แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุก ๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์ พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
จะแสดงพระพุทธเจ้าทรงสอนกรรมฐานตาม เจโตขีลสูตร นำสติปัฏฐาน ในพระสูตรนี้แสดงว่าพระพุทธเจ้าได้ทรงสอนภิกษุทั้งหลาย ให้ละกิเลสอันเป็นเหมือนอย่างตะปูที่ตอกตรึงจิต และกิเลสที่ผูกพันจิต โดยตรัสสอนก่อนให้รู้จักว่า มีกิเลสอันเป็นเหมือนอย่างตะปูที่ตอกตรึงจิตอยู่ ๕ ประการ เรียกสั้น ๆ ว่า เจโตขีละ คือ ตะปูตอกใจ
ตะปูตอกใจ ๕ ประการ อันได้แก่ มีกังขา คือ สงสัยในพระศาสดา สงสัยในพระธรรม สงสัยในพระสงฆ์ สงสัยในสิกขา และมักโกรธขัดใจใน สพรหมจารี คือผู้ประพฤติธรรมร่วมกันทั้งหลาย
สงสัยในพระศาสดานั้นก็คือสงสัยในพระปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าผู้พระบรมศาสดา ว่าพระองค์ได้เป็นผู้ตรัสรู้จริงหรือ แม้ตามบทที่สวดกันว่า อิติปิโส ภควา อรหังสัมมาสัมพุทโธ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นเป็นพระอรหันต์ผู้ไกลกิเลส เป็นผู้ตรัสรู้เองชอบ แม้อย่างนี้ แม้อย่างนี้ ดั่งนี้เป็นต้น ทรงเป็นผู้ไกลกิเลสจริงหรือ ตรัสรู้เองชอบจริงหรือ ดั่งนี้เป็นต้น
มีกังขาสงสัยในพระธรรมนั้นก็คือสงสัยในพระธรรมที่ตรัสรู้ ว่าทรงตรัสรู้อะไร ความตรัสรู้นั้นเป็นความรู้จริง หรือว่ารู้ไม่จริงอย่างไร และธรรมะที่ทรงสั่งสอนเป็นจริงตามที่ทรงสั่งสอน หรืออย่างไร
ผู้เห็นผิดในครั้งพุทธกาล
ในข้อนี้ก็ได้มีเรื่องเล่ามาแล้วในครั้งพุทธกาล ถึงภิกษุผู้มีความเห็นผิดบางรูป ได้คัดค้านคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ว่าคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่ทรงสั่งสอนเอาไว้ว่า ธรรมะข้อนี้ ๆ เป็นอกุศลธรรม ซึ่งทำอันตรายให้แก่ผู้ที่ปฏิบัติกระทำ แต่ว่าข้อที่ทรงสั่งสอนเอาไว้ว่าทำอันตรายนั้น หาได้กระทำอันตรายแก่ผู้ปฏิบัติกระทำไม่ เช่นทรงสั่งสอนแสดงโทษของกามต่าง ๆ แต่ว่ากามต่าง ๆ นั้นหาได้เป็นโทษดังที่ทรงสั่งสอนไว้ไม่
มีกังขาคือความสงสัยในพระสงฆ์ ก็คือมีความสงสัยว่าหมู่แห่งสาวก คือศิษย์ของพระพุทธเจ้านั้น เป็นผู้ปฏิบัติดีจริงหรือ เป็นผู้ปฏิบัติตรงหรือ ดั่งนี้เป็นต้น คือเป็นผู้ปฏิบัติชอบหรือ สงสัยในสิกขานั้นก็คือสงสัยในข้อที่จะพึงศึกษาเล่าเรียน ที่จะพึงศึกษาปฏิบัติ เช่นในศีล ในสมาธิ ในปัญญา ว่าที่ปฏิบัติในศีล ปฏิบัติในสมาธิ ปฏิบัติในปัญญา จะได้ผลสมจริง คือจะได้ผลดีจริงหรือไม่ หรือว่าสงสัยว่าจะให้เกิดผลที่ไม่ดีแก่ผู้ปฏิบัติ คือสงสัยในข้อที่ตนเองกำลังปฏิบัติอยู่ในศีลในสมาธิในปัญญา
มักโกรธขัดใจใน สพรหมจารี คือผู้ประพฤติธรรมะร่วมกันทั้งหลาย ๓ ก็คือมักจะเป็นผู้ที่มีใจน้อยโกรธง่าย หรือมักจะเพ่งโทษของผู้ที่อยู่ด้วยกัน เพราะว่า เมื่ออยู่ด้วยกันเป็นจำนวนมาก ก็อาจจะมีความประพฤติต่อกันที่กระทบกระทั่ง ไม่ถูกใจกันเรื่องนั้นบ้างเรื่องนี้บ้างในบางครั้งบางคราว ก็มักจะถือโกรธง่าย ๆ ขัดใจอยู่บ่อย ๆ เพราะเหตุที่บางทีก็อาจมีการกระทบกระทั่งกันบ้างจริง ๆ บางทีก็อาจเป็นเพราะความเห็นไม่ตรงกัน หรือเอาแต่ใจของตนเอง เมื่อได้เห็นการกระทำ ได้ฟังคำพูดของเพื่อน สพรหมจารี ที่อยู่ด้วยกัน อันไม่ตรงกับความชอบใจของตน ก็มักจะถือโกรธขัดเคือง หรือบางทีก็มักจะมีนิสัยเพ่งโทษต่อผู้อื่น เห็นอะไรผิด หรือสงสัยว่าผิด ก็มักจะโกรธแค้นขัดเคืองไม่ถูกใจ หรือว่าบางทีก็เป็นเพราะความต้องการของตน ที่ไม่ได้สมตามความปรารถนา เกี่ยวแก่การแบ่งลาภแบ่งผลของสงฆ์ ที่บางทีก็ได้ไม่สม่ำเสมอกัน หรือเกี่ยวแก่ที่อยู่อาศัย ที่ได้รับจัดให้อยู่ ที่อาจจะเป็นที่สะดวกสบายบ้าง ไม่สู้จะสะดวกสบายบ้าง ดั่งนี้เป็นต้น ก็น้อยใจ ขัดใจ โกรธ เป็นผู้ที่มักโกรธมักขัดใจอยู่เสมอ ๆ
มีกังขาสงสัยในพระศาสดา มีกังขาสงสัยในพระธรรม มีกังขาสงสัยในพระสงฆ์ มีกังขาสงสัยในสิกขา และมักโกรธขัดใจใน สพรหมจารี ทั้งหลาย ทั้ง ๕ ข้อนี้หากเกิดขึ้น มีขึ้นในจิตใจ ก็เป็นเหมือนอย่างตะปูที่ตอกตรึงใจ ทำให้จิตใจมีทุกข์ ทำให้จิตใจมีกิเลส หรือเจริญกิเลสกองราคะหรือโลภะบ้าง กองโทสะบ้าง กองโมหะบ้าง เป็นจิตใจที่ไม่มีเสรีในอันที่จะปฏิบัติกรรมฐาน ในการที่จะปฏิบัติธรรมะ เป็นต้นว่าศีลสมาธิปัญญาให้เจริญ เพราะมีทั้ง ๕ ข้อนี้ เป็นอุปสรรคขัดขวาง ไม่ให้เกิดความตั้งใจที่จะปฏิบัติกรรมฐาน หรือปฏิบัติใน ศีล สมาธิ ปัญญา ขัดขวางต่อศรัทธา ขัดขวางต่อวิริยะความเพียร ต่อสติ ต่อสมาธิ ต่อปัญญา เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าเป็นตะปูที่ตรึงใจ ที่ตอกใจเอาไว้ ไม่ให้ใจมีความสามารถที่จะปฏิบัติให้ดีขึ้นได้
เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอนให้รู้จักว่า ข้อเหล่านี้หากบังเกิดขึ้นในจิตใจของผู้ใด จิตใจของผู้นั้นก็เหมือนอย่างมีตะปูที่ตอกตรึงอยู่ จึงให้ปฏิบัติละเสีย ถอนตะปูที่ตรึงใจนี้ออกเสีย คือถอนกังขาสงสัยในพระศาสดา ในพระธรรม ในพระสงฆ์ ในสิกขา และดับความมักโกรธขัดใจที่บังเกิดขึ้นในสพรหมจารีทั้งหลาย และเมื่อได้ถอนกังขาสงสัย และดับความโกรธขัดใจดังกล่าวได้ ก็เป็นอันว่าถอนตะปูใจออกได้ เมื่อถอนตะปูใจออกได้จึงจะทำให้การปฏิบัติกรรมฐาน หรือกล่าวรวม ๆ ว่าทำให้ศึกษา เล่าเรียนพระธรรมวินัย ทำให้การศึกษาปฏิบัติพระธรรมวินัยเจริญก้าวหน้าขึ้นไปได้
เครื่องผูกพันใจ ๕ ประการ
อีกหมวดหนึ่งตรัสสอนให้รู้จัก เจโตวินิพันธะ คือ เครื่องผูกพันใจ อันได้แก่ ความติดใจ ความยินดีในกาม ความติดใจยินดีในกาย ความติดใจยินดีในรูป ความที่กินแล้วก็นอน และความปรารถนาต้องการเทวนิกาย คือความที่จะไปเกิดในหมู่เทพ คือปรารถนาที่จะไปสวรรค์
ทั้ง ๕ ประการนี้ได้ชื่อว่า เจโตวินิพันธะ คือเครื่องผูกพันใจ เพราะเหตุว่าผูกพันใจไว้ไม่ให้หลุดพ้นได้ ให้ติดอยู่ในกาม ในกาย ในรูป ในการเอาแต่กินนอน และติดอยู่ในสวรรค์ เพราะว่ากำหนัดยินดีอยู่ในกามนั้นก็คือติดใจยินดีหรือกำหนัดยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส โผฐฐัพพะที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจทั้งหลาย ทำให้ใจติดอยู่ในกาม ไม่เป็นเนกขัมมะคือออกไม่ได้
ตัณหาจริตอย่างหยาบ
(เริ่ม)...เนกขัมมะ นั้นแปลกันว่าออก ก็คือออกบวชตามความหมายทั่วไป แต่ก็มีความหมายในทางจิตใจ ที่ใช้ได้ทั้งบรรพชิตทั้งคฤหัสถ์เหมือนกัน ก็คือออกจากความติดใจยินดีอยู่ในกามนั้นเอง เมื่อจิตไม่มีเนกขัมมะก็ไม่ได้สมาธิ
ติดใจยินดีใน กาย นั้นก็คือในกายของตน อันนับว่าเป็นตัณหาจริตอย่างหยาบ ทำให้พอใจในการที่จะตบแต่งกาย จึงไม่คิดที่จะตบแต่งจิตใจ มุ่งแต่จะตบแต่งกาย ติดในกาย และเมื่อเป็นดั่งนี้จิตก็ออกไม่ได้ และนอกจากนี้ยังหมายถึงติดอยู่ในสุขเวทนาทางกายมากอีกด้วย เช่นมุ่งที่จะทะนุบำรุงกายให้มีความสุข จะต้องอยู่ในที่ ๆ มีความสุขทางกาย จึงเป็นอันทำให้ไม่สามารถที่จะปฏิบัติกระทำสิ่งที่จะทำให้ร่างกายเป็นทุกข์ จะตากแดดสักหน่อยหนึ่งก็ร้อนไม่ได้ จะตากฝนสักนิดหนึ่งก็ไม่ได้ จะถือศีลข้อไม่นั่งไม่นอนบนที่นอนที่ยัดนุ่น ก็เจ็บกายทำไม่ได้ จะนั่งกรรมฐานสักหน่อยหนึ่งก็ปวดเมื่อยกาย ทำไม่ได้ ดั่งนี้ ก็รวมอยู่ในข้อว่าติดใจยินดีอยู่ในกาย
ติดใจยินดีอยู่ใน รูป นั้นท่านอธิบายว่ารูปภายนอกต่าง ๆ ตั้งต้นแต่เครื่องแต่งกาย บ้านเรือน เครื่องแต่งบ้านเรือน และทุก ๆ อย่างจะต้องเป็นสิ่งที่สวยงาม จะต้องเป็นสิ่งที่ประณีตต่าง ๆ ความติดใจยินดีอยู่ในรูปภายนอกดังกล่าวมานี้ก็ทำให้ขวนขวายแต่ในเรื่องของการที่จะประดับตบแต่ง ที่จะทำให้สิ่งต่าง ๆ โดยรอบมีความสวยงามวิจิตรพิสดาร จึงเป็นอันว่าไม่มีเวลาที่จะมามุ่งปฏิบัติกรรมฐาน หรือปฏิบัติธรรม คือไม่คิดที่จะมาตบแต่งธรรม คือตบแต่งกุศลธรรมทั้งหลายให้บังเกิดขึ้น
การมุ่งที่สวนทางมรรคผลนิพพาน
กินแล้วนอนก็เป็นการตัดประโยชน์ทำนองว่าชีวิตนี้ดำรงอยู่ก็เพื่อกินนอน ไม่ทำอะไรให้เป็นประโยชน์ เสียทั้งทางโลกทั้งทางธรรม และความมุ่งที่จะเกิดในหมู่เทพคือมุ่งสวรรค์ ก็เป็นความมุ่งที่สวนทางกับมรรคผลนิพพาน อันเป็นวัตถุประสงค์ของการปฏิบัติธรรม
การปฏิบัติธรรมนั้นเพื่อมรรคผลนิพพาน หรือว่าถ้าพูดอย่างสามัญลงมา ก็เพื่อความดี เพื่อความบริสุทธิ์ ไม่ใช่เพื่อสวรรค์ จะเป็นสวรรค์ในโลกนี้ อันหมายถึงว่าความสุขต่าง ๆ ในโลกนี้ ทางวัตถุ หรือสวรรค์ในโลกหน้าตามที่แสดงไว้ก็ตาม แต่ว่ามุ่งที่จะขัดเกลาตนเอง ฝึกตนเองให้เจริญด้วยธรรมะที่เป็นคุณธรรม นำให้เกิดความดีงามต่าง ๆ ทั้งในปัจจุบัน ทั้งในภายหน้า และทั้งที่เป็นความดีงามอย่างยิ่ง คือมรรคผลนิพพาน
เจโตวินิพันธะ
เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสสอนให้รู้จักว่าทั้ง ๕ ข้อนี้ คือมีความติดใจยินดี อันเรียกว่าราคะ อยู่ในกาม ในกาย ในรูป และเอาแต่กินนอน กับมุ่งสวรรค์ ก็คือมุ่งความสุขทางวัตถุต่าง ๆ เป็น เจโตวินิพันธะ คือเครื่องผูกพันใจ ผูกพันใจเอาไว้ให้ปฏิบัติกระทำ หรือจะเรียกว่าสิกขาศึกษาก็ได้เหมือนกัน เพื่อกาม เพื่อกาย เพื่อรูป เพื่อกินนอน และเพื่อสวรรค์ เพราะฉะนั้น จึงไม่อาจที่จะทรงจิตใจมาศึกษาธรรมะ อันเป็นคุณธรรม นำให้เกิดความดีงามต่าง ๆ ไม่ตบแต่งหรือปรุงแต่งธรรมะปฏิบัติอันเป็นส่วนดีงาม ไม่ปฏิบัติปรุงแต่ง รูปฌาน อรูปฌาน หรือพูดเป็นกลาง ๆ ว่าไม่ปฏิบัติปรุงแต่งธรรมะ ที่เป็นคุณงามความดี แม้ตั้งแต่ขั้นรูปธรรมที่เป็นส่วนดีส่วนชอบ และเอาแต่กินนอน ไม่ประกอบชีวิตใช้ชีวิตให้ทำประโยชน์อะไร และไม่มุ่งธรรมะที่เป็นคุณงามความดี มุ่งความสุขที่เป็นวัตถุ
เรื่องมุ่งสวรรค์ในปัจจุบัน
อันเรื่องของมุ่งสวรรค์อันเป็นความสุขที่เป็นวัตถุนี้ เป็นการกล่าวถอดความเข้ามา ให้เห็นสวรรค์ที่เป็นปัจจุบัน เพราะแม้สวรรค์ในโลกหน้าตามที่แสดงไว้ ก็ล้วนเป็นสถานที่ ๆ เต็มไปด้วยความสุขทางวัตถุทั้งนั้น ประกอบไปด้วย รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่งดงาม น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจทั้งหลาย ตามที่คนในโลกที่เป็นคนสามัญต้องการกัน
คราวนี้มาพูดถึงปัจจุบัน ก็คือความสุขทางวัตถุที่เป็นปัจจุบันต่าง ๆ คนเราที่เห็นแก่ได้ เช่นเห็นแก่เงินแก่ทอง เห็นแก่ความร่ำรวยเป็นเศรษฐีมหาเศรษฐี ก็กล่าวได้ว่า ล้วนแต่มุ่งสวรรค์ในปัจจุบันได้ทั้งนั้น และเมื่อเป็นดั่งนี้จึงทำให้ตีราคาของวัตถุ เช่นเงินทอง ทรัพย์สิน ยิ่งกว่าธรรมะที่เป็นคุณธรรมอันเป็นตัวความดีต่าง ๆ คนจึงทิ้งธรรมะ ทิ้งศีล ทิ้งสมาธิ ทิ้งปัญญา ตามที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอนเอาไว้ คือไม่ศึกษาปฏิบัติในศีล ในสมาธิ ในปัญญา แต่ไปศึกษาในทางที่ว่าจะได้เงินมามาก ๆ อย่างไร จะลักขโมยอย่างไร จะโกงอย่างไร จะรวบรวมมาได้อย่างไร เหล่านี้เป็นต้น เพราะเมื่อได้วัตถุนั้นมา เช่นว่าได้เงินได้ทองมา ก็เป็นอันว่านั่นเป็นที่ประสงค์ ตีราคาของสิ่งเหล่านี้ยิ่งไปกว่าราคาของธรรมะที่เป็นตัวคุณงามความดี
เพราะฉะนั้น ข้อที่พระพุทธเจ้าตรัสว่ามุ่งสวรรค์นั้น ก็ควรจะทำความเข้าใจลงมาดั่งนี้ด้วย ซึ่งเป็นอันตรายต่อศีลธรรม ต่อความสงบสุขของหมู่ชนเป็นอันมาก ดังที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบันนี้ เพราะคนมุ่งวัตถุดังกล่าวนี้ และตีราคาของวัตถุดังกล่าวนี้สูงกว่าราคาของธรรมะที่เป็นคุณงามความดี เพราะฉะนั้น แต่ละข้อที่ตรัสไว้จึงเป็นสัจจะคือความจริง ที่เป็นเครื่องผูกพันใจ ไม่ให้ใฝ่หาธรรมะที่เป็นตัวคุณงามความดี แต่ให้ใฝ่หาแต่กาม แต่กาย แต่รูป แต่การกินการนอน แต่สวรรค์ ก็คือความสุขทางวัตถุต่าง ๆ ตามที่ต้องการ เพราะฉะนั้น จึงตรัสสอนให้ละเสีย จึงจะสามารถปฏิบัติธรรมะ อันเป็นส่วนคุณงามความดีให้ก้าวหน้าสืบไปได้ และก็ไม่ต้องว่าถึงมรรคผลนิพพาน เอาแค่ธรรมะที่เป็นคุณงามความดี ที่เป็นประโยชน์ปัจจุบัน เป็นประโยชน์ภายหน้า เท่านี้ ก็จะต้องละเครื่องผูกพันใจเหล่านี้เสียด้วย จึงจะปฏิบัติให้ถูกต้องได้ และถ้าหากว่าไม่ปฏิบัติละเสีย ความเบียดเบียนกันในโลกก็จะยิ่งมีมากขึ้น ๆ จนถึงเรียกว่าเป็นกลียุค คนก็จะยิ่งเบียดเบียนซึ่งกันและกัน ทำร้ายร่างกายกัน ฆ่าฟันกัน มากขึ้นทุกที ๆ
ต่อเมื่อละเสียได้มามุ่งที่จะศึกษาปฏิบัติธรรมะ ที่เป็นส่วนคุณงามความดีกันให้มากขึ้น ละความมุ่งที่จะบำรุงปรับปรุงกาม กาย รูป กินนอน และมุ่งสวรรค์ คือความสุขทางวัตถุต่าง ๆ ดังกล่าว
ธรรมะที่ให้บรรลุถึงความสำเร็จ
อนึ่ง เมื่อได้ตรัสสอนให้ละตะปูที่ตรึงใจ ตะปูที่ตอกตรึงใจ ๕ ประการ และเครื่องผูกพันใจ ๕ ประการดังกล่าวนี้ ก็ได้ตรัสสอนให้อบรมอิทธิบาท คือธรรมะที่ให้บรรลุถึงความสำเร็จ วิมังสา ความใคร่ครวญพิจารณา สำหรับเป็นเครื่องมือในการปฏิบัติธรรมะที่เป็นคุณงามความดีต่าง ๆ ให้บังเกิดขึ้น และตรัสเพิ่มอีกข้อหนึ่ง อันเรียกว่า (ฟังไม่ชัด) แปลกันว่าความขะมักเขม้น แต่เมื่อพิจารณาดูแล้วก็อาจหมายถึงขันติ คือความอดทน ความอดกลั้นทนทาน ซึ่งเป็นเหตุให้สามารถมีความเพียรขะมักเขม้น ปฏิบัติกิจที่พึงปฏิบัติ ปฏิบัติธรรมะที่เป็นคุณงามความดี ให้สำเร็จได้อีกข้อหนึ่ง รวมเป็น ๕ ข้อด้วยกัน
เพราะฉะนั้นจึงรวมเป็น ๑๕ ข้อ คือในด้านละเสีย ๑๐ ข้อ ละตะปูที่ตอกตรึงใจ ๕ ข้อ ละเครื่องผูกพันใจ ๕ ข้อ และอบรมอิทธิบาท ๔ กับอบรมขันติคือความอดทน อดกลั้นทนทาน อันทำให้ขะมักเขม้นปฏิบัติกรณียะคือกิจที่ควรทำต่าง ๆ ให้สำเร็จได้ รวมเป็น ๑๕ ข้อ และเมื่อเป็นดั่งนี้แล้วก็จะสามารถ ปฏิบัติธรรมะที่เป็นคุณงามความดีได้ ทั้งที่เป็นประโยชน์ปัจจุบัน ทั้งที่เป็นประโยชน์ภายหน้า ทั้งที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง หรือปฏิบัติในกรรมฐาน ทางด้านสมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน ให้บรรลุถึงความสำเร็จยิ่ง ๆ ขึ้นไปได้
ต่อจากนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป