แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุก ๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
ได้แสดงท่านพระสารีบุตรอธิบายสัมมาทิฏฐิความเห็นชอบ ในขั้นที่อธิบายนี้ก็คือรู้ในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ รู้จักทุกข์ รู้จักเหตุเกิดทุกข์ รู้จักความดับทุกข์ รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ และได้แสดงกิจในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ คือทำ ปริญญา ความรู้รอบคอบกำหนดรู้ในทุกข์ ทำปหานะ การละสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ ทำสัจฉิกรณะ กระทำให้แจ้งความดับทุกข์ ทำภาวนา อบรมปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ ให้มีขึ้นให้เป็นขึ้นมา และเป็นข้อปฏิบัติที่พึงปฏิบัติตั้งแต่เบื้องต้น การปฏิบัติพุทธศาสนาก็ปฏิบัติในกิจ ๔ อย่างนี้ ในอริยสัจจ์นั้นเอง ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว เพราะฉะนั้น ในเบื้องต้นผู้ปฏิบัติธรรมะก็พึงศึกษาสดับตรับฟังว่าทุกข์คืออะไร ตามที่ตรัสไว้ว่าชาติความเกิดเป็นทุกข์ เป็นต้น และเมื่อสรุปเข้า ขันธ์เป็นที่ยึดถือทั้ง ๕ ประการเป็นทุกข์ ดั่งนี้
และสำหรับข้อข้างต้น ๆ ก็พิจารณาเห็นได้โดยไม่ยากนัก ส่วนข้อที่ว่าขันธ์เป็นที่ยึดถือทั้ง ๕ ประการเป็นทุกข์โดยย่อ ก็ต้องทำความเข้าใจว่า ขันธ์คือกองทั้ง ๕
รูป ก็เป็นรูป (ส่วน) เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ รวมเรียกว่านาม รูปนาม แต่เรียกกลับกันเสียว่านามรูป
ขันธ์เป็นที่ยึดถือทั้ง ๕ ประการเหล่านี้เป็นทุกข์ ก็เพราะยึดถือจึงเป็นทุกข์ ถ้าไม่ยึดถือขันธ์ทั้ง ๕ นี้ก็เป็นสภาพธรรมดา ซึ่งมีชาติคือความเกิดเป็นเบื้องต้น มีชราความเก่า ตลอดจนถึงชำรุดทรุดโทรมโดยลำดับ และมีมรณะความตายเป็นที่สุด ก็เป็นสภาวะเป็นธรรมดา
เมื่อบุคคลไม่ยึดถือขันธ์ทั้ง ๕ นี้ก็เป็นไปตามสภาพธรรมดา ๓ เกิด แก่ ตาย หรือเกิด แก่ เจ็บ ตาย แต่เมื่อบุคคลไปยึดถือเพราะมีตัณหาคือความดิ้นรนทะยานอยาก เป็นเหตุปัจจัยให้ยึดถือว่าเป็นของเรา เราเป็น เป็นอัตตาตัวตนของเรา บุคคลโดยตรงคือจิตใจจึงต้องเป็นทุกข์ ต้องมีโสกะ มีปริเทวะเป็นต้น ซึ่งรวมเข้าก็เป็น ๒ คือประจวบกับสิ่งหรือสัตว์สังขารที่ไม่เป็นที่รัก พลัดพรากจากสิ่งหรือสัตว์สังขารซึ่งเป็นที่รัก ย่อเข้าอีกก็เป็น ๑ คือปรารถนาไม่ได้สมหวัง แต่ทั้งหมดนี้ก็สรุปเข้าย่อเข้าในขันธ์เป็นที่ยึดถือทั้ง ๕ ประการเหล่านี้นั่นแหละ
เพราะฉะนั้นจึงมีความสำคัญอยู่ที่ความยึดถือ ยึดถือว่า เอตังมะมะ นี่เป็นของเรา เอโส หะ มัสมิ เราเป็นนี่ เอโส เม อัตตา นี่เป็นอัตตาตัวตนของเรา ที่ยึดถือก็เพราะมีตัณหา ความอยาก ความดิ้นรน ความทะยานอยากของจิตใจ เพราะฉะนั้นจึงศึกษาให้รู้จักว่าตัณหานี้เป็นตัวสมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์ นอกจากให้เกิดทุกข์ทางจิตใจ มีโสกะปริเทวะเป็นต้นดังกล่าว ยังเป็นเหตุก่อภพชาติต่อไป ต้องเวียนว่ายตายเกิดต่อไป
ความเวียนว่ายตายเกิดต่อไปนั้นเรียกว่า สังสาระ หรือ สงสาร อันแปลว่าความท่องเที่ยวไป และความท่องเที่ยวไปนั้นก็ท่องเที่ยวไปโดยอาการที่เป็น วัฏฏะ อันแปลว่าวน
วัฏฏะคือวนนั้น ก็พูดกันง่าย ๆ ว่าเวียนเกิดเวียนตาย หรือเวียนเกิดแก่เจ็บตาย คือเมื่อเกิดก็แก่ ก็เจ็บ ก็ตาย ตายแล้วก็เกิด ก็แก่ ก็เจ็บ แล้วก็ตาย ตายแล้วก็เกิด ก็เวียนอยู่ดั่งนี้ ความเวียนอยู่ดั่งนี้เรียกว่าวัฏฏะ คือความวน หรือความเวียน ซึ่งพูดกันเข้าใจง่าย ๆ
แต่เมื่อจะแสดงถึงวัฏฏะคือความวนตามหลักธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้ ก็มี ๓ อย่างคือ กิเลสวัฏฏะ วนคือกิเลส กรรมวัฏฏะ วนคือกรรม วิปากวัฏฏะ วนคือวิบากผลของกรรม อันหมายความว่า กิเลสก็เป็นเหตุให้ทำกรรม กิเลสจึงเป็นเหตุ กรรมจึงเป็นผลของกิเลส และกรรมนั้นเองก็เป็นตัวเหตุให้เกิดวิบากคือผล กรรมจึงเป็นเหตุ วิบากจึงเป็นผล และวิบากนั้นเองก็เป็นตัวเหตุก่อกิเลสขึ้นอีก
เมื่อเป็นดั่งนี้วิบากนั้นก็เป็นเหตุ กิเลสก็เป็นผลของวิบาก และกิเลสก็เป็นเหตุให้กระทำกรรม กิเลสก็เป็นเหตุ กรรมก็เป็นผลของกิเลส และกรรมนั้นเองก็เป็นเหตุส่งวิบาก เมื่อเป็นดั่งนี้กิเลสก็กลับเป็นเหตุ วิบากก็เป็นผล และวิบากคือผลนั้นก็กลับเป็นเหตุก่อให้เกิดกิเลสขึ้นอีก เพราะฉะนั้น กิเลส กรรม วิบาก จึงวนอยู่ดั่งนี้
ก็โดยที่บุคคลนี้เอง หรือจิตนี้เองที่วนอยู่ในกิเลสกรรมวิบาก แล้วก็กลับเป็นเหตุก่อกิเลส กิเลสก็ก่อกรรม กรรมก็ก่อวิบาก วิบากก็ก่อกิเลส เพราะฉะนั้น สัตว์บุคคลจึงวนอยู่ในกิเลสกรรมวิบากทั้ง ๓ นี้ นี้เป็นวัฏฏะ
วัฏฏะคือความวนนี้ ก็วนอยู่ในปัจจุบันนี้นี่เอง และวนอยู่เรื่อยไป ในอดีตก็วนมาดั่งนี้ ในปัจจุบันก็วนมาดั่งนี้ ในอนาคตก็จะวนต่อไปดั่งนี้ เพราะฉะนั้นวัฏฏะคือความวนนี้จึงวนอยู่ในกิเลสกรรมวิบาก หรือในกงของกิเลสกรรมวิบาก กิเลสกรรมวิบากนี้เป็นกรรมเมื่อเทียบกับล้อ จะเป็นล้อเกวียนล้อรถก็ตาม ซึ่งประกอบด้วยกง ประกอบด้วยกำ ก็มีอยู่ ๓ กำ ก็คือ กิเลส กรรม วิบาก ติดประกอบอยู่ในกงอันเป็นวงกลม วัฏฏะคือความวน ก็วนเป็นวงกลมอยู่ดั่งนี้
พิจารณาดูความเป็นไปของจิตในปัจจุบัน ก็จะพึงเห็นได้ว่าก็วนอยู่ใน ๓ อย่างนี้ เป็นต้นว่าเกิดตัณหาขึ้นในรูป ตัณหานั้นก็เป็นกิเลส ก็เป็นเหตุให้ประกอบกรรมคือจงใจที่จะดูรูป และเมื่อเป็นกรรมคือประกอบการดูรูป เช่นขวนขวายไปดู มองดู ดั่งนี้ก็เป็นกรรม ก็ได้วิบากคือผล คือเห็นรูปที่จงใจจะดูด้วยรูปตัณหา การเห็นรูปนี่เป็นวิบากคือผล ผลของกรรมคือการที่จงใจดู และเมื่อเห็นรูป รูปที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจ ก็ก่อให้เกิดรูปตัณหายิ่งขึ้นไปอีก รูปตัณหานั้นก็เป็นเหตุให้ประกอบกรรมคือการดูยิ่งขึ้นไปอีก ดูก็เห็นซึ่งเป็นผล รูปที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจ ก็ก่อให้เกิดรูปตัณหายิ่งขึ้นไปอีก เพราะฉะนั้น ทุก ๆ อย่างในปัจจุบันนี้ จิตของสรรพสัตว์ คือจิตที่ยังมีความข้องความเกี่ยว มีสังโยชน์คือความผูกพัน ก็วนอยู่ในกิเลสกรรมวิบากทั้ง ๓ นี้ตลอดเวลา ไม่ออกไปนอกจากวงแห่งกิเลสกรรมวิบากทั้ง ๓ นี้ ก็เป็นไปอยู่ดั่งนี้ และเมื่อว่าถึงวงกว้างคือเกิดแก่ตายในชาติหนึ่งชาติหนึ่ง เกิดคือชาติก็เป็นตัววิบากคือผลของกิเลสที่เป็นมาแต่อดีต ก็คือตัณหานั้นเอง ยกตัณหาขึ้นเป็นประธาน แต่ที่ท่านอธิบายนั้นท่านมักอธิบายว่าอวิชชา ตัณหา อุปาทาน กรรม
...ในที่นี้ก็ยกเอาเพียงข้อกิเลสคือตัณหาอย่างเดียว เพราะว่าตัณหานั้นเป็นตัวก่อภพชาติ และเมื่อมีชาติคือความเกิดขึ้นมา ก็แก่ ก็เจ็บ ก็ตาย ในที่สุด และเมื่อยังมีตัณหาอยู่ ยังดับตัณหาไม่ได้ ตัณหาก็เป็นชนกกิเลส ชนกกรรม นำก่อภพก่อชาติใหม่ขึ้นมาอีก แล้วเป็นชาติขึ้น ก็ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย ตายแล้วก็มีปฏิสนธิคือเกิด เกิดก็แก่ ก็เจ็บ ก็ตาย ตายแล้วก็เกิด ก็เป็นอันว่าแม้ในวงกว้างก็วนเวียนอยู่ดั่งนี้ สัตว์บุคคลหรือจิตอันนี้จึงท่องเที่ยวอยู่ในวัฏฏะคือวน ดังที่กล่าวมานี้ เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่าวัฏฏะสงสาร ท่องเที่ยววนเวียนอยู่ในกิเลสกรรมวิบาก ท่องเที่ยววนเวียนเกิดแก่เจ็บตาย ก็เป็นไปอยู่ดั่งนี้
เพราะฉะนั้นก็เป็นอันศึกษาให้รู้จักตัวสมุทัย คือตัณหาซึ่งเป็นตัวต้นเหตุ เมื่อดับตัณหาเสียได้ก็เป็นอันว่าหักวัฏฏะคือวนดังกล่าว ดับกิเลส ดับทุกข์ทางจิตใจในปัจจุบัน วิบากขันธ์ยังอยู่ ก็อยู่ไป เหมือนอย่างวิบากขันธ์ของพระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทั้งหลาย และเมื่อดับขันธ์ในที่สุด ไม่เกิดอีก ก็เป็นอันว่าเป็นปรินิพพาน คือดับรอบ สิ้นทุกข์ด้วยประการทั้งปวง เป็นอันศึกษาให้รู้จักทุกขนิโรธคือความดับทุกข์
จึงมาถึงศึกษาให้รู้จักข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ซึ่งก็รวมเข้าในมรรคมีองค์ ๘ ย่อเข้าก็เป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญา เมื่อศึกษาให้รู้จักดั่งนี้ ก็ปฏิบัติหัดที่จะกำหนดรู้จักทุกข์ตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน และกำหนดเข้ามาดูทุกข์ อันมีอยู่ที่ตัวเราเอง คือ ชาติ ชรา พยาธิ มรณะ ซึ่งเป็นตัวสภาวะทุกข์ หัดดูให้รู้จักทุกข์ทางจิตใจที่บังเกิดขึ้นมี โสกะ ปริเทวะ เป็นต้น และกำหนดให้รู้จักว่าที่ต้องมีทุกข์โศกกันอยู่เหล่านี้ ก็เพราะว่ายังมีที่รัก ยังมีไม่เป็นที่รัก เมื่อประจวบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก ก็เป็นทุกข์ขึ้นมา พลัดพรากจากสิ่งที่เป็นที่รัก ก็เป็นทุกข์ขึ้นมา รวมเข้าก็คือว่า เพราะยังมีความปรารถนา และความปรารถนานั้นไม่สมหวังก็เป็นทุกข์ขึ้นมา
อันความปรารถนาไม่สมหวังนั้นย่อมมีอยู่ เพราะความปรารถนาที่สมหวัง ที่เรียกว่าสมหวังนั้น ก็คือความที่ได้มาตามที่ต้องการ ตามที่หวัง แต่ความที่ได้มาตามที่ต้องการ ตามที่หวังนั้น เรียกว่าเป็นความประจวบ เมื่อประจวบกับสิ่งที่เป็นที่รักก็ย่อมจะมีความสุข
แต่ว่าอันความสุขที่ได้จากความประจวบกับสิ่งที่เป็นที่รักนั้น ก็เป็นการเริ่มต้นของความพลัดพราก เหมือนอย่างเมื่อได้ชาติคือความเกิดมา ตนเองเกิดมาก็ดี ลูกหลานเกิดมาก็ดี ก็เรียกว่าเป็นความตั้งต้นการได้ แต่ว่าความตั้งต้นการได้นี้ ก็เป็นความตั้งต้นของความเสื่อมความดับ เพราะเมื่อเกิดมาก็ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป ในทางขึ้น และในทางเสื่อม จนถึงดับในที่สุด
แต่ว่าเมื่อยังมีตัณหา มีความยึดถือ ว่าเป็นตัวเรา เป็นของเรา ก็ย่อมจะไม่ต้องการให้สิ่งที่ยึดถือนี้ ต้องเปลี่ยนแปลงไป ต้องดับไป ซึ่งเป็นการฝืนสภาพธรรมดา อันเป็นไปไม่ได้ เมื่อเป็นดั่งนี้ การได้นั้นเอง และยึดถือ จึงเป็นตัวต้นเหตุที่ให้เกิดทุกข์ต่างๆ
ความได้ที่ทุกคนพอใจดีใจร่าเริงนั้น ทุกอย่างเป็นความตั้งต้นแห่งความทุกข์ เพราะจะต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลง ต้องพลัดพรากไป
การได้ลาภได้ยศที่ทุกคนพอใจดีใจร่าเริง นั้นคือความเริ่มต้นของความพลัดพราก ซึ่งเป็นตัวทุกข์ เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เพราะในที่สุดก็จะต้องพลัดพราก ถ้าลาภยศนั้นไม่พลัดพรากไปก่อน ชีวิตนี้ก็ต้องพลัดพราก เพราะชีวิตนี้ก็ต้องเกิดต้องดับ เพราะฉะนั้น ทุกสิ่งจึงเป็นสิ่งที่ต้องเกิดต้องดับ
หัดกำหนดพิจารณาให้รู้จักสัจจะคือความจริงดั่งนี้ คือให้รู้จักว่าทุกข์เป็นทุกข์ อันนี้เป็นข้อฝึกทางปัญญาที่จะให้รู้จัก รู้จักว่าทุกข์เป็นทุกข์นั้น นอกจากที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้ตามที่ได้แสดงแล้ว ก็กำหนดให้รู้จักว่าทุก ๆ สิ่งที่ได้ จะเป็นลาภเป็นยศ เป็นอะไรก็ตามที่ได้นั้น ชื่อว่าเป็นการได้ที่เป็นความตั้งต้นของความพลัดพราก เพราะฉะนั้น เมื่อได้ก็ดีใจรู้สึกเป็นสุข แต่ความดีใจความสุขนั้นตั้งอยู่ประเดี๋ยวประด๋าว แล้วเมื่อสิ่งที่ได้นั้น ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปดับไป เมื่อมีความยึดถืออยู่ว่าเป็นตัวเราของเรา ยึดถือไว้เท่าไหร่ก็ต้องเป็นทุกข์มากเท่านั้น ยึดถือมากก็ทุกข์มาก ยึดน้อยก็ทุกข์น้อย ไม่ยึดถือเลยจึงจะไม่เป็นทุกข์
เพราะฉะนั้นก็ต้องศึกษาให้รู้จักทุกข์ว่าเป็นทุกข์ รู้จักว่าสิ่งที่ได้จะเป็นลาภเป็นยศก็ตาม เป็นความสุข เป็นความรื่นเริง เป็นความหัวเราะ ความบันเทิงต่าง ๆ นั่นเป็นตัวทุกข์ เป็นตัวทุกข์ทุก ๆ อย่าง เพราะเป็นสิ่งที่ต้องเกิดต้องดับ ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปทั้งสิ้น ไม่มีอะไรที่จะดำรงอยู่ หัดรู้จักทุกข์ รู้จักตัวทุกข์ว่าเป็นตัวทุกข์ดั่งนี้
และความที่กำหนดให้รู้จักทุกข์ว่าเป็นตัวทุกข์ดั่งนี้ ก็พึงหัดกำหนดให้รู้จักทุกข์ทุกอย่างที่ประสบทางอายตนะทั้งสิ้น แม้ตัวความสุขความร่าเริงความเพลิดเพลินต่าง ๆ เอง ก็กำหนดให้รู้จักว่านั่นแหละก็เป็นตัวทุกข์ เพราะเป็นสิ่งที่ต้องเกิดต้องดับ สิ่งทั้งหลายอันเป็นที่ตั้งของความสุขความเพลิดเพลิน เหล่านั้นก็เป็นตัวทุกข์ ก็เป็นสิ่งที่ต้องเกิดต้องดับ ทำความรู้เท่าไว้ตั้งแต่ในเบื้องต้น
เมื่อจะมีความสุขก็มีความสุขไป มีเพลิดเพลิน มีความร่าเริง มีความหัวเราะ ก็หัวเราะไป ร่าเริงไป เพลิดเพลินไป แต่ในขณะเดียวกันก็ทำความรู้เท่าทันไว้ด้วย ว่านั่นคือตัวทุกข์ทั้งนั้น เพราะเป็นสิ่งที่ต้องเกิดต้องดับ ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป ทั้งนี้เพราะอะไร ก็เพราะว่าทุก ๆ สิ่งทุก ๆ อย่างเหล่านี้ล้วนเป็นสังขาร คือเป็นสิ่งผสมปรุงแต่งทั้งนั้น เป็นสิ่งผสมปรุงแต่งทุก ๆ อย่าง ตากับรูป หูกับเสียง เป็นต้น ก็เป็นสิ่งผสมปรุงแต่ง และเมื่อตากับรูปประจวบกันเห็นรูปที่เรียกว่าวิญญาณ ก็เป็นสิ่งผสมปรุงแต่ง เวทนา สัญญา สังขาร ต่าง ๆ ที่บังเกิดขึ้น ก็เป็นสิ่งผสมปรุงแต่ง ทุก ๆ อย่างเป็นสิ่งผสมปรุงแต่งทั้งนั้น ซึ่งมีความรวมกันเข้ามา ประจวบกันเข้ามา ที่เรียกว่าชาติคือความเกิดก็ได้เป็นเบื้องต้น แล้วก็ต้องมีความแตกมีความดับในที่สุด เรียกว่าเกิดดับ เกิดเป็นเบื้องต้น ดับเป็นที่สุด ทุกอย่างต้องเป็นไปดั่งนี้ และสิ่งที่มาผสมปรุงแต่งอันมีลักษณะดั่งนี้ นี่แหละเรียกว่าสังขารสิ่งผสมปรุงแต่ง ทำความรู้จักว่านี่คือสังขารคือเป็นสิ่งผสมปรุงแต่ง อันเป็นสิ่งที่ต้องเกิดต้องดับ
และเมื่อเป็นสังขารอันเป็นสิ่งที่ต้องเกิดต้องดับดั่งนี้ พระพุทธเจ้าจึงทรงสั่งสอนให้รู้จักลักษณะของสิ่งผสมปรุงแต่ง อันเรียกว่าสังขตลักษณะ ลักษณะของสิ่งผสมปรุงแต่ง หรือลักษณะของสิ่งที่เรียกว่าเป็นสังขารว่า อุปปาโท ปัญญายติ ความเกิดขึ้นปรากฏ วโย ปัญญายติ ความเสื่อมไปปรากฏ ฐิตัสสะ อัญญะถัตตัง ปัญญายติ เมื่อตั้งอยู่ความที่ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปปรากฏ ความเปลี่ยนแปลงไปนี้ของชีวิต ของทุก ๆ สิ่ง มีอยู่ตลอด เหมือนอย่างกาลเวลาที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่ทุกขณะ ไม่มีหยุด กาลเวลาไม่มีหยุดที่จะล่วงไป ๆ ต้องเปลี่ยนแปลงไป สังขารชีวิตร่างกายทุก ๆ สิ่งในโลกนี้ ก็ไม่มีหยุดต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป เพราะฉะนั้นเมื่อกำหนดให้รู้จักสังขาร จึงต้องกำหนดให้รู้จัก วิปรินามะ อันเป็นลักษณะของสังขาร อันได้แก่ความแปรปรวนเปลี่ยนแปลง นี่เป็นวิธีพิจารณา
เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงได้ทรงสอนวิธีกำหนดให้รู้จักทุกข์ไว้ ๓ อย่าง
ข้อ ๑ ก็คือว่า ทุกขทุกข์ ให้รู้จักทุกข์ว่าเป็นตัวทุกข์
ข้อ ๒ สังขารทุกข์ ให้รู้จักว่าทุกข์ก็คือสังขาร สิ่งที่ผสมปรุงแต่งทั้งหมด
ให้รู้จัก วิปรินามทุกข์ ทุกข์คือความแปรปรวนเปลี่ยนแปลง ตั้งแต่เกิดจนถึงดับ มีเกิดเบื้องต้น มีดับเป็นที่สุด ดั่งนี้
เพราะฉะนั้น ท่านที่ได้ดวงตาเห็นธรรม เมื่อฟังเทศนาของพระพุทธเจ้า ดั่งท่านพระอัญญาโกณฑัญญะ เมื่อฟังปฐมเทศนาของพระพุทธเจ้าที่ตรัสแสดงอริยสัจจ์ ท่านฟังแล้วท่านเข้าใจ จับประเด็นอันสำคัญได้ คือท่านเห็นทุกข์ เห็น ทุกขทุกข์ ตัวทุกข์ว่าเป็นตัวทุกข์ เห็น สังขารทุกข์ ทุกข์คือสังขารสิ่งผสมปรุงแต่ง เห็น วิปรินามทุกข์ ทุกข์คือความแปรปรวนเปลี่ยนแปลง ต้องเกิดต้องดับ ธรรมจักษุดวงตาเห็นธรรมของท่านจึงมีแสดงไว้ว่า ท่านเห็นว่า ยังกิญจิ สมุทย ธัมมัง สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สัพพันตัง นิโรธ ธัมมัง สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับไปเป็นธรรมดา ดั่งนี้ คือท่านเห็นทุกขะทุกขะ เห็นสังขารทุกขะ เห็นวิปรินามทุกขะ ทุก ๆ สิ่งที่เป็นสังขารสิ่งผสมปรุงแต่งเป็นตัวทุกข์ เป็นตัวสังขาร และเป็นสิ่งที่ต้องเกิดต้องดับ ทั้งสิ้น อันนี้แหละเป็นธรรมจักษุดวงตาเห็นธรรม ฟังเทศอริยสัจจ์ ท่านเกิดธรรมจักษุดวงตาเห็นธรรมดั่งนี้ และท่านที่ได้ดวงตาเห็นธรรมดั่งนี้ ท่านแสดงว่าท่านได้โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล เป็นโสดาบันบุคคล อันเป็นอริยบุคคลขั้นที่ ๑ ในพระพุทธศาสนา
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป