แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
จะแสดงพระพุทธเจ้าสอนกรรมฐานตาม สัพพาสังวรสูตร นำสติปัฏฐาน ในพระสูตรนี้พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงวิธีละอาสวะคือกิเลสที่ดองจิตสันดาน ด้วยวิธีปฏิบัติทำ ทัศนะ คือปัญญาที่รู้เห็น สังวระ คือสำรวมอินทรีย์ทั้ง ๖ อันได้แก่ตาหูจมูกลิ้นกายใจ ซึ่งได้แสดงอธิบายมาแล้ว จึงจักแสดงอธิบายวิธีต่อไป ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอนไว้ในพระสูตรนี้เป็นข้อที่ ๓ ก็คือละด้วยการเสพบริโภค คือเสพบริโภคปัจจัยทั้ง ๔ สำหรับภิกษุบริษัทก็คือจีวรผ้านุ่งห่ม บิณฑบาตอาหารที่บริโภค เสนาสนะที่นอนที่นั่ง และคิลานะปัจจยะเภสัชชะบริขาร คือยาปรุงสำหรับผู้ป่วยไข้ ปัจจัยคือเครื่องอาศัยทั้ง ๔ นี้ เป็นสิ่งที่ชีวิตต้องอาศัยจึงดำรงอยู่ได้ เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่าปัจจัยแปลว่าเครื่องอาศัย และปัจจัยสำหรับชีวิตต้องอาศัยดำรงอยู่ได้นี้ก็มี ๔ ดังที่กล่าวแล้ว สำหรับภิกษุบริษัท พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนให้พิจารณาเสพบริโภค ที่เรียกว่าทำไว้ในใจโดยแยบคาย พิจารณาโดยแยบคาย
พิจารณาปัจจัย ๔ โดยแยบคาย
และตรัสไว้ในพระสูตรนี้ว่า การพิจารณาโดยแยบคาย เสพบริโภคปัจจัยทั้ง ๔ เป็นเหตุละอาสวะคือกิเลสที่ดองจิตสันดานได้ข้อหนึ่ง และก็ได้ตรัสสอนวิธีพิจารณาไว้ว่า ที่เรียกว่าพิจารณาโดยแยบคายนั้นคือพิจารณาอย่างไร
ในข้อจีวรคือผ้านุ่งห่ม ก็ตรัสสอนให้พิจารณาโดยแยบคาย คือพิจารณาว่าเสพบริโภคจีวรคือผ้านุ่งห่ม ก็เพื่อบำบัดหนาวเพื่อบำบัดร้อน เพื่อบำบัดสัมผัสคือความกระทบถูกต้อง แห่งเหลือบยุงลมแดดสัตว์เลื้อยคลานทั้งหลาย เพื่อปกปิดอวัยวะที่ยั่วความอาย ดั่งนี้ เป็นวิธีพิจารณาที่ตรัสสอนไว้ให้พิจารณาในการเสพบริโภคจีวรคือผ้านุ่งห่ม และเมื่อพิจารณาดั่งนี้ ก็ชื่อว่าพิจารณาโดยแยบคาย
ในข้อบิณฑบาตคืออาหารสำหรับบริโภค ก็ตรัสสอนให้พิจารณาว่า บริโภคบิณฑบาตคืออาหารสำหรับบริโภค มิใช่เพื่อเล่น มิใช่เพื่อมัวเมา มิใช่เพื่อสดใส มิใช่เพื่อเปล่งปลั่ง บริโภคเพื่อความดำรงอยู่ได้ตั้งอยู่ได้แห่งกาย เพื่อยังชีวิตให้เป็นไป เพื่ออนุเคราะห์พรหมจรรย์คือความประพฤติอันประเสริฐ คือความประพฤติปฏิบัติพุทธศาสนาคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ด้วยคิดว่าเราจักระงับเวทนาเก่า จักไม่ยังเวทนาใหม่ให้บังเกิดขึ้น ความไป ความที่ระงับความลำบาก ความที่ไม่มีโทษ ความอยู่ผาสุกจักมีแก่เราด้วยเพราะอย่างนี้ เมื่อพิจารณาดั่งนี้ก็ชื่อว่าพิจารณาโดยแยบคาย บริโภคบิณฑบาตคืออาหารที่บริโภค
ในการเสพบริโภคเสนาสนะที่อยู่อาศัยที่นั่งที่นอน ก็ตรัสสอนให้พิจารณาว่า เสพบริโภคเสนาสนะที่นั่งที่นอนที่อยู่อาศัย ก็เพื่อกำจัดหนาวเพื่อกำจัดร้อน เพื่อกำจัดสัมผัสแห่งเหลือบยุงลมแดดสัตว์เสือกคลานทั้งหลาย เพื่อบันเทาอันตรายแต่ฤดูกาล เพื่อชอบในความหลีกเร้น เมื่อพิจารณาดั่งนี้ก็ชื่อว่าพิจารณาโดยแยบคาย เสพบริโภคเสนาสนะ คือที่นอนที่นั่งที่อยู่อาศัย
ในการบริโภคยาปรุงสำหรับผู้ป่วยไข้ ก็ตรัสสอนให้พิจารณาว่า เสพบริโภคยาปรุงสำหรับผู้ป่วยไข้ก็เพื่อกำจัดเวทนาทั้งหลาย ที่มีอาพาธต่าง ๆ ความเจ็บป่วยต่าง ๆ เป็นมูล เพื่อที่จะได้หายป่วยไข้ เมื่อพิจารณาดั่งนี้ เสพบริโภคยาปรุงสำหรับผู้ป่วยไข้ ก็ชื่อว่าพิจารณาโดยแยบคายเสพบริโภคยาปรุงสำหรับผู้ป่วยไข้
เมื่อมิได้พิจารณาโดยแยบคายบริโภคปัจจัยทั้ง ๔ นี้ อาสวะคือกิเลสที่ดองจิตสันดานทั้งหลาย อันเป็นเครื่องทำความคับแค้น สร้างความทุกข์ร้อนเหล่าใดย่อมเกิดขึ้น แต่ว่าเมื่อพิจารณาโดยแยบคายอย่างนี้แล้ว อาสวะเหล่านั้นก็ย่อมไม่มีไม่เกิดขึ้น ดั่งนี้
ข้อพึงปฏิบัติสำหรับผู้ปฏิบัติธรรม
การพิจารณาบริโภคเสพปัจจัยทั้ง ๔ โดยแยบคายตามที่ตรัสสอนไว้นี้ ก็เป็นข้อที่พึงปฏิบัติ แม้สำหรับผู้มุ่งปฏิบัติธรรมทั้งหลายในฝ่ายคฤหัสถ์ด้วย ก็เพราะว่าไม่ว่าจะเป็นบรรพชิตคือผู้บวช ไม่ว่าจะเป็นคฤหัสถ์ ก็ต้องอาศัยปัจจัยทั้ง ๔ นี้ในการดำรงชีวิตอยู่ ต้องเสพบริโภคปัจจัยทั้ง ๔ นี้ สำหรับบำรุงเลี้ยงชีวิตอยู่เป็นประจำ และเมื่อมิได้พิจารณาโดยแยบคาย ก็ย่อมเป็นเหตุให้บริโภคด้วยตัณหา คือความดิ้นรนทะยานอยาก ติดอยู่ในรสของการเสพบริโภค เช่นติดอยู่ในรสของอาหาร หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งว่าติดอยู่ในสุขเวทนาที่ได้จากการเสพบริโภคปัจจัยทั้ง ๔นี้ ซึ่งเมื่อมิได้พิจารณาสุขเวทนานี้ ก็เป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา และเมื่อตัณหาที่บังเกิดนี้ บังเกิดขึ้น ก็จะนอนจมดองจิตสันดานต่อไป แม้ว่าตัณหาที่ปรากฏจะรู้สึกว่าบังเกิดขึ้น และหายไปเป็นคราวๆ แต่ที่ว่าหายไปนั้น ก็คือความรู้สึกหายไป ส่วนตะกอนของตัณหานั้นก็ยังตกจมนอนจมอยู่ในจิต อันนี้แหละที่เรียกว่าอาสวะ
ตัณหาเกิดขึ้นจากปัจจัย ๔
และในข้อนี้หากทุก ๆ คนพิจารณาดูโดยตรงก็ดี โดยเทียบเคียงก็ดี ก็ย่อมจะเห็นได้ ว่าความติดนี้ซึ่งเป็นตัวอาสวะนั้น บังเกิดขึ้นได้จากการเสพบริโภคปัจจัยทั้ง ๔ นี้
ยกตัวอย่าง อาหารที่ทุกคนบริโภคมาตั้งแต่เกิด ความติดในรสในประเภทของอาหารนั้นย่อมมีอยู่ และทำให้ต้องการที่จะบริโภคอาหารเช่นนั้น มีรสเช่นนั้น เพราะฉะนั้น คนทุกชาติทุกจำพวกจึงมีความติดอยู่ในอาหาร ที่ตนได้บริโภคมาตั้งแต่เกิดอยู่ด้วยกัน จึงทำให้คนไทยก็จะต้องชอบบริโภคอาหารไทย คนประเทศนั้นประเทศนี้ก็จะต้องชอบบริโภคอาหารของประเทศนั้นประเทศนี้ ซึ่งความติดนี้ก็ค่อย ๆ มีขึ้นทีละน้อย จนถึงเป็นความติดที่นอนจมอยู่ แม้ในทางร่างกาย และตนเองก็ไม่รู้สึกว่าความต้องการอาหารดังกล่าวนั้นตกอยู่ที่ไหน ตั้งอยู่ที่ไหน แต่ว่าในเมื่อพบอาหารเข้าแล้วจึงจะรู้สึกขึ้นเอง ถ้าเป็นอาหารที่ผิดจากที่ตนได้เคยบริโภคมาจนติดฝังอยู่ดังกล่าวแล้ว ถ้าไม่ได้อาหารเช่นนั้นก็บริโภคไม่ได้ จะต้องได้อาหารอย่างนั้นจึงจะบริโภคได้
และแม้ความติดอย่างอื่นเกี่ยวแก่ยาเสพติดต่าง ๆ ก็เช่นเดียวกัน เช่นติดสุรา ติดฝิ่น ทุกคนผู้ติดสุรา ติดฝิ่น นั้นทีแรกก็ไม่ได้ติด แต่เพราะเหตุที่ได้เสพสุราได้สูบฝิ่นบ่อยๆ ความติดก็จะค่อยๆ บังเกิดขึ้น ฝังลึกลงไป ก็เป็นไปทางร่างกายนี้เอง แล้วก็ทำให้ต้องการที่จะดื่มสุราต้องการที่จะสูบฝิ่น ต้องการที่จะเสพยาเสพติดให้โทษที่ติดนั้น...(เริ่ม)...สิ่งที่ติดอยู่ดั่งนี้แหละ ทางกายก็มี ทางใจก็มี ซึ่งทางใจนั้นเรียกว่าอาสวะ หรือเรียกว่าอนุสัย อาสวะก็แปลดองจิตสันดาน อนุสัยก็แปลว่านอนจม ก็คือนอนจมอยู่ในจิตสันดาน คือติดอยู่นั่นเอง ติดอยู่ในจิตใจ เหมือนอย่างที่ติดยาเสพติดให้โทษดังที่กล่าวมาแล้วนั้นแหละทางร่างกาย สิ่งที่ติดอยู่นี้แหละคือตัวอาสวะ หรือตัวอนุสัย ติดฝิ่นติดสุราก็เป็นอาสวะอนุสัย ซึ่งเป็นไปทางกาย สิ่งอันใดที่ได้เสพคุ้นคือได้ส้องเสพบ่อยๆได้ทำบ่อยๆ ก็ย่อมให้บังเกิดภาวะดังกล่าวมานี้ และทุก ๆ คนก็ย่อมจะมีภาวะดังกล่าวอยู่นี้แม้ทางร่างกาย ซึ่งน่าจะเป็นร่างกายโดยเฉพาะ เช่นว่ามือขวาของทุก ๆ คน หัดให้เขียนหนังสือมาตั้งแต่เล็ก ๆ ให้หยิบจับทำอะไร ทำงานด้วยมือขวาเป็นส่วนใหญ่มาตั้งแต่เล็ก ๆ จึงใช้มือขวาเขียนหนังสือได้สะดวก ทำงานได้สะดวก แต่มือขวาซ้ายเขียนหนังสือไม่ได้สะดวกเหมือนอย่างมือขวา
อาสวะ บารมี
นี่แปลว่าถ้าเทียบอย่างอาสวะอนุสัยแล้ว ก็แปลว่ามือขวานั้นมีอาสวะอนุสัยในทางเขียนหนังสือมา อันเกิดจากเสวนะคือการส้องเสพ หรือการเสพคุ้นนี่แหละ แต่ว่าในทางพุทธศาสนานั้นแสดงทางจิตใจ สิ่งที่สั่งสมเก็บอยู่ในจิตใจ ถ้าเป็นฝ่ายชั่วก็เรียกว่าอาสวะ เรียกว่าอนุสัย จะเรียกว่าเป็นการเก็บชั่วก็ได้ แต่ถ้าเป็นส่วนดีก็เก็บไว้เหมือนกัน สั่งสมไว้เหมือนกัน แต่ไม่เรียกว่าอาสวะอนุสัย เรียกว่าบารมี ก็คือเก็บดี เพราะฉะนั้น เพื่อที่จะเข้าใจง่าย และจำง่าย จะแปล อาสวะ ว่า เก็บชั่วก็ได้ จะแปล บารมี ว่าเก็บดีก็ได้ ซึ่งเก็บไว้ได้จริง ๆ ดังตัวอย่างที่กล่าวมานี้ และแม้แต่ทางร่างกายก็ยังเก็บเอาไว้ได้ เหมือนอย่างมือซ้ายมือขวาที่ยกตัวอย่างมานั้น แม้อย่างอื่นก็เหมือนกัน ทั้งทางร่างกายทั้งทางจิตใจ สิ่งอะไรที่มีการเสพคือการทำ การส้องเสพ การปฏิบัติ การกระทำอยู่บ่อย ๆ แล้ว ทั้งทางกายทั้งทางใจย่อมทำให้ติดได้ทั้งนั้น ทำให้เกิดความคุ้นเคยในสิ่งที่เสพบ่อย ๆ ที่ทำบ่อย ๆนั้น เพราะฉะนั้นการส้องเสพนี่จึงเป็นเรื่องสำคัญ
ตามที่กล่าวมานี้ก็เป็นการแสดงขยายออกไป ว่ามีสัจจะคือความจริงอยู่เช่นนี้ ว่า ปฏิเสวนะ การส้องเสพ หรือเสวนะ การส้องเสพ นั้นเป็นสิ่งที่สำคัญมาก และโดยเฉพาะสำหรับปัจจัย ๔ นี้เป็นสิ่งที่ทุก ๆ คนต้องส้องเสพกันอยู่ ต้องบริโภคกันอยู่เป็นประจำทุกวัน ฉะนั้นหากไม่พิจารณาโดยแยบคายแล้ว การส้องเสพก็จะทำให้เกิดตัณหา อันสืบเนื่องมาจากความสุขนี่แหละ ที่ได้จากการส้องเสพ คือทำให้ติด ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าเพราะเวทนาเป็นปัจจัยเกิดตัณหา แล้วก็ลงไปเป็นอาสวะติดอยู่ในจิตสันดาน โดยลำดับ เพราะฉะนั้น เมื่อไม่พิจารณาในการส้องเสพ ซึ่งส้องเสพอยู่เป็นประจำนี้โดยแยบคายแล้ว การส้องเสพปัจจัยทั้ง ๔ นี้ จึงเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา ซึ่งเป็นปัจจัยให้ไปเก็บชั่ว เป็นอาสวะดองจิตสันดาน อันเนื่องมาจากปัจจัยทั้ง ๔ นี้ต่อไป
การบริโภคนั้นเพื่ออะไร
เพราะฉะนั้นจึงได้ตรัสสอนให้พิจารณาโดยแยบคาย โดยความก็คือว่า เพื่อที่จะไม่ให้การบริโภคปัจจัยทั้ง ๔ นี้ ก่อตัณหาก่ออาสวะคือเก็บชั่วนี้ให้บังเกิดขึ้น และในการพิจารณานี้ ก็ได้ตรัสสอนวิธีพิจารณาไว้โดยความก็คือว่า การที่บริโภคนั้น อันที่จริงไม่ใช่บริโภคเพื่ออะไร แต่ว่าบริโภคเพื่ออะไร เพื่อให้รู้ตามความเป็นจริง เมื่อเป็นดั่งนี้ก็จะเป็นประโยชน์มาก จะทำให้บุคคลได้มองเห็นว่าอะไรเป็นประโยชน์ของการบริโภคปัจจัยทั้ง ๔ และจะทำให้มุ่งประโยชน์ที่บริโภคเป็นสำคัญ และนอกจากว่าจะบริโภคเพื่อดำรงชีวิตอยู่แล้ว ยังสืบไปถึงว่าดำรงชีวิตอยู่เพื่ออะไรอีกด้วย คือบริโภคเพื่อดำรงชีวิตอยู่ และดำรงชีวิตอยู่เพื่ออะไร
ดังที่ตรัสสอนว่าเพื่ออนุเคราะห์พรหมจรรย์ คือเพื่อที่จะใช้ชีวิตนี้ประพฤติพุทธศาสนาคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า อันเป็นความประพฤติที่ประเสริฐ คือเป็นความประพฤติที่ดี เป็นความประพฤติที่เป็นประโยชน์ทางกายทางวาจาทางใจ จึงทำให้มุ่งที่จะบริโภคในสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ร่างกาย แก่การดำรงชีวิต และดำรงชีวิตอยู่ก็เพื่อที่จะบำเพ็ญประโยชน์ เพื่อจะประกอบคุณงามความดีต่าง ๆ เมื่อเป็นดั่งนี้แล้ว สติและปัญญาที่มีความระลึกได้ และมีความรู้ถึงประโยชน์ดั่งนี้ ก็จะทำให้เป็นการป้องกันตัณหา เป็นการป้องกันอาสวะมิให้เพิ่มเติมต่อไป และทำให้อาสวะเก่านั้นถอยกำลังลงด้วย เพราะฉะนั้น การที่พิจารณาโดยแยบคายบริโภค จึงเป็นเหตุละอาสวะกิเลสที่ดองสันดานได้ข้อหนึ่ง และก็เป็นข้อสำคัญ
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป