แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
พระพุทธเจ้าได้ทรงสอนกรรมฐาน ตามนัยยะที่ได้แสดงไว้ในวิตักกสัณฐานสูตร จะได้แสดงข้อที่ ๓ ตรัสสอนไว้มีความว่า เมื่อได้พิจารณาโทษของอกุศลวิตกทั้งหลาย แต่อกุศลวิตกทั้งหลาย อันประกอบด้วยความพอใจในกามบ้าง ประกอบด้วยโทสะบ้าง ประกอบด้วยโมหะบ้าง ก็ยังเกิดขึ้นอยู่ ก็ให้ปฏิบัติด้วยวิธีที่ไม่ทำสติ คือไม่ระลึกถึง ไม่ทำความใส่ใจถึง เมื่อทำได้ดั่งนี้ อกุศลวิตกคือความตรึกนึกคิดที่เป็นอกุศลทั้งหลาย ก็จะดับหายไป เหมือนอย่างบุคคลผู้มีจักษุ มองเห็นรูปที่อยู่ในคลองจักษุจำเพาะหน้า เมื่อไม่ปรารถนาที่จะเห็นรูปนั้นก็หลับตาเสีย หรือหันหน้าไปเสียทางอื่น ตามวิธีปฏิบัติที่ตรัสสอนไว้นี้ พิจารณาดูก็ย่อมจะเข้าใจว่า อันการที่ความตรึกนึกคิดทั้งหลายจะบังเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายกุศล หรือฝ่ายอกุศล ก็เพราะว่าทำสติคือระลึกถึง หรือนึกถึง กำหนดถึง ทำไว้ในใจคือใส่ใจถึง ถ้าหากว่าไม่ระลึกถึง ไม่ใส่ใจถึง ความคิดนั้น ๆ ก็จะไม่บังเกิดขึ้น
ถ้าไม่ระลึกความคิดจะไม่เกิดขึ้น
อันความไม่ระลึกถึง ไม่นึกถึง ไม่กำหนดถึง ไม่ทำไว้ในใจ คือไม่ใส่ใจถึง อาจจะเป็นเพราะลืมไปแล้วก็ได้ หรือว่ามิได้หวนระลึกถึง มิได้หวนใส่ใจถึง เมื่อเป็นดั่งนี้ ความตรึกนึกคิดถึงเรื่องนั้น ๆ ก็ไม่บังเกิดขึ้นในจิตใจ
ความตรึกนึกคิดทุกอย่างที่บังเกิดขึ้นในจิตใจนั้น ก็เพราะว่าระลึกถึง นึกถึง กำหนดถึง ใส่ใจถึง เท่านั้น เพราะฉะนั้น เมื่อไม่ประสงค์ที่จะตรึกนึกคิดถึงเรื่องใด ก็ต้องไม่นึกถึง ระลึกถึง กำหนดถึง ใส่ใจถึง เรื่องนั้น หากทำได้ดั่งนี้ ความตรึกนึกคิดถึงเรื่องนั้นก็จะไม่บังเกิดขึ้น หรือแม้บังเกิดขึ้นแล้ว เมื่อหยุดความระลึก ความนึก ความกำหนดถึงได้ หยุดใสใจถึงได้ เรื่องนั้นก็จะหยุด จะดับหายไปจากใจได้ทันที เพราะฉะนั้นจึงได้ตรัสสอนไว้เป็นข้อที่ ๓ ว่าเมื่อใช้ข้อ ๑ ข้อ ๒ ยังไม่บังเกิดผล ก็ให้ใช้ข้อที่ ๓ คือหยุดนึกถึง ระลึกถึง กำหนดถึง หยุดใส่ใจถึง เหมือนอย่างเห็นรูปอะไรอยู่จำเพาะหน้า ต้องการที่จะไม่ดูก็หลับตาเสีย หรือว่าหันหน้าไปเสียทางอื่น รูปนั้นก็จะพ้นไปจากคลองจักษุ พ้นไปจากสายตา
การหัดปฏิบัติตามข้อที่ ๓ นี้ หากว่าได้ลองหัดปฏิบัติดูบ้าง ก็ย่อมจะได้ผล ถ้าไม่เช่นนั้นก็จะไม่ตรัสสอนเอาไว้ เพราะฉะนั้นเมื่อปฏิบัติในข้อที่ ๑ ข้อที่ ๒ ยังไม่ได้ผล ก็ให้มาปฏิบัติในข้อที่ ๓
ดูให้รู้จักความปรุงคิด
ข้อที่ ๔ เมื่อปฏิบัติในข้อที่ ๓ ไม่ได้ผล จะเป็นเพราะไม่สามารถที่จะหยุดนึก หยุดคิด หยุดกำหนดถึง หยุดใส่ใจถึงได้ ก็ให้มาปฏิบัติให้กำหนดสังขารคือความปรุง สัณฐานคือทรวดทรงรูปร่างของวิตกคือความตรึกนึกคิด ก็คือสู้ วิธีที่ ๓ นั้นเป็นวิธีบ่ายเบี่ยง บ่ายเบี่ยงความคิด แต่ว่าวิธีที่ ๔ นี้เป็นวิธีสู้ความคิด คือให้กลับมากำหนดดูตัววิตก คือความตรึกนึกคิดที่เป็นอกุศลทั้งหลายนั้น ดูให้รู้จักความปรุง ดูให้รู้จักสัณฐานคือทรวดทรง ของวิตกคือความตรึกนึกคิด ดูให้รู้จักความปรุงนั้น ก็คือว่าดูจิตใจที่คิดปรุงเป็นความตรึกนึกคิดอย่างนี้ ๆ ว่าใจนี้ปรุงอย่างนี้ ๆ
เมื่อกำหนดดูใจที่ปรุงดั่งนี้ ก็ย่อมจะรู้ว่าใจนี้กำลังคิดถึงเรื่องอะไร คิดอย่างไร และดูสัณฐานคือทรวดทรงของวิตกคือความตรึกนึกคิด ว่าความตรึกนึกคิดที่กำลังเป็นไปอยู่นี้แรงหรือว่าอ่อน และมีลักษณะหน้าตาเป็นไปในทางไหน เป็นไปในทางความพอใจรักใคร่ หรือว่าเป็นไปในทางขัดเคืองโกรธแค้น หรือว่าเป็นไปในทางหลงไม่รู้ ดูตัวความคิดของตัวเองที่ปรุงแต่ง ว่าจับเอาเรื่องนั้นมาคิด จับเอาเรื่องนี้มาคิด ดูว่าคิดไปอย่างนี้ คิดไปอย่างนั้น มีทรวดทรงลักษณะหน้าตาที่ พุ่งไปแรงก็มี พุ่งไปไม่แรงก็มี ก็คือว่าปล่อยให้จิตคิด จะคิดอย่างไรก็คิด เช่นว่าจิตกำลังคิดไปในทางความพอใจรักใคร่ยินดี หรือว่าจิตคิดไปในทางโกรธแค้นขัดเคือง หรือว่าจิตคิดไปทางหลงใหลใฝ่ฝัน ก็ให้จิตคิด แต่ว่าดู คอยดูจิตที่คิดอยู่นั้น ว่าคิดไปอย่างไร เอาอะไรมาคิดบ้าง แล้วมีลักษณะของการคิดเป็นยังไง คือดูการปรุง ดูลักษณะทรวดทรงหน้าตาของความคิดว่าเป็นอย่างไร ให้อยู่ในความรู้
อันการปรุงนั้นถ้าจะเปรียบกับปรุงอาหาร การที่จะต้องการให้อาหารมีรสเค็ม ก็ต้องเติมเกลือลงไป เปรี้ยวก็ต้องใส่มะนาวลงไป เผ็ดก็ต้องใส่พริกลงไป จิตก็เหมือนกัน จิตที่ปรุงคิดก็เอาสิ่งนั้นสิ่งนี้มาใส่ เมื่อเอาความกำหนดหมายว่างดงามมาใส่เข้า ก็ปรุงคิดไปในทางเป็นกามฉันท์ เมื่อเอาอสุภะนิมิตมาใส่เข้า ก็จะปรุงคิดไปในด้านสงบ ถ้าเอาปฏิฆะนิมิตมาใส่เข้า คือกำหนดในทางกระทบกระทั่งก็จะเป็นไปในทางโทสะพยาบาท ถ้าเอาเมตตานิมิตมาใส่เข้า ก็จะเป็นไปในทางเมตตากรุณาสงบเย็น สุดแต่จะเอาอะไรมาปรุงเข้า มาใส่เข้า ก็ดูให้รู้จักเครื่องปรุงเหล่านี้ ว่าเอาอะไรมาปรุง ปรุงยังไง เรื่องอะไร แล้วเป็นไปในทางอย่างไร
และเมื่อคอยตามดูจิตของตน รู้ความปรุงแต่ง รู้สัณฐานทรวดทรงของความคิดว่าเป็นอย่างไร ให้อยู่ในความรู้อยู่ดั่งนี้ ความวิตกคือความตรึกนึกคิดที่เป็นไปอย่างเร็ว หรืออย่างแรง ก็จะช้าลง และเบาลง และก็จะช้าลงโดยลำดับ จนถึงสงบได้ในที่สุด จะเป็นไปเองโดยที่ไม่ต้องบังคับ เพียงขอให้ดูเท่านั้น เหมือนอย่างพี่เลี้ยงที่ปล่อยเด็กให้ยืนอยู่ในที่จำเพาะหน้าตามองเห็น แล้วก็ปล่อยเด็ก จะเดิน จะยืน จะนั่ง จะนอน จะวิ่ง หรือจะทำอะไรก็ปล่อย แต่ว่าให้อยู่ในสายตา ให้รู้ว่าเด็กทำอะไรอยู่ที่ไหน จิตนี้ก็เป็นเหมือนอย่างนั้น คอยดูจิตที่คิดไปอย่างไรให้รู้ จะคิดอย่างไรก็คิดไป แต่ว่าคอยตามไป คือตามดูให้รู้ เหมือนเป็นดั่งนี้ ความคิดที่เร็วที่แรงก็จะอ่อนจะช้า จนถึงสงบดังกล่าวมาแล้ว
ได้ตรัสอุปมาไว้เหมือนอย่างว่า คนที่กำลังเดินเร็ว เมื่อคิดว่าเราจะเดินให้ช้าลงก็จะเดินช้า และเมื่อคิดว่าเราจะหยุดยืนก็จะหยุดยืน เมื่อคิดว่าเราจะนั่งก็จะนั่งลง เมื่อคิดว่าเราจะนอน ก็นอนลง คือว่าดูอิริยาบถของตนและก็คิดให้อิริยาบถที่เคลื่อนไหวไปโดยเร็วและแรงนั้น ให้เคลื่อนไหวช้าเข้า เบาเข้าโดยลำดับ และในที่สุดก็นอนลง ฉันใดก็ดี เมื่อคอยตามดูจิตของตนที่คิดไปอย่างไรดั่งนี้ เรียกว่าเอาจิตนี่แหละเป็นตัวกรรมฐาน กำหนดจิต จิตที่เป็นอย่างไรก็คิด แต่ว่าดู ดูความปรุงของจิต ดูสัณฐานทรวดทรงของจิต และเมื่อเป็นดั่งนี้แล้วจิตก็จะสงบลงได้โดยลำดับจนถึงหยุดสงบตั้งอยู่ในภายใน
ข้อ ๕ ได้ตรัสสอนไว้ต่อไปอีกเป็นข้อสุดท้ายว่า เมื่อปฏิบัติดังนี้ก็ยังไม่สำเร็จอีก …(เริ่ม)...เมื่อเป็นดั่งนี้ ก็ต้องใช้วิธีบีบคั้น วิธีข่มจิตทางร่างกายช่วย ด้วยการขบฟันด้วยฟัน ดุนเพดานในปากด้วยลิ้น และเมื่อใช้วิธีบีบคั้นจิตดั่งนี้ จิตก็จะสงบลงได้ ตรัสอุปมาเหมือนอย่างว่า บุรุษที่มีกำลังจักข่มบุรุษที่อ่อนกำลังกว่า ที่ศีรษะหรือที่คอ บุรุษที่อ่อนกำลังกว่านั้นก็ย่อมจะอยู่ในอำนาจของบุรุษที่มีกำลังเหนือกว่า
จิตก็เหมือนกันเมื่อใช้วิธีบีบคั้นข่มอาศัยทางกายดั่งนี้ ก็จะทำให้จิตสงบลงได้ ในข้อนี้เมื่อพิจารณาดูแล้วก็จะเห็นได้ว่า วิธีการข่มทางร่างกายก็เป็นวิธีที่ช่วยข่มจิตได้ทางหนึ่งเหมือนกัน สำหรับในพระสูตรได้ตรัสสอนให้ทำ กดฟันด้วยฟัน ดุนเพดานในปากด้วยลิ้น เพียง ๒ ประการ และแม้ประการอื่นก็อาจจะช่วยได้ ดังเช่น อันความคิดนี้ย่อมเนื่องด้วยลมหายใจ เมื่อกลั้นหายใจ ก็จะช่วยหยุดความคิดได้เหมือนกัน เช่นเมื่อความคิดกำลังไปแรง ต้องการที่จะหยุดสงบความคิดนั้น ก็ลองหัดกลั้นหายใจเสียสักนิดหนึ่ง หรือเดี๋ยวหนึ่ง และเมื่อกลั้นหายใจหยุดหายใจสักเดี๋ยวหนึ่งนิดหนึ่ง ก็จะหยุดความคิดได้เดี๋ยวหนึ่งนิดหนึ่งเหมือนกัน และเมื่อทำตามที่ตรัสสอนไว้ดังกล่าว ก็จะช่วยทำให้ความคิดผ่อนคลายลงได้ แต่ว่าที่ตรัสสอนไว้ทั้ง ๕ วิธีนี้ เมื่อปฏิบัติจริงๆแล้วย่อมจะได้ผล
ในทีแรกใช้วิธีที่ ๑ กำหนดนิมิตอื่นจากนิมิตนั้น ซึ่งได้ใช้สำหรับปฏิบัติ สำหรับผู้ปฏิบัติทั่วไปอยู่แล้ว และใช้วิธีที่ ๒ พิจารณาให้เห็นโทษ ใช้วิธีที่ ๓ ไม่ใส่ใจถึง ไม่ระลึกถึง ไม่คิดถึง กำหนดถึง ใช้วิธีที่ ๔ กำหนดตัวความคิดเอง ดูจิตนี้เอง เอาจิตนี้เองเป็นตัวกรรมฐาน ดูสังขารคือความปรุงแต่งของจิต ดูสัณฐานคือทรวดทรงของความคิดว่าเป็นอย่างไร และในบางคราวเมื่อความคิดมาแรงข่มยาก ก็ใช้วิธีข่มอาศัยร่างกาย ใช้อย่างนั้นบ้าง ใช้อย่างนี้บ้าง แต่ว่าให้ใช้จริง ๆ ก็จะต้องข่มจิตลงได้ ทำจิตให้เป็นสมาธิได้ ให้ตั้งมั่นอยู่ในภายในได้
อานิสงส์แห่งการปฏิบัติ
ในท้ายพระสูตรได้ตรัสอานิสงส์แห่งการปฏิบัติทั้ง ๕ วิธีนี้ว่า ผู้ปฏิบัติจนมีความชำนิชำนาญ ย่อมมีความสามารถในกระบวนแห่งวิตก คือความตรึกนึกคิดของตน ปรารถนาที่จะตรึกนึกคิดอันใด ก็ย่อมตรึกนึกคิดอันนั้นได้ ปรารถนาที่จะไม่ตรึกนึกคิดอันใด ก็จะไม่ตรึกนึกคิดอันนั้นได้ และเมื่อปฏิบัติเรื่อยไปจนถึงที่สุด ก็ย่อมจะตัดตัณหาได้ ทำลายสังโยชน์คือเครื่องผูกได้ ทำทุกข์ให้สิ้นสุดลงได้ เพราะละมานะได้โดยชอบ ดั่งนี้ เพราะฉะนั้นจึงเป็นวิธีปฏิบัติที่ผู้ปฏิบัติกรรมฐานจะพึงนำไปใช้ได้ทุกข้อ แม้ในสติปัฏฐานที่ใช้เป็นข้อปฏิบัติเป็นหลักทุกข้อ จะเป็นข้อที่พิจารณากาย หรือเป็นข้อที่พิจารณาธาตุก็ใช้ได้ โดยอาศัยวิธีปฏิบัติทั้ง ๕ ประการนี้
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป