แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
จะแสดงพระเถราธิบายเรื่องสัมมาทิฏฐิ ที่ท่านพระสารีบุตรเถระ ได้แสดงแก่ภิกษุทั้งหลาย ผู้ถามปัญหาเรื่องสัมมาทิฏฐิ ซึ่งท่านก็ได้แสดงมาโดยลำดับ ตามที่ภิกษุทั้งหลายถาม คือเมื่อท่านตอบจบไปคราวหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายก็ถามท่านอีกว่า ยังมีอธิบายอย่างอื่นอีกหรือไม่ ท่านก็ตอบว่ามี และท่านก็อธิบายไป จบแล้วภิกษุทั้งหลายก็ถามท่านอีก ว่ายังมีอธิบายเป็นอย่างอื่นต่อไปอีกหรือไม่ ท่านก็ตอบว่ามี ท่านก็อธิบายไป จนถึงเข้าหมวดแห่งธรรมะที่อาศัยกันบังเกิดขึ้น อันโยงกันไปเป็นลูกโซ่ ซึ่งเรียกว่าปฏิจจสมุปบาท ก็ได้นำเอาพระเถราธิบายนี้มาแสดงโดยลำดับ จนถึงท่านตอบปัญหาที่ภิกษุทั้งหลายถามดังกล่าว ในข้ออุปาทาน ซึ่งสืบเนื่องมาจากภพ ซึ่งได้แสดงไปแล้ว โดยที่ภพมีขึ้นก็เพราะมีอุปาทาน ท่านจึงได้จับอธิบายสัมมาทิฏฐิในข้ออุปาทานนี้ คือท่านได้มีเถราธิบายโดยใจความว่า สัมมาทิฏฐิความเห็นชอบ ก็คือรู้จักอุปาทาน รู้จักเหตุเกิดขึ้นแห่งอุปาทาน รู้จักความดับอุปาทาน รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับอุปาทาน
และท่านก็ได้แสดงอธิบายในข้อแรก คือข้อที่ว่ารู้จักอุปาทาน จำแนกอุปาทานเป็น ๔ คือ กามุปาทาน ความยึดถือกาม ทิฏฐุปาทาน ความยึดถือทิฏฐิ สีลัพพัตตุปาทาน ความยึดถือศีลและพรต อัตวาทุปาทาน ความยึดถือวาทะว่าตน รู้จักอุปาทานก็คือรู้จักอุปาทานทั้ง ๔ นี้
รู้จักเหตุเกิดแห่งอุปาทาน ก็คือรู้จักว่าอุปาทานเกิดขึ้นก็เพราะตัณหาเกิดขึ้น ตัณหาจึงเป็นเหตุเกิดแห่งอุปาทาน
รู้จักความดับอุปาทาน ก็คือรู้จักว่าตัณหาดับ อุปาทานก็ดับ
รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับอุปาทาน ก็คือรู้จักว่ามรรคมีองค์ ๘ มีสัมมาทิฏฐิเป็นต้น เป็นทางปฏิบัติให้ถึงความดับอุปาทาน
จะได้แสดงอธิบายอุปาทานทั้ง ๔ ก่อน อุปาทานนั้นแปลกันว่าความยึดถือ ได้มีพระพุทธาธิบาย ซึ่งท่านพระสารีบุตรนำมาอธิบาย ว่าอุปาทานมี ๔ ก็คือ
ข้อ ๑ กามุปาทาน ความยึดถือกาม กามนั้นก็ได้แก่วัตถุกาม กับกิเลสกาม ดังที่ได้เคยอธิบายแล้ว ยึดถือกาม ก็คือยึดถือกามที่เป็นวัตถุกาม อันได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจทั้งหลาย ว่าเป็นของเรา อันอาการที่ยึดถือนี้เมื่อแสดงเป็นกลางๆ ท่านก็ได้แสดงอาการที่ยึดถือดั่งนี้ว่า เอตังมะมะ นี่เป็นของเรา เอโสหะมัสมิ เราเป็นนี่ เอโสเมอัตตา นี่เป็นอัตตาตัวตนของเรา
วัตถุกาม กิเลสกาม แต่ในข้อกามุปาทานนี้ อธิบายแต่เพียงว่ายึดถือว่าเป็นของเรา จะเข้าใจได้ง่าย คือยึดถือว่ารูปเสียงเป็นต้น ที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจเป็นของเรา แต่ก็ชื่อว่าได้ยึดถือเอาตัวกิเลสกาม คือตัวความรักความใคร่ความปรารถนาความพอใจ นั้นไว้ด้วย ไม่ปล่อย ความรัก ความใคร่
ความปรารถนา ความพอใจในวัตถุนั้นๆ เมื่อเป็นดั่งนี้ จึงได้ยึดถือวัตถุนั้นๆ ที่รัก ที่ใคร่ ที่ปรารถนา ที่พอใจ ถ้าไม่มีความรัก ความใคร่ ความปรารถนา ความพอใจอันเป็นกิเลสกาม วัตถุนั้นๆ ก็ไม่เป็นวัตถุกาม เป็นแต่เพียงวัตถุเฉยๆ
ดั่งเช่นท่านที่สิ้นอาสวะกิเลสแล้ว เป็นพระอรหันต์ ไม่มีกิเลสกาม คือความรัก ความใคร่ ความปรารถนา ความพอใจ อันเป็นตัวกิเลสอยู่ในจิตใจ เพราะท่านละได้หมดสิ้น เพราะฉะนั้น เมื่อท่านเห็นรูปอะไรทางตา รูปนั้นก็ไม่เป็นวัตถุกามของท่าน เพราะท่านเห็นรูปนั้นแล้ว ท่านไม่รัก ไม่ใคร่ ไม่ปรารถนา ไม่พอใจ ท่านพรากจิตออกจากรูปนั้นได้ ท่านได้ยินอะไรทางหู ได้ทราบกลิ่น ทราบรส ทราบโผฏฐัพพะ ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ก็เช่นเดียวกัน ท่านคิดนึกอะไรทางใจก็เช่นเดียวกัน ทุกๆ อย่างไม่เป็นวัตถุกามของท่าน ท่านพรากจิตออกจากวัตถุ คือรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะทั้งหลายทั้งปวงได้ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะทั้งปวงนั้น ไม่เป็นที่รักใคร่ปรารถนาพอใจของท่าน จึงไม่เป็นวัตถุกามของท่าน เป็นวัตถุเฉยๆ
พระอรหันต์ที่ยังดำรงชีวิตอยู่ นับแต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ได้ทรงเห็นรูปอะไรทางตา ได้ยินเสียงอะไรทางหู ทราบกลิ่น ทราบรส ทราบโผฏฐัพพะ ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย รู้คิดเรื่องอะไรทางใจ เช่นเดียวกันกับคนทั้งหลาย แต่ว่าท่านไม่มีกิเลสกามอยู่ในใจ ที่จะออกไปรักใคร่ปรารถนาพอใจ ในทุกๆ สิ่งที่ท่านได้เห็นได้ยินเป็นต้น เหล่านั้นเพราะฉะนั้นจึงไม่เป็นวัตถุกามของท่าน เป็นวัตถุเฉยๆ ทั้งนี้ก็เพราะว่าท่านละอุปาทาน คือความยึดถือได้หมดสิ้น โดยตรงก็ไม่ยึดถือกิเลสกามนั้นแหละ ไม่ยึดถือเอาความรัก ความใคร่ ความปรารถนา ความพอใจ เอาไว้ในใจ ละได้หมด เพราะฉะนั้น จึงไม่ยึดถือวัตถุทั้งหลาย อันเรียกว่าวัตถุกามนั้น
แต่ว่าสามัญชนทั้งหลายนั้น ยังมีกิเลสกามอยู่ในใจ ยังมีความรักความใคร่ความปรารถนาความพอใจ ยังไม่ปล่อย ยังไม่วาง ความรัก ความใคร่ ความปรารถนา ความพอใจ ในวัตถุทั้งหลายที่เห็นที่ได้ยินเป็นต้น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าได้มีความยึดถืออยู่ในตัวกิเลสนี้ด้วย และเป็นข้อสำคัญ เมื่อมีความยึดถืออยู่ในตัวกิเลสนี้ จึงทำให้มีความยึดถืออยู่ในตัววัตถุที่เห็นที่ได้ยินเป็นต้น ทำให้วัตถุนั้นๆ เป็นวัตถุกามขึ้นมา และเมื่อกล่าวกันอย่างสามัญเข้าใจง่าย ก็กล่าวว่ายึดถือวัตถุกาม แต่อันที่จริงนั้นยึดถือกิเลสกามนั้นแหละ ยึดถือความรัก ความใคร่ ความปรารถนา ความพอใจไว้ ไม่ปล่อยไม่วาง อันนี้แหละเป็นสิ่งสำคัญ และอันนี้แหละที่เป็นตัวกามุปาทานความยึดถือกาม
และเมื่ออธิบายดั่งนี้ ก็เอาเข้าในอาการทั้ง ๓ ของอุปาทานนั้นได้ คือ ยึดถือว่า นี่เป็นของเรา เราเป็นนี่ นี่เป็นอัตตาตัวตนของเรา
คือยึดถือเอาเป็นของเราด้วย และเราเป็นนี่ด้วย นี่เป็นอัตตาตัวตนของเราด้วย
ยึดถือว่า นี่เป็นของเรา ก็คือยึดถือว่า รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เหล่านี้เป็นของเรา
ตลอดจนถึงยึดถือว่า นี่เป็นความรักของเรา ความใคร่ของเรา ความปรารถนาของเรา ความพอใจของเรา
ยึดถือว่า เราเป็นนี่ ก็คือตัวเรา ก็เป็นรูป เป็นเสียง เป็นกลิ่น เป็นรส เป็นโผฏฐัพพะ ตัวเราก็คือเป็นความรัก ความใคร่ ความปรารถนา ความพอใจ ทั้งหมดนี้ประกอบขึ้นเป็นอัตตาตัวตนของเรา
เป็นอันว่าตัวตนของเรานั้น จะต้องประกอบด้วย ความรัก ความใคร่ ความปรารถนา ความพอใจ จะต้องประกอบด้วยรูป ด้วยเสียง ด้วยกลิ่น ด้วยรส ด้วยโผฏฐัพพะ ที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจทั้งหลาย รวมอยู่ในตัวเรา และเราก็เป็นสิ่งเหล่านี้ สิ่งเหล่านี้ก็เป็นของเรา
เช่นเดียวกับอวัยวะในร่างกาย เช่นแขนขาเป็นต้น อวัยวะในร่างกายทุกส่วนนี้ จะกล่าวว่าเป็นของเราก็ได้ เช่นว่า ศีรษะของเรา แขนของเรา ขาของเรา จะกล่าวว่าเราเป็นอวัยวะเหล่านี้ก็ได้ เช่นว่า ในการถ่ายรูป ก็ต้องถ่ายเอาอวัยวะเหล่านี้นั่นแหละ ที่รวมกันเข้า มีศีรษะ มีมือ มีขา มีลำตัว และเมื่อเราเห็นรูปของอวัยวะต่างๆเหล่านี้ เราก็เข้าใจว่า นี่แหละเป็นตัวเรา และเราก็เป็นอวัยวะเหล่านี้ อวัยวะเหล่านี้นี่แหละก็เป็นตัวเรา
เพราะฉะนั้น ตามตัวอย่างนี้จะพึงเห็นได้ว่า อุปาทานคือความยึดถือนั้น เมื่อจะกล่าวให้ครบถ้วน ก็ต้องกล่าวดังที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสแสดงไว้ว่า เอตังมะมะ นี่เป็นของเรา เช่นนี่เป็นขาของเรา เป็นแขนของเรา เป็นศีรษะของเรา เอโสหะมัสสมิ เราเป็นนี่ ก็คือเราก็เป็นศีรษะ เป็นแขน เป็นขา เป็นต้นนี่แหละ ดังตัวอย่างที่ว่าเมื่อเห็นรูปถ่าย ก็รูปถ่ายนั้นก็ถ่ายติดเอาอวัยวะต่างๆนี้แหละ รวมกันเข้า เราก็เป็นศีรษะ เป็นแขน เป็นขา เป็นต้นนี่แหละ และนี่แหละก็เป็นอัตตาตัวตนของเรา คือทั้งหมดก็เป็นอัตตาตัวตนของเรา
เพราะฉะนั้น แม้ในข้อกามุปาทานยึดถือกาม ก็คือยึดถือด้วยอาการดังกล่าวมานี้ และก็ลึกซึ้ง ไม่ใช่เพียงวัตถุเท่านั้น ยึดถือตัวความรัก ความใคร่ ความปรารถนา ความพอใจ อันเป็นตัวกิเลสกามไว้ด้วย ไม่ปล่อยไม่วาง ถ้าหากว่าปล่อยวางตัวกิเลสนี้ได้ ตัววัตถุก็ปล่อยได้ทันที ไม่เป็นที่ติด ไม่เป็นที่ยึด ความสำคัญจึงอยู่ที่ความยึด อยู่ที่ตัวกิเลส ยึดถืออยู่ที่ตัวความรักความใคร่ความปรารถนาความพอใจดังที่กล่าวมาแล้ว นี้คือกามุปาทาน ความยึดถือกาม อันสามัญชนมีอยู่ ยังละไม่ได้
ข้อที่ ๒ ทิฏฐุปาทาน ยึดถือทิฏฐิคือความเห็น อันความเห็นนี้หมายถึงความเห็นผิด ยึดถือความเห็นผิด แต่ว่าที่ยังยึดถืออยู่ก็เพราะว่า ยังไม่รู้ว่าเห็นผิด เมื่อรู้ว่าเห็นผิดเมื่อใด ก็ย่อมจะละความเห็นผิดนั้นได้เมื่อนั้น ที่กล่าวว่าความเห็นผิดนี้พระพุทธเจ้าตรัสเรียก
คำว่าทิฏฐินี้มีคำประกอบเพื่อให้ชัด ถ้าเห็นผิดก็เรียกว่ามิจฉาทิฏฐิความเห็นผิด ตรงกันข้ามคือเห็นถูกเห็นชอบ ก็เรียกว่าสัมมาทิฏฐิความเห็นชอบ แต่ว่ามักจะกล่าวกลางๆ คือไม่มีมิจฉาไม่มีสัมมานำ กล่าวว่าทิฏฐิเฉยๆ และเมื่อกล่าวว่าทิฏฐิเฉยๆ ก็มักจะหมายถึงความเห็นผิด และยืนยันอยู่ในความเห็นผิดนี้ อาการที่ยืนยันอยู่ในความเห็นผิดนี้ เป็นตัวอุปาทานคือความยึดถือ อันทำให้ดื้อดึงถือรั้นอยู่ในความเห็นของตนนั้นที่ผิดๆ
ความเห็นผิดนี้มีหลายระดับ ตั้งแต่ระดับชั้นหยาบขึ้นไปจนถึงชั้นละเอียด
สำหรับที่เป็นระดับชั้นหยาบ คือมิจฉาทิฏฐิในอกุศลกรรมบถฝ่ายมโนกรรม อันมโนกรรมอันเป็นฝ่ายอกุศลนี้ ได้แก่ อภิชฌา ความโลภเพ่งเล็งสิ่งของๆผู้อื่นมาเป็นของตน พยาบาท ความมุ่งร้ายหมายล้างผลาญ และ มิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิด
มิจฉาทิฏฐินี้ท่านแสดงไว้อีก ๓ คือ อกิริยทิฏฐิ ความเห็นว่า "ไม่เป็นอันทำ" อเหตุกทิฏฐิ ความเห็นว่า "ไม่มีเหตุ" นัตถิกทิฏฐิ ความเห็นว่า "ไม่มี"
ข้อแรก อกิริยทิฏฐิ ความเห็นว่าไม่เป็นอันทำนั้น ก็คือปฏิเสธบุญ ปฏิเสธบาป ว่าการกระทำ ไม่มีเป็นบุญ ไม่มีเป็นบาป ส่วนที่ว่าดีหรือชั่วนั้น เกี่ยวแก่ปัจจัยภายนอก คือบุคคลอื่น เมื่อบุคคลอื่นรู้เห็น ก็ว่าดีบ้าง ไม่ดีบ้าง ยกย่องบ้าง ลงโทษบ้าง แต่ถ้าไม่มีผู้อื่นรู้เห็น ก็ไม่มีบุญไม่มีบาป ไม่มีดีไม่มีชั่ว เป็นเพียงการกระทำเท่านั้น
อกิริยทิฏฐิดังกล่าวมานี้ผิดหลักพุทธศาสนา เพราะหลักพุทธศาสนานั้นแสดงว่า การทำของบุคคล เมื่อเจตนาจงใจทำการที่เป็นบาปก็เป็นบาป การที่เป็นบุญก็เป็นบุญ คนอื่นจะรู้จะเห็น จะยกย่องชื่นชม จะลงโทษ หรือไม่รู้ไม่เห็นก็ตาม เมื่อจงใจทำการที่เป็นบาปแล้วก็เป็นบาปอยู่นั่นเอง จงใจทำการที่เป็นบุญแล้วก็เป็นบุญอยู่นั่นเอง จึงมีบุญมีบาป มีดี มีชั่ว หรือเรียกว่ามีกรรมดีกรรมชั่ว
ข้อ ๒ อเหตุกทิฏฐิ ความเห็นว่าไม่มีเหตุ คือเมื่อได้รับผลดีผลร้ายต่างๆ ก็เห็นว่าเป็นไปตามคราว คือคราวที่มีโชคดีก็ได้รับผลดีต่างๆ คราวที่มีโชคร้ายก็ได้รับผลไม่ดีต่างๆ ไม่มีเหตุอะไรที่จะมาทำให้ได้ผลดีผลร้าย เป็นไปตามคราว ตามเวลา ตามโชคดีโชคร้าย เคราะห์ดีเคราะห์ร้าย เท่านั้น
ความเห็นดั่งนี้ผิดหลักพุทธศาสนา เพราะตามหลักพุทธศาสนานั้นแสดงว่า ผลย่อมเกิดแต่เหตุ ผลดีก็เกิดจากเหตุที่ดี ผลไม่ดีก็เกิดจากเหตุที่ไม่ดี แม้ว่าตนเองจะยังไม่สามารถรู้ถึงเหตุของผลนั้นๆ ได้ ผลนั้นๆ ก็ต้องมีเหตุอยู่นั่นเอง หาได้เป็นไปตามคราวแห่งโชคเคราะห์ดีหรือไม่ดีดังกล่าวนั้นไม่ ดังที่ตรัสแสดงไว้ว่าผลดีก็เกิดจากกรรมดี ผลชั่วก็เกิดจากกรรมชั่ว
ข้อที่ ๓ นัตถิกทิฏฐิ ความเห็นว่าไม่มี คือไม่มีสิ่งที่เรียกว่าสมมติสัจจะ ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าคติธรรมดา หรือคลองธรรมตามเหตุและผล
ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าสมมติสัจจะนั้น ก็เป็นต้นว่า ไม่มีมารดา ไม่มีบิดา สัตว์บุคคลเกิดสืบเชื้อสายกันมาตามเรื่องตามราวเท่านั้น จึงไม่มีใครที่จะต้องนับถือว่าเป็นบิดาเป็นมารดา แม้ที่นับถือว่าสมณะพราหมณ์ก็ไม่มี ไม่มีภิกษุ ไม่มีสามเณรเป็นต้น
แม้ที่นับถือกันอย่างอื่น เป็นนั่น เป็นนี่ ก็ไม่มี และไม่มีเหตุผลที่เป็นคติธรรมดา หรือที่เป็นไปตามคลองธรรม คือคติธรรมดา หรือที่เป็นไปตามคลองธรรมะ เช่น ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า จักทำกรรมอันใดไว้ ดีหรือชั่ว ก็จะต้องผู้รับ ต้องเป็นทายาทรับผลของกรรมนั้น ไม่มีเหตุ ไม่มีผล คือไม่มีกรรมดี ไม่มีผลดี ไม่มีกรรมชั่ว ไม่มีผลชั่ว ดั่งนั้น
เป็นอันว่านัตถิกทิฏฐิความเห็นว่าไม่มีนี้ ปฏิเสธสมมติสัจจะทั้งหมด ปฏิเสธคลองธรรมทั้งหมด ความเห็นดั่งนี้ผิดคติทางพุทธศาสนา เพราะทางพุทธศาสนานั้น สอนให้นับถือสมมติสัจจะ ความจริงโดยสมมติ และสอนคลองธรรมคติธรรมดา คือสอนให้บุตรธิดาเคารพนับถือมารดาบิดา เป็นกตัญญูกตเวทีต่อมารดาบิดา สอนให้มารดาบิดาปฏิบัติตนให้เป็นบุพพการี เป็นพรหมของบุตรธิดา สอนว่ามีสมณะพราหมณ์ผู้ปฏิบัติชอบที่พึงนับถือ เช่นมีภิกษุมีสามเณร และมีบุคคลที่ได้รับสมมติบัญญัติแต่งตั้งในฐานะต่างๆ พระพุทธศาสนาสอนให้ปฏิบัติตามคลองธรรม ให้รับรู้ในคลองธรรมหรือคติธรรมดา ดังที่ยกมากล่าวข้างต้นนั้น ว่าจักทำกรรมอันใดไว้ดีหรือชั่ว ก็จะต้องเป็นทายาทรับผลของกรรมนั้น ทำดีไว้ก็รับผลดี เป็นทายาทรับผลดี ทำชั่วก็เป็นทายาทรับผลที่ชั่ว เป็นเหตุเป็นผลตามคติธรรมดา ๙
นิยตะมิจฉาทิฏฐิ
ฉะนั้น มิจฉาทิฏฐิทั้ง ๓ นี้ คืออกิริยทิฏฐิความเห็นว่าไม่เป็นอันทำ อเหตุกทิฏฐิความเห็นว่าไม่มีเหตุ นัตถิกทิฏฐิกะความเห็นว่าไม่มี จึงเป็นความเห็นผิดอย่างร้ายแรง ซึ่งเมื่อมีความยึดถืออยู่ในมิจฉาทิฏฐินี้มาก จนดิ่งลง อันเรียกว่า นิยตะมิจฉาทิฏฐิ มีความเห็นผิดที่ดิ่งลงแล้ว ก็ให้เกิดโทษมหันต์ ทำให้ไม่รับรองกรรมที่เป็นบุญเป็นบาป ไม่รับรองผลต่างๆ ที่ได้รับว่าเกิดจากเหตุ ไม่รับรองสมมติสัจจะ ไม่รับรองคลองธรรมหรือคติธรรมดา ทั้งสิ้น
ซึ่งทางพุทธศาสนาถือว่าผู้ที่มีความเห็นดั่งนี้แล้ว จมดิ่งลงไปสู่อบาย คือภูมิภพที่เสื่อม กล่าวได้ว่าตั้งแต่ชาตินี้ ถ้าใครมีความเห็นดั่งนี้ ยิ่งดิ่งลงไปแล้ว หรือแนบแน่นแล้ว เพราะมีอุปาทานความยึดถืออยู่อย่างแรงแล้ว ก็ยิ่งดิ่งลงเหวลงนรกไปทีเดียว เป็นความเห็นผิดที่ต้องละ จึงจะสามารถยกตนขึ้นสู่ภูมิชั้นของมนุษย์ ของบุคคล ที่เป็นระดับสามัญชนคนดีได้ เพราะฉะนั้น ความยึดถือความเห็นผิดในข้อนี้ จึงให้โทษอย่างมหันต์ ผู้ที่นับถือพุทธศาสนานั้นกล่าวได้ว่า ย่อมละความเห็นผิด อันมีโทษมหันต์ อันร้ายแรงนี้ได้ด้วยกัน จึงได้เป็นพุทธศาสนิกผู้นับถือพุทธศาสนาได้ ถ้ายังละไม่ได้ก็ย่อมจะไม่นับถือพุทธศาสนา หรือย่อมจะทำลายพุทธศาสนา หรือแม้ย่อมจะทำลายศาสนาทุกอย่างทุกศาสนา ที่สอนให้ละชั่วทำดี แม้ในขั้นสามัญ
สัสสตทิฏฐิ อุจเฉททิฏฐิ
มาถึงมิจฉาทิฏฐิที่เป็นระดับมีโทษน้อยเข้า ก็เป็นมิจฉาทิฏฐิที่เรียกว่า สัสสตทิฏฐิ ความเห็นว่าเที่ยง กับอุจเฉททิฏฐิ ทิฏฐิความเห็นว่าขาดสูญ
สัสสตทิฏฐิ ความเห็นว่าเที่ยงนั้น ก็คือเห็นว่าในปัจจุบันนี้ก็มีอัตตาคือตัวตน เมื่อกายนี้แตกสลาย อัตตาคือตัวตนก็ไม่แตกสลาย ไปถือชาติภพใหม่ และก็เป็นไปดั่งนี้ตลอดไป มีอัตตาคือตัวตนที่ไม่ตายอยู่ดังนี้ตลอดไป ที่ตายนั้นเป็นแต่เพียงร่างกายสังขารเท่านั้น
อีกข้อหนึ่ง อุจเฉททิฏฐิ ความเห็นว่าขาดสูญ คือเห็นว่ามีอัตตาตัวตนอยู่ในชาตินี้เท่านั้น เมื่อร่างกายอันนี้แตกสลาย อัตตาตัวตนก็แตกสลายไปพร้อมกัน ไม่มีอัตตาตัวตนที่จะไปถือชาติภพใหม่
ตายเกิด หรือ ตายสูญ
ความเห็นแรก สัสสตทิฏฐิ คือเห็นว่าตายเกิด เกิดกันเรื่อยไปไม่มีสิ้นสุด ความเห็นหลัง อุจเฉททิฏฐิ คือเห็นว่าตายสูญไม่เกิด คนโดยมากนั้นก็มักจะเห็นกันว่าตายเกิด แต่ก็มีบางคนที่เห็นว่าตายสูญไม่เกิด เพราะว่าไม่เห็นว่ามีอะไรไปเกิด เมื่อตายแล้วก็หมดลมหายใจ ก็เป็นซากศพ ไม่ปรากฏว่ามีอัตตาอะไร ไม่รู้ไม่เห็นอัตตาอะไรว่าไปเกิด คนบางคนจึงลงความเห็นว่าตายสูญ อันที่จริงก็เป็นอย่างนั้น คือว่าคนสามัญทั่วไปนั้นไม่รู้ไม่เห็นว่าอะไรไปเกิด เมื่อใครตาย หมดลมหายใจ ก็นำไปเผาไปฝังกัน แต่แม้เช่นนั้นคนส่วนใหญ่ในโลกนี้ ก็ปรากฏว่าเชื่อกันว่าตายเกิด เพราะเชื่อต่อคำสอนของศาสดาที่สอนว่าตายเกิด หรือว่าปรากฏเหตุการณ์บางอย่าง เช่นฝันเห็นคนที่ตายไปแล้ว หรือปรากฏภาพของคนที่ตายไปแล้ว เป็นต้น
วิภัชวาทะในพุทธศาสนา
แต่แม้เช่นนั้น ความเห็นดั่งนี้ก็ผิดหลักพุทธศาสนา เพราะพุทธศาสนานั้นไม่สอนว่าตายเกิดกันเรื่อยไป และไม่สอนว่าตายสูญ ซึ่งเป็นคำสอนที่แสดงตายตัวไปฝ่ายเดียว แต่ว่าสอนจำแนกตามเหตุและผล อันเรียกว่าวิภัชวาทะกล่าวจำแนกตามเหตุและผล คือเมื่อมีเหตุให้เกิดก็เกิด เมื่อสิ้นเหตุให้เกิดก็ไม่เกิด ดังเช่นในเถราธิบายของท่านพระสารีบุตรที่ได้กล่าวมาแล้ว ว่าชรามรณะมีขึ้นก็เพราะมีชาติ คือความเกิด ชาติ คือความเกิดมีขึ้นก็เพราะมีภพ ดั่งนี้ ก็แปลว่าเมื่อยังมีเหตุปัจจัยให้เกิดก็ต้องเกิด เมื่อสิ้นเหตุปัจจัยให้เกิดก็ไม่เกิด คือ เมื่อตัดตัณหาได้สิ้นเชิง สิ้นกิเลสหมดก็ไม่เกิด แต่แม้ไม่เกิดก็ไม่แสดงว่าสูญ ถ้าเห็นว่าพระอรหันต์สูญ ก็เรียกว่าเป็นความเห็นผิดอีกเหมือนกัน เพราะฉะนั้น แม้ความเห็นทั้งสองนี้ก็เรียกว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิด แต่เป็นความเห็นผิดที่ยังไม่ถือว่ามีโทษร้ายแรง เหมือนอย่าง ๓ ข้อข้างต้น แต่คนทั่วไปก็ยังมีความเห็นกันดังนี้อยู่เป็นอันมาก
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป