แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุก ๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
ได้แสดงพระเถราธิบายของพระสารีบุตร ตามที่ท่านพระธรรมสังคาหกาจารย์ ได้ร้อยกรองไว้ในสัมมาทิฏฐิสูตรโดยลำดับ มาถึงข้อที่ท่านอธิบายว่าสัมมาทิฏฐิ คือความเห็นชอบ ก็ได้แก่รู้จักภพ รู้จักสมุทัย เหตุให้เกิดภพ รู้จักนิโรธ ความดับภพ และรู้จักนิโรธคามินี ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับภพ ก็ได้แสดงอธิบายไปแล้ว แต่วันนี้จะได้เพิ่มเติมในข้อรู้จักภพ ซึ่งได้อธิบายความหมายของภพ ในหมวดธรรมที่อาศัยกันเกิดขึ้นโยงกันไปเหมือนดั่งลูกโซ่ อันเรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท แปลว่าธรรมที่อาศัยกันบังเกิดขึ้น และได้แสดงภพว่าในที่นี้หมายถึงกรรมภพ ภพคือกรรม อุปปัติภพ ภพคืออุปบัติ และได้แสดงถึงกรรมว่าคือการที่กระทำ อันเกิดที่ใจ เกิดที่จิต จิตจงใจทำ แม้ทำทางใจก็เรียกว่ามโนกรรม กรรมทางใจ
กรรมภพในที่นี้ที่เป็นตัวต้น ก็ได้อธิบายแล้วว่าได้แก่ อัสมิ คือความเป็นเรา หรือความที่เราเป็นเรามี เป็นการสร้างความเป็นเราขึ้น ซึ่งท่านได้อธิบายในข้อต่อไป ว่าสมุทัยคือเหตุเกิดแห่งภพดังกล่าว ก็คืออุปาทานความยึดถือ แต่ยังไม่อธิบายอุปาทาน จะอธิบายภพเสียก่อน จึงสร้างตัวอัสมิ ความที่เรามี ความที่เราเป็นขึ้น เพราะ ภพ หรือ ภวะ แปลว่าความมีความเป็น เช่นเดียวกับภาวะที่แปลว่าความมีความเป็น มีเรา เป็นเรา ขึ้นก่อน จึงเป็นตัวมโนกรรมอันละเอียด ซึ่งมีขึ้นเป็นประการแรก ดองสันดานเป็น ภวานุสัย อนุสัยคือภพ ตลอดมาช้านาน และเมื่อมีกรรมภพ ภพคือกรรมดั่งนี้ จึงมี อุปปัติภพ ภพคืออุปบัติ ความเข้าถึง ก็คือความที่เข้าถึงชาติความเกิด เพราะเมื่อเป็นภพ คือความมีความเป็น เป็นเราขึ้นมา เราก็มิได้อยู่เฉย ๆ มีความไปความมา มีความเข้าถึง เข้าถึงนั่น เข้าถึงนี่ ก็คือเข้าถึงชาติความเกิดต่อไป นี้ได้อธิบายมาแล้ว แต่ได้ซ้ำความเพื่อทบทวน
โดยที่วันนี้จะได้อธิบายถึงภพ ๓ ที่ได้กล่าวไว้แล้วตามพระเถราธิบาย คือพระเถราธิบายท่านว่า รู้จักภพ ก็คือรู้จักภพ ๓ อันได้แก่ กามภพ รูปภพ อรูปภพ
ข้อแรกกามภพ ภพที่เป็นกามหรือที่ประกอบด้วยกาม ก็คือความที่มีเราเป็นเรา อันประกอบด้วยกาม จะกล่าวว่าคือจิตใจนี้เองที่เป็นที่ตั้งของตัวเราดังกล่าว ท่องเที่ยวไปในกาม ประกอบด้วยกาม หยั่งลงไปในกาม เป็นภาวะจิตใจ หรือเป็นภวะ เป็นภพแห่งจิตใจของสามัญชนทั้งปวงที่เป็นกามาพจร ประกอบด้วยกาม
อันกามนั้นแปลว่าใคร่ แปลว่าปรารถนา มี ๒ อย่าง คือกิเลสกาม กามที่เป็นกิเลส อันได้แก่ตัวความใคร่ตัวความปรารถนา อีกอย่างหนึ่งวัตถุกาม กามคือพัสดุ โดยมากแสดงไว้ ๕ คือ รูปที่ตาเห็น เสียงที่หูได้ยิน กลิ่นที่จมูกได้ทราบ รสที่ลิ้นได้ทราบ และโผฐฐัพพะคือสิ่งถูกต้องที่กายได้ทราบ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจทั้งหลายดั่งนี้เรียกว่าวัตถุกาม
อีกอย่างหนึ่งเรียกว่า กามคุณ คำนี้แม้คนไทยก็พูด รู้จักกันมาก กามคุณ ก็คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจทั้งหลาย
ทำไมจึงเรียกว่ากามคุณ ก็เพราะกามที่น่ารักใคร่ วัตถุกามที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจ ทั้งปวงเหล่านี้ ก็มีคุณอยู่ คือทำให้เกิดความสุขโสมนัสได้อยู่ เพราะว่าส่วนที่น่ารักใคร่ น่าปรารถนา น่าพอใจมีอยู่ เป็นที่ตั้งของสุข ของโสมนัส ทำให้เกิดสุข ทำให้เกิดโสมนัสมีอยู่ คือแปลว่ามีคุณอยู่ เพราะมีคุณอยู่ดั่งนี้ จึงทำให้รัก ทำให้ใคร่ ทำให้ปรารถนา ทำให้ต้องการ ถ้าไม่มีคุณก็จะไม่ทำให้รักใคร่ปรารถนาต้องการ เพราะฉะนั้น จึงเรียกส่วนที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจเหล่านี้ว่ากามคุณ ก็คือวัตถุกามทั้ง ๕ นั้นเอง อันเป็นส่วนที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจ เป็นกามคุณ และเพราะกามมีคุณเป็นที่ตั้งของสุขโสมนัสดังกล่าว สามัญชนทั้งปวงจึ่งได้หลงติดอยู่ ยากที่จะหลุดพ้น ยากที่จะปล่อยได้ และจึงท่องเที่ยวไปในกามคุณ แสวงหากามคุณเหล่านี้กันอยู่เป็นประจำ
และโดยเฉพาะกามคุณนี้ อันเป็นที่ตั้งของกามที่เป็นกิเลส กามที่เป็นกิเลสนั้นเล่าก็ตั้งอยู่ในตัวเรา ที่เป็นตัวภพดังกล่าวแล้ว และตัวเราที่เป็นตัวภพดังกล่าวแล้วนั้น ก็ได้กล่าวแล้วว่าก็เป็นกรรมชนิดที่ละเอียด เป็นตัวมโนกรรม คือที่จิตนี้เองสร้างขึ้นมา กระทำขึ้นมา ด้วยอำนาจของอุปาทานคือความยึดถือ
เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่า อหังการ ก็คือกรรมนี้เองกระทำให้เป็นเราขึ้นมา การกระทำให้เป็นเราขึ้นมานี้เรียกว่า อหังการ คำนี้บางทีเราพูดถึงกัน ว่าคนนั้นมีอหังการมาก คนนี้มีอหังการมาก ที่มีความหมายถึงความที่ทะนงตัว ยกตัว ถือตัวเป็นต้น แต่ตามศัพท์นั้นแปลว่า การทำให้เป็นเรา การสร้างให้เป็นเรา ซึ่งการทำให้เป็นเราการสร้างให้เป็นเรานี้ คือตัวกรรมนั้นเอง และตัวกรรมนี้เองก็เป็นกรรมภพดังกล่าวมาแล้ว มีอยู่ในจิตใจที่เป็นปัจจุบันนี้แหละ สร้างให้เป็นอหังการขึ้นมา ทำให้เป็นเราขึ้นมา และเมื่อสร้างให้เป็นอหังการ ให้เป็นเราขึ้นมาแล้วดั่งนี้ ก็มี มมังการ ตามมา คำว่า มมังการ นั้นแปลว่าทำให้เป็นของเรา สืบเนื่องมาจากอหังการ เมื่อมีการทำให้เป็นเราขึ้นมา ก็มีการทำให้เป็นของเราขึ้นมา เพราะเมื่อมีเราก็ต้องมีของเรา ดั่งนี้ก็เป็นกรรมภพ ซึ่งมีอยู่ในปัจจุบัน การทำให้เป็นเรา สร้างเรา สร้างของเราขึ้นมา เรียกควบกันว่าอหังการมมังการ
อะไรเป็นของเรา ของเราที่เป็นของเรา ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสเอาไว้ว่า กัมมัสโกมหิ เรามีกรรมเป็นของของเรา กรรมทายาโท เรามีกรรมเป็นทายาท คือต้องรับผลของกรรม เป็นต้น ก็คือกรรมนี้เองเป็นของเรา การสร้างให้เป็นเราขึ้นมาเป็นมโนกรรมอันละเอียด และเมื่อเป็นมโนกรรมคือเป็นกรรมขึ้นมา กรรมอันนี้เองก็เป็นของเรา ซึ่งจะต่ออุปปัติ คือเข้าถึงชาติต่อไป และนอกจากนี้ เมื่อสร้างให้เป็นเราขึ้นมา เราก็ไปประกอบกรรมต่าง ๆ ทางกายทางวาจาทางใจ ดีบ้างชั่วบ้าง กรรมที่ประกอบต่าง ๆ เหล่านี้ก็เป็นของ ๆ เราอีกนั่นแหละ ซึ่งจะต้องไปเสวยผลต่อไป จึงได้มีพระพุทธภาษิตตรัสเอาไว้ว่า ยัง กัมมัง กริสสามิ กัลยาณัง วา ปาปกัง วา เราจักทำกรรมอันใดไว้ ดีหรือชั่ว ตัสสะทายาโท ภวิสสามิ เราจะต้องเป็นทายาทรับผลของกรรมนั้น ดั่งนี้
และเมื่อสร้างเราขึ้นมา และเราที่สร้างขึ้นมานี้ก็ท่องเที่ยวไปในกามดังกล่าว ติดอยู่ในกามดังกล่าว ก็ชื่อว่าเป็นกามภพ แต่ว่าพึงเข้าใจว่าที่กล่าวว่ากามคุณ กามก็มีคุณเป็นที่ตั้งของปีติโสมนัสดังกล่าวนั้น หาใช่มีคุณอย่างเดียวไม่ ยังมีโทษ อันเรียกว่า กามาทีนพ โทษของกาม ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ตรัสแสดงชี้แจง อาทีนพ คือโทษของกามไว้เป็นอันมาก และตรัสไว้ด้วยว่า กามนี้ให้เกิดสุขโสมนัส อันเป็นส่วนคุณนั้นน้อย แต่ว่ามี อาทีนพ คือโทษนั้นมาก
พิจารณาดูก็จะเห็นได้ว่า ทุก ๆ คนนั้นต้องมีทั้งราคะ มีทั้งโทสะ มีทั้งโมหะ ถ้าว่ากามมีคุณโดยส่วนเดียวแล้ว ก็มีแต่ที่จะยินดีเพลิดเพลิน สนุกสนานกันไปโดยส่วนเดียว แต่หาเป็นเช่นนั้นไม่ บางทีก็สมปรารถนาได้ตามต้องการ บางทีก็ไม่สมปรารถนา และมีเหตุขัดข้องต่าง ๆ จึงต้องมีโทสะ ความโกรธแค้นขัดเคือง ในเมื่อไม่ได้ตามที่ต้องการ ตามที่รักใคร่ปรารถนา แต่ไปได้ในสิ่งที่ไม่ต้องการ ไม่รักใคร่ ไม่ปรารถนา และยังมีความหลงติดอยู่
ทั้งข้อที่ว่ามีสุขโสมนัสน้อยแต่ว่ามีทุกข์โทษมากนั้น พิจารณาดูแล้วก็จะพึงเห็นได้ ว่าความสุขโสมนัสที่ได้จากกามนั้น เป็นการได้อย่างผิวเผิน ยกตัวอย่างที่เห็นง่าย เช่นว่ารสที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจ เช่นรสอาหาร อันทำให้บุคคลติดในรสอาหาร ต้องการอาหารที่มีรสที่ต้องการ แต่ว่าความอร่อยที่ได้จากรสอาหารนั้น ก็อร่อยอยู่แค่ลิ้น เมื่อนำเข้าปาก ลิ้นก็ได้ทราบรส รสที่อร่อยที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจ แต่ครั้นล่วงลำคอลงไปแล้ว รสที่อร่อยนั้นก็หมดไปทันที เรียกว่าอร่อยอยู่แค่ลิ้น รสที่ว่าอร่อยนักหนาอยู่แค่ลิ้นเท่านั้น หาได้อร่อยลงไปลึกซึ้งไม่
พิจารณาดูให้ดีแล้วก็จะเห็นว่า แม้รูปที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจที่เห็นทางตา ก็แค่ตา เสียงที่ว่าไพเราะเพราะพริ้งก็แค่หู กลิ่นก็เช่นเดียวกัน สิ่งที่ถูกต้องทางกายก็เช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น ความสุขโสมนัสทั้งปวงที่ได้จากกามคุณนั้นจึงได้ในขั้นผิวเผิน เช่นได้รสอร่อยแค่ลิ้น แล้วก็หายไปหมดไป ก็ได้เท่านั้น
แต่ว่าทุกข์โทษที่ตามมานั้นมีมาก ยิ่งมีความหลงติดอยู่ในส่วนที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจ ก็ต้องมีทุกข์มีโทษมาก บุคคลที่ต้องประกอบอกุศลกรรมทั้งหลาย ต้องละเมิดศีลทั้งหลาย ก็เพราะเหตุที่หลงติดอยู่ในรสของกาม หรือในสุขโสมนัสของกามในขั้นผิวเผิน ดังกล่าวมานี้ทั้งนั้น ทำให้ต้องแสวงหาต่าง ๆ แสวงหา รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ต่าง ๆ อันปรากฏเป็นทรัพย์สินเงินทองอะไรต่าง ๆ เป็นสิ่งต่าง ๆ เป็นบุคคลต่าง ๆ เพราะหลงอยู่ในสุขโสมนัสเพียงชั่วแล่น แค่ผิวเผิน และเพราะเหตุที่สุขโสมนัสนั้นตั้งอยู่เพียงแค่ผิวเผิน ชั่วแล่น จึงต้องบริโภคสิ่งที่เรียกว่ากามกันบ่อย ๆ
เพราะเมื่อบริโภคแล้ว สุขโสมนัสนั้นชั่วแล่น ก็หายไป ก็ต้องบริโภคกันใหม่แล้วก็หายไป ต้องบริโภคกันใหม่ ดั่งนี้ ไม่สิ้นสุด ทั้งยังหาอาจที่จะได้สมประสงค์ไปทุกสิ่งทุกประการไม่ ทั้งจะต้องมีความพลัดพราก
สิ่งที่เป็นผู้บริโภค คือตาหูจมูกลิ้นกายของตนเอง ก็ต้องเสื่อมต้องชำรุดทรุดโทรม เพราะอันที่จริงนั้นสิ่งที่เป็นผู้บริโภคนั้นก็คือ ตานี้เอง หูนี้เอง จมูกนี้เอง ลิ้นนี้เอง กายนี้เอง เช่นว่าอร่อยก็แค่ลิ้น ลิ้นนั้นเองอร่อย แต่เพราะใจไปหลง หลงรับเอาความทราบในรส ของรูป ของเสียง ของกลิ่น ของรส ของโผฏฐัพพะ มาเป็นของจิตใจ จิตใจหลงติดรับเอา ไปอร่อยอยู่ในใจ ที่จริงอร่อยอยู่แค่ลิ้น ไม่ได้อร่อยที่จิตใจ แต่ว่าจิตใจไปหลงยึดเอาความอร่อยของลิ้นมาเป็นอร่อยที่จิตใจ จึงทำให้จิตใจนี้เพิ่มตัวกามที่เป็นกิเลส ความใคร่ความปรารถนาต้องการมากขึ้น ต้องการพัสดุกาม ต้องการกามคุณต่าง ๆ มากขึ้น
ท่านจึงว่าความอิ่มด้วยตัณหานั้นไม่มี หรือความอิ่มด้วยกามนั้นไม่มี เพราะว่าจิตใจนี้เองไม่มีอิ่ม ไม่มีพอ
ในส่วนของ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เองนั้นมีอิ่มมีพอ เช่นว่าตาต้องการให้ดูรูปที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจ ตาก็ดูอยู่ได้เท่าที่สามารถจะดูได้ นานเกินไปตาก็ไม่สามารถจะดูได้ แต่ใจก็ยังไม่อิ่มไม่พอ ขืนให้ดูอยู่นั่นแหละ จนถึงกับตาเองก็ต้องบอบช้ำลำบาก หูก็เหมือนกัน ฟังเสียงที่น่าไพเราะ น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจทั้งหลาย หูเองฟังนาน ๆ ไป ก็ไม่ไหวเหมือนกัน จมูกต้องการกลิ่นที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจ ใช้อยู่บ่อย ๆ ก็ไม่ไหวเหมือนกัน ลิ้นก็เหมือนกัน อร่อยลิ้นแล้วก็ให้อร่อยอยู่เรื่อย ๆ ไป ลิ้นก็ทนไม่ไหวเหมือนกัน ท้องก็ทนไม่ไหว กายก็เหมือนกัน ถูกต้องสิ่งที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจ เกินไปก็ไม่ไหวเหมือนกัน แปลว่าตัวของ ตา หู จมูก ลิ้น กาย นี้เองมีพอ อย่างอาหารที่บริโภคแล้วก็อิ่ม มีอิ่ม เรียกว่าตา ๆ ก็มีอิ่ม หูก็มีอิ่ม จมูกก็มีอิ่ม ลิ้นก็มีอิ่ม กายก็มีอิ่ม คือมีพอ แต่ใจนี่เองที่เป็นตัวไม่พอ ไม่มีอิ่ม ไม่มีเต็ม
คนจึงต้องประพฤติทุจริตต่าง ๆ เพราะกามนี่แหละ ผิดศีลกันได้ต่าง ๆ เพราะกามนี่แหละ ต้องสร้างบาปสร้างอกุศลกรรมกันต่าง ๆ ฆ่าฟันอะไรกันเป็นต้น เบียดเบียนกันต่าง ๆ ก็เพราะกามนี่แหละ วุ่นวายกันไปก็เพราะกามนี่แหละ ก็เพราะใจนี่แหละ ที่เป็นตัวกรรมภพ สร้างตัวเราขึ้นมา แล้วตัวเรานี้เองก็ท่องเที่ยวไปในกาม แล้วก็ใจนี้เอง ไม่อิ่ม ไม่พอในกาม
เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่ามีคุณน้อย ให้สุขโสมนัสน้อย แต่มีโทษมาก จึงได้ทรงแสดง กามาทีนพ โทษของกาม แต่ก็ยากที่บุคคลจะเข้าใจ จะมองเห็นได้ เพราะว่ามีความติดอยู่มาก มีโมหะคือความหลงอยู่มาก นี่แหละเป็นกามภพ ซึ่งเมื่อเป็นกามภพแล้ว ก็เป็นอุบัติภพคือให้เข้าถึง ให้เข้าถึงชาติที่เป็นกามาพจรทั้งหลาย ตามกรรมที่กระทำไว้
เมื่อเป็นบาปกรรมก็เข้าถึงชาติของสัตว์เดรัจฉาน ชาติของสัตว์นรก ของเปรต ของอสุรกาย ถ้าเป็นกรรมดีก็เข้าถึงชาติของมนุษย์ของเทพที่เป็นชั้นกามาพจร ยังท่องเที่ยวอยู่ในกามด้วยกัน แต่ว่าเป็นฝ่ายกุศล ถ้าฝ่ายอกุศลก็ไปในทางทุคติ ถ้าฝ่ายดีก็ไปสุคติ เพราะตัวกามภพในปัจจุบันคือใจของเรานี่แหละ ที่เป็นตัวกาม ใจของเราที่สร้างตัวเราขึ้นมา แล้วตัวเราขึ้นมาก็ท่องเที่ยวอยู่ในกาม ซึ่งเป็นตัวมโนกรรม ซึ่งเป็นของเรา แล้วยังไปสร้างกรรมต่าง ๆ ทางกาย ทางวาจา ทางใจ ถ้าดีก็ดีไป ถ้าชั่วก็ชั่วไป ตามแต่ดีหรือชั่ว ไปสุคติ ไปทุคติ คือเข้าถึงชาติที่เป็นสุคติ หรือเข้าถึงชาติที่เป็นทุคติ ตามกรรมที่ดีหรือชั่วที่ได้กระทำเอาไว้ อันเป็นชั้นกามาพจรด้วยกัน นี่แหละคือกามภพ อุปบัติภพ ที่เป็นชั้นกาม
คราวนี้ผู้ที่ได้เห็นโทษของกามดังกล่าวนี้ จึงได้บำเพ็ญเนกขัมมะคือออกจากกาม ตั้งต้นแต่การปฏิบัติในศีล ปฏิบัติในสมาธิ จิตสงบจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลาย ด้วยการที่ตั้งจิตไว้ในรูปกรรมฐาน กรรมฐานที่เป็นมีรูปเป็นอารมณ์ ก็เป็นจิตลึกที่ ๆ ละเอียดขึ้นไปอีกชั้นหนึ่งและเป็นภพ คือเป็นตัวเราที่ท่องเที่ยวไปในรูปสมาธิ ในรูปกรรมฐานเป็น รูปาพจร ก็เป็นกรรมภพขึ้นในจิตใจ ก็เป็นอุปัติภพให้เข้าถึงชาติที่เป็นรูปพรหม
และเมื่อได้ปฏิบัติในศีลในสมาธิที่สูงขึ้นไปกว่ารูปกรรมฐาน ปฏิบัติในอรูปกรรมฐาน ไม่มีรูป ภพของจิตก็เลื่อนขึ้นอีกชั้นหนึ่งเป็นอรูปภพ ก็เป็นกรรมภพ เป็นอุปปัติภพ ที่เป็นอรูป ที่ท่องเที่ยวไปใน อรูป ก็ให้เข้าถึงชาติที่เป็นอรูปพรหม แต่ว่าก็ยังเป็นภพอยู่นั้นเอง คือยังมีตัวเรามีของเรา มีอหังการมมังการ ที่เป็นกามภพนั้นก็มีอหังการมมังการ ที่ท่องเที่ยวไปในกาม ทั้งที่เป็นฝ่ายสุคติ ทั้งที่เป็นฝ่ายทุคติ ที่เป็นรูปภพนั้นก็มีอหังการมมังการ ที่ท่องเที่ยวไปในรูปสมาธิ รูปสมาบัติ ที่เป็นอรูปภพก็มีอหังการมมังการที่ท่องเที่ยวไปในอรูปกรรมฐาน อรูปสมาบัติ ก็แปลว่ายังมีตัวเราของเรา เพราะแม้ทั้งหมดนี้ก็ยังเป็นกรรม บาปหรือบุญที่กระทำในขั้นกามาพจรก็เป็นกรรม รูปสมาธิรูปสมาบัติก็เป็นกรรม อรูปสมาธิอรูปสมาบัติก็ยังเป็นกรรม จึงยังเป็นกรรมภพเป็นอุปปัติภพ เข้าถึงชาติคือความเกิด ยังไม่พ้นชาติคือความเกิด เพราะยังมีภพดังกล่าว
ภพและชาติดังกล่าวมานี้ อาจพิจารณาเห็นได้ในปัจจุบัน ว่ามีภพมีชาติในปัจจุบันทันทีต่อเนื่องกันไป เมื่อสร้างตัวเราของเราขึ้น อันเป็นมโนกรรม เป็นกรรมภพ ตัวเรานี้ก็เข้าถึงชาติคือความเกิด เกิดเป็นนั่นเป็นนี่ขึ้นมาทันทีตามที่สร้าง เป็นต้นว่าเป็นมนุษย์ เป็นหญิง เป็นชาย เป็นคนดี เป็นคนชั่ว เมื่อตัวเราที่เราสร้างขึ้น เมื่อตัวเราที่ ๆ สร้างขึ้นเป็นอหังการ นี่เป็นกรรมภพ ก็เป็นอุปปัติภพเข้าถึง คือ เป็นตัวเราขึ้นทันที เกิดเป็นตัวเราขึ้นทันที คือสร้างตัวเรา ก็เกิดเป็นตัวเราขึ้นทันที
เปรียบเหมือนอย่างว่าเอาทัพพะสัมภาระต่าง ๆ มาสร้างบ้าน นี่เป็นการที่เรียกว่าสร้างบ้าน เปรียบเหมือนอย่างว่าเป็นกรรมภพ ก็เป็นอุปปัติภพ คือเกิดเป็นบ้านขึ้น เมื่อสร้างเสร็จ เกิดนั้นคือชาติ เมื่อสร้างบ้านก็เกิดเป็นบ้านขึ้น เมื่อสร้างโต๊ะเก้าอี้ ก็เกิดเป็นโต๊ะเก้าอี้ขึ้น ทีแรกเมื่อสร้างเราก็เกิดเป็นเราขึ้น สร้างนั่นเป็นตัวภพ เกิดก็เป็นชาติ และเมื่อตัวเรานี้สร้างกุศลกรรม ก็เกิดเป็นคนดีขึ้นทันที สร้างอกุศลกรรม ก็เกิดเป็นคนชั่วขึ้นทันที เพราะฉะนั้น ในปัจจุบันนี้ภพกับชาติก็คู่กันอยู่ดั่งนี้ตลอดเวลา ความเป็นคนดี ความเป็นคนชั่วนั้น มีทันทีในเมื่อสร้างกรรมดีกรรมชั่วขึ้น คือเมื่อตัวเรานี้สร้างกรรมดีกรรมชั่วขึ้น คราวนี้ถ้าไม่มีการสร้างกรรมดีกรรมชั่วขึ้น ที่จะเกิดเป็นคนดีคนชั่วก็ไม่มี และหากว่าถ้าไม่มีตัวเรา ก็ไม่มีใครจะเป็นผู้สร้างกรรมดีกรรมชั่ว จึงต้องมีตัวเรา ตัวเราจึงมีขึ้นได้ก็ต้องมีการสร้างขึ้นมา ด้วยอุปาทาน เป็นอหังการขึ้นมา ก็เป็นมมังการ ดังที่กล่าวมาแล้ว ก็เกิดเป็นตัวเราขึ้นมา และจะเห็นว่าชาติภพนั้น หรือภพชาตินั้นมีอยู่ในปัจจุบันนี้ทุกขณะ เป็นสัจจะคือความจริง
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป