุญ แม้บาป แม้สมาธิที่ทำกันนี้ ก็เป็นสังขารคือสิ่งผสมปรุงแต่ง ต้องปรุงต้องแต่งคือต้องทำ ถ้าไม่ทำ ก็ไม่เกิดเป็นบุญ ไม่เกิดเป็นบาป ไม่เกิดเป็นสมาธิที่แนบแน่น ต้องทำคือต้องปรุงต้องแต่ง ให้เป็นบุญขึ้นมาจึงเป็นบุญ ให้เป็นบาปขึ้นมาจึงเป็นบาป ให้เป็นสมาธิขึ้นมาจึงเป็นสมาธิ คือทำได้
ยอดของสังขตธรรม
แม้มรรคมีองค์ ๘ ที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนเอาไว้ให้ปฏิบัติ เป็นตัวมรรคข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ทุกข้อ ก็เป็นสังขารคือเป็นสิ่งผสมปรุงแต่ง คือต้องปฏิบัติต้องกระทำ ต้องปฏิบัติอบรมทิฏฐิคือความเห็นให้เห็นถูกเห็นชอบ จึงจะเป็นสัมมาทิฏฐิ ต้องปฏิบัติอบรมความดำริให้ถูกให้ชอบ จึงจะเป็นสัมมาสังกัปปะความดำริชอบ ต้องปฏิบัติต้องกระทำกรรมทางกายให้ถูกให้ชอบ เว้นจากที่ไม่ถูกไม่ชอบ จึงจะเป็นสัมมากัมมันตะ ทางวาจาก็เหมือนกันจึงจะเป็นสัมมาวาจา ทางอาชีพก็เหมือนกันจึงจะเป็นสัมมาอาชีวะ ความเพียรก็เหมือนกันจึงจะเป็นสัมมาวายามะ สติก็เหมือนกันจึงจะเป็นสัมมาสติ สมาธิก็เหมือนกันจึงจะเป็นสัมมาสมาธิ คือต้องทำต้องปฏิบัติ ถ้าไม่ทำไม่ปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ ก็ไม่มี
เพราะฉะนั้นจึงได้ตรัสเอาไว้ว่า มรรคมีองค์ ๘ นี้เป็นยอดของสังขตธรรม ธรรมะที่ปรุงแต่งขึ้น เพราะว่ามรรคมีองค์ ๘ นี้เมื่อได้ปรุงแต่งขึ้นจนเป็นมรรคสมังคี กำจัดกิเลสได้หมดสิ้นแล้ว ก็เสร็จกิจ ไม่ต้องปรุงแต่งกันอีกต่อไป จึงชื่อว่าเป็นยอด เหมือนอย่างขึ้นไปถึงยอดไม้แล้ว ก็ไม่ต้องขึ้นต่อไป เมื่อขึ้นไปถึงมรรคมีองค์ ๘ ที่เป็นมรรคสมังคีแล้ว กำจัดกิเลสได้หมดสิ้นแล้ว ก็เป็นอันว่าหมดกิจไม่ต้องขึ้น ไม่ต้องทำกันต่อไป เสร็จกิจ เพราะฉะนั้น จึงเป็นสังขารคือสิ่งผสมปรุงแต่ง แต่ว่าปรุงแต่งมรรคมีองค์ ๘ ก็นับเข้าว่าเป็นปุญญาภิสังขารปรุงแต่งบุญ และก็นับเข้าในข้ออเนญชาภิสังขาร ปรุงแต่งอเนญชาเพราะมีสมาธิอยู่ด้วย
สังขารทั้งปวงนี้ คือสิ่งผสมปรุงแต่ง การผสมปรุงแต่งทั้งปวงนี้ มีเพราะอวิชชา เมื่อมีอวิชชาจึงมีการผสมปรุงแต่ง ดังจะพึงเห็นได้ว่าเพราะมีอวิชชา จึงได้มีชาติความเกิดขึ้นมา เป็นสังขาร ๓ กายสังขาร วจีสังขาร จิตสังขาร และเมื่อมีสังขาร ๓ ก็แปลว่ามีขันธ์ ๕ บริบูรณ์ มีกายใจบริบูรณ์ ก็ทำบุญทำบาปทำสมาธิกันได้ ปฏิบัติในมรรคมีองค์ ๘ ได้ และการปฏิบัติแม้ที่เป็นบุญ ก็เพราะว่าเพื่อที่จะชำระบาป ชำระกิเลส ซึ่งมีอวิชชานั่นแหละเป็นหัวหน้า ถ้าหากว่าไม่มีอวิชชาแล้ว คือดับอวิชชาเสียได้แล้ว ก็ไม่ต้องทำบุญไม่ต้องทำบาปกันต่อไป เรียกว่าเสร็จกิจ
กิจที่จะต้องทำ
การที่ต้องทำบุญอยู่นั้นก็เพราะว่ามีบาปที่จะต้องละ มีกิเลสที่จะต้องละ มีอวิชชาที่จะต้องละ จึงต้องทำบุญ ต้องปฏิบัติในมรรคมีองค์ ๘ ต้องปฏิบัติในศีลในสมาธิในปัญญากัน และเมื่อยังมีอวิชชาก็ต้องทำบาป เพราะความไม่รู้ เพราะฉะนั้น จึงต้องทำบาปทำบุญกันอยู่ ต้องทำสมาธิกันอยู่ ทำบุญก็เพื่อละบาปละกิเลส และจะทำบาปก่อกิเลสกันอยู่ก็เพราะยังมีอวิชชา เพราะฉะนั้นจึงแปลว่าต้องมีกิจที่จะต้องทำ พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอนเอาไว้ว่า พึงอบรมศีลสมาธิปัญญา ตราบเท่าจนถึงสิ้นความติดใจยินดี บรรลุนิพพานดับกิเลสและกองทุกข์ได้หมดสิ้น คือแปลว่าเมื่อดับกิเลสได้หมดสิ้นแล้ว ดับอวิชชาได้แล้ว อวิชชาเป็นหัวหน้าใหญ่ของกิเลสทั้งหลาย หรือจะว่าอาสวะเป็นหัวหน้าใหญ่ของกิเลสทั้งหลายก็ได้
เมื่อดับได้แล้วก็เป็นอันว่าเสร็จกิจ ไม่ต้องปรุงไม่ต้องแต่งกันต่อไป ดังที่ตรัสเอาไว้ว่าจิตถึง วิสังขาร คือธรรมะที่ปราศจากความปรุงแต่ง ไม่มีความปรุงแต่ง อันหมายถึงนิพพาน เพราะสิ้นตัณหาทั้งหลาย ก็เป็นอันว่าจิตนี้หยุดปรุงแต่ง เพราะละอวิชชาได้ จิตประกอบด้วยวิชชาคือความรู้แจ่มแจ้งถูกต้องตามความเป็นจริง วิมุติคือความหลุดพ้น เรียกว่าเป็นจิตที่รู้พ้น
วิสังขาร นิพพาน
จิตนี้รู้อะไรๆ ทุกอย่างทางอายตนะตาหูเป็นต้น แต่รู้แล้วก็ไม่ยึด หลุดพ้นทุกอย่าง เป็นจิตที่รู้พ้น จิตที่รู้ก็คือจิตที่มีวิชชา จิตที่พ้นก็คือจิตที่มีวิมุติ รู้พ้น จึงเป็นจิตที่บรรลุวิสังขารที่เรียกว่านิพพาน คือธรรมะที่ไม่มีสังขารคือปรุงแต่งอะไรทั้งสิ้น ไม่ปรุงแต่งบุญ ไม่ปรุงแต่งบาป ไม่ปรุงแต่งอเนญชาทั้งหมด อยู่กับรู้และพ้น ในเมื่อวิบากขันธ์นี้ยังดำรงอยู่
เมื่อวิบากขันธ์นี้ยังดำรงอยู่ ก็คงมีกายสังขารปรุงแต่งกาย ยังหายใจเข้าหายใจออก มีวจีสังขารคือวิตกวิจารตรึกตรองพูด มีจิตสังขารสัญญาเวทนา คิดตรึกครองเป็นต้น ดังพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อได้ตรัสรู้แล้ว จิตของพระองค์ดับกิเลสและกองทุกข์ได้สิ้นแล้ว ดับอวิชชาได้แล้ว จิตของพระองค์อยู่กับวิชชาวิมุติ แต่พระกายก็ยังหายใจเข้าหายใจออก และยังทรงมีวิตกวิจาร แสดงธรรมะสั่งสอน ก็เป็นพระวาจาที่แสดงออกมา วิตกวิจารคือวิชชา คือความรู้ วิมุติคือความพ้น จิตของพระองค์ก็ยังมีเป็นจิตสังขาร มีสัญญาเวทนานี้ปรุงแต่งจิตให้คิด จึงทรงตรึกตรอง ทรงพระญาณดูสัตว์ทั้งหลายในตอนเช้า เมื่อผู้ใดเข้าในข่ายของพระญาณ ว่าเป็นเวไนยชนคือบุคคลที่พึงแนะนำอบรมได้ ก็เสด็จไปทรงแสดงธรรมะโปรด ก็เป็นอันว่า กายสังขาร วจีสังขาร จิตสังขาร ของพระองค์นั้นเป็นวิบากขันธ์ที่เหลืออยู่ และก็ทรงใช้วิบากขันธ์ที่เหลืออยู่นี้ ด้วยพระมหากรุณา
ทรงแสดงธรรมะสั่งสอนโปรดให้เวไนยนิกรพ้นจากกิเลสและกองทุกข์ตามพระองค์ ซึ่งทรงใช้อยู่ตลอดเวลาถึง ๔๕ ปี จึงดับขันธปรินิพพาน ดับกายสังขารวจีสังขารจิตสังขาร แต่เพราะสิ้นกิเลสหมดสิ้นแล้วจึงไม่ทรงเกิดอีก ไม่ก่อเกิดกายสังขารวจีสังขารจิตสังขาร คือขันธ์ ๕ หรือนามรูปขึ้นอีก เป็นผู้ไม่เกิด เมื่อไม่เกิดก็เป็นผู้ที่ไม่แก่ไม่ตาย พ้นจากถ้อยคำที่จะพูดถึงว่าเป็นอะไร
เพราะเมื่อพูดถึงว่าเป็นอะไร ก็ต้องเป็นสังขารขึ้นมา ต้องเป็นนั่นเป็นนี่ขึ้นมา จึงจะพูดถึงได้ แต่เมื่อไม่เป็นสังขาร ไม่เป็นสิ่งที่ปรุงแต่งขึ้นมา ไม่เป็นนั่นเป็นนี่ขึ้นมา ก็ไม่มีอะไรจะพูดถึง อาจจะกล่าวได้แต่เพียงว่าเป็นอมตะธรรม ธรรมะที่ไม่ตาย ที่เป็นวิสังขาร ไม่มีการปรุงแต่ง หรือสิ่งผสมปรุงแต่งทั้งหมด
แต่ตราบใดที่ยังมีอวิชชาอยู่ ก็จะต้องมีสังขาร คือสิ่งผสมปรุงแต่ง การผสมปรุงแต่ง ต้องทำบุญ ต้องทำบาป ต้องทำสมาธิ ตลอดจนถึงต้องปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ เป็นต้น กันไป เพราะฉะนั้น เพราะอวิชชาเป็นปัจจัยจึงเกิดสังขาร สิ่งผสมปรุงแต่งหรือการผสมปรุงแต่งดั่งนี้ และสิ่งผสมปรุงแต่ง หรือการผสมปรุงแต่ง อันเรียกว่าสังขารนี้ ต้องมีอยู่ตลอดเวลา ดั่งชีวิตนี้ต้องมีการผสมปรุงแต่งกันอยู่ตลอดเวลา ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว หยุดเมื่อใดก็ดับชีวิตเมื่อนั้น
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป