แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นพระผู้รู้ พระผู้เห็นธรรมได้ทรงแสดงสั่งสอน เพื่อให้ผู้ฟังได้ปฏิบัติ ทรงชี้ทางปฏิบัติไว้ต่างๆ ตามควรแก่ภูมิชั้นของผู้ปฏิบัติ แต่ว่าแม้จะมีทางที่แสดงต่างๆ แต่ก็รวมอยู่ในทางอันเดียว คือทางที่นำไปสู่ความบริสุทธิ์หมดจด ความล่วงทุกข์โทมนัส บรรลุถึงธรรมะดับกิเลสและกองทุกข์ เป็นอันเดียวกันทั้งหมด และเมื่อมีความเข้าใจแม้ในทางใดทางหนึ่งที่ทรงแสดง เมื่อได้ฟังทางอื่นที่ทรงแสดงอีกปริยายคือทางอันหนึ่ง ก็ย่อมจะเข้าใจได้ และปฏิบัติได้ถูกต้อง ในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ ในมหาสติปัฏฐานสูตร ที่ได้ทรงแสดงอธิบายให้รู้จักทุกข์เป็นต้น ก็ได้ทรงแสดงทางปฏิบัติอันหนึ่ง
สำหรับใน ข้อทุกขสัจจะ นั้น ก็ได้ทรงแสดงเหมือนกันกับที่ทรงแสดงในพระสูตรทั้งปวง เริ่มต้นด้วยทรงแสดงชาติทุกข์ ความเกิดเป็นทุกข์ และย่นย่อลงก็คือขันธ์เป็นที่ยึดถือทั้ง ๕ ประการเป็นทุกข์
ส่วนใน ข้อสมุทัยสัจจะ ก็ทรงแสดงชี้เอาตัณหา คือความดิ้นรนทะยานอยากของใจ ว่าเป็นเหตุแห่งทุกข์ ก็เหมือนกันกับที่ทรงแสดงในที่อื่น แต่ว่าได้ทรงแสดงชี้แจงรายละเอียดออกไป ในข้อที่ทรงตั้งเป็นปัญหาว่า ตัณหาเกิดขึ้นในที่ไหน และก็ได้ทรงแสดงเฉลยว่า เกิดขึ้นที่ สาตะรูป รูปอันเป็นที่สำราญ เกิดขึ้นที่ ปิยะรูป รูปอันเป็นที่รัก ที่ สาตะรูป รูปอันเป็นที่สำราญ และก็ได้ทรงชี้แจงแสดงต่อไปว่าอะไรเป็น ปิยะรูป อะไรเป็น สาตะรูป
ใน ข้อนิโรธสัจจะ สัจจะคือความดับทุกข์ ก็ได้ทรงแสดงชี้เอาว่าคือความดับตัณหาได้สิ้นเชิง ก็เช่นเดียวกับที่ทรงแสดงในที่อื่น แต่ก็ได้ทรงแสดงโดยพิสดารออกไปอีกว่า ตัณหาดับในที่ไหน และก็ได้ตรัสเฉลยว่า ตัณหาก็ดับไปที่ปิยะรูปสาตะรูป รูปเป็นที่รัก รูปเป็นที่สำราญ และก็ได้ทรงแสดงต่อไปว่าอะไรเป็นปิยะรูปสาตะรูป เช่นเดียวกับข้อสมุทัยสัจจะ
ใน ข้อมรรค คือทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ก็ได้ทรงแสดงชี้แจงว่ามรรคที่มีองค์ ๘ มีสัมมาทิฏฐิความเห็นชอบเป็นต้น ก็เช่นเดียวกับที่ทรงแสดงในที่อื่น เพราะฉะนั้น ผู้ศึกษาทางปฏิบัติจึงควรทำความเข้าใจในเรื่องของปิยะรูปสาตะรูปตามสมควร
และโดยที่ได้ใช้คำว่า รูป ก็น่าจะทำให้คิดว่า จะมีความหมาย สิ่งที่เป็นรูป ที่ใช้ในคำว่า รูป ที่คู่กับ นาม คือ นามรูป คือหมายรูปกายส่วนที่เป็นวัตถุประกอบด้วยธาตุดินน้ำไฟลมเท่านั้น แต่เมื่อได้ฟังรายละเอียดที่ทรงชี้แจงแสดงว่าอะไรคือปิยะรูปสาตะรูป ก็ย่อมจะได้ความเข้าใจว่า คำว่า รูป ในที่นี้มิได้หมายถึงจำเพาะรูปกายที่เป็นวัตถุเท่านั้น แต่ว่าหมายถึงนาม ในคำว่านามรูป คือทั้งรูปทั้งนาม คือทั้งกายทั้งใจ หรือว่าขันธ์ ๕ ทั้งหมด อันเป็นที่รักเป็นที่สำราญ ก็เรียกว่า ปิยะรูป สาตะรูป ทั้งหมด เพราะฉะนั้นคำว่า รูป ในที่นี้ จึงมีความหมายเหมือนอย่างคำว่า สิ่ง คือสิ่งที่เป็นที่รัก สิ่งที่เป็นที่สำราญ คือเป็นที่ชอบใจพอใจ แม้ว่าจะเป็นนามธรรมก็เรียกว่า สิ่ง ได้เหมือนกัน
และปิยะรูปสาตะรูปนี้ หากจะพิจารณาโดยแนวธรรมะที่อนุสนธิ คือเชื่อมต่อกัน ก็จะเห็นได้ว่า เป็นอรรถาธิบายที่สืบเนื่องมาจากอุปาทานขันธ์ คือขันธ์เป็นที่ยึดถือ ที่ตรัสว่ากล่าวโดยย่อ ขันธ์ เป็นที่ยึดถือทั้ง ๕ ประการ เป็นทุกข์ ก็คือ รูปขันธ์ กองรูป เวทนาขันธ์ กองเวทนา สัญญาขันธ์ กองสัญญา สังขารขันธ์ กองสังขาร วิญญาณขันธ์ กองวิญญาณ ขันธ์เป็นที่ยึดถือทั้ง ๕ ประการ อันเรียกอุปาทานขันธ์ เป็นทุกข์ โดยย่นย่อ คือทุกข์ทั้งหมดนั้นก็รวมอยู่ที่ขันธ์เป็นที่ยึดถือทั้ง ๕ ประการนี้
แต่ว่าในข้อที่ทรงอธิบายโดยเรียกเป็น ปิยะรูปสาตะรูป ก็จำแนกออกไปโดยพิสดาร ก็จำแนกขันธ์ ๕ นี้เองออกไปโดยพิสดาร และก็ได้ทรงจำแนกออกไปโดยลำดับแห่งความเกิดขึ้นก่อนและหลัง และทรงแสดงเป็นปัจจุบันธรรม คือธรรมะที่เป็นปัจจุบัน คือสิ่งที่เป็นไปอยู่เป็นปัจจุบันนี้เอง โดยจับให้พิจารณาถึงความเป็นไป ของกระบวนแห่งกายและใจ ที่ประกอบกันอยู่โดยปรกติ และก็แสดงกิเลสแทรกเข้ามาที่กายและใจอันนี้ เป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่า กิเลสก็เกิดขึ้น ตั้งอยู่ที่กายและใจอันนี้ ในข้อที่เป็นสมุทัย คือเหตุให้เกิดทุกข์ และในข้อนิโรธ คือดับทุกข์ ก็ทรงจำแนกเช่นเดียวกัน ว่า เมื่อกิเลสดับ ก็ดับที่กายที่ใจอันนี้นั่นเอง
ในข้อนี้อาจจะเทียบได้กับสิ่งที่เป็นเชื้อไฟ และตัวไฟ สิ่งที่เป็นเชื้อไฟนั้น เช่นท่อนไม้แห้ง หรือกองหญ้า ก็เป็นที่เกิดขึ้นตั้งอยู่ของไฟ ไฟที่ติดขึ้น ก็ติดขึ้นที่เชื้อของไฟเหล่านี้ ก็ตั้งอยู่ที่เชื้อของไฟเหล่านี้ และเมื่อไฟดับ ก็ดับที่เชื้อของไฟเหล่านี้นั้นเอง ไม่ใช่ดับที่ไหน
ฉันใดก็ดี กิเลสคือตัณหาที่เกิดขึ้น ก็เกิดขึ้นที่กายและใจอันนี้ และเมื่อดับก็ดับที่กายและใจอันนี้ หรือกล่าวยกเอาอุปาทานขันธ์ ขันธ์เป็นที่ยึดถือ ก็กล่าวได้ว่ากิเลสคือตัณหาก็เกิดขึ้นที่ขันธ์ ๕ อันเป็นที่ยึดถือ ดับไปก็ดับไปที่ขันธ์ ๕ นี้เอง และโดยที่เมื่อมีกิเลสเข้าจับ คือกิเลสขึ้นตั้งอยู่ ขันธ์ก็เป็นอุปาทานขันธ์ ขันธ์เป็นที่ยึดถือ และขันธ์นี้เองก็กลายเป็นอุปาทิ คือเป็นที่ทรงไว้ของใจ และก็เป็นตัวทุกข์ขึ้นมา
เพราะว่าทุกข์นั้นก็มีอุปาทานอุปาทินี้เองเป็นแดนเกิด และเมื่อขันธ์เป็นที่ยึดถือเป็นอุปาทิ เป็นที่เข้าไปทรงไว้ในจิตใจ ก็แปลว่าเป็นที่เกิดขึ้นตั้งอยู่ของตัณหา และก็เป็นทุกข์ขึ้นมา ต่อเมื่อตัณหาดับ ขันธ์ก็ไม่เป็นอุปาทานขันธ์ ขันธ์เป็นที่ยึดถือ แต่ว่าเป็นขันธ์เฉยๆ เหมือนดั่งขันธ์ของพระพุทธเจ้า และของพระอรหันต์ทั้งหลายที่ยังไม่แตกดับ ก็เป็นขันธ์เฉยๆ ไม่เป็นอุปาทานขันธ์ ไม่เป็นอุปาทิ (เริ่ม) ...ไม่เป็นแดนเกิดของทุกข์ ทุกข์จึงดับไปแก่พระพุทธเจ้า และแก่พระอรหันต์ทั้งหลาย
ส่วนความแก่ความเจ็บความตายนั้นก็เป็นธรรมดาของขันธ์นั้นเอง เพราะเมื่อเป็นสังขาร ก็ต้องมีเกิดมีดับเป็นธรรมดา เหมือนอย่างสังขารทั้งปวง แต่ผู้ยึดถือสังขารนี้ไม่มี ผู้ที่ไม่ยึดถือก็ไม่เป็นทุกข์ จึงพ้นทุกข์ แต่เมื่อยังมีผู้ยึดถือสังขารอยู่ เมื่อสังขารแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป ผู้ยึดถือก็ต้องเป็นทุกข์ ไม่พ้นทุกข์
เพราะฉะนั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอนให้รู้จักทุกข์ คือรู้จักที่ตั้งของทุกข์ พร้อมกับตัวความยึดถือ อันสืบเนื่องมาจากตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก เพราะตัณหาเป็นเหตุให้ยึดถือ ว่าเพราะมีตัณหาความดิ้นรนทะยานอยากเป็นเหตุอยู่ ขันธ์จึงเป็นที่ยึดถือ และเป็นอุปาทิเป็นที่เข้าไปทรงไว้แห่งจิตใจ จึงเป็นแดนเกิดของทุกข์ และตัณหานี้ก็เกิดขึ้นตั้งอยู่ที่ขันธ์นี้เอง เหมือนอย่างไฟที่เกิดขึ้นตั้งอยู่ที่เชื้อของไฟ ไม่ได้เกิดขึ้นตั้งอยู่ที่ไหน และเพราะตัณหาที่บังเกิดขึ้นตั้งอยู่ที่ขันธ์ จึงทำให้ขันธ์เป็นที่ยึดถือขึ้นมา และเป็นอุปาทิเข้าไปทรงไว้แห่งจิตใจ ก็คือเข้าไปทรงทุกข์ไว้ ประกอบทุกข์ไว้ในจิตใจ เป็นตัวทุกข์ขึ้นมา
จึงตรัสสอนให้พิจารณาว่า ขันธ์เป็นที่ยึดถือ ซึ่งเป็นอุปาทินี่แหละ คือที่เป็นปิยะรูปสาตะรูป คือเป็นสิ่งที่รักใคร่ เป็นสิ่งที่สำราญบานใจ เมื่อเป็นสิ่งที่รักใคร่ เป็นสิ่งที่สำราญบานใจ ตัณหาจึงบังเกิดขึ้นตั้งอยู่ในสิ่งซึ่งเป็นที่รักใคร่ เป็นที่สำราญเบิกบานใจนี้ อันลักษณะดั่งนี้ก็เป็นลักษณะของคำที่เรียกว่า ราคะ ความติดใจยินดี นันทิ ความเพลิดเพลิน ราคะ ความติดใจยินดีนั้น ก็ทำให้เป็นสิ่งที่เป็นที่รักขึ้นมา ความเพลิดเพลินยินดีนั้นก็ทำให้เป็นสิ่งที่สำราญขึ้นมา คือว่ามีความรักติดใจยินดี และมีความสำราญ คือมีความสุขโสมนัสอยู่ในสิ่งนั้น
อันราคะความติดใจยินดี หรือ ปิยะตา ความเป็นที่รัก และนันทิคือความเพลิดเพลิน หรือว่าความเป็นสิ่งสำราญ หรือว่าความสุขโสมนัสนี้ มีประจำอยู่ในจิตใจของสามัญบุถุชนทั้งหลาย เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่า ปิยะรูป สาตะรูป เป็นบัญญัติธรรมะขึ้นอีกชื่อหนึ่งว่า ปิยะรูป สาตะรูป คือเป็นสิ่งซึ่งเป็นที่รักประกอบด้วยราคะ สิ่งที่เป็นที่สำราญประกอบด้วยนันทิความเพลิดเพลิน หรือสุขโสมนัส สิ่งนี้แหละมีอยู่ในบุคคลทุกๆ คนที่เป็นสามัญบุถุชน และก็ไม่ใช่เป็นสิ่งอื่น แต่ก็เป็นกายและใจนี้เอง ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงจำแนกออกโดยเป็นปัจจุบันธรรม สำหรับให้พิจารณาได้ จับตั้งแต่อายตนะภายใน อายตนะภายนอก และเมื่ออายตนะทั้งสองนี้มาประจวบกันก็เป็นวิญญาณขึ้นมา เริ่มเป็นนามธรรม คือสำเร็จเป็นการเห็น การได้ยิน เป็นการได้ทราบ เป็นการได้รู้ทางมโนคือใจ นี่คือวิญญาณ และเมื่อเป็นวิญญาณขึ้นมา ก็เป็นสัมผัส คือความกระทบ อันหมายความว่าอายตนะภายในภายนอกกับวิญญาณทั้งสามนี้มารวมกันมาประจวบกัน เรียกว่าสัมผัส ความกระทบ โดยตรงก็คือว่าสัมผัสถึงจิตใจ
เมื่อกระทบถึงจิตใจก็เป็นเวทนาขึ้นมา คือกระทบดีก็เป็นสุข กระทบไม่ดีก็เป็นทุกข์ กระทบเป็นกลางๆ ก็เป็นกลางๆ ก็เป็นเวทนาขึ้นมา และเมื่อเป็นเวทนาขึ้นมา ก็ย่อมเป็นสัญญาคือความจำหมาย เมื่อเป็นความจำหมายซึ่งเรียกว่าสัญญา ก็เป็นสัญเจตนาคือความจงใจปรุงคิด ก็จงใจปรุงคิดสิ่งที่จำหมายได้นั่นแหละ จะไปปรุงคิดสิ่งที่จำไม่ได้นั้นหาได้ไม่ จะปรุงคิดได้ก็ในสิ่งที่จำหมายไว้ได้ และเมื่อปรุงคิดไปตัณหาจึงเกิดขึ้นในตอนนี้ และเมื่อตัณหาเกิดขึ้นในตอนนี้ ก็ย่อมจะมีวิตกคือความตรึก วิจารคือความตรองไปต่างๆ ตามอำนาจของตัณหา เพราะฉะนั้น จึงได้ตรัสชี้ลงไปว่าตัณหานั้น ที่เป็นตัว ทุกขสมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์ จึงเกิดขึ้นที่อายตนะภายในอันได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อายตนะภายนอก รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมะคือเรื่องราว ที่วิญญาณ ที่สัมผัส ที่เวทนา ที่สัญญา ที่สัญเจตนานี้เอง และเมื่อเป็นตัณหาขึ้นมา ตัณหาก็เกิดขึ้นที่ตัณหานี้เองด้วย และบังเกิดขึ้นที่วิตกวิจารความตรึกความตรอง
เพราะฉะนั้น ก็ให้จับพิจารณาให้รู้จักว่า อันกายและใจที่ตรัสจำแนกออกไปเป็นปัจจุบันธรรมดังกล่าวนั้น เป็นกระบวนของกายและใจที่เป็นไปอยู่ แต่เมื่อเป็นกายและใจของสามัญบุถุชน ซึ่งยังมีปิยะรูปสาตะรูปฝังอยู่ในจิตใจ เป็นอาสวะอนุสัย อาสวะอนุสัยนี้จึ่งได้กำเริบขึ้นมา ทำให้กระบวนของกายและใจทั้งหมดนี่เป็นปิยะรูปสาตะรูป อันเป็นที่บังเกิดขึ้นตั้งอยู่ของตัณหา เป็นปัจจัยของตัณหาคือความดิ้นรนทะยานอยาก และทั้งตัณหาเองก็เป็นปัจจัยของตัณหาความดิ้นรนทะยานอยากที่ยิ่งๆ ขึ้นไปด้วย เพราะฉะนั้น จึงเป็นเหมือนอย่างไฟบังเกิดขึ้นที่เชื้อของไฟดังกล่าวนั้น
คราวนี้ในด้านดับก็เช่นเดียวกัน เมื่อได้มากำหนดพิจารณาให้รู้จักทุกข์ตามที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอน รวมเข้าก็คือว่าขันธ์เป็นที่ยึดถือ เป็นตัวทุกข์ ขันธ์นั้นก็เป็นขันธ์ แต่เมื่อมีความยึดถือเพราะอำนาจของตัณหา ความดิ้นรนทะยานอยากอันสืบมาจากอวิชชาคือความไม่รู้ ยึดถือว่าเป็นตัวเราของเรา ขันธ์ก็เป็นอุปาทิขึ้นมา เป็นที่เข้าไปทรงทุกข์เอาไว้ เป็นแดนเกิดของทุกข์ จึงเป็นทุกข์ขึ้นมา ทุกข์ต่างๆ ตามที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสชี้เอาไว้ก็เพราะเหตุนี้ และเมื่อมากำหนดดูให้รู้จักที่ตั้งของทุกข์เหล่านี้ คือขันธ์ที่ตรัสสอนไว้เนืองๆ ที่ตรัสสอนให้พิจารณาให้เห็นเกิดเห็นดับ
ดังแนวสติปัฏฐานที่ตั้งสติกำหนดฐานทั้ง ๔ กาย เวทนา จิต ธรรม เป็น ๒ ชั้น ชั้นแรกก็คือว่ากายเวทนาจิตธรรมมีอยู่ มีอยู่ในสติไม่ได้มีอยู่ในที่ไหน เพราะอันที่จริงนั้น กายเวทนาจิตธรรมนั้น ก็มีอยู่ตามธรรมชาติตามธรรมดา แต่ว่าสำหรับที่มีอยู่ในทางปฏิบัตินั้น หมายความว่ามีอยู่ในสติ คือสติกำหนดให้ ..ให้เห็นให้รู้ว่ามีอยู่ กายมีอยู่ เวทนาจิตธรรมมีอยู่ ให้เห็นว่ามีอยู่ดั่งนี้ก็เป็นสติปัฏฐานขั้นสมถะ และเมื่อมองเห็นความเกิดความดับของกายเวทนาจิตธรรม สติปัฏฐานก็เลื่อนขึ้นเป็นโพชฌงค์เป็นวิปัสสนา และเป็นมรรคต่อไป เมื่อเห็นเกิดเห็นดับดั่งนี้ก็เป็นสติปัฏฐานเต็มขั้น ตัณหาจึงไม่เกิดขึ้นไม่ตั้งอยู่ในสิ่งที่ดับ เพราะไม่มีอะไรจะตั้ง ตัณหาจะเกิดขึ้นตั้งอยู่นั้น ก็เกิดขึ้นตั้งอยู่ในสิ่งที่เกิด และตั้งอยู่ดำรงอยู่ แต่เมื่อเห็นเกิดดับ หรือเห็นดับ ตัณหาก็ไม่มีที่ตั้ง ตัณหาก็ต้องดับ จึงดับไปที่ปิยะรูปสาตะรูปนี้เอง
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป