แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
จะแสดงสัมมาทิฏฐิคือความเห็นชอบตามพระเถราธิบาย ของท่านพระสารีบุตร อันมาในสัมมาทิฏฐิสูตรที่ได้แสดงมาโดยลำดับ ภิกษุทั้งหลายเมื่อได้ฟังท่านแสดงมาโดยลำดับ ก็ได้กราบเรียนถามท่านยิ่งขึ้นไปอีกว่า ยังมีปริยายคือทางแสดงอันอื่นอยู่อีกหรือ ที่จะทำให้เป็นสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นชอบ มีความเห็นตรง ทำให้ประกอบด้วยความเลื่อมใสไม่หวั่นไหวในพระธรรม นำมาสู่พระสัทธรรมคือพระธรรมวินัยในศาสนานี้ ท่านพระสารีบุตรก็ได้ตอบว่า ก็ยังมีปริยายคือทางที่พึงแสดงอธิบายต่อไปอีก และท่านก็จับแสดงต่อไปอีก จากที่ได้นำมาอธิบายแล้วว่า สัมมาทิฏฐิเห็นชอบ ก็คือรู้จักเวทนา รู้จักเหตุเกิดเวทนา รู้จักความดับเวทนา รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับเวทนา เมื่อท่านแจกเป็น ๔ ดั่งนี้ ท่านก็อธิบายไปทีละข้อว่า
รู้จักเวทนา ก็คือรู้จักเวทนา ๖ อันได้แก่ จักขุสัมผัสสชาเวทนา เวทนาที่เกิดจากจักขุสัมผัส สัมผัสทางตา โสตะสัมผัสสชาเวทนา เวทนาที่เกิดจากโสตะสัมผัส คือสัมผัสทางหู ฆานะสัมผัสสชาเวทนา เวทนาที่เกิดจากฆานะสัมผัส คือสัมผัสทางจมูก ชิวหาสัมผัสสชาเวทนา เวทนาที่เกิดจากชิวหาสัมผัส สัมผัสทางลิ้น กายะสัมผัสสชาเวทนา เวทนาที่เกิดจากกายะสัมผัส สัมผัสทางกาย มโนสัมผัสสชาเวทนา เวทนาที่เกิดจากมโนสัมผัส สัมผัสทางใจ
รู้จักเหตุเกิดเวทนา ก็คือรู้จักว่าสัมผัสเป็นเหตุเกิดเวทนา รู้จักความดับเวทนา ก็คือรู้จักว่าเวทนาดับเพราะดับสัมผัส รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับเวทนา ก็คือรู้จักมรรคมีองค์ ๘ มีสัมมาทิฏฐิเป็นต้น จึงจะได้อธิบายเรื่องเวทนา อันเป็นข้อแรกของ ๔ ข้อ ที่ท่านพระสารีบุตรได้ยกขึ้นอธิบายว่า เมื่อรู้จักก็ชื่อว่าสัมมาทิฏฐิคือเห็นชอบ
เวทนา ๓
เวทนานั้นโดยทั่วไปได้จำแนกไว้เป็น ๓ คือ สุขเวทนา เวทนาที่เป็นสุข ทางกาย ทางใจ ทุกขเวทนา คือเป็นคือเวทนาที่เป็นทุกข์ ทางกาย ทางใจ อทุกขมสุขเวทนา คือเวทนาที่ไม่ใช่สุข ไม่ใช่ทุกข์ คือเวทนาที่มิใช่ทุกข์มิใช่สุข ทางกาย ทางใจ
ฉะนั้น เวทนาจึงหมายถึงขันธ์ ๕ ข้อที่ ๒ ซึ่งเป็นความรู้เสวย เป็นสุข เป็นทุกข์ หรือเป็นกลางๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข ดังกล่าว เป็นไปได้ทางกายทางใจ ที่ทุกคนได้ประสบอยู่เป็นประจำ และเวทนานี้นับเป็นข้อ ๒ ของขันธ์ ๕ คือ (ต่อจาก)รูป (เริ่ม) ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงขันธ์ ๕ สำหรับให้ยกขึ้นพิจารณาทางวิปัสสนากรรมฐาน เพื่อให้รู้แจ้งเห็นจริงว่าอัตภาพนี้ อันที่จริงนั้นเป็นสมมติเป็นบัญญัติ ซึ่งก็นับว่าเป็นความจริงอย่างหนึ่ง เป็นความจริงโดยสมมติ หรือโดยบัญญัติ แต่โดยปรมัตถ์ คือโดยอรรถะ คือเนื้อความอย่างยิ่ง คืออย่างละเอียด ก็หาใช่เป็นอัตตาตัวตนที่แท้จริงไม่ จึงได้ตรัสสอนให้จำแนกอัตภาพ อันเป็นที่ตั้งของสมมติบัญญัติว่าอัตตาตัวเรานี้ ว่าเป็นขันธ์ ๕ คือเป็นกองทั้ง ๕ มารวมกันอยู่ ได้แก่ กองรูป กองเวทนา กองสัญญา กองสังขาร กองวิญญาณ
เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ รวมเรียกว่านาม รูปก็เป็นรูป ย่อลงจึงเป็นนามรูป ดังที่ทราบกันอยู่ เพราะฉะนั้น จึงไม่มีตัวเราของเรา มีแต่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่ประกอบกันอยู่ เวทนาซึ่งเป็นข้อ ๒ นั้น ตรัสแสดงไว้เป็นข้อ ๒ ก็เพราะว่า กำหนดได้ง่าย เกิดขึ้นเป็นไปทั้งทางกายทั้งทางใจ คือเกิดขึ้นเป็นไปทั้งทางรูป รูปกาย และทางนามกายคือทางใจ จึงกำหนดได้ง่าย
เวทนา ๕
และได้มีจำแนกไว้อีกนัยยะหนึ่งเป็นเวทนา ๕ คือ สุข ทุกข์ โสมนัส โทมนัส อุเบกขา เมื่อแจกออกเป็น ๕ ดั่งนี้ สุข จึงหมายถึงสุขทางกาย ทุกข์ จึงหมายถึงทุกข์ทางกาย โสมนัส หมายถึงสุขทางใจ โทมนัส หมายถึงทุกข์ทางใจ อุเบกขา ก็หมายถึงเวทนาที่เป็นกลางๆ มิใช่สุข มิใช่ทุกข์ มิใช่ทุกข์ มิใช่สุข เพราะฉะนั้นแม้แจกเป็น ๕ ดั่งนี้ ก็คงย่อลงเป็น ๓ นั้นเอง ดังกล่าวมาข้างต้น แต่ว่าเมื่อแจกออกเป็น ๕ สุข ทุกข์ โสมนัส โทมนัส อุเบกขา สุขและทุกข์ก็มีความหมายจำกัดเข้ามา จำเพาะที่เป็นไปทางกาย โสมนัส โทมนัส ก็เป็นไปทางใจ อุเบกขาก็เป็นเช่นเดียวกัน คือเป็นกลางๆ ไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุข ดังกล่าว
เวทนา ๖
ส่วนในที่นี้ ท่านพระสารีบุตรท่านยกเอาเวทนา ๖ คือยกเอาเวทนา ๓ หรือเวทนา ๕ ดังกล่าวแล้วนั่นแหละ แจกออก ที่เกิดจากสัมผัสคือความกระทบ ทางตาทางหูทางจมูกทางลิ้นทางกายและทางมนะคือใจ คือยกเอาสัมผัสทั้ง ๖ นี้เป็นที่ตั้ง จึงเป็นเวทนา ๖ และเมื่อแจกเป็นเวทนา ๖ ดั่งนี้แล้ว จึงได้มีอธิบายให้ละเอียดต่อไปอีกว่า สำหรับเวทนาที่เกิดจากจากสัมผัส ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น และที่เกิดจากสัมผัสทางใจ ทั้ง ๕ นี้ เป็นเวทนาทางใจ คือเป็นสุข หรือเป็นทุกข์ หรือเป็นกลางๆ ไม่ทุกข์ไม่สุขทางใจ
เฉพาะข้อเวทนาที่เกิดจากกายสัมผัส สัมผัสทางกาย จึงเป็นเวทนาทางกาย คือเป็นสุข หรือเป็นทุกข์ หรือเป็นกลางๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข ทางกาย ฉะนั้น ในการพิจารณานั้น จึงให้ทำความเข้าใจว่า ที่ว่าเวทนาที่เกิดจากสัมผัสในทางทั้ง ๕ เป็นไปทางใจ ย่อมมีความหมายดังเช่นว่า เมื่อตากับรูปมาประจวบกัน ก็เกิดความรู้รูป คือเห็นรูป และเมื่อตากับรูปและความรู้รูป คือเห็นรูป อันเรียกว่าวิญญาณทั้ง ๓ นี้มาประชุมกัน ก็เรียกว่าสัมผัส จึงเป็นเหตุให้เกิดเวทนา หากรูปที่เห็นเป็นที่ตั้งของสุข ก็ให้เกิดสุขเวทนา รูปที่เห็นเป็นที่ตั้งของทุกข์ ก็ให้เกิดทุกขเวทนา รูปที่เห็นเป็นที่ตั้งของมิใช่ทุกข์มิใช่สุข คือเป็นกลางๆ ก็ให้เกิดอทุกขมสุขเวทนา หรืออุเบกขาเวทนา
เวทนาที่เกิดจากสัมผัสทางหูทางจมูกทางลิ้นและทางใจ ก็เช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น เมื่อมีความอธิบายดั่งนี้ เวทนาที่เกิดจากสัมผัสในทางทั้ง ๕ ดังกล่าว จึงเป็นเวทนาทางใจอย่างเดียว หากจะมีปัญหาว่า ผงเข้าตาก็เจ็บ หรือเอาน้ำลูบตาก็เย็น ดั่งนี้จะเป็นเวทนาอะไร จะเป็นจักขุสัมผัสสชาเวทนาหรืออย่างไร ก็ตอบว่าในลักษณะดังกล่าวไม่เรียกว่าจักขุสัมผัสสชาเวทนา แต่เรียกว่ากายสัมผัสสชาเวทนา เวทนาที่เกิดจากสัมผัสทางกาย เพราะว่าผงเข้าตาก็หมายถึงตาส่วนที่เป็นกาย ไม่ใช่หมายถึงตาส่วนที่เห็นรูป หมายถึงตาส่วนที่เป็นกาย จึงจัดว่าเป็นกายสัมผัสสชาเวทนา เป็นไปทางกาย
แม้ทางหูเป็นต้นก็เช่นเดียวกัน มีอะไรมากระทบหู หรือทิ่มตำที่หูก็เกิดความเจ็บ หรือเอาน้ำล้างน้ำลูบก็เย็นสบาย ดั่งนี้ก็เป็นหูส่วนที่เป็นกายเช่นเดียวกัน ไม่ใช่หูส่วนที่เป็นประสาทรับเสียงได้ยินเสียง จึงนับเป็นกายสัมผัสสชาเวทนา เวทนาที่เกิดจากสัมผัสทางกาย เวทนาที่เกิดจากสัมผัสทางกายนี้มีเป็นอันมาก ความที่ได้รับความสุขทางกายต่างๆ อันเกี่ยวกับดินฟ้าอากาศ หรือเกี่ยวกับสิ่งที่ถูกต้องต่างๆ อันทำให้กายสบาย ก็นับว่าเป็นสุขทางกาย ความที่ต้องกระทบกับดินฟ้าอากาศส่วนที่ให้เกิดทุกข์เช่นต้องตากแดดตากฝนประกอบการงาน หรือว่าต้องนั่งนานๆ เดินนานๆ ยืนนานๆ หรือแม้นอนนานๆ ก็เป็นทุกข์ขึ้นมา หรือว่าอาพาธป่วยไข้ต่างๆ เกิดความทุกข์ ก็เป็นทุกขเวทนาทางกาย เพราะฉะนั้น ทุกขเวทนาทางกายก็มีมาก สุขก็มีมาก และที่เป็นกลางๆ ที่ไม่ทำให้สุขให้ทุกข์ ก็นับว่าเป็นกลางๆ ได้ ก็มีอยู่
แต่บางท่านก็มีอธิบายว่าที่เป็นกลางๆ ทางกายนั้นไม่มี เพราะถ้าเป็นปรกติก็นับว่าเป็นสุข เหมือนดังเช่นความหนาวความร้อน ความเย็นความร้อนของดินฟ้าอากาศ ที่ร้อนไปหรือเย็นไป ก็ทำให้รู้สึกว่าเป็นทุกข์ทางกาย เมื่อมีความร้อนหรือความเย็นที่อำนวยให้เกิดความรู้สึกเป็นสุขสบาย ก็ทำให้เกิดสุขเวทนาทางกาย หรือที่แม้ไม่ทำให้เกิดความสุขชัดนัก คือไม่ร้อนมากไม่เย็นมาก เรียกว่าเป็นปรกติ ก็ไม่ทำให้รู้สึกว่าเป็นสุข หรือไม่ทำให้รู้สึกว่าเป็นทุกข์อย่างไร เป็นปรกติ แม้ดั่งนี้ ก็น่าจะเรียกว่าเป็นกลางๆ ได้ แต่ท่านแสดงว่า จัดว่าเป็นสุขเหมือนกัน
แต่ว่าบางท่านก็แสดงว่า ที่มีลักษณะเป็นปรกติดังกล่าว ที่ไม่ทำให้รู้สึกว่าเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ ก็นับว่าเป็นกลางๆ ได้ ส่วนทางใจนั้นย่อมมีชัดทั้ง ๓ อย่าง เมื่อสัมผัสดังกล่าวเป็นที่ตั้งของสุขก็ให้เกิดสุข เป็นที่ตั้งของทุกข์ก็ให้เกิดทุกข์ และแม้เป็นที่ตั้งของสุขของทุกข์ดังกล่าว เมื่อใจวางเฉยได้ มีอุเบกขาได้ ก็เป็นอุเบกขา ไม่ทุกข์ไม่สุขทางใจ หรือสัมผัสดังกล่าวนั้นเองที่ไม่ทำให้รู้เป็นสุข หรือรู้เป็นทุกข์ ชัดเจน เป็นสิ่งธรรมดาสามัญ ก็นับว่าเป็นเวทนาที่ไม่ทุกข์ไม่สุข ยกตัวอย่างเช่นว่า ตากับรูปมาประจวบกัน หูกับเสียงมาประจวบกัน คือได้ยินอะไร ได้เห็นอะไร วันหนึ่งๆ มากมายนักหนา แต่ที่ทำให้เป็นสุขหรือทำให้เป็นทุกข์นั้นไม่ใช่ทั้งหมด ในส่วนที่เห็นแล้วก็แล้วไปไม่ได้ใส่ใจถึง ได้ยินแล้วก็แล้วไปไม่ได้ใส่ใจถึง มีอยู่เป็นอันมาก ในลักษณะดังกล่าวนี้มิใช่ว่าไม่เกิดเวทนา เกิดเวทนาเหมือนกัน แต่ว่าเป็นเวทนาที่เป็นกลางๆ คือไม่พอที่จะให้รู้เป็นสุข ไม่พอที่จะให้รู้เป็นทุกข์ ก็เฉยๆ ความเฉยๆ นี้ก็เป็นความรู้อย่างหนึ่ง เมื่อเป็นความรู้อย่างหนึ่งก็เป็นเวทนาอย่างหนึ่ง และเวทนาที่เป็นความรู้เฉยๆ ดังกล่าวมานี้ มักจะมิได้พิจารณาถึง มักจะมิได้คำนึงถึง
อทุกขมสุขเป็นที่ตั้งของโมหะ
ท่านจึงแสดงว่าเวทนาดังกล่าวมานี้เป็นที่ตั้งของโมหะคือความหลง สุขเวทนานั้นเป็นที่ตั้งของราคะความติดใจยินดี ทุกขเวทนานั้นเป็นที่ตั้งโทสะความโกรธแค้นขัดเคือง ส่วนเวทนาที่เป็นกลางๆ ดังกล่าวเป็นที่ตั้งของโมหะความหลง เพราะว่าเฉยๆ แต่ก็เป็นเฉยๆ ด้วยความไม่รู้ คือไม่ได้กำหนดพิจารณาให้รู้ ว่านี่ก็เป็นเวทนาเหมือนกัน และเป็นเวทนาที่เมื่อไม่กำหนด ก็เป็นเวทนาที่ไม่รู้ ไม่รู้จัก เมื่อไม่รู้จักก็เป็นโมหะคือความหลง ตั้งต้นแต่หลงว่าไม่รู้จักว่าเป็นเวทนา ส่วนสุขทุกข์นั้นเป็นที่ตั้งของราคะบ้าง เป็นที่ตั้งของโทสะบ้างดังกล่าว
เวทนาปริคคหกรรมฐาน
เวทนานี้เป็นข้อที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนให้ทำสติกำหนดเป็น เวทนานุปัสสนา สติกำหนดพิจารณาเวทนา ตามรู้ตามเห็นเวทนา อันเป็นสติปัฏฐานข้อที่ ๒ และได้มีตรัสสอนเอาไว้ให้กำหนดเวทนานี้ สำหรับที่จะได้ดับทุกขเวทนาได้อีกด้วย
ดังที่มีเรื่องเล่าถึงพระนางสามาวดีที่ถูกไฟครอกสิ้นพระชนม์ในปราสาท โดยที่มีผู้ริษยาจุดไฟเผาปราสาทที่พระนางได้ประทับอยู่ และปิดกั้นประตูมิให้ออกได้ ได้มีแสดงว่าพระนางได้เจริญ เวทนาปริคคหกรรมฐาน คือกรรมฐานที่กำหนดเวทนา กำหนดดูเวทนาที่เกิดขึ้นในขณะที่ถูกไฟเผาร่างกาย และเมื่อได้ตั้งใจกำหนดดูจริงๆ ก็จะมีความแยกระหว่างกาย กับผู้ดูผู้รู้ คือ ผู้ที่กำหนดเวทนานั้นชื่อว่าเป็นผู้ดูผู้รู้ สิ่งที่ถูกกำหนดดูก็คือกาย และเมื่อแยกออกจากกันได้ อันหมายความว่า สติที่กำหนดดูกำหนดรู้นั้นมีกำลัง (เริ่ม)...เวทนาที่เป็นทุกข์จึงอยู่แค่กาย คืออยู่ที่กายมิใช่อยู่ที่จิตใจ หรือมิใช่อยู่ที่ผู้กำหนดดูกำหนดรู้ เมื่อเป็นดั่งนี้ จึงชื่อว่าแยกกายออกจากใจได้ เมื่อแยกกายออกจากใจได้ ใจก็ไม่ต้องรับเป็นทุกขเวทนาทางใจ ทุกขเวทนาก็เป็นทุกขเวทนาของกาย แต่ว่าไม่เป็นทุกขเวทนาของใจ
สติที่กำหนดดูกำหนดรู้เวทนานี้จึงแยกได้ดั่งนี้ และแม้จะได้รับทุกขเวทนาอย่างอื่น หรือแม้ได้รับสุขเวทนาก็ตาม เมื่อตั้งสติกำหนดดูกำหนดรู้ให้เป็น เวทนาปริคคหกรรมฐาน กรรมฐานที่กำหนดเวทนาอยู่ เมื่อสติที่กำหนดมีกำลังก็ย่อมจะแยกได้เช่นเดียวกัน สำหรับเวทนาที่เป็นทางกายนั้น เมื่อตั้งสติหัดปฏิบัติกำหนดดูกำหนดรู้อยู่บ่อยๆ จนมีความชำนาญ ย่อมอาจจะแยกได้ง่ายกว่าเวทนาทางใจ เพราะเวทนาทางใจนั้นอยู่ที่ใจเอง แต่เวทนาทางกายนั้นอยู่ที่กาย ถ้าใจไม่ไปยึดไม่ไปถือ เวทนาทางกายก็อยู่แค่กาย ไม่เข้าถึงใจ แต่ที่เวทนาเข้าถึงใจนั้น คือใจเป็นทุกข์ไปด้วยกับกาย ก็เพราะว่ายังแยกกันมิได้ เวทนาปริคคหกรรมฐาน กรรมฐานที่กำหนดเวทนานี้แหละที่จะแยกได้ แต่ว่าจะต้องตั้งสติกำหนดให้มีกำลัง
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป