แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
ได้แสดงเถราธิบายของท่านพระสารีบุตร ในข้อสัมมาทิฏฐิความเห็นชอบ มาถึงตอนที่ท่านได้แสดงว่า สัมมาทิฏฐิความเห็นชอบก็คือ รู้จักนามรูป รูปจักเหตุเกิดแห่งนามรูป รู้จักความดับแห่งนามรูป รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งนามรูป และท่านก็ได้แสดงอธิบายไปทีละข้อ ดังที่ได้แสดงแล้ว และได้แสดงอธิบายขยายความในที่นี้ในข้อแรก คือข้อรู้จักนามรูป ได้แสดงนามมาแล้ว จะได้แสดงรูปต่อไป อัน รูป นั้นก็ได้นำมาใช้กันในภาษาไทยเป็นที่รู้จักกัน เช่น รูปร่างหน้าตา รูปกาย ตามศัพท์คำว่า รูป นั้นแปลว่าชำรุด สิ่งใดย่อมชำรุด สิ่งนั้นชื่อว่ารูป ตามความหมาย ก็หมายถึงรูปที่เป็น รูปขันธ์ หรือที่เป็น รูปกาย
มหาภูตรูป
และได้มีแสดงอธิบายไว้เป็น ๒ อย่าง ตามพระเถราธิบายนั้นเอง ก็คือ มหาภูตรูป กับ อุปาทายรูป
มหาภูตรูป รูปที่เป็นภูตะใหญ่ ภูตะก็แปลว่าสิ่งที่เป็น สิ่งที่มี รูปที่เป็นสิ่งที่มีสิ่งที่เป็นส่วนใหญ่ เรียกว่า มหาภูตรูป ก็ได้แก่ธาตุทั้ง ๔ ที่ประกอบอยู่ในกาย คือในรูปกายนี้ อันได้แก่ส่วนที่แข้นแข็งบรรดาที่มีอยู่ในกายนี้ ก็เรียกว่าปฐวีธาตุ ธาตุดิน ส่วนที่เอิบอาบเหลวไหลบรรดาที่มีอยู่ในกายนี้ ก็เรียกว่าอาโปธาตุ ธาตุน้ำ สิ่งที่อบอุ่นบรรดาที่มีอยู่ในกายนี้ ก็เรียกว่าเตโชธาตุ ธาตุไฟ สิ่งที่พัดไหวบรรดาที่มีอยู่ในกายนี้ ก็เรียกว่าวาโยธาตุ ธาตุลม
ธาตุทั้ง ๔ บรรดาที่มีอยู่ในกายนี้ นี่แหละคือมหาภูตรูปทั้ง ๔ อันแปลว่ารูปที่เป็นมหาภูตะ คือที่เป็นธาตุส่วนใหญ่ประกอบเข้าเป็นกาย เมื่อธาตุทั้ง ๔ นี้ยังคุมกันอยู่ กายนี้ก็ย่อมดำรงอยู่ คือเป็นกายมีชีวิต เมื่อธาตุทั้ง ๔ นี้แตกสลาย ความดำรงอยู่แห่งกายนี้ก็สิ้นไป ชีวิตก็สิ้นไป
จตุธาตุววัฏฐานะ ธาตุกรรมฐาน
ทางพระพุทธศาสนา พระบรมศาสดาได้ทรงแสดงธาตุทั้ง ๔ นี้ อันเป็นส่วนมหาภูตรูปดังกล่าวเป็นกรรมฐาน ดังเช่นที่เรียกว่าธาตุกรรมฐาน หรือ จตุธาตุววัฏฐานะ กำหนดธาตุทั้ง ๔ และก็ยังได้ตรัสแสดงวิธีพิจารณาธาตุกรรมฐานนี้ จำแนกออกไปเป็นอาการต่างๆ สำหรับผู้ปฏิบัติจะได้หยิบยกขึ้นมาพิจารณา แม้ในทางที่เป็น ปฏิกูละ คือเป็นปฏิกูล เป็นของไม่สะอาดไม่งดงาม และสำหรับในด้านพิจารณาให้เห็นว่าปฏิกูลไม่สะอาดไม่งดงามนี้ ก็มักยกขึ้นจำแนกในข้อปฐวีธาตุ ธาตุดิน และอาโปธาตุ ธาตุน้ำเพราะเป็นสิ่งที่พิจารณาเห็นเป็นของปฏิกูลไม่สะอาดได้ง่าย
ดั่งที่ตรัสจำแนกเอาไว้ อันเรียกว่าอาการ ๓๒ สำหรับที่เป็นส่วนปฐวีธาตุ ธาตุดินนั้น ที่ตรัสจำแนกไว้ ก็คือ เกสา ผม โลมา ขน นขา เล็บ ทันตา ฟัน ตะโจ หนัง มังสัง เนื้อ นหารู เอ็น อัฏฐิ กระดูก อัฏฐิมิญชัง เยื่อในกระดูก วักกัง ไต หทยัง หัวใจ ยกนังตับ กิโลมกัง พังผืด (เริ่ม) ปิหกัง ม้าม ปัปผาสัง ปอด อันตัง ไส้ใหญ่ อันตคุณัง ไส้เล็กหรือว่าสายรัดไส้ อุทริยัง อาหารใหม่ กรีสัง อาหารเก่า เป็น ๑๙ แต่ได้ตรัสเติมในที่บางแห่งคือ มัตถเกมัตถลุงคัง ขมองในขมองศีรษะ ก็รวมเป็น ๒๐ นี้เป็นส่วนปฐวีฐาตุ ธาตุดิน คือเป็นส่วนที่แข้นแข็ง
ส่วนที่เป็นอาโปธาตุ ธาตุน้ำ ตรัสแสดงเอาไว้สำหรับพิจารณา ก็คือ ปิตตัง น้ำดี เสมหัง น้ำเสลด ปุพโพ น้ำหนองน้ำเหลือง โลหิตัง น้ำเลือด เสโท น้ำเหงื่อ เมโท มันข้น อัสสุ น้ำตา วสามันเหลว เขโฬ น้ำลาย สิงฆานิกา น้ำมูก ลสิกา ไขข้อ มุตตังมูตร รวมเป็น ๑๒
ส่วนที่เป็นปฐวีธาตุเติมขมองในขมองศีรษะเป็น ๒๐ กับส่วนที่เป็นอาโปธาตุ ๑๒ ก็รวมเป็นอาการ ๓๒ ดั่งที่รู้จักกัน แต่ที่ตรัสแสดงไว้โดยมากนั้นเพียงอาการ ๓๑ คือไม่มีข้อขมองในขมองศีรษะ พระอาจารย์แสดงว่ารวมอยู่ในข้อเยื่อในกระดูก อัฏฐิมิญชัง เยื่อในกระดูก หรือว่าอีกนัยยะหนึ่ง รวมอยู่ในข้อ หทยัง หัวใจ ซึ่งเป็นที่เข้าใจกันในครั้งก่อน ว่าเป็นสิ่งที่ให้สำเร็จความคิดนึกด้วย เมื่อเติมขมองในขมองศีรษะเข้า จึงเป็นอาการ ๓๒
แม้ส่วนที่เป็นเตโชธาตุ ธาตุไฟ วาโยธาตุ ธาตุลม ก็ได้มีตรัสจำแนกเอาไว้ สำหรับที่เป็นเตโชธาตุ ธาตุไฟ ก็คือไฟที่ทำให้ร่างกายอบอุ่น ไฟที่ทำให้ร่างกายชำรุดทรุดโทรม ไฟที่ทำให้ร่างกายเร่าร้อน ไฟที่ย่อยอาหาร คือที่ช่วยย่อยอาหารในลำไส้ นี้ก็เป็นเตโชธาตุ ธาตุไฟ ส่วนที่เป็นวาโยธาตุ ธาตุลม ที่ตรัสแสดงไว้สำหรับพิจารณา ก็ได้แก่ลมที่พัดขึ้นเบื้องบน ลมที่พัดลงเบื้องต่ำ ลมในท้อง ลมในไส้ หรือในกระเพาะ ลมที่พัดไปๆ ตลอดอวัยวะน้อยใหญ่ทั้งหลาย ลมอัสสาสะลมหายใจเข้า ลมปัสสาสะลมหายใจออก
สำหรับที่ตรัสสอนให้พิจารณาทางปฏิกูลไม่สะอาดไม่งดงาม ก็ยกเอาปฐวีธาตุ ธาตุดิน อาโปธาตุ ธาตุน้ำ จำแนกออกไปเป็นส่วนๆ เป็นอาการ ๓๑ หรือ ๓๒ ดังกล่าว สำหรับที่ตรัสจำแนกไว้ครบทุกธาตุ ก็เพื่อให้พิจารณาให้เห็นสักแต่ว่าเป็นธาตุ ไม่ควรที่จะยึดถือว่าเป็นของเรา เราเป็นสิ่งเหล่านี้ หรือสิ่งเหล่านี้เป็นอัตตาตัวตนของเรา ก็เป็นอันว่ามหาภูตรูปทั้ง ๔ นี้ หรือว่าธาตุทั้ง ๔ นี้ ได้ตรัสสอนให้ใช้เป็นกรรมฐาน ได้ทั้งทางสมถกรรมฐาน และวิปัสสนากรรมฐาน
และในการแสดงรูป ก็จำแนกรูปออกเป็นมหาภูตรูปทั้ง ๔ คือธาตุทั้ง ๔ ดังกล่าว ซึ่งเป็นกล่าวเป็นส่วนรวม อันได้แก่ส่วนที่แข้นแข็งก็เป็นมหาภูตรูปส่วนที่เป็นดิน ส่วนที่เหลวไหลก็เป็นมหาภูตรูปส่วนที่เป็นน้ำ ส่วนที่อบอุ่นก็เป็นมหาภูตรูปส่วนที่เป็นไฟ ส่วนที่พัดไหวก็เป็นมหาภูตรูปส่วนที่เป็นลม กล่าวรวมๆ นี้หมวดหนึ่งของรูป
อุปาทายรูป
อีกหมวดหนึ่งของรูปก็คือ อุปาทายรูป ที่แปลว่า รูปอาศัย คือเป็นรูปที่อาศัยอยู่แห่งมหาภูตรูปทั้ง ๔ เหล่านี้ อันได้แก่ประสาททั้ง ๕ คือสิ่งที่ให้สำเร็จการเห็นเรียกว่าจักขุประสาท สิ่งที่ให้สำเร็จการได้ยินเรียกว่าโสตะประสาท สิ่งที่ให้สำเร็จการทราบกลิ่นเรียกว่าฆานะประสาท สิ่งที่ให้สำเร็จการทราบรสเรียกว่าชิวหาประสาท สิ่งที่ให้สำเร็จการถูกต้องเรียกว่ากายประสาท
โคจร ๕
โคจรคืออารมณ์อันเป็นที่เที่ยวไปของประสาททั้ง ๕ นั้น ก็คือรูปที่เป็นวิสัยของจักขุประสาท เสียงที่เป็นวิสัยของโสตะประสาท กลิ่นที่เป็นวิสัยของฆานะประสาท รสที่เป็นวิสัยของชิวหาประสาท โผฏฐัพพะสิ่งถูกต้องที่เป็นวิสัยของกายประสาท
ภาวะ ๒ ปกิณณกะ ๔
ภาวะคือเพศ ๒ ได้แก่อิตถีภาวะ ภาวะเป็นหญิง หรือเพศหญิง ปุริสภาวะ ภาวะเป็นชาย หรือเพศชาย ปกิณณกะ ข้อเบ็ดเตล็ด ๔ อันได้แก่ หทัย หมายถึงสิ่งที่ให้สำเร็จความคิดนึก ชีวิตินทรีย์ อินทรีย์คือชีวิตได้แก่ความเป็นอยู่ของรูปกาย หรือสิ่งที่ให้รูปกายเป็นอยู่ ดำรงชีวิตอยู่ อาหาร หมายถึงโอชะของอาหารที่บริโภคเข้าไป เป็นโอชะซึมซาบไปเลี้ยงร่างกาย อากาศช่องว่างอันเรียกว่าปริจเฉทรูป คือเป็นรูปที่สำหรับกำหนดขอบเขตหรือปันขอบเขต เป็นต้นว่านิ้วทั้ง ๕ ของบุคคล ไม่ติดเป็นพืดเดียวกัน แบ่งออกเป็น ๕นิ้ว มีช่องว่างในระหว่างทั้ง ๕ นิ้ว สิ่งที่ทำให้นิ้วทั้ง ๕ นิ้วนี้แยกกันออกเป็น ๕ นิ้วได้ ก็เพราะมีอากาศ คือช่องว่างในระหว่าง ถ้าไม่มีอากาศคือช่องว่างในระหว่าง นิ้วทั้ง ๕ นี้ก็จะติดเป็นพืดอันเดียวกันทั้งหมด แต่เพราะมีอากาศคือช่องว่างในระหว่าง จึงได้แบ่งเป็น ๕ นิ้วแยกกันไปได้ เพราะฉะนั้นอากาศจึงเรียกว่า ปริเฉทรูป รูปที่กำหนดตัดเป็นส่วนเป็นชิ้นเป็นอัน ให้มีขอบเขตของส่วนนั้นๆ ของร่างกาย
วิญญัตติ ๒
วิญญัตติ ๒ อันได้แก่ กายวิญญัตติ ความเคลื่อนไหวทางกาย วจีวิญญัตติ ความเคลื่อนไหวทางวาจา ที่เรียกว่าวิญญัตตินั้น เพราะว่าความเคลื่อนไหวดังกล่าวทำให้เกิดความรู้กันได้ โดยใช้กายเคลื่อนไหวก็เรียกว่ากายวิญญัตติ เช่นทำมือแสดงความหมายให้เข้าใจกัน และเมื่อใช้วาจาพูดสำหรับที่จะให้เข้าใจกัน ก็เรียกว่าวจีวิญญัตติ
วิกาล ๓
วิกาลคืออาการที่ต่างๆ กัน ๓ ได้แก่ความเบาของร่างกาย ร่างกายที่ยังมีชีวิตอยู่นี้เบากว่าร่างกายที่สิ้นชีวิตแล้ว ความอ่อนของร่างกาย คือร่างกายที่มีชีวิตนี้อ่อน เช่นแขนจะยกขึ้นยกลง จะงอแขน จะกางแขน ก็ทำได้ ขาก็เหมือนกัน จะยืน จะนั่ง จะพับขา จะเหยียดขา ก็ย่อมทำได้ มีความอ่อนไม่แข็งกระด้างเหมือนอย่างศพ คือร่างกายของคนตาย ความควรแก่การงาน คือใช้ร่างกายประกอบการงานต่างๆ ได้ตามต้องการ ใช้มือใช้เท้าเป็นต้นได้ต่างๆ ต่างจากร่างกายของคนที่ตายแล้ว เป็นศพ ไม่ควรแก่การงาน ใช้ทำการงานอะไรไม่ได้
ลักษณะ ๔
ลักษณะ ๔ ก็คือ ความที่เติบโตได้ เติบใหญ่ได้ ดั่งเมื่อแรกเกิดมาก็เป็นเด็กเล็ก ก็เติบโตขึ้นเป็นเด็กใหญ่ เป็นผู้ใหญ่ขึ้นมาเป็นต้น ความสืบต่อ ก็เช่น ผมเก่าหลุดไป ผมใหม่ก็งอกขึ้นมาแทน เล็บเก่าหมดไป เล็บใหม่ก็งอกขึ้นมาแทน เหมือนอย่างเมื่อโกนผม ผมก็งอกขึ้นมาแทนได้ ตัดเล็บ เล็บก็งอกยาวออกมาได้ เป็นความสืบต่อ
ความชรา คือความชำรุดทรุดโทรม กับ อนิจจตา ความไม่เที่ยง ก็คือต้องมีเกิดต้องมีดับในที่สุด เกิดก็คือธาตุมาประชุมกัน ดับก็คือว่าธาตุทั้งหลายแตกสลาย เป็นอนิจจตาความไม่เที่ยง
รูป ๒๘
ทั้งหมดนี้ เรียกว่าอุปาทายรูป รูปอาศัย อาศัยแห่งมหาภูตรูปทั้ง ๔ ซึ่งก็รวมเป็น ๒๕ มหาภูตรูป ๔ อุปาทาย ๒๕ ก็รวมเป็น ๒๙ แต่ว่าท่านมักจะตัดโคจร ๕ เหลือ ๔ ในอุปาทายรูป ซึ่งโคจร ๕ นั้นก็ดังที่ได้กล่าวแล้ว ได้แก่รูปอันเป็นวิสัยของจักษุ เสียงอันเป็นวิสัยของโสตะคือหู กลิ่นอันเป็นวิสัยของฆานะคือจมูก รสอันเป็นวิสัยของชิวหาคือลิ้น และโผฏฐัพพะอันเป็นวิสัยของกายะคือกาย
ท่านมักจะตัดข้อโผฏฐัพพะนี้ออกเสีย โดยเอาไปรวมเข้าในข้อที่ ๑ คือรูปที่เป็นวิสัยของจักษุ เพราะว่าโผฏฐัพพะนั้นก็เป็นรูปเหมือนกัน เพราะฉะนั้น เมื่อเอาไปรวมกันเข้ากับข้อรูป รูปข้อที่ ๑ นั้นจึงเป็นวิสัยของจักษุด้วย เป็นวิสัยของกายด้วย เพราะฉะนั้น โคจร ๕ จึงเหลือ ๔ เมื่อโคจร ๕ เหลือ ๔ อุปาทายรูปที่มีทั้งหมด ๒๕ จึงเหลือ ๒๔ ฉะนั้นเมื่อรวมเข้ากับมหาภูตรูปอีก ๔ ก็เป็น ๒๘ เพราะฉะนั้นในอภิธรรมจึงมักจะแสดงว่ารูปทั้งหมด ทั้งมหาภูตรูปทั้งอุปาทายรูปมี ๒๘ เหล่านี้คือรูป
สัมมาทิฏฐิก็คือรู้จักรูป รู้จักนามรูป รู้จักนาม รู้จักรูป รู้จักนามก็ได้แก่รู้จัก เวทนา สัญญา เจตนา ผัสสะ มนสิการ ดังที่ได้กล่าวอธิบายแล้ว รู้จักรูปก็คือรู้จักมหาภูตรูปทั้ง ๔ และรู้จักอุปาทายรูปแห่งมหาภูตรูปทั้ง ๔ นั้น
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป