แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
วันนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
ได้แสดงเรื่องสัมมาทิฏฐิความเห็นชอบ ตามเถราธิบายของท่านพระสารีบุตรเถระ ซึ่งภิกษุทั้งหลายได้กราบเรียนถามท่าน และท่านก็ได้ตอบ ภิกษุทั้งหลายก็ได้กราบเรียนถามท่านถึงปริยายคือทางแสดงอื่นต่อไปอีก ซึ่งท่านก็ได้กล่าวตอบ ดังที่ได้แสดงอธิบายมาโดยลำดับ จนถึงข้อที่จะแสดงในวันนี้ ซึ่งท่านได้แสดงตอบแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ยังมีปริยายคือทางแสดงอย่างอื่นอีก คือสัมมาทิฏฐิความเห็นชอบ ก็ได้แก่ รู้จักนามรูป รู้จักเหตุเกิดแห่งนามรูป รู้จักความดับนามรูป รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับนามรูป และท่านก็ได้แสดงอธิบายแต่ละข้อตั้งแต่ข้อ ๑ ว่ารู้จักนามรูปก็คือรู้จัก นาม อันได้แก่ เวทนา สัญญา เจตนา ผัสสะ มนสิการ รู้จัก รูป ก็คือรู้จักมหาภูตรูปทั้ง ๔ และอุปาทายรูป รูปอาศัยแห่งมหาภูตรูปทั้ง ๔ นั้น รู้จักเหตุเกิดแห่งนามรูป ก็คือ รู้จักว่าเพราะวิญญาณเกิด นามรูปจึงเกิด รู้จักความดับนามรูป ก็คือรู้จักว่าเพราะวิญญาณดับ นามรูปจึงดับ รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับนามรูป ก็คือรู้จักมรรคมีองค์ ๘ มีสัมมาทิฏฐิความเห็นชอบเป็นต้น
นามรูป ขันธ์ ๕
จะได้แสดงอธิบายในข้อ ๑ รู้จักนามรูป รู้จักนามก็คือรู้จัก เวทนา สัญญา เจตนา ผัสสะ มนสิการ นามนี้ที่คู่กับรูป อันเรียกว่านามรูป เป็นศัพท์ธรรมะที่ผู้ศึกษาธรรมะย่อมได้ทราบกันอยู่ และได้ฟังกันอยู่ในเทศนาทั้งหลายเป็นอันมาก และโดยทั่วไปก็เป็นคำย่อมาจากขันธ์ ๕ อันขันธ์ ๕ ก็คือกองหรือประชุมทั้ง ๕ อันได้แก่ รูปขันธ์กองรูป เวทนาขันธ์กองเวทนา สัญญาขันธ์กองสัญญา สังขารขันธ์กองสังขาร วิญญาณขันธ์กองวิญญาณ
พระพุทธเจ้าได้แสดงถึงขันธ์ ๕ ตั้งแต่ในปฐมเทศนา ซึ่งเป็นเทศนาครั้งแรกของพระองค์ ซึ่งได้ตรัสโปรดพระปัญจวัคคีย์ ทรงแสดงขันธ์ ๕ ไว้ในข้อทุกขสัจจะ สภาพที่จริงคือทุกข์ ซึ่งได้ตรัสแสดงทุกขสัจจะไว้เริ่มแต่ ชาติทุกข์ ทุกข์คือชาติ ความเกิดเป็นต้น และได้ทรงแสดงอธิบายชี้สิ่งที่เป็นทุกข์ไปแต่ละข้อๆ จนถึงตรัสสรุปโดยย่อ ว่าขันธ์เป็นที่ยึดถือทั้ง ๕ ประการ ก็คือรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แต่ว่าในปฐมเทศนานั้นได้ตรัสยกขึ้นแสดงชี้ว่า ขันธ์เป็นที่ยึดถือทั้ง ๕ ประการเป็นทุกข์ มาถึงเทศนาครั้งที่ ๒ จึงได้ตรัสยกเอาขันธ์เป็นที่ยึดถือทั้ง ๕ ประการนี้มาตรัสอธิบายว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นอนัตตา มิใช่ตัวตน เพราะบังคับให้เป็นไปตามปรารถนามิได้ และก็ได้ตรัสแสดงอธิบายทางไตรลักษณ์ ด้วยวิธีที่ได้ตรัสถามพระปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ว่าขันธ์ ๕ ดังกล่าวเที่ยงหรือไม่เที่ยง
ท่านทั้ง ๕ ก็กราบทูลตอบว่าไม่เที่ยง ก็ได้ตรัสถามต่อไปว่า ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข ก็กราบทูลว่าเป็นทุกข์ จึงได้ตรัสถามต่อไปว่า ก็สิ่งใดไม่เที่ยงเป็นทุกข์ มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะเห็นยึดถือสิ่งนั้น ว่าเป็นของเรา ว่าเราเป็นสิ่งนั้น ว่าสิ่งนั้นเป็นอัตตาตัวตนของเรา ท่านทั้ง ๕ ก็ได้กราบทูลว่า ไม่ควรที่จะเห็นยึดถืออย่างนั้น
พระพุทธองค์จึงได้ตรัสอธิบายเป็นข้อๆ ไป ว่าขันธ์ทั้ง ๕ เหล่านี้ ที่เป็นอดีตล่วงไปแล้ว ที่เป็นอนาคตยังไม่มาถึง ทั้งที่เป็นปัจจุบัน ที่เป็นภายในที่เป็นภายนอก ที่หยาบที่ละเอียด ที่เลวที่ประณีต ที่ไกลหรือที่อยู่ใกล้ทั้งหมด ล้วนควรพิจารณาให้เห็นด้วยสัมมัปปัญญา คือปัญญาชอบตามเป็นจริง ว่าไม่ใช่ของเรา เราไม่ใช่เป็นขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เป็นอัตตาตัวตนของเรา อริยสาวกได้สดับแล้วอย่างนี้ ย่อมได้นิพพิทาคือความหน่ายในขันธ์ ๕ เมื่อได้ความหน่าย ก็สิ้นความติดใจยินดี เมื่อสิ้นความติดใจยินดี จิตก็วิมุติหลุดพ้นจากอาสวะ คือกิเลสที่ดองจิตสันดานทั้งหลาย ขันธ์ ๕ จึงเป็นข้อที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสแสดงถึง ตั้งแต่ในปฐมเทศนาเทศน์ครั้งแรก และมาตรัสอธิบายโดยไตรลักษณ์ในเทศนาครั้งที่ ๒ แก่พระเบ็ญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ท่านทั้ง ๕ เมื่อได้ฟังเทศนาครั้งที่ ๒ จบแล้ว ท่านแสดงไว้ว่าจิตของท่านทั้ง ๕ ก็พ้นจากอาสวะกิเลสที่ดองจิตสันดานทั้งหลาย
วิปัสสนาภูมิ
เพราะฉะนั้น ขันธ์ ๕ จึงเป็นข้อที่ผู้ศึกษาปฏิบัติพุทธศาสนา พึงศึกษาให้มีความรู้ความเข้าใจ และท่านก็ย่อขันธ์ ๕ นี้ เป็น ๒ คือ รูป ก็เป็น รูป (ส่วน) เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็น นาม แต่เรียกกลับกันว่านามรูป เพราะฉะนั้น ขันธ์ ๕ กับนามรูปนี้จึงเป็นหลัก เป็นภูมิ เป็นกรรมฐาน สำหรับพิจารณาปฏิบัติทางปัญญา หรือทางวิปัสสนา ๔
ทำไมจึงเรียกว่านามรูป
และก็ควรที่จะได้ทำความเข้าใจว่า ทำไมจึงเรียกว่านามรูป สำหรับรูปนั้น ก็คงเรียกว่ารูปตามเดิม แต่สำหรับ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ทำไมจึงเรียกว่านาม อันคำว่านามนี้ ใช้เรียกกันหมายถึงว่าเป็นชื่อ เช่นผู้ที่มีชื่ออย่างนี้ๆ ก็เรียกว่ามีนามอย่างนี้ๆ เพราะฉะนั้น จึงใช้ทำความเข้าใจกันง่ายๆ ว่าที่เรียกว่านามนั้นก็คือมีแต่ชื่อสำหรับเรียก คือสักแต่ว่ามีแต่ชื่อ แต่ไม่มีรูปร่างหน้าตา ที่จะให้มองเห็นได้ด้วยตา หรือได้ยินได้ด้วยหู หรือที่จะทราบได้ด้วยกลิ่น ด้วยรส ด้วยการถูกต้องทางกาย ตรงกันข้ามกับรูปซึ่งเป็นวัตถุ อันจะพึงเห็นได้ด้วยตาเป็นต้นดังกล่าว แต่ว่าเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณนั้นไม่มีรูปร่างหน้าตา ที่จะเห็นได้ด้วยตาเป็นต้นดังกล่าว มีแต่นามที่เป็นชื่อสำหรับเรียกเท่านั้น และโดยอธิบายนี้ ก็ใช้เป็นอธิบายสำหรับทำความเข้าใจรูปธรรมนามธรรมที่พูดกัน คือรูปธรรมก็มีรูปร่างที่จะเห็นได้ด้วยตาเป็นต้น นามธรรมนั้นก็ไม่มีรูปร่าง มีชื่อแต่เรียกเท่านั้น นี้เป็นทางอธิบายที่เข้าใจกันทั่วๆ ไป
ภาวะอาการทางจิตใจ
แต่ว่าถ้าอธิบายเพียงเท่านี้ก็ยังไม่เข้าใจอีกเหมือนกันว่า ที่เป็นชื่อสำหรับเรียกเท่านั้น ไม่มีรูปร่าง มีแต่นามหรือชื่อ แต่ว่าเป็นนามของอะไร
ในข้อนี้จึงต้องทำความเข้าใจต่อไปว่าเป็นนามของภาวะอาการ ที่บังเกิดขึ้นทางร่างกายทางจิตใจ (เริ่ม ๖๐/๑) ภาวะอาการที่บังเกิดขึ้นดังกล่าว ไม่มีรูปร่าง ดังเช่น เวทนา ความรู้เป็นสุข เป็นทุกข์ หรือเป็นกลางๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข ที่บังเกิดขึ้นทางกายก็ดี ทางจิตใจก็ดี เป็นสิ่งที่ไม่มีรูปร่าง มีอาการ มีภาวะที่เป็นสุข หรือเป็นทุกข์ หรือเป็นกลางๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข เหมือนอย่างเมื่อถูกแดดก็ร้อน เป็นทุกข์ เมื่อได้รับลมก็เย็น เป็นสุข
อาการที่เป็นสุขเป็นทุกข์ทางร่างกายนี้ ไม่มีรูปร่าง แต่ว่ามีภาวะ มีอาการ ทางจิตใจก็เช่นเดียวกัน สัญญาความจำได้หมายรู้ต่างๆ จำรูปจำเสียงเป็นต้น ก็เป็นอาการหรือเป็นภาวะทางจิตใจ สังขารความคิดปรุงหรือความปรุงคิด ก็เป็นภาวะอาการทางจิตใจ วิญญาณ ความรู้รูปทางตาที่เรียกว่าเห็น รู้เสียงทางหูที่เรียกว่าได้ยิน รู้กลิ่นทางจมูก รู้รสทางลิ้น รู้สิ่งถูกต้องทางกาย ที่เรียกว่าทราบกลิ่น ทราบรส ทราบโผฏฐัพพะ รู้เรื่องราวทางใจที่คิดที่รู้ต่างๆ ที่เรียกว่ารู้เรื่อง ก็เป็นภาวะอาการทางจิตใจ เพราะฉะนั้น นามจึงเป็นชื่อของอาการ หรือภาวะทางจิตใจ และทางร่างกายดังกล่าว ก็เป็นอันว่าได้ทำความเข้าใจถึงเรื่องนามธรรมทั้ง ๔ นี้ เข้าไปถึงตัวนามธรรมทั้ง ๔ นี้
นะมะ นะโม
แต่ก็ควรจะทราบให้ยิ่งขึ้นไปอีกว่า ภาวะอาการของจิตใจทั้ง ๔ ดังกล่าวมานี้เป็นไปอย่างไร และคำว่านามจะมีความหมายที่ยิ่งไปกว่าชื่อดั่งที่กล่าวมาแล้วหรือไม่
ในข้อนี้ก็ตอบได้ว่า ยังมีความหมายที่ยิ่งไปกว่าเพียงคำว่าชื่อดังกล่าว คือคำว่า นาม นี้ตามรูปศัพท์ก็เป็นอันเดียวกันกับคำว่า นะมะ หรือ นะโม ที่เราทั้งหลายสวดกันอยู่ สวดนำในการสวดมนต์ไหว้พระ และสวดนำว่านำการที่จะว่าถึงสรณะคมณ์และศีล คือ นะโม ตัสสะ ภควะโต อรหะโต สัมมา สัมพุทธธัสสะ ที่แปลว่าขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
คำว่า นาม ก็มีมูลศัพท์เป็นอันเดียวกัน คือแปลว่าน้อม แต่ว่ามีความหมายว่า เป็นอาการของจิตใจที่น้อมออกไปรู้อารมณ์ คือเรื่องทั้งหลาย คือว่าจิตใจนี้เมื่อแสดงตามอภิธรรม เมื่อไม่มีอารมณ์ย่อมเป็นภวังคะจิต จิตที่อยู่ในภวังค์ตามศัพท์ก็แปลว่าองค์ของภพ ซึ่งท่านเปรียบเหมือนอย่างน้ำในทะเลมหาสมุทรที่สงบอยู่ ในขณะที่ยังไม่มีลมไม่มีคลื่น คือเมื่อไม่มีลมน้ำก็ไม่มีคลื่นสงบเรียบอยู่
ภวังค์จิต องค์ของภพ
จิตโดยปรกติเมื่อยังไม่มีอารมณ์ก็เป็นภวังคะจิต แต่เมื่อมีอารมณ์มากระทบทวารคือประตูทั้ง ๖ ดังที่ได้เคยอธิบายแล้ว มีอารมณ์มากระทบประตู ตา หู จมูก ลิ้น กาย และกระทบมโนทวารคือประตูใจ จิตจึงออกจากภวังค์ น้อมออกรับอารมณ์ อาการที่จิตน้อมออกรับอารมณ์นี้ ก็รับด้วยวิธีรู้ คือรู้อารมณ์ ซึ่งทีแรกก็รู้ในเมื่ออายตนะภายในอายตนะภายนอกมาประจวบกัน ก็รู้รูปที่เรียกว่าเห็นรูป รู้เสียงที่เรียกว่าได้ยินเสียง รู้กลิ่น รู้รส รู้โผฏฐัพพะ ที่เรียกว่าทราบกลิ่นทราบรสทราบโผฏฐัพพะ รู้ธรรมะคือเรื่องราวที่เรียกว่ารู้เรื่องราว ก็ตั้งศัพท์เรียกว่าวิญญาณ และเมื่ออายตนะภายนอกภายในกับวิญญาณ ทั้ง ๓ นี้ประชุมกัน ก็เป็นความรู้ที่แรงขึ้นเรียกว่าสัมผัส เมื่อเป็นสัมผัส ความรู้ก็แรงขึ้น เป็นรู้เป็นสุข รู้เป็นทุกข์ รู้เป็นกลางๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข ที่เรียกว่าเวทนา แล้วก็รู้จำที่เรียกว่าสัญญา แล้วก็รู้คิดปรุงหรือปรุงคิดต่างๆ ที่เรียกว่าสังขาร แล้วจิตก็ตกภวังค์ กลับไปสู่ภาวะที่เป็นพื้น
ครั้นเมื่อมีอารมณ์มากระทบทวารทั้ง ๖ นี้อีก จิตก็ออกจากภวังค์มารับอารมณ์ ด้วยวิธีที่รู้ดังกล่าวนี้ เป็นอารมณ์ๆ ไป แต่ว่าเพราะเป็นสิ่งละเอียดและรวดเร็วมาก จึงยากที่จะรู้แยกได้ อันนี้เป็นวิถีจิตซึ่งเป็นธรรมชาติธรรมดา อาการที่จิตออกรู้อารมณ์ดังกล่าวนี้แหละเรียกว่า นาม คือว่าจิตน้อมออกไปรู้ เหมือนอย่างยื่นมือออกไปจับสิ่งนั้นสิ่งนี้ และเมื่อจับสิ่งนั้นสิ่งนี้แล้วก็กลับมาตามเดิม มีอะไรมาก็จับใหม่ เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่านาม
แต่ว่านามในพระเถราธิบายนี้ท่านแสดงว่า ได้แก่ เวทนา คือความรู้เป็นสุข เป็นทุกข์ หรือเป็นกลางๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข สัญญา ความรู้จำ จำได้หมายรู้ เจตนา ความจงใจ ผัสสะ คือความกระทบ มนสิการ การกระทำไว้ในใจ ก็ขันธ์ ๕ นั่นแหละ แต่ว่าแสดงในที่นี้ ที่ซ้ำกับขันธ์ ๕ ก็คือ เวทนากับสัญญา ส่วนอีก ๓ คือ เจตนา ผัสสะ มนสิการ ไม่ซ้ำกับขันธ์ ๕ แต่ก็สรุปเข้าได้ในสังขารคือความคิดปรุงหรือความปรุงคิด คือเจตนากับมนสิการ ผัสสะนั้นล่ะเป็นสัมผัส ก็เป็นเบื้องต้นของเวทนา
เพราะฉะนั้นจึงเป็นอันว่า สรุปเข้าได้ใน เวทนา สัญญา สังขาร ส่วนวิญญาณนั้นไม่ได้แสดงอธิบายไว้ในๆ ที่นี้ เพราะว่าได้มีแยกออกไปในข้อ ๒ ที่ว่า เพราะวิญญาณเกิด นามรูปจึงเกิด คือนำวิญญาณไปแสดงไว้ในเหตุเกิดของนามรูป ว่าวิญญาณเป็นเหตุเกิดของนามรูป เพราะวิญญาณเกิด นามรูปจึงเกิด เพราะฉะนั้นจึงไม่แสดงวิญญาณไว้ในที่นี้ ส่วนรูปนั้นก็ได้แสดงแยกออกไปเป็นมหาภูตรูป ๔ และอุปาทายรูป รูปอาศัยแห่งมหาภูตรูปทั้ง ๔
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป