แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุก ๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
จะแสดงพระพุทธเจ้าตรัสสอนเรื่องจิต ตามที่ได้มีพระพุทธภาษิตตรัสไว้ โดยชื่อว่าจิตบ้าง วิญญาณบ้าง เพราะว่าการปฏิบัติอบรมจิตอันเรียกว่าจิตภาวนานั้น พระพุทธเจ้าผู้พระบรมศาสดาก็ได้ตรัสสอนไว้ ซึ่งมีคำแปลว่า ภิกษุทั้งหลายจิตนี้ปภัสสร คือผุดผ่อง จิตนี้นี่แหละเศร้าหมองไป เพราะอุปกิเลสคือเครื่องที่เข้าไป หรือเข้ามา ทำให้จิตเศร้าหมองทั้งหลาย ที่เป็นอาคันตุกะคือที่จรมา บุถุชนผู้มิได้สดับแล้วย่อมไม่รู้จักจิตนั้น
พระองค์จึงตรัสว่าจิตภาวนา การอบรมจิตย่อมไม่มีแก่บุถุชนผู้มิได้สดับแล้ว และได้ตรัสไว้อีกว่าภิกษุทั้งหลายจิตนี้ปภัสสร คือผุดผ่อง จิตนั้นนั่นแหละพ้นแล้วได้ จากอุปกิเลสคือเครื่องที่เข้าไปหรือเข้ามาทำให้จิตเศร้าหมองทั้งหลายที่จรเข้ามา อริยสาวกคือศิษย์ของพระอริยะผู้ประเสริฐผู้เจริญ ได้สดับแล้ว ย่อมรู้จักจิตนั้น พระองค์ตรัสว่าจิตภาวนา การอบรมจิตย่อมมีแก่อริยสาวกผู้สดับแล้ว ดั่งนี้ และได้มีพระพุทธภาษิตตรัสถึงจิตไว้อีกเป็นอันมาก เป็นต้นว่า จิตที่มิได้อบรมแล้ว มิได้รักษาคุ้มครองแล้ว เป็นจิตที่ไม่ควรแก่การงาน ย่อมเป็นไปเพื่อโทษ มิใช่ประโยชน์ใหญ่ ส่วนจิตที่อบรมแล้ว รักษาคุ้มครองแล้ว เป็นจิตที่ควรแก่การงาน ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ใหญ่ ดั่งนี้เป็นต้น
เหตุเกิดแห่งชรามรณะ
ฉะนั้น การอบรมจิต รักษาคุ้มครองจิต ฝึกจิต จึงเป็นสิ่งสำคัญของผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลาย จะเว้นจากการอบรมจิตเสียมิได้ และเมื่อได้ปฏิบัติฝึกอบรมจิตแล้ว ก็ย่อมจะได้ประสบประโยชน์ใหญ่ที่ตรัสไว้ ประโยชน์ใหญ่นั้นก็หมายคลุมถึงประโยชน์ที่ได้จำแนกเอาไว้ เป็นประโยชน์ปัจจุบันบ้าง ประโยชน์ภายหน้าบ้าง ประโยชน์อย่างยิ่งบ้าง แต่ในการที่จะปฏิบัติอบรมจิตนั้น ก็จำเป็นที่จะต้องรู้จักจิต จะรู้จักจิตได้ก็จะต้องเป็นผู้ที่สดับ คือสดับตรับฟังคำสั่งสอนของพระอริยะ ดังที่เรียกว่าอริยสาวก ที่แปลว่าผู้ฟังแห่งพระอริยะ ซึ่งพระพุทธเจ้าผู้พระบรมศาสดานั้นเองทรงเป็นพระอริยะขึ้นพระองค์แรก และเมื่อได้ทรงแสดงธรรมสั่งสอน ผู้ฟังคำสั่งสอนของพระองค์ ได้รู้ธรรมะเห็นธรรมะตามพระองค์ จึงได้เป็นอริยะตามพระองค์ขึ้นมา
คำว่าอริยสาวกแปลได้อีกว่าสาวกผู้เป็นอริยะ ซึ่งจะต้องสดับคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าผู้พระบรมศาสดา ที่ตรัสชี้แจงแสดงไว้โดยเฉพาะ ตรัสชี้แจงแสดงไว้ว่าจิตนี้ปภัสสร คือผุดผ่อง จิตนี้นั้นเศร้าหมองไปเพราะอุปกิเลสทั้งหลายที่จรมา จิตนี้นั้นพ้นแล้วได้จากอุปกิเลสที่จรมาทั้งหลาย ก็โดยที่ปฏิบัติอบรมจิต อันเรียกว่าจิตตภาวนา ตามที่ทรงสั่งสอนไว้ และผู้ที่ได้สดับตรับฟังได้ปฏิบัติอบรมจิต จนจิตพ้นจากอุปกิเลสเครื่องเศร้าหมองทั้งหลายที่จรเข้ามาได้ แม้บางส่วน จึงได้ชื่อว่าอริยสาวกผู้สดับแล้ว เป็นผู้ที่รู้จักจิต และพระองค์ก็ตรัสว่ามีจิตตภาวนาคือการอบรมจิต
ฉะนั้น ในเบื้องต้นจึงต้องตั้งใจสดับตรับฟังคำสั่งสอน ของพระพุทธเจ้าผู้พระบรมศาสดาที่แสดงเรื่องจิตไว้ดั่งนี้ ให้รู้จักจิตไว้เป็นเบื้องต้นก่อน ว่าจิตนี้เป็นธรรมชาติที่ปภัสสร คือผุดผ่อง ความผุดผ่องเป็นธรรมชาติของจิต จิตผุดผ่องโดยธรรมชาติอยู่ตลอดเวลา เมื่อไร ๆ ก็เป็นธรรมชาติที่ปภัสสร คือผุดผ่องอยู่ แต่ก็เศร้าหมองไปเพราะอุปกิเลสทั้งหลายที่จรเข้ามา
วิญญาณธาตุ
จิตนี้มีธรรมชาติที่ผุดผ่องดังกล่าว และยังมีธรรมชาติอย่างไรอีก ก็ได้มีพระพุทธภาษิตตรัสเอาไว้อีก ว่าบุรุษบุคคลทุกคนนี้มีธาตุ ๖ ได้แก่ปฐวีธาตุ ธาตุดิน อาโปธาตุ ธาตุน้ำ เตโชธาตุ ธาตุไฟ วาโยธาตุ ธาตุลม อากาสธาตุ ธาตุอากาศคือช่องว่าง และวิญญาณธาตุ คือธาตุรู้ ซึ่งวิญญาณธาตุคือธาตุรู้นี้ ตามพระพุทธภาษิตที่ตรัสสอนไว้ให้พิจารณาธาตุ ๕ ข้างต้น ว่าเป็นอนัตตามิใช่ตัวตน ไม่พึงยึดถือว่าเป็นของเรา หรือว่าเราเป็น หรือว่าเป็นอัตตาตัวตนของเรา และเมื่อได้ปฏิบัติพิจารณาธาตุ ๕ ข้างต้นดั่งนี้ วิญญาณธาตุก็ย่อมบริสุทธิ์ผ่องใส อาจที่จะน้อมวิญญาณธาตุที่บริสุทธิ์ผ่องใสอันควรแก่การงาน อ่อนควรแก่การงาน ไปเพื่อสมาธิอย่างสูงได้ แต่ว่าเมื่อน้อมไปเพื่อสมาธิอย่างสูงนี้ก็ไม่ตรัสสอนให้ติด ถ้าไปติดเข้าก็ย่อมจะได้แค่สมาธิและผลหรือภพชาติของสมาธิอย่างสูงนั้นเท่านั้น ในการที่น้อมวิญญาณธาตุที่บริสุทธิ์ ที่ควรแก่การงานไปเพื่อสมาธิอย่างสูงนี้ ก็ตรัสชี้ว่าจะได้ อุเบกขา คือความที่จิตสงบตั้งอยู่ในภายใน กำหนดอยู่ในภายใน รู้สงบอยู่ในภายใน (เริ่ม)...และอุเบกขานี้ก็ไม่พึงติด เพราะถ้าติดเข้าก็จะอยู่แค่อุเบกขาที่เป็นขั้นสมาธิอย่างสูงดังกล่าว เพราะฉะนั้น จึงได้ตรัสสอนไม่ให้ยึดถือ เมื่อไม่ยึดถือเสียได้จึงจะก้าวขึ้นสู่มรรคผลนิพพานต่อไป
ตัวรู้อยู่ที่ไหนจิตก็อยู่ที่นั่น
ตามแนวที่ตรัสสอนไว้นี้จึงทำให้เป็นที่เข้าใจว่า วิญญาณธาตุนั้นก็หมายถึงจิตนี้เอง ซึ่งเป็นธาตุรู้ จิตจึงเป็นธาตุรู้ รู้อะไร ๆ ได้ และเป็นธรรมชาติที่ผุดผ่องดังกล่าวมาข้างต้น
จิตเป็นธาตุรู้ที่รู้อะไร ๆ ได้นี้ จึงกำหนดจิตได้ที่ตัวรู้หรือที่ความรู้ รู้อยู่ที่ไหนจิตก็อยู่ที่นั่น ยกตัวอย่างเช่น เมื่อตั้งสติกำหนดธรรมะที่กำลังอบรมอยู่นี้ จิตตั้งอยู่ที่ถ้อยคำที่กำลังกล่าวอยู่นี้ ก็ย่อมรู้ถ้อยคำที่กล่าวอยู่นี้ ซึ่งเป็นภาษา และก็รู้ความของภาษาที่กำลังกล่าวอยู่นี้ ฉะนั้น ในขณะที่ทำสติกำหนดฟังอยู่ จึงรู้ รู้ถ้อยคำที่ฟัง รู้ความของถ้อยคำที่ฟัง จิตจึงอยู่ที่ถ้อยคำที่แสดง ที่ฟังอยู่นี้ แต่ถ้าจิตออกไปเสียจากถ้อยคำที่ฟังอยู่นี้ จิตก็จะไปรู้ในเรื่องอื่นที่จิตไปตั้งอยู่ สุดแต่ว่าจิตจะไปตั้งอยู่ในเรื่องอะไรก็ย่อมรู้เรื่องนั้น และเมื่อจิตออกไปตั้งอยู่ในเรื่องอื่น หูก็ดับไม่ได้ยินเสียงที่กำลังอบรมอยู่นี้ เพราะว่าหูนั้นจะไม่ดับได้ก็ต้องมีจิตเข้าตั้งอยู่ด้วย หูก็ฟังได้ยิน และก็รู้ ถ้าจิตออกไปเสียแล้ว ก็ไปรู้เรื่องอื่นที่จิตตั้งอยู่ดังกล่าว หูก็ดับจากเรื่องนี้ เพราะฉะนั้นจิตนี้จึงสำคัญมาก แม้หูเองที่ฟังได้ยินนั้น ตามลำพังหูหาได้ยินไม่ ต้องมีจิตตั้งอยู่ด้วย
แม้อายตนะอื่นก็เช่นเดียวกัน ตา จมูก ลิ้น กาย ก็เช่นเดียวกัน จะรับรู้อะไร ๆ ได้ ตาจะมองเห็นได้ ลิ้นจะทราบรส จมูกจะทราบกลิ่นได้ ลิ้นจะทราบรสได้ กายจะรู้สิ่งถูกต้องได้ ก็ต้องมีจิตตั้งอยู่ด้วย ถ้าจิตไม่ตั้งอยู่ด้วยแล้ว สิ่งเหล่านี้ก็ดับหมด ตาก็ไม่เห็น จมูกก็ไม่ทราบกลิ่น ลิ้นก็ไม่ทราบรส กายก็ไม่ทราบสิ่งถูกต้อง ให้สังเกตดูให้ดีจะรู้สึกได้ดั่งนี้ จิตจึงเป็นธาตุรู้อันเรียกว่าวิญญาณธาตุดั่งนี้
ความรู้ของจิตอาศัยทวารทั้ง ๖
และความรู้ของจิตดังกล่าวโดยปรกติก็ต้องอาศัยทวารทั้ง ๖ คือทวารตา หู จมูก ลิ้น กาย และมนะคือใจ หรือว่าอายตนะภายในทั้ง ๖ นั้นเอง ซึ่งทวารทั้ง ๖ นี้ก็เป็นทวารสำหรับที่รับอายตนะภายนอก รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมะคือเรื่องราว แต่ว่าก็มารับกันแค่ประตูทั้ง ๖ นี้เท่านั้น จิตนี้เองก็ออกรู้ทางทวารทั้ง ๖ นี้ รับเอาเข้าไปสู่จิตโดยเป็นอารมณ์คือเป็นเรื่องเข้าไป เพราะว่า อายตนะภายนอกทั้งปวงที่เป็นวัตถุนั้น คือเป็นรูปที่ตาเห็น เสียงที่หูได้ยิน กลิ่นที่จมูกทราบ รสที่ลิ้นทราบ สิ่งถูกต้องที่กายทราบ เป็นวัตถุจะเข้าไปสู่จิตไม่ได้ จิตรับสิ่งเหล่านี้โดยเป็นอารมณ์คือเป็นเรื่องเข้าไปทางทวารทั้ง ๖ นี้ ก็คือรับเอาเป็นเรื่องรูป เรื่องเสียง เรื่องกลิ่น เรื่องรส เรื่องโผฏฐัพพะ เข้าไปนั้นเอง และจิตนี้เองเมื่อรับเป็นอารมณ์เข้าไปสู่จิต ก็ย่อมมีสังโยชน์ คือความผูก
ซึ่งสังโยชน์ คือตัวความผูกนี้เอง เป็นความผูกพันทางจิตใจ และนำให้เกิดความยินดีบ้าง ความยินร้ายบ้าง ความรู้สึกเป็นกลาง ๆ บ้าง ในอารมณ์คือเรื่องเหล่านั้น และก็สุดแต่ว่าเรื่องเหล่านั้นจะเป็นที่ตั้งของอะไร ถ้าเป็นเรื่องที่เป็นที่ตั้งของความยินดีพอใจ ก็เกิดความยินดีพอใจ เป็นที่ตั้งของความยินร้าย ก็บังเกิดความกระทบกระทั่ง โกรธแค้นขัดเคือง ๖ ถ้าเป็นที่ตั้งของความหลง ก็เกิดความหลง และที่เป็นกลาง ๆ นั้นเองก็เป็นที่ตั้งของความหลงด้วย
อุปกิเลส
ความยินดี ความยินร้าย ความหลงนี้ก็เป็นกิเลสขึ้นมา เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่าอุปกิเลส เพราะเป็นสิ่งที่จรเข้ามากับอารมณ์ ไม่ใช่เป็นเนื้อแท้ของจิต เป็นสิ่งที่จรเข้ามากับอารมณ์ ที่เข้ามาทางทวารทั้ง ๖ ดังกล่าวมานั้น และเมื่อเป็นอุปกิเลสขึ้นดั่งนี้ จิตที่ปภัสสรคือผุดผ่องอยู่โดยธรรมชาติ จึงต้องเศร้าหมองไป มัวไป ไม่แจ่มใส เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่ากิเลสที่แปลว่าเศร้าหมองไม่ผ่องใสไม่บริสุทธิ์
หลักปฏิบัติในจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน
เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอนให้ทำจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ตั้งสติกำหนดดูจิต จิตเป็นอย่างไรก็ให้รู้อย่างนั้น จิตมีราคะหรือปราศจากราคะก็ให้รู้ จิตมีโทสะหรือปราศจากโทสะก็ให้รู้ จิตมีโมหะหรือปราศจากโมหะก็ให้รู้ จิตหดหู่หรือจิตฟุ้งซ่านก็ให้รู้ จิตแผ่ไปใหญ่หรือจิตที่ไม่แผ่ไปใหญ่คือคับแคบก็ให้รู้ จิตที่ยิ่งหรือไม่ยิ่งก็ให้รู้ จิตที่มีสมาธิตั้งมั่นหรือไม่มีสมาธิคือไม่ตั้งมั่นก็ให้รู้ จิตที่พ้นหรือไม่พ้นก็ให้รู้
ให้ตั้งสติกำหนดทำความรู้เข้ามา และเมื่อตั้งสติกำหนดทำความรู้เข้ามาดั่งนี้ ความกำหนดดูจิตก็คือดูที่ความรู้ของจิต อีกอย่างหนึ่งเรียกว่าความคิดของจิต ดูที่ความรู้ความคิดของจิต เพราะว่าคิดก็คือรู้ รู้ก็คือคิดนั้นเอง ดูที่ความรู้ความคิด และเมื่อดูที่ความรู้ความคิด ก็ย่อมจะรู้ว่าจิตเป็นอย่างไร และย่อมจะรู้ว่าจิตมีอารมณ์คือเรื่องที่คิดที่รู้อยู่อย่างไรด้วย ยกตัวอย่างเช่น จิตมีราคะความติดใจยินดี ก็ให้รู้ว่าจิตมีราคะคือความติดใจยินดี เมื่อตั้งสติกำหนดดูก็ย่อมจะรู้ ว่าจิตคิดหรือรู้เรื่องอะไร ราคะคือความติดใจยินดีนั้น จิตติดใจยินดีอยู่ซึ่งอะไร ในอะไร เช่นในรูป ในเสียงที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจ ที่กำลังคิดถึงอยู่ ที่กำลังรู้อยู่ และเมื่อจิตมีอารมณ์อยู่ดั่งนี้ ก็ติดใจยินดีเป็นตัวราคะขึ้นมา
โทสะก็เหมือนกัน จิตโกรธก็ให้รู้ว่าจิตโกรธ แล้วเมื่อดูเข้ามาที่จิตโกรธก็ย่อมจะรู้ว่าโกรธอะไร โกรธใคร เรื่องอะไร ย่อมจะรู้อารมณ์อันเป็นที่ตั้งของความโกรธนั้นด้วย และนอกจากนี้ย่อมจะรู้พลังด้วย เช่นราคะติดใจยินดีมากหรือน้อย โทสะโกรธแค้นขัดเคืองมากหรือน้อย รู้พลังด้วย เพราะฉะนั้นเมื่อกำหนดดูอย่างนี้ จิตกับอารมณ์ที่ผูกกันอยู่กับกิเลสที่บังเกิดขึ้นอยู่ ก็ย่อมปรากฏอยู่ในความรู้ ซึ่งเป็นตัวสติที่กำหนดดู ตัวสติที่กำหนดดูนี้จึงเป็นผู้ดู ส่วนจิตกับอารมณ์และกิเลสที่กำลังประกอบกันอยู่ ปรุงกันอยู่ เป็นฝ่ายถูกดู เพราะฉะนั้นฝ่ายที่ถูกดูนี้จึงเป็นเหมือนอย่างการละเล่น สติที่เป็นผู้ดูก็เหมือนอย่างเป็นผู้ดูการละเล่น
การปฏิบัติแยกจิตออกเป็น ๒ ส่วน
การปฏิบัติดั่งนี้จึงเท่ากับเป็นการปฏิบัติแยกจิตนี้เองออกเป็น ๒ ส่วน คือส่วนที่เป็นผู้ดู กับส่วนที่ถูกดู และเมื่อแยกกันออกมาได้ดั่งนี้แล้ว ก็เป็นผลของการปฏิบัติขั้นหนึ่ง และเมื่อได้การปฏิบัติขั้นหนึ่ง คือแยกออกมาเป็นผู้ดู และเป็นผู้ถูกดูดั่งนี้ ก็จะได้ผลของการปฏิบัติขั้น ๒ ต่อไป คือฝ่ายที่ถูกดูนั้นจะอ่อนกำลังลงจนสงบไปหายไป ผู้ดูนั้นก็จะเป็นผู้รู้เป็นผู้เห็นในสิ่งที่ดู ตั้งต้นแต่จะมองเห็นจิตของตัวเองที่เป็นฝ่ายถูกดู เช่นกำลังรัก กำลังโกรธ จะเห็นอารมณ์อันเป็นที่ตั้งของความรักความโกรธ จะเห็นจิตผูกอยู่ในอารมณ์อันเป็นที่ตั้งของความรักความโกรธนั้นไม่หลุดไปจากจิต
สังโยชน์
แล้วก็จะรู้จักว่า ตัวที่ผูกอยู่นั้นคือตัวสังโยชน์ ที่แปลว่าผูกก็ตรงนี้เอง คืออารมณ์อันเป็นที่ตั้งของรักของชังนั้นผูกอยู่กับจิต จิตผูกอยู่กับอารมณ์นั้น จึงรักจึงชัง ก็เป็นความที่ปรุงแต่งกันไป เมื่ออารมณ์อันเป็นที่ตั้งของความรักมาผูกอยู่ที่จิต จิตผูกอยู่ที่อารมณ์ อันเป็นที่ตั้งของความรักนั้น ก็ปรุงแต่งไป ว่าน่ารักอย่างนั้น น่ารักอย่างนี้ เป็นยังโง้นเป็นยังงี้ ถ้าเป็นอารมณ์อันเป็นที่ตั้งของโทสะผูกอยู่ จิตก็จะปรุงแต่งว่าน่าชังน่าโกรธยังงั้น ๆ จะมองเห็น จะมองเห็นว่านั่นเป็นตัวผูก เพราะผูกนี้เองจึงทำให้ปรุง ปรุงรักปรุงโกรธขึ้นมา
และเมื่อเป็นผู้รู้ผู้เห็นดั่งนี้ชัดขึ้น ความผูกนั้นก็จะหย่อนคลายไป กำลังของความปรุงแต่งของจิตก็จะหย่อนคลายไป จนเมื่อจิตกับอารมณ์ที่ผูกกันอยู่นั้น ตัวผูกหลุดไป จิตกับอารมณ์ก็แยกออกจากกัน เมื่อจิตกับอารมณ์แยกออกจากกันความปรุงแต่งก็หยุด หยุดปรุงแต่งรัก หยุดปรุงแต่งชัง หยุดปรุงแต่งเสียเมื่อใดแล้วความรักความชังก็สงบ หลุดกันแค่นั้น สติซึ่งเป็นผู้กำหนด กำหนดดู กำหนดรู้ กำหนดเห็นอยู่นั้น ก็รู้ก็เห็น และก็เป็นรู้เห็นตั้งแต่ยังปรุงแต่งอยู่ จนถึงความผูกหลุดออกจากกัน หยุดปรุงแต่ง สงบ ก็รู้อยู่กับความสงบ ดั่งนี้เป็นการปฏิบัติทางจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป