แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
ในเบื้องต้นได้แสดงอธิบาย พระพุทธเจ้าทรงสอนกรรมฐาน ตามนัยยะที่มีแสดงไว้ใน เทวธาวิตักกสูตร และเมื่อพระองค์ได้ทรงแสดงถึงการปฏิบัติกรรมฐานของพระองค์เอง เมื่อยังทรงเป็นพระโพธิสัตว์ ยังมิได้ตรัสรู้ ว่าทรงปฏิบัติแยกวิตกออกให้เป็นสองส่วน ที่เป็นอกุศลวิตกส่วนหนึ่ง ที่เป็นกุศลวิตกส่วนหนึ่ง
เมื่อรวมความเข้ามาแล้วก็คือทรงพิจารณากำหนดวิตก คือความตรึกนึกคิดนี้เอง ให้รู้ว่าความตรึกนึกคิดที่บังเกิดขึ้นในพระหทัยแห่งพระองค์นั้น ถ้าเป็นอกุศลก็ทรงกำหนดพิจารณาให้รู้ พร้อมทั้งโทษ และทรงรักษาจิตคุ้มครองจิตของพระองค์มิให้ตรึกไป นึกคิดไปในทางอกุศล แต่ทรงปฏิบัติฝึกจิตอบรมจิตให้ตรึกไปในฝ่ายกุศล ซึ่งก็ทรงทำได้ และเมื่อทรงได้กุศลวิตกไว้มากแล้ว ก็ได้ทรงกำหนดพิจารณาเห็นขึ้นอีกขั้นหนึ่งว่า แม้จะเป็นกุศลวิตก แต่เมื่อตรึกนึกคิดนานเกินไป กายก็จะเหน็ดเหนื่อย จิตก็จะฟุ้งซ่าน ไม่เป็นสมาธิขึ้นได้ จึ่งได้ทรงละวิตกคือความตรึกนึกคิดแม้ที่เป็นกุศลนั้น ตั้งจิตให้สงบอยู่ในภายใน เหมือนอย่างนั่ง เข้ามานั่งอยู่ในภายในจิต ให้จิตนั่งอยู่ในภายใน สงบอยู่ในภายใน ทำความรู้อยู่แต่เพียงว่าธรรมเหล่านี้มีอยู่เท่านั้น
ปฏิปทาที่ทรงปฏิบัติ
พระพุทธองค์เมื่อได้ตรัสสอนวิธีปฏิบัติกรรมฐานมาถึงขั้นนี้ ว่าพระองค์ทรงปฏิบัติได้ และพระองค์ได้ทรงปฏิบัติสงบแม้ที่เป็นกุศลวิตก ตั้งจิตให้กำหนดอยู่ในภายในดังกล่าว สมาธิของพระองค์จึงบังเกิดขึ้น มากขึ้น แนบแน่นขึ้น จึงทรงบรรลุถึงฌาน คือสมาธิที่แนบแน่น เข้าขั้นฌานที่ ๑ ฌานที่ ๒ ฌานที่ ๓ ฌานที่ ๔ จึงทรงมีจิตที่บริสุทธิ์ขาวคือสะอาดผ่องแผ้ว อ่อนควรแก่การงาน จึงทรงน้อมจิตไปเพื่อรู้ ก็ทรงได้พระญาณ ๓ ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ความรู้ระลึกถึงขันธ์เป็นที่อาศัยอยู่ในปางก่อนได้ จุตูปปาตญาณ ความหยั่งรู้จุติคือความเคลื่อน อุปบัติคือความเข้าถึงชาตินั้น ๆ ของสัตว์ทั้งหลาย ว่าเป็นไปตามกรรม และ อาสวักขยญาณ ความรู้เป็นเหตุสิ้นอาสวะ ตรัสรู้อริยสัจจ์ ๔ จึงทรงสิ้นชาติสิ้นภพ และมีพระญาณหยั่งรู้ว่าชาติสิ้นแล้ว เสร็จกิจที่จะพึงกระทำเหมือนอย่างนี้แล้ว ไม่มีกิจอื่นที่จะพึงกระทำเพื่อเป็นอย่างนี้ต่อไปอีก ดั่งนี้ ก็คือตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ได้ทรงเล่าถึงปฏิปทาที่ทรงปฏิบัติมาเองโดยความย่อดั่งนี้
และในตอนท้ายของพระสูตรได้ทรงแสดงธรรมะสั่งสอนมีอุปมาสาธกธรรม โดยที่ได้ตรัสอุปมาไว้ว่าเหมือนอย่างว่า มีที่ลุ่มน้ำมากไปด้วยโคลนตม และมีหมู่เนื้อใหญ่อาศัยอยู่ ได้มีบุรุษที่มุ่งร้ายได้เปิดทางให้เนื้อออกมา อันเป็นทางทำลาย และใช้เนื้อต่อตัวผู้ เนื้อต่อตัวเมีย สำหรับที่จะล่อหมู่เนื้อใหญ่ให้ออกมาจากที่อาศัย มาตามทางที่ต้องการจะทำลายเนื้อ ฝ่ายฝูงเนื้อใหญ่ก็ถูกล่อออกมา โดยเนื้อต่อตัวผู้เนื้อต่อตัวเมีย มาตามทางที่นายพรานเปิดให้ออกนั้น จึงถูกทำลายให้ลดน้อยลงไปโดยลำดับ แต่ก็ได้มีบุรุษผู้มุ่งดีได้เปิดทางอันเกษมสำหรับให้เนื้อออก และเมื่อเนื้อได้ออกตามทางอันเกษมที่บุรุษผู้มุ่งดีเปิดเอาไว้ หมู่เนื้อก็มีความเจริญขึ้น
นันทิราคะ อวิชชา
เมื่อได้ตรัสเป็นนิทานขึ้นมาดั่งนี้ ก็ได้ทรงสาธกด้วยธรรมะ ทรงชี้ว่า
ที่ลุ่มน้ำอันมีเปือกตมเป็นอันมากนั้นก็ได้แก่กามคุณารมณ์ คืออารมณ์ที่ประกอบไปด้วยกามคุณ อันได้แก่รูป เสียง กลิ่นรส โผฏฐัพพะสิ่งถูกต้อง ที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจทั้งหลาย เทียบกับที่ลุ่มน้ำอันประกอบด้วยเปือกตมเป็นอันมาก ฝูงเนื้อใหญ่ที่อาศัยอยู่ในที่ลุ่มน้ำนั้น ก็ได้แก่หมู่สัตว์คือหมู่ชนเป็นอันมากในโลกนี้ และบุรุษผู้มุ่งร้ายคือพรานที่ต้องการทำลายเนื้อ ก็ได้แก่มารผู้มุ่งร้าย เนื้อต่อตัวผู้ก็ได้แก่ นันทิราคะ ความติดใจกำหนัดยินดี ด้วยอำนาจของความเพลิดเพลินในกามคุณารมณ์นั้น เนื้อต่อตัวเมียก็ได้แก่ อวิชชา คือความไม่รู้ในสัจจธรรม ธรรมะที่เป็นตัวความจริง
หนทางที่ผิดซึ่งนายพรานต้องการให้เนื้อออกมาเพื่อทำลายนั้น ก็ได้แก่มิจฉามรรค มรรคคือทางที่ผิด มีองค์ ๘ อันได้แก่ มิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิด มิจฉาสังกัปปะ ความดำริผิด มิจฉาวาจา เจรจาผิด มิจฉากัมมันตะ การงานผิด ๔ มิจฉาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตผิด มิจฉาวายามะ เพียรพยายามผิด มิจฉาสติ ระลึกผิด มิจฉาสมาธิ ตั้งใจผิด
ส่วนบุรุษผู้มุ่งดีซึ่งเปิดทางอันเกษมสำหรับช่วยเนื้อหมู่ใหญ่ทั้งหลาย ก็คือตถาคต ก็คือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และหนทางอันเกษมที่บุรุษผู้มุ่งดีเปิดให้หมู่เนื้อออกมานี้ ก็ได้แก่สัมมามรรคคือทางอันชอบมีองค์ ๘ อันได้แก่ สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ สัมมาวาจา เจรจาชอบ สัมมากัมมันตะ การงานชอบ สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตชอบ สัมมาวายามะ เพียรพยายามชอบ สัมมาสติ ระลึกชอบ สัมมาสมาธิ ตั้งใจชอบ ดั่งนี้
เพราะฉะนั้นจึงได้ทรงสั่งสอนแนะนำให้ผู้มุ่งปฏิบัติธรรมะทั้งหลาย ได้ตั้งใจปฏิบัติตามที่ทรงสั่งสอน ดำเนินในสัมมามรรคคือทางถูกชอบที่ได้ทรงแสดงไว้ เพื่อประสบความสุขสวัสดี ดั่งนี้
มิจฉามรรค สัมมามรรค
เพราะฉะนั้น นิทานสาธกธรรมที่ทรงแสดงนี้ จึงเป็นข้อเตือนใจผู้มุ่งปฏิบัติธรรมทุก ๆ คน ให้พิจารณากำหนดดูให้รู้จัก ว่าอะไรเป็นมิจฉามรรค คือทางผิด อะไรเป็นสัมมามรรค คือทางชอบ และให้พิจารณาดูว่าเมื่อยังมิได้อบรมจิต จิตนี้ก็ย่อมมีที่อยู่อาศัย โดยมากก็คือกามคุณารมณ์ในโลก หรือที่เรียกกันว่าโลกก็คือกามคุณารมณ์ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจทั้งหลาย
จิตมีนันทิราคะคือความติดใจยินดีเพลิดเพลินอยู่ในโลก ก็คือยู่ในกามคุณารมณ์ อาศัยอวิชชาคือความไม่รู้ในสัจจะที่เป็นตัวความจริง ว่านั่นเป็นตัวทุกข์ เป็นตัวเหตุเกิดทุกข์ เพราะฉะนั้น นันทิราคะ ความติดใจยินดีเพลิดเพลินอยู่ในโลก หรือในกามคุณารมณ์ทั้งหลาย จึงเท่ากับเป็นเนื้อต่อ เท่ากับเป็นเนื้อต่อตัวผู้ อวิชชาคือความไม่รู้ในสัจจะที่เป็นตัวความจริง เท่ากับเป็นเนื้อต่อตัวเมีย ซึ่งล่อใจสัตวโลกนี้ให้ติดใจยินดีอยู่ในที่ลุ่มน้ำ อันประกอบด้วยเปือกตม และดำเนินไปในทางที่ผิด อันเป็นมิจฉามรรค เพราะฉะนั้น จึงเป็นการดำเนินไปในทุกขสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ จึงต้องประสบความทุกข์ต่างๆ ไม่พ้นทุกข์ทุกข์ไปได้ ต่อเมื่อได้มากำหนดให้รู้จักตัวนันทิราคะในจิตใจนี้ คือความติดใจยินดีเพลิดเพลิน กับทั้งอวิชชาคือความไม่รู้ในสัจจะที่เป็นตัวความจริง ว่าเป็นเหมือนอย่างเนื้อต่อ ซึ่งล่อจิตใจอันนี้ให้ติดให้เพลิดเพลิน อยู่ในห้วงของความทุกข์ต่างๆ ไม่ให้สลัดออกได้ และให้ดำเนินไปในทางที่ผิด อันเป็นทุกขสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ จึงต้องประสบความทุกข์
เพราะฉะนั้น ก็ให้กำหนดรู้ว่านี่ก็คือเครื่องมือของมารอันเป็นผู้มุ่งร้าย และมารนั้นโดยตรงก็ได้แก่กิเลสมาร มารคือตัวกิเลสนี้เอง ซึ่งเป็นเครื่องส่งนันทิราคะกับอวิชชาเข้ามากำกับจิตใจ ล่อจิตใจอันนี้ให้หลงติดยินดีเพลิดเพลิน ดำเนินไปในทางแห่งความทุกข์ ในเหตุแห่งทุกข์ ให้ต้องประสบทุกข์ ส่วนพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประกอบด้วยความมุ่งดี มุ่งที่จะช่วยปลดเปลื้องหมู่เนื้อหมู่ใหญ่คือสัตวโลกนี้ให้พ้นจากความทุกข์ จึงได้ทรงเปิดทางที่ดีไว้สำหรับให้ดำเนิน คือมรรคมีองค์ ๘ เพราะฉะนั้นก็ให้ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนและปฏิบัติในทางมรรคมีองค์ ๘ ที่ได้ตรัสแสดงไว้ และก็ปฏิบัติตามที่ได้ทรงปฏิบัติมาแล้วที่ตรัสสั่งสอนเอาไว้
การปฏิบัติน้อมไปในกุศลวิตก
การปฏิบัติในสติปัฏฐานก็เป็นการหัดปฏิบัติส่งจิตน้อมไปในกุศลวิตก คือความตรึกนึกคิดที่เป็นกุศลนั้นเอง ดังที่ได้กล่าวแล้ว ซึ่งในเบื้องต้นก็จะต้องคอยปรามจิต อุดหนุนจิต ที่ให้ดำเนินวิตก คือความตรึก วิจารคือความตรอง ไปในสติปัฏฐานที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน กำหนดลมหายใจเข้าออก ทำความรู้ในอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน ทำความรู้ในอิริยาบถปลีกย่อย มีก้าวไปข้างหน้า ถอยไปข้างหลังเป็นต้น ให้วิตกคือตรึก วิจารคือตรอง ไปในกุศลวิตกเหล่านี้ และเมื่อทำได้ดีแล้วก็สงบเข้ามากำหนดจิตอยู่ในภายใน ให้รู้ว่าธรรมเหล่านี้มีอยู่ เมื่อเป็นกายก็กายมีอยู่ เวทนาก็เวทนามีอยู่ จิตก็จิตมีอยู่ ธรรมะก็ธรรมะมีอยู่ นั่งสงบอยู่ในภายใน ด้วยความรู้อยู่ในภายใน เมื่อเป็นดั่งนี้แล้ว สมาธิก็จะเจริญขึ้นเป็นทางแห่งปัญญาสืบต่อไป
ต่อจากนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป