แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุก ๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
ได้แสดงสัมมาทิฏฐิความเห็นชอบ ตามเถราธิบายแห่งท่านพระสารีบุตรมาโดยลำดับ ท่านพระสารีบุตรได้แสดงอธิบายจบปัญหาหนึ่งแล้ว ภิกษุทั้งหลายก็ได้กราบเรียน ถามท่านยิ่งขึ้นไปอีก และท่านก็ได้กล่าวว่ายังมีปริยายอื่นยิ่งขึ้นไปอีก และก็แสดงต่อไปอีกเป็นข้อ ๆ ขึ้นไป และท่านได้แสดงอธิบายตามหลักอริยสัจจ์ทั้ง ๔ และตามหลักปฏิจจสมุปบาทธรรมะที่อาศัยกันบังเกิดขึ้น แสดงต่อจากที่ได้แสดงอธิบายแล้ว จึงถึงตอนที่ท่านพระสารีบุตรได้แสดงอธิบายว่า สัมมาทิฏฐิความเห็นชอบ ก็คือรู้จักตัณหา รู้จักเหตุเกิดแห่งตัณหา รู้จักความดับตัณหา รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับตัณหา
รู้จักตัณหา นั้นก็คือรู้จัก รูปตัณหา ตัณหาในรูป สัททตัณหา ตัณหาในเสียง คันธตัณหา ตัณหาในกลิ่น รสตัณหา ตัณหาในรส โผฏฐัพพตัณหา ตัณหาในสิ่งที่ถูกต้อง ธรรมตัณหา คือตัณหาในธรรมารมณ์ อันได้แก่เรื่องราว และท่านได้แสดงอธิบายต่อไปว่า รู้จักเหตุเกิดตัณหานั้น ก็คือรู้จักว่าความเกิดขึ้นแห่งตัณหามีขึ้น ก็เพราะความเกิดขึ้นแห่งเวทนา และได้แสดงถึงความดับตัณหาว่า ความดับตัณหามีขึ้นก็เพราะดับเวทนา แสดงทางปฏิบัติให้ถึงความดับตัณหาว่า มีมรรคมีองค์ ๘ คือมรรคมีองค์ ๘ มีสัมมาทิฏฐิความเห็นชอบ เป็นต้น
ข้อว่ารู้จักตัณหา
จะได้แสดงอธิบายถึงข้อที่ว่ารู้จักตัณหา คือรู้จักตัณหาในอายตนะภายนอกทั้ง ๖ หรือในอารมณ์ทั้ง ๖ ตัณหานั้นพระพุทธเจ้าได้ตรัสอธิบายไว้ เช่นในปฐมเทศนามีใจความว่า ตัณหาเป็นเหตุให้มีภพใหม่ ไปกับ นันทิ ความเพลิน ราคะ ความติดใจยินดี มีความอภินันท์ คือเพลิดเพลินยินดียิ่ง ๆ ในอารมณ์นั้น ๆ ได้แก่ กามตัณหา ตัณหาในกาม คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจทั้งหลาย หรือว่า รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์ คือเรื่องราวที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจทั้งหลาย ภวตัณหา ตัณหาในภพคือความเป็นนั่นเป็นนี่ วิภวตัณหา ตัณหาในวิภพคือความไม่เป็นนั่นเป็นนี่
และตัณหานั้นท่านมักแปลกันว่า ความทะยานอยาก ความดิ้นรนของจิตใจ หรือแปลกันอย่างธรรมดาว่า ความอยาก อธิบายตัณหาโดยทั่วไปก็มักอธิบายตามพระพุทธาธิบายดังกล่าว แต่ในที่บางแห่งก็ได้มีพระพุทธาธิบายว่า ตัณหา คือตัณหาในอายตนะภายนอกทั้ง ๖ คือรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะคือสิ่งถูกต้อง และธรรมะคือเรื่องราว
อายตนะภายในภายนอก
หรือว่าในอารมณ์ ๖ ก็คืออายตนะภายนอก ๖ นั้นนั่นแหละ ศัพท์ธรรมะนั้นเรียกว่าอายตนะ ก็โดยที่เรียกคู่กับอายตนะ คืออายตนะนั้นแปลว่าที่ต่อ หรือว่าต่อกัน แบ่งออกเป็นภายในก็คือ ตา หูจ มูก ลิ้น กาย และมนะคือใจ ที่เป็นภายนอกก็ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ คือสิ่งถูกต้อง และ ธรรมะ คือเรื่องราว เมื่อจัดเป็นคู่กัน ตาก็คู่กับรูป คือตากับรูปนั้นต่อกัน หูก็คู่กับเสียง เพราะว่าหูกับเสียงนั้นก็ต่อกัน จมูกก็คู่กับกลิ่น เพราะจมูกกับกลิ่นนั้นก็ต่อกัน ลิ้นก็คู่กับรส เพราะลิ้นกับรสนั้นก็ต่อกัน กายก็คู่กับโผฏฐัพพะสิ่งที่ถูกต้อง เพราะกายกับโผฏฐัพพะนั้นก็ต่อกัน มนะคือใจก็คู่กับธรรมะคือเรื่องราว เพราะมโนหรือมนะคือใจ กับธรรมะคือเรื่องราวนั้นก็ต่อกัน ฉะนั้น เมื่อต่อกันดั่งนี้จึงเรียกว่าอายตนะ
อารมณ์ ๖ ทวาร ๖
อีกอย่างหนึ่งเรียกว่าอารมณ์ คำว่า อารมณ์ นั้นได้แก่เรื่องที่จิตคิด เรื่องที่จิตดำริ เรื่องที่จิตใจหมกมุ่นถึง ครุ่นคิดถึง อันเป็นที่ตั้งของวิญญาณ ภาษาอภิธรรมนั้นเรียกว่า อาลัมพนะ ที่แปลว่าเป็นเครื่องหน่วงของจิต และคำว่าอารมณ์ทั้ง ๖ ก็เรียกคู่กับ ทวาร ที่แปลว่าประตู ก็คือว่าอายตนะภายใน อันได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และมนะคือใจนั้น นอกจากเรียกว่าอายตนะภายในแล้ว ยังเรียกว่าทวารทั้ง ๖ คือประตูทั้ง ๖ เช่นว่า ตา ก็เรียกว่า จักขุทวาร คือประตูตาเป็นต้น และเมื่อเรียกตาเป็นต้นว่า ทวาร ก็เรียกอายตนะภายนอกทั้ง ๖ ที่ต่อกันว่า อารมณ์ คือเรียกว่า รูปารมณ์ อารมณ์คือรูป เป็นต้น ฉะนั้น คำว่าทวารกับอารมณ์จึงเป็นข้อที่เรียกคู่กัน แต่ก็หมายถึงสิ่งอันเดียวกัน หรือหมวดเดียวกันกับอายตนะภายใน กับอายตนะภายนอกนั่นแหละ ที่เรียกว่าทวารกับอารมณ์นั้นก็อาจมีปัญหาว่า เป็นประตูของอะไร สำหรับอะไรที่จะเข้าไป ก็ตอบว่าเป็นประตูสำหรับที่อารมณ์ทั้ง ๖ นั้นจะเข้าไปนั้นเอง เข้าไปสู่อะไร คือเข้าไปสู่จิต หรือที่เรียกว่าวิญญาณ
ตัณหาบังเกิดขึ้นดั่งนี้
ดังที่ได้มีพระพุทธภาษิตตรัสแสดงไว้ว่า มีนครหนึ่ง เจ้านครเรียกว่า นครสามี เจ้านครซึ่งได้ประทับอยู่กลางนคร และได้มีทูตเข้าไปสู่นครทางทวารคือทางประตูแห่งนคร และได้มีพระพุทธาธิบายว่า นครสามี เจ้านครนั้นก็คือจิต และก็มีอธิบายสืบเนื่องกันว่า ประตูแห่งนครนั้นก็คือว่าทวารทั้ง ๖ ได้แก่ จักขุทวาร ประตูตา สำหรับอารมณ์คือรูปเข้าไป โสตทวาร ประตูหู สำหรับอารมณ์คือเสียงเข้าไป ฆานทวาร ประตูจมูก สำหรับอารมณ์คือกลิ่นเข้าไป ชิวหาทวาร ประตูลิ้น สำหรับอารมณ์คือรสเข้าไป กายทวาร ประตูกาย สำหรับอารมณ์คือโผฏฐัพพะสิ่งที่ถูกต้องเข้าไป และมโนทวารประตูใจ สำหรับอารมณ์คือธรรมะอันได้แก่เรื่องราวเข้าไป ก็เข้าไปสู่นครเจ้า (เริ่ม) ก็คือจิตหรือวิญญาณนี้เอง จิตหรือวิญญาณก็รับอารมณ์ที่เข้าไปทางทวารทั้ง ๖ นี้ แต่ว่าสำหรับจิตหรือวิญญาณสามัญนั้นยังมีอาสวะกิเลส เพราะฉะนั้นเมื่ออารมณ์ทั้ง ๖ ผ่านทวารทั้ง ๖ เข้าสู่จิตใจหรือวิญญาณ จึงเกิดตัณหาคือความดิ้นรนความทะยานอยาก หรือความอยากในอารมณ์ที่เข้าไปนั้น เมื่ออารมณ์คือรูปเข้าไป ก็เกิดตัณหาในรูป เมื่ออารมณ์คือเสียงเข้าไป ก็เกิดตัณหาในเสียง อารมณ์คือกลิ่นคือรสคือโผฏฐัพพะคือธรรมะเรื่องราวเข้าไป ก็เกิดตัณหาในกลิ่นในรสในโผฏฐัพพะและในธรรมะคือเรื่องราวนั้น ๆ ตัณหาจึงบังเกิดขึ้นดั่งนี้
กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา
และตัณหาที่บังเกิดขึ้นในอารมณ์ทั้ง ๖ ดังที่กล่าวมานั้น เมื่อเป็นอารมณ์ที่รักใคร่ปรารถนาพอใจ ก็เกิดเป็นกามตัณหา และก็ย่อมเกิดภวตัณหา ต้องการที่จะเป็นเจ้าเข้าเจ้าของอารมณ์ที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจนั้น คือต้องการเป็นนั่นเป็นนี่ ในอันที่จะครอบครองกามคือสิ่งที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจทั้งหลาย และถ้าหากว่าอารมณ์เหล่านั้นไม่เป็นที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจ ก็เกิดวิภวตัณหา ความอยากที่จะให้อารมณ์เหล่านั้นสิ้นไปหมดไป ไม่ต้องการที่จะเป็นนั่นเป็นนี่ ซึ่งจะต้องมีอารมณ์ที่ไม่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจนั้น ๆ
ลักษณะที่เรียกว่าจิตดิ้นรน
เมื่อรวมความเข้ามาแล้วก็เป็นความอยาก ที่จะดึงเข้ามา ที่จะนำเข้ามา เป็นตัวเราเป็นของเรา นั้นอย่างหนึ่ง เป็นความอยากที่จะผลักออกไปให้พ้น ในสิ่งที่ไม่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจ ที่เกลียดชังไม่ต้องการ นั้นอีกอย่างหนึ่ง จิตใจของสามัญชนจึงมีอาการที่เรียกว่าเป็นความอยากในอารมณ์ดังกล่าวมานี้ ที่จะดึงเข้ามา ที่จะเป็นตัวเราของเรา และที่จะผลักออกไปที่จะทำลายให้หมดสิ้นไป อาการของความอยากดังกล่าวนี้ จึงมีลักษณะที่ดิ้นรน กระสับกระส่าย กระวนกระวาย จิตใจเคลื่อนไหวขยับเขยื้อนไปในอารมณ์ทั้งหลาย ด้วยอาการต่าง ๆ ดังกล่าวนั้นอยู่เสมอ และเมื่อเป็นความอยากอย่างแรง ที่มีอาการดังกล่าว ที่จะดึงเข้ามา ที่จะได้มา ที่จะครอบครองเป็นตัวเรา เป็นของเรา ที่มีอาการดังกล่าวมานี้ เมื่อแรงก็เรียกว่าเป็นความทะยานอยาก ความดิ้นรนก็มีมาก ความทุรนทุรายกระสับกระส่ายก็มีมาก แต่เมื่อไม่แรงก็มีน้อย คือดิ้นรนน้อย กระสับกระส่ายน้อย กระวนกระวายน้อย
แต่รวมความว่าจิตใจนั้นก็ย่อมไม่อยู่สงบ ไม่อยู่กับที่ แต่ว่าเคลื่อนไหวกระสับกระส่าย ดิ้นรนไปด้วยอาการดังกล่าวนั้น ในอารมณ์ทั้งหลายอยู่เรื่อยไป และความดิ้นรนกระสับกระส่ายดังกล่าวมานี้ก็ไม่มีหยุด เช่นว่าเมื่อได้สิ่งที่รักใคร่ปรารถนาพอใจ ได้เป็นเจ้าเข้าเจ้าของได้ครอบครองสิ่งนี้ ก็ไม่หยุดอยู่เพียงเท่านั้น สิ่งนี้ที่ได้นั้น ครั้นได้มาแล้วความอยากในสิ่งนั้นก็สงบเพราะว่าได้แล้ว แต่ก็ไม่สงบเพียงเท่านั้น ยังอยากได้ในสิ่งอื่น เป็นสิ่งที่ ๒ เป็นสิ่งที่ ๓ เป็นสิ่งที่ ๔ เป็นสิ่งที่ ๕ ต่อ ๆ ไปอีก ต้องการที่จะได้ ต้องการที่จะเป็นเราของเรา ต้องการให้สิ่งที่ไม่ชอบหมดไป อยู่เรื่อยไป
อาการที่เรียกว่าตัณหา
เพราะฉะนั้น เมื่อพิจารณาดูกระแสของจิตอย่างละเอียดของตนแล้ว ก็จะเห็นว่า อันกามก็ดี อันตัวเราของเราก็ดี ย่อมบังเกิดขึ้นและดับไป อยู่ในอารมณ์ต่าง ๆ ติดต่อกันตลอดไป กาม ตัวเราของเรา บังเกิดขึ้นในสิ่งที่ ๑ แล้วก็ดับไป กามและตัวเราของเราก็บังเกิดขึ้นในสิ่งที่ ๒ แล้วก็ดับไป บังเกิดขึ้นในสิ่งที่ ๓ แล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้นจึงตรัสแสดงว่า เป็นไปเพื่อภพใหม่ ภพก็คือความเป็น ความเป็นเราของเรา หรือเป็นตัวเรานี่แหละ ใหม่อยู่เสมอ คือตัวเราของเราบังเกิดขึ้นใหม่ในสิ่งนั้น ๆ อยู่ตลอดเวลาไม่มีหยุด ตัวเราของเราบังเกิดขึ้นใน ๆ สิ่งนี้ สงบแล้วก็บังเกิดขึ้นในสิ่งนั้น สงบแล้วก็บังเกิดขึ้นในสิ่งโน้น ก็เป็นไปอยู่ดั่งนี้ ทั้งมีความติดใจ มีความเพลิดเพลิน ทั้งมีความอภินันท์บันเทิงยินดี ยิ่ง ๆ ขึ้นไปในอารมณ์นั้น ๆ อยู่เรื่อยไป อาการดั่งนี้เป็นอาการที่เรียกว่าตัณหา มีอยู่ในจิตใจของสามัญชนทั่วไป และตัณหานี้ก็บังเกิดขึ้นเพราะเวทนา ดับเวทนาก็ดับตัณหาได้ แต่ว่าจะดับได้ก็เพราะปฏิบัติในมรรคมีองค์ ๘ มีสัมมาทิฏฐิเป็นต้น
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป