แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้ จักแสดงธรรมกถาในการอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
จะแสดงพระพุทธเจ้าทรงสอนกรรมฐาน ตามสัพพาสังวรสูตร นำสติปัฏฐาน ตรัสสอนวิธีละอาสวะกิเลสดองสันดาน ได้แสดงมาแล้วคือวิธีละด้วยทัศนะปัญญาที่รู้เห็น ด้วยวิธีสังวระ สังวร คือสำรวมอินทรีย์ และด้วยวิธีเสพบริโภคปัจจัยทั้ง ๔ โดยพิจารณาโดยแยบคายเสพบริโภค จะแสดงวิธีที่ตรัสสอนไว้ต่อไปเป็นข้อที่ ๔ ตรัสสอนให้ละอาสวะด้วยความยับยั้งไว้อยู่ หรือรับเอาไว้อยู่ หมายถึงใช้ขันติคือความอดทน หรือความอดกลั้น ต่อหนาวร้อน หิวระหาย สัมผัสเหลือบยุงลมแดด สัตว์เสือกคลานทั้งหลาย ต่อถ้อยคำที่กล่าวมาไม่ดี ที่เสียดแทงกระทบกระทั่ง ต่อเวทนาทั้งหลายที่เกิดขึ้นในตน อันเป็นทุกขเวทนาที่แรงกล้าเจ็บปวดรวดร้าว ไม่เป็นที่พอใจต้องการ อย่างหนักถึงขนาดที่จะนำชีวิตไปได้ เมื่อไม่ยับยั้งไว้อยู่ ไม่รับเอาไว้อยู่ คือไม่มีขันติอดทนอดกลั้น อาสวะทั้งหลายเหล่าใดที่ทำให้คับแค้น ทำให้เดือดร้อนย่อมเกิดมีขึ้น แต่เมื่อยับยั้งเอาไว้อยู่ รับเอาไว้ได้ รับไว้อยู่ คือมีขันติอดทนอดกลั้นได้ อาสวะเหล่านั้นก็ย่อมไม่มีไม่เกิดขึ้น
อธิวาสนะขันติ ๓
ในพระพุทธโอวาทนี้ตรัสสอนให้ใช้วิธีที่เรียกว่า อธิวาสนะ ที่แปลว่ายับยั้งเอาไว้อยู่ หรือแปลว่ารับไว้ได้ อันเป็นลักษณะของขันติอย่างหนึ่ง เรียกรวมกันก็ได้ว่า อธิวาสนะขันติ แปลว่าขันติคืออธิวาสนะ ยับยั้งเอาไว้อยู่ รับไว้ได้ ขันติที่มีลักษณะดังกล่าวนี้แปลกันว่า อดทน หรือว่าอดกลั้น และก็มีสอนกันไว้จำแนกเป็น ๓ คือ อดทนต่อความตรากตรำ อดทนต่อความเจ็บใจ อดทนต่อความลำบาก
อดทนต่อความตรากตรำ นั้นก็ตรงกับที่ตรัสเอาไว้ ว่ารับไว้อยู่ ซึ่งหนาวร้อนหิวระหาย สัมผัสเหลือบยุงลมแดด สัตว์เสือกคลานทั้งหลาย
อดทนต่อความเจ็บใจ ก็ตรงกับที่ตรัสสอนว่ารับไว้ได้ ซึ่งถ้อยคำที่กล่าวไม่ดี ที่เสียดแทงจาบจ้วงล่วงเกิน
อดทนต่อความลำบาก ก็ตรงกับที่ตรัสสอนไว้ว่ารับไว้ได้ ซึ่งเวทนาทั้งหลายที่เกิดขึ้นในตน ที่เป็นทุกขเวทนา อันแรงเจ็บปวดรวดร้าวดังกล่าวแล้ว
ทำไมจึงว่ารับไว้อยู่ หรือยับยั้งเอาไว้อยู่
รับเอาไว้ได้ ก็เพราะว่า ความตรากตรำก็จำที่จะต้องพบ คือจะต้องพบกับหนาวร้อนหิวระหายเป็นต้น สิ่งเหล่านี้มีอยู่ จะห้ามมิให้หนาว มิให้ร้อน มิให้หิว มิให้ระหาย มิได้
เป็นสิ่งที่มีอยู่ แม้ว่าจะมีปัจจัยเครื่องอาศัยสำหรับบำบัด คือปัจจัย ๔ ดังกล่าวมาแล้วในข้อ ๓ ก็ตาม แม้เช่นนั้น ก็ยังจะต้องพบกับความตรากตรำเหล่านี้ เพราะว่าจะต้องประกอบการงาน จะต้องอยู่ในที่ซึ่งต้องมีหนาว มีร้อน อันเกิดจากดินฟ้าอากาศฤดูกาล ทั้งยังอาจพบกับหนาวร้อนซึ่งบังเกิดขึ้นจากการกระทำของบุคคล ด้วยมุ่งดีก็ตามมุ่งร้ายก็ตาม ทั้งยังจะต้องมีความหิวระหาย แม้จะบริโภคอาหารสำหรับบำบัด ก็บริโภคตามกาลเวลาที่พึงบริโภค เมื่อยังไม่ถึงกาลเวลาที่บริโภค ความหิวระหายก็เกิดขึ้นได้ หรืออาจมีความขัดข้องด้วยอาหาร ด้วยน้ำดื่ม ในกาลบางครั้งบางคราว หรือแม้มาปฏิบัติธรรมะรักษาศีลที่เว้นวิกาลโภชนะ ก็ต้องอดทนต่อหิวระหายในเวลาวิกาล ที่งดเว้นไม่บริโภค ทั้งเมื่อมาปฏิบัติธรรมะก็จะต้องงดเว้นจากเครื่องบำรุงความสุขต่าง ๆ จึงต้องพบกับข้อที่จะต้องตรากตรำหลายอย่างหลายประการ เหล่านี้เป็นต้น
เพราะฉะนั้น หากไม่มีความอดทนหรืออดกลั้น ที่จะรับภาวะหนาวร้อนเป็นต้นได้ อาสวะทั้งหลายก็ย่อมจะบังเกิดขึ้น เป็นความเดือดร้อนคับแค้นต่าง ๆ แต่ถ้าสามารถรับไว้ได้ คือรับต่อภาวะเหล่านั้นได้ อาสวะดังกล่าวก็ไม่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น อาการที่รับไว้ได้นั้นจึงเรียกว่าขันติอดทนอดกลั้น อันหมายความว่าต้องทน ต้องอด ต้องกลั้น ไม่พ่ายแพ้ต่อภาวะเหล่านั้น
ก็ได้มีคำที่พูดกันว่ามีน้ำอดน้ำทน ก็คือมีความอดทนนั้นเอง ต้องอดต้องกลั้น ต้องอดต้องทน อันคำว่าอดนั้นก็เช่นเกิดหิว แต่เมื่อไม่ถึงเวลาที่จะบริโภคก็ต้องอด คือว่ายอมอด และก็ต้องทนต่อความทุกข์ที่เกิดจากความหิว อดกลั้นก็เช่นเดียวกัน ต้องกลั้นเอาความหิวเอาไว้ คือยอมอดนั้นเอง เพราะฉะนั้นจึงเป็นขันติ และเมื่อมีขันติดั่งนี้ก็รับเอาไว้อยู่รับเอาไว้ได้ อดทนได้อดกลั้นได้ ปฏิบัติการงานต่อไปได้ ปฏิบัติธรรมะต่อไปได้ ไม่พ่ายแพ้ ...(เริ่ม)...อดทนต่อความเจ็บใจก็เช่นเดียวกัน ก็จะต้องมีความอดทนต่อถ้อยคำที่กล่าวมาไม่ดี ที่ทิ่มแทงเสียดแทงจาบจ้วงล่วงเกิน อันเป็นชนวนให้เกิดโทสะ ถ้าเกิดโทสะขึ้นมาก็แปลว่าอดทนอดกลั้นไว้ไม่ได้ รับไว้ไม่ได้ นั่นแหละก็คืออาสวะก็เกิดขึ้นมา และถ้าหากว่ารับเอาไว้ได้ อันหมายความว่าไม่พ่ายแพ้ต่อถ้อยคำเช่นนั้น
แม้ว่าจะบังเกิดปฏิฆะคือความกระทบกระทั่งใจ หงุดหงิด หรือความเครียด ความขึ้งเคียดขึ้นมาในใจ ก็ต้องอดกลั้นเอาไว้ อดทนเอาไว้ ระบายให้หายไปให้สงบไป อันเป็นกิจที่บุคคลผู้ปฏิบัติธรรมะพึงทำได้ และก็มีโอกาสที่จะต้องประสบทุกขเวทนาเกิดในภายใน เช่นเกิดจากอาพาธป่วยไข้ หรือแม้ว่าทุกขเวทนาที่บังเกิดขึ้นเพราะดินฟ้าอากาศ ที่หนาวร้อนเป็นต้น อันเกินไป ซึ่งเป็นเครื่องเบียดเบียน ไม่ใช่เป็นเครื่องทะนุบำรุง แต่เป็นเครื่องเบียดเบียน ก็เป็นทุกข์เวทนาขึ้น ถ้าไม่มีความอดทนอดกลั้น ก็จะทำให้เกิดความเดือดร้อน กระสับกระส่ายหงุดหงิด ก็เป็นอาสวะขึ้นมา แต่ถ้าหากว่ามีความอดทนอดกลั้นรับเอาไว้ได้ยับยั้งเอาไว้ได้ อาการที่หงุดหงิดกระสับกระส่ายต่างๆก็ไม่บังเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ความฝึกหัดให้เป็นผู้สามารถรับเอาไว้ได้ ยับยั้งเอาไว้ได้ หรือรับเอาไว้อยู่ ยับยั้งเอาไว้อยู่ รับเอาไว้อยู่ อันเรียกว่าอดทนหรืออดกลั้นนี้ เป็นหน้าที่ของผู้ปฏิบัติธรรมพึงปฏิบัติได้
แต่ว่าเรื่องของเหตุปัจจัยที่จะทำให้บังเกิดความตรากตรำ หรืออาจจะให้เจ็บใจให้ลำบากทั้งปวงดังกล่าวมา เป็นสิ่งที่มีอยู่เป็นไปอยู่ เช่นว่าหนาวร้อนเป็นต้นก็เป็นสิ่งที่มีอยู่เป็นไปอยู่ ถ้อยคำที่กล่าวมาไม่ดี ที่จาบจ้วงล่วงเกิน ก็เป็นเรื่องของคนอื่นเขา ซึ่งเขาอาจจะพูดเมื่อไหร่ก็ได้ เขาอาจจะว่ามาเมื่อไหร่ก็ได้ ทุกขเวทนาต่าง ๆ อันเกิดจากอาพาธป่วยไข้เป็นต้น หรือแม้เกิดจากเครื่องเบียดเบียนต่าง ๆ ก็เป็นสิ่งที่มีอยู่เป็นไปอยู่ จะห้ามไม่ให้มีนั้นไม่ได้ บางทีก็เป็นเรื่องของธรรมชาติ บางทีก็เป็นเรื่องของคนอื่น บางทีก็เป็นเรื่องของธรรมดา เพราะฉะนั้น ก็เป็นสิ่งที่จำต้องรับ เมื่อเกิดมาในโลกนี้ก็จำต้องรับสภาพของดินฟ้าอากาศหนาวร้อนเป็นต้น เมื่ออยู่ร่วมกันเป็นหมู่ก็จำต้องรับถ้อยคำที่คนโน้นคนนี้พูด ดีบ้างไม่ดีบ้าง และเมื่อมีชีวิตสังขารก็จะต้องมีทุกขเวทนาที่เกิดจากอาพาธต่าง ๆ เป็นต้น แปลว่าจะต้องพบกับภาวะเหล่านี้ จะต้องรับภาวะเหล่านี้ โดยหลีกเลี่ยงมิได้
เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ต้องหัดว่า ต้องรู้จักรับ คือรับยับยั้งเอาไว้ รับไว้อยู่ รับไว้ได้ นี่แหละคือขันติ ที่ได้แก่ความอดทนหรือความอดกลั้นดังกล่าวนั้น ซึ่งทุกคนจำเป็นจะต้องมี ถ้าหากว่าขาดขันติข้อนี้แล้ว อาสวะทั้งหลายก็บังเกิดขึ้น ทำให้เกิดความคับแค้น ทำให้เกิดความเดือดร้อนมาก ดั่งคนที่อ่อนแอ หนักไม่เอา เบาไม่สู้ หนาวไม่สู้ ร้อนไม่สู้ เหล่านี้เป็นต้น ก็ไม่สามารถจะประกอบการงานอะไรให้สำเร็จได้ หรือคนที่ได้รับถ้อยคำอะไรเข้านิดหน่อยก็โกรธ ใจน้อย ไม่มีความอดทน เรื่องเล็กก็เป็นเรื่องใหญ่ เรื่องที่ไม่ควรจะเป็นเรื่องก็เป็นเรื่อง ความทะเลาะวิวาทจนถึงทำร้ายซึ่งกันและกัน บังเกิดขึ้นเพราะเหตุนี้เป็นอันมาก ขาดความอดทนเพียงนิดเดียวเท่านั้นในเบื้องต้น ก็ไปกันใหญ่
ทุกขเวทนาทั้งหลายที่เกิดจากอาพาธเป็นต้นก็เช่นเดียวกัน เจ็บนิดก็ไม่ได้ เจ็บหน่อยก็ไม่ได้ ขาดความอดทน ไข้เล็กก็เลยเป็นไข้ใหญ่ แถมใจเสาะอีกด้วยแล้ว ก็เลยเพิ่มไข้ที่มีอยู่แม้ไม่มากนัก ให้มากขึ้นไปอีกได้ แต่ถ้าหากว่าฝึกหัดให้สามารถรับเอาไว้อยู่ รับเอาไว้ได้ ยับยั้งเอาไว้อยู่ ยับยั้งเอาไว้ได้แล้ว จะสามารถที่จะเอาชนะต่อเหตุปัจจัยแห่งความทุกข์ทั้งปวงเหล่านี้ได้ และความอดทนอดกลั้นนั้น ก็เป็นสิ่งที่ฝึกหัดปฏิบัติได้ ทั้งทางร่างกาย และทั้งทางจิตใจ ร่างกายและจิตใจนี้จำเป็นที่จะต้องสร้างความอดทนให้บังเกิดขึ้น ให้ร่างกายมีความแข็งแกร่ง มีความทนทาน ต่อภาวะดังกล่าวทั้งหลาย ดังจะเรียกว่าภาวะแวดล้อมดังที่กล่าวกัน
จิตใจก็เหมือนกัน ก็จำเป็นที่จะต้องฝึกหัด ให้มีความอดทนอดกลั้น ให้มีความแข็งแกร่ง ต่อภาวะแวดล้อมทั้งหลายดังกล่าว และเมื่อได้ฝึกหัดปฏิบัติให้มีความอดทนอดกลั้นดังกล่าวนี้ ก็ทำให้เกิดความแข็งแกร่งทั้งทางกายทั้งทางใจ เมื่อเกิดความแข็งแกร่งขึ้นได้เพียงใด เมื่อกระทบกับภาวะแวดล้อมทั้งหลาย ก็จะทำให้สามารถที่จะต้านทางได้มากเท่านั้น ร่างกายที่ต้านทานได้มาก ก็จะทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บได้ยาก จิตใจที่ต้านทานได้มาก ก็จะทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บทางจิตใจ ก็คืออาสวะทั้งหลายนี่แหละได้ ได้ยากขึ้น ก็เหมือนอย่างสิ่งทั้งหลายที่ดำรงอยู่ได้ ก็จะต้องมีความแข็งแกร่ง มีความมั่นคงอยู่ในตัว
ต้นไม้ที่ยืนต้นอยู่ได้ ก็ต้องมีความแข็งแกร่ง ต้องมีความมั่นคงอยู่ในต้นไม้นั้น เมื่อลมพัดมาต้นไม้ที่มีความแข็งแกร่ง ย่อมทานกำลังของลมไหว ไม่หักโค่น แต่ว่าต้นไม้ที่มีความแข็งแกร่งน้อย ถูกลมพายุพัดมาก็หักโค่นได้ง่าย แต่ถ้ามีความแข็งแกร่งมากก็หักโค่นยาก ถ้าเป็นพายุธรรมดาก็ไม่หักไม่โค่น ดำรงอยู่ได้
บุคคลเราก็เหมือนกัน กายและจิตใจดำรงอยู่ได้ก็ด้วยอำนาจของความแข็งแกร่ง อันเกิดจากความอดทนอดกลั้นเหล่านี้เอง ต่อภาวะแวดล้อมทั้งหลาย และก็เหมือนอย่างต้นไม้ ต้องพบกับลมที่พัดมาอยู่เป็นต้น เป็นประจำ ร่างกายและจิตใจของบุคคลเราก็ต้องพบกับเครื่องแวดล้อม ที่เป็นเครื่องเบียดเบียนทั้งหลาย อยู่ทุกวันเหมือนกัน ร่างกายดำรงอยู่ไม่เจ็บป่วย ไม่ใช่ว่าไม่มีปัจจัยเครื่องเบียดเบียน แต่มีอยู่โดยรอบ แต่เพราะมีความแข็งแกร่งจึงอดทนอยู่ได้ ไม่ล้มเจ็บป่วย จิตใจที่ดำรงอยู่ได้ก็เพราะมีความอดทนอดกลั้น เป็นความแข็งแกร่งที่ไม่ล้มไป ตามเครื่องแวดล้อม ก็คือไม่เกิดอาสวะทั้งหลาย ซึ่งเป็นเครื่องทำให้เดือดร้อน ทุกข์ร้อนต่าง ๆ นั้นเอง
เพราะฉะนั้น ขันตินี้เอง คือความอดทนอดกลั้นต่อภาวะแวดล้อมทั้งหลาย ที่ทุกคนต้องรับ แต่ว่ารับไว้ได้รับไว้อยู่ ด้วยความอดทนอดกลั้น และในการปฏิบัติทำขันติคือความอดทนอดกลั้นนี้ ก็ด้วยการหัดปฏิบัติอดทนอดกลั้น ในเหตุการณ์แวดล้อมธรรมดา ที่ทุกคนสามารถอดทนอดกลั้นได้ ซึ่งก็ไม่ใช่หมายความว่าอดทนต่อหนาวร้อนนั้น จะไม่ต้องใช้ปัจจัยเครื่องอาศัย คือผ้านุ่งห่ม หรือผ้าห่ม สำหรับป้องกัน ตากแดดกรำฝนกันอยู่ตลอดวัน โดยไม่ต้องมีการหลบ ไม่ใช่หมายความอย่างนั้น จำเป็นจะต้องใช้ปัจจัยเครื่องอาศัย ที่ตรัสสอนไว้ให้พิจารณาในข้อที่ ๓ นั้น ต้องใช้ เป็นแต่เพียงว่าต้องมีความอดทนเข้าช่วยด้วย ดั่งที่ได้กล่าวมาแล้ว ว่าบริโภคก็บริโภคตามเวลา แต่ว่าเมื่อไม่ใช่เวลา หิวขึ้นมาก็ต้องอดทนเอาบ้าง หรือว่าขาดตกบกพร่องไป ก็ต้องอดทนเอาบ้างตามที่ควรจะอดทนได้ หนาวร้อนก็ต้องใช้ผ้าหรือเครื่องป้องกันต่าง ๆ เป็นต้น แต่ก็ต้องอดทนเอาบ้าง เท่าที่พึงจะอดทนได้ หมายความอย่างนั้น
แต่ว่าถ้อยคำล่วงเกินนั้น ไม่ใช่สิ่งที่จะใช้ผ้ามาป้องกัน แต่ว่าต้องใช้ขันติในใจนี้เองป้องกัน คือมีความอดทนอดกลั้น และใช้โสรัจจะที่แปลกันว่าความเสงี่ยม คือทำใจให้สบาย หมายความว่าระบายออกไปจากใจ ให้ใจสบาย ไม่ใช่ขังเอาไว้ แต่ว่าความเจ็บใจนี้ เมื่อเขาว่าก็อาจจะมี แต่ว่าถ้าระบายออกไปได้ ไม่เก็บเอาไว้ในใจ หายความเจ็บใจไปใจก็สบาย ความที่มีใจสบายนี่แหละคือโสรัจจะ ต้องหัดปฏิบัติรู้จักระบายด้วย ถ้าหากว่าระบายไม่ได้ เก็บความเจ็บใจเอาไว้ ความเจ็บใจอันนี้ก็มากขึ้น ๆ ก็ต้องระเบิด ก็แปลว่าอดทนไม่ได้ เพราะฉะนั้นต้องรู้จักระบาย ระบายความเจ็บใจเป็นต้นนี้ให้น้อยลงไป ๆ หายไป จนใจสบาย
ต้องใช้ปัญญาใช้สติพิจารณาต่าง ๆ ว่าเป็นสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ล้วนแต่เป็นโทษ ไม่เก็บเอาไว้ นี่แหละคือโสรัจจะ คือมีขันติแล้วก็ต้องมีโสรัจจะ คือไม่เก็บเอาไว้ในใจ ระบายออกไปให้หาย ให้ใจสบาย ใจสบายก็คือเป็นโสรัจจะ
เพราะฉะนั้น ขันติข้อนี้จึงเป็นข้อสำคัญ ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนเอาไว้ ซึ่งมีอธิวาสนะ ความที่ยับยั้งไว้อยู่ รับไว้อยู่ หรือว่ายับยั้งไว้ได้ รับไว้ได้ ต่อภาวะแวดล้อมทั้งหลาย นี่แหละคือตัวขันติ และเมื่อหัดบ่อย ๆ จนเป็นความแข็งแกร่งขึ้นได้แล้ว ก็จะเกิดความทนทาน เป็นขันติอีกอย่างหนึ่งที่แปลว่าความทนทาน โดยไม่ต้องทำความอดกลั้นหรืออดทนแต่อย่างไร เหมือนอย่างผู้ที่ปฏิบัติหัดรับคำว่ากล่าวล่วงเกินติฉินนินทา รับไว้ได้ รับไว้อยู่ ยับยั้งเอาไว้ได้ ยับยั้งเอาไว้อยู่ บ่อย ๆ จนไม่ก่อให้เกิดความเจ็บใจขึ้นแม้แต่น้อย คือฟังได้อย่างสบาย ๆ เรียกว่าฟังได้อย่างฟังลมพัดใบไม้เป็นต้น คือฟังเสียงคนได้อย่างฟังเสียงลม ฟังได้อย่างสบาย ๆ ไม่ก่อให้เกิดกิเลสอันใดขึ้นมา ใจมีความทนทาน ดั่งนี้ไม่เกิดความลำบาก ในการที่จะต้องอดทนอดกลั้นอะไร จึงเป็นขันติอีกอย่างหนึ่งซึ่งเป็นขันติสมบูรณ์ เรียกว่า ตีติกขาขันติ
ขันติที่มีลักษณะเป็น ตีติกขาคือความทนทาน เหมือนอย่างภูเขาหินล้วน ลมพัดมาก็ไม่ไหว คือไม่มีหวั่นไหวอยู่ในใจ แต่ว่าต้นไม้นั้นลมพัดมายังไหว แต่ถ้ามีความทนทานก็ไม่หักไม่โค่น จิตใจสามัญก็เหมือนกันในขณะที่ปฏิบัติขันตินั้น ลมปากพัดมาก็ยังไหว แต่หากว่าถ้ามีความอดทนอดกลั้น ก็ดำรงอยู่ได้ไม่หักไม่โค่นไปตามลมปาก แต่ว่ายังไหว ใจที่ยังไหวอยู่นี้แหละ ที่ต้องใช้ขันติคือความอดทนอดกลั้นที่เป็นอธิวาสนะ คือรับเอาไว้ได้รับเอาไว้อยู่ คือยังต้องรับอยู่ แต่ว่ารับมาแล้วก็รับเอาไว้ได้รับเอาไว้อยู่ ไม่หักไม่โค่น เหมือนอย่างต้นไม้ที่ลมพัดมาก็ไหว ก็รับเอาไว้ได้รับเอาไว้อยู่ ต้นไม้ไม่หักไม่โค่น ขันติชนิดนี้มีอธิวาสนะเป็นลักษณะ แต่ขันติที่มีความแข็งแกร่งขึ้นจริง ๆแล้วเหมือนภูเขาหิน ลมพัดมาไม่ไหว จิตใจที่มีขันติที่สมบูรณ์ก็เหมือนกัน ลมปากเป็นต้นพัดมาก็ไม่ไหว นี่มีตีติกขาคือความทนทานเป็นลักษณะ อันเป็นความแข็งแกร่งอย่างสมบูรณ์ ซึ่งจะบังเกิดขึ้นได้จากการฝึกหัดปฏิบัติไปโดยลำดับ พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสรรเสริญขันติไว้เป็นอันมาก เช่นว่าขันติเป็นกำลังของผู้บำเพ็ญพรต หรือของนักพรตเป็นต้น ขันติพร้อมทั้งโสรัจจะเป็นธรรมะที่ทำให้งาม
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป