แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุก ๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
จะแสดงเรื่องสัมมาทิฏฐิตามอธิบายของท่านพระสารีบุตรในสัมมาทิฏฐิสูตร สัมมาทิฏฐิความเห็นชอบ ความเห็นตรง ย่อมนำให้ได้ปสาทะ ความเลื่อมใสที่ไม่หวั่นไหวในพระธรรม นำมาสู่พระสัทธรรมคือพระธรรมวินัยในศาสนานี้ ท่านพระสารีบุตรได้แสดงอธิบายว่า เห็นอย่างไร รู้อย่างไร เป็นสัมมาทิฏฐิ คือความเห็นชอบ โดยปริยาย คือทางแสดงหลายประการ ตั้งแต่ในเบื้องต้น ก็คือรู้จักอกุศล รู้จักอกุศลมูล รู้จักกุศล รู้จักกุศลมูล อันเป็นสัมมาทิฏฐิที่คนทั่วไปพึงมีเป็นพื้นฐาน ต่อจากนั้นท่านก็ได้แสดงอาหาร คือธรรมะที่นำผลมา อันหมายถึงเหตุแห่งผล ตั้งต้นแต่อาหาร อันเป็นเหตุความดำรงอยู่ได้ของกาย อันเป็นฝ่ายรูปธรรม อาหารของนามธรรม อาหารของกรรม คือการที่กระทำทางกายวาจาใจของทุกคน และอาหารของนามรูป เพื่อให้รู้จักอาหาร ธรรมะที่นำผลมาคือเหตุแห่งทั้ง ๔ อย่างนั้น
และต่อจากนั้นเมื่อภิกษุทั้งหลายได้ถามต่อไป ท่านก็ได้แสดงอธิบายสืบต่อไป อันจะแสดงในวันนี้ ก็คือท่านได้อธิบายไว้มีใจความว่า สัมมาทิฏฐิความเห็นชอบก็คือ ความรู้จักทุกข์ รู้จักทุกขสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ (เริ่ม)....รู้จักทุกขนิโรธ ความดับทุกข์ รู้จักทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ท่านก็ได้แสดงอธิบายตามที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสเทศนาไว้ ตั้งต้นแต่ปฐมเทศนาของพระองค์ ซึ่งเราทั้งหลายต่างก็ได้ยินได้ฟังเรื่องอริยสัจจ์ทั้ง ๔ นี้มาแล้ว แต่แม้เช่นนั้นเรื่องอริยสัจจ์ทั้ง ๔ นี้ ก็เป็นเรื่องอันสำคัญในพุทธศาสนา ซึ่งพระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสว่าเป็นที่รวมแห่งธรรมะในพระพุทธศาสนาทั้งสิ้น โดยพยัญชนะที่ตรัสนั้น ยกเอาว่าเป็นที่รวมแห่งกุศลธรรมในพุทธศาสนาทั้งสิ้น ก็หมายถึงความรู้ในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ อันเป็นสัมมาทิฏฐินั้นเอง
ความรู้ในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ นี้เป็นกุศลอันสำคัญ คำว่ากุศลนั้นตามศัพท์แปลว่าความฉลาด ก็คือความรู้ที่เป็นความฉลาด ยอดของความรู้ที่เป็นความฉลาดก็กล่าวได้ว่าคือความรู้จักอริยสัจจ์ทั้ง ๔ เพราะฉะนั้น กุศลธรรมทั้งหมดจึงรวมอยู่ในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ ก็คือรวมอยู่ในความรู้จักอริยสัจจ์ทั้ง ๔ นี้ และแม้ตัวอริยสัจจ์ทั้ง ๔ เอง สรีระแห่งอริยสัจจ์ทั้ง ๔ เอง ก็เป็นที่รวมของธรรมะทั้งสิ้น ดังที่ได้กล่าวไว้ในเบื้องต้นนั้น เพราะฉะนั้น แม้จะฟังบ่อย ๆ พิจารณาบ่อย ๆ ก็ยิ่งเป็นการดี เพราะจะทำให้ได้ความรู้ซาบซึ้งในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ นี้มากขึ้น จะเห็นความสำคัญของอริยสัจจ์ทั้ง ๔ นี้มากขึ้น และก็มิใช่จำเพาะเป็นธรรมะเบื้องสูงเท่านั้น แต่ว่าเป็นธรรมะที่มีอยู่เป็นไปอยู่ ตั้งแต่ในเบื้องต้น มีอยู่เป็นไปอยู่ทั่วไป เป็นแต่เพียงว่าใครจะเห็นหรือไม่เห็นเท่านั้น เพราะเป็นสัจจะคือความจริงที่ปรากฏอยู่ ที่เป็นไปอยู่
ฉะนั้นในเบื้องต้นจึงจะได้กล่าวทบทวนถึงพระเถราธิบาย ซึ่งอธิบายตามพระพุทธาธิบายนั้นเองก่อน รู้จักทุกข์ก็คือรู้จักว่าชาติ ความเกิดเป็นทุกข์ ชรา ความแก่เป็นทุกข์ มรณะ ความตายเป็นทุกข์ โสกะ ความแห้งใจ ปริเทวะ ความคร่ำครวญรัญจวนใจทุกขะ ความไม่สบายกาย โทมนัสสะ ความไม่สบายใจ อุปายาสะ ความคับแค้นใจ เป็นทุกข์ ความประจวบกับสัตว์และสังขารทั้งหลาย สิ่งทั้งหลาย อันไม่เป็นที่รัก เป็นทุกข์ ความพลัดพรากจากสัตว์และสังขารทั้งหลาย สิ่งทั้งหลาย อันเป็นที่รัก เป็นทุกข์ ความปรารถนาไม่ได้สมหวัง เป็นทุกข์
กล่าวโดยย่อ ขันธ์เป็นที่ยึดถือทั้ง ๕ ประการเป็นทุกข์ ก็คือรูปขันธ์ กองรูป เวทนาขันธ์ กองเวทนา สัญญาขันธ์ กองสัญญา สังขารขันธ์ กองสังขาร วิญญาณขันธ์ กองวิญญาณ เป็นทุกข์
รู้จักทุกขสมุทัย เหตุเกิดทุกข์ ก็คือรู้จักว่า ตัณหา ความอยากความดิ้นรนของใจ ความทะยานอยากอันเป็นไปเพื่อภพใหม่ ประกอบกับนันทิ ความเพลิน ราคะ ความติดใจยินดี มีความเพลิดเพลินยิ่งขึ้น ๆ ในอารมณ์นั้น ๆ ในสิ่งนั้น ๆ อันได้แก่
รู้จักทุกขนิโรธ ความดับทุกข์ ก็คือรู้จักว่า ความดับตัณหา สำรอกตัณหาออกได้ไม่มีเหลือ การสละตัณหาเสียได้ การสลัดตัณหาเสียได้ ความพ้นตัณหาเสียได้ ความไม่อาลัยเกี่ยวเกาะผูกพันตัณหาได้ เป็นความดับทุกข์
รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ก็คือรู้จักมรรคมีองค์ ๘ อันได้แก่ สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ สัมมาวาจา เจรจาชอบ สัมมากัมมันตะ การงานชอบ สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตชอบ สัมมาวายามะ เพียรชอบ สัมมาสติ ระลึกชอบ สัมมาสมาธิ ตั้งใจชอบ เป็นมรรคคือทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ดั่งนี้
ความรู้จักอริยสัจจ์ทั้ง ๔ ดังกล่าว เป็นสัมมาทิฏฐิ คือความเห็นชอบ เป็นความเห็นตรง ซึ่งนำให้เกิดปสาทะคือความเลื่อมใสไม่หวั่นไหวในพระธรรม นำมาสู่สัทธรรม คือธรรมวินัยในศาสนานี้ เป็นไปเพื่อละราคานุสัย อนุสัยกิเลสที่นอนเนื่องจิตสันดาน คือราคะความติดใจยินดี บรรเทาปฏิฆานุสัย อนุสัยคือปฏิฆะความกระทบกระทั่ง หงุดหงิดขัดเคืองโกรธแค้น ถอนอวิชชานุสัย อนุสัยคืออวิชชาความไม่รู้ในสัจจะที่เป็นตัวความจริง ละมานะทิฏฐิอนุสัยว่าเรามีเราเป็น ละอวิชชา ทำวิชชาให้บังเกิดขึ้น ดั่งนี้
นี้เป็นพระเถราธิบายที่ท่านอธิบายตามพระพุทธาธิบายนั้นเอง และเป็นอธิบายที่เป็นหลักในการอธิบายอริยสัจจ์ทั้ง ๔ นี้ จึงควรจะทำความเข้าใจสักเล็กน้อยในคำว่า อริยสัจจ์ ที่ท่านให้คำแปลไว้ว่า สัจจะคือความจริงที่ทำผู้รู้ให้เป็นอริยะ คือบุคคลผู้เจริญ บุคคลผู้ประเสริฐ หรือแปลว่าสัจจะคือความจริงที่บุคคลผู้เป็นอริยะพึงรู้ ดั่งนี้ และบางทีก็แปลรวบรัดว่าสัจจะคือความจริงที่ประเสริฐ อันหมายถึงที่สูงที่ละเอียด อันเป็นวิสัยที่จะพึงรู้ได้ของปัญญา ที่สูงกว่าปัญญาสามัญ
แต่มิได้หมายความว่าสัจจะที่ประเสริฐนั้นเป็นสัจจะที่ดี ที่พึงปฏิบัติอบรมให้มีขึ้น เพราะว่าทุกขสัจจะความจริงคือทุกข์นั้น ก็ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ใครต้องการ จะก่อทุกข์ให้บังเกิดขึ้น สมุทัยสัจจะ สัจจะคือสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ อันได้แก่ตัณหานั้นก็มิได้ตรัสสอน หรือสั่งสอนให้ปฏิบัติอบรมตัณหาให้มีขึ้น เพราะฉะนั้น หากแปลอริยสัจจะว่า สัจจะอันประเสริฐ คำว่าประเสริฐในที่นี้จึงไม่ได้หมายความว่าดี ที่จะพึงปฏิบัติอบรมไปทุกอย่าง แต่หมายความว่าที่ละเอียด ที่สูงกว่าสัจจะสามัญทั่วไป อันเป็นวิสัยของภูมิปัญญาที่สูงขึ้นจะพึงรู้ คือที่จะพึงรู้แจ้งเห็นจริง ที่จะปฏิบัติในกิจของสัจจะทั้ง ๔ นี้ได้จริงๆ
เพราะว่า เมื่อว่าถึงลำพังตัวสัจจะคือความจริงทั้ง ๔ นี้ มีกิจที่จะพึงปฏิบัติต่าง ๆ กัน พระพุทธเจ้าตรัสสอนให้ทำ ปริญญา คือความรู้รอบคอบในทุกข์ ตรัสสอนให้ทำ ปหานะ คือละสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ สั่งสอนให้ทำ สัจฉิกรณะ คือการกระทำให้แจ้งในนิโรธคือความดับทุกข์ ตรัสสอนให้ทำ ภาวนา คือการปฏิบัติอบรมมรรคมีองค์ ๘ อันเป็นทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ปฏิบัติอบรมให้มีขึ้นให้เป็นขึ้นมา เพราะฉะนั้น กิจที่จะพึงปฏิบัตินั้น ในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ จึงมีอยู่ ๔ อย่าง คือ
๑. ปริญญา รู้รอบคอบ หรือกำหนดรู้จักทุกข์
๒. ปหานะ ละสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์
๓. สัจฉิกรณะ กระทำให้แจ้งนิโรธความดับทุกข์ และ
๔. ภาวนา การปฏิบัติอบรมทำมรรคมีองค์ ๘ ให้มีขึ้นให้เป็นขึ้นมา
กิจในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ จึงมีต่างกันเป็น ๔ ดั่งนี้ แต่ว่าในการปฏิบัติอริยสัจจ์ทั้ง ๔ ก็คือการปฏิบัติทำกิจในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ นี้ให้บังเกิดขึ้น พระพุทธเจ้าก็ทรงสั่งสอนทุกคนนี่แหละ ให้ปฏิบัติตั้งแต่ในเบื้องต้น เรียกว่าเมื่อเข้ามาสู่พุทธศาสนาตั้งแต่ในเบื้องต้น ก็ต้องเริ่มปฏิบัติในกิจในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ นี้ ด้วยกัน แต่ในการปฏิบัติเบื้องต้นนั้นก็เรียกว่า ต้องอาศัยศรัทธา คือความเชื่อคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ามาปฏิบัติ ต้องอาศัยปัญญา คือความที่ ฟัง อ่าน คิด พินิจพิจารณา ตลอดจนถึงปฏิบัติให้มีความรู้ความเข้าใจ เป็นตัวปัญญาให้รู้แจ้งเห็นจริง ในอริยสัจจทั้ง ๔ นี้
พุทธศาสนิกชนทุกคน เมื่อเข้ามาสู่พุทธศาสนา ตั้งแต่เบื้องแรก ก็ต้องอาศัยศรัทธา และอาศัยปัญญาดังกล่าวนี้ นำการปฏิบัติให้เป็นไป บางคนก็หนักทางศรัทธา เรียกว่า สัทธานุสารี แล่นไปตามศรัทธา บางคนก็หนักทางปัญญา ชอบใคร่ครวญพิจารณา เรียกว่า ปัญญานุสารี แล่นไปตามปัญญา ศรัทธาและปัญญาทั้งสองนี้เป็นหลัก ซึ่งทุก ๆ คน อันที่จริงก็ต้องมีอยู่ด้วยกัน ทั้งศรัทธาและทั้งปัญญา ก็เพราะว่าสิ่งใดที่รู้เห็นได้ด้วยปัญญาของตัวเอง เช่นธรรมะที่ทรงสั่งสอน เป็นเหตุผลขั้นต้นขั้นต่ำ อันเป็นธรรมดาสามัญที่จะพึงบังเกิดขึ้นในปัจจุบัน ตามองเห็นได้ในบัดนี้ ก็ไม่จำต้องอาศัยศรัทธา เพราะได้ปัญญารู้เห็นได้ด้วยตัวเองแล้ว
แต่ว่าข้ออันใดที่ตนยังไม่อาจจะรู้เห็นได้ก็ต้องอาศัยศรัทธา คือความเชื่อในคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า แต่ก็มิใช่เชื่อเพียงอย่างเดียว ก็ต้องใช้ปัญญาพิจารณาจับเหตุจับผล อันเรียกว่า โยนิโสมนสิการ ทำไว้ในใจ คือรับเอาคำสั่งสอนมาไว้ในใจ ตั้งต้นแต่ใส่ใจที่จะฟังที่จะอ่าน กำหนดจดจำ นำมาขบเจาะคือพินิจให้มีความรู้ความเข้าใจ ลงความเห็นก็คือทำความรู้ความเข้าใจให้ถูกต้อง ว่าเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนี้ ดั่งนี้ก็เรียกว่าอาศัยศรัทธานำ เพื่อจะได้ปัญญายิ่ง ๆ ขึ้นต่อไป
และแม้ว่าจะชอบทางปัญญา พินิจพิจารณาให้มีความรู้ความเข้าใจด้วยตนเอง แต่แม้เช่นนั้น สิ่งที่ยังไม่รู้ไม่เห็นด้วยตัวเองได้ ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอนเอาไว้ ก็รับฟังคือใช้ศรัทธาเชื่อไว้ก่อน ไม่ปฏิเสธ และก็ปฏิบัติเพื่อให้ได้ปัญญายิ่ง ๆ ขึ้นสืบต่อไป ดั่งนี้ ต้องอาศัยศรัทธา ต้องอาศัยปัญญาดังกล่าว
แม้ในอริยสัจจทั้ง ๔ นี้ก็เช่นเดียวกัน หน้าที่ของผู้ฟังอริยสัจจ์ ก็คือปฏิบัติในกิจของอริยสัจจ์ดังที่กล่าวมาแล้ว อาศัยศรัทธาและอาศัยปัญญา ในการที่จะทำความกำหนดรู้จักทุกข์ ตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน อะไรที่ตรัสว่าเป็นทุกข์ ก็ใช้ศรัทธาใช้ปัญญาประกอบกัน เพื่อกำหนดรู้ เพื่อทำความรู้รอบคอบ ว่าข้อนี้เป็นทุกข์จริง ข้อนี้เป็นทุกข์จริง และเป็นทุกข์จริงอย่างนี้ เป็นทุกข์จริงอย่างนี้…(เริ่ม)...ข้ออื่นก็เช่นเดียวกัน อาศัยศรัทธาอาศัยปัญญาเพื่อละสมุทัย คือละตัณหา อาศัยศรัทธาอาศัยปัญญาเพื่อทำให้แจ้งนิโรธคือความดับตัณหา ซึ่งตรัสว่าเป็นความดับทุกข์ อาศัยศรัทธาและปัญญาปฏิบัติทำภาวนา คืออบรมมรรคมีองค์ ๘ให้บังเกิดขึ้น ก็อาศัยศรัทธาและปัญญาดั่งนี้ ปฏิบัติในกิจของอริยสัจจ์ทั้ง ๔ นี้ ให้ก้าวหน้าไปโดยลำดับ
ในการปฏิบัตินั้นผู้ที่เป็น อุคคติตัญญู คือรู้เร็ว เมื่อฟังคำสอนเรื่องอริยสัจจ์เพียงหัวข้อ ก็เข้าใจได้ทันที ผู้ที่เป็น วิปจิตัญญู คือมีความรู้ที่ช้าเข้าอีกหน่อยหนึ่ง เมื่อฟังอริยสัจจ์เพียงหัวข้อ และฟังอธิบายในหัวข้อก็มีความรู้ความเข้าใจ บุคคลที่เป็น เนยยะ คือพึงแนะนำได้ เมื่อฟังหัวข้อฟังอธิบายแล้วหนหนึ่ง ก็ยังไม่ค่อยเข้าใจ ก็จะต้องฟังหนที่สอง หนที่สาม หนที่สี่ หลาย ๆ หนก็อาจจะมีความรู้ความเข้าใจได้ ที่เรียกว่าเนยยะคือพึงแนะนำได้ ต้องแนะนำอบรมพร่ำสอนอยู่บ่อย ๆ บุคคลส่วนใหญ่นั้นมักจะเป็นพวกที่ ๓ นี้ คือเป็นพวกที่เรียกว่า เนยยะ คือพึงแนะนำอบรมได้
และคำว่า เนยยะ นี้เองก็ใช้อยู่ในคำว่า เวเนยยนิกร ดังที่ได้กล่าวกันว่าพระพุทธเจ้าได้ทรงอบรมสั่งสอน เวเนยยนิกร ซึ่งแปลว่าหมู่แห่งชนที่พึงแนะนำได้ ที่พึงสอนได้ และยังมีอีกคำหนึ่งในบทพระพุทธคุณว่า ปุริสทัมสารถิ พระพุทธเจ้าทรงเป็นเหมือนอย่างสารถีฝึกบุรุษบุคคลที่ควรฝึก ก็คือบุรุษบุคคลที่ฝึกได้ ซึ่งคำนี้ว่า ทัมมะปุริสสะ บุรุษบุคคลที่ฝึกได้ หรือ เวไนยนิกร หมู่แห่งชนที่พึงแนะนำได้ อบรมได้ ก็หมายถึงบุคคล ๓ จำพวกดังกล่าวมา คือ อุคคติตัญญู บุคคลที่รู้ได้เร็ว วิปจิตัญญู บุคคลที่รู้ได้ช้าเข้าหน่อยหนึ่ง คือเมื่อยกหัวข้อขึ้นแล้วก็ต้องอธิบาย เนยยะ บุคคลที่พึงแนะนำได้ อบรมได้ คือต้องพร่ำสอนกันอยู่บ่อย ๆ หลายครั้งหลายหน ๓ จำพวกนี้เป็น ปุริสทัมมะ บุรุษบุคคลที่พึงฝึก ที่ฝึกได้ เป็น เวไนยยะ หรือ เวไนยยนิกร หมู่แห่งชนที่พึงฝึกได้ แนะนำได้ อบรมได้ พระพุทธเจ้าย่อมทรงสั่งสอนได้ แก่บุคคลทั้ง ๓ พวกดังกล่าวนี้
และคำนี้เองก็บ่งว่าจะต้องมีอีกพวกหนึ่ง คือจำพวกที่ฝึกไม่ได้ คือมิใช่เป็น ปุริสทัมมะ บุรุษบุคคลที่พึงฝึกได้ แต่ว่าเป็นบุรุษบุคคลที่ฝึกไม่ได้ ดั่งนี้ก็มีอยู่ บุคคลจำพวกที่ฝึกไม่ได้นี้เอง ก็เช่นเป็นผู้ที่มีทิฏฐิมานะมาก ไม่ยอมรับคำสั่งสอน ของพระพุทธเจ้า หรือที่เรียกว่า ปทะปรมะ มีบทอย่างยิ่ง ก็คือหมายความว่าเป็นผู้ที่โง่เง่ามาก ไม่สามารถที่จะรู้ธรรมะที่ทรงสั่งสอนได้ และก็หมายรวมไปถึงผู้ที่มีทิฏฐิมานะมากดังกล่าวนั้นด้วย
จำพวกที่มีทิฏฐิมานะมากนั้น ก็ยกตัวอย่างเช่นอาจารย์สญชัย ของท่านพระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ ที่เมื่อท่านพระอัครสาวกทั้งสอง ก่อนที่ท่านจะเข้าบวช ท่านได้พบพระอัสสชิเถระแล้ว ท่านกลับไปชักชวนท่านอาจารย์ของท่าน คืออาจารย์สญชัย ท่านอาจารย์สญชัยนั้นท่านเป็นอาจารย์ใหญ่ ทั้งที่ท่านก็รู้ ว่าธรรมะของพระพุทธเจ้านั้น น่าจะต้องดี จึงได้จูงใจเอาศิษย์สำคัญของท่านไปนับถือได้ ท่านจึงถามว่า ในโลกนี้คนฉลาดมากหรือคนโง่มาก ท่านพระอัครสาวกทั้งสองเมื่อยังเป็นปริพาชก ท่านก็ตอบว่าคนโง่มาก ท่านอาจารย์สญชัยจึงได้บอกว่า ถ้าอย่างงั้นก็ให้คนฉลาดไปหาพระพุทธเจ้า ให้คนโง่มาหาท่านก็แล้วกัน ดั่งนี้ ก็คือเป็นจำพวกที่เรียกว่าเป็นบุรุษบุคคลที่ฝึกไม่ได้ เพราะมีทิฏฐิมานะมาก และตลอดจนถึงผู้ที่โง่เง่าจนเกินไป ก็รวมอยู่ในคำว่า ปทะปรมะ อันเป็นจำพวกที่ ๔
เพราะฉะนั้น กิจในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ นี้ จึงเป็นข้อที่ทุกคนจะพึงปฏิบัติตั้งแต่เบื้องต้นด้วยกันทั้งนั้น และการปฏิบัติในพุทธศาสนาทั้งสิ้น ก็รวมเข้าในการปฏิบัติกิจทั้ง ๔ นี้ คือกำหนดรู้จักทุกข์ ละสมุทัย ทำให้แจ้งนิโรธ ก็ปฏิบัติอบรมในมรรคในองค์ ๘ ซึ่งย่นเข้าก็ใน ศีล สมาธิ ปัญญา เพราะฉะนั้น อริยสัจจ์ทั้ง ๔ นี้จึงเป็นธรรมะสำคัญ ที่ควรจะต้องฟังบ่อย ๆ ต้องพินิจพิจารณากันบ่อย ๆ และเป็นที่รวบรวม ธรรมะทั้งสิ้นก็รวมอยู่ในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ นี้ กุศลธรรมทั้งสิ้นก็รวมเข้าในความรู้ในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ นี้
ต่อจากนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป