แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุก ๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
จะแสดงสัมมาทิฏฐิความเห็นชอบ ตามพระเถราธิบายของท่านพระสารีบุตร ซึ่งได้แสดงอธิบายมาโดยลำดับ มาถึงข้อว่า สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบคือ รู้จักอุปาทาน รู้จักเหตุเกิดอุปาทาน รู้จักความดับอุปาทาน รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับอุปาทาน และได้มีเถราธิบายในข้อรู้จักอุปาทาน ว่าอุปาทานมี ๔ คือ กามุปาทาน ยึดถือหรือถือมั่นกาม ทิฏฐุปาทาน ยึดถือหรือถือมั่นทิฏฐิ สีลัพพตุปาทาน ยึดหรือถือมั่นศีลและวัตร และข้อ ๔ อัตตวาทุปาทาน ถือมั่นหรือยึดถือวาทะว่าตน ในที่นี้ได้แสดงอธิบายมาแล้ว ๓ ข้อข้างต้น จะอธิบายข้อที่ ๔ อัตตวาทุปาทาน ยึดถือหรือถือมั่นวาทะว่าตน
อันคำว่า อัตตา ที่แปลกันว่าตน ทางพุทธศาสนาได้มีแสดงไว้เป็น ๒ ระดับ คือ ระดับแรก พระพุทธเจ้าตรัสสอนให้รักษาตน คุ้มครองตน ฝึกตน และตรัสสอนว่า ตนเป็น นาถะ คือที่พึ่งของตน ดั่งนี้ อีกระดับหนึ่งตรัสสอนว่า มิใช่ตน (เริ่ม)...ดังเช่นที่ตรัสสอนว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ รวมเรียกว่าขันธ์ ๕ เป็นอนัตตา มิใช่อัตตาตัวตน หรือได้ตรัสสอนยกเอาอายตนะภายในภายนอก ภายในก็คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และ มนะ คือใจ ภายนอกก็คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะสิ่งที่กายถูกต้อง และธรรมะคือเรื่องราว เป็น อนัตตา มิใช่อัตตาตัวตน และได้ตรัสสอนไว้ว่า สังขารทั้งปวงเป็นอนิจจะคือไม่เที่ยง สังขารทั้งปวงเป็นทุกขะ คือเป็นทุกข์ ทนอยู่ไม่ได้ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา คือมิใช่อัตตาตัวตน และในข้อว่าธรรมทั้งปวงนี้แสดงอธิบายว่า ทั้ง สังขตะธรรม ธรรมะที่ปัจจัยปรุงแต่งอันเรียกว่า สังขาร ทั้ง อสังขตธรรม ธรรมะที่ปัจจัยมิได้ปรุงแต่ง อันเรียกว่า วิสังขาร ทั้งหมดเป็นอนัตตา มิใช่อัตตาตัวตน
สมมติ บัญญัติ
สำหรับระดับที่ตรัสสอนให้ฝึกตน คุ้มครองตน ให้มีตนเป็นที่พึงของตน เรียกว่าตรัสสอนโดยสมมติสัจจะ ความจริงโดยสมมติ คือโดยที่มีมติร่วมกัน เรียกขึ้น บัญญัติขึ้น แต่งตั้งขึ้น และก็รับรองเรียกกัน สำหรับการบัญญัติขึ้น แต่งตั้งขึ้นก็เรียกว่าบัญญัติ และข้อที่มีมติคือความรับรู้ร่วมกัน เรียกว่าสมมติ บางทีก็เรียกควบคู่กันว่าสมมติบัญญัติ สมมติก็คือมีมติรับรู้ร่วมกัน บัญญัติก็คือแต่งตั้งขึ้น
เหมือนดังเช่นสิ่งที่เกิดขึ้นบนแผ่นดิน เจริญเติบโตขึ้น มีต้น มีกิ่ง มีใบ มีดอก มีผล คนก็บัญญัติคือแต่งตั้งเรียกกันว่าต้นไม้ เพราะฉะนั้น สิ่งนี้ก็เป็นต้นไม้ขึ้นมา และคำว่าต้นไม้นี่เองก็เป็นสมมติ ก็คือมีมติรับรู้ร่วมกัน เรียกร่วมกันว่าต้นไม้ เพราะฉะนั้นคำว่าต้นไม้นั้นจึงเป็นสมมติบัญญัติ แต่งตั้งขึ้นว่าให้สิ่งนี้เป็นต้นไม้ และสิ่งนี้ก็เป็นต้นไม้ขึ้นมา รับรองร่วมกัน เรียกร่วมกัน สิ่งทั้งหลายในโลกนี้ที่บังเกิดมีขึ้นโดยธรรมชาติธรรมดา สิ่งเหล่านั้นเองก็เป็นธรรมชาติธรรมดา ดั่งต้นไม้ที่บังเกิดขึ้น ก็บังเกิดขึ้นโดยธรรมชาติโดยธรรมดา แต่บุคคลนี้เองมาแต่งตั้งขึ้น ให้สิ่งนั้นเป็นนั่น ให้สิ่งนี้เป็นนี่ และก็รับรองร่วมกัน เรียกร่วมกัน และแม้มนุษย์และเดรัจฉานทั้งหลาย ที่เรียกกันว่ามนุษย์ คน หรือเดรัจฉาน และแม้มนุษย์เองก็เรียกแยกออกไปเป็นหญิงเป็นชาย และแต่ละคนก็มีชื่อนั้นมีชื่อนี้ สัตว์เดรัจฉานต่าง ๆ ก็เป็นช้างเป็นม้าเป็นต้น ก็แต่งตั้งกันขึ้นมาเรียกกัน แล้วก็รับรองเรียกร่วมกัน เหมือนกัน จึงเป็นสมมติบัญญัติ ก็ต้องมีสมมติบัญญัติดั่งนี้ จึงจะเรียกพูดกันได้ เข้าใจกันได้ และก็เรียกร่วมกันเหมือนกัน ด้วยถ้อยคำที่เป็นภาษาเดียวกัน สิ่งที่เรียกว่าต้นไม้ภูเขา เมื่อพูดว่าต้นไม้ภูเขาก็เข้าใจกัน เพราะก็รับรองกันว่าสิ่งนั้นสิ่งนี้เป็นต้นไม้เป็นภูเขา ถ้าใครจะไปเรียกให้ผิดแผกออกไปเป็นอย่างอื่น เรียกภูเขาว่าต้นไม้ เรียกต้นไม้ว่าภูเขา ดั่งนี้แล้ว ก็เรียกว่าผิดสมมติบัญญัติ แล้วก็ฟังไม่เข้าใจกัน ไขว้เขวกัน แล้วก็ทำให้คนที่เรียกไขว้เขวไปนั้นเป็นที่เข้าใจว่า เป็นคนที่จะต้องมีสติวิปลาสเป็นต้น สมมติสัจจะ ความจริงโดยสมมติ
เพราะฉะนั้น เมื่อพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมะสั่งสอน ก็ต้องใช้ภาษาที่พูดเรียกสิ่งนั้น เรียกสิ่งนี้ ก็เป็นไปตามสมมติบัญญัติโลก และเมื่อโลกมีสมมติบัญญัติว่าอย่างนี้ เรียกอย่างนี้ ทรงแสดงธรรมะก็เรียกอย่างนั้น เรียกอย่างนี้ และก็นับว่าเป็นสัจจะคือความจริงอย่างหนึ่ง อันเรียกว่า สมมติสัจจะ ความจริงโดยสมมติ ๔ หรือจะเรียก บัญญัติสัจจะ ความจริงโดยบัญญัติก็ได้ และก็ตรัสสั่งสอนให้ทุก ๆ คนปฏิบัติชอบตามควรแก่สมมติบัญญัติโลก ทรงแสดงธรรมะสั่งสอนข้อที่พึงปฏิบัติ ให้เหมาะให้ควรแก่สมมติบัญญัติ ที่เป็นสมมติสัจจะต่าง ๆ นี้ วินัยที่ทรงบัญญัติไว้ และธรรมะในขั้นศีลต่าง ๆ ก็เป็นไปตามควรแก่สมมติบัญญัติ
ปรมัตถ์สัจจะ
แต่แม้เช่นนั้นก็ตรัสสอนให้รู้จักสัจจะอีกระดับหนึ่งคือ ปรมัตถ์สัจจะ อันได้แก่ความจริงที่มีเนื้อความอันสุขุมละเอียดเป็นอย่างยิ่ง คือเป็นสัจจะคือความจริงที่เป็นอย่างยิ่งที่จริงแท้ มิใช่เป็นไปตามสมมติบัญญัติ ก็ดังที่ตรัสสอนให้พิจารณาว่า สังขารทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนิจจะไม่เที่ยง สังขารทั้งหลายทั้งปวงเป็นทุกข์ ทนอยู่ไม่ได้ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป และทั้งสังขารคือสิ่งผสมปรุงแต่ง ทั้งวิสังขารคือสิ่งที่ไม่ผสมปรุงแต่ง อันได้แก่นิพพาน และแม้ธรรมะอันเป็นส่วนที่ไม่ผสมปรุงแต่งอื่น ๆ คือทั้งสังขารทั้งวิสังขารเป็นอนัตตา มิใช่อัตตาตัวตน ให้กำหนดรู้ดั่งนี้ เพราะฉะนั้น วาทะคือถ้อยคำที่พูดกันเป็นภาษาดังที่กล่าวมาข้างต้น ก็ล้วนเป็นสมมติเป็นบัญญัติ สำหรับที่จะเรียกกัน ถ้าหากว่าไปยึดมั่นโดยส่วนเดียว โดยที่ไม่ทำความรู้จักว่านั่นเป็นสมมติเป็นบัญญัติ ก็กลายเป็นอุปาทานคือความยึดมั่น หรือความยึดถือ
อัตตวาทะ
และบรรดาสิ่งที่เป็นสมมติบัญญัติ เป็นวาทะที่เรียกร้องกัน ที่เป็นข้อสำคัญในส่วนที่เป็นธรรมปฏิบัติที่ตรัสยกขึ้นมาแสดงก็คืออัตตา ๕ ตน ก็คือตัวเราของเรา ซึ่งเมื่อมีตัวเราของเรา ก็มีตัวเขาของเขา แม้คำว่า อัตตา ตน หรือตัวเราของเรา ตัวเขาของเขาเป็นต้น เหล่านี้ที่เรียกกันกล่าวกัน นี่แหละคือ อัตตวาทะ วาทะว่าตน อันหมายรวมถึงว่า วาทะว่าตัวเราของเรา และเมื่อตัวเราของเรามี ก็ต้องมีตัวเขาของเขา
เพราะฉะนั้น คำว่า อัตตวาทะ วาทะว่าตน อัตตา จึงหมายถึงสมมติบัญญัติดังที่กล่าวมานั้น เป็นถ้อยคำที่เรียกกัน และเมื่อเรียกกันก็เข้าใจกัน รู้จักกัน และเมื่อเรียกกันรู้จักกันเข้าใจกัน เมื่อไม่พิจารณาด้วยปัญญาให้รู้จัก ก็ย่อมจะมีความถือมั่นหรือความยึดถือ ความถือมั่นหรือความยึดถือนี้จึงเรียกว่า อัตตวาทุปาทาน ความถือมั่นหรือความยึดถือวาทะว่าตน ก็คือยึดถือ หรือถือมั่นสมมติบัญญัติว่าตน เป็นเหตุให้ถือเราถือเขา ถือพวกถือพ้องเป็นต้น สืบต่อไป และความยึดถือวาทะว่าตน ตัวเราของเราดังกล่าวมานี้ ซึ่งสืบมาจากสมมติบัญญัติดังกล่าว เมื่อไม่พิจารณาด้วยปัญญาก็ทำให้มีความถือมั่น หรือยึดถือในสิ่งอันเป็นที่ตั้งแห่งสมมติบัญญัตินั้น ๆ ว่าเป็นจริงมีจริง
ดังเช่นเมื่อมีความยึดถือหรือถือมั่นในวาทะว่าตน ในสมมติบัญญัติว่าตน ก็ทำให้หลงยึดถือในสิ่งอันเป็นที่ตั้งของสมมติบัญญัตินั้น ว่าเป็นตนจริง ๆ ก็เช่นเดียวกับสมมติบัญญัติว่าต้นไม้ ก็เรียกว่าเป็น รุกขวาทะ วาทะว่าต้นไม้ ซึ่งเป็นสมมติบัญญัติ เมื่อไม่พิจารณาก็ทำให้ถือมั่นหรือยึดถือ ในที่ตั้งของสมมติบัญญัติว่าต้นไม้นั้น ว่าเป็นต้นไม้ขึ้นจริง ๆ อันที่ตั้งแห่งสมมติบัญญัติว่าต้นไม้นั้น ก็ได้แก่สิ่งที่เกิดขึ้นจากแผ่นดินเป็น มีราก มีต้น มีกิ่ง มีใบ มีดอก มีผล สิ่งที่บังเกิดขึ้นจากแผ่นดินที่มีรูปร่างลักษณะดั่งนี้แหละ เป็นที่ตั้งแห่งสมมติบัญญัติว่าต้นไม้ แห่งวาทะที่กล่าวกันว่าต้นไม้ และเมื่อเรียกเพลิน ๆ ไป ก็ไปหลงยึดถือเอาที่ตั้งแห่งสมมติบัญญัติว่าต้นไม้นั้น ว่าเป็นตัวต้นไม้ขึ้นจริง ๆ
หรือยกตัวอย่างอีกอย่างหนึ่ง สมมติบัญญัติหรือวาทะว่าบ้านเรือน ก็เป็น ฆระวาทะ ฆระก็แปลว่าเรือน วาทะก็ถ้อยคำ ถ้อยคำที่เรียกว่าเรือน ก็เอาทัพพะสัมภาระต่าง ๆ เช่นไม้เป็นต้น มาประกอบเข้า มีเสา มีพื้น มีฝา มีหลังคา และมีสิ่งประกอบต่าง ๆ เป็นเรือน ก็สมมติบัญญัติขึ้นว่าสิ่งนี้เป็นเรือน และเมื่อเรียกกันเพลิน ๆ ไป ก็ไปหลงยึดถือเอาที่ตั้งของสมมติบัญญัติว่าเรือนนั้น ก็เป็นตัวบ้านตัวเรือนขึ้นจริง ๆ
สมมติบัญญัติอัตตภาพ
และฉันใดก็ดี อัตตภาพอันนี้ อันประกอบด้วยกายและใจ ซึ่งสมเด็จพระบรมศาสดาได้ตรัสเรียกว่า นามรูป และเมื่อแยกออกไปอีก ก็ตรัสแยกออกไปเป็นขันธ์ ๕ คือแยกออกไปเป็น ๕ กอง อันเรียกว่า ขันธ์ ๕ ย่อลงมาก็เป็นนามรูป รวมกันเข้าก็เป็นที่ตั้งของสมมติบัญญัติว่าอัตตา หรืออัตภาพ และก็มีสมมติบัญญัติเรียกกันต่าง ๆ ออกไปว่าเป็นสัตว์บุคคล เป็นชายเป็นหญิง แล้วก็ยังมีสมมติบัญญัติละเอียดออกไปอีกเป็นชื่อต่าง ๆ สำหรับที่จะได้กำหนดหมายเรียกร้องกัน นามรูปหรือขันธ์ ๕ ก็เป็นที่ตั้งของสมมติบัญญัติว่าอัตภาพ หรืออัตตา และเมื่อเรียกกันเพลิน ๆ ไปก็หลงยึดถือ ว่าเป็นอัตตาขึ้นจริง ๆ เป็นตัวเราเป็นของเราขึ้นจริง ๆ ก็เป็นตัวเราขึ้นก่อน และเมื่อมีตัวเราก็ต้องมีของเรา และเมื่อมีตัวเราของเรา ก็ต้องมีตัวเขาของเขา ก็ต้องแยกกันออกไปดั่งนี้ เพราะฉะนั้น ความยึดถืออันเรียกว่าอุปาทาน หรือความถือมั่นอันเรียกว่าอุปาทานนี้ จึงยึดถือในที่ตั้งของสมมติบัญญัตินี่แหละ และโดยเฉพาะก็ที่ตั้งแห่งสมมติบัญญัติว่าอัตตา หรืออัตภาพ กายใจ นามรูป หรือขันธ์ ๕ อันนี้ ว่าเป็นตัวเราของเราขึ้นจริง ๆ
อัตตานุทิฏฐิ สักกายทิฏฐิ อัสมิมานะทิฏฐิ
อุปาทานข้อนี้สำคัญมาก ย่อมเป็นมูลของความยึดถืออื่นต่าง ๆ อีกเป็นอันมาก และในทางพระพุทธศาสนา ก็ได้มีคำเรียกความยึดถือดังกล่าวนี้ในข้อนี้ไว้หลายชื่อ เช่นเรียกว่า อัตตานุทิฏฐิ ความตามเห็นว่าอัตตาตัวตน ความตามเห็นว่าตัวเราของเรา เรียกว่า สักกายทิฏฐิ ความเห็นว่ากายของตน เรียกว่า อัสมิมานะทิฏฐิ มานะคือความสำคัญหมาย ทิฏฐิคือความเห็น ว่า อัสมิ เรามีเราเป็น หรือเรียกว่า อัสมิมานะ ความสำคัญหมายว่าเรามีเราเป็น หรือเรียกว่ามานะเฉย ๆ ซึ่งมานะที่เป็นต้นเดิมก็คือ อัสมิมานะความสำคัญหมายว่าเรามีเราเป็น เมื่อมีอัสมิมานะขึ้นมาเป็นต้นเดิมดั่งนี้ ก็มีมานะอื่น ๆ ตามมาอีกเป็นอันมาก
เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงได้พยายามที่จะได้ทรงชี้แจงให้มากำหนดพิจารณา ถึงที่ตั้งของสมมติบัญญัติต่าง ๆ หรือว่าของวาทะต่าง ๆ ที่เกิดขั้นจากสมมติบัญญัติ ให้มาพิจารณาบรรดาที่ตั้งเหล่านั้น ว่าเป็นสังขารคือเป็นสิ่งผสมปรุงแต่งทั้งนั้น เมื่อผสมปรุงแต่งขึ้นแล้ว จึงมีสมมติบัญญัติขึ้นมา เหมือนดังที่ได้มีพระพุทธภาษิตตรัสไว้ แปลความว่า เหมือนอย่างเพราะ อังคะสัมภาระ คือ ส่วนประกอบต่าง ๆ ที่มาประกอบเข้า เสียงเรียกกันว่ารถจึงได้มีขึ้น เมื่อขันธ์ทั้งหลายมาประกอบกันเข้า สมมติว่าสัตว์บุคคลตัวตนเราเขาจึงได้มีขึ้น เพราะฉะนั้น ผู้ปฏิบัติธรรมะที่จะให้รู้ถึงปรมัตถสัจจะคือความจริงโดยปรมัตถ์ คือความจริงที่เป็นความจริงอย่างยิ่ง จึงต้องมาหัดปฏิบัติพิจารณาดู บรรดาที่ตั้งของสมมติบัญญัติทั้งหลาย
(เริ่ม)…ดังพระพุทธภาษิตที่ตรัสสอนไว้นี้ ที่ทรงยกเอารถขึ้นมา เมื่อเอาส่วนประกอบต่าง ๆ เช่นว่าล้อ และทุก ๆ ส่วนมาประกอบกันเข้า เสียงเรียกกันว่ารถจึงได้มีขึ้น แต่อันที่จริงรถจริง ๆ นั้นไม่มี คำว่ารถนั้นเป็นสมมติบัญญัติเรียกขึ้นเท่านั้น ในเมื่อถอดแยกส่วนประกอบต่าง ๆ นั้นออกไป แยกเอาล้อออกไป แยกเอาตัวรถต่าง ๆ ออกไป เสียงเรียกว่ารถก็หายไป รถจริง ๆ จึงไม่มี รถเป็นสมมติบัญญัติเท่านั้น แม้ต้นไม้บ้านเรือนดังที่กล่าวมาข้างต้นก็เช่นเดียวกัน ในเมื่อเอาทัพพะสัมภาระต่าง ๆ มาปรุงกันเข้าก็เป็นเรือน แต่เมื่อรื้อเรือนนั้นออก รื้อหลังคา รื้อเสา รื้อฝา รื้อพื้น ถอนเสาออก เสียงเรียกว่าเรือนก็หายไป เรือนจริง ๆ จึงไม่มี เมื่อทุกอย่างมาประกอบกันเข้า สมมติบัญญัติเสียงเรียกว่าเรือนจึงได้มีขึ้น ต้นไม้ก็เหมือนกัน เมื่อตัดโค่น ตัดกิ่งก้าน ลำต้น ถอนรากออกไปหมดแล้ว เสียงว่าต้นไม้นั้นก็หายไป ต้นไม้จริง ๆ จึงไม่มี แม้อัตวาทะหรือสมมติบัญญัติถ้อยคำที่เรียกกันว่าอัตตาตัวตน คืออัตภาพนี้ก็เช่นเดียวกัน เมื่อขันธ์ทั้งหลายมาประกอบกันเข้า เสียงเรียกว่าอัตตาตัวตนก็มีขึ้น เมื่อขันธ์แตกสลาย เสียงเรียกว่าอัตตาตัวตนก็หายไป ตัวตนจริง ๆ จึงไม่มี
สังขารทั้งหลายเป็นสิ่งผสมปรุงแต่ง
เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอนมาให้พิจารณา ดูที่ตั้งของสมมติบัญญัติทั้งหลาย ดังที่กล่าวมานี้ ว่าเมื่อมาประกอบกันเข้าเป็นสังขาร ก็เป็นที่ตั้งของสมมติบัญญัติเรียกกันต่าง ๆ และเมื่อสังขารคือส่วนที่มาประกอบกันนั้นแตกสลาย แยกย้ายกันออกไป สมมติบัญญัติต่าง ๆ นั้นก็หายไป ฉะนั้น วาทะที่สมมติบัญญัติ ที่เรียกกันต่าง ๆ ซึ่งสังขารทุก ๆ อย่าง ไม่จำเพาะแต่อัตตาเท่านั้น ต้นไม้ภูเขาอะไรเป็นต้นดังกล่าวนั้นก็เหมือนกัน จึงไม่มีความจริงแท้อยู่ในตัว เป็นสมมติบัญญัติเท่านั้น ตรัสสอนให้พิจารณาที่ตั้งของสมมติบัญญัติเหล่านั้น ว่าเป็นตัวสังขาร เป็นสิ่งประสมปรุงแต่ง และได้ทรงชี้มาดูให้รู้จักที่ตั้งแห่งสมมติบัญญัติว่าอัตตาตัวตน คืออัตภาพอันนี้
ขันธ์ ๕
โดยที่ตรัสสอนชี้ออกให้รู้จักว่าไม่มีตัวอัตภาพ หรืออัตตาที่แท้จริงอยู่ในสังขารคือสิ่งประสมปรุงแต่งก้อนนี้กองนี้ โดยที่ตรัสชี้แยกออกไปว่า อันที่จริงนั้นประกอบขึ้นด้วยขันธ์ คือกองทั้ง ๕ นั่นเป็นรูป นั่นเป็นเวทนา นั่นเป็นสัญญา นั่นเป็นสังขาร นั่นเป็นวิญญาณ เหมือนอย่างตรัสชี้ให้ดูเรือนว่า นั่นหลังคา นั่นเสา นั่นฝา นั่นพื้น นั่นเสา ตรัสชี้ให้ดูรถว่านั่นล้อ นั่นตัวรถ นั่นเครื่องประกอบต่าง ๆ ของรถ ให้ดูต้นไม้ว่านั่นเป็นกิ่ง เป็นก้าน เป็นลำต้น เป็นราก เป็นเปลือก เป็นกระพี้ เป็นแก่น เป็นต้น ซึ่งมาประกอบกันเข้าเป็นสังขาร คือเป็นสิ่งประสมปรุงแต่ง อย่างหนึ่ง ๆ และในอัตภาพอันนี้ก็ประกอบขึ้นด้วยขันธ์ ๕ ก็ตรัสชี้ให้รู้จักว่าสิ่งที่มาประกอบนั่นอะไรบ้าง ส่วนที่แข้นแข็งซึ่งประกอบขึ้นด้วยธาตุทั้ง ๔ มีอาการ ๓๑ หรือ ๓๒ นี่เป็นกองรูป ดังกองรูปของทุก ๆ คนที่นั่งกันอยู่นี้ ก็คือว่ากองรูปกองหนึ่งมากองกันอยู่ ประกอบด้วยธาตุทั้ง ๔ ประกอบด้วยอาการ ๓๑,๓๒ เรียกแยกออกไปเป็นศีรษะ เป็นแขน เป็นขา เป็นลำตัว เป็นต้น ก็มากองกันอยู่ นี่เป็นกองรูป ความรู้สึกเป็นสุขเป็นทุกข์หรือเป็นกลาง ๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข ก็เป็นกองเวทนา ความจำได้หมายรู้ รู้รูป รู้เสียง รู้กลิ่น รู้รส รู้โผฏฐัพพะ รู้เรื่องราวต่าง ๆ ก็เป็นกองสัญญา ความปรุงคิด หรือความคิดปรุงต่าง ๆ ก็เป็นกองสังขาร คือเป็นความปรุงแต่งภายในจิต และกองความรู้สึกเมื่อตากับรูปประจวบกัน ก็เป็นความรู้รูปคือเห็นรูป หูกับเสียงประจวบกัน ก็เป็นความรู้ หรือได้ยินเสียง เมื่อจมูกกับกลิ่น ลิ้นกับรส กายและสิ่งที่กายถูกต้องมาประจวบกัน ก็เกิดความรู้หรือทราบ ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ เมื่อมโนคือใจกับธรรมะเรื่องราวมาประจวบกัน ก็เกิดความรู้ในเรื่องที่ใจคิดรู้เหล่านั้น นั่นก็เป็นกองวิญญาณ
นามรูป วิปัสสนา
เพราะฉะนั้น ก็ขันธ์ ๕ เหล่านี้เอง มาประกอบกันเข้า ซึ่งเมื่อย่อเข้าแล้ว รูปก็เป็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็เป็นนาม ก็เป็นนามรูป นี่เป็นสังขาร คือเป็นสิ่งผสมปรุงแต่ง เป็นที่ตั้งแห่งสมมติบัญญัติว่าอัตตา ตัวเรา หรืออัตภาพ และเมื่อขันธ์ ๕ เหล่านี้ยังประกอบกันอยู่ ไม่แตกสลายแยกกันออก สมมติบัญญัติว่าตัวเรา อัตภาพ อัตตา ก็ยังอยู่ ในเมื่อกองทั้ง ๕ เหล่านี้แตกสลาย ในเมื่อมรณะมาถึง นามก็ดับ รูปก็แตกสลายไปโดยลำดับ สมมติบัญญัติว่าอัตตาอัตภาพก็หายไป
ได้ตรัสสอนรู้จักพิจารณาแยกดั่งนี้ ให้รู้จักตามความเป็นจริง นี่แหละคือวิปัสสนา รู้แจ้งเห็นจริง ซึ่งจะต้องมีสมาธิ คือจะต้องมีจิตตั้งมั่น กำหนดอยู่ในที่ตั้งแห่งสมมติบัญญัติ ว่าอัตตาหรืออัตภาพอันนี้ ให้รู้จักว่า นี่รูป นี่เวทนา นี่สัญญา นี่สังขาร นี่วิญญาณ มีชาติความเกิดเป็นเบื้องต้น มีชราความแปรปรวนเปลี่ยนแปลง พร้อมทั้งพยาธิในท่ามกลาง มีมรณะเป็นที่สุด เพราะฉะนั้น จึงเป็น อนิจจะ ไม่เที่ยง ต้องเกิดต้องดับ เป็น ทุกขะ เป็นทุกข์คือทนอยู่คงที่ไม่ได้ ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป บังคับให้เป็นไปตามปรารถนามิได้ เพราะปรารถนานั้นก็ปรารถนาที่จะ ไม่ให้แก่ ไม่ให้เจ็บ ไม่ให้ตาย แต่ก็ปรารถนาไม่ได้ ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย จึงเป็น อนัตตา ไม่ใช่อัตตาตัวตน ตรัสสอนให้รู้จักพิจารณาในที่ตั้งของสมมติบัญญัติดั่งนี้
และโดยเฉพาะข้อสำคัญก็คือ สมมติบัญญัติว่าอัตตาตัวเราของเรา ตัวเราก่อน แล้วก็มีของเรา แล้วก็จะมีตัวเขาของเขา และเมื่อพิจารณาให้รู้จักที่ตั้งแห่งสมมติบัญญัติ โดยเฉพาะที่ตัวเรานี้ตามความเป็นจริง โดยไตรลักษณ์ดั่งนี้แล้ว ก็จะทำให้หายหลง หายยึดถือ แต่เมื่อยังไม่ได้เห็นแจ้งจริง ก็ย่อมจะต้องมีความยึดถืออยู่ เป็นอัตวาทุปาทาน อนึ่ง เมื่อมีอุปาทานนี้ ยังเป็นเหตุให้ถือเราถือเขา ด้วยอำนาจมานะ จนเป็นเหตุถือพวก เป็นเหตุให้เกิดความแก่งแย่ง วิวาท และอกุศลกรรมต่าง ๆ อีกมากมาย
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป