แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุก ๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
ปัญญาในธรรมนั้นเรียกได้ว่าเป็นสัมมาทิฏฐิ คือความเห็นชอบ เป็นความเห็นตรง สัมมาทิฏฐินี้เป็นข้อสำคัญ พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสไว้เป็นข้อแรกในมรรคมีองค์ ๘ คือเป็นองค์แรกของมรรคมีองค์ ๘ นั้น เพราะฉะนั้น การทำสมาธิดั่งที่ได้กล่าวว่าทำสมาธิในการฟัง ก็เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม อันเป็นสัมมาทิฏฐินี้เอง ถ้าหากว่าไม่ได้ปัญญาในธรรมอันเป็นสัมมาทิฏฐินี้ ก็มิบรรลุถึงข้อที่ปฏิบัติ และผลแห่งข้อที่ปฏิบัติ อันเป็นที่มุ่งในทางพุทธศาสนา
คำว่าพุทธศาสนานั้น ก็แสดงอยู่แล้วว่าเป็นศาสนาทางปัญญา เพราะพระพุทธเจ้าผู้ตรัสรู้ ก็คือทรงปัญญาตรัสรู้นั้นเอง ฉะนั้น ปัญญาจึงเป็นข้อสำคัญ และปัญญาที่มุ่งหวังก็คือสัมมาทิฏฐิความเห็นชอบ ความเห็นตรงนี้เอง
เมื่อได้ความเห็นชอบ ได้ความเห็นตรง ก็ย่อมจะได้ปสาทะ คือความเลื่อมใส อันไม่หวั่นไหวในพระธรรม เป็นผู้มาสู่สัทธรรมนี้ ฉะนั้น จึงกล่าวได้ว่าการมาสู่สัทธรรมนี้ ก็ต้องอาศัยความเลื่อมใสที่ไม่หวั่นไหวในพระธรรม ความเลื่อมใสที่ไม่หวั่นไหวในพระธรรม ก็ต้องอาศัยสัมมาทิฏฐิ คือความเห็นชอบ ความเห็นตรงเป็นหลัก ทุกคนย่อมมีความรู้ความเห็นซึ่งเป็นตัวปัญญา ที่ได้มาแต่ชาติกำเนิดเป็นมนุษย์ ซึ่งแปลอย่างหนึ่งว่าผู้ที่มีใจสูง หรือผู้ที่มีความรู้สูง ฉะนั้น จึงสามารถที่จะรู้สัจจะคือความจริงของสิ่งทั้งหลายได้ในขั้นธรรมดาสามัญทั่วไป และเมื่อได้อบรมปัญญาที่ได้มาแต่ชาติกำเนิด อันเรียกว่า สชาติปัญญา ยิ่ง ๆ ขึ้นไปแล้ว ก็จะได้ความรู้ที่ยิ่ง ๆ ขึ้นไป ได้สัมมาทิฏฐิคือความเห็นชอบที่ยิ่ง ๆ ขึ้นไป ได้ความเห็นตรงที่ยิ่ง ๆ ขึ้นไป
พระพุทธเจ้าได้ตรัสอธิบายสัมมาทิฏฐิ คือความเห็นชอบไว้ทั่วไปว่า คือ ความรู้ในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ รู้จักทุกข์ รู้จักสมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์ รู้จักนิโรธ ความดับทุกข์ รู้จักมรรค คือทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์
ท่านพระสารีบุตรเถระก็ได้อธิบายสัมมาทิฏฐิแก่ภิกษุทั้งหลาย ที่ท่านประมวลไว้ในสัมมาทิฏฐิสูตร โดยที่ท่านได้อธิบายกว้างขวางออกไป ขยายความออกไป จับตั้งแต่เบื้องต้นโดยที่ท่านได้กล่าวตั้งเป็นกระทู้ขึ้นว่า ที่เรียกว่าสัมมาทิฏฐิ สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบนั้นเป็นอย่างไร
ท่านก็อธิบายว่าได้แก่ ความรู้จักอกุศล ความรู้จักอกุศลมูล มูลเหตุของอกุศล ความรู้จักกุศล ความรู้จักกุศลมูล มูลเหตุของกุศล
ท่านก็ได้แสดงอธิบายขยายความต่อไปอีกว่า กุศลนั้น อกุศลนั้น ได้แก่อะไร ท่านก็ยกเอา อกุศลกรรมบถ คือทางแห่งกรรมที่เป็นอกุศลขึ้นแสดง
รวมเป็นอกุศลกรรมบถ ๑๐ ทางแห่งกรรมที่เป็นอกุศล ๑๐ นี้คืออกุศล สัมมาทิฏฐิก็คือรู้จักทางแห่งกรรมที่เป็นอกุศลทั้ง ๑๐ ประการเหล่านี้ว่าเป็นอกุศลจริง
อกุศลมูล มูลเหตุของอกุศล ก็ได้แก่ โลภ คือความโลภอยากได้ อันนำให้ประกอบอกุศลกรรม โทสะความโกรธแค้นขัดเคือง อันนำให้ประกอบอกุศลกรรม โมหะความหลง อันนำให้ประกอบอกุศลกรรม
สัมมาทิฏฐิก็คือความรู้จักอกุศลมูลเหล่านี้ว่า โลภะ โทสะ โมหะ เป็นมูลเหตุของอกุศลกรรมทั้งหลายตามเป็นจริง
ส่วนกุศล และกุศลมูลนั้น ก็ตรงกันข้าม กุศลก็ได้แก่กุศลกรรมบถทั้ง ๑๐ คือทางแห่งกรรมที่เป็นกุศล เป็นกายกรรม ๓ วจีกรรม ๔ มโนกรรม ๓
ทั้ง ๑๐ นี้ก็ตรงกันข้ามกับอกุศลกรรมบถทั้ง ๑๐ สัมมาทิฏฐิก็คือรู้จักกุศลกรรมบถทั้ง ๑๐ นี้ ว่าแต่ละข้อเป็นกุศลจริง
ส่วนกุศลมูล มูลเหตุของกุศลนั้น ก็ได้แก่
สัมมาทิฏฐิความเห็นชอบก็คือรู้จักกุศลมูลเหล่านี้ว่า ทุก ๆ ข้อเป็นมูลเหตุของกุศลจริง
สัมมัปปัญญา สัมมาทิฏฐิคือความเห็นชอบดั่งนี้เป็นทิฏฐิคือความเห็น เป็นทัศนะคือความเห็น เป็นญาณะคือความรู้ หรือเป็นปัญญาคือความรู้ทั่วถึง ที่จำต้องการเป็นขั้นต้นของทุก ๆ คนในโลก
แต่ว่าจะได้สัมมาทิฏฐิคือความเห็นชอบดั่งนี้ได้ ก็ต้องอาศัยความที่ใช้ปัญญาที่มีอยู่เป็นพื้น ในการประกอบปลูกปัญญาให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป ด้วยการฟังการเรียน อันรวมในคำว่า สุตะ ด้วยการคิดพินิจพิจารณา อันรวมเรียกว่า จินตา และด้วยการปฏิบัติอบรมต่าง ๆ ในข้อที่พึงปฏิบัติอบรมนั้น ๆ อันเรียกว่า ภาวนา และเมื่อได้ประกอบปฏิบัติปลูกปัญญาอบรมปัญญา เพิ่มพูนปัญญาในทางที่ถูกต้องอยู่เสมอ ก็ย่อมจะได้ปัญญาที่เป็นปัญญาถูกต้อง อันเรียกว่า สัมมัปปัญญา ได้สัมมาทิฏฐิคือความเห็นชอบ ดังกล่าว
และข้อนี้ได้มีพระพุทธภาษิตตรัสไว้ในที่อื่นอีกว่า ก็ต้องอาศัย มิตตสัมปทา คือความถึงพร้อมด้วยมิตร อันหมายความว่าได้มิตรที่ดีงาม อันเรียกว่า กัลยาณมิตร พระพุทธเป็นยอดของกัลยาณมิตร มารดาบิดาครูอาจารย์ทั้งหลายก็เป็นกัลยาณมิตร เพื่อนมิตรทั้งหลายซึ่งเป็นผู้ทรงปัญญา สามารถที่จะให้คำแนะนำอบรมอันถูกต้องได้ ก็เรียกว่ากัลยาณมิตร ต้องอาศัยกัลยาณมิตรนี้ ประการหนึ่ง
อีกประการหนึ่งก็คือ โยนิโสมนสิการ ที่แปลว่าการทำไว้ในใจ จับให้ถึงต้นเหตุ ดังเช่น เมื่อกำหนดเพื่อรู้จัก อกุศล ก็ต้องจับให้ถึงต้นเหตุ ว่ามีมูลเหตุมาจาก โลภะ โทสะ โมหะ ซึ่งเป็นอกุศลมูล และเมื่อกำหนดเพื่อรู้จัก กุศล ก็ต้องจับให้ถึงต้นเหตุ ว่ามีต้นเหตุหรือมูลเหตุมาจากกุศลมูล คือ อโลภะ อโทสะ อโมหะ ดังกล่าว ความใส่ใจคือความกำหนดใจพินิจพิจารณาจับเหตุของผลให้ได้ดั่งนี้ คือ โยนิโสมนสิการ ก็ต้องอาศัยโยนิโสมนสิการนี้อีกข้อหนึ่ง
ได้มีพระพุทธภาษิตตรัสไว้ว่า กัลยาณมิตรและโยนิโสมนสิการนี้ ย่อมเป็นเบื้องต้นของสัมมาปฏิบัติทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นสมาธิ ไม่ว่าจะเป็นปัญญา หรือคลุมไปได้จนถึงศีลทั้งหมด ต้องอาศัยมีกัลยาณมิตร และมีโยนิโสมนสิการ มาตั้งแต่เบื้องต้น เหมือนอย่างอรุณเป็นเบื้องต้นของวัน กัลยาณมิตรและโยนิโสมนสิการก็เปรียบเหมือนว่า เป็นอรุณเป็นเบื้องต้นของความสว่าง ของสัมมาปฏิบัติคุณงามความดีทั้งสิ้น อันนับว่าเป็นความสว่าง จึงต้องอาศัยกัลยาณมิตร และโยนิโสมนสิการ ดั่งนี้
และในหมวดธรรมบางหมวด ก็ได้ตรัสอธิบายขยายความออกไปในทางปฏิบัติ ว่าส้องเสพคบหาสัตตบุรุษคือคนดีก็ได้แก่กัลยาณมิตรนี้เอง ฟังธรรมของคนดี มีโยนิโสมนสิการ ใส่ใจ คือนำเอาธรรมะที่ฟังมาใส่ไว้ในใจ ตั้งต้นแต่ตั้งใจฟัง ตั้งใจพิจารณาจับเหตุจับผล และปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ข้อใดที่พึงละก็ละ ข้อใดที่พึงปฏิบัติก็พึงปฏิบัติ ข้อใดที่พึงปฏิบัติก่อนก็ปฏิบัติก่อน ข้อใดที่ปฏิบัติภายหลังก็ปฏิบัติภายหลัง ดั่งนี้เป็นต้น เรียกว่าปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม และเมื่อมีทั้ง ๔ ข้อนี้ก็เป็นอันว่านำให้ได้สัมมาทิฏฐิ คือความเห็นชอบความเห็นตรง นำให้ได้ความเลื่อมใสที่ไม่หวั่นไหวในพระธรรม นำเข้ามาสู่สัทธรรมคือธรรมะของสัตตบุรุษ หรือธรรมะที่ดีที่ถูกต้อง คือพระธรรมวินัยนี้ ดั่งนี้
เพราะฉะนั้น การปฏิบัติเพื่อให้ได้สัมมาทิฏฐิดังกล่าวนี้ พระสารีบุตรจึงได้นำมาอธิบายไว้เป็นประการแรก และท่านยังได้กล่าวไว้ด้วยว่า เมื่อได้สัมมาทิฏฐิคือความเห็นชอบ รู้จักอกุศล รู้จักอกุศลมูล รู้จักกุศล รู้จักกุศลมูล อันนำให้ได้สัมมาทิฏฐิคือความเห็นชอบ ความเห็นตรง ก็ย่อมจะนำให้ได้ความเลื่อมใสที่ไม่หวั่นไหวในพระธรรม นำเข้ามาสู่พระธรรมวินัยนี้ ที่ท่านเรียกว่านำเข้ามาสู่สัทธรรมนี้ ก็คือนำเข้ามาสู่พระพุทธศาสนา คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านี้นั่นเอง และเมื่อเป็นดั่งนี้ก็ย่อมจะเป็นเหตุให้ปฏิบัติละกิเลส ที่นอนจมหมักหมมดองจิตสันดาน อันเรียกว่าอาสวะหรือเรียกว่าอนุสัย อันยกขึ้นมาก็คือว่า เป็นเหตุให้ละ ราคานุสัย กิเลสที่นอนจมหมักหมมจิตสันดานคือราคะ บรรเทา ปฏิฆานุสัย อนุสัยคือปฏิฆะความกระทบกระทั่ง อันเป็นเบื้องต้นของกิเลสกองโทสะ ถอน ทิฏฐิมานานุสัย อนุสัยคือทิฏฐิมานะ ละอวิชชา ทำวิชชาให้บังเกิดขึ้น จึงเป็นไปเพื่อการกระทำความสิ้นสุดแห่งกองทุกข์ได้ ดั่งนี้
เพราะฉะนั้น ปัญญาที่ต้องการในทางพุทธศาสนา อันเป็นขั้นต้นที่ต้องการทั่วไป ก็คือปัญญาที่ทำให้เป็นสัมมาทิฏฐิความเห็นชอบดังกล่าว ก็คือให้รู้จักอกุศล ให้รู้จักอกุศลมูล ให้รู้จักกุศล ให้รู้จักกุศลมูล แต่ว่าพึงทำความเข้าใจด้วยอีกว่า ความรู้จักที่เป็นตัวปัญญาที่เป็นสัมมาทิฏฐิดังกล่าวนี้ ไม่ใช่สัญญาคือความทรงจำ ความทรงจำนั้นก็คือความทรงจำตามที่ฟัง ตามที่อ่าน ตามที่เล่าเรียน ก็จำได้ ว่าอกุศลกรรมบถ ๑๐ อกุศลมูล ๓ มีอะไรบ้าง กุศลกรรมบถ ๑๐ กุศลมูล ๓ มีอะไรบ้าง ก็จำได้ ความจำได้ดั่งนี้ยังไม่เป็นปัญญา ยังไม่เป็นสัมมาทิฏฐิดังกล่าว ต้องอาศัยความคิดพินิจพิจารณา และการปฏิบัติอีกด้วย คือว่าต้องคิดพิจารณาไป และต้องปฏิบัติไป การปฏิบัติไปนั้นก็คือ ปหานะ ละ อย่าง ๑ ภาวนา ทำให้มีขึ้นให้เป็นขึ้น ๑
ละ ก็คือว่าต้องฝึกละอกุศลกรรมบถทั้ง ๑๐ ละอกุศลมูลทั้ง ๓ นี่เป็นข้อที่ต้องปฏิบัติฝึกหัดละ
ภาวนาคือทำให้มีขึ้นให้เป็นขึ้นนั้น คือต้องปฏิบัติฝึกที่จะประกอบกุศลกรรมบถทั้ง ๑๐ และอบรมกุศลมูล อโลภะ อโทสะ อโมหะ ให้มีขึ้นให้บังเกิดขึ้นในจิตใจ นี้ก็รวมเข้าในคำว่าภาวนา สุตะ จินตาภาวนา ซึ่งเป็นเหตุให้ได้ปัญญา ปัญญาที่ได้จากสุตะคือการสดับ การอ่าน การเรียน ก็เรียกว่าสุตามัย ปัญญาที่ได้จากความคิดพินิจพิจารณาก็เรียกว่าจินตามัยปัญญา ที่ได้จากการปฏิบัติอบรมก็เรียกว่าภาวนามัยปัญญา
(เริ่ม)...แต่ว่าในข้อ ๓ นี้ ก็ต้องประกอบด้วยทั้งละ และทั้งทำให้มีขึ้น ให้เป็นขึ้น ดังกล่าวนั้น แต่เมื่อปฏิบัติไป ๆ อาศัยสุตะ อาศัยจินตา อาศัยภาวนาทั้ง ๓ นี้ ก็ย่อมจะได้ปัญญา ที่เป็นตัวความรู้ขึ้นของตัวเอง ได้ความเห็นขึ้นของตัวเอง ซึ่งมีคำเรียกว่า ญาณทัสสนะ ความรู้ความเห็น รู้เห็นว่าข้อนี้ ๆ เป็นอกุศลจริง ข้อนี้ ๆ เป็นอกุศลมูลจริง ข้อนี้ ๆ เป็นกุศลจริง ข้อนี้ ๆ เป็นกุศลมูลจริง ในการที่จะปฏิบัติประกอบปัญญาในทางทั้ง ๓ ดังกล่าวนั้น ก็ต้องอาศัยกัลยาณมิตร และอาศัยโยนิโสมนสิการดังกล่าวมานั้น ประกอบกันอยู่ตลอดเวลา
ฉะนั้นผู้มุ่งจะได้ปัญญาที่เป็นสัมมาทิฏฐิ จึงต้องปฏิบัติตามมงคลสูตรคาถาแรกของพระพุทธเจ้าอยู่ให้เป็นประจำ คือ ไม่เสวนาคบหาคนพาลทั้งหลาย เสวนาคบหาบัณฑิตทั้งหลาย และบูชาผู้ที่ควรบูชาทั้งหลาย เมื่อปฏิบัติอยู่ดั่งนี้แล้วจึงจะได้กัลยาณมิตร และเมื่อมีโยนิโสมนสิการประกอบอยู่ตลอด ก็ย่อมจะเจริญปัญญาขึ้นโดยตลอด ทำให้เกิดความรู้ของตัวเองขึ้นรับรอง ว่านี่เป็นอย่างนี้จริง นี่เป็นอย่างนี้จริง ตามความเป็นจริง โดยที่จับเหตุจับผลได้ถูก จับได้ว่าอกุศลมูลนั้นเป็นตัวเหตุ ตัวอกุศลนั้นเป็นตัวผล กุศลมูลนั้นเป็นตัวเหตุ ตัวกุศลนั้นเป็นตัวผล ซึ่งการที่จะจับเหตุจับผลได้ถูกต้องดั่งนี้ ก็เกิดจากโยนิโสมนสิการ ใส่ใจ ตั้งแต่ตั้งใจฟังคำสอนของกัลยาณมิตร มาจนถึงพินิจพิจารณาขบเจาะ จับเหตุแห่งผลให้ได้ หรือว่าจับผลสาวหาเหตุให้ได้ จับเหตุที่จะส่งผลให้ได้ นี่แหละคือโยนิโสมนสิการ ให้ความรู้ของตัวเองบังเกิดขึ้นรับรอง ว่าข้อนี้เป็นความจริง ข้อนี้เป็นความจริง
และเมื่อได้ปัญญาคือความรู้ของตัวเองให้เกิดขึ้นรับรองขึ้นตามเป็นจริง ดั่งนี้ จึงจะชื่อว่ามีความเห็นชอบที่เรียกว่าสัมมาทิฏฐิ ความเห็นตรงที่เรียกว่าอุชุทิฏฐิ ทำให้มีความเลื่อมใสมิหวั่นไหวในพระธรรม โดยตรงก็คือในคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ว่า สวากขาโต ภควตา ธัมโม ธรรมะอันพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว คือดีจริงถูกต้องจริง งามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์คือศาสนาคำสั่งสอน ที่แสดงความประพฤติอันประเสริฐ พร้อมทั้งอรรถะคือเนื้อความ พร้อมทั้งพยัญชนะคือถ้อยคำ บริบูรณ์คือไม่บกพร่อง บริสุทธิ์คือไม่มีผิดพลาด สิ้นเชิง ย่อมจะได้ความเลื่อมใสที่ไม่หวั่นไหวในพระธรรม อันเป็นสวากขาตธรรมของพระพุทธเจ้า ดั่งนี้
และเมื่อเป็นดั่งนี้แหละ จึงจะชื่อว่าได้เข้ามาสู่พระสัทธรรมนี้ ได้เข้ามาสู่พระศาสนานี้ ได้เข้ามาสู่พระธรรมวินัยนี้ ถ้าหากว่ายังไม่ได้สัมมาทิฏฐิแม้ในขั้นต้นดังกล่าว จึงยังหาชื่อว่าได้เข้ามาสู่พระสัทธรรมนี้ไม่ หาได้ชื่อว่ามีความเลื่อมใสที่ไม่หวั่นไหว ในพระธรรมไม่ เพราะฉะนั้นจึงเป็นข้อที่ควรปฏิบัติ ตั้งใจที่จะสดับตรับฟัง ที่จะพินิจพิจารณา ที่จะปฏิบัติอบรม เพื่อให้ได้ปัญญาที่เป็นสัมมาทิฏฐิดังกล่าว
ต่อจากนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป