แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม จะแสดงพระพุทธเจ้าทรงสอนกรรมฐานตามนัยยะ สัพพาสวสังวรสูตร พระสูตรที่ว่าด้วยความสำรวมคือระวังป้องกันอาสวะ นำสติปัฏฐาน พระบรมศาสดาได้ทรงแสดงวิธีละอาสวะที่จะแสดงในวันนี้นับเป็นข้อที่ ๒ ตรัสสอนให้ละอาสวะด้วยสังวร คือความสำรวมอินทรีย์ทั้ง ๖ อันได้แก่จักขุ ตา โสตะ หู ฆานะ จมูก ชิวหา ลิ้น กายะ ก็กาย และ มโน คือใจ
ตรัสไว้ว่าเมื่อไม่สำรวมอินทรีย์ทั้ง ๖ อาสวะทั้งหลายที่เป็นเครื่องทำความคับแค้นความเดือดร้อน ก็บังเกิดขึ้น แต่เมื่อสำรวมอินทรีย์ทั้ง ๖ อาสวะทั้งหลายที่เป็นเครื่องทำความคับแค้นทำความเดือดร้อน ก็ไม่บังเกิดขึ้น และก็ได้ตรัสแสดงทางของการปฏิบัติด้วยทรงชี้ว่า ก็ให้รู้จักธรรมะที่ไม่ควรใส่ไว้ในใจ กับธรรมะที่ควรใส่ไว้ในใจ เพราะว่าเมื่อไม่รู้จัก ก็ย่อมจะใส่ธรรมะที่ไม่ควรใส่ไว้ในใจ แต่ว่าธรรมะที่ควรใส่ไว้ในใจกลับไม่ใส่ใจถึง
เมื่อเป็นดั่งนี้อาสวะทั้งหลาย อันได้แก่อาสวะคือกาม อาสวะคือภพ อาสวะคืออวิชชา ก็ย่อมบังเกิดขึ้น ส่วนผู้ที่รู้จักธรรมะที่ไม่ควรใส่ไว้ในใจ รู้จักธรรมะที่ควรใส่ไว้ในใจ และเมื่อรู้จักดั่งนี้ ก็ไม่ใส่ธรรมะที่ไม่ควรใส่ไว้ในใจ ใส่แต่ธรรมะที่ควรใส่ไว้ในใจเท่านั้น อาสวะทั้งหลายจึงไม่บังเกิดขึ้น แต่ทั้งนี้ก็ต้องอาศัยทิฏฐิคือความเห็น เมื่อมีความเห็นผิดก็ย่อมจะไม่รู้จัก ว่าธรรมะอะไรที่ไม่ควรใส่ไว้ในใจ ธรรมะอะไรที่ควรใส่ไว้ในใจ ความเห็นผิดนี้จึงเป็นเหมือนลูกศรที่เสียบแทงใจ เป็นสัญโญชน์คือเครื่องผูกใจ เพราะฉะนั้นจึงต้องฝึกปัญญาให้รู้จักว่าธรรมะอะไรที่ควรใส่ไว้ในใจ ธรรมะอะไรที่ไม่ควรใส่ไว้ในใจ เมื่อได้ปัญญารู้จักดังนี้ก็ย่อมจะแก้ความเห็นผิดได้ เพราะปัญญาดังกล่าวย่อมเป็นตัวความเห็นถูก หรือเป็นเหตุให้เกิดความเห็นถูก
ฉะนั้นการปฏิบัติฝึกปัญญาจึงเป็นสิ่งสำคัญ และ... (เริ่ม)...ทางที่จะทำให้เขลาปัญญาก็คือความที่ขาดสติรักษาทวารทั้ง ๖ หรือรักษาอินทรีย์ทั้ง ๖ ดังที่กล่าวมา จึงทำให้บังเกิดความไม่สำรวมอินทรีย์ทั้ง ๖ นั้น เมื่อเป็นดั่งนี้เรื่องทั้งหลาย หรือจะกล่าวว่าธรรมะทั้งหลายที่ไม่ควรใส่ไว้ในใจ จึงไหลเข้าไปสู่ใจ นำให้บังเกิดกิเลสคือเครื่องเศร้าหมองลงไปสู่จิตใจ หรือเข้าสู่จิตใจ เป็นอาสวะที่ดองจิตสันดานอยู่ เพราะฉะนั้น สติที่สังวรคือระวังป้องกันอินทรีย์ทั้ง ๖ นี้จึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก จึงได้ตรัสสอนให้รู้จักเอาไว้ เมื่อต้องการละอาสวะกิเลสที่ดองสันดาน ก็ต้องฝึกหัดปฏิบัติในอินทรียสังวร ความสำรวมอินทรีย์
อินทรีย์ ๖
ฉะนั้น จึงจะได้กล่าวถึงเรื่องอินทรีย์ แนะนำพอให้รู้จัก อินทรีย์นั้นแปลว่าเป็นใหญ่ โดยที่จักขุคือตาก็เป็นใหญ่ในการเห็นรูป โสตะคือหูก็เป็นใหญ่ในการฟังเสียง ฆานะคือจมูกก็เป็นใหญ่ในการทราบกลิ่นหรือสูดกลิ่น ชิวหาคือลิ้นก็เป็นใหญ่ในการทราบรสหรือลิ้มรส กายะหรือกายก็เป็นใหญ่ในการถูกต้องโผฏฐัพพะสิ่งที่กายถูกต้อง มโนที่แปลกันว่าใจก็เป็นใหญ่ในการรู้ธรรมะคือเรื่องราว เพราะฉะนั้น ตา หู จมูก ลิ้น กาย และมนะ คือ ใจ ทั้ง ๖ นี้จึงเรียกว่า อินทรีย์
มโนคือใจ
อนึ่งได้มีแสดงอินทรีย์ทั้ง ๖ นี้ในหน้าที่อันละเอียดยิ่งขึ้นไปกว่านั้นอีกไว้บางแห่ง ก็คืออธิบายว่าอินทรีย์ทั้ง ๖ นี้ ๕ ข้างต้นคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย จะสำเร็จความเป็นใหญ่ในหน้าที่ของตนได้ ต้องอาศัย มโน คือ ใจ อันเป็นข้อที่ ๖ เข้าประกอบด้วย กล่าวคือ จักขุคือตานั้นจะสำเร็จการเห็นรูปอะไรได้ ต้องมีมโนคือใจเข้าประกอบด้วยจึงจะสำเร็จการเห็นรูป ถ้าไม่มีมโนคือใจเข้าประกอบด้วย ก็ไม่สำเร็จการเห็นรูป อีก ๔ ข้อต่อไปก็เช่นเดียวกัน ต้องมีมโนคือใจเข้าประกอบด้วยทุกข้อ จึงจะสำเร็จการเห็นรูป ได้ยินเสียง ทราบกลิ่น ทราบรส ทราบโผฏฐัพพะ เพราะฉะนั้น มโน คือ ใจ จึงต้องควบคู่อยู่กับ ตาให้สำเร็จการเห็นรูป หูให้สำเร็จการได้ยินเสียง จมูกให้สำเร็จการได้ทราบกลิ่น ลิ้นให้สำเร็จการได้ทราบรส และกายให้สำเร็จการได้ทราบโผฏฐัพพะ ที่ท่านอธิบายไว้ดั่งนี้พิจารณาดูก็จะเห็นได้
ยกตัวอย่าง โสตะคือหู เพื่อให้สำเร็จการได้ยินเสียง จะต้องมีมโนคือใจเข้าประกอบด้วย จึงจะสำเร็จการได้ยินเสียงได้ ยกตัวอย่างเช่นการฟังอบรมธรรมะในบัดนี้ ท่านทั้งหลายผู้ฟังก็จะต้องเงี่ย โสตะประสาท เพื่อที่จะฟัง และก็จะต้องตั้งมโนคือใจเพื่อฟังด้วย จึงจะฟังได้ยิน แต่ขณะใดที่มโนคือใจไม่ตั้งเพื่อที่จะฟัง เพราะใจถูกส่งไปในที่อื่นในเรื่องอื่น หูจะดับทันที จะไม่ได้ยินเสียงที่กำลังพูดอบรมอยู่นี้ หูดีไม่ใช่หูหนวก และเสียงก็กำลังพูดอยู่ ก็ไปกระทบกับโสตะประสาทอยู่โดยปรกติ เป็นแต่เพียงว่าเมื่อมโนคือใจพรากออกไปเสีย หูก็ดับทันทีไม่ได้ยินเสียงที่พูดนี้ แต่ว่าไปรู้ในเรื่องที่มโนคือใจส่งไปนั้น เพราะฉะนั้น มโนคือใจอันเป็นข้อที่ ๖ นี้จึงต้องประกอบอยู่กับ ๕ ข้อข้างต้นตลอดเวลา
และนอกจากนี้มโนคือใจ ก็ย่อมเป็นใหญ่ในหน้าที่รู้ธรรมะ คือเรื่องราวของตนโดยเฉพาะอีกด้วย คือแม้ว่าในขณะที่ มิได้ใช้ตา ใช้หู ใช้จมูก ใช้ลิ้น ใช้กาย ลำพังมโนคือใจเองก็ย่อมรู้ธรรมะ คือเรื่องราว ของรูป ของเสียง ของกลิ่น ของรส ของโผฏฐัพพะ ที่ได้ประสบพบผ่านมาแล้ว เช่นว่า ได้ประสบพบผ่านมาแล้วในอดีต เช่นบัดนี้เป็นเวลาค่ำ มโนคือใจก็รู้ธรรมะคือเรื่องราวของรูปเป็นต้น ที่ได้ประสบพบผ่านมาแล้วในเวลาเช้า ในเวลาบ่าย เป็นต้น เรื่องเหล่านี้ยังมาผุดขึ้นในความนึกคิด จะเรียกว่าความนึกคิดของมโนคือใจก็ได้ เป็นความรู้ถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้ ดังที่เรียกกันว่าจินตา ความคิดบ้าง วิตก ความตรึกบ้าง วิจาร ความตรองบ้าง เป็นต้น เพราะฉะนั้น มโนคือใจอันเป็นอินทรีย์ข้อที่ ๖ นั้นจึงเป็นข้อสำคัญ ที่ต้องประกอบอยู่ในอินทรีย์ทุกข้อ และก็มีหน้าที่จำเพาะข้อของตนโดยเฉพาะอีกด้วย เพราะฉะนั้น จึงควรรู้จักอินทรีย์ดังกล่าวมานี้
ทวาร ๖ อารมณ์ ๖
และก็ควรทราบว่าในภาษาธรรมะนั้นยังมีชื่อเรียกอีกด้วยว่า ทวาร และ อารมณ์ ทวารนั้นแปลว่าประตู หรือ ช่อง ก็หมายถึงอินทรีย์ทั้ง ๖ เหล่านี้นั่นแหละ แต่ได้ชื่ออีกชื่อหนึ่งว่าทวาร แปลว่าประตู ฉะนั้น ทวารจึงมี ๖ เหมือนกัน ได้แก่จักขุทวาร ประตูตา โสตะทวาร ประตูหู ฆานะทวาร ประตูจมูก ชิวหาทวาร ประตูลิ้น กายะทวาร ประตูกาย และมโนทวาร ประตูใจ เป็นทวารคือประตูของอะไร ก็เป็นทวารคือประตูสำหรับเข้าของอารมณ์ทั้ง ๖ อารมณ์นั้นได้แก่เรื่องที่จิตคิด เรื่องที่จิตดำริ เรื่องที่จิตหมกมุ่นถึง มี ๖ คู่กันกับทวารทั้ง ๖ นั้น ก็คือ รูปารมณ์ อารมณ์คือรูป สัทธารมณ์ อารมณ์คือเสียง คันธารมณ์ อารมณ์คือกลิ่น รสารมณ์ อารมณ์คือรส โผฏฐัพพารมณ์ อารมณ์คือโผฏฐัพพะสิ่งที่กายถูกต้อง และ ธรรมารมณ์ อารมณ์คือเรื่องราว คู่กันกับทวารทั้ง ๖ นั้น เป็นทวารทั้ง ๖ สำหรับอารมณ์เข้า เข้าสู่อะไร ในตอนนี้มีคำเรียกอีกคำหนึ่งว่าจิต คือเข้าสู่จิต
คำว่าจิตลึกซึ้งกว่ามโน
เพราะฉะนั้น คำว่าจิตนี้จึงเป็นคำที่ลึกซึ้งไปกว่าคำว่ามโน แต่ว่าในภาษาไทยนั้น มโนก็ว่ากันว่าใจ จิตก็ว่ากันว่าใจ เพราะไม่รู้จะหาคำแปลอันไหนมาให้เหมาะให้กะทัดรัดกว่าคำว่าใจ จึงใช้ปนเปกันไป แต่ในภาษาธรรมะนั้นต่างกัน มโนนั้นเป็นอายตนะภายในข้อที่ ๖ เป็นอินทรีย์ข้อที่ ๖ และเป็นทวารคือเป็นประตูข้อที่ ๖ สำหรับให้อารมณ์เข้าไปสู่จิต จิตจึงเป็นธรรมชาติอันหนึ่งที่มีอยู่ในทุก ๆ คนนี้ ที่เป็นสิ่งสำคัญ ทางพระพุทธศาสนาได้แสดงจิตเป็นสิ่งสำคัญ พระพุทธเจ้าตรัสสอนให้ฝึกจิต ให้รักษาจิต ให้อบรมจิต และจิตนี้เองเป็นธรรมชาติที่วิมุติหลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย จิตนี้เองบรรลุวิสังขารคือนิพพาน ดังที่ได้ตรัสเอาไว้ว่า
วิสังขาระ กะตัง จิตตัง จิตบรรลุวิสังขาร คือ นิพพาน ที่ปราศจากสังขารเครื่องปรุงแต่งทั้งหลาย
ตัณหานัง ชัยยะมัชชะกา บรรลุถึงความสิ้นไปของตัณหาทั้งหลาย จิตพ้นจากอาสวะทั้งหลาย ดั่งนี้
และก็ได้ตรัสเรียกจิตว่าเป็นวิญญาณธาตุ ธาตุรู้ ตรัสว่าจิตเป็นธรรมชาติปภัสสร คือผุดผ่อง และก็ตรัสว่า แต่ว่าจิตนี้เศร้าหมองไปเพราะอุปกิเลสคือเครื่องเศร้าหมองทั้งหลายที่จรมา แต่ว่าจิตที่ทำจิตตภาวนา คืออบรม ก็ย่อมวิมุติคือหลุดพ้นจากอุปกิเลส คือเครื่องเศร้าหมองทั้งหลายได้ เพราะฉะนั้นธรรมชาติของจิตนี้ จึงเป็นธาตุรู้ที่เรียกว่าวิญญาณธาตุ และเป็นธรรมชาติที่ปภัสสร คือผุดผ่อง
มโนคือใจนั้นเป็นทวารอันหนึ่ง สำหรับที่จะรับอารมณ์เข้าสู่จิต หรือว่าที่จิตจะรับอารมณ์ทางทวารทั้ง ๖ นี้ อันมีมโนเป็นที่ ๖ และก็มีเรียกจิตว่าวิญญาณในที่บางแห่ง เช่นเรียกว่าวิญญาณธาตุคือธาตุรู้ และเรียกในที่อื่นอีกบางแห่ง แต่แม้เช่นนั้นคำว่าวิญญาณนั้น ก็ยังมีความหมายถึงขันธ์ ๕ ข้อที่ ๕ คือวิญญาณขันธ์
ซึ่งขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณนั้น ตรัสว่าเป็นอนัตตา มิใช่อัตตาตัวตน ดังที่ตรัสแสดงไว้ในเทศนาครั้งที่ ๒ จึงเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง ต้องเกิดดับ เป็นสิ่งที่เป็นทุกข์ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป แต่ว่าจิตนั้นมิใช่อยู่ในลักษณะดังกล่าวนั้น เพราะฉะนั้น วิญญาณในขันธ์ ๕ จึงมิใช่จิต แต่ว่าจิตนั้นเป็นธรรมชาติที่มีอยู่คู่กับกาย ซึ่งทุกคนมีอยู่คือจิตและกาย ดังที่มีกันอยู่นี้ และแม้จะเรียกว่าทวาร ๖ มโนซึ่งเป็นทวารข้อที่ ๖ นั้น ก็ย่อมมีหน้าที่เป็นพิเศษ ควบคู่กับทวาร ๕ ข้อข้างต้น เช่นเดียวกับที่อธิบายเมื่อเรียกว่าอินทรีย์ เพราะฉะนั้น หากจะกล่าวหรือแสดงโดยเปรียบเทียบ ว่ากายของเราทุก ๆ คนนี้เหมือนอย่างเป็นบ้าน ๆ หนึ่ง ซึ่งมีประตูเข้าสองชั้น ประตูเข้าชั้นนอกนั้นมี ๕ ประตู ต้องเข้าประตู ๕ ประตูข้างนอกเข้ามาก่อน จึงถึงประตูชั้นในซึ่งมีเพียง ๑ ประตู และเมื่อเข้าประตู ๑ ประตูชั้นในแล้ว จึงจะถึงจิตที่เป็นเจ้าของบ้านซึ่งอยู่ในห้องใน
ประตูนอก ๕ ประตูนั้นก็คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ประตูในหนึ่งประตูนั้นก็คือ มโน ใจ อารมณ์ต้องผ่านประตูนอกทั้ง ๕ ต้องผ่านประตูในมโน คือใจ จึงถึงจิต หรือว่าจิตที่จะออกรับอารมณ์ก็จะต้องออกทางประตูมโนคือใจ จะออกเพียงแค่นั้นก็ได้ หากจะออกรับอารมณ์ภายนอกทั้ง ๕ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ในปัจจุบัน ก็ต้องผ่านประตูอีก ๕ ประตูข้างนอกนั้นด้วย ถ้าหากว่าไม่ผ่านประตู ๕ ประตูข้างนอกนั้น ผ่านประตูใจเพียงประตูเดียวก็ได้ คือจิตที่คิดนึก ที่เรียกว่าจินตา คิด วิตก ตรึก วิจาร ตรอง ถึงเรื่อง รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ต่าง ๆ ที่ประสบพบผ่านมาแล้วในอดีตดังที่กล่าวมาแล้ว
อีกอย่างหนึ่งท่านเรียกว่า นครสามี เจ้าเมือง นี่เป็นพระบาลีที่พระพุทธเจ้าตรัสเรียกจิตว่า นครสามี คือเจ้าเมือง ซึ่งนั่งอยู่ในท่ามกลางของธาตุทั้ง ๔ ซึ่งมีประตูสำหรับที่จะเข้าสู่เจ้าเมืองดังกล่าว และสตินั้นก็เป็นนายทวารบาล สำหรับที่จะตรวจตราดูผู้ที่จะเข้าเมือง เมื่อเป็นศัตรูผู้มุ่งร้ายก็ไม่ให้เข้า เมื่อเป็นผู้มุ่งดีเป็นมิตรก็ให้เข้า ฉันใดก็ดี สติที่รักษาทวารทั้ง ๖ อินทรีย์ทั้ง ๖ ดังที่กล่าวมานั้น เมื่อประจวบอารมณ์ หรือว่าเมื่ออายตนะภายในภายนอกประจวบกัน ที่พูดกันตามปรกติก็ดี หรือจะแสดงว่าเมื่อประจวบอารมณ์ ที่ประสบทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางมนะคือใจ โดยเป็นเรื่องรูปบ้าง เรื่องเสียงบ้าง เรื่องกลิ่นบ้าง เรื่องรสบ้าง เรื่องโผฏฐัพพะบ้าง เรื่องของเรื่องเหล่านี้บ้าง สติก็ระลึกรู้ว่าอะไรควรจะใส่เข้าไปในใจ อะไรไม่ควรจะใส่เข้าไปในใจ อะไรที่ควรมนสิการ
(เริ่ม)..เมื่อเป็นเรื่องที่ไม่ควรจะมนสิการ ไม่ควรจะใส่ไว้ในใจ คือไม่ควรที่จะรับเป็นอารมณ์เข้าไปในใจ ก็ไม่รับ ปล่อยให้ตกอยู่แค่ประตู หรือจะเรียกว่าแค่นอกประตูก็ได้ ให้ตกอยู่แค่ตา แค่หู แค่จมูก แค่ลิ้น แค่กาย แค่ใจ ไม่ให้เข้า ไม่ให้เข้าบ้าน ไม่ให้เข้าเมือง แต่ว่าถ้าเป็นมิตรก็รับเข้า เพราะฉะนั้น ในเรื่องของศัตรู และเรื่องของมิตรนี้ ก็ได้มีถ้อยคำที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสแสดงไว้เป็นปุคคลาธิษฐานอีกเหมือนกัน คือถ้าเป็นศัตรูนั้น ตรัสเรียกว่ามาร คือผู้มุ่งร้ายที่จะเข้าผ่านทวารเข้าสู่บ้านหรือเมืองของจิตนี้ โดยที่มารคือผู้มุ่งร้ายนี้ได้แสดงตนเป็นผู้มุ่งดี นำเรื่อง รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และเรื่องของเรื่องเหล่านี้ที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจเข้ามา อันทำให้เผลอสติไปได้ เมื่อเผลอสติก็รับเข้า มารก็เข้าไปสู่จิตกับอารมณ์เหล่านี้ ก่อกวนอยู่ในจิต เป็นกิเลส กองกามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ ดองจิตสันดาน โดยที่เข้าแล้วไม่ยอมออก ยึดอยู่ ดังกิเลสกองอาสวะทั้งหลายที่ยึดอยู่ในจิตของบุคคลทุก ๆ คน ไม่ยอมออก ยึดอยู่ และเมื่อยึดอยู่แล้วก็ยังส่งอำนาจออกไปทำให้เผลอสติ เผลอปัญญา ย้อมจิตให้มัวเมา
เหมือนอย่างคนที่กินสุรา ดื่มสุรายาเมา จิตก็เหมือนกัน เมื่อดื่มอาสวะเข้าไปก็เมา เมาก็เผลอสติเผลอปัญญา จึงรับเอาสมุนของมารเข้าไปสู่จิตอยู่เนือง ๆ ก่อให้บังเกิดอาสวะขึ้นในจิตเพิ่มเติม ทำให้เกิดความคับแค้น ให้เกิดความเดือดร้อนอยู่ไม่รู้แล้ว ดังที่ปรากฏ แต่แม้เช่นนั้นจิตนี้ก็ยังมัวเมา ยังมีความเพลิดเพลิน อยู่ในสิ่งที่ก่อให้ความเดือดร้อน อยู่ในสิ่งที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อน ความคับแค้นนั้น เพราะฉะนั้น จึงต้องอาศัยที่ได้มีพระพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นในโลก ก็ได้ตรัสเป็นปุคคลาธิษฐาน ว่าได้ทรงส่งทูตคู่หนึ่ง เพื่อจะผ่านบ้านผ่านเมืองเข้ามา ทูตคู่นั้นก็คือว่า สมถะและวิปัสสนา ในเมื่อสติไม่เผลอสติ ไม่เผลอปัญญา ก็ย่อมจะรับเอาทูตคู่นี้เข้าสู่บ้านสู่เมือง เมื่อทูตคู่นี้เข้าสู่บ้านสู่เมืองได้ จิตได้รับสมถะได้รับวิปัสสนา ก็ย่อมจะหายเมาขึ้นโดยลำดับ ทำให้หูตาสว่าง ได้สติได้ปัญญายิ่งขึ้น ๆ เพราะเหตุว่าต้อนรับมิตร คือทูตของพระพุทธเจ้า อันได้แก่สมถะวิปัสสนาเข้าสู่บ้านสู่เมืองของตน
เพราะฉะนั้น ก็จะทำให้ได้อินทรียสังวร คือความสำรวมอินทรีย์มากขึ้น ระมัดระวังมากขึ้น มีสติมีปัญญามากขึ้น รู้จักว่าอะไรควรจะรับ อะไรไม่ควรจะรับ ไม่ควรรับก็ไม่รับ ให้ตกอยู่แค่ตาหูจมูกลิ้นกายและมนะคือใจเท่านั้น เมื่อควรรับเป็นสมถะและวิปัสสนา ก็รับเข้าสู่จิตใจ และก็เพิ่มพลังของความสำรวมอินทรีย์มากขึ้น เพราะฉะนั้น อินทรียสังวรความสำรวมอินทรีย์จึงเป็นสิ่งสำคัญ เป็นเหตุละอาสวะข้อหนึ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนเอาไว้
ต่อจากนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป