แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
ได้แสดงข้อสัมมาทิฏฐิตามเถราธิบาย แห่งท่านพระสารีบุตรมาโดยลำดับ และได้แสดงอธิบายแต่ละข้อ จะได้กล่าวสรุปข้อที่ได้แสดงอธิบายแล้ว ตั้งแต่ต้นจนจบสักครั้งหนึ่ง และจะได้แจ้งว่าข้อใดที่ได้แสดงอธิบายมาแล้ว และข้อใดที่จะแสดงอธิบายต่อไป ท่านพระสารีบุตรได้ประทานเถราธิบายข้อสัมมาทิฏฐิแก่ภิกษุทั้งหลาย ผู้ที่ได้กราบเรียนท่านถามท่าน และเมื่อท่านได้แสดงอธิบายหมวดหนึ่งแล้ว ท่านภิกษุทั้งหลายก็ถามต่อไป ท่านก็แสดงต่อไปอีกโดยลำดับ
และหลักในการตั้งอธิบายของท่าน ก็ตั้งหลักอธิบายตามหลักแห่งอริยสัจจ์ทั้ง ๔ นั้นแหละ จับตั้งต้นแต่แสดงอธิบายว่า สัมมาทิฏฐิความเห็นชอบก็ได้แก่ความเห็นตรงถูกต้อง ซึ่งทำให้ผู้มีสัมมาทิฏฐิได้ความเลื่อมใสไม่หวั่นไหวในธรรม นำมาสู่สัทธรรมคือพระธรรมวินัยนี้ ก็ได้แก่ รู้จักอกุศล รู้จักอกุศลมูล มูลรากของอกุศล รู้จักกุศล รู้จักกุศลมูล มูลรากของกุศล รู้จักอาหาร รู้จักสมุทัยเหตุเกิดแห่งอาหาร รู้จักนิโรธความดับอาหาร รู้จักมรรคทางปฏิบัติให้ถึงความดับอาหาร รู้จักทุกข์ รู้จักสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ รู้จักนิโรธความดับทุกข์ รู้จักมรรคทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์
สัมมาทิฏฐิตามหลักปฏิจจสมุปบาท
ต่อจากนี้ท่านก็แสดงอธิบายไปตามหลักปฏิจจสมุปบาท ธรรมะที่อาศัยกันบังเกิดขึ้น ย้อนหลังขึ้นมา คือท่านแสดงอธิบายว่า สัมมาทิฏฐิก็ได้แก่ รู้จักชรามรณะ รู้จักสมุทัยเหตุเกิดชรามรณะ รู้จักความดับชรามรณะ รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับชรามรณะ
และท่านก็ได้แสดงว่าเหตุเกิดชรามรณะก็คือชาติ ท่านจึงแสดงต่อไปว่า รู้จักชาติคือความเกิด รู้จักสมุทัยเหตุให้เกิดชาติ รู้จักความดับชาติ รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับชาติ สมุทัยเหตุเกิดแห่งชาตินั้นก็ได้แก่ภพ
ท่านจึงแสดงอธิบายต่อไปว่า รู้จักภพ รู้จักสมุทัยเหตุให้เกิดภพ รู้จักความดับภพ รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับภพ และสมุทัยคือเหตุเกิดแห่งภพนั้นก็ได้แก่อุปาทาน
ท่านจึงแสดงอธิบายต่อไปว่า รู้จักอุปาทาน รู้จักสมุทัยเหตุให้เกิดอุปาทาน รู้จักความดับอุปาทาน รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับอุปาทาน ก็สมุทัยเหตุให้เกิดอุปาทานนั้นก็ได้แก่ตัณหา
ท่านจึงแสดงอธิบายต่อไปว่า รู้จักตัณหา รู้จักสมุทัยเหตุให้เกิดตัณหา รู้จักความดับตัณหา รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับตัณหา ก็สมุทัยเหตุให้เกิดตัณหาก็ได้แก่เวทนา
ท่านจึงแสดงอธิบายต่อไปว่า รู้จักเวทนา รู้จักสมุทัยเหตุให้เกิดเวทนา รู้จักความดับเวทนา รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับเวทนา ก็สมุทัยคือเหตุให้เกิดเวทนา ก็ได้แก่สัมผัสหรือผัสสะ
ท่านจึงแสดงอธิบายต่อไปว่า รู้จักผัสสะ รู้จักสมุทัยเหตุให้เกิดผัสสะ รู้จักความดับผัสสะ รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับผัสสะ ก็สมุทัยคือเหตุให้เกิดผัสสะก็ได้แก่สฬายตนะ คืออายตนะทั้ง ๖
ท่านจึงแสดงอธิบายต่อไปว่า รู้จักอายตนะทั้ง ๖ รู้จักสมุทัยเหตุให้เกิดอายตนะทั้ง ๖ รู้จักความดับอายตนะทั้ง ๖ รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับอายตนะทั้ง ๖ ก็สมุทัยเหตุให้เกิดอายตนะทั้ง ๖ ก็คือนามรูป
ท่านจึงแสดงอธิบายต่อไปว่า รู้จักนามรูป รู้จักสมุทัยเหตุให้เกิดนามรูป รู้จักความดับนามรูป รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับนามรูป ก็สมุทัยคือเหตุให้เกิดนามรูปก็ได้แก่วิญญาณ
ท่านจึงแสดงอธิบายต่อไปว่า รู้จักวิญญาณ รู้จักสมุทัยเหตุให้เกิดวิญญาณ รู้จักความดับวิญญาณ รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับวิญญาณ ก็สมุทัยคือเหตุให้เกิดวิญญาณก็ได้แก่สังขาร
ท่านจึงแสดงอธิบายต่อไปว่า รู้จักสังขาร รู้จักสมุทัยเหตุให้เกิดสังขาร รู้จักความดับสังขาร รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับสังขาร ก็สมุทัยคือเหตุให้เกิดสังขารก็ได้แก่อวิชชา
ท่านจึงแสดงต่อไปว่า รู้จักอวิชชา รู้จักสมุทัยเหตุให้เกิดอวิชชา รู้จักความดับอวิชชา รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับอวิชชา
เหตุเกิดอวิชชา
ก็ปฏิจจสมุปบาทที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงเอาไว้ ก็สิ้นสุดลงแค่อวิชชานี้ แต่ท่านพระสารีบุตร เมื่อท่านได้แจกออกเป็น ๔ ในหมวดอวิชชา ข้อ ๒ คือเหตุเกิดอวิชชา ท่านจึงแสดงอธิบายต่อไป ว่าเหตุเกิดอวิชชานั้นก็ได้แก่อาสวะ
ท่านจึงแสดงอธิบายต่อไปว่า รู้จักอาสวะ รู้จักสมุทัยเหตุให้เกิดอาสวะ รู้จักความดับอาสวะ รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับอาสวะ และเมื่อท่านได้แสดงว่าสมุทัยเหตุให้เกิดอาสวะ ท่านจึงแสดงอธิบายต่อไปว่าอวิชชานั้นเอง (เริ่ม)… เพราะอวิชชาเกิด อาสวะก็เกิด ก็เป็นอันว่า วนมาหาอวิชชาอีก และเมื่อวนมาหาอวิชชาอีกดั่งนี้ ก็เป็นอันว่าท่านได้แสดงอธิบาย แม้ว่าจะเพิ่มอาสวะว่าเป็นเหตุเกิดอวิชชา แต่เมื่อท่านแสดงเหตุเกิดอาสวะ ท่านก็เอาอวิชชาอีกนั่นแหละมาเป็นเหตุเกิดอาสวะ ก็วนมาหาอวิชชาอีก
เพราะฉะนั้นจึงเป็นอันว่าก็ยุติลงที่อวิชชา เป็นแต่เพียงว่า อวิชชานั้นเกิดขึ้นก็เพราะอาสวะเกิดขึ้น และอาสวะจะเกิดขึ้นก็เพราะอวิชชาเกิดขึ้นอีกนั่นแหละ ก็เป็นอันว่า อวิชชามีก็เพราะอาสวะ อาสวะมีก็เพราะอวิชชา จึงเป็นอันว่าวนกันอยู่ตรงนี้ จึงยุติกันอยู่ตรงนี้ อาสวะเกิดก็เพราะอวิชชา อวิชชาเกิดก็เพราะอาสวะ อาสวะเกิดก็เพราะอวิชชา อวิชชาเกิดก็เพราะอาสวะ ก็เป็นอันว่าสิ้นสุดอยู่แค่นี้ เพราะถ้าไม่สิ้นสุดลงแค่นี้ ก็จะแล่นออกไปนอกทาง
อริยสัจจ์สายเกิดทุกข์
เพราะฉะนั้น อวิชชาและอาสวะนี้ จึงนับว่าเป็นที่สิ้นสุดของสายเกิดทุกข์ ซึ่งเมื่อสาวขึ้นมา คือสาวผลหาเหตุขึ้นมา เมื่อจับอริยสัจจ์ทั้ง ๔ เป็นหลัก ทุกข์ ทุกขสมุทัย เหตุเกิดทุกข์ ทุกขนิโรธ ความดับทุกข์ และ มรรค ทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ อันเป็นอริยสัจจ์ ๔ ที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสแสดงทั่วไป และทุกข์นั้น ก็ได้ทรงชี้เอาว่า เกิดเป็นทุกข์ แก่เป็นทุกข์ ตายเป็นทุกข์เป็นต้น ดังที่เราทั้งหลายสวดกันอยู่ว่า ชาติปิทุกขา ความเกิดเป็นทุกข์ ชราปิทุกขา ความแก่เป็นทุกข์ มรณัมปิทุกขัง ความตายเป็นทุกข์
เพราะฉะนั้น ท่านจึงจับมาชี้แจงในทุกขสัจจะนี่แหละ ขึ้นเป็นที่ตั้ง คือยกเอา ชาติ ชรา มรณะ เป็นที่ตั้ง โดยที่จับแสดงอธิบายเพื่อให้เกิดปัญญา รู้จักอริยสัจจ์ทั้ง ๔ นี้ โดยพิสดาร คือจับเอา ชรา มรณะ ความแก่ ความตาย ขึ้นมาแยกออกไปเป็นอีก ๔ ข้อ ก็เป็นอริยสัจจ์ ๔ ในข้อชรามรณะ โดยที่ให้ผู้ปฏิบัติพิจารณาให้ได้สัมมาทิฏฐิ คือความเห็นชอบความเห็นตรง คือรู้จักชรามรณะ รู้จักเหตุเกิดชรามรณะ รู้จักความดับชรามรณะ รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับชรามรณะ เอาอริยสัจจ์ ๔ กันแค่นี้ก่อน แล้วท่านก็ชี้ว่าชรามรณะคืออะไร เหตุเกิดชรามรณะคืออะไร ก็คือชาติความเกิด ดับชรามรณะก็คือดับชาติความเกิด เมื่อดับชาติความเกิดได้ ก็ดับชรามรณะได้ ทางปฏิบัติให้ถึงความดับชรามรณะ ก็คือมรรคมีองค์ ๘
ในที่นี้จึ่งได้แสดงอธิบายในอริยสัจจ์ ๔ ที่ท่านจำแนกออกโดยละเอียดดั่งนี้ ตามแนวปฏิจจสมุปบาท ธรรมะที่อาศัยกันบังเกิดขึ้น ตามที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสแสดงเอาไว้ ตามที่ได้ทรงพิจารณา คือได้แสดงอธิบายจำเพาะข้อที่ ๑ ของแต่ละหมวด ว่าชรามรณะคืออะไร ชาติคืออะไร ภพคืออะไร อุปาทานคืออะไร ตัณหาคืออะไร เวทนาคืออะไร ผัสสะคืออะไร อายตนะ ๖ คืออะไร นามรูปคืออะไร วิญญาณคืออะไร สังขารคืออะไร อวิชชาคืออะไร อาสวะคืออะไร
คือแสดงอธิบายในข้อที่ ๑ มาโดยลำดับ ส่วนข้อที่ ๒ ของแต่ละหมวดนั้น คือเหตุเกิดของแต่ละข้อ เหตุเกิดของชรามรณะก็คือชาติ เรื่อยขึ้นมาจนถึงเหตุเกิดของอวิชชาก็คืออาสวะ เหตุเกิดของอาสวะก็คืออวิชชา เป็นเหตุเกิดกันอย่างไร ในข้อนี้ยังมิได้อธิบาย เพราะฉะนั้น จึงจะจับอธิบายในข้อที่ ๒ นี้ว่าเป็นเหตุเกิดกันอย่างไร จับตั้งแต่อวิชชาเป็นเหตุเกิดอาสวะอย่างไร อาสวะเป็นเหตุเกิดอวิชชาอย่างไร เรื่อยมาจนถึงชาติเป็นเหตุเกิดแห่งชรามรณะอย่างไร
อวิชชา ๘ กาลเวลาที่ไม่รู้จัก
สำหรับอวิชชานั้นก็ได้แสดงอธิบายแล้ว ท่านพระสารีบุตรได้แสดงอธิบายไว้ ก็ได้แก่ ไม่รู้จักทุกข์ ไม่รู้จักสมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์ ไม่รู้จักนิโรธ ความดับทุกข์ ไม่รู้จักมรรค คือทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ท่านแสดงไว้ก็คืออวิชชา ๔ แต่ในที่อื่นได้มีแสดงไว้เป็นอวิชชา ๘ คือเพิ่มขึ้นอีก ๔ ข้อ ได้แก่ ไม่รู้เงื่อนต้น ไม่รู้เงื่อนปลาย ไม่รู้ทั้งเงื่อนต้นทั้งเงื่อนปลาย ไม่รู้ปฏิจจสมุปบาทธรรมะที่อาศัยกันบังเกิดขึ้น
อีกนัยหนึ่ง ๔ ข้อหลังนี้ยกกาลเวลาขึ้นเป็นที่ตั้ง คือไม่รู้จักอดีต ไม่รู้จักอนาคต ไม่รู้จักทั้งอดีตทั้งอนาคต ไม่รู้จักปฏิจจสมุปบาทธรรมะที่อาศัยกันบังเกิดขึ้น ซึ่งก็ได้แสดงอธิบายแล้ว
แต่ในที่นี้ก็จะได้เพิ่มเติมในแนวอธิบายที่เกี่ยวกับกาลเวลาอีกปริยาย คือทางอันหนึ่ง ที่ว่าไม่รู้จักอดีต ไม่รู้จักอนาคต ไม่รู้จักทั้งอดีตทั้งอนาคต กาลเวลาที่ไม่รู้จักดั่งนี้ ก็ทำให้ไม่รู้จักทุกขสัจจะสภาพที่จริงคือทุกข์ด้วย ก็เพราะว่าสภาพที่จริงคือทุกข์นั้น ที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสแสดงอธิบายไว้ ว่าชาติความเกิดเป็นทุกข์ ชราความแก่เป็นทุกข์ มรณะความตายเป็นทุกข์
ทไวลักษณ์ ไตรลักษณ์
จนถึงกล่าวโดยย่อขันธ์เป็นที่ยึดถือทั้ง ๕ ประการเป็นทุกข์ และข้อที่เป็นทุกข์นี้ พระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสแสดงอธิบายไว้ โดยปริยายคือแนวทางอธิบายต่างๆ เป็นอันมาก ที่เป็นพหุลานุสาสนี คือคำสั่งสอนเป็นอันมาก ดังที่เราทั้งหลายสวดกันอยู่ ก็ดังที่ได้ตรัสสอนไว้ว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่เที่ยง รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นอนัตตา มิใช่อัตตาตัวตน สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง ธรรมทั้งปวงคือทั้งที่เป็นสังขารและทั้งที่เป็นวิสังขาร เป็นอนัตตา มิใช่อัตตาตัวตน เป็น ทไวลักษณะ คือ ลักษณะ ๒
อีกนัยหนึ่งที่ตรัสแสดงไว้ก็เป็นไตรลักษณ์ อนิจจะ ไม่เที่ยง ทุกขะ เป็นทุกข์ อนัตตา มิใช่อัตตาตัวตน ก็เพื่อที่จะให้รู้จักทุกขสัจจะ สภาพที่จริงคือทุกข์ นั้นเอง อนิจจะคือไม่เที่ยง ก็คือต้องเกิดต้องดับ ไม่ยั่งยืน อนัตตา ไม่ใช่อัตตาตัวตน ก็เพราะบังคับให้เป็นไปตามปรารถนามิได้ และหากว่าจะเติมทุกขะให้เป็นไตรลักษณ์ ก็เพราะตั้งอยู่คงที่มิได้ ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป เมื่อพิจารณาขันธ์ ๕ ซึ่งย่อลงเป็นนามรูป ให้เห็นไตรลักษณ์ หรือ ทไวลักษณ์ ลักษณะ ๒ อนิจจะอนัตตาบังเกิดขึ้น จึงจะเห็นทุกขสัจจะสภาพที่จริงคือทุกข์
เครื่องกำบัง อนิจจะ ทุกขะ อนัตตา
แต่ว่าท่านแสดงไว้ว่า เครื่องกำบัง อนิจจตา ความไม่เที่ยง ก็คือสันตติ ความสืบต่อ
เครื่องกำบัง ทุกขตา ความเป็นทุกข์ ก็คือความสุข ความผลัดเปลี่ยนอิริยาบถ
เครื่องกำบัง อนัตตตา ความเป็นอนัตตา ก็คือความเป็นก้อนเป็นแท่ง
เครื่องกำบังเหล่านี้ทำให้มองไม่เห็น อนิจจะ ทุกขะ อนัตตา
จะยกตัวอย่างข้ออนิจจะไม่เที่ยง เครื่องกำบังก็คือสันตติความสืบต่อ ดังเช่น หายใจเข้าหายใจออกสืบต่อกันอยู่เสมอ ชีวิตจึงดำรงสืบต่อกันอยู่เสมอ จึงทำให้ไม่เห็นความดับ เห็นความเกิด และความดำรงอยู่ความตั้งอยู่ ไม่เห็นความดับ สันตติคือความสืบต่อนี้ ก็คือความสืบต่อของอดีต ปัจจุบันและอนาคตด้วย คือมองไม่เห็นอดีต มองไม่เห็นอนาคต และก็มองไม่เห็นปัจจุบัน เมื่อเป็นดั่งนี้ จึงรู้สึกเหมือนอย่างว่าเที่ยง รู้สึกเหมือนอย่างว่าขันธ์ ๕ นี้เที่ยง ชีวิตนี้เที่ยง เกิดตั้งอยู่ แต่ไม่ดับ หรือว่าตั้งอยู่แต่ไม่ดับ
เมื่อเที่ยงตั้งอยู่ไม่ดับ ก็คือไม่มีอดีต และเมื่อไม่มีอดีต ก็ไม่ต้องมีอนาคต มีปัจจุบันคือตั้งอยู่ มองไม่เห็นอดีต คือส่วนที่ดับ และก็ไม่เห็นมองไม่เห็นอนาคต คือส่วนที่เข้ามาสืบต่อ และก็ไม่รู้จักปัจจุบัน เพราะมองเห็นเหมือนอย่างว่า เป็นปัจจุบันคือตั้งอยู่อย่างไม่ดับ และไม่ดับก็ไม่ต้องเกิด ก็เหมือนอย่างไม่เห็นเกิด เหมือนอย่างคนเราทั้งหลายที่มีความรู้สึกกันอยู่ในชีวิต ในนามรูปที่ดำรงกันอยู่นี้ ว่ารู้สึกว่า เป็นอยู่ ตั้งอยู่ ดำรงอยู่ เป็นความเที่ยงอยู่ ไม่ดับ
เมื่อไม่ดับ ก็ไม่ต้องเกิด และไม่ต้องมีอนาคต เพราะฉะนั้น จึงเป็นอันชื่อว่าไม่รู้จักอดีต ไม่รู้จักอนาคต ไม่รู้จักทั้งอดีตทั้งอนาคต เพราะอันที่จริงนั้น ความเป็นไปของนามรูป ของชีวิตนี้ มีเกิดดับอยู่ตลอดเวลา เหมือนอย่างมีหายใจเข้า ก็มีหายใจออกอยู่ตลอดเวลา มีเกิดดับอยู่ตลอดเวลา รูปก็เกิดดับอยู่ตลอดเวลา เวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ ก็เกิดดับอยู่ตลอดเวลา ดับก็เป็นอดีตไป และเมื่อเป็นอดีตไป อนาคตก็เข้ามาเป็นปัจจุบัน เมื่อเป็นปัจจุบัน ปัจจุบันก็เป็นอดีตดับไป อนาคตก็เข้ามาเป็นปัจจุบัน
ลักษณะที่เรียกว่าไม่เที่ยง
เพราะมีอนาคตเข้ามานี่แหละ จึงมีสันตติคือความสืบต่อ เหมือนอย่างว่ากลางวันกลางคืน กลางวันล่วงไปกลางคืนก็มา ขณะที่ยังเป็นกลางวันอยู่ กลางคืนก็เป็นอนาคต และเมื่อกลางวันหมดไป กลางคืนมา กลางคืนก็มาเป็นปัจจุบัน และเมื่อกลางคืนหมดไป กลางวันซึ่งเป็นอนาคต รุ่งขึ้นก็มาเป็นปัจจุบัน เพราะฉะนั้น เมื่อวานนี้ วันนี้ พรุ่งนี้ จึงวนเวียนสืบต่อกันอยู่ดั่งนี้ แต่ว่าเมื่อไม่คิดก็ไม่รู้ ว่าเป็นอดีต เป็นอนาคต เป็นปัจจุบันกันอยู่ดั่งนี้ และเมื่อคิดจึงจะรู้ และเมื่อรู้จึงจะรู้ว่านี่แหละคือตัวไม่เที่ยง เพราะอดีตนั้นก็คือที่ดับไป อนาคตก็คือว่าที่มาแทนส่วนที่ดับไปนั้น มาเป็นปัจจุบัน ปัจจุบันก็เป็นอดีตดับไป อนาคตก็เข้ามาแทน จึงมีสันตติคือความสืบต่อ ถ้าความสืบต่อนี้สิ้นสุดเมื่อใด ความดับในที่สุด ก็สิ้นสุดเมื่อนั้น ความดับในที่สุดก็ปรากฏเมื่อนั้น
ดังจะพึงเห็นได้ว่า ลมหายใจเข้าล่วงไปก็เป็นอดีต ลมหายใจเข้าใหม่ก็มาแทนซึ่งเป็นอนาคต ก็เข้ามาแทนเป็นปัจจุบัน เมื่ออดีตอนาคตปัจจุบันยังมาสืบต่อกันอยู่ดั่งนี้ ชีวิตก็ดำรงอยู่ แต่เมื่อลมหายใจเข้าหรือลมหายใจออก เป็นปัจจุบัน แล้วก็เป็นอดีต แต่ไม่มีอนาคตเข้ามาทดแทนสืบต่อ คือหยุดหายใจในที่สุด ชีวิตก็สิ้นสุด นั่นคือว่าสันตติขาด แต่คนเราที่ยังมีสันตติความสืบต่อกันอยู่ดั่งนี้ ก็เพราะว่ามีอดีตมีอนาคตมีปัจจุบัน นี่แหละสืบต่อกันอยู่ กาลเวลานี้เอง เพราะฉะนั้น เมื่อรู้จักอดีตรู้จักอนาคตรู้จักปัจจุบัน จึงจะมองเห็นความไม่เที่ยง คือเห็นว่าเกิดดับอยู่ตลอดเวลา มีอนาคตเข้ามาทดแทนเมื่อใดก็สิ้นสุดเมื่อนั้น
หากไม่รู้จักกาลเวลา ก็ไม่รู้จักทุกขสัจจะ
(เริ่ม) เพราะฉะนั้น หากไม่รู้จักกาลเวลา ไม่รู้จักอดีต ไม่รู้จักอนาคต ไม่รู้จักทั้งอดีตทั้งอนาคต ก็เป็นอันว่าไม่รู้จักทุกขสัจจะสภาพที่จริงคือทุกข์ มองไม่เห็น อนิจจะไม่เที่ยง ทุกขะเป็นทุกข์ อนัตตามิใช่อัตตาตัวตน ต่อเมื่อรู้จักกาลเวลาดังที่กล่าวมานี้จึงจะมองเห็นว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เกิดดับอยู่ตลอดเวลา เป็นอดีต เป็นอนาคต เป็นปัจจุบัน กันอยู่ตลอดเวลา แต่ว่ามีอนาคตมาทดแทน มาเป็นปัจจุบัน ปัจจุบันเป็นอดีตไป แล้วก็มีอนาคตมาเป็นปัจจุบันแทน จึงไม่สิ้นสุด ยังสืบต่อกันอยู่
และอันที่จริงนั้นหาใช่ว่าเที่ยงคือหยุดอยู่เฉยๆ ไม่ เกิดดับๆ อยู่ตลอดเวลา จึงเป็นอดีตปัจจุบันอนาคตอยู่ตลอดเวลา ปัจจุบันก็เป็นอดีต อนาคตก็เข้ามาเป็นปัจจุบัน แล้วเป็นอดีต อนาคตเข้ามาเป็นปัจจุบันแล้วเป็นอดีต เพราะฉะนั้น เมื่อรู้จักอดีตอนาคต รู้จักทั้งอดีตทั้งอนาคตดั่งนี้ จึงเป็นอันมองเห็น อนิจจตา ทุกขตา อนัตตตา มองเห็นทุกขสัจจะสภาพที่จริงคือทุกข์ เป็นวิชชาขึ้นได้
ฉะนั้น เมื่อยังมีอวิชชาอยู่ จึงยังมองไม่เห็น อนิจจตา ทุกขตา อนัตตตา ยังยึดถือว่าเป็นของเที่ยง เป็นสุข และเป็นอัตตาตัวตน เป็นเราเป็นของเรา เมื่อเป็นดั่งนี้จึงได้ก่ออาสวะขึ้น ดังที่ได้แสดงถึงความเกิดอาสวะอนุสัยมาแล้ว เมื่อเห็นอะไรทางตา ได้ยินอะไรทางหูเป็นต้น จึงยึดถือเป็นตัวเรา เป็นของเรา เกิดยินดียินร้าย เกิดอกุศล บาปธรรมทั้งหลายไหลเข้ามาดองจิตสันดานเป็นอาสวะ หรือเมื่อประสบเวทนาทั้งหลายก็ยินดียินร้าย ไม่รู้ ก็เป็นอนุสัยนอนเนื่องอยู่ในจิต ก็เพราะอวิชชาคือไม่รู้ดั่งนี้ เมื่อไม่รู้ดั่งนี้จึงยึดถือ และก่ออาสวะอนุสัยขึ้นในจิตใจ เพราะฉะนั้น อวิชชานี้เอง จึงเป็นต้นเหตุสำคัญที่ให้เกิดอาสวะ
ต่อจากนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป