แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [ลองพูดคุยกับ AI ทาง Line]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุก ๆ ท่าน ตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์ ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
จะแสดงพระพุทธเจ้าสอนกรรมฐานใน อิติวิตกติกนิบาต ซึ่งได้ตรัสสอนให้กำหนดพิจารณาเวทนา ได้ตรัสไว้ว่าเวทนามี ๓ มี (๑) สุขเวทนา เวทนาที่เป็นสุข (๒) ทุกขเวทนา เวทนาที่เป็นทุกข์ (๓) อทุกขมสุขเวทนา เวทนาที่มิใช่ทุกข์มิใช่สุข
(เริ่ม)...ตรัสสอนให้กำหนดพิจารณาสุขเวทนา โดยความเป็นทุกข์ ให้พิจารณาทุกขเวทนา โดยความเป็นเหมือนอย่างลูกศร ให้พิจารณาอทุกขมสุขเวทนา โดยความเป็นของไม่เที่ยง และได้ตรัสไว้ว่าผู้พิจารณากำหนดเห็นเวทนาดังกล่าว ชื่อว่าเป็นอริยะคือผู้ประเสริฐ เป็นผู้เห็นชอบ ดับตัณหาได้ เปลื้องสังโยชน์กิเลสที่ผูกใจได้ ทำทุกข์ให้สิ้นสุดได้ เพราะตัดมานะได้โดยชอบ
อนึ่ง ในสติปัฏฐานข้อที่ตรัสสอนให้พิจารณาเวทนา อันเรียกว่าเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ก็ได้ตรัสสอนให้ทำสติกำหนดระลึกรู้ในเวทนา เมื่อเสวยสุขเวทนา ก็รู้ว่าเราเสวยสุขเวทนา เมื่อเสวยทุกขเวทนา ก็รู้ว่าเราเสวยทุกขเวทนา เมื่อเสวยอทุกขมสุขเวทนา ก็รู้ว่าเราเสวยอทุกขมสุขเวทนา เมื่อเสวยเวทนาเหล่านี้ที่มีอามิส ก็รู้ว่าเราเสวยเวทนาเหล่านี้ที่มีอามิส เมื่อเสวยเวทนาเหล่านี้ที่ไม่มีอามิส ก็รู้ว่าเราเสวยเวทนาเหล่านี้ที่ไม่มีอามิส ดั่งนี้
เวทนา ๕
เวทนานั้นเป็นขันธ์ที่ ๒ ในขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ก็คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เวทนาเป็นขันธ์ที่ ๒ และนับเป็นข้อต้นของนามธรรม หมายถึงความรู้เป็นสุข ความรู้เป็นทุกข์ หรือความรู้เป็นกลาง ๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข ทางกายทางใจ ที่ทุก ๆ คนมีอยู่ เพราะฉะนั้น เมื่อกล่าวจำแนกออกไปเป็นเวทนาทางกาย ทางใจด้วย ก็ได้เวทนา ๕ คือ
กายิกสุขเวทนา กับ เจตติกสุขเวทนา สุขเวทนาทางกาย สุขเวทนาทางใจ กายิกทุกขเวทนา เจตติกทุกขเวทนา ก็คือทุกขเวทนา ทางกาย ทางใจ กับ อุเบกขาเวทนา เวทนาที่เป็นกลาง ๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข ทั้งทางกาย ทั้งทางใจ
ในเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานได้ตรัสเวทนาไว้เป็น ๓ ตอน ตอนแรก ตรัสให้ทำสติกำหนดรู้สุขทุกข์ และอทุกขมสุขเวทนาเป็นกลางๆ ตอนที่สองตรัสให้ทำสติกำหนดรู้ จับว่าถ้าเป็นสามิสคือมีอามิส ก็ให้รู้ว่าเป็นสามิสคือมีอามิส ตอนที่สามก็ตรัสสอนให้ทำสติกำหนดรู้ว่า ถ้าเป็นนิรามิสคือไม่มีอามิส ก็ให้รู้เป็นนิรามิสคือไม่มีอามิส
สำหรับตอนที่ ๑ ที่ตรัสสอนให้ทำสติกำหนดรู้เป็นกลาง ๆ ว่าสุข หรือทุกข์ หรือเป็นกลาง ๆ ไม่ทุกข์ไม่สุขนั้น ก็พิจารณาได้ว่า หมายถึงเวทนาที่มีลักษณะเป็นเวทนา ยังไม่พูดถึงว่าเป็นสามิส คือมีอามิส หรือเป็นนิรามิส คือไม่มีอามิส คือเวทนาที่เป็นกลาง ๆ ดังกล่าวนี้ ก็ได้แก่ เพียงรู้สุข รู้ทุกข์ รู้เป็นกลาง ๆ ไม่ทุกข์ อันบังเกิดขึ้นทางกายทางใจ ที่ทุก ๆ คนได้รับอยู่
อายตนะ ผัสสะ เวทนา
โดยที่เวทนาดังกล่าวนี้ย่อมบังเกิดขึ้น จากความที่อายตนะภายใน และอายตนะภายนอก ของทุก ๆ คนมาประจวบกัน จนถึงเป็นสัมผัส ก็คือว่า เมื่ออายตนะภายใน อายตนะภายนอกมาประจวบกันนั้น ย่อมเกิดวิญญาณขึ้นก่อน คือความรู้เห็นรูป ความรู้ได้ยินเสียง ความรู้ทราบกลิ่น ทราบรส ทราบโผฏฐัพพะ และรู้หรือคิดเรื่อง รู้เหล่านี้เรียกว่าวิญญาณ อันบังเกิดขึ้นในเมื่ออายตนะภายในและภายนอกมาประจวบกัน เมื่ออายตนะภายใน อายตนะภายนอก กับวิญญาณ ทั้ง ๓ นี้มาประชุมกัน จึงเกิดเวทนา พิจารณาดูแล้วก็ย่อมจะเห็นได้ว่า อาการที่อายตนะภายในภายนอกและวิญญาณทั้ง ๒ นี้มาประชุมกัน ก็หมายถึงว่ามากระทบถึงจิตอย่างแรง ความกระทบถึงจิตอย่างแรงนี้เรียกว่าสัมผัส หรือเรียกว่าผัสสะ ที่ตรัสอธิบายไว้ว่า คือความที่อายตนะภายใน อายตนะภายนอก กับวิญญาณทั้ง ๓ นี้มาประจวบกัน เป็นสัมผัสที่แปลว่ากระทบ ถ้าหากว่าเพียงแต่อายตนะภายในภายนอกมาประจวบกัน และเกิดวิญญาณคือความรู้เห็นเป็นต้นเท่านั้น ยังไม่มารวมกันเข้าอีก ก็ยังไม่เป็นสัมผัส และเมื่อไม่เป็นสัมผัส เวทนาก็ยังไม่เกิด
ในข้อนี้ยกตัวอย่างเพียงข้อเดียวก่อน คืออายตนะภายในก็ได้แก่ตา อายตนะภายนอกก็ได้แก่รูป เมื่อตารูปมาประจวบกันก็เกิดวิญญาณ คือความรู้เห็นรูป ที่เรียกกันว่าเห็น เห็นนี้ก็เป็นความรู้อย่างหนึ่ง เป็นความรู้เห็นรูป อันบังเกิดขึ้นในเมื่ออายตนะภายในภายนอกคู่นี้ คือตากับรูปมาประจวบกัน จึงเห็นรูป ก็เป็นความรู้เห็นนั้นเอง อันเรียกว่าจักขุวิญญาณ ทุก ๆ คนนั้นเมื่อลืมตาขึ้นก็ย่อมจะประจวบกับรูปอันอยู่ในคลองจักษุร้อยแปดเป็นประจำ แต่ว่าสักแต่ว่ามาประจวบแล้วก็เห็น อันเป็นจักขุวิญญาณ แล้วก็ผ่านไป ผ่านไป ผ่านไป เป็นสิ่งที่ไม่สะกิดถึงใจอย่างแรง ลักษณะดังกล่าวนี้ทุกคนย่อมมีอยู่เป็นอันมาก เพราะเมื่อลืมตาขึ้นก็เห็น เพราะรูปที่มาประจวบในคลองของจักษุนั้นมากมายหลายสิบหลายร้อย แต่ว่าเมื่อไม่มีอะไรที่เป็นเครื่องสะกิดที่แรง ก็ผ่านไป ๆ ดังกล่าวมานั้น ก็ไม่เกิดเวทนาอะไร แต่เมื่อเป็นพิเศษขึ้นมา เป็นเครื่องสะกิดใจ ก็คือว่าอายตนะภายในคือตา ภายนอกคือรูป กับจักษุวิญญาณ ทั้ง ๓ นี้มาประจวบกันเข้าอีก จึงแปลว่ายังไม่ยอมปล่อยไป ก็เป็นสัมผัสกระทบถึงใจ ดั่งนี้แหละจึงจะเกิดเวทนาขึ้นมา เป็นสุขบ้างเป็นทุกข์บ้าง เป็นกลาง ๆ ไม่ทุกข์ไม่สุขบ้าง ทางกายบ้าง ทางทางใจบ้าง ส่วนมากนั้นเป็นไปทางใจ มีอยู่ข้อเดียวที่เป็นไปทางกายก็คือข้อที่ ๕
อายตนะที่ ๕ อันได้กับกายและโผฏฐัพพะ เมื่อกายและโผฏฐัพพะมาประจวบกัน ก็เกิดกายวิญญาณ และเมื่อทั้ง ๓ นี้มาประชุมกันเข้าอีกก็เป็นสัมผัส เมื่อเป็นสัมผัสจึงให้เกิดเวทนา เป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง หรือเป็นกลาง ๆ บ้าง ทางกาย มีข้อเดียวนี้ที่เป็นไปทางกาย แต่ว่าข้อนอกจากนี้เป็นไปทางใจ
เพราะฉะนั้น เวทนาคือความรู้เป็นสุขเป็นทุกข์เป็นกลาง ๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข ทางกายทางใจนี้จึงมีเป็นประจำอยู่เสมอแก่ทุก ๆ คน เพราะฉะนั้น ตอนที่ตรัสสอนตอนแรก ให้ทำสติกำหนดรู้เวทนา ก็ให้รู้จักเวทนาที่เป็นตัวเวทนา เป็นสุข เป็นทุกข์ หรือเป็นกลาง ๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข ดังที่กล่าวมานี้ และพึงทำความเข้าใจได้อีกอย่างหนึ่งว่า อันเวทนาดังกล่าวมานี้ ย่อมเป็นไปตามธรรมดาของขันธ์ คือของเวทนาขันธ์ที่ทุกคนจะต้องมีทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นบุถุชน สามัญชน ไม่ว่าจะเป็นอริยชน และสำหรับที่เป็นอริยชนนั้น เวทนาที่เป็นธรรมชาติธรรมดาดั่งนี้ก็ย่อมมีอยู่ เว้นไว้แต่ในข้อที่เป็นสามิส เมื่อตัดกิเลสได้แล้วข้อที่เป็นสามิสก็ไม่มี แต่ข้อที่เป็นนิรามิสก็ยังมีอยู่
แต่จะว่าถึงในตอนแรกนี่ก่อนว่า เมื่อเวทนาเป็นสิ่งที่พึงบังเกิดขึ้น ตามธรรมชาติตามธรรมดาดั่งนี้ และมีอยู่ด้วยกันทุกคนดั่งนี้ จึงเป็นเวทนาที่เป็นธรรมชาติธรรมดา เหมือนอย่างว่าเมื่อถูกไฟหรืออยู่ใกล้ไฟก็ร้อน นี่ก็เป็นทุกขเวทนา ไม่ว่าใครเมื่ออยู่ใกล้ไฟหรือถูกไฟ ก็ต้องร้อนทั้งนั้น หรือว่าเมื่อลมพัดมาหรืออยู่ในที่ ๆ มีอากาศเย็นสบายก็สบาย ก็เป็นสุขเวทนา นี่ยกตัวอย่างทางกาย ไม่ว่าใครก็ต้องเป็นอย่างนี้เป็นธรรมดา เพราะฉะนั้นในตอนแรกนี้ จึงได้ตรัสสอนให้กำหนดให้รู้จักเวทนา และก็กล่าวถึงเวทนาที่เป็นไปทั่ว ๆ ไป อันเป็นธรรมชาติธรรมดาดั่งนี้ก่อน ซึ่งทุก ๆ บุคคล จะเป็นบุถุชนหรือเป็นอริยบุคคลก็จะต้องมี ดังที่กล่าวมาแล้ว
เวทนาเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา
คราวนี้สำหรับที่เป็นสามัญชน หรือที่เป็นบุถุชนนั้นยังมีกิเลส เป็นต้นว่ามีตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก มีราคะ มีโทสะ มีโมหะ ฉะนั้นเมื่ออายตนะภายใน อายตนะภายนอกประจวบกัน เกิดวิญญาณ คือความรู้เห็นรูป รู้ได้ยินเสียงเป็นต้น ดังที่กล่าวมาแล้ว กิเลสในจิตใจก็เข้าผสม กล่าวคือเมื่อทั้ง ๓ นี้มาประชุมกันเป็นสัมผัสกระทบถึงใจ กิเลสที่ตั้งอยู่ในใจ เป็นอาสวะ เป็นอนุสัยก็พลอยถูกกระทบไปด้วย เมื่อถูกกระทบไปด้วยกิเลสจึงฟุ้งขึ้นมา เพราะฉะนั้น จึงบังเกิดราคะความติดใจยินดีในสุขเวทนา เกิดปฏิฆะความกระทบกระทั่งในทุกขเวทนา เกิดโมหะคือความหลงเพราะไม่รู้ในเวทนาที่เป็นกลาง ๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข ราคะ โทสะ โมหะจึงได้ปนเข้าไปในตัวเวทนา
เวทนาที่มีอามิสเครื่องล่อ
เมื่อเป็นดั่งนี้เวทนานั้นจึงกลายเป็น สามิส เวทนาที่มีอามิส ที่แปลกันว่ามีกิเลสเป็นเครื่องล่อบ้าง หรือโดยความก็คือมีกิเลสมาเคลือบแฝง มาเจือปน ยกตัวอย่างเช่น เมื่อตากับรูปประจวบกัน รูปนั้นเป็นรูปที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจ เช่นเป็นรูปที่สวยงาม ก็เกิดวิญญาณคือเห็นรูป เมื่อไปเห็นรูปที่สวยงามเข้า ที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจเข้า ทั้ง ๓ นี้เมื่อมาประชุมกันเป็นสัมผัสกระทบถึงใจ ราคานุสัยที่นอนเนื่องอยู่ในใจก็ฟุ้งขึ้นมา รับเอารูปที่สวยงามนั้น ก็บังเกิดสุขเวทนา เป็นความสุขความสบายความเพลิดเพลินยินดีในรูปที่สวยงาม อันน่ารักใคร่ปรารถนาพอใจ เพราะมีราคะปนเข้าไปอยู่
คราวนี้ถ้าหากว่า เมื่อตากับรูปประจวบกัน รูปที่มาประจวบนั้นเป็นรูปที่น่าเกลียดน่ากลัว หรือเป็นรูปที่ไม่ชอบ เช่นเป็นคนที่เป็นศัตรูกันเกลียดกันไม่ชอบกัน ดั่งนี้ เมื่อตากับรูปเช่นนี้มาประจวบกัน ก็เกิดวิญญาณ คือรู้เห็น เห็นขึ้นเป็นจักขุวิญญาณ ทั้ง ๓ นี้เป็นสัมผัสกระทบถึงใจ ปฏิฆานุสัยที่นอนเนื่องอยู่ในใจก็ฟุ้งขึ้นมา จึงได้เกิดทุกขเวทนา คือว่าเห็นแล้วไม่สบาย หงุดหงิด เร่าร้อน เพราะว่ามีปฏิฆะ มีโทสะเจือเข้ามา
คราวนี้ถ้าหากว่าตากับรูปที่มาประจวบกันนั้น รูปที่ตาเห็นเป็นกลาง ๆ ไม่พอที่จะให้ชอบ ไม่พอที่จะให้ชัง จึงเกิดการเห็น และเมื่อเกิดการประชุมเป็นสัมผัสกระทบถึงใจขึ้น ตัวโมหะคือความหลงก็ปรากฏขึ้น ปนอยู่เป็นเวทนาที่เป็นกลาง ๆ ที่ประกอบด้วยโมหะคือความหลง เพราะมิได้พิจารณาให้รู้เห็นตามความเป็นจริง
เพราะฉะนั้น สำหรับสามัญชนหรือบุถุชนทั้งหลายที่ยังมีกิเลส จึงมีเวทนาที่มีอามิสคือมีกิเลสเจือ มีกิเลสผสม หรือมีกิเลสเป็นเครื่องล่อ ดั่งนี้อยู่เป็นอันมาก จึงได้ตรัสถึงในตอนที่สอง
เวทนาที่ไม่มีอามิสเครื่องล่อ
มาถึงตอนที่ ๓ เมื่อมาปฏิบัติธรรมะ เช่นปฏิบัติในศีลได้ปีติ สุข โสมนัสในศีลดั่งนี้ก็เป็นสุขเวทนาที่ไม่มีอามิส ที่ไม่มีกิเลสมาเจือปน แต่ว่าบังเกิดขึ้นจากศีลเมื่อได้สัมผัสในพระพุทธรัตนตรัย มีความสุข มีปีติ ก็เป็นสุขเวทนาที่ไม่มีอามิสเช่นเดียวกัน หรือปฏิบัติในศีลนั่นแหละก็ต้องงดเว้นจากข้อที่พระพุทธเจ้าทรงห้าม เช่นต้องงดเว้นจากการบริโภคอาหารในเวลาวิกาล ก็หิวขึ้นมาเป็นทุกข์ ทุกข์ดั่งนี้ก็เป็นทุกข์ที่ไม่มีอามิสเป็นเครื่องล่ออีกเหมือนกัน เพราะว่าเกิดจากการปฏิบัติในศีล
(เริ่ม)...หรือว่านั่งสมาธิ เมื่อนั่งยังไม่ได้สุขจากสมาธิ ก็มักจะได้ทุกข์จากสมาธิ ทุกข์จากการนั่งสมาธิ เมื่อยขบ จิตใจก็วุ่นวาย เพราะไม่ได้สุขจากสมาธิ แปลว่าใจก็ไม่สบาย กายก็ไม่สบาย แต่ว่าก็ยังตั้งใจที่จะปฏิบัติต่อไป เมื่อได้ทุกข์ดั่งนี้ก็เป็นทุกขเวทนาที่ไม่มีอามิสเป็นเครื่องล่อ เพราะฉะนั้นที่ไม่มีอามิสเป็นเครื่องล่อจึงมีได้อย่างนี้ และแม้พระอริยบุคคลทั้งหลาย ละกิเลสได้บางส่วน จนถึงได้สิ้นเชิง ก็กล่าวได้ว่าท่านก็ได้สุข ได้ทุกข์ ได้เป็นกลาง ๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข เมื่อท่านเห็นรูปอะไร ท่านก็รู้ว่ารูปนี้งดงาม รูปนี้ไม่งดงาม ได้ยินเสียงอะไรท่านก็รู้ว่านี่เป็นเสียงที่ดี เสียงที่ไม่ดี เป็นเสียงสรรเสริญ เป็นเสียงนินทา เป็นเสียงดนตรีที่ว่าเพราะ ท่านก็รู้ว่าเพราะ หรือเป็นเสียงด่าท่านก็รู้ว่านี่ด่า แม้ทางจมูกทางลิ้นทางกาย ตลอดจนถึงความคิดทางใจ ก็เช่นเดียวกัน ท่านก็รู้ เพราะท่านก็รู้สมมติบัญญัติของโลกว่าเป็นอย่างไร ไม่ใช่ไม่รู้ เหมือนดังพระพุทธเจ้าเอง บ้านเมืองที่สวยงาม ท่านก็ทรงทราบว่าสวยงาม
ดังที่มีเล่าไว้ในพุทธประวัติว่า เมื่อเสด็จผ่านกรุงเวสาลีในครั้งสุดท้าย ก็จะเสด็จผ่าน ก็ยังหันพระกายไปทอดพระเนตร แล้วก็ตรัสบอกแก่ภิกษุทั้งหลาย ว่ากรุงเวสาลีนี้วิจิตรงดงาม จึงเรียกอาการที่พระพุทธเจ้าทรงผันพระกาย ไปทอดพระเนตรเมืองเวสาลีเป็นครั้งสุดท้าย ว่าเป็น นาคาวโลก ทอดพระเนตรเหมือนอย่างงูที่กลับศีรษะไปข้างหลังเรียกว่า นาคาวโลก เพราะฉะนั้น แม้ท่านผู้สิ้นกิเลสแล้วท่านก็รู้ตามสมมติบัญญัติของโลก รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เรื่องราวอะไรที่สวยงาม ที่ไม่สวยงาม ที่ดี ที่ไม่ดี ที่หยาบที่ละเอียด ท่านก็รู้ แต่ว่าท่านไม่มีกิเลสอาสวะอนุสัย ไม่มีกามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ ไม่มีราคานุสัย ปฏิฆานุสัย อวิชชานุสัย
เพราะฉะนั้น เมื่ออายตนะภายในภายนอกมาประจวบกัน ก็เป็นวิญญาณขึ้นนี่แหละ ธรรมดานี่แหละ แล้วก็เป็นสัมผัส เมื่อเป็นสัมผัสก็เป็นเวทนา ก็เป็นเวทนาธรรมดา ไม่มีกิเลสที่จะฟุ้งขึ้นมาเจือปน เพราะฉะนั้นก็เป็น นิรามิส ไม่มีอามิส เพราะฉะนั้น เวทนาของพระอริยเจ้าทั้งหลาย ของพระอรหันต์ทั้งหลาย จึงไม่เป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา ไม่เป็นปัจจัยให้เกิด ราคะ โทสะ โมหะ เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอนให้ตั้งสติ กำหนดให้รู้จักเวทนาเป็น ๓ ตอน ตอนที่เป็นเวทนาทั่วไป ตอนที่เป็นเวทนาที่มีอามิส มีกิเลสเจือ มีกิเลสเป็นเครื่องล่อ กับตอนที่เป็นนิรามิส ที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติธรรม และที่ไม่มีกิเลสเจือ ไม่มีกิเลสเป็นเครื่องล่อ ดั่งนี้
พิจารณาสุขเวทนาโดยเป็นทุกข์
และก็ได้ตรัสสอนยิ่งขึ้นไปกว่านั้น ที่ตรัสสอนในทางวิปัสสนา ดังที่ยกขึ้นมาในเบื้องต้น ตรัสสอนให้พิจารณาสุขเวทนาโดยเป็นทุกข์ ในข้อนี้ก็เพราะว่าสุขเวทนานี้ ปรกตินั้นสำหรับสามัญชน ย่อมนำให้เกิดราคะความติดใจยินดี เพราะฉะนั้นจึงตรัสสอนให้พิจารณาว่าโดยที่แท้แล้ว ตัวสุขที่เข้าใจว่าสุขนี้ก็คือทุกข์ ก็เพราะว่าเป็นสิ่งที่ทนอยู่คงที่ไม่ได้ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป คือต้องดับ คือเป็นสุข สุขนี้ก็ต้องดับ ไม่มีสุขเวทนาอันใดที่ตั้งอยู่คงที่ได้ ต้องดับดั่งนี้ เพราะฉะนั้นตัวสุขจึงต้องเป็นตัวทุกข์ คือตั้งอยู่ไม่ได้ต้องดับ เมื่อต้องดับก็ชื่อว่าเป็นทุกข์ และอีกประการหนึ่ง แม้สุขนั้นเองก็เป็นสิ่งที่ต้องทน แต่ว่าทนได้ง่ายจึงเรียกว่าสุข แม้ทุกข์เองก็ต้องทน แต่ทนได้ยากจึงเรียกว่าทุกข์ ทั้งสุขทั้งทุกข์ก็ต้องทนทั้งนั้น ๙ ถ้าหากว่าไม่ทนหรือทนไม่ได้ สุขก็จะไม่เป็นสุขเลย จะต้องเป็นอันตรายทั้งนั้น แต่ที่เป็นสุขนั้นก็เพราะทนได้ และทนได้ง่าย สำหรับในภาวะที่พึงทนได้ หรือที่ต้องการ ดังจะพึงเห็นได้ว่าเมื่อนั่งอยู่นาน ๆ เมื่อย ก็ต้องลุกขึ้นยืน เมื่อลุกขึ้นยืนแล้วก็รู้สึกว่าเป็นสุข แต่ก็ไม่ใช่หมายความว่าสุขเพราะยืนนี้จะมีอยู่ได้นาน ยืนอยู่สักครู่หนึ่งก็เป็นทุกข์เสียแล้ว สุขหายไปแล้ว ต้องนั่งกันใหม่ หรือต้องเปลี่ยนอิริยาบถอย่างอื่นต่อไปอีก เพราะฉะนั้น ความสุขนี้จึงเป็นการสับเปลี่ยนกับทุกข์เท่านั้น แปลว่าเพราะมีทุกข์จึงต้องมีสุข และเพราะมีสุขจึงต้องมีทุกข์ เหมือนอย่างเมื่อมีนั่งก็ต้องมียืน เมื่อมียืนก็ต้องมีนั่ง เป็นคู่กันดั่งนี้เป็นต้น สุขทุกข์จึงต้องคู่กันอยู่ดั่งนี้ เพราะฉะนั้นจึงได้ตรัสสอนให้พิจารณาว่า สุขนี้แหละก็คือตัวทุกข์
คราวนี้สำหรับทุกขเวทนาที่บังเกิดขึ้น ก็ตรัสสอนให้พิจารณา โดยเป็นลูกศรที่เสียบแทง คือเหมือนอย่างลูกศรที่เสียบแทงทำให้เจ็บช้ำ เพราะฉะนั้นจึงให้ถอนลูกศรนี้เสียด้วยการที่ การพิจารณาให้เห็นว่า แม้ทุกข์นี้เองก็ต้องเป็นทุกข์โดยที่ทนอยู่ไม่ได้ ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปเช่นเดียวกัน และถ้าหากว่ายึดเอาทุกข์ไว้ก็คือว่านำเอาลูกศรมาเสียบไว้ที่จิตใจ ถ้าหากว่าไม่นำเอาทุกข์มาเสียบไว้ที่จิตใจ กล่าวคือจิตใจไม่ยึดถือ หรือจิตใจปฏิบัติตามวิธีที่ทรงสั่งสอน เช่นว่าเพ่งดูตัวทุกข์เวทนานั้นอันบังเกิดขึ้น ให้รู้จักว่าอันที่จริงทุกขเวทนานั้น เช่นบังเกิดขึ้นที่ ..เมื่อย ที่ขา เมื่อยที่ขา ขานั้นไม่ใช่ใจ แต่ที่ไปเมื่อยที่ใจนั้นก็เพราะใจไปยึด เพราะฉะนั้น เมื่อใจไม่ยึดให้ทุกข์เวทนาที่ขาก็อยู่ที่ขา ไม่ใช่มาอยู่ที่ใจ พิจารณาดั่งนี้เป็นต้น ให้รู้จักแยกดั่งนี้ตามสมควร ก็เป็นอันว่าไม่ยอมให้ทุกข์เวทนานี้เป็นลูกศรที่เสียบใจ เปลื้องลูกศรออกจากใจเสียดั่งนี้ ก็จะคลายทุกข์ไปได้ ไม่ยึดถือ ไม่ทุกข์
ส่วนอทุกขมสุขเวทนาก็ตรัสสอนให้พิจารณาเห็นโดยเป็นของไม่เที่ยง คือเป็นสิ่งที่เกิดดับ เมื่อหัดพิจารณาดั่งนี้เนือง ๆ แล้ว ก็ตรัสว่าจะเป็นผู้ที่ประเสริฐ จะเป็นผู้ที่เห็นชอบ จะเป็นผู้ที่ตัดตัณหาได้ จะเป็นผู้ที่เปลื้องสัญโญชน์คือกิเลสที่ผูกใจได้ และจะทำทุกข์ให้สิ้นได้ เพราะตัดมานะความสำคัญหมายต่าง ๆ ได้โดยชอบ
ต่อจากนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป