แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
ได้แสดงเรื่องสัมมาทิฏฐิตามเถราธิบายแห่งพระสารีบุตรเถระมาโดยลำดับ จนถึงท่านพระสารีบุตรได้กล่าวอธิบายจับชรามรณะ ว่ามีเพราะชาติคือความเกิด ชาติคือความเกิดมีเพราะภพ และภิกษุทั้งหลายก็ได้กราบเรียนถามท่านอีก ว่าสัมมาทิฏฐิคือความเห็นชอบ จะมีอธิบายอย่างไรอีก ท่านก็ตอบว่ามี และท่านก็จับอธิบายต่อไปซึ่งมีความว่า ความเห็นชอบคือสัมมาทิฏฐินั้น ก็คือรู้จักความเกิดขึ้นแห่งภพ ว่ามีเพราะความเกิดขึ้นแห่งอุปาทาน โดยที่ท่านได้ให้คำอธิบายเป็นหัวข้อไว้ก่อน ว่าสัมมาทิฏฐิความเห็นชอบที่จะพึงอธิบายได้ต่อไปนั้น ก็คือความรู้จักภพ ความรู้จักเหตุเกิดขึ้นแห่งภพ รู้จักความดับภพ รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับภพ เมื่อมีความรู้จักดั่งนี้ ก็ชื่อว่าสัมมาทิฏฐิเห็นชอบ ๒ อุชุกะทิฏฐิเห็นตรง ทำให้ได้ความเลื่อมใสไม่หวั่นไหวในพระธรรม และนำมาสู่สัทธรรมคือพระธรรมวินัยในศาสนานี้ ดั่งนี้
และท่านก็ได้อธิบายขยายความในข้อแรกว่า รู้จักภพ ก็คือรู้จักว่าภพนั้นมี ๓ คือ กามภพ รูปภพ อรูปภพ
อันคำว่าภพนั้นมักจะพูดกันคู่กับชาติว่า ภพชาติ ซึ่งดูเหมือนจะคล้ายๆกัน หรือเป็นอันเดียวกัน และก็ได้มีอธิบายภพทั้ง ๓ นี้ไว้ด้วย ว่าได้แก่
นี้เป็นอธิบายทั่วไป และก็อธิบายทั่วไปนี้เองที่ได้เป็นที่เข้าใจกันทั่วไป ดั่งนี้ และก็พูดควบคู่กันไปกับชาติ ว่าชาติภพ ดังกล่าว แต่ว่าในธรรมะที่อาศัยกันบังเกิดขึ้นเป็นลูกโซ่โยงกันไป อันเรียกตามศัพท์ว่าปฏิจจสมุปบาท ธรรมะที่อาศัยกันบังเกิดขึ้น ที่ท่านพระสารีบุตรมาจับอธิบายแสดงสัมมาทิฏฐิคือความเห็นชอบ ก็คือความที่รู้จักธรรมะที่อาศัยกันบังเกิดขึ้น อันโยงกันไปเป็นลูกโซ่นี้ ท่านจับแต่ชรามรณะว่ามีเพราะชาติคือความเกิด ชาติคือความเกิดก็มีเพราะภพ และในตอนนี้ท่านก็แสดงว่าภพก็มีเพราะอุปาทาน แต่ในข้อแรกที่ท่านตั้งขึ้นเป็นหัวข้อ ท่านก็จับเอาภพขึ้นเป็นที่ตั้ง ว่าสัมมาทิฏฐินั้น คือความรู้จักภพ รู้จักภพสมุทัยเหตุเกิดภพ รู้จักภพนิโรธความดับภพ ๓ รู้จักภพหรือภวนิโรธคามินีปฏิปทาข้อปฏิบัติให้ถึงความดับภพ ดั่งที่กล่าว เมื่อเป็นดั่งนี้ภพกับชาติจึงต่างกัน และชาติมีเพราะภพ ความเกิดขึ้นแห่งชาติ ก็มีเพราะความเกิดขึ้นแห่งภพ เมื่อเป็นดั่งนี้ คำว่าภพในที่นี้จึงมีอธิบายต่างออกไปจากที่กล่าวมาข้างต้น เป็นอธิบายจำเพาะในหมวดธรรมที่อาศัยกันบังเกิดขึ้นโยงกันไป เหมือนดั่งลูกโซ่ดังกล่าวนั้น
และท่านก็ได้อธิบายไว้ว่า ภพ หรือ ภว ในที่นี้มี ๒ คือ
กรรมภพ ภพคือกรรม
อุปปัติภพ ภพคืออุปบัติคือความเข้าถึง
คำว่ากรรมนั้นก็ได้แก่การงานที่กระทำ ทำทางกายก็เรียกว่ากายกรรม ทำทางวาจาก็เรียกว่าวจีกรรม ทำทางใจก็เรียกว่ามโนกรรม หมายถึงการงานที่กระทำด้วยความจงใจ อันเรียกว่าเจตนา เมื่อเจตนาคือจงใจทำ การที่กระทำนั้นจึงเป็นกรรม อันให้บังเกิดผล กรรมดีก็ให้ผลดี กรรมชั่วก็ให้ผลชั่ว นี้เป็นอธิบายกรรมทั่วไป ดังได้มีพระพุทธภาษิตที่ตรัสเอาไว้ แปลความว่า เราตถาคตกล่าวเจตนาคือความจงใจว่าเป็นกรรม เพราะบุคคลจงใจแล้วจึงทำ ทางกายบ้าง ทางวาจาบ้าง ทางใจบ้าง ดั่งนี้ แต่แม้เช่นนั้นในการแสดงกรรมโดยพิสดาร ท่านก็ยังจัดกรรมที่ทำโดยมิได้มีเจตนา คือไม่จงใจไว้ว่า ก็เรียกว่าเป็นกรรมประเภทหนึ่งเหมือนกัน เรียกว่า กตัตตากรรม กรรมที่สักแต่ว่าทำ
พิจารณาดูแล้วก็จะเห็นได้ว่า การกระทำบางอย่างที่กระทำไปแม้มิได้เจตนา แต่อาศัยความประมาทเลินเล่อเผลอเพลินพลาดพลั้ง ก็มีโทษได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้น ท่านจึงจัดเอาไว้ว่าเป็นกรรมประเภทหนึ่งด้วย ก็มีเหตุผลอยู่ ๔ แต่ว่ากล่าวโดยทั่วไปแล้ว เมื่อมีเจตนาคือจงใจทำ ท่านจึงเรียกว่าเป็นกรรม อ้างพระพุทธภาษิตดั่งที่ได้ยกมาแปลไว้ข้างต้นนั้น เพราะฉะนั้น กรรมจึงเกิดจากใจ ใจที่จงใจอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็เป็นกรรมขึ้นมาทางใจก่อน อันเรียกว่า มโนกรรม และเมื่อได้พูดออกไปด้วยใจที่มีความจงใจนั้นก็เป็นวจีกรรม เมื่อทำทางกายออกไปก็เป็นกายกรรม
เมื่อบังเกิดขึ้นอยู่ในใจ จงใจอยู่ในใจอย่างใดอย่างหนึ่ง ด้วยคิดไปก็เป็นมโนกรรม ( เริ่ม) เพราะฉะนั้น กรรมจึงเกิดจากใจ และลำพังคิดไปในใจก็เป็นมโนกรรมได้ ฉะนั้น การที่ท่านจัดว่ากรรมก็ชื่อว่าเป็นภพอย่างหนึ่ง คือ กรรมภพ ภพคือกรรมก็มีเหตุผลอยู่ เพราะคำว่าภพนั้นมาจากคำว่า ภวะ ที่แปลว่าเป็น หรือความเป็น ความเป็นความมี มีอีกคำหนึ่งคือคำว่า ภาวะ ก็แปลว่าความเป็นความมี เป็นคำเดียวกันกับคำว่าภวะ หรือภพความเป็นความมี
เพราะฉะนั้น ที่ชื่อว่าภพก็คือความเป็นความมี ที่เกิดตั้งขึ้นในจิตใจนี้ก่อน ความเป็นความมีอะไร ที่บังเกิดขึ้นตั้งขึ้นในจิตใจนี้ก่อน ก็คือความเป็นเรา ความมีเรา อันเรียกชื่ออีกคำหนึ่งว่า อัสมิ อัสมิมานะ ความสำคัญว่าเรามีเราเป็น เรามีเราเป็น ฉะนั้น ความมีเรา ความเป็นเราขึ้น อันเป็นตัวอัสมิ คืออัสมิมานะนี้ จึงบังเกิดขึ้นในจิตใจนี้ มีอยู่เป็นไปอยู่ และเมื่อมีเรา เป็นเรา หรือเรามีขึ้น เราเป็นขึ้น จึงมีอย่างอื่นต่อๆไป เช่นว่ามีของเรา คือจะต้องมีเราขึ้นมาก่อน จึงจะมีของเรา ถ้าไม่มีเรา ของเราก็ไม่มี
ฉะนั้น ความมีเราเป็นเราขึ้น ตั้งขึ้นในจิตใจนี้ ก็เรียกได้ว่าเป็นมโนกรรมอันละเอียด ซึ่งมีอยู่ในบุคคลสามัญทุกๆคน ตรงกับคำว่า ภวาสวะ อาสวะคือภพ นอนจมดองจิตสันดานของทุกๆคนอยู่ ก็คือความที่มีเราเป็นเรา เป็นตัวภวาสวะ อันนี้แหละกล่าวได้ว่าเป็นตัวมโนกรรมอันละเอียดที่ทุกๆคนมีอยู่ ดังที่ได้กล่าวแล้วว่า จะต้องมีเราเป็นเราขึ้นก่อน จึงจะมีของเรา และมิใช่ว่าจะมีเพียงของเราเท่านั้น แต่ก็หมายความว่าย่อมมีสิ่งอื่นทุกๆอย่าง ที่เกี่ยวกับตัวเรานี้ และข้อที่เกี่ยวเนื่องเป็นประการแรก ก็คือว่าชาติความเกิด ต้องมีตัวเรา และตัวเรานี้เกิด ถ้าหากว่าไม่มีตัวเราก็ไม่มีอะไรเกิด แต่เพราะมีตัวเราจึงมีชาติคือความเกิด คือตัวเราเกิด เช่นเดียวกับว่าของเราดังที่กล่าวแล้ว ต้องมีตัวเราจึงมีของเรา ถ้าไม่มีตัวเรา ของเราก็ไม่มี ฉันใดก็ดี เมื่อมีตัวเรา ตัวเรานี้เองที่มีอยู่ จึงเกิด เพราะฉะนั้น ชาติคือความเกิดจึงมีเพราะภพ ก็คือความที่มีเราเป็นเรา คือตัวเรา และตัวเราที่มีที่เป็นอยู่ อันเป็นมโนกรรมอย่างละเอียดนี้เองเกิด เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่าภพในที่นี้หมายถึงกรรมภพ ภพคือกรรม ก็ดังที่ได้อธิบายแล้ว ว่าหมายถึงมโนกรรมอย่างละเอียด ที่เรามีเราเป็น เป็นเรามีเรา เป็นตัวเราขึ้นมา นี่แหละคือตัวภพ และตัวภพนี้เองก็เป็นตัวกรรม คือจิตใจนี้เองปรุงแต่งขึ้น ทำขึ้นมา สร้างตัวเราขึ้นมา ทำขึ้นมาเป็นมโนกรรมอย่างละเอียด และเมื่อสร้างตัวเราขึ้นมา ก็ตัวเรานี้เองจึงเกิด เพราะฉะนั้น เพราะมีกรรมภพดั่งนี้จึงมีชาติคือความเกิด ถ้าไม่มีกรรมภพดั่งนี้ก็ไม่มีอะไรเกิด เพราะไม่มีตัวเรา เมื่อไม่มีตัวเราก็ไม่มีอะไรเกิด เมื่อมีตัวเราขึ้นจึงมีชาติคือความเกิด คือตัวเราเกิด และตัวเรานี้เองก็คือตัวกรรมภพ
และอธิบายของภพประการที่ ๒ ว่าได้แก่อุปปัติภพ ภพคือความเข้าถึง ก็สืบเนื่องมาจากกรรมภพนั้นเอง คือเมื่อเรามีเราเป็น มีเราเป็นเรา ตัวเรานี้เองจึงเข้าถึงชาติคือความเกิด คือตัวเรานี้เองมีอาการไป มีอาการมา และประการแรกก็คือไปสู่ชาติคือความเกิด เข้าถึงชาติคือความเกิด ตัวเรานี้เองเข้าถึงชาติคือความเกิด ดังที่เรียกในที่อื่นว่า ปฏิสนธิวิญญาณ หรือ ปฏิสนธิจิต หรือ ปฏิสนธิ และอันนี้เองที่เป็นอุปปัติภพ
ถ้าหากว่ามีตัวเรา แต่ว่าถ้าตัวเราไม่มีอาการไปไม่มีอาการมา ก็ไม่มีอาการเข้าถึงชาติคือความเกิด ๖ แต่ข้อนี้เป็นไปไม่ได้ เมื่อมีตัวเรา ตัวเราก็ต้องมีอาการไปอาการมา จึงต้องมีอาการเข้าถึงชาติคือความเกิด อาการของตัวเราที่เข้าถึง คือที่ไปที่มา นี่แหละเป็นอุปบัติภพ เพราะฉะนั้น ท่านพระสารีบุตรท่านจึงได้แสดงว่า สัมมาทิฏฐิคือความเห็นชอบนั้น ก็คือรู้จักภพ ว่าภพคืออะไรเป็นประการแรก และเมื่อรู้จักภพว่าภพคือกรรมภพอุปปัติภพ อันได้แก่ภาวะที่เป็นเรา ที่มีเรา เป็นตัวเรา ซึ่งมีอาการเคลื่อนไหวไปมาได้ เข้าถึงโน่นเข้าถึงนี่ได้ นี่แหละคือตัวภพ ซึ่งเมื่อมีภพดั่งนี้ก็มีชาติคือความเกิด ให้รู้จักภพดั่งนี้ ก็ชื่อว่าเป็นสัมมาทิฏฐิคือความเห็นชอบ ความเห็นตรง
และต่อไปท่านก็แสดงว่า รู้จักภวสมุทัย หรือภพสมุทัยเหตุเกิดแห่งภพ ก็ได้แก่อุปาทาน คือความยึดถือ รู้จักภวนิโรธ หรือภพนิโรธความดับภพ ก็คือดับอุปาทานความยึดถือ รู้จักภวนิโรธคามินีปฏิปทา ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับภพ ก็คือดับอุปาทานเสีย ความที่รู้จักดั่งนี้เป็นสัมมาทิฏฐิคือความเห็นชอบ เป็นความเห็นตรง เป็นไปเพื่อละราคานุสัย อนุสัยคือราคะความติดใจยินดี เพื่อบรรเทาปฏิฆานุสัย อนุสัยคือปฏิฆะความกระทบกระทั่งโกรธแค้นขัดเคือง เป็นไปเพื่อถอนอนุสัยคือทิฏฐิมานะว่าเรามีเราเป็น เป็นไปเพื่อละอวิชชา เพื่อทำวิชชาคือความรู้แจ้งเห็นจริงให้บังเกิดขึ้น นำให้ได้ความเลื่อมใสไม่หวั่นไหวในพระธรรม นำมาสู่สัทธรรมคือพระธรรมวินัยในศาสนานี้ ดั่งนี้ เพราะฉะนั้น ความที่มาพิจารณาให้รู้จักธรรมะที่อาศัยกันบังเกิดขึ้นโยงกันไปเป็นลูกโซ่ ตามพระเถราธิบายนี้ จึงเป็นข้อที่ควรกระทำ และเมื่อพิจารณาให้มีความเข้าใจแล้ว ก็จะได้รู้จักสัจจะคือความจริงในพุทธศาสนา จนถึงขั้นที่เป็นอริยสัจจ์ ๗ และจะรู้จักอริยสัจจ์ทั้ง ๔ ที่จำแนกออกไปได้อย่างกว้างขวาง และครอบคลุมสัจจะคือความจริงทุกอย่าง เพราะฉะนั้น จึงเป็นข้อที่ควรตั้งใจฟัง ตั้งใจพิจารณาให้มีความเข้าใจ และเมื่อมีความเข้าใจแล้ว ก็จะได้ประโยชน์ดั่งที่กล่าว
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป