แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุก ๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
จะแสดงพระพุทธเจ้าทรงสอนกรรมฐานตามสัพพาสวสังวรสูตร พระสูตรที่ว่าด้วยการสำรวมคือป้องกันระวัง ตลอดถึงละอาสวะทั้งปวง นำสติปัฏฐาน พระบรมศาสดาได้ตรัสสอนให้ละอาสวะด้วยวิธีต่าง ๆ คือด้วย วิธีทัศนะ คือปัญญาที่รู้เห็น ด้วย วิธีสำรวมอินทรีย์ อันเรียกว่าอินทรียสังวร ด้วย วิธีเสพบริโภคปัจจัย ๔ ด้วยการพิจารณา ด้วย วิธีรับไว้อยู่ ยับยั้งไว้อยู่ คือใช้ขันติอดทนอดกลั้น ด้วย วิธีเว้น ด้วย วิธีบันเทา
ภาวนา
ตามที่ได้แสดงอธิบายมาโดยลำดับนับได้ ๖ วิธี และได้ตรัสอีกวิธีหนึ่ง อันวิธีที่เคารพ ๗ และเป็นวิธีที่สุดในพระสูตรนี้ ก็คือด้วยวิธีปฏิบัติอบรมอันเรียกว่าภาวนา คำว่าภาวนานี้มาใช้ในภาษาไทย คล้ายกับนึกอยู่ในใจ บริกรรมอยู่ในใจ กำหนดอยู่ในใจ แต่อันที่จริงความหมายของคำนี้ คือการปฏิบัติอบรมนั้นเอง ตามพยัญชนะก็แปลว่าการทำให้มีขึ้นให้เป็นขึ้น ซึ่งมีความหมายว่าปฏิบัติได้ทำได้
องค์แห่งความตรัสรู้
และในพระสูตรนี้ได้ตรัสยกเอาโพชฌงค์ ๗ ขึ้นมาว่า ให้ปฏิบัติอบรมโพชฌงค์ ๗ โพชฌงค์นั้นแปลว่าองค์แห่งความตรัสรู้ เรียกว่าสัมโพชฌงค์ก็ได้ ก็แปลว่าองค์แห่งความตรัสรู้พร้อม องค์ก็คือ องคคุณ หรือ องคสมบัติ แห่งความตรัสรู้ คือนำให้บังเกิดความตรัสรู้ มี ๗ องค์ คือ
สติสัมโพชฌงค์ องค์แห่งความตรัสรู้คือสติ
ธัมวิจยสัมโพชฌงค์ องค์แห่งความตรัสรู้คือความเลือกเฟ้นธรรม
วิริยสัมโพชฌงค์ องค์แห่งความรู้คือความเพียร
ปีติสัมโพชฌงค์ องค์แห่งความรู้คือปีติ ความอิ่มใจ ความดูดดื่มใจ
ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ องค์แห่งความรู้คือปัสสัทธิความสงบ
สมาธิสัมโพชฌงค์ องค์แห่งความรู้คือสมาธิ
อุเบกขาสัมโพชฌงค์ องค์แห่งความรู้ คือความเข้าไปเพ่ง
รวมเป็นโพชฌงค์ ๗ ประการ หรือว่า ๗ องค์ โพชฌงค์ ๗ นี้ เป็นหมวดธรรมะสำคัญทางปฏิบัติหมวดหนึ่ง ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงเอาไว้ ตรัสแสดงรวมไว้ในหมวดธรรมสำคัญหลายหมวด เช่นในหมวดโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ ก็มีโพชฌงค์ ๗ นี้รวมอยู่ด้วยหมวดหนึ่ง ในมหาสติปัญฐานสูตรซึ่งแสดงเป็นหลักปฏิบัติในที่นี้เป็นประจำมาทุกปี ก็มีโพชฌงค์รวมอยู่ด้วยหมวดหนึ่ง และที่ตรัสแสดงเนื่องเป็นสายเดียวกับสติปัฏฐานก็มี คือตรัสแสดงสติปัฏฐาน ๔ โพชฌงค์ ๗ สืบไปถึงวิชชาวิมุติในที่สุด และที่ตรัสแสดงไว้จำเพาะโพชฌงค์ ๗ นี้เพียงหมวดเดียว ก็มีเป็นอันมาก
เมื่อตรัสแสดงรวมอยู่ในหมวดใหญ่ ก็มักจะต่อสืบเนื่องมาจากสติปัฏฐาน ๔ ซึ่งบ่งความว่าปฏิบัติในสติปัฏฐานมาก่อน จึงมาถึงโพชฌงค์ แต่แม้ว่าจะตรัสแสดงไว้หมวดเดียว คือจำเพาะโพชฌงค์เท่านั้น โพชฌงค์ข้อแรกก็นำด้วยสติ คือสติสัมโพชฌงค์ ฉะนั้น แม้ในหมวดโพชฌงค์นี้เองก็เริ่มด้วยสติ ในที่ ๆ ตรัสรวมไว้ในธรรมะหลายหมวดสืบเนื่องจากสติปัฏฐาน ๔ นี้ ก็บ่งว่าการปฏิบัติในสติปัฏฐานย่อมมาก่อน จึงถึงโพชฌงค์ และที่ตรัสแสดงไว้จำเพาะหมวดโพชฌงค์เท่านั้น ก็เริ่มด้วยสติ แต่ใช้คำว่าสติเป็นคำกลาง ๆ ก็อาจรวมสติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้เข้าด้วยได้ ว่าเริ่มด้วยสติปัฏฐาน ๔ หรือแม้ว่าจะเริ่มด้วยสติที่ไม่นับเป็น ๔ ข้ออย่างสติปัฏฐาน ๔ ก็ได้ ดังที่ได้ตรัสแสดงไว้ในการที่ทรงอธิบายโพชฌงค์ ๗ ที่ยกขึ้นมาเพียงหมวดเดียว ใช้ในการฟังธรรม
การฟังธรรมโพชฌงค์ ๗
กล่าวคือในการฟังธรรมนั้น ก็ใช้วิธีปฏิบัติทางโพชฌงค์นี้ได้ด้วย คือตรัสแสดงไว้โดยความว่า ผู้ฟังธรรม เมื่อฟังธรรมก็ระลึกถึงธรรมะที่ฟัง ความที่ระลึกถึงธรรมะที่ฟังนี้ ก็เป็นสติสัมโพชฌงค์องค์แห่งความรู้พร้อม คือสติความระลึกได้ ความกำหนดได้ และก็วิจัยคือเลือกเฟ้นธรรม
วิจัยคือเลือกเฟ้นธรรมที่สติระลึกได้นั้น จำแนกธรรมะออกเป็นกอง เป็นส่วน ว่านี่เป็นกุศล นี่เป็นอกุศล นี่มีโทษ นี่ไม่มีโทษ นี่เป็นธรรมดำ นี่เป็นธรรมขาว วิจัยจำแนกธรรมที่ระลึกได้ด้วยสติออกเป็นกอง ๆ ดั่งนี้ ก็เป็นธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ องค์แห่งความรู้คือธรรมวิจัย ความเลือกเฟ้นธรรม
และเมื่อได้วิจัย คือเลือกเฟ้นรู้จักธรรมะดังกล่าว ก็เพียรละอกุศล ละธรรมะที่มีโทษ ธรรมะที่ดำ เพียรปฏิบัติอบรมกุศล ธรรมะที่ไม่มีโทษ ที่ขาวสะอาด ก็เป็นวิริยสัมโพชฌงค์ องค์แห่งความรู้ คือวิริยะความเพียร และเมื่อเพียรละอกุศล เพียรปฏิบัติอบรมกุศลให้บังเกิดขึ้นดั่งนี้ ก็จะได้ปีติคือความอิ่มใจ ความเอิบอิ่มใจ ความดูดดื่มใจ ในกุศล ในธรรมะที่ไม่มีโทษ ในธรรมที่ขาวสะอาด ที่ได้อบรมปฏิบัติให้มีขึ้น ก็เป็นปีติสัมโพชฌงค์ องค์แห่งความรู้คือปีติ
เมื่อได้ปีติก็ย่อมจะได้ความสงบกาย ความสงบใจ ก็เป็นปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ องค์แห่งความรู้คือปัสสัทธิความสงบกาย ความสงบใจ และเมื่อกายและใจสงบ มีสุข ก็ย่อมจะตั้งจิตเป็นสมาธิได้ เมื่อจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิ รวมอยู่ในอารมณ์เป็นอันเดียว สงัดสงบจิตจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลาย ก็เป็นสมาธิสัมโพชฌงค์องค์แห่งความรู้คือสมาธิ เมื่อจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิ ความเพ่งดูสมาธิจิตสงบอยู่ ก็เป็นอุเบกขาสัมโพชฌงค์ องค์แห่งความรู้คืออุเบกขา ความเพ่งจิตที่เป็นสมาธินี้สงบอยู่
จึงเป็นโพชฌงค์ ๗ ประการ อันปฏิบัติเริ่มมาจากการฟังธรรม ฉะนั้นแม้ในการฟังธรรมะที่เป็นเทศนาก็ดี ที่เป็นบรรยายอบรมก็ดี หรือแม้อ่านหนังสือธรรมะ ก็ใช้โพชฌงค์นี้มาฟังมาอ่านได้ คือว่าฟังหรืออ่านด้วยโพชฌงค์ทั้ง ๗ ประการนี้ ดังที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสอธิบายไว้เริ่มด้วยการฟังธรรม ก็ฟังด้วยโพชฌงค์ทั้ง ๗ ประการ ดั่งนี้
การใช้โพชฌงค์ในการปฏิบัติกรรมฐานต่าง ๆ
และนอกจากนี้พระบรมศาสดายังได้ทรงแสดง การใช้โพชฌงค์ปฏิบัติในกรรมฐานต่าง ๆ เป็นอันมาก ดังเช่นได้ตรัสสอนไว้ในการเจริญพรหมวิหารทั้ง ๔ ประการ คือแผ่จิตออกไปด้วยเมตตา ด้วยกรุณา ด้วยมุทิตา ด้วยอุเบกขา ก็ปฏิบัติด้วยโพชฌงค์ ก็คือปฏิบัติโพชฌงค์ทั้ง ๗ ประการนี้เอง ประกอบด้วยเมตตา ประกอบด้วยกรุณา ประกอบด้วยมุทิตา ประกอบด้วยอุเบกขา (เริ่ม)...ดังเช่นเมื่อตั้งจิตแผ่เมตตาออกไปในสัตว์ทั้งหลาย ว่า สัพเพสัตตา สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง สุขิตาโหนตุ จงบรรลุถึงความสุขเถิด ดั่งนี้ ในทิศเบื้องหน้า ในทิศเบื้องขวา ในทิศเบื้องหลัง ในทิศเบื้องซ้าย ในทิศเบื้องบน ในทิศภายล่าง และในทิศเบื้องขวางโดยรอบ ก็ปฏิบัติทำสติแผ่เมตตา คือสติที่ระลึกไปดั่งนี้ ระลึกถึงสัตว์ทั้งปวง และระลึกแผ่จิตออกไปด้วยเมตตาว่าให้มีความสุข ระลึกไปถึงทิศทั้งหลายดังที่กล่าวมานั้น คือแผ่ออกไปในทิศทั้งหลายดังที่กล่าวมานั้น ดั่งนี้เป็นสติทั้งนั้น ก็ต้องใช้สติในการปฏิบัติแผ่เมตตาจิต
และก็ใช้วิจัยคือจำแนกธรรมะ กล่าวคือเมื่อจิตแผ่ไปมีสัตว์ทั้งหลายเป็นอารมณ์ ก็รู้ว่านี่แผ่ไปมีสัตว์ทั้งหลายเป็นอารมณ์ และเมื่อแผ่ไปในทิศใดทิศหนึ่ง ก็รู้ว่าแผ่ไปในทิศนั้นทิศนี้ จำแนกทิศได้ถูกต้องว่าเบื้องหน้า เบื้องขวา เบื้องหลัง เบื้องซ้าย เบื้องบน เบื้องล่าง และเบื้องขวางโดยรอบ จำแนกทิศได้ถูก ถ้าไม่มีวิจัยคือจำแนกดั่งนี้ ก็แจกทิศไม่ถูก สับสนหมด แต่ที่แจกได้ดั่งนี้ก็เพราะว่าจำแนกทิศได้ถูกต้อง อันหนึ่ง และเมื่อจิตมีเมตตา ก็รู้ว่าจิตมีเมตตา หากมีปฏิฆะพยาบาทผุดขึ้นมาในขณะที่แผ่เมตตาก็รู้ ว่ามีปฏิฆะพยาบาทผุดขึ้นมาในจิต หรือเมื่อราคะผุดขึ้นมาก็รู้ว่า ราคะผุดขึ้นในจิต หรือเมื่อความฟุ้งซ่านไปอย่างอื่นถึงเรื่องโน้นเรื่องนี้แทรกเข้ามา ก็รู้ว่าเรื่องนั้นเรื่องนี้แทรกเข้ามา หรือเมื่อง่วงก็กำหนดให้รู้จักว่า นี่ง่วงแทรกเข้ามา สงสัยเคลือบแคลงอะไรโผล่ขึ้นก็รู้ว่า นี่สงสัยเคลือบแคลงอะไรโผล่ขึ้นมา ก็กำหนดให้รู้จักว่านี่เป็นนิวรณ์เครื่องกั้นไม่ให้ได้สมาธิ ก็สงบไปเสีย เมื่อเมตตาจิตโผล่ขึ้นมา เป็นความเมตตา เป็นความเย็น เป็นความสงบ ก็รู้ว่านี่เป็นกุศล เป็นสิ่งที่ต้องการ ก็รักษาเอาไว้ และรักษาเมตตานี้ให้มากขึ้น ดั่งนี้ก็เป็นธัมมวิจัย
แล้วก็เป็นวิริยะ คือความเพียร ประกอบกันไป คือเมื่อวิจัยออกมาว่าเป็นอกุศลหรือโทษ ก็ละเสีย วิจัยออกมาว่าเป็นกุศลมีคุณไม่มีโทษ ก็รักษาไว้ และปฏิบัติเพิ่มเติมขึ้น ก็เป็น วิริยสัมโพชฌงค์ และเมื่อเป็นดั่งนี้จิตก็จะตั้งมั่นอยู่ในเมตตามากขึ้น บรรดาอกุศลจิตที่โผล่ขึ้นมาต่าง ๆ อันประกอบด้วยราคะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง ก็จะสงบลงไป เมื่อเป็นดั่งนี้จิตก็สะอาดบริสุทธิ์ขึ้น เต็มไปด้วยกุศลมากขึ้น ปีติก็บังเกิดขึ้น บังเกิดขึ้นเองเป็นความอิ่มใจเป็นความอิ่มเอิบในธรรมในกุศล ก็เป็น ปีติสัมโพชฌงค์
และเมื่อเป็นปีติสัมโพชฌงค์ กายใจก็สงบเป็น ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ จิตก็ตั้งมั่นเป็นสมาธิมากขึ้นในเมตตาที่แผ่ออกไปนั้น เป็นอุปจารสมาธิ สมาธิที่เฉียด ๆ จนถึงเป็นอัปปนาสมาธิ สมาธิที่แนบแน่น ก็เป็นสมาธิสัมโพชฌงค์ และก็เข้าไปเพ่งดูจิตที่เป็นสมาธินี้ ให้รู้จักจิตที่เป็นสมาธินี้ สงบอยู่ ความสงบอยู่นี้ก็คือความวางได้ และความเฉยได้ อันเป็นลักษณะที่มักจะแปลอุเบกขาว่าความวางเฉย วางได้ก็คือว่าวางความวุ่นวายต่าง ๆ เฉยได้ก็คือว่าสงบไม่ทุรนทุราย เป็นความเข้าไปเพ่งสงบอยู่ ก็เป็นอุเบกขาสัมโพชฌงค์
อันสมาธิและอุเบกขานี้มักจะแสดงรวมกัน ในสมาธิที่เป็นอัปปนาคือแนบแน่น ดังที่แสดงว่ามีองค์ก็คือเอกัคคตา ความที่มีอารมณ์เป็นอันเดียว กับอุเบกขาความเข้าไปเพ่งเฉยอยู่ ดั่งนี้ และเมื่อมีทั้งตัวเอกัคคตาที่เป็นสมาธิโดยตรง กับอุเบกขาดังกล่าวประกอบกันอยู่ ก็เรียกว่าเป็นสมาธิที่แนบแน่น อันเป็นอัปปนาสมาธิ ถ้าหากว่าขาดอุเบกขาเสียแล้ว สมาธิก็ตั้งมั่นอยู่นานไม่ได้ มักจะได้แค่อุปจาร ซึ่งมีอุเบกขาอยู่น้อย และเมื่อมีอุเบกขาอยู่มากพอเพียงที่รักษาเอกัคคตาจิต คือจิตที่มีอารมณ์เป็นอันเดียวไว้ได้มาก ก็เป็นอัปปนาที่แนบแน่นอยู่ได้นาน เพราะฉะนั้นอุเบกขาจึงมักแสดงรวมอยู่ในข้อสมาธิ แต่ในที่นี้แยกออกมาเพื่อชี้ให้ชัด ว่าเมื่อได้สมาธิจิตรวมเข้ามาแล้ว จะต้องได้อุเบกขาคือความเข้าไปเพ่งสงบอยู่ คือรู้จิตที่เป็นสมาธินี้ ดูจิตที่เป็นสมาธินี้ เห็นจิตที่เป็นสมาธินี้ สงบอยู่ด้วย สมาธิจึงจะเป็นอัปปนาคือแนบแน่น แน่วแน่ และแนบแน่นแน่วแน่อยู่ได้นาน ดังนี้ก็เป็นอุเบกขาสัมโพชฌงค์ เพราะฉะนั้นแม้ในการปฏิบัติธรรม เมตตาภาวนา อบรมเมตตาจิต ก็จะต้องใช้โพชฌงค์ ๗ มาประกอบ มาช่วย จึงจะได้ผลในการอบรมเมตตา ในข้ออื่นก็เช่นเดียวกัน
และนอกจากนี้พระพุทธเจ้ายังได้ตรัสสอน เรียกว่าให้ปฏิบัติกรรมฐานทุกข้อก็ได้ ให้ประกอบด้วยโพชฌงค์ทั้ง ๗ นี้ หรือว่า กล่าวอีกอย่างหนึ่งตรัสยกเอาโพชฌงค์ทั้ง ๗ นี้เป็นที่ตั้ง ว่าปฏิบัติอบรมโพชฌงค์ทั้ง ๗ ประการนี้ ให้ประกอบด้วยกรรมฐานได้ทุกข้อ ดังเช่นหมวดพรหมวิหาร ๔ ดังที่กล่าวมา และในหมวดอื่นเช่นในกสิณ ๑๐ ในอสุภะ ๑๐ ในอนุสสติ ๑๐ เหล่านี้ก็ได้ตรัสสอนเอาไว้ ให้อบรมปฏิบัติโพชฌงค์ทั้ง ๗ ให้ประกอบด้วยกรรมฐานเหล่านี้ หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า
การปฏิบัติกรรมฐานเหล่านี้ทุกข้อ ก็ให้ปฏิบัติในทางของโพชฌงค์ทั้ง ๗ ดังที่กล่าวมา และแม้ในหมวดสติปัฏฐานที่ได้แสดงมาแล้ว ตามหลักธรรมะที่ตรัสไว้ในมหาสติปัฏฐานสูตร การที่จะปฏิบัติทำอานาปานสติ สติกำหนดลมหายใจเข้าออก การทำสติในอิริยาบถ หรือสัมปชัญญะในอิริยาบถทั้ง ๔ ในอิริยาบถที่ปลีกย่อยออกไป จำแนกละเอียดออกไป ในการพิจารณากายนี้ว่าประกอบด้วยอาการทั้งหลาย ๓๑ หรือ ๓๒ ล้วนไม่สะอาด ล้วนเป็นของปฏิกูล การกำหนดพิจารณาธาตุทั้ง ๔ และการกำหนดพิจารณาป่าช้าทั้ง ๙ คือซากศพที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า ที่ตายวันหนึ่ง ตายสองวัน ตายสามวัน ขึ้นพองมีสีเขียวน่าเกลียด ซากศพที่ถูกสัตว์ทั้งหลายกัดกิน เป็นต้นว่าถูกกา ถูกนกตะกรุม ถูกสุนัขบ้าน ถูกสุนัขจิ้งจอก ถูกสัตว์เล็กน้อยทั้งหลายกัดกิน ซากศพที่เป็นโครงร่างกระดูกยังเปื้อนเลือดเปื้อนเนื้อ ประกอบด้วยเนื้อเส้นเอ็นรึงรัด และซากศพที่ไม่มีเนื้อแต่ยังมีเส้นเอ็นรึงรัด และซากศพที่ไม่มีเส้นเอ็นรึงรัด เป็นโครงร่างกระดูกจึงกระจุยกระจายไปในทิศทั้งหลาย กระดูกศีรษะก็ไปทางหนึ่ง กระดูกคอ กระดูกแขน กระดูกขา ก็ไปทางหนึ่ง เหล่านี้เป็นต้น ซากศพที่เป็นกระดูกมีสีขาวเหมือนดังสังข์ ซากศพที่เกินปีหนึ่งแยกกันอยู่เป็นกอง ๆ ตลอดจนถึงซากศพที่ผุเป็นผุยผง อันแสดงถึงว่ากายอันนี้นั้น เมื่อยังดำรงชีวิตอยู่ ก็เป็นกายที่หายใจเข้าหายใจออก ผลัดเปลี่ยนอิริยาบถทั้ง ๔ ได้ ผลัดเปลี่ยนอิริยาบถเล็กน้อยทั้งหลาย ที่จำแนกออกไปอย่างละเอียดได้ ประกอบด้วยอาการ ๓๑, ๓๒ ซึ่งต่างก็มีอาการ คือการปฏิบัติหน้าที่ของตน ๆ รวมเข้าก็เป็นธาตุ ๔ คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม หรือเติมอากาสธาตุเป็นธาตุ ๕ กายที่มีชีวิตอยู่ย่อมเป็นดั่งนี้ แต่ว่าเมื่อธาตุทั้งหลายแตกสลาย กายนี้ก็กลายเป็นศพ และเมื่อเป็นศพแล้วก็เป็นอันว่าหยุดหายใจ การที่จะผลัดเปลี่ยนอิริยาบถทั้งปวงก็เป็นไม่ได้ และอาการ ๓๑, ๓๒ ก็หยุดการทำงาน การทำหน้าที่ ธาตุทั้ง ๔ นั้นก็กระจัดกระจายไป ในทีแรกก็ยังรวมกันอยู่เป็นศพ เหมือนอย่างศพที่ตายใหม่ ๆ และเมื่อทิ้งเอาไว้ไม่จัดไม่ทำ ในป่าช้า ก็จะถูกสัตว์ทั้งหลายกัดกิน หรือว่าเน่าเปื่อยไปเอง ก็จะเหลือแต่โครงร่างกระดูก ที่ทีแรกก็ยังมีเลือดมีเนื้อมีเส้นเอ็นรึงรัด ต่อไปเลือดเนื้อก็จะหมดไปไม่มีเส้นเอ็นรึงรัด ร่างกระดูกก็ยังรวมกันอยู่ แต่ครั้นเส้นเอ็นที่รึงรัดนั้นไม่มีเสียอีกแล้ว กระดูกที่รวมเป็นร่างอยู่ ก็จะกระจัดกระจายไปคนละทิศคนละทาง ก็เป็นกระดูกที่เป็นสีขาวเกลื่อนกล่นอยู่ แล้วก็จะเป็นกองเล็กกองน้อย จนถึงผุป่นไปในที่สุด เหล่านี้ก็เป็นอันว่ากายของทุก ๆ คนนี้ทีแรกก็ไม่มี แต่เมื่อขึ้นมาด้วยชาติคือความเกิด ก็ต้องประกอบด้วยชราความแก่ มรณะความตาย ในที่สุดแล้วก็กลับไม่มี เหมือนอย่างที่เคยไม่มีมาก่อน ดั่งนี้ก็เป็นการตรัสสอนให้พิจารณา เป็นสติที่เป็นไปในกาย อันเรียกว่า กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน
และในการปฏิบัติกายานุปัสสนาสติปัฏฐานนี้ ก็ปฏิบัติทางโพชฌงค์ได้ ด้วยสติที่ระลึกไปดังกล่าวมานี้ ก็เป็นสติสัมโพชฌงค์ แล้วก็มีธรรมวิจัยสัมโพชฌงค์ วิจัยกายนี้เองตามที่พระพุทธเจ้าตรัสสั่งสอนไว้ และตามที่เป็นไปจริง เพราะก็ตรัสสั่งสอนไว้ชี้เข้ามาถึงสัจจะคือความจริงอันมีอยู่ที่ร่างกายของทุก ๆ คนนี้เอง แล้วก็ตรวจดูจิตใจเมื่อจิตใจอันนี้มีสติที่ตั้งมั่น ที่ระลึกอยู่ และมีความรู้รวมอยู่เป็นจิตใจที่สงบ ประกอบด้วยสติด้วยปัญญา สติปัญญานี้ก็เป็นกุศลธรรม หากมีนิวรณ์ข้อใดโผล่ขึ้นมาก็รู้ว่าเป็นอกุศลธรรม ต้องวิจัยจิตของตัวเองให้รู้ดั่งนี้ แล้วก็ใช้วิริยะคือความเพียร ละอกุศลธรรมที่บังเกิดขึ้น อันใดที่เป็นกุศลธรรม เป็นตัวสติเป็นตัวปัญญาก็รักษาไว้ เมื่อเป็นดั่งนี้แล้ว ก็จะได้ปีติ ได้ปัสสัทธิ ได้สมาธิ ได้อุเบกขา ในการปฏิบัติกายานุปัสสนาสติปัฏฐานนี้มากขึ้น ๆ โดยลำดับ ดั่งนี้ก็เป็นการปฏิบัติสติปัฏฐาน อาศัยโพชฌงค์ทั้ง ๗ นี้ หรือปฏิบัติในโพชฌงค์ทั้ง ๗ นี้ประกอบด้วยสติปัฏฐานข้อกาย ได้ทุก ๆ ข้อดังที่กล่าวมานั้น
ดั่งนี้คือการปฏิบัติอบรมโพชฌงค์ ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นวิธีละอาสวะอีกข้อหนึ่ง อันเป็นข้อสุดท้าย และก็เป็นข้อคลุมทั้งหมด ซึ่งปฏิบัติทุกข้อที่กล่าวมาข้างต้นนั้น ก็ใช้วิธีโพชฌงค์ทั้ง ๗ นี้ปฏิบัติได้ ดังที่ตรัสสอนไว้ เพราะฉะนั้น วิธีละอาสวะที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสสั่งสอนไว้นี้จึงเป็นวิธีที่เป็นประโยชน์ สำหรับผู้มุ่งปฏิบัติธรรมทั้งปวงซึ่งจะพึงใช้ได้ ตั้งแต่ในขั้นปฏิบัติเบื้องต้น จนถึงที่สุด ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสว่า ก็จะประสบความสำเร็จในการสังวรคือป้องกัน กำจัดละอาสวะทั้งปวงได้
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป