แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
ได้แสดงพระเถราธิบายในข้อสัมมาทิฏฐิความเห็นชอบ ในหมวดว่า รู้จักอวิชชา รู้จักเหตุเกิดอวิชชา รู้จักความดับอวิชชา รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับอวิชชา และได้มีพระเถราธิบายในข้ออวิชชาว่าได้แก่ ไม่หยั่งรู้ในทุกข์ ไม่หยั่งรู้ในเหตุเกิดทุกข์ ไม่หยั่งรู้ในความดับทุกข์ ไม่หยั่งรู้ในทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ได้แสดงอธิบายเพิ่มเติมในที่นี้อีก ๔ ข้อ ๒ นัยยะ ที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ในพระสูตรอื่น คือ ไม่หยั่งรู้ในอดีต ไม่หยั่งรู้ในอนาคต ไม่หยั่งรู้ทั้งในอดีต ทั้งในอนาคต ไม่หยั่งรู้ในธรรมะที่อาศัยกันบังเกิดขึ้น อีกนัยยะหนึ่ง หรืออีกปริยายหนึ่งว่า ไม่หยั่งรู้ในเงื่อนต้น ไม่หยั่งรู้ในเงื่อนปลาย ไม่หยั่งรู้ทั้งในเงื่อนต้นทั้งในเงื่อนปลาย ไม่หยั่งรู้ในธรรมะที่อาศัยกันบังเกิดขึ้น รวมเข้าจึงเป็นอวิชชา ๘
อวิชชา ๘
แต่อวิชชา ๘ นี้ ก็มีข้ออริยสัจจ์ทั้ง ๔ เป็นหลัก และอีก ๔ ข้อนั้น นัยยะหนึ่งก็ยกเอา อดีต อนาคต ขึ้นแสดง อีกนัยยะหนึ่งก็ยกเอา เงื่อนต้น เงื่อนปลาย ขึ้นแสดง แต่เมื่อยกเอาอดีตอนาคตขึ้นแสดง ก็ไม่ยกเอาเงื่อนต้นเงื่อนปลายขึ้นแสดง จึงรวมเป็น ๘ ( เริ่ม ) หรือว่าเมื่อยกเอาเงื่อนต้นเงื่อนปลายขึ้นแสดง ก็ไม่ยกเอาอดีตหรืออนาคตขึ้นแสดง จึงรวมเป็น ๘
และโดยที่ข้ออวิชชานี้เป็นข้อสำคัญในพุทธศาสนา ในปฏิจจสมุปบาทคือธรรมที่อาศัยกันบังเกิดขึ้น พระพุทธเจ้าเมื่อทรงสาวขึ้นไปก็ถึงอวิชชา เพราะฉะนั้น อวิชชาจึงเป็นอันว่าเป็นปัจจัยแรกที่สำคัญ แห่งปัจจัยที่เกิดสืบต่อกันไปโดยลำดับ จนถึง ชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ เป็นต้น และเราทั้งหลายได้รู้เรื่องอวิชชา ก็โดยที่พระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสจำแนกแจกแจงแสดงสั่งสอนไว้ ถ้าไม่เช่นนั้นก็จะไม่สามารถรู้เรื่องอวิชชาได้ ทั้งที่อวิชชานี้ ก็มิได้มีอยู่ที่ไหน มีอยู่ในจิตใจของทุกๆ คนนี้เอง ทุกๆ คนจะรู้จักหรือไม่รู้จักอวิชชา ซึ่งนับว่าเป็นตัวต้นเดิมของกิเลสทั้งหลาย อวิชชาก็คงมีอยู่
และเพราะมีอวิชชาอยู่นี้เอง จึงทำให้จิตนี้ซึ่งเป็นธรรมชาติปภัสสรคือผุดผ่อง ต้องเศร้าหมองไปเพราะอุปกิเลส คือกิเลสเครื่องเศร้าหมองทั้งหลายที่จรเข้ามา เพราะฉะนั้น จึงควรพิจารณาใคร่ครวญคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ในเรื่องอวิชชานี้ให้มีความเข้าใจ แม้ว่าจะยังไม่สามารถรู้เจาะแทงไปถึงตัวอวิชชา ซึ่งมีอยู่ในจิตใจของตนเองได้ ก็ยังเป็นการเริ่มต้นแห่งความรู้ในเรื่องอวิชชานี้ จึงจะได้แสดงอธิบายประมวลกันเข้าอีกครั้งหนึ่ง อวิชชาคือไม่หยั่งรู้ในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ คือในทุกข์ ในเหตุเกิดทุกข์ ในความดับทุกข์ ในทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ นี้เป็นหลัก
เงื่อนต้น เงื่อนปลาย
และเพื่อที่จะได้แสดงขยายความถึงอริยสัจจ์ทั้ง ๔ นี้ สำหรับที่จะได้เป็นทางพิจารณา เพื่อทำความรู้ความเข้าใจ จึงได้มีแสดงต่อไป อีก ๒ นัยยะ ยกเอาอดีตอนาคตขึ้นแสดง หรือว่า ยกเอาเงื่อนต้นเงื่อนปลายขึ้นแสดง ดังที่กล่าวมาแล้ว อธิบายโดยปริยายคือทางอันหนึ่ง ไม่หยั่งรู้หรือไม่รู้จักอดีต ก็คือไม่รู้จักสาวหลัง ได้แก่เมื่อประสบผลอยู่ในปัจจุบัน ก็ไม่รู้จักที่จะสาวไปข้างหลังในอดีต ว่าเกิดมาจากเหตุอะไร ดั่งนี้ ก็เรียกว่าไม่รู้จักอดีต ผลที่ได้รับอยู่ในปัจจุบันจึงเท่ากับเป็นเงื่อนปลาย ส่วนเหตุในอดีตก็เท่ากับเป็นเงื่อนต้น ที่ตรัสแสดงไว้ในนัยยะที่ ๒
อีกอย่างหนึ่ง เมื่อเริ่มกระทำอะไรอยู่ในปัจจุบัน อันนับว่าเป็นส่วนเหตุ ก็ไม่รู้จักที่จะคาดหน้าไปในอนาคต ว่าจะให้เกิดผลต่อไปอย่างไร การที่จับกระทำอะไรอยู่ในปัจจุบันที่เป็นกรรมต่างๆ เป็น กายกรรม กรรมทางกาย วจีกรรม กรรมทางวาจา มโนกรรม กรรมทางใจ อันเป็นส่วนเหตุ ก็เท่ากับว่าเป็นเงื่อนต้น ส่วนผลที่จะบังเกิดขึ้นต่อไปก็เท่ากับว่าเป็นเงื่อนปลาย ไม่รู้จักคาดหน้า คือไม่รู้จักหยั่งถึงผลที่จะบังเกิดขึ้นข้างหน้า ดั่งนี้ จึงเรียกว่าไม่รู้จักอนาคต ก็เท่ากับว่าไม่รู้จักเงื่อนปลาย ที่แสดงไว้ในนัยยะที่ ๒ และความที่ไม่รู้จักที่จะโยงอดีตและอนาคตเข้าถึงกัน คือไม่หยั่งรู้ถึงเหตุและผล หรือว่าผลและเหตุที่โยงกันอยู่ ก็เรียกว่าไม่รู้จักทั้งในอดีต ทั้งอนาคต หรือว่าไม่รู้จักทั้งเงื่อนต้นทั้งเงื่อนปลาย ดังกล่าวไว้ในนัยยะที่ ๒
ปฏิจจสมุปบาท
ส่วนที่ไม่รู้จักธรรมะที่อาศัยกันบังเกิดขึ้น อันเรียกว่าปฏิจจสมุปบาท ธรรมะที่อาศัยกันบังเกิดขึ้น ก็ได้แก่ไม่รู้จักดังที่ท่านพระสารีบุตรได้แสดงเถราธิบายมาโดยลำดับ ดั่งที่ยกมาแสดงไว้ทีละหมวด จับตั้งแต่
ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ คือความโศกความรัญจวนคร่ำครวญใจเป็นต้น ว่ามีเพราะอะไร ก็มีเพราะชาติ คือความเกิด
ชาติคือความเกิดมีเพราะอะไร ก็เพราะภพ คือความเป็น
ภพมีเพราะอะไร ก็เพราะอุปาทานคือความยึดถือ
อุปาทานมีเพราะอะไร ก็เพราะตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก
ตัณหามีเพราะอะไร ก็เพราะเวทนา
เวทนามีเพราะอะไร ก็เพราะผัสสะความกระทบ
ผัสสะมีเพราะอะไร ก็เพราะอายตนะทั้ง ๖
อายตนะทั้ง ๖ มีเพราะอะไร ก็เพราะนามรูป
นามรูปมีเพราะอะไร ก็เพราะวิญญาณ
วิญญาณมีเพราะอะไร ก็เพราะสังขาร
สังขารมีเพราะอะไร ก็เพราะอวิชชา
เพราะฉะนั้น เมื่อมาถึงอวิชชา อวิชชาจึงเท่ากับเป็นเงื่อนต้น สังขารเท่ากับเป็นเงื่อนปลาย และสังขารนั้นเองก็เท่ากับเป็นเงื่อนต้น วิญญาณเท่ากับเป็นเงื่อนปลาย ก็ทยอยกันไปดั่งนี้ จนถึงชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะเป็นต้น
และก็อาจกล่าวได้ว่า อวิชชานั้นก็เป็นปัจจุบันก่อน และเมื่ออวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร อวิชชาก็เท่ากับเป็นอดีต สังขารก็เป็นปัจจุบัน เมื่อสังขารเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ สังขารก็เท่ากับเป็นอดีต วิญญาณก็เป็นปัจจุบัน ก็โยงกันไปดั่งนี้ ซึ่งความรู้จักปฏิจจสมุปบาทคือธรรมะที่อาศัยกันบังเกิดขึ้นนี้ ก็กล่าวได้ว่าเป็นอริยสัจจ์อย่างละเอียด แต่ละข้อๆ นั้นเท่ากับเป็นลูกโซ่อันหนึ่งๆ ที่โยงกันไป อวิชชาก็เท่ากับเป็นลูกโซ่อันหนึ่ง สังขารก็เท่ากับเป็นลูกโซ่อันหนึ่งเป็นต้น โยงกันไปอาศัยกันไป
อริยสัจจ์ ๔ โดยพิสดาร
และท่านพระสารีบุตรได้มาจับอธิบายลูกโซ่แต่ละลูกโซ่นี้ แจกออกไปเป็นสี่ๆ คือลูกโซ่อันหนึ่งๆ ก็เท่ากับเป็นอริยสัจจ์ ๔ ไปทุกลูกโซ่ ดั่งในลูกโซ่อวิชชานี้ ท่านแจกไปเป็น ๔ ดังที่กล่าวมาข้างต้น คือไม่รู้จักอวิชชา ไม่รู้จักเหตุเกิดอวิชชา ไม่รู้จักความดับอวิชชา ไม่รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับอวิชชา
ลูกโซ่อื่นๆ ถัดไป ท่านก็แจกเป็นสี่ๆ คือเป็นอริยสัจจ์ ๔ ไปทุกลูกโซ่ ซึ่งเป็นการแสดงอธิบายอย่างละเอียดพิสดาร และในปฏิจจสมุปบาทที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงสั่งสอนไว้จบลงแค่อวิชชา แต่ของท่าน (พระสารีบุตร) ยังไม่จบ ยังมีต่อไปอีกลูกโซ่หนึ่ง คือว่าในข้อเหตุเกิดอวิชชา ที่ท่านชี้เอาว่า ได้แก่อาสวะทั้งหลาย แต่เมื่อถึงอาสวะทั้งหลาย ท่านก็แจกออกไปอีกเป็น ๔ เหมือนกัน แต่ว่าเหตุเกิดอาสวะนั้นคืออะไร ท่านก็ชี้เอาอวิชชา ก็วนกลับมาอีก
ก็เป็นอันว่าในพระเถราธิบายนี้ มีเพิ่มปฏิจจสมุปบาทที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ ไปอีกเงื่อนหนึ่ง คืออาสวะ ซึ่งจะยังไม่แสดงอธิบายในวันนี้ ก็เพียงแต่กล่าวย่อคำว่าปฏิจจสมุปบาท ธรรมะที่อาศัยกันบังเกิดขึ้นไว้เสียก่อนคราวหนึ่ง เพราะฉะนั้น อวิชชา ๘ นี้ จึงมีอริยสัจจ์ ๔ เป็นหลัก และอีก ๔ ข้อข้างหลังก็มี ๒ นัยยะดังที่กล่าวมาแล้ว แต่ก็มีความอธิบายที่สัมพันธ์กัน อีก ๔ ข้อ ๒ นัยยะข้างหลังนั้น ก็เป็นการอธิบายอริยสัจจ์ ๔ นั้นเอง อันเกี่ยวด้วยกาลเวลา เกี่ยวด้วยเงื่อน การจับทำความเข้าใจในอริยสัจจ์ ๔ อาศัยกาลเวลา อาศัยเงื่อน คือพิจารณาอาศัยกาลเวลาอาศัยเงื่อน ย่อมจะทำให้มีความเข้าใจในอริยสัจจ์ ๔ นี้ ได้มากขึ้น หรือได้ง่ายขึ้น
ไตรลักษณ์ กาลเวลา
ข้อที่ควรอธิบายเพิ่มเติมก็คือ กาลเวลานั้นย่อมควบคู่กันไปกับไตรลักษณ์ คือ
อนิจจตา ความไม่เที่ยง หรือ อนิจจลักษณะ เครื่องกำหนดหมายว่าไม่เที่ยง
ทุกขตา ความเป็นทุกข์ หรือ ทุกขลักษณะ เครื่องกำหนดหมายว่าเป็นทุกข์
อนัตตตา ความเป็นอนัตตา หรือ อนัตตลักษณะ เครื่องกำหนดหมายว่าเป็นอนัตตา
ความเป็นไตรลักษณ์ย่อมมี ก็เพราะมีกาลเวลา คือมีอดีต มีอนาคต มีปัจจุบัน สังขารคือสิ่งผสมปรุงแต่งทั้งหลาย เป็นสังขารขึ้นก็เพราะอาศัยกาลเวลา จึงได้เป็นสังขารขึ้นมา คือเป็นสิ่งผสมปรุงแต่ง และเมื่อเป็นสังขารขึ้นมาก็ต้องเป็นไตรลักษณ์ คือสังขารนี้เองแสดงตัวออก ว่าอนิจจะ ไม่เที่ยง ต้องเกิดดับ ทุกขะ เป็นทุกข์ ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลง เป็นอนัตตา บังคับให้เป็นไปตามปรารถนามิได้ มิใช่ตัวเราของเราอย่างแท้จริง เพราะว่ากาลเวลานั้นล่วงไปๆ อยู่เสมอ ปัจจุบันนั้น เป็นปัจจุบันขึ้นมาแล้วก็เป็นอดีตคือล่วงไป ส่วนที่ยังไม่มาถึงเป็นอนาคต อนาคตก็มาเป็นปัจจุบัน เป็นปัจจุบันแล้วก็เป็นอดีต เพราะฉะนั้น มีปัจจุบันก็เพราะมีอนาคต และเพราะมีปัจจุบันจึงมีอดีต กาลเวลาจึงเลื่อนไปๆ อยู่ทุกขณะไม่มีหยุด
สังขารคือสิ่งผสมปรุงแต่งทั้งหลาย ซึ่งมีชาติเป็นเบื้องต้น จึงต้องมีชรา ต้องมีมรณะ ถ้าหากว่ากาลเวลานี้หยุดได้ไม่เลื่อนไปๆ ความไม่เที่ยงของสังขารก็ต้องหยุดได้ เช่นเมื่อเกิดเป็นเด็กออกมา กาลเวลาหยุดอยู่เพียงนั้น ก็คงเป็นเด็กอยู่นั่นแหละ หรือว่าเมื่อเติบโตขึ้นมาเป็นหนุ่มเป็นสาว กาลเวลาหยุดอยู่แค่นั้น ก็คงเป็นหนุ่มเป็นสาวอยู่นั่นแหละ เมื่อเป็นคนแก่ กาลเวลาหยุดอยู่แค่นั้น ก็เป็นคนแก่อยู่นั่นแหละ
แต่นี่กาลเวลาไม่หยุด กาลเวลาที่มาถึงจำเพาะหน้าเป็นปัจจุบัน ที่ยังไม่มาถึงเป็นอนาคต ที่ล่วงไปก็เป็นอดีต ปัจจุบันนั้นมาจากอนาคต อดีตก็มาจากปัจจุบัน ทั้งอดีตทั้งอนาคตทั้งปัจจุบันไม่มีหยุด เพราะฉะนั้น ความไม่เที่ยงของสังขารทั้งหลาย ความเป็นทุกข์เป็นอนัตตาของสังขารทั้งหลายจึงไม่มีหยุด
คนเราจึงต้องมีอายุ ๑ ขวบ ๒ ขวบ ๓ ขวบ ๔ ขวบ เป็นต้น สมมติว่าถ้ากาลเวลาหยุดอยู่แค่เมื่ออายุ ๔ ขวบ ก็คง ๔ ขวบอยู่นั่นแหละ ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว แต่หาเป็นเช่นนั้นไม่ อายุก็ต้องล่วงไปๆ จนในที่สุดก็ถึงเวลาที่แตกสลาย ชาติ ชรา มรณะ อันเป็นความไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตาของสังขารทั้งหลายนี้ จึงเป็นไปตามกาลเวลา กาลเวลานี้เองก็เป็นตัวไม่เที่ยง เป็นตัวทุกข์ เป็นตัวอนัตตาด้วย
กาลิโก อกาลิโก
เพราะฉะนั้นจึงได้มีพระพุทธภาษิตตรัสเอาไว้ว่า กาลเวลาย่อมกินสรรพสัตว์ทั้งหลายพร้อมทั้งตัวเอง คือกาลเวลานี้ กินผู้ที่เกิดมาคือสรรพสัตว์ทั้งหลายด้วย และกินตัวเองด้วย สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงซึ่งเกิดมาก็ต้องตกอยู่ในไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา กาลเวลาเองก็เป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา กินสรรพสัตว์ทั้งหลายด้วย กินตัวเองด้วย ดั่งนี้ เพราะฉะนั้น ทุกๆ สิ่งที่ยังขึ้นอยู่แก่กาลเวลา คือเป็นกาลิโก ประกอบด้วยกาลเวลา ย่อมตกอยู่ในทุกขสัจจะ สภาพที่จริงคือทุกข์ทั้งนั้น เป็นสังขารทั้งนั้น ( เริ่ม ) ส่วนธรรมชาติที่พ้นจากกาลเวลา จึงจะเป็น วิสังขาร คือไม่ใช่สิ่งผสมปรุงแต่ง อันได้แก่นิพพาน อันเป็นอมตะธาตุ ธาตุที่ไม่ตาย
ทุกๆ สิ่งที่ขึ้นอยู่แก่กาลเวลานั้น ต้องเกิดแก่ตายทั้งนั้น จะเป็นเทพก็ตาม เป็นมนุษย์ก็ตาม เป็นพรหมก็ตาม ขึ้นอยู่แก่กาลเวลาต้องเกิดแก่ตายทั้งนั้น แต่ธรรมชาติที่อยู่เหนือกาลเวลาเป็นอกาลิโก ไม่ประกอบด้วยกาลเวลา เป็นวิสังขาร คือ นิพพาน เป็นอมตะธาตุ ธาตุที่ไม่ตาย ก็คือเป็นธรรมชาติที่พ้นจากกาลเวลาเป็นอกาลิโก
ธรรมะของพระพุทธเจ้าเป็นอกาลิโกไม่ประกอบด้วยกาลเวลา ตั้งต้นแต่ธรรมะที่เป็นสัจจะ คือความจริงที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ ซึ่งตรัสเรียกว่าเป็น ธรรมฐิติ ความตั้งอยู่แห่งธรรม ธรรมนิยาม ความกำหนดแน่แห่งธรรม คือเป็นธรรมชาติธรรมดา ซึ่งเรียกอีกคำหนึ่งว่า ธาตุ ซึ่งแปลว่าทรงอยู่ ดำรงอยู่ มีความหมายเช่นเดียวกับคำว่า ธรรม ที่แปลว่าทรงอยู่ ดำรงอยู่
ธรรมฐิติ ธรรมนิยาม
ดังที่มีตรัสเอาไว้ในธรรมนิยามสูตรว่า พระตถาคตพุทธเจ้าจะทรงอุบัติขึ้นหรือไม่ทรงอุบัติขึ้นก็ตาม ธาตุนั้น ซึ่งเป็นธรรมฐิติ ความตั้งอยู่แห่งธรรม ธรรมนิยาม ความกำหนดแน่แห่งธรรม ก็ตั้งอยู่ดำรงอยู่แล้ว อันได้แก่ข้อที่สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง ข้อที่สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง ข้อที่สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ข้อที่สังขารทั้งปวงเป็นอนัตตามิใช่อัตตาตัวตน
ข้อที่มีสังขารทั้งปวงเป็นอนัตตา ไม่ใช่อัตตาตัวตน ซึ่งตรัสรวมเรียกว่า ข้อที่ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตามิใช่อัตตาตัวตน พระตถาคตพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ธาตุนั้น คือธรรมฐิติธรรมนิยามนั้นแล้ว จึงได้ตรัสจำแนกแจกแจงแสดงเปิดเผยกระทำให้ตื้น เพื่อให้ผู้ฟังเข้าใจ ว่าสังขารทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา คือทั้งสังขารธรรม ทั้งวิสังขารธรรม เป็นอนัตตา ดั่งนี้
ข้อที่เป็นสัจจะคือความจริง ซึ่งเป็นธรรมชาติธรรมดาดังกล่าวนี้ ไม่ขึ้นอยู่แก่กาลเวลา เป็นอกาลิโกไม่ประกอบด้วยกาลเวลา เมื่อไรๆ ก็คงเป็นอยู่อย่างนี้ คือข้อที่ สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา ก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาอยู่อย่างนี้ ไม่มีที่จะเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างอื่น เพราะฉะนั้น สัจจะธรรม ธรรมะที่เป็นสัจจะ คือความจริงที่เป็นธรรมชาติธรรมดาดั่งนี้ จึงเป็นอกาลิโก
และจิตนี้เองที่ได้สดับฟังธรรมะที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน ได้ปฏิบัติจนกำจัดอวิชชาได้หมดสิ้น เป็นวิชชาบังเกิดขึ้น วิมุติหลุดพ้นจากอาสวะทั้งสิ้น ก็บรรลุถึงวิสังขารคือนิพพาน เพราะสิ้นตัณหาทั้งหลาย ก็บรรลุถึงความเป็นอมตะธาตุอมตะธรรม ธรรมะที่ไม่ตาย อยู่เหนือกาลเวลาเป็นอกาลิโก ไม่ประกอบด้วยกาลเวลา พ้นจากภาวะที่เป็นสังขาร ซึ่งขึ้นอยู่แก่กาลเวลา ซึ่งตรัสว่าไม่เกิดอีก เพราะความเกิดอีกนั้นก็เกิดเป็นสังขาร ต้องขึ้นอยู่แก่กาลเวลา เมื่อขึ้นอยู่แก่กาลเวลา ก็ต้องตกอยู่ในไตรลักษณ์เกิดแก่เจ็บตาย
เพราะฉะนั้น เกี่ยวแก่กาลเวลานี้ เมื่อทำความเข้าใจให้ดี พร้อมกับเงื่อนทั้งหลายซึ่งอาศัยกันอยู่สัมพันธ์กันอยู่ ย่อมจะทำให้เข้าใจในอริยสัจจ์ ๔ ของพระพุทธเจ้าได้ดีขึ้น และสามารถที่จะจับกาลเวลาได้ถูกต้อง รู้จักที่จะสาวหลัง ในเมื่อประสบผลที่เป็นไปอยู่ในปัจจุบันได้ถูกต้อง รู้จักที่จะคาดหน้า หรือเมื่อทำอะไรที่เป็นส่วนเหตุอยู่ในปัจจุบัน ก็จะคาดไปข้างหน้าได้ถูก ว่าจะให้เกิดผลอย่างไร เป็นการจับเงื่อนได้ถูกต้อง ทั้งในด้านที่เป็นสายทุกข์ ทั้งในด้านที่เป็นสายดับทุกข์
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป