แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
ในพรรษกาลนี้ก็จะอธิบายโดยยึดหลักปฏิบัติในสติปัฏฐาน และก็เริ่มต้นตามหลักปฏิบัติในสติปัฏฐานตามเคย และก็จะได้แทรกอธิบายกรรมฐาน ที่พระพุทธเจ้าผู้พระบรมศาสดาได้ทรงสอนไว้เองจากพระสูตรต่างๆ ตามสมควร และในวันเริ่มต้นแห่งเทศกาลเข้าพรรษานี้ก็จะได้เริ่มด้วย หลักเบื้องต้นที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสอนเอาไว้ให้ปฏิบัติทำหลักเบื้องต้นสองข้อให้บริสุทธิ์ ข้อที่ ๒ ก็คือทิฏฐิความเห็นที่ตรง
ความเป็นผู้มีศีลที่บริสุทธิ์ดี และความเป็นผู้มีความเห็นที่ตรง ๒ ข้อนี้เป็นหลักที่ตรัสสอนให้ปฏิบัติให้บริสุทธิ์ เป็นเบื้องต้นในกุศลธรรมทั้งหลาย เพราะว่า ๒ ข้อนี้ได้ตรัสว่าเป็น เบื้องต้นของกุศลธรรมทั้งหลาย เพราะฉะนั้นผู้ปฏิบัติธรรมในพุทธศาสนา จะเป็นคฤหัสถ์หรือบรรพชิตก็ตาม จะเป็นชายหรือหญิงก็ตาม ก็พึงตั้งใจปฏิบัติทำศีลของตนให้บริสุทธิ์ให้ดี และปฏิบัติทำความเห็นของตนให้ตรงต่อธรรมที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอน
การปฏิบัติทำศีลให้บริสุทธิ์
การปฏิบัติทำศีลให้บริสุทธิ์ให้ดี ข้อที่ ๑ นั้น ในเบื้องต้นก็ให้ตั้งใจสมาทานศีลขึ้นก่อน ผู้ที่บวชเป็นภิกษุสามเณรศีลก็มาด้วยการบวช ฝ่ายคฤหัสถ์ ศีลก็มาด้วยการตั้งใจสมาทาน จากภิกษุสามเณร หรือว่าตั้งใจสมาทานศีลขึ้นด้วยตนเอง และศีลที่ตั้งใจปฏิบัติด้วยการบวช หรือด้วยการสมาทานดังกล่าว ก็มีข้อของศีล ดังที่เรียกกันว่าศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ หรือว่าเรียกอย่างอื่นตามข้อของศีล หรือตามอาการของศีล และศีลที่มีข้อหรือมีอาการดังกล่าวก็เป็นไปตามพระบัญญัติของพระพุทธเจ้า ที่ได้ทรงบัญญัติไว้ ศีล ๕ ก็ทรงบัญญัติไว้ เป็นสิกขาบท ๕ ข้อ ศีล ๘ ก็เป็นพระบัญญัติที่ทรงบัญญัติไว้ ๘ ข้อ ดั่งนี้เป็นต้น
และ เมื่อประมวลเข้ามาให้มีลักษณะเพียงอันเดียว ก็คือความปรกติ คือความปรกติกาย ปรกติวาจา ปรกติใจ อันบังเกิดขึ้นจากความตั้งใจสำรวม อันเรียกตามศัพท์แสงว่าสังวรกายวาจาใจให้เป็นปรกติ คือไม่ถูกกิเลสกองโลภ กองโกรธ กองหลงต่างๆ ดึงจิตใจไปให้วิปริตผิดปรกติ จนถึงละเมิดออกไปทางไตรทวารคือกายวาจาใจ ดังที่ปรากฏเป็นความประพฤติทางกายทางวาจาทางใจต่างๆ ตามอำนาจของโลภโกรธหลง ฉะนั้นความที่จะปฏิบัติทำศีลให้บริสุทธิ์ดีได้ ก็จะต้องมีความสังวรสำรวมกายวาจาใจ ให้เป็นปรกติเป็นอันดี สงบ รำงับ กิเลสกองโลภ กองโกรธ กองหลง ต่างๆ ดั่งนี้ จึงเป็นศีลที่บริสุทธิ์ดี ซึ่งมีลักษณะเป็นอันเดียว คือความเป็นปรกติ หรือความปรกติกายวาจาใจ ความสงบกายวาจาใจ เป็นลักษณะที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวของศีล ศีลจึงบริสุทธิ์ดี
ทิฏฐิความเห็นที่ตรง
และก็จะต้องมีความเห็นที่ตรง ตรงต่อธรรมะคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า และตรงต่อศีล ตรงต่อธรรมที่เป็นตัวความจริง อันมีอยู่ในตน อันจะทำให้เป็นผู้มีกายวาจาใจที่ตรง ตรงต่อคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ตรงต่อความถูกต้องอันเป็นตัวความจริง ก็คือถูกต้องจริง ความเห็นนี้สำคัญมาก หากมีความเห็นไม่ตรงก็จะเป็นความเห็นผิด ทำให้ปฏิบัติผิด ต่อเมื่อมีความเห็นตรง ตรงต่อคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ตรงต่อความถูกต้องจริง จึงจะทำให้ปฏิบัติถูก และความเห็นที่ตรงนี้ก็เป็นสัมมาทิฏฐิคือความเห็นชอบ ทำให้ปฏิบัติชอบ ฉะนั้นทั้ง ๒ ข้อนี้จึงเป็นเบื้องต้นของกุศลธรรมทั้งหลายที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอนเอาไว้ ให้ปฏิบัติธรรมข้อเบื้องต้นทั้งสองนี้ให้บริสุทธิ์ คือให้เป็นผู้มีศีลที่บริสุทธิ์ดี และให้เป็นผู้มีความเห็นตรง
สติ สัมปชัญญะ
และก็ได้ตรัสสอนให้เป็นผู้มี สติ คือความระลึกได้ และมี สัมปชัญญะ คือความรู้ตัว
สติคือความระลึกได้ที่ตรัสสอนไว้ก็คือให้ปฏิบัติทำสติความระลึกไป ในสติปัฏฐานที่ตั้งของสติทั้ง ๔ คือ กาย เวทนา จิต ธรรม
ส่วนสัมปชัญญะคือความรู้ตัว ก็ตรัสสอนให้ปฏิบัติทำความรู้ตัวในอิริยาบถของร่างกายทั้งหลาย คือให้มีความรู้ตัวในการก้าวไปข้างหน้า ในการถอยมาข้างหลัง ในการแล ในการเหลียว ในการที่คู้อวัยวะร่างกายเข้ามา ในการที่เหยียดอวัยวะร่างกายออกไป ในการนุ่ง ในการห่มต่างๆ ในการกิน การดื่ม การเคี้ยว การลิ้มต่างๆ ในการขับถ่ายต่างๆ ในการเดิน ในการยืน ในการนั่ง ในการนอน ในการหลับ ในการตื่น ในการพูด ในการนิ่ง ให้มีสัมปชัญญะคือความรู้ตัวอยู่
ที่ตั้งของสติทั้ง ๔
และพระพุทธองค์ได้ตรัสสอนให้ปฏิบัติตั้งสติ ในที่ตั้งของสติทั้ง ๔ คือ กาย เวทนา จิต ธรรม ไว้เป็นอันมาก และก็ได้ตรัสเอาไว้ว่า บรรดาผู้เข้ามาใหม่คือนวกภิกษุทั้งหลาย ก็หมายถึงผู้ที่ปฏิบัติใหม่ฝ่ายฆราวาสทุกท่านด้วย ให้ปฏิบัติตั้งสติในสติปัฏฐานทั้ง ๔ เพื่อให้มีความหยั่งรู้ในกายเวทนาจิตธรรมทั้ง ๔ นี้
และทั้งได้ตรัสเอาไว้ว่า แม้พระอรหันต์ขีณาสพผู้สิ้นอาสวะกิเลสแล้ว ก็พึงปฏิบัติในสติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้ด้วย เพื่อที่จะได้พรากจิตออกได้จากกายเวทนาจิตธรรม ซึ่งอันที่จริงท่านก็พรากจิตออกได้แล้ว แต่เมื่อปฏิบัติพรากจิตจากกายเวทนาจิตธรรมอยู่ในปัจจุบันอีกด้วย ก็ย่อมจะทำให้ได้ความอยู่เป็นสุขในปัจจุบันยิ่งขึ้น เป็นการพักจิต อยู่ด้วยสติที่กำหนดในกายเวทนาจิตธรรม
และก็ได้ตรัสสอนเอาไว้ว่า เมื่อปฏิบัติธรรมข้อเบื้องต้นทั้งสอง คือให้มีศีลที่บริสุทธิ์ดี และให้มีความเห็นตรง ก็ตั้งอยู่ในศีล อาศัยศีลปฏิบัติทำสติในสติปัฏฐานทั้ง ๔ ดังกล่าวนั้น ในข้อนี้เป็นข้อที่ทั้งผู้เข้ามาใหม่ทั้งผู้เข้ามาเก่าพึงปฏิบัติในทางเดียวกัน ( เริ่ม)...ที่ตรัสสอนระบุถึงภิกษุใหม่ให้ปฏิบัติในสติปัฏฐาน และที่ตรัสไว้ว่าแม้พระอรหันต์ขีณาสพทั้งหลาย ก็ให้ปฏิบัติในสติปัฏฐาน ก็เป็นอันสรุปว่าทั้งผู้ปฏิบัติเก่ามาแล้ว ทั้งผู้ที่เข้ามาปฏิบัติใหม่ ก็พึงปฏิบัติในสติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้ได้ด้วยกัน
และในข้อนี้ก็พึงทำความเข้าใจเพิ่มเติมอีกว่า การปฏิบัติทำสตินี้เป็นสิ่งสำคัญ เพราะสติคือความระลึก หากระลึกไปถูกต้องก็เป็นสัมมาสติคือความระลึกชอบ หากระลึกไปผิดก็เป็นมิจฉาสติคือระลึกผิด ฉะนั้น คำว่าสติคือความระลึกได้นี้จึงเป็นคำกลางๆ เป็นสัมมาสติ ระลึกชอบก็ได้ เป็นมิจฉาสติ ระลึกผิดก็ได้ แต่ว่าโดยมากเมื่อกล่าวว่าสติก็มักจะหมายถึงสัมมาสติคือระลึกชอบ จนเป็นที่เข้าใจกันว่าเมื่อพูดว่าสติ ก็เป็นความระลึกชอบ แต่อันที่จริงนั้นเป็นคำกลางๆ หากระลึกผิดก็เป็นมิจฉาสติ ระลึกชอบระลึกถูกจึงจะเป็นสัมมาสติ
จิต อารมณ์
ก็จิตนี้เองเป็นผู้ระลึก และความระลึกก็ระลึกด้วยจิตนี้เอง ฉะนั้น สติจึงเนื่องด้วยจิต และเมื่อพูดถึงจิต อันหมายถึงจิตใจตามที่เข้าใจกันนี้ ก็ควรจะพูดถึง อารมณ์ คำว่าอารมณ์นั้นได้แก่เรื่องที่จิตคิด ดำริ หรือว่าหมกมุ่นครุ่นคิดถึง ในภาษาไทยบางทีเข้าใจกันว่าหมายถึงตัวจิตเอง ถ้าจิตดีก็มักจะว่ามีอารมณ์ดี จิตไม่ดีก็มักจะว่ามีอารมณ์ร้ายหรือมีอารมณ์ไม่ดี จนเป็นที่เข้าใจกันโดยมากว่าอารมณ์เป็นอาการของจิตที่ดีหรือไม่ดีดังกล่าวนั้น
แต่อันที่จริงนั้นคำว่าอารมณ์มิได้หมายถึงตัวอาการของจิตโดยตรง แต่หมายถึงตัวเรื่อง เรื่องที่จิตคิด เรื่องที่จิตดำริ เรื่องที่จิตหมกมุ่นถึง เพราะฉะนั้น สติคือความระลึกได้นี้ก็คือ ระลึกไปในเรื่องอันเรียกว่าอารมณ์ดังกล่าวนั้นเอง หากว่าระลึกไปในอารมณ์อันเป็นที่ตั้งของกิเลสกองโลภ กองโกรธ กองหลง หรือของราคะโทสะโมหะ กิเลสก็บังเกิดขึ้นเป็นราคะความติดใจยินดี โทสะความโกรธแค้นขัดเคือง โมหะความหลง
อันกิเลสคือ ราคะ โทสะ โมหะ เหล่านี้เองเป็นอาการของจิต คือจิตที่มีอาการเป็นความติดใจยินดี เป็นความชอบใจก็เป็นราคะ เมื่ออยากได้ก็เป็นโลภะ จิตมีอาการขุ่นมัวขึ้งเคียดขัดเคืองโกรธแค้น ก็เป็นโทสะ จิตมีอาการง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม ฟุ้งซ่านรำคาญ เคลือบแคลงสงสัยต่างๆ ก็เป็นโมหะ เพราะฉะนั้น เมื่อสติระลึกไปในอารมณ์อันเป็นที่ตั้งของกิเลสเหล่านี้ จึงบังเกิดกิเลสเหล่านี้ขึ้นในจิต
นิวรณ์ อาการของกิเลส
พระพุทธเจ้าจึงได้ทรงแสดงอาการที่เป็นกิเลสเหล่านี้อันบังเกิดขึ้นในจิต เรียกว่า นิวรณ์ อันแปลว่าเป็นเครื่องกั้นจิตเอาไว้มิให้สงบ และทำให้ตัวปัญญาคือความรู้อ่อนกำลัง กำบังปัญญามิให้บังเกิดขึ้น และก็แสดงนิวรณ์เอาไว้เป็น ๕ ข้อ คือ กามฉันท์ ความพอใจรักใคร่อยู่ในกาม คือสิ่งที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจ อันได้แก่รูปหรือเสียงหรือกลิ่นหรือรสหรือโผฏฐัพพะสิ่งถูกต้อง ที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจต่างๆ หรือว่าโดยอำนาจของกามคือตัวความใคร่ความปรารถนา พยาบาท ความกระทบกระทั่งขัดเคืองโกรธแค้นมุ่งร้ายหมายล้างผลาญถีนมิทธะ ความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม อุทธัจจะกุกกุจจะ ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ และ วิจิกิจฉา ความเคลือบแคลงสงสัย
กุศลราศรี อกุศลราศรี
ตรัสว่าเหล่านี้เป็น อกุศลราศรี อันแปลว่ากองแห่งอกุศลอันบังเกิดขึ้นในจิต
คำว่า ราศี นี้ภาษาไทยเรามักเข้าใจกันอีกอย่างหนึ่ง ดังที่กล่าวกันว่ามีสง่าราศรี อันหมายในทางดี หรือมีราศรีผ่องใส มีราศรีเศร้าหมอง แต่คำว่า ราศรี นี้อันที่จริงแปลว่า กองถ้าเป็นกองของอกุศลก็เรียกว่า อกุศลราศรี
แล้วก็ได้ตรัสชี้เอาว่า เมื่อนิวรณ์เหล่านี้บังเกิดขึ้นในจิต ก็ชื่อว่ามีอกุศลราศรีอยู่ในจิต เมื่ออกุศลราศรีมีอยู่ในจิตก็ย่อมแสดงออกมาทางกายได้ ปรากฏเป็นความเศร้าหมองไม่ผ่องใส ก็เป็นอันว่าราศรีไม่ดี ส่วนผู้ที่ปฏิบัติทำสติ คือความระลึกไปในอารมณ์ คือเรื่องอันเป็นที่ตั้งของกุศลธรรมทั้งหลาย คือใน กาย เวทนา จิต ธรรม ตามที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอนเอาไว้ สติคือความระลึกได้ก็เป็นสัมมาสติ และอารมณ์คือกายเวทนาจิตธรรม อันเป็นที่ตั้งของสติคือความระลึกได้นี้ ก็รวมกันเป็นกุศล ก็เป็นอันว่ามีกุศลราศรี กองแห่งกุศลตั้งขึ้นในจิต จิตก็ผ่องใส เมื่อจิตผ่องใส ความผ่องใสก็ปรากฏออกมาทางกาย หน้าตาก็ผ่องใสเป็นต้น ก็เป็นอันว่าราศรีดี
เพราะฉะนั้นจึงได้ตรัสสอนมิให้ส่งจิตระลึกไปในอารมณ์อันเป็นที่ตั้งของนิวรณ์ทั้งหลาย เป็นต้นว่าในกามคุณารมณ์ต่างๆ คืออารมณ์ที่เป็นฝ่ายกามคุณ อันได้แก่เรื่องรูป เรื่องเสียง เรื่องกลิ่น เรื่องรส เรื่องโผฏฐัพพะ ที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจทั้งปวง
เขตของพระพุทธบิดา
และก็ได้ตรัสสอนไว้ด้วยว่า เมื่อส่งจิตให้ระลึกไปในกามคุณารมณ์ดังกล่าว ก็ชื่อว่าระลึกไปนอกวิสัยนอกเขตของพระพุทธบิดา มารผู้มุ่งร้ายคือกิเลสก็ย่อมจะจับจิตใจที่ส่งออกไปนี้ไว้ได้ และเข้ามาสู่จิตได้ เพราะฉะนั้นจึงควรส่งจิตให้ระลึกไปใน กาย เวทนา จิต ธรรม อันชื่อว่าเป็นวิสัยเป็นเขตของพระพุทธบิดาที่ทรงสั่งสอนไว้ เมื่อเป็นดั่งนี้ก็จะพ้นจากอำนาจของกิเลสมาร มารก็จับจิตวิ่งเข้าสู่จิตมิได้
และในตอนนี้พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงเป็นเรื่องนิทานสาธกธรรมะเปรียบเทียบไว้ว่า นกมูลไถก็ร้องคร่ำครวญขึ้นว่า ที่ถูกนกเหยี่ยวจับได้นี้ก็เพราะว่าบินออกนอกเขตของตน ถ้าหากว่าอยู่ในเขตของตนคือก้อนดินไถนาของชาวนานั้นแล้ว นกเหยี่ยวก็ไม่สามารถที่จะจับได้
ฝ่ายนกเหยี่ยวมีความคำแหงในกำลังของตน จึงได้กล่าวว่าเจ้าจะอยู่ที่ไหนเราก็จับได้ทั้งนั้น จึงได้ปล่อยนกมูลไถไป นกมูลไถก็กลับไปจับอยู่บนก้อนดินไถนาของชาวนา แล้วก็ร้องบอกแก่นกเหยี่ยวว่าพร้อมแล้ว ฝ่ายนกเหยี่ยวซึ่งมีความคำแหงเหิมในกำลังของตน จึงได้โฉบลงไปโดยแรง ยังนกมูลไถที่จับอยู่ที่ก้อนดินนั้น นกมูลไถก็หลบเข้าไปในระหว่างก้อนดินทันที ฝ่ายนกเหยี่ยวที่โฉบลงมาโดยแรงก็มากระทบกับก้อนดินโดยแรงต้องเป็นอันตรายไปเอง ดั่งนี้
พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงนิทานสาธกธรรมดั่งนี้ จึงได้ตรัสสั่งสอนว่า เธอทั้งหลายอย่าได้ส่งจิตท่องเที่ยวออกไปนอกเขตของพระพุทธบิดา คืออย่าส่งจิตให้ท่องเที่ยวไปในกามคุณารมณ์ทั้งหลาย เพราะถ้าส่งจิตให้ท่องเที่ยวไปในกามคุณารมณ์ทั้งหลาย ก็จะเป็นอย่างนกมูลไถ ที่ถูกนกเหยี่ยวจับได้ ก็คือมารนั้นเองก็จะจับจิตที่ท่องเที่ยวออกไปนั้นได้ และวิ่งเข้าสู่จิต ก่อให้เกิดอกุศลราศรีต่างๆ ขึ้นในจิต
เพราะฉะนั้นให้เธอทั้งหลายส่งจิตให้ระลึกไป คือท่องเที่ยวไป ในอารมณ์ที่เป็นวิสัยเป็นเขตของพระพุทธบิดา คือสติปัฏฐานทั้ง ๔ คือในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม ดั่งนี้ และเมื่อเป็นดั่งนี้แล้ว มารก็จับจิตนี้ไม่ได้ จิตนี้ก็จะประกอบไปด้วยกุศลราศรีทั้งหลาย จะเจริญด้วยธรรมปฏิบัติทั้งปวง ดั่งนี้
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวด และตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป