แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
ได้แสดงสัมมาทิฏฐิตามเถราธิบายแห่งท่านพระสารีบุตร และโดยที่ท่านได้อธิบายไว้โดยปริยายคือทางแสดง ติดต่อกันหลายข้อหลายประการ แต่อันที่จริงก็เป็นทางธรรมะที่ดำเนินไปทางเดียวกัน เป็นแต่ท่านได้จำแนกแจกแสดง เพื่อเป็นทางพิจารณาทางปัญญาของผู้ที่มุ่งทราบ และมุ่งปฏิบัติอบรมทั้งหลาย ภิกษุทั้งหลายได้ถามท่านต่อไปอีกว่า จะมีทางอธิบายสัมมาทิฏฐิอีกหรือไม่ ท่านก็ตอบว่ามี และก็ได้แสดงอธิบายต่อไปอีกว่า สัมมาทิฏฐิความเห็นชอบก็คือรู้จัก ชรา มรณะ รู้จักสมุทัยเหตุเกิดแห่งชราและมรณะ รู้จักความดับชรามรณะ และรู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับชรามรณะ
ท่านก็ได้แสดงชี้แจงต่อไปอีกว่า ชราก็ได้แก่ความแก่ ความทรุดโทรม ฟันหัก ผมหงอก หนังเหี่ยวย่น ความเสื่อมแห่งอายุความหง่อมแก่แห่งอินทรีย์ทั้งหลาย มีตาเป็นต้น มรณะก็ได้แก่จุติ ความเคลื่อน ความแตกทำลาย ความหายไป มฤตยู ความตาย การกระทำกาละ ความแตกแห่งขันธ์ทั้งหลาย ความทอดทิ้งซากศพไว้ ความตัดขาดแห่งอินทรีย์คือชีวิต รู้จักชรา ความแก่ มรณะ ความตาย ดั่งนี้
ความแก่ความตายก็คือชาติ ความเกิด รู้จักเหตุเกิดแห่งความแก่ความตายก็คือรู้จักว่าชาติความเกิดเป็นสมุทัย เหตุเกิดแห่งความแก่ความตาย
รู้จักความดับชรามรณะก็คือรู้จักว่าดับชาติคือความเกิดเสียได้ เป็นความดับชรามรณะดังกล่าว
ทางปฏิบัติให้ถึงความดับชรามรณะความแก่ความตาย ก็คือมรรคมีองค์ ๘ ได้แก่ สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ สัมมาวาจา เจรจาชอบ สัมมากัมมันตะ การงานชอบ สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตชอบ สัมมาวายามะ เพียรชอบ สัมมาสติ ระลึกชอบ สัมมาสมาธิ ตั้งใจชอบ รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับชรามรณะ ก็คือรู้จักว่ามรรคมีองค์ ๘ ดังกล่าว เป็นทางดับชรามรณะ
เมื่อรู้จักดั่งนี้ก็ชื่อว่าสัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบความเห็นตรง เป็นเหตุละอนุสัยกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในจิตสันดาน คือราคะความติดใจยินดี บรรเทาปฏิฆานุสัย อนุสัยคือปฏิฆะ ความกระทบกระทั่งขัดเคือง ถอนอนุสัยคือทิฏฐิมานะว่าเรามีเราเป็น ละอวิชชาความไม่รู้ ทำวิชชาความรู้ให้บังเกิดขึ้น นำให้ได้ความเลื่อมใสไม่หวั่นไหวในพระธรรม นำมาสู่พระสัทธรรมคือพระธรรมวินัยในศาสนานี้ ดั่งนี้
ตามเถราธิบายนี้ก็เป็นการแสดงอธิบายอริยสัจจ์ทั้ง ๔ นั่นแหละ ให้พิสดารกว้างขวางออกไป โดยที่อริยสัจจ์ทั้ง ๔ นี้เป็นหลักใหญ่ เป็นผลเป็นเหตุในด้านทุกข์ หรือด้านวัฏฏะความวนเวียน เป็นเหตุเป็นผลในด้านดับทุกข์ หรือดับวัฏฏะความวนเวียน และแม้ในอธิบายอริยสัจจ์ทั้ง ๔ ที่อธิบายโดยทั่วไป ดังที่พระสารีบุตรได้แสดงอธิบายไว้ในเบื้องต้นแล้วว่าสัมมาทิฏฐิความเห็นชอบก็คือรู้จักทุกข์ รู้จักทุกขสมุทัย เหตุเกิดขึ้น รู้จักทุกขนิโรธ ความดับทุกข์ รู้จักมรรค ทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์
...และก็ได้แสดงอธิบายแต่ละข้อ ขยายความออกไปดังในข้อทุกข์ ข้อแรกก็แสดงด้วยเริ่มว่า ชาติ ความเกิดเป็นทุกข์ ชรา ความแก่เป็นทุกข์ มรณะความตายเป็นทุกข์ เป็นต้น รวมอยู่ในข้อทุกขสัจจะสภาพที่จริงคือทุกข์ แต่ในที่นี้ท่านได้จำแนกแจกแจงออกไปอีก คือในข้อทุกขสัจจะ สภาพที่จริงคือทุกข์ ที่ได้ยกเอา ชาติทุกข์ ชราทุกข์ มรณะทุกข์ ขึ้นมาแสดง ก็อธิบายขยายความว่า แม้ใน ๓ ข้อนี้เอง ก็ยังเป็นอริยสัจจ์ทั้ง ๔ ได้ คือ
ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับชรามรณะ ก็คือมรรคมีองค์ ๘ สำหรับในข้อ ๔ นี้ อธิบายเป็นข้อยืน
เพราะฉะนั้น แม้ในข้อทุกขสัจจะสภาพที่จริงคือทุกข์ที่อธิบายกันทั่วไปนั้น ๓ ข้อข้างต้นก็มาจำแนกเป็นอริยสัจจ์ ๔ อีกได้ สำหรับเป็นทางพิจารณา อันเรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท ซึ่งแปลว่าอธิบายจับเหตุจับผลที่สืบเนื่องกันไป เหมือนอย่างลูกโซ่สืบเนื่องกันไปเป็นลูกๆ รวมกันก็เป็นสายโซ่ทั้งเส้น แปลตามศัพท์ก็แปลว่าธรรมะที่อาศัยกันบังเกิดขึ้น คือเป็นเหตุเป็นปัจจัยอาศัยกันและกันบังเกิดขึ้นเป็นไป เหมือนอย่างลูกโซ่ลูกที่หนึ่ง ก็เป็นปัจจัยของลูกที่สอง ลูกที่สองก็เป็นปัจจัยของลูกที่สาม ลูกที่สามก็เป็นปัจจัยของลูกที่สี่ เชื่อมโยงกันไปดั่งนี้เป็นสายโซ่
และในการพิจารณาจับเหตุจับผล หรือจับปัจจัยจับผลที่โยงกันไปเป็นสายโซ่ของสังสารวัฏ คือความท่องเที่ยวเวียนเกิดเวียนตายของสัตว์ทั้งหลายในโลกนี้ ก็พิจารณาจับได้ตามนัยยะปฏิจจสมุปบาท ธรรมะที่อาศัยกันบังเกิดขึ้น เนื่องกันไปเป็นลูกโซ่ดังกล่าว และในการที่จะจับขึ้นมาพิจารณาให้เห็นได้สะดวก ก็จับพิจารณาโดยทางแห่งเถราธิบายของท่านพระสารีบุตรนี้ ตั้งต้นแต่จับชรามรณะ ความแก่ความตาย เมื่อความแก่คืออะไร ความตายคืออะไร ให้รู้จักความแก่ ให้รู้จักความตาย และก็พิจารณาให้รู้จักสมุทัยของความแก่ความตาย ว่าคือชาติความเกิดนั่นแหละ เป็นสมุทัยของความแก่ความตาย ให้รู้จักความดับความแก่ความตาย ว่าก็คือดับชาติคือความเกิดเสียได้ ก็เป็นความดับความแก่ความตาย ให้รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับความแก่ความตาย คือดับชาติดังกล่าว ก็คือมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งมรรคมีองค์ ๘ นี้เป็นข้อธรรมะปฏิบัติที่ยืน
เพราะฉะนั้น ผู้มุ่งอบรมสัมมาทิฏฐิคือความเห็นชอบ ดังพระเถราธิบายที่ท่านได้แสดงมาโดยลำดับ จับตั้งแต่ให้รู้จัก อกุศล อกุศลมูล ให้รู้จักกุศล กุศลมูล ให้รู้จักอาหารทั้ง ๔ ให้รู้จักอริยสัจจ์ทั้ง ๔ โดยอธิบายทั่วไป อันเป็นหลักใหญ่ แล้วท่านจึงมาซอยให้เห็นเงื่อน ที่ต่อเนื่องกันไปเป็นสาย เหมือนอย่างสายโซ่ดังกล่าวนั้น โดยให้จับพิจารณาให้รู้จัก ก็ตามหลักผลและเหตุด้านเกิดและด้านดับ แห่งอริยสัจจ์ทั้ง ๔ ที่เป็นหลักใหญ่นั้นนั่นเอง ดังกล่าว เพราะฉะนั้น ผู้ศึกษาปฏิบัติพุทธศาสนาทางปัญญา จึงควรศึกษาตามแนวเถราธิบายของท่านพระสารีบุตรนี้ อันเป็นทางอธิบายทางปัญญาที่ดีเยี่ยม อันทำให้ได้ปัญญารู้จักพุทธศาสนา แม้โดยปริยัติก็ตาม โดยปฏิบัติก็ตาม ย่อมใช้ได้ทั้งสองทาง จับพิจารณาให้รู้จักชราความแก่ มรณะคือความตาย ว่าความแก่เป็นอย่างนี้ ความตายเป็นอย่างนี้
ท่านพระอาจารย์ได้อธิบายความแก่ความตาย ให้ละเอียดขึ้นไปอีก โดยที่แสดงว่าชราคือความแก่นั้นมี ๒ อย่าง คือ ปฏิจฉันนะชรา ความแก่ที่ปกปิด อัปปฏิจฉันนะชรา ความแก่ที่ไม่ปกปิด
ความแก่ที่ปกปิดนั้น ก็คือความแก่ที่มีเริ่มตั้งแต่ชาติคือความเกิด ตั้งต้นแต่เป็นกลละในครรภ์ของมารดา มาจนเป็นตัวเป็นตน คลอดออกมาก็เจริญขึ้นเป็นเด็กเล็กเป็นเด็กใหญ่ เป็นหนุ่มเป็นสาว เป็นความเจริญเต็มที่ ดั่งนี้ เรียกว่า ปฏิจฉันนะชรา ความแก่ที่ปกปิด หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าความแก่ขึ้น อันความแก่ขึ้นนี้ก็เป็นชราเหมือนกัน คือความแก่ เราทั้งหลายก็ยังเรียกความแก่ขึ้นของผลไม้ว่าผลไม้แก่ ผลไม้นั้นก็เริ่มมาตั้งแต่ต้นจนปรากฏเป็นผลเล็กๆ แล้วก็โตขึ้นๆ จากผลไม้อ่อนก็แก่ขึ้นๆ เป็นแก่เต็มที่ ก็เรียกกันว่าผลไม้แก่
แต่ว่าบุคคลเราร่างกายที่เจริญขึ้นๆ จนเจริญเต็มที่ไม่เรียกกันว่าแก่ แต่อันที่จริงก็เป็นอย่างเดียวกันกับผลไม้นั้น แต่เพราะคนเราไม่เห็นว่าเป็นความแก่ แต่ว่าไปเห็นผลไม้ว่าแก่ ในเมื่อผลไม้นั้นเจริญเต็มที่ ส่วนคนเราเจริญเต็มที่นั้นเราไม่เห็นว่าแก่ เห็นว่าเป็นหนุ่มเป็นสาวเป็นความเจริญเต็มที่ แต่อันที่จริงก็เป็นอย่างเดียวกัน ที่เรียกว่าเป็นความแก่ขึ้น และเมื่อร่างกายเจริญเต็มที่แล้วก็เริ่มเสื่อมลง เรียกว่าเป็นความแก่ลง ก็แก่ลงไปเรื่อยๆ ความแก่ลงนี้ก็เป็นความแก่ที่ปรากฏ ซึ่งทุกๆ คนก็รับรองกันว่าแก่ จึงเรียกว่า อัปปฏิจฉันนะชรา ความแก่ที่ไม่ปกปิด
เมื่อเทียบกับพระพุทธาธิบาย หรือพระเถราธิบาย ที่แสดงมาข้างต้นนั้น ที่อธิบายว่าชราความแก่ก็คือ ความแก่ ซึ่งคำนี้ ซึ่งเป็นคำเริ่มต้น ก็อาจจะเป็นความแก่ที่ปกปิดก็ได้ และต่อมาจึงอธิบายต่อไปว่า ความชำรุดทรุดโทรม ซึ่งเป็นอธิบายของความแก่ลง และอธิบายให้ชัดต่อไปอีกว่าได้แก่อาการที่ ฟันหัก ผมหงอก หนังเหี่ยวย่น ความเสื่อมแห่งอายุ ความแก่หง่อมแห่งอินทรีย์ทั้งหลาย มีตาเป็นต้น อันความเสื่อมแห่งอายุนั้นก็กล่าวได้ว่า เริ่มเสื่อมตั้งแต่เวลาแรกของชาติคือความเกิด เมื่อมีชาติคือความเกิดก็เริ่มเสื่อมเรื่อยไป เช่นว่าเกิดขึ้นมาได้ ๑ ปีก็เสื่อมไป ๑ ปี เกิดมาได้ ๒ ปีก็เสื่อม ๒ ปี ก็แปลว่าลดเวลาที่มีอยู่ทั้งหมดของชีวิตลงไปทุกขณะๆ ที่เวลาของอายุล่วงไปๆ
เพราะฉะนั้น อายุที่ล่วงไปๆ นับตั้งแต่ชาติคือความเกิด ก็เรียกว่าเริ่มเสื่อมไปโดยลำดับ คือคืบเข้าไปสู่ที่สุดอันได้แก่ความตายโดยลำดับ ทุกขณะทุกเวลาที่ล่วงไปๆ ฉะนั้นความเสื่อมของอายุจึงมีมาโดยลำดับตั้งแต่ชาติคือความเกิด และเมื่อแก่ลงความทรุดโทรมของอินทรีย์ทั้งหลายมีตาเป็นต้นก็ปรากฏ แต่อันที่จริงนั้นตามศัพท์ที่ท่านใช้ว่า อินทริยานัง ปริปาโก ที่แปลว่าความ สุกรอบ ของอินทรีย์ทั้งหลาย ย่อมหมายความได้ตั้งแต่แก่ขึ้น ตลอดจนถึงแก่ลง แต่ก็มักจะแปลกันว่าความหง่อมเสื่อม แต่อันที่จริงนั้นไม่ตรง หาคำแปลยาก จึงขอยืมคำว่าความหง่อมความเสื่อม หรือแก่หง่อม มาใช้เท่านั้น แต่อันที่จริงตามศัพท์นั้นได้ทั้งแก่ขึ้นแก่ลง อินทรีย์คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็เริ่มที่จะสมบูรณ์ขึ้นโดยลำดับ ตั้งแต่ชาติคือความเกิด ดั่งนี้ก็เรียกว่า ปริปากะ คือความที่สุกโดยรอบ คือในทางสมบูรณ์ เหมือนอย่างผลไม้ที่แก่เต็มที่แปลว่าสมบูรณ์ที่สุด แล้วจึงแก่งอม แปลว่าแก่ลง ตาเสื่อม หูเสื่อม เป็นต้น
เพราะฉะนั้น แม้ในพุทธาธิบายและเถราธิบายนั้น ก็อธิบายได้ทั้งแก่ขึ้นและแก่ลงดังกล่าวนั้น แต่พระอาจารย์ได้มาชี้ให้ชัดขึ้นอีก เป็นปฏิจฉันนะชรา แก่ที่ปกปิด กับอัปปฏิจฉันนะชราแก่ที่ไม่ปกปิด ซึ่งอันที่จริงนั้นก็ไม่ได้ปกปิดด้วยกันทั้งสอง ปรากฏทั้งสอง เป็นแต่เพียงว่าบุคคลไม่รู้จักเท่านั้น คือชี้แจงอย่างละเอียดไม่รู้จัก ก็ต้องชี้กันไปตรงว่าแก่ขึ้นแก่ลง จี้ลงไปให้ชัดขึ้นเท่านั้นเอง
แต่พระพุทธาธิบาย พระเถราธิบายนั้นก็ครอบไปได้ทั้ง ๒ อย่างแล้ว ท่านจึงใช้คำอธิบายถึงเรื่องความแก่นี้ไว้หลายคำดังที่กล่าวมานั้น ก็กำหนดพิจารณาให้รู้จักชราคือความแก่ดังกล่าว และทุกคนก็มีชราคือความแก่ดังกล่าว เด็กก็พิจารณาได้ ผู้ใหญ่ก็ได้ เพราะก็แก่ด้วยกันทั้งนั้น ตั้งแต่ชาติคือความเกิดดังกล่าวมานั้น ว่านี่คือชราคือความแก่
มาถึงมรณะคือความตาย พระอาจารย์ก็ให้คำอธิบายไว้ ๒ อย่างเช่นเดียวกัน คือ ปฏิจฉันนะมรณะ ความตายที่ปกปิด กับ อัปปฏิจฉันนะมรณะ ความตายที่ไม่ปกปิด โดยอธิบายว่า อันความดับของธาตุทั้งหลาย อันประกอบเข้าเป็นรูปขันธ์ และของนามขันธ์ทั้งหลาย ย่อมมีความดับอยู่ทุกขณะในปัจจุบัน แต่ว่าอาศัยมีสันตติคือความสืบต่อ ด้วยอาหารทั้งหลายเข้าไปบำรุงเลี้ยงชดเชยส่วนที่ดับไปนั้น จึงมีความเกิดของรูปนามต่อเนื่องกันไป คือว่าเกิดดับ แล้วก็เกิด แล้วก็ดับ แล้วก็เกิดต่อเนื่องกันไป
อันความดับที่มีอยู่ในระหว่างๆ นี้คือมรณะความตายที่มีอยู่ในระหว่างๆ จะพึงเห็นได้ และโดยมีอาหารเข้าช่วยทำให้เกิดต่อเนื่องกัน ดังที่ได้มีเถราธิบายไว้แล้วในอาหาร ๔ ที่กล่าวมาแล้ว แม้ผู้ศึกษาทางสรีระวิทยาในปัจจุบันก็ยังได้กล่าวไว้เช่นนั้น ว่าร่างกายของทุกๆ คนในปัจจุบันนี้ แม้จนชั้นกระดูกที่เป็นโครงร่างของแต่บุคคลก็หาใช่ร่างกาย หาใช่กระดูกที่เป็นโครงร่างตั้งแต่เมื่อเป็นเด็ก ๆ ไม่ กระดูกและโครงร่างตั้งแต่ที่เป็นเด็ก ๆ นั้นดับหมดไปแล้ว แต่อาศัยมีร่างกายตลอดจนถึงกระดูกซึ่งเป็นโครงร่างใหม่บังเกิดขึ้นทดแทนโดยอาหาร (เริ่ม)...ความต้องการอาหารสำหรับที่จะชดเชยสืบเนื่องนี้ อย่างละเอียดก็เห็นได้ เช่นลมหายใจเข้าลมหายใจออก ต้องหายใจเข้าต้องหายใจออกกันอยู่ทุกขณะ หยุดไม่ได้ อันแสดงว่าต้องการใช้ลมเข้าไปชดเชยส่วนที่ดับไป หมดไป หยุดหายใจสักครู่หนึ่งชีวิตก็จะต้องดับ ต่อไม่ติด
อันนี้แสดงว่า เกิดดับ เกิดดับ มีอยู่ในปัจจุบัน และดับนั้นก็คือมรณะความตาย แต่อาศัยมีสันตติคือความสืบต่อดังกล่าว หายใจเข้า มีหายใจออก ออกแล้วก็เข้า เมื่อใดสันตติคือความสืบต่อนี้หยุด เช่นหายใจเข้าแล้วไม่ออก ออกแล้วไม่เข้า ดับอัสสาสะปัสสาสะ ความตายที่เรียกว่ามรณะในที่สุดก็ปรากฏ ความตายในระหว่างๆ ที่ยังมีสันตติสืบต่อเป็นความตายที่ไม่ปรากฏ
แต่ความตายที่ปรากฏก็คือความตายในที่สุดที่สิ้นความสืบต่อดังที่กล่าวนั้น แต่ตามพระเถราธิบายก็เริ่มตั้งแต่ว่าจุติความเคลื่อน ความแตกสลาย ความอันตรธานหายไป ก็เป็นถ้อยคำที่คลุมได้ทั้ง ๒ อย่าง ตั้งต้นแต่คำว่าจุติคือความเคลื่อน ชีวิตนี้ก็เคลื่อนไปสู่ความดับเรื่อยๆ ไปทุกขณะแล้ว ตั้งแต่ดับที่ยังมีสันตติสืบต่อ จนถึงดับที่สิ้นสันตติอันเป็นความตายในที่สุด แต่ว่าสำหรับผู้ที่อ่อนสติปัญญาก็ยังมองไม่เห็นชัด จึงต้องจี้ลงไป ว่าตายที่ปกปิด และตายที่ไม่ปกปิด คือสะกิดใจให้พิจารณาให้เห็นชัด เป็นอันว่าชราและมรณะนี้มีอยู่ตั้งแต่ในปัจจุบัน ตั้งแต่ชาติคือความเกิด หัดพิจารณาให้รู้จักชรา ให้รู้จักมรณะ ที่มีอยู่ในตนเอง ทุกๆ คนมีอยู่ด้วยกันทั้งนั้น เมื่อหัดให้รู้จักว่าสมุทัยของชรามรณะ ก็คือชาติความเกิด เพราะมีชาติคือความเกิดเป็นเบื้องต้นจึงมีชรามรณะ ถ้าไม่มีชาติคือความเกิดชรามรณะก็ไม่มี เพราะฉะนั้นดับชาติเสียได้จึงเป็นอันว่าดับชรามรณะ และทางปฏิบัตินั้นก็คือมรรคมีองค์ ๘ เพื่อให้ถึงความดับชรามรณะคือดับชาติความเกิด
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป