แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
ได้แสดงเถราธิบายในข้อสัมมาทิฏฐิ ที่ท่านพระสารีบุตรได้แสดงแก่ภิกษุทั้งหลาย มาถึงอวิชชา ซึ่งได้แสดงอธิบายมาแล้วตามเถราธิบาย ว่าอวิชชาคือความไม่รู้ ก็ได้แก่ไม่หยั่งรู้ในทุกข์ ไม่หยั่งรู้ในเหตุเกิดทุกข์ ไม่หยั่งรู้ในความดับทุกข์ ไม่หยั่งรู้ในทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ได้แสดงอธิบายคำว่า อวิชชา และเล่าถึงปฏิปทาปฏิบัติของพระพุทธเจ้าตั้งแต่ก่อนตรัสรู้ ได้ทรงแสวงหาโมกขธรรม ธรรมะเป็นเครื่องหลุดพ้น จนได้ตรัสรู้อริยสัจจ์ทั้ง ๔ อวิชชาดับ วิชชาเกิด หรือวิชชาเกิด อวิชชาดับ จึงทรงเป็นพุทโธคือเป็นผู้ตรัสรู้แล้ว
ทุกขสัจจะ
และก็ได้ตรัสแสดงอธิบาย อริยสัจจ์ ๔ ทุกข้อ ว่าทุกขสัจจะ สภาพที่จริงคือทุกข์ ทรงชี้สภาวะทุกข์ ตั้งต้นแต่ชาติความเกิด ชราความแก่ มรณะความตาย ว่าเป็นทุกข์ ทรงชี้ปกิณกะทุกข์ ทุกข์เบ็ดเตล็ดทางจิตใจทั้งหลาย ว่า โสกะ ความโศกความแห้งใจ ปริเทวะ ความรัญจวนคร่ำครวญใจ ทุกขะ ความไม่สบายกาย โทมนัสสะ ความไม่สบายใจ อุปายาสะ ความคับแค้นใจ เป็นทุกข์
ทรงชี้สรุปเข้ามาเป็น ๒ คือ ความประจวบกับสิ่งหรือสัตว์สังขารทั้งหลาย ที่ไม่เป็นที่รักเป็นทุกข์ ความพลัดพรากจากสิ่งหรือสัตว์สังขารทั้งหลาย ที่เป็นที่รักเป็นทุกข์ ทรงชี้สรุปเข้ามาเป็นหนึ่ง คือ ปรารถนามิได้สมหวังเป็นทุกข์ และทรงชี้สรุปเข้ามาโดยสังเขปว่า ขันธ์เป็นที่ยึดถือทั้ง ๕ ประการเป็นทุกข์ ก็ได้แก่ กองรูป กองเวทนา กองสัญญา กองสังขาร กองวิญญาณ อันเป็นที่ยึดถือว่าเป็นตัวเราเป็นของเรา เป็นทุกข์
สมุทัยสัจจะ
อริยสัจจะข้อสมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์ ทรงชี้เอาตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก มีอาการเป็นกามตัณหา ความดิ้นรนทะยานอยากไปในกาม คือกามคุณ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจทั้งหลาย หรือความดิ้นรนไปด้วยอำนาจของกาม ความใคร่ทั้งหลาย ภวตัณหาความดิ้นรนทะยานอยากไปในภพ คือความเป็นนั่นเป็นนี่ วิภวตัณหาคือความดิ้นรนทะยานอยากไปในวิภพ คือความไม่เป็นนั่นไม่เป็นนี่ เป็นสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์
นิโรธ มรรค
อริยสัจจ์ข้อนิโรธ ความดับทุกข์ ทรงชี้เอาความดับตัณหาซึ่งเป็นตัวเหตุ ทุกข์ดับไปหมด เป็นความดับทุกข์ อริยสัจจ์ข้อมรรคคือทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ทรงชี้เอามรรคคือทางมีองค์ ๘ อันได้แก่
สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ สัมมาสังกัปปะความดำริชอบ ๒ ข้อนี้รวมเข้าเป็น ปัญญาสิกขา สัมมาวาจา เจรจาชอบ สัมมากัมมันตะการงานชอบ สัมมาอาชีวะเลี้ยงชีวิตชอบ ๓ ข้อนี้รวมเข้าเป็น สีลสิกขาสัมมาวายามะ เพียรชอบ สัมมาสติ สติคือระลึกชอบ สัมมาสมาธิ สมาธิคือตั้งใจไว้ชอบ ๓ ข้อนี้รวมเข้าเป็น จิตตสิกขา หรือสมาธิ เป็นมรรคคือทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์
อวิชชาข้อไม่หยั่งรู้อดีตอนาคต
อนึ่ง ในที่อื่นได้มีพระพุทธาธิบายในข้ออวิชชา เพิ่มขึ้นอีก ๔ ข้อ คือไม่หยั่งรู้ในอดีต ไม่หยั่งรู้ในอนาคต ไม่หยั่งรู้ในทั้งอดีตทั้งอนาคต ไม่หยั่งรู้ในธรรมะที่อาศัยกันบังเกิดขึ้น สำหรับใน ๔ ข้อหลังนี้ คำว่าอดีตก็คือสิ่งหรือกาลเวลาที่ล่วงมาแล้ว อนาคตก็คือสิ่งหรือกาลเวลาที่ยังไม่มาถึง ไม่หยั่งรู้ในอดีต ไม่หยั่งรู้ในอนาคต ย่อมมีความหมายหลายอย่าง อย่างที่เข้าใจกันทั่วไป ก็มักจะเข้าใจว่าหมายถึงเรื่องอดีต หรือหมายถึงเรื่องอนาคต ของชีวิตหรือของตน เช่นว่า ในอดีต คือในกาลเวลาที่ล่วงมาแล้ว ตนเป็นอย่างไร แม้ในชาติที่ล่วงมาแล้วคือในชาติอดีต ตนเป็นอะไร เป็นอย่างไร ในอนาคตคือในกาลข้างหน้า ตนจะเป็นอะไร จะเป็นอย่างไรต่อไป ตลอดจนถึงในชาติหน้าตนจะเป็นอะไร จะเป็นอย่างไรต่อไป
ไม่หยั่งรู้ ก็คือไม่รู้ในเรื่องของตน ในอดีต คือในกาลเวลาที่ล่วงมาแล้ว ในอนาคต คือในกาลเวลาข้างหน้าที่ยังไม่มาถึงดังกล่าว มักจะเข้าใจกันดั่งนี้ แต่ว่าคำว่าไม่รู้จักอดีตไม่รู้จักอนาคตในที่นี้ มิได้มีความหมายดั่งนั้น ดังจะพึงเห็นได้ว่า ท่านแสดงถึงญาณคือความหยั่งรู้ของพระพุทธเจ้าในราตรีที่ตรัสรู้ คือตั้งแต่ก่อนตรัสรู้ ทรงได้พระญาณ ๓ โดยลำดับ
ในปฐมยามทรงได้ ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ความรู้ระลึกขันธ์เป็นที่อาศัยอยู่ในปางก่อนได้ คือระลึกชาติหนหลังได้ ทรงระลึกชาติหนหลังได้ไปมากมาย พร้อมทั้งความเป็นไปในชาตินั้นๆ ตลอดจนถึงชื่อโคตร สุขทุกข์ทั้งหลายเป็นต้นในชาตินั้นๆ ทรงระลึกได้สืบต่อกันมาโดยลำดับ จากชาตินั้น ก็มาสู่ชาตินั้น มาสู่ชาตินั้น เรื่อยมาจนถึงสู่ชาติปัจจุบัน และก็ย้อนหลังไปได้มากมาย
ในมัชฌิมยามทรงได้ จุตูปปาตญาณ คือความรู้ในจุติความเคลื่อน อุปบัติเข้าถึง ชาตินั้นๆ ของสัตว์ทั้งหลาย ว่าเป็นไปตามกรรม ทำกรรมชั่วไว้ก็ไปสู่ชาติที่ชั่วมีทุกข์ ทำกรรมดีไว้ก็ไปสู่ชาติที่ดีมีสุข
ในปัจฉิมยามทรงได้ อาสวักขยญาณ ความรู้เป็นเหตุสิ้นอาสวะ คือกิเลสที่ดองจิตสันดานทั้งหลาย ก็คือทรงหยั่งรู้ในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ อวิชชาดับไปหมด วิชชาบังเกิดขึ้น หรือวิชชาบังเกิดขึ้น อวิชชาดับไปหมด เหมือนอย่างความสว่างบังเกิดขึ้น ความมืดก็หายไป
ตามพระญาณทั้ง ๓ ที่ท่านแสดงไว้นี้ ก็เป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่า เมื่อทรงได้พระญาณที่ ๑ ที่ ๒ ก็ยังมิได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ยังมีอวิชชาอยู่ คือแม้ว่าจะทรงระลึกชาติหนหลังได้เป็นอันมาก เรียกว่ารู้อดีตชาติ และทรงรู้ความเคลื่อนและความเข้าถึงชาตินั้นๆ ของสัตว์ทั้งหลาย ว่าเป็นไปตามกรรม ด้วยพระญาณที่ ๒ ก็ยังมีอวิชชาอยู่ จนถึงทรงได้ญาณที่ ๓ คือตรัสรู้ในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ อาสวะกิเลสที่ดองจิตสันดานสิ้นไป อวิชชาดับ วิชชาเกิดขึ้น จึงทรงดับอวิชชาได้ด้วยพระญาณที่ ๓ นี้
เพราะฉะนั้น ข้อว่าไม่รู้จักคือไม่หยั่งรู้ในอดีตไม่หยั่งรู้ในอนาคตอันเป็นตัวอวิชชา จึงมิได้มีความหมายถึงไม่รู้ระลึกอดีตชาติได้ ตลอดถึงไม่รู้ระลึกถึงอนาคตชาติได้ แต่ว่ามีความหมายอีกอย่างหนึ่ง
ความหมายว่าไม่รู้จักอดีตอนาคต
ความหมายของการที่ไม่รู้จักอดีตไม่รู้จักอนาคตอันเป็นตัวอวิชชานี้ พิจารณาดูเทียบเคียงกับข้อที่ตรัสไว้ในเทศนาครั้งที่ ๒ ที่ได้ตรัสแสดงขันธ์ ๕ ว่าเป็นอนัตตา มิใช่อัตตาตัวตน บังคับให้เป็นไปตามปรารถนามิได้ และสิ่งใดที่เป็นอนัตตาดั่งนั้น สิ่งนั้นก็เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง เป็นสิ่งที่เป็นทุกข์ ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลง เป็นสิ่งที่ไม่พึงเห็นยึดถือว่าเป็นตัวเราเป็นของเรา ก็คือตรัสแสดงไตรลักษณ์นั้นเอง แต่ยกอนัตตาขึ้นเป็นที่ตั้งทีแรก
แต่ภายในเนื้อหาของพระสูตรก็เป็นอันว่าได้แสดงไตรลักษณ์ไว้ครบทุกข้อ ในทางที่เข้าใจได้ง่าย และก็ได้ตรัสสรุปไว้ในตอนท้ายว่า ขันธ์ ๕ ทั้งที่เป็นอดีต ทั้งที่เป็นอนาคต ทั้งที่เป็นปัจจุบัน ทั้งที่เป็นภายใน ทั้งที่เป็นภายนอก ทั้งที่หยาบ ทั้งที่ละเอียด ทั้งที่ดี ทั้งที่เลว ทั้งที่อยู่ไกล ทั้งที่อยู่ใกล้ ก็ล้วนไม่พึงเห็นยึดถือว่าเป็นตัวเราของเราทั้งหมด
ตามที่ตรัสแสดงไว้นี้ จึงเป็นอันว่าทรงสอนให้รู้จักว่าขันธ์ ๕ ในอดีตก็ตาม ในอนาคตก็ตาม ในปัจจุบันนี้ก็ตาม ก็เป็น อนิจจะ ทุกขะ อนัตตา อย่างเดียวกันหมด ไม่แตกต่างกัน เพราะฉะนั้นข้อว่าไม่หยั่งรู้จักอดีตอนาคต ไม่หยั่งรู้จักทั้งอดีตทั้งอนาคต ในข้อที่แสดงอวิชชานี้ ก็จึงมีความหมายว่าอริยสัจจ์ทั้ง ๔ ที่เป็นไปอยู่ ในสายทุกข์ กับในสายนิโรธความดับทุกข์ ในสายทุกข์ก็คือทุกข์กับสมุทัย ในสายนิโรธก็คือนิโรธความดับทุกข์ และทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ อริยสัจจ์ทั้ง ๔ นี้
ในอดีตก็คงเป็นอริยสัจจ์ทั้ง ๔ นี้ ในอนาคตก็คงเป็นอริยสัจจ์ทั้ง ๔ นี้ คือว่าในอดีตนั้น จะเป็นอดีตในชาตินี้ หรือว่าอดีตในอดีตชาติ ชาติไหนๆ ก็ตาม กี่สิบกี่ร้อยกี่พันชาติในอดีตก็ตาม มากกว่านั้นก็ตาม อริยสัจจ์ทั้ง ๔ ที่เป็นสายทุกข์ ก็คงเป็นสายทุกข์อยู่นั่นแหละ สายนิโรธความดับทุกข์ ก็เป็นสายนิโรธความดับทุกข์อยู่นั่นแหละ เป็นอย่างเดียวกัน
ในอนาคตคือข้างหน้าก็เหมือนกัน เมื่อมีสมุทัยก็ต้องมีทุกข์ เมื่อดำเนินในมรรคก็ย่อมพบความดับทุกข์ คงเป็นสายทุกข์สายนิโรธความดับทุกข์อยู่เช่นเดียวกัน ไม่ต้องสงสัย และก็ไม่จำเป็นที่จะต้องไปสงสัย หรือไปคิดว่าในอดีตชาตินั้นเกิดเป็นอะไรมาบ้าง ที่ไหนบ้าง เป็นยังไงบ้าง ในอนาคตจะไปเกิดที่ไหนบ้าง เป็นอะไรบ้าง ไม่จำเป็น เพราะว่า จะเกิดเป็นอะไรก็คงอยู่ในสายทุกข์กับสายดับทุกข์นี่แหละ มาแล้ว หรือจะไปเกิดเป็นอะไรข้างหน้า ก็คงอยู่ในสายทุกข์สายดับทุกข์นี่แหละ
อริยสัจจ์ทั้ง ๔ นี้จึงเป็นกฏธรรมดา เป็นธรรมะที่เป็นกฏธรรมดา อยู่ตลอดกาลเวลา เป็นอกาลิโกไม่มีกาลไม่มีเวลา
กฏแห่งธรรมดา
เหมือนอย่างว่าโลกธาตุที่ทุกๆ คนอาศัยอยู่นี้ บางคราวก็มีฝนตก บางคราวก็มีฝนแล้ง ปีหนึ่งๆ ฝนก็ย่อมตกลงมาในฤดูฝน หรือในฤดูอื่น ไม่รู้ว่ากี่ครั้ง หากว่าจะไปมัวนับว่าปีนี้ฝนตกกี่ครั้ง ปีที่แล้วมาฝนตกกี่ครั้ง ย้อนๆ ไปๆ ก็คงจะเป็นการรวมครั้งได้มากมาย แล้วก็ตกที่ไหนบ้าง ตกมากหรือตกน้อยอย่างไร ( เริ่ม ) ก็เช่นเดียวกับสัตวโลกที่เวียนว่ายตายเกิดมาในอดีต เกิดมาครั้งหนึ่งก็ครั้งหนึ่ง ก็เหมือนอย่างว่า ฝนตกลงมาครั้งหนึ่งๆ ในปีหนึ่งๆ หากว่าจะนับครั้งดูย้อนขึ้นไปมากๆ ปี ก็ยิ่งมากครั้ง คือนับไม่ถ้วน
และหากว่าจะไปคิดถึงในอนาคต ว่าในปีหน้าในปีโน้น ฝนจะตกปีละกี่ครั้ง คอยนับครั้ง และครั้งหนึ่งตกมากตกน้อยยังไง ตกที่ไหน ก็คล้ายๆ กับว่าไปคิดว่า ในอนาคตนั้นจะไปเกิดที่ไหน เกิดเป็นอะไร เป็นยังไง ก็นับไม่ถ้วนอีกเหมือนกัน และก็ไม่เป็นประโยชน์อะไร เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าซึ่งเป็นผู้ดับอวิชชาได้นั้น ก็เพราะได้ตรัสรู้ในกฏธรรมดา อันเป็นกฏเกณฑ์ที่เป็นธรรมฐิติ ความตั้งอยู่แห่งธรรม ธรรมนิยามความกำหนดแน่แห่งธรรม เป็นตัวกฏธรรมดาที่ดำรงอยู่ คือรวมเข้าในสายทุกข์กับในสายดับทุกข์
เมื่อยังมีสมุทัยคือตัณหาอยู่ ก็ต้องเกิด ก็ต้องมีทุกข์ เป็นสายทุกข์ ดับสมุทัยได้จึงจะดับทุกข์ได้ ก็เป็นสายดับทุกข์ ทรงได้พบกฎที่เป็นธรรมชาติธรรมดาอันนี้ คืออริยสัจจ์ทั้ง ๔ ก็เหมือนอย่างว่าความรู้ของคนในปัจจุบันนี้ รู้เหตุที่ทำให้ฝนตก เมื่อรู้เหตุที่ทำให้ฝนตกได้ก็เป็นอันว่า รู้จักฝนในอดีต รู้จักฝนในอนาคต ทั้งหมด ว่าฝนในอดีตที่ตกมาทุกครั้งๆ นั้นก็เพราะมีเหตุอย่างนี้ ฝนที่จะตกต่อไปในอนาคตกี่ครั้งๆ ก็เพราะมีเหตุอย่างนี้ ซึ่งเป็นเหตุอันเดียวกัน เป็นอันว่ารู้จักเหตุผลอันเดียวกันนี้เท่านั้น ครอบไปได้ทั้งหมด รู้จักฝนในปัจจุบัน ว่าฝนในปัจจุบันนี้ตกลงมาก็เพราะเหตุนี้ ฝนที่ตกมาในอดีตกี่ร้อยกี่พันปีกี่หมื่นปีในอดีต ก็เพราะเหตุอย่างนี้ จะตกในอนาคตกี่ร้อยกี่หมื่นกี่พันปี ก็เพราะเหตุอย่างนี้
เพราะฉะนั้น ความตรัสรู้ของพระองค์นั้นจึงครอบ เป็นสัพพัญญูรู้ทั้งหมด เมื่อยังมีสมุทัยคือตัณหาอยู่ ก็ต้องมีทุกข์ ตั้งต้นแต่ชาติทุกข์คือความเกิด เหมือนอย่างเมื่อมีเหตุให้ฝนตกอยู่ ฝนก็จะต้องตก ตกมาแล้วในอดีต ตกในบัดนี้ และต่อไปก็จะต้องตกต่อไปอีก เหมือนอย่างเมื่อมีตัณหาอยู่เป็นตัวสมุทัย ก็ต้องมีชาติคือความเกิด เกิดมาแล้วในอดีต เกิดอยู่ในปัจจุบัน แล้วก็จะต้องเกิดต่อไปในอนาคต ตราบเท่าที่ยังมีเหตุ เมื่อดับเหตุคือตัณหาได้ ก็ดับชาติคือความเกิดได้ ก็เป็นอันว่าหยุดตกกันทีหนึ่ง เป็นอันว่าในอดีตนั้นตกกันมาแล้ว และปัจจุบันนี้ดับเหตุเสียได้แล้ว เหมือนอย่างว่าเป็นอันว่าดับเหตุฝนตกได้ ฝนก็เป็นอันว่าไม่ต้องตกกันต่อไปในอนาคตอีก หยุดกันเสียทีหนึ่ง
ความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าจึงเป็นพระญาณที่ครอบโลก ครอบจักรวาฬ ครอบกาลเวลาทั้งหมด ทั้งอดีต ทั้งอนาคต ทั้งปัจจุบัน เพราะฉะนั้น เมื่อยังเป็นอวิชชาอยู่ ก็คือไม่รู้จักอริยสัจจ์ทั้ง ๔ เมื่อไม่รู้จักอริยสัจจ์ทั้ง ๔ ก็เป็นอันว่า ไม่รู้จักอดีต ไม่รู้จักอนาคต ไม่รู้จักทั้งอดีตทั้งอนาคต และไม่รู้จักธรรมะที่อาศัยกันบังเกิดขึ้น อันเรียกว่าปฏิจจสมุปบาท ก็ย่อลงว่าทุกข์นั้นก็อาศัยสมุทัย นิโรธนั้นก็ต้องอาศัยมรรค เพราะมีสมุทัยก็ต้องมีทุกข์ และเพราะมีมรรคก็ดับทุกข์ได้ นี่ย่อลงมา ซึ่งเป็นธรรมะซึ่งอาศัยซึ่งกันและกันเป็นไป
ปฏิจจสมุปบาทสรุปเข้าในอริยสัจจ์ ๔
และปฏิจจสมุปบาทนี้ ท่านพระสารีบุตรก็ได้แสดงเป็นเถราธิบาย จับแต่ ชรา มรณะ โสกะ เป็นต้น และจับเหตุแห่งชรา มรณะ โสกะ เป็นต้น ว่าคือชาติ ความเกิด อาศัยชาติคือความเกิด จึงเกิดชรา มรณะ โสกะ เป็นต้น แล้วก็จับเหตุย้อนขึ้นมาโดยลำดับ จนถึงอวิชชาที่กำลังแสดงอธิบายอยู่นี้ นี่เป็นธรรมะที่อาศัยกันบังเกิดขึ้น ซึ่งก็ล้วนเป็นอริยสัจจ์ ๔ ที่จำแนกออกไปเป็นตอนๆ แต่เมื่อสรุปเข้าแล้ว ก็สรุปเข้าในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค นี่แหละ และก็สรุปเข้าในคาถาของท่านพระอัสสชิเถระ ที่ได้แสดงแก่ท่านพระสารีบุตรเมื่อเป็นปริพาชกอยู่ ซึ่งท่านพระสารีบุตรก็ขอให้ท่านแสดง ท่านบอกว่าท่านยังรู้น้อย แสดงได้แต่โดยย่อ ท่านพระสารีบุตรก็ตอบก็เรียนท่านว่า ท่านพระสารีบุตรเองก็ต้องการย่อๆ ประโยชน์อะไรด้วยข้อที่จะต้องแสดงยาวๆ ท่านพระอัสสชิจึงได้แสดงแก่ท่านว่า
เย ธัมมา เหตุปัปภวา ธรรมทั้งหลายมีเหตุเป็นแดนเกิด หรือว่าเกิดแต่เหตุ
เตสัง เหตุง ตถาคโต พระตถาคตตรัสเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น
เตสัญ จะ โย นิโรโธ จะ และความดับแห่งธรรมเหล่านั้น
เอวังวาที มหาสมโณ พระมหาสมณะมีวาทะอย่างนี้
ดั่งนี้ ซึ่งเป็นที่นับถือว่าคาถาของท่านพระอัสสชินี้ เป็นคาถาที่แสดงหัวใจของอริยสัจจ์ อันพระเจ้าอโศกมหาราชได้โปรดให้จารึกคาถานี้ไว้ในหลักศิลาของท่านทั่วอินเดียในครั้งนั้น
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป