แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุก ๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
จะแสดงพระพุทธเจ้าทรงสอนกรรมฐานตามสัพพาสังวรสูตร พระสูตรที่ว่าด้วยการสำรวมระมัดระวังป้องกัน ละอาสวะทั้งหลายทั้งหมด นำสติปัฏฐาน ในพระสูตรนี้พระบรมศาสดาได้ตรัสสอน ให้ปฏิบัติละอาสวะ กิเลสที่ดองจิตสันดานทั้งหลาย ด้วยวิธีทัศนะ คือใช้ปัญญาพิจารณาให้รู้ให้เห็น ใช้วิธีสังวรสำรวมระวังป้องกันอินทรีย์ ๖ อันเรียกว่าอินทรียสังวร ใช้วิธีบริโภคเสพปัจจัยทั้ง ๔ ใช้วิธียับยั้งไว้อยู่ รับไว้อยู่ คือใช้ขันติความอดทน อดกลั้น ซึ่งได้แสดงแล้ว
เรื่องที่ควรงดเว้น
ต่อจากนี้ได้ตรัสสอนให้ใช้วิธีงดเว้น ในวิธีนี้ได้ตรัสสอนให้ผู้ปฏิบัติธรรมะเพื่อละอาสวะกิเลสที่ดองจิตสันดานทั้งหลาย ละเว้น ช้างร้าย ม้าร้าย โคร้าย โคดุ สุนัขร้าย สุนัขดุ งดเว้นงู งดเว้นที่ ๆ มีตอเป็นอันตราย ที่ ๆ มีขวากหนามเป็นอันตราย เว้นบ่อ เว้นเหวลึกอันตราย เว้นที่น้ำครำ เว้นที่สกปรกทั้งหลาย และสพรหมจารีคือผู้ประพฤติธรรมร่วมกัน ซึ่งเป็นวิญญูคือเป็นผู้รู้ กำหนดลงในที่อันใดว่าเป็นที่ลามกต่ำทราม (เริ่ม)…และกำหนดว่าผู้ที่นั่งในที่ไม่ควรนั่งเช่นใด ไปในที่ ๆ ไม่ควรไปเช่นใด คบคนเช่นใดอันเรียกว่าปาปมิตรคือมิตรชั่ว ก็ให้งดเว้นอาสนะที่ไม่ควรนั่งเช่นนั้น ที่ ๆ ไม่ควรไปเช่นนั้น งดเว้นมิตรชั่วที่ไม่ควรคบเช่นนั้นเสีย พิจารณาดูในข้อนี้ก็จะเห็นได้ชัดว่า สัตว์บุคคลสถานที่ทั้งปวงที่ตรัสสอนให้งดเว้นเช่นนั้นควรงดเว้นจริง
เพราะเมื่อไปสู่สถานที่เช่นนั้น คบกับบุคคลที่เป็นปาปมิตรเช่นนั้น หรือแม้ว่านั่งในที่ ๆ ไม่ควรนั่ง เป็นต้นดังที่ตรัสสอนให้งดเว้นนั้น ย่อมจะเกิดอันตรายได้ ย่อมจะทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่าง ๆ ได้ ย่อมจะถูกชักนำไปในทางที่ผิดได้ และจะทำให้เกิดความกังวลห่วงใยในอันที่จะป้องกันรักษา หรือถ้าต้องต่อสู้ก็จะต้องล่วงศีลเป็นต้น หรือต้องกระทำการที่ไม่เหมาะสมต่อผู้ปฏิบัติธรรมะอีกด้วย และการไปในที่เช่นนั้น ที่มีสัตว์ร้ายต่าง ๆ หรือแม้ว่าไปในสถานที่ ๆ มีหลักตอขวากหนามบ่อเหว ที่ ๆ สกปรก ย่อมไม่เป็นสัปปายะในการที่จะปฏิบัติธรรมแต่อย่างไร จะเกิดอันตราย
และเมื่อไปนั่งในที่ ๆ มีคนนั่ง ก็เป็นความไม่เหมาะสม และจะเกิดความยุ่งยาก ไปในที่ไม่ควรไปก็เช่นเดียวกัน ยิ่งไปคบปาปมิตร มิตรที่ชั่วที่ผิด ก็ยิ่งจะถูกชักนำไปในทางที่ชั่วที่ผิด หรือถูกกล่าวหาว่าคบคนชั่วเป็นมิตร ต้องถูกระแวงสงสัย เพราะฉะนั้น จึงไม่เป็นสัปปายะแก่ผู้ปฏิบัติเพื่อละอาสวะทั้งหลาย เมื่อมุ่งปฏิบัติเพื่อละอาสวะ หรือกล่าวรวม ๆ ว่ามุ่งปฏิบัติธรรม ก็จำเป็นที่จะต้องละสัตว์บุคคลสถานที่เป็นต้น อันไม่เหมาะสมเช่นนั้น พระพุทธเจ้าตรัสสอนให้ยินดีในเสนาสนะป่า ให้เสพที่นั่งที่นอนอันสงบสงัด ให้พอใจในวิเวกคือที่อันสงบสงัด ก็จะต้องหมายความว่าสงบสงัดปราศจากสัตว์ร้ายต่าง ๆ ที่จะทำอันตรายได้ และต้องเป็นที่ ๆ ไม่มีขวากหนาม หลักตอ ที่จะเป็นอันตราย ไม่มีบ่อมีเหวที่จะเป็นอันตรายได้ง่าย และไม่เป็นที่ประกอบด้วยน้ำครำเหม็นคลุ้งไป หรือไม่เป็นสถานที่สกปรก ต้องเป็นสถานที่ ๆ สะอาด ประกอบด้วยอากาศที่บริสุทธิ์ ปราศจากกลิ่นที่สกปรกทั้งหลาย ทั้งต้องเป็นที่นั่งที่นอนอันควรนั่งควรนอน ไม่ใช่ว่าไม่ควรนั่งควรนอน และต้องเป็นที่ ๆ ควรจะไปได้ ไม่ใช่เป็นที่ ๆ ไม่ควรจะไป ซึ่งเมื่อไปเข้าแล้วก็ย่อมจะไม่ประสบความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรม ทั้งจะเกิดอันตราย เช่นดังที่ปรากฏว่ามีพระภิกษุสามเณรผู้ปฏิบัติธรรม มุ่งแต่จะไปปฏิบัติในเสนาสนะป่า เมื่อเดินเข้าไปในเสนาสนะป่ามีชาวบ้านห้ามว่าเป็นถิ่นอันตราย ก็ยังเข้าไป และก็ปรากฏว่าต้องเป็นอันตรายจริง ๆ ก็มีเป็นตัวอย่างอยู่ เพราะฉะนั้น จึงต้องเป็นที่ ๆ ปราศจากอันตรายด้วย
กัลยาณมิตร
และนอกจากนี้ก็ต้องเป็นที่ ๆ มีกัลยาณมิตร คือเพื่อนมิตรที่ดีงาม เมื่อมุ่งไปปฏิบัติธรรมในที่ไหน ในที่นั้นก็ต้องมีอาจารย์ ซึ่งเป็นผู้ประพฤติธรรม สั่งสอนธรรมได้ และมีเพื่อนมิตรที่ปฏิบัติธรรมร่วมกัน เมื่อเป็นดั่งนี้แล้วจึงจะมีสัปปายะ คือมีความผาสุกสบาย ทำให้เกิดความก้าวหน้าในการปฏิบัติ เพราะฉะนั้น ข้อนี้จึงเป็นข้อสำคัญอีกข้อหนึ่ง ซึ่งเมื่อมุ่งที่จะปฏิบัติธรรมะ หรือกล่าวในที่นี้ว่าปฏิบัติเพื่อละอาสวะ ก็จะต้องปฏิบัติงดเว้นในสัตว์บุคคลสถานที่ ๆ พึงงดเว้น ดังที่ตรัสสอนเอาไว้
วิธีบันเทาอกุศลวิตก
และต่อจากนี้พระบรมศาสดาได้ตรัสสอนให้ละอาสวะ ด้วยวิธีที่เรียกว่าบันเทา ก็คือต้องปฏิบัติบันเทาอกุศลวิตก คือความตรึกนึกคิดที่เป็นอกุศลทั้งหลายอันบังเกิดขึ้นในจิตใจ โดยที่ไม่รับเอาไว้ในจิตใจ หากอกุศลวิตกทั้งหลายบังเกิดขึ้น ก็ต้องปฏิบัติบันเทา ระงับดับให้หายไป ให้สิ้นไปให้หมดไป ไม่รับรักษาเอาไว้ในจิต อันอกุศลวิตกคือความตรึกนึกคิดที่เป็นอกุศลทั้งหลายนั้น ก็ได้แก่
กามวิตก ความตรึกนึกคิดไปในกาม
พยาบาทวิตก ความตรึกนึกคิดไปในทางพยาบาท
วิหิงสาวิตก ความตรึกนึกคิดไปในทางเบียดเบียน
กามวิตกนั้น คำว่ากามเป็นชื่อของกิเลสแปลว่าความใคร่ หมายรวมถึงกิเลสที่เป็นไปในทางเดียวกันนี้ เป็นต้นว่าราคะความติดใจรักใคร่ยินดี ตัณหาความดิ้นรนทะยานอยากไปในทางกาม ที่เป็นชื่อของกิเลสดั่งนี้เรียกว่ากิเลสกาม กิเลสอันเป็นเหตุให้ใคร่ เป็นชื่อของวัตถุก็ได้แก่วัตถุคือสิ่งที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจทั้งหลาย ก็รวมเข้าในรูปที่ตาเห็น เสียงที่หูได้ยิน กลิ่นที่จมูกได้ทราบ รสที่ลิ้นได้ทราบ สิ่งถูกต้องที่กายได้ถูกต้อง ตลอดจนถึงเรื่องของ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ คือสิ่งที่กายถูกต้องเหล่านี้ ที่บังเกิดเป็นอารมณ์ขึ้นในจิตใจ ก็รวมเรียกว่าวัตถุกาม พัสดุที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจทั้งหมด พัสดุกามนี้ เป็นพัสดุกามขึ้นก็ด้วยอำนาจของกิเลสกาม กิเลสกามนั้นเมื่อบังเกิดขึ้นในวัตถุอันใด จะเป็นรูปก็ตาม เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ก็ตาม วัตถุอันนั้นก็เป็นวัตถุกามขึ้นมา เมื่อกิเลสกามไม่บังเกิดขึ้น วัตถุทั้งปวงก็เป็นวัตถุอยู่เฉย ๆ เป็นรูป เป็นเสียง เป็นกลิ่น เป็นรส เป็นโผฏฐัพพะอยู่เฉย ๆ ไม่เป็นวัตถุกาม ยกตัวอย่างดังเช่น สามัญชนหรือบุถุชนทั้งหลาย เมื่อได้เห็นรูป ได้ยินเสียง ได้ทราบกลิ่น ได้ทราบรส ได้ทราบโผฏฐัพพะ อันใดอันหนึ่ง ก็เกิดกิเลสกามขึ้นในสิ่งเหล่านี้ สิ่งเหล่านี้ก็เป็นวัตถุกามขึ้นมา
ส่วนพระอรหันต์ทั้งหลายซึ่งเป็นผู้ละอาสวะกิเลสได้สิ้นแล้ว ท่านเห็นอะไร ได้ยินอะไร ได้ทราบกลิ่น ทราบรส ทราบโผฏฐัพพะ อะไร ก็ไม่เกิดความรักใคร่ยินดีปรารถนาต้องการ คือไม่เกิดกิเลสกามขึ้นในสิ่งเหล่านี้ สิ่งเหล่านี้ก็ไม่เป็นวัตถุกามของท่าน แต่เป็นวัตถุเฉย ๆ คือ เป็นรูป เป็นเสียง เป็นกลิ่น เป็นรส เป็นโผฏฐัพพะ ที่ท่านได้เห็น ท่านได้ยิน ท่านได้ทราบ ทางอายตนะ ผู้ปฏิบัติธรรมที่ปฏิบัติก็ระงับจิตใจของตนได้ด้วยอำนาจของ ศีล สมาธิ ปัญญา เมื่อเห็นอะไร ได้ยินอะไร ได้ทราบอะไร ทางอายตนะ ก็ไม่เกิดกิเลสกามขึ้นในสิ่งเหล่านั้น สิ่งเหล่านั้นก็ไม่เป็นวัตถุกามของผู้ปฏิบัติธรรมะนั้น
กิเลสกามเกิดขึ้นจากสังกัปปะ
เพราะฉะนั้น วัตถุที่จะเป็นวัตถุกามขึ้น ก็ด้วยอำนาจของกิเลสกาม และกิเลสกามที่บังเกิดขึ้นในจิตใจของบุคคลเป็นกิเลสกองราคะ กิเลสกองกามตัณหา ก็ตาม การรวมเข้าในกิเลสกองกามนี้บังเกิดขึ้นได้ก็ด้วยอำนาจของความดำริ ความตรึกนึกคิดนี้เอง เพราะฉะนั้น จึงได้มีพระพุทธภาษิตตรัสเอาไว้ว่า สังกัปปะราโค ปุริสสัสสะกาโม ที่แปลว่าราคะคือความติดใจยินดี ที่เกิดขึ้นจากสังกัปปะความดำริ เป็นกามของบุคคล ดั่งนี้
เพราะฉะนั้น สังกัปปะคือความดำริ หรือวิตกคือความตรึกนึกคิด ซึ่งในที่นี้มีความหมายเป็นอย่างเดียวกัน จึงเป็นสิ่งสำคัญ นำให้บังเกิดกามขึ้นได้ และเมื่อบังเกิดเป็นกามขึ้นมาแล้ว ก็เรียกว่ากามวิตก แปลว่าความตรึกนึกคิดไปด้วยอำนาจของกิเลสกาม ก็ได้ ความตรึกนึกคิดไปในวัตถุกาม คือในรูปในเสียงในกลิ่นในรสในโผฏฐัพพะ ที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจทั้งหลาย ก็ได้
ความคิดปรุง
เพราะฉะนั้น ความดำรินี้จึงเป็นสิ่งสำคัญ หรือว่าวิตกคือความตรึกนึกคิดนี้เป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งคนเรานี้เองเป็นผู้ปรุงขึ้น เพราะฉะนั้นจึงรวมเข้าในขันธ์ ๕ ข้อ ๔ ที่เรียกว่าสังขาร ที่แปลว่าความปรุงคิด หรือความคิดปรุง ก็คือจิตนี้เองนำเอาสิ่งที่จำได้ อันเรียกว่าสัญญา อันเป็นขันธ์ข้อที่ ๓ มาปรุงคิด หรือมาคิดปรุง ความคิดปรุง เพราะฉะนั้น ในคำว่าสังขารที่แปลว่าความปรุงคิดหรือความคิดปรุงนี้ จึงประกอบขึ้นด้วยจิต ประกอบขึ้นด้วยอารมณ์หรือเรื่องที่จำได้ ซึ่งความจำนั้นก็คือสัญญา เพราะถ้าจำไม่ได้คือไม่มีสัญญาแล้ว ก็เอามาปรุงคิดไม่ได้ จะต้องจำได้ คือจะต้องมีสัญญา ก็เอาสิ่งที่มีสัญญาคือจำได้นั้นมาปรุงคิด เป็นเรื่องนั้น เป็นเรื่องนี้ เป็นสิ่งนั้น เป็นสิ่งนี้ มาปรุงกันเข้า เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่าสังขารในขันธ์ ๕ ซึ่งเป็นขันธ์ข้อที่ ๔
ความปรุงคิดหรือความคิดปรุง อันนี้แหละคือวิตกความตรึกนึกคิด หรือสังกัปปะความดำริ ก็คือความคิดปรุงหรือความปรุงคิดนี้เอง เมื่อปรุงคิดขึ้นให้เป็นอย่างใด ก็เป็นอย่างนั้นได้ เมื่อปรุงคิดขึ้นให้เป็นกาม กามก็บังเกิดขึ้น คือตัวราคะความติดใจยินดี ซึ่งเป็นลักษณะของกาม ที่แปลว่าความใคร่ ความปรารถนา และยังเจือด้วยความเพลิดเพลินยินดีชุ่มชื่นอยู่ในราคะ หรือในกามเหล่านี้ อันชวนให้จิตใจคิดปรุง หรือปรุงคิดไป และความคิดปรุง หรือปรุงคิดไปนี้ ก็บังเกิดขึ้นซับซ้อนกันอยู่เป็นอันมาก
กามคุณ
เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่ากามคุณ คำว่า คุณ นั้นก็เขียนอย่างเดียวกับคุณงามความดี แต่ว่าคุณในที่นี้หมายถึงลักษณะอาการที่ซับซ้อนกันอยู่เหมือนอย่างกลุ่มด้าย เพราะกลุ่มด้ายนี้ที่ม้วนซับซ้อนกันเป็นกลุ่ม ก็เรียกว่า คุณะ เหมือนกัน กามคุณก็เช่นเดียวกัน กามที่ซับซ้อนกันอยู่เป็นกลุ่มเรียกว่ากามคุณ เพราะฉะนั้น เมื่อจิตปรุงคิดหรือคิดปรุงไปในกาม และมีความเพลิดเพลิน มีความยินดีติดใจ ก็คิดเรื่อยไปไม่จบ เหมือนอย่างกลุ่มด้ายที่เป็นกลุ่ม เมื่อคลี่ด้ายออกไปก็ยาวออกไป ยาวออกไป ยาวออกไป สุดแต่ว่าด้ายที่มาม้วนเป็นกลุ่มนั้นจะมีขนาดยาวสักเท่าไหร่ กามคุณก็เหมือนกัน ไม่รู้ว่าซับซ้อนกันอยู่นาน หรือมากเท่าไรในจิตใจของแต่ละบุคคล เพราะฉะนั้น เมื่อลงปรุงคิด ๆ ไปในกามแล้ว และแถมมีความยินดีเพลิดเพลิน ก็ไปกันใหญ่ เพลิดเพลินกันไป คิดไปไม่รู้จักจบจักสิ้น
อาลัยของจิตที่เป็นกามาพจร
เพราะฉะนั้น กามคุณคือกลุ่มของกาม เหมือนอย่างกลุ่มด้าย คือกามที่ผูกมัดจิตใจของสัตวโลกอยู่นี้ จึงมีกำลังมากยิ่งนักหนา จนถึงกับพระพุทธเจ้าได้ตรัสเทียบเอาไว้ว่าเป็น อาลัย คือเป็นที่อาศัยของจิตที่เป็นกามาพจร คือหยั่งลงในกาม ท่องเที่ยวไปในกามทั้งหลาย เหมือนอย่างน้ำเป็นที่อาศัยของปลา ปลาอยู่ในน้ำ จิตที่เป็นกามาพจรของสัตว์บุคคลทั้งหลายก็เช่นเดียวกัน เหมือนอย่างอาศัยอยู่ในกาม คือกามคุณอันนี้ และก็เรียกให้เต็มที่ว่า เบ็ญจพิธกามคุณ กามคุณมีอย่าง ๕ ก็ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะคือสิ่งถูกต้อง ที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจทั้งหลาย เพราะฉะนั้น พื้นของจิตที่เป็นกามาพจร จึงปรุงคิดหรือคิดปรุงไปในทางกาม ยืดยาว มากมาย อยู่เป็นปรกติ และเมื่อพูดออกมา ก็พูดออกมาในทางกามกันอยู่เป็นอันมาก เพราะว่าวาจาที่พูดออกมานั้น ก็วิตกวิจารความตรึกนึกคิดนี้เอง เป็นเครื่องปรุงให้พูด เพราะฉะนั้น วิตกวิจารพระพุทธเจ้าจึงตรัสแสดงว่าเป็น วจีสังขาร คือเป็นเครื่องปรุงวาจา เพราะวาจาที่พูดออกมานั้นจะต้องคิดก่อน แล้วจึงพูด เมื่อคิดอย่างใดก็ย่อมพูดอย่างนั้น เพราะฉะนั้น การพูดจาของบุคคลจึงเป็นไปในทางกามเป็นอันมาก ตลอดจนถึงการแสดงต่าง ๆ ก็เป็นไปในทางกามเป็นอันมาก เจือไปด้วยราคะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง กิเลสทั้ง ๓ กองนี้
มหรสพต้องเจือด้วยกิเลส
ดังจะพึงเห็นได้ว่าสิ่งที่เรียกว่ามหรสพทั้งหลาย ก็จะต้องเจือด้วยกิเลส ๓ กองนี้ จึงจะเป็นที่สนุกสนาน เป็นที่ชอบดู เมื่อการแสดงสามารถยั่วเย้าใจของบุคคลดูให้เกิดราคะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง ได้มากเท่าใด ก็เป็นที่ติดของคนดูมากเท่านั้น ทำให้ตาตื่นใจตื่น ไม่ง่วงเหงาหาวนอน ดูกันได้เป็นเวลานาน ๆ เพราะว่ามีเชื้อล่อให้เกิดราคะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง คอยทำใจให้เพลิดเพลินยินดี ให้ติดกันอยู่ เป็นอยู่ดั่งนี้
ฟังเทศน์แล้วหลับก็เพราะเหตุนี้
เพราะฉะนั้น จะพึงเห็นได้ว่าเมื่อมาฟังเทศน์ ฟังอบรมธรรมะซึ่งเป็นไปเพื่อสงบราคะโทสะโมหะ เมื่อเป็นดั่งนี้แล้วจิตใจของผู้ฟังจึงไม่ได้เชื้อที่จะก่อให้เกิดตาสว่าง ทำให้เกิดความสงบ และเมื่อมีความสงบอยู่เฉย ๆ ปราศจากปีติสุขในความสงบนั้น ก็เลยง่วงเหงาหาวนอน หลับ การที่ฟังเทศน์หลับ หรือฟังธรรมบรรยายหลับก็เพราะเหตุนี้ เพราะเหตุว่าในเทศน์หรือในธรรมบรรยายทั้งปวงนั้น เป็นไปเพื่อสงบราคะโทสะโมหะ ไม่ใช่เป็นไปเพื่อก่อ เมื่อเป็นดั่งนี้จึงไม่สนุก ไม่เพลิดเพลิน และเมื่อสงบเข้า ความง่วงซึ่งอยู่ใกล้กับความสงบก็เข้ามาทันที...(เริ่ม) เพราะฉะนั้น เรื่องของกามนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้เป็นข้อแรก ว่าให้คอยระงับสังกัปปะคือความดำริหรือวิตก คือความตรึกนึกคิดไปในทางกาม ซึ่งสัตวโลกทั้งหลายซึ่งมีจิตอยู่ในชั้นที่เป็นกามาวจรจิต ย่อมท่องเที่ยว ย่อมตกอยู่เป็นประจำแล้ว จึงมักจะคิดปรุงหรือปรุงคิดในเรื่องนี้ขึ้นเนือง ๆ เมื่อเป็นดั่งนี้หากปฏิบัติเพื่อละอาสวะกิเลสที่ดองจิตสันดาน ก็ต้องปฏิบัติระงับเสียไม่รับเอาไว้ ปฏิบัติบรรเทาดับเสีย และเมื่อเป็นดั่งนี้แล้วจึงจะชื่อว่าเป็นการปฏิบัติเพื่อละอาสวะ และจะได้ศีลได้สมาธิได้ปัญญา
ความปรุงคิดในโทสะพยาบาทเบียดเบียน
อนึ่ง ความดำริ หรือความปรุงคิดคิดปรุง หรือความตรึกนึกคิดดังกล่าวมานี้ มิใช่ในทางกามเท่านั้น ยังเป็นไปในทางพยาบาทอีกด้วย อันความพยาบาทนั้นคือความถึงผิด อันหมายถึงอาการที่จิตคิดร้ายหมายล้างผลาญ นี่เป็นความหมายของพยาบาทอย่างเต็มตัว แต่ว่าก็คลุมจนถึงปฏิฆะ คือความที่จิตกระทบกระทั่งกับอารมณ์ที่ไม่ชอบใจไม่พอใจ อันแสดงอาการเป็นความหงุดหงิด แรงขึ้นมาก็เป็นโกธะ ความโกรธ เป็นความขึ้งเคียด แรงขึ้นมาอีกก็เป็นโทสะ คือเป็นความขึ้งเคียดที่แรงขึ้น จนถึงกับเป็นความประทุษร้าย แต่ก็ยัง ประทุษร้ายใจของตัวเอง คือยังไม่คิดหมายล้างผลาญออกไปข้างนอก แต่เมื่อโทสะนี้แรงขึ้น จนถึงคิดล้างผลาญออกไปข้างนอก คิดที่จะตีเขา จะทำร้ายชีวิตร่างกายเขาเป็นต้น ให้เขาฉิบหายวายวอดไป ให้เจ็บช้ำลำบากไป ให้สิ้นชีวิตไป ดั่งนี้จึงจะเป็นพยาบาทอย่างเต็มตัว
แม้ไม่เป็นพยาบาทอย่างเต็มตัว เป็นแค่ปฏิฆะหงุดหงิด หรือว่าโกธะ ขึ้งเคียดขึ้นมา หรือเป็นโทสะที่เป็นประทุษร้ายใจของตัวเอง โกรธอยู่ในใจตัวเองก็ตาม ก็รวมเข้าในข้อนี้ เมื่อบังเกิดขึ้นก็ต้องปฏิบัติบันเทาดับระงับให้สิ้นไป ไม่รักษาไว้ในจิต
วิหิงสาวิตกก็เหมือนกัน ก็เกิดจากความดำริ ความตรึกนึกคิด ปรุงไปเพื่อวิหิงสาคือความเบียดเบียน วิหิงสาคือความเบียดเบียนนี้ มีอธิบายต่างจากพยาบาท ว่าเกิดจากโมหะคือความหลง มีความหลงเป็นมูล เช่นว่าเบียดเบียนเพื่อมุ่งสนุก เช่นการทำร้ายสัตว์ถือว่าเป็นการกีฬา เป็นการเบียดเบียนเพื่อความสนุก หรือว่าเบียดเบียนด้วยอำนาจโลภะ เช่นว่าจ้างคนงานมา และบังคับใช้คนงานเกินไปทั้งกลางวันกลางคืนเป็นต้น ดังที่ปรากฏอยู่ในที่บางแห่ง ในบางครั้งบางคราว เป็นการทรมานผู้อื่น ด้วยอำนาจของโลภะ มุ่งที่จะให้ทำงานให้มาก ๆ ได้ทรัพย์มาก ปราศจากความเมตตากรุณา ก็เป็นการเบียดเบียน หรือว่าการที่จะกระทำอันใดอันหนึ่งก็ตาม แม้ว่ามุ่งดี แต่ว่าเป็นการกระทำที่เบียดเบียนผู้อื่นให้เดือดร้อน เป็นการกระทำไปแม้ด้วยอำนาจความเขลา หรือมุ่งดีดังกล่าวนั้น ก็เป็นวิหิงสาเหมือนกัน เพราะฉะนั้น วิหิงสาคือความเบียดเบียนนี้ จึงเกิดจากโมหะคือความหลง
ฉะนั้น การที่จะคิดปรุงหรือปรุงคิดอะไร ก็ต้องไม่ให้เป็นไปเพื่อความเบียดเบียนใครให้เดือดร้อน จะเป็นบุตรหลานของตนเองก็ตาม จะเป็นบริวารของตนเองก็ตาม จะเป็นผู้รับใช้ของตนเองก็ตาม ให้คิดปฏิบัติให้พอเหมาะพอสม ให้มีเมตตากรุณา แม้ในการใช้งานต่าง ๆ ดั่งนี้จึงจะชื่อว่าถูกต้อง แต่ถ้าได้คิดไปให้เขาทำอย่างนั้นเขาทำอย่างนี้ หรือเบียดเบียนตรง ๆ อย่างไปทำร้ายสัตว์เป็นการเล่นกีฬา หรือเป็นการสนุก รวมเข้าในวิหิงสาวิตกทั้งนั้น เพราะฉะนั้น ก็ต้องระมัดระวังวิตกข้อนี้ เมื่อบังเกิดขึ้น ก็ต้องปฏิบัติบันเทา ระงับดับให้หายไป อย่ารับเอาไว้ในใจ
อกุศลวิตกทั้ง ๓ ประการนี้ เป็นสิ่งที่บังเกิดขึ้นในจิตใจของสัตว์บุคคล จะว่าเป็นประจำก็ได้ น้อยหรือมาก เพราะฉะนั้นการปฏิบัติคอยระวังรักษาจิตของตน คอยบันเทาระงับดับ จึงเป็นข้อที่ต้องกระทำอยู่เสมอ และทั้งหมดนี้ก็ต้องอาศัยซึ่งกันและกันทั้ง ๓ ข้อ บางทีก็มีกามเป็นเหตุ ก็ทำให้มีพยาบาท มีวิหิงสา หรือมีโมหะเป็นเหตุ ก็ทำให้ได้ ให้บังเกิดขึ้นในข้อวิหิงสาด้วย ในข้ออื่นอีกด้วย ในข้อโทสะก็เช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น จึงต้องคอยระงับจิตใจของตัวเองอยู่เสมอ ไม่รับเอาความดำริหรือความตรึกนึกคิดเช่นนี้ไว้ สุมไว้ในใจของตัวเอง ต้องระบายออกไป บันเทาออกไป ระงับดับให้หายไป เมื่อเป็นดั่งนี้ จึงจะเป็นการปฏิบัติเพื่อละอาสวะกิเลสที่ดองสันดาน
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป