แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
พระพุทธศาสนาสอนให้สังวร คือป้องกันอาสวะทั้งปวง พระพุทธเจ้าทรงได้พระนามว่าผู้สิ้นอาสวะ และพระอรหันต์สาวกทั้งหลายก็ได้นามว่าผู้สิ้นอาสวะ จากคำภาษาบาลีว่าขีณาสวะ ที่แปลว่าผู้สิ้นอาสวะแล้ว คำว่าอาสวะนี้ก็เป็นกิเลสชนิดที่ละเอียดซึ่งดองจิตสันดานของสัตว์บุคคลทั้งหลายอยู่ทั่วหน้า เมื่อยังละไม่ได้ก็เรียกว่าเป็นบุถุชนอันแปลว่าคนหนา ซึ่งมีความหมายว่ามีกิเลสหนาแน่นอยู่ก็ได้ หมายความว่าจำนวนมากก็ได้
บุถชนคนหนา
และบุถุชนนั้นเมื่อยังเป็นผู้มีกิเลสหนาแน่นมาก จนถึงไม่รู้จักบาปบุญคุณโทษ ประโยชน์ มิใช่ประโยชน์ ประกอบกรรมที่ชั่วช้าลามกอยู่เป็นอาจิณ ก็เรียกว่า อันธพาลบุถุชน คือบุถุชนคนมีกิเลสหนาแน่นที่เป็นผู้โง่เขลาเหมือนอย่างคนตาบอด ก็คือขาดปัญญาเอาเสียจริงๆ ไม่มองเห็นบาปบุญคุณโทษประโยชน์ไม่ใช่ประโยชน์อะไร คนที่เขลาปัญญาจริงๆ ไม่มองเห็นบาปบุญคุณโทษประโยชน์มิใช่ประโยชน์ดังกล่าวนี้ จึงประกอบอกุศลกรรมต่างๆ อยู่เป็นอาจิณ ก็เรียกว่า อันธพาละ หรืออันธพาล
คำว่าพาลนั้น ภาษาไทยมักจะเข้าใจกันว่าคนที่เกเร ประพฤติไม่ดี หาเรื่องทะเลาะเบาะแว้ง ประทุษร้ายบุคคลอื่นอยู่เนืองๆ ก็มักจะเรียกกันว่าพาล ตามศัพท์นั้นพาลแปลว่าเขลา แปลว่าอ่อน แม้เด็กอ่อนที่ยังไม่รู้เดียงสาอะไร บางทีก็เรียกว่า พาลกะ หรือพาลเหมือนกัน แต่ก็ไม่ค่อยใช้เรียกกัน มักจะเรียกมุ่งเอาถึงผู้ที่ควรจะรู้จักบาปบุญคุณโทษประโยชน์มิใช่ประโยชน์ได้บ้าง แต่ก็ไม่รู้ มีจิตใจที่เขลา มืดมิด น้อยหรือมาก ถ้ามากก็เรียกว่าอันธพาล คือมี อันธะ ที่แปลว่าคนบอด คือคนตาบอด เทียบเหมือนอย่างว่าตาบอดมองไม่เห็นอะไร แต่ในที่นี้หมายถึงใจบอด ใจที่มืดมิดไม่มีปัญญาเป็นแสงสว่างที่จะให้มองเห็นอะไร ก็เป็นอันธพาลบุถุชน
คราวนี้เมื่อรู้จักบาปบุญคุณโทษขึ้นบ้าง แต่ว่าก็ยังมืดมิดอยู่เป็นส่วนมาก แม้จะสว่างขึ้นบ้าง เรียกว่ายังมัวๆ ยังมัวมาก พอจะรู้จักบาปบุญคุณโทษอะไรบ้าง แต่ก็ยังละบาปบำเพ็ญบุญ หรือละความชั่วบำเพ็ญความดีไม่ได้ตามสมควร ก็เป็นบุถุชนทั่วๆ ไป ไม่ถึงเป็นอันธพาลดังกล่าว
กัลยาณบุถุชน
ส่วนบุถุชนนั้นเองซึ่งได้สดับตรับฟังธรรมะคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ได้รับคำแนะนำอบรมจากธรรมะคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ได้ปัญญารู้จักบาปบุญคุณโทษ ประโยชน์มิใช่ประโยชน์แจ่มแจ้งขึ้น จนถึงสามารถละบาปบำเพ็ญบุญ หรือละความชั่วบำเพ็ญความดี ละอกุศลบำเพ็ญกุศลขึ้นได้ตามสมควร…(เริ่ม)...ก็เป็นกัลยาณบุถุชน คือเป็นบุถุชนที่เป็นคนดีคนงาม สามารถละอกุศล ละบาปละความชั่วกระทำความดีได้ ตั้งอยู่ในศีลธรรม หรือปฏิบัติศีลสมาธิปัญญาได้มากขึ้นๆ ก็เป็นกัลยาณบุถุชนที่ดีขึ้นๆ ไปโดยลำดับ จนถึงปัญญานี้เองแจ่มแจ้งขึ้น ประกอบด้วยศีล ประกอบด้วยสมาธิ ทำให้ได้ธรรมจักษุคือดวงตาเห็นธรรม จนถึงกำจัดสัญโญชน์คือกิเลสที่ประกอบอยู่กับจิตใจ ผูกจิตใจอยู่ได้บางส่วนเด็ดขาด ก็เลื่อนขึ้นเป็นอริยบุคคล ละภาวะเป็นบุถุชน และเมื่อละสัญโญชน์ได้หมดสิ้น ก็เป็นอริยบุคคลชั้นสุดยอด ดังที่เรียกว่าพระอรหันต์ หรืออรหันตบุคคล หรือเรียกว่าขีณาสวะผู้สิ้นอาสสวะ เป็นผู้หมดกิจ อยู่จบพรหมจรรย์ในพุทธศาสนา
เสขะ อเสขะ เนวเสขานาเสขะ
และได้มีคำเรียกอีกว่า สำหรับท่านผู้ที่ละสัญโญชน์ได้บางส่วนเด็ดขาด แต่ยังไม่หมดก็เรียกว่า เสขะ ที่แปลว่าผู้ศึกษา หรือแปลว่านักศึกษา เมื่อละสัญโยชน์ได้หมดสิ้นก็เรียกว่า อเสขะ ที่แปลว่าผู้ไม่ต้องศึกษา หรือว่าศึกษาจบแล้ว ไม่ต้องศึกษาอีกต่อไป ส่วนบุถุชนทั้งหมด จะเป็นอันธพาลบุถุชนก็ดี บุถุชนธรรมดาก็ดี กัลยาณบุถุชนก็ดี ซึ่งยังละสัญโยชน์อะไรไม่ได้ เรียกว่า เนวเสขานาเสขะ ที่แปลว่าเป็น เสขะ ก็ไม่ใช่ คือเป็นนักศึกษาก็ไม่ใช่ เป็น อเสขะ คือเป็นผู้จบการศึกษาแล้ว ไม่ต้องศึกษาอีกต่อไปก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นในทางพระพุทศาสนานั้นจึงยังไม่ยอมเรียกบุถุชนว่าเป็นนักศึกษา ต่อเมื่อได้ละสัญโญชน์ได้บางส่วนเด็ดขาดแล้วแต่ยังไม่หมด จึงยอมเรียกว่านักศึกษา จนถึงละได้หมดก็เรียกว่าศึกษาจบ ไม่ต้องศึกษาอีกต่อไป
โสตาปันนะ
และตามที่กล่าวเรียกนี้จึงจับความได้ว่า จะถือว่าเป็นนักศึกษานั้นจะต้องเข้าทางแล้ว การเข้าทางแล้วก็คือว่าต้องเข้ากระแสธรรมแล้ว ผู้ที่เข้ากระแสธรรมแล้วเรียกว่า โสตาปันนะ อันแปลว่าผู้ถึงกระแสธรรมแล้ว เข้ากระแสธรรมแล้วคือว่าเข้าทางแล้ว ไม่ออกจากทางที่ถูกต้องนั้นอีกต่อไป มีแต่จะเดินก้าวหน้าไปสู่ทางอันถูกต้องนั้นยิ่งๆ ขึ้นไป จนถึงที่สุด
และที่ว่าศึกษานั้นโดยตรงก็คือศึกษาปฏิบัติในมรรคมีองค์ ๘ ย่อลงก็เป็นศีลเป็นสมาธิเป็นปัญญานั้นเอง ที่ท่านยังไม่ยอมเรียกบุถุชนว่าเป็นนักศึกษานั้น ก็เพราะว่าบางคราวก็ปฏิบัติอยู่ในศีลในสมาธิในปัญญา คือว่าเข้าทาง แต่บางคราวก็ออกจากทางคือไม่ปฏิบัติอยู่ในศีลในสมาธิในปัญญา หรือปฏิบัติอยู่ในทางแห่งอกุศลทั้งหลาย ดั่งที่เรียกว่าอกุศลกรรมบถ ทางแห่งอกุศล เพราะฉะนั้นจึงไม่เรียกว่าเป็นนักศึกษาที่แท้จริง เพราะยังเข้าทางบ้าง ออกนอกทางบ้าง
ทุกๆ คนเมื่อพิจารณาดูที่ตนก็จะพึงเห็นได้ดั่งนั้น บางคราวก็ปฏิบัติเข้าทางของศีลของสมาธิของปัญญา บางคราวก็ปฏิบัตินอกทางของศีลของสมาธิของปัญญา เป็น อนิยตคือไม่แน่นอนอยู่ดั่งนี้ เพราะฉะนั้นจึงไม่นับว่าเป็นนักศึกษาที่ปฏิบัติอยู่ในศีลในสมาธิในปัญญา อยู่ในทางจริงๆ โดยไม่ออกไปนอกทาง
อาสวะ ๓
ทั้งนี้ก็เพราะว่ายังมีกิเลสหนาแน่น ยังละไม่ได้แม้บางส่วน บรรดากิเลสที่หนาแน่นนั้น ที่ดองจิตสันดานอยู่ก็เรียกว่าอาสวะ ที่แปลว่าดองสันดานก็ได้ เหมือนอย่างของหมักดองทั้งหลาย อันเป็นกิเลสอย่างละเอียด พระพุทธเจ้าได้ตรัสแสดงชี้แจงเอาไว้ให้ทุกๆ คนได้ทราบว่ามีอาสวะคือกิเลสที่ดองสันดานนี้อยู่ แม้ว่าตัวเองจะไม่มองเห็นอาสวะของตัวเองก็ตาม แต่ว่าพระพุทธเจ้าได้ตรัสบอกเอาไว้ว่ามี และก็ทรงชี้ไว้ว่ากิเลสที่ดองสันดานอยู่อันเป็นอย่างละเอียดนี้ แบ่งได้เป็น ๓ คือ
๑.กามาสวะ กิเลสดองสันดานคือ กาม อันได้แก่ความใคร่ความปรารถนา
๒. ภวาสวะ กิเลสดองสันดานคือ ภพ อันได้แก่ความเป็นตั้งต้นแต่ความเป็นเราเป็นของเรา อันเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า อัสมิมานะ ความสำคัญหมายว่าเรามีเราเป็น
๓. อวิชชาสวะ อาสวะคือ อวิชชา อันได้แก่ความไม่รู้ คือไม่รู้ในสัจจะที่เป็นตัวจริง ที่เป็นของจริงเป็นของแท้ ที่เป็นความจริงที่เป็นความแท้
อาสวะจึงมี ๓ ที่ดองสันดานของบุถุชนทุกคนอยู่ หรือจะเรียกว่าดองสันดานของสัตว์โลกทั้งปวงอยู่ จะเป็นเทวดามารพรหม จะเป็นมนุษย์ จะเป็นสัตว์เดรัจฉาน จะเป็นสัตว์นรกจกเปรตอสุรกาย เป็นพวกอบายภูมิต่างๆ ก็ตามที ย่อมมีอาสวะทั้ง ๓ นี้ดองจิตสันดานอยู่ด้วยกันทั้งนั้น และก็เรียกว่าเป็นสัตว์โลกทั้งนั้น เพราะฉะนั้นจึงเป็นบุถุชน บุถุสัตว์โลกทั้งหมด
โทษของอาสวะกิเลส
พระพุทธเจ้าผู้รู้ผู้เห็น ผู้กำจัดอาสวะกิเลสที่ดองสันดานนี้ได้สิ้นเชิงทั้งหมด จึงได้ตรัสบอกเอาไว้แก่เวไนยนิกร คือหมู่ชนที่จะพึงฝึกได้ แนะนำได้ทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นบุถุชน ไม่ว่าจะเป็นอริยชนที่ยังละกิเลสไม่ได้หมด สำหรับที่จะได้สดับตรับฟัง นำมาตรวจตราพิจารณาดู ให้รู้ว่าตนเองของแต่ละบุคคล ยังมีอาสวะทั้ง ๓ นี้ดองจิตสันดานอยู่ ยังมีกามคือความใคร่ความปรารถนา ยังมีภพความเป็นคือเป็นเราเป็นของเรา ยังมีอวิชชาคือความไม่รู้ในสัจจะที่เป็นของจริงของแท้อยู่ และเมื่อเป็นดั่งนี้จึงต้องอยู่ในกองทุกข์ ตั้งต้นแต่ชาติทุกข์ ทุกข์คือความเกิดเป็นต้น ยังต้องประกอบกรรมที่ดีบ้างที่ชั่วบ้าง อันนำให้เกิดสุขบ้างเกิดทุกข์บ้าง เมื่อมีความมัวเมาประมาทมากก็ประกอบกรรมชั่วมาก เมื่อมีความมัวเมาประมาทน้อยก็ประกอบกรรมชั่วน้อย ไม่แน่นอน
เมื่อเป็นดั่งนี้จึงได้ตรัสสอนให้มองเห็นโทษของอาสวะกิเลสที่ดองจิตสันดานอยู่นี้ และตั้งใจปฏิบัติสังวร คือระมัดระวังป้องกันอาสวะคือกิเลสที่ดองสันดานเหล่านี้ ที่ยังมิเกิดก็ไม่ให้เกิดขึ้น และที่เกิดขึ้นแล้วก็ต้องละเสีย โดยที่ด้วยทรงสั่งสอนไว้เป็นหลักขั้นต้นว่า ไม่ทรงตรัสความสิ้นอาสวะคือกิเลสที่ดองจิตสันดานแก่ผู้ที่ไม่รู้ไม่เห็น แต่ว่าทรงตรัสความสิ้นอาสวะแก่ผู้รู้ผู้เห็น ตามที่ตรัสเตือนไว้เป็นหลักนี้เป็นข้อที่ให้ผู้ฟังมีความสำนึกว่า เมื่อรู้เมื่อเห็นจึงจะปฏิบัติให้สิ้นอาสวะกิเลสที่ดองจิตสันดานได้ เมื่อไม่รู้ไม่เห็นก็ปฏิบัติให้สิ้นอาสวะคือกิเลสที่ดองจิตสันดานไม่ได้ เพราะฉะนั้น จึงต้องเป็นผู้รู้เป็นผู้เห็น
อะไรควรมนสิการ
ต่อจากนี้ก็ได้ตรัสขยายความออกไปว่ารู้เห็นอะไร ก็ทรงเฉลยไว้ว่าคือรู้เห็นว่าอะไรควรจะมนสิการ คือทำไว้ในใจหรือใส่ใจถึง อะไรไม่ควรมนสิการ คือไม่ควรทำไว้ในใจไม่ควรใส่ใจถึง และก็ได้ตรัสชี้แจงให้แจ่มแจ้งต่อไปอีกว่าทำอย่างไรจึงจะรู้ว่า อะไรควรจะมนสิการคือใส่ใจถึง อะไรไม่ควรมนสิการคือไม่ควรจะใส่ใจถึง
ก็ได้ทรงวางหลักเอาไว้ว่า เมื่อมนสิการคือใส่ใจถึงเรื่องอะไรสิ่งอะไร อาสวะคือกามความใคร่ความปรารถนา อาสวะคือภพความเป็นนั่นเป็นนี่ คือความเป็นเราเป็นของเรา อาสวะคืออวิชชาความไม่รู้ในสัจจะที่เป็นตัวความจริง ที่ยังไม่เกิดก็เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วก็เจริญงอกงามยิ่งขึ้น คือว่าเพิ่มกามความใคร่ความปรารถนา เพิ่มภพความเป็นเราเป็นของเรา เพิ่มอวิชชาคือความเขลาความไม่รู้ เรื่องนั้นแหละ สิ่งนั้นแหละ ไม่ควรจะมนสิการคือใส่ใจถึง แต่ว่าเรื่องอันใดสิ่งอันใดที่เมื่อมนสิการคือใส่ใจถึงแล้ว อาสวะกิเลสที่ดองสันดานดังกล่าว ที่ยังไม่เกิดก็ไม่เกิด ที่เกิดขึ้นแล้วก็ละไปได้ เรื่องนั้นแหละ สิ่งนั้นแหละ ควรมนสิการคือใส่ใจถึง
ทรงวางหลักสำคัญไว้ดั่งนี้ ซึ่งหลักที่ทรงวางไว้นี้ทุกคนอาจจะมากำหนดดูได้ที่ใจของตัวเอง เพราะว่าใจของตัวเองนี้มีมนสิการคือใส่ใจอยู่ซึ่งเรื่องต่างๆ คือรับเอาเรื่องต่างมาใส่ไว้ในใจ มาสุมไว้ในใจ มากองไว้ในใจอยู่มากมาย และเรื่องที่มาใส่ไว้ในใจ มากองไว้ในใจ มาสั่งสมไว้ในใจเหล่านี้ บางทีก็ทำให้เกิดกามคือความใคร่ความปรารถนา บางทีก็ทำให้เกิดภพคือความเป็นเราเป็นของเรา บางทีก็ทำให้เกิดอวิชชาคือความไม่รู้ในสัจจะที่เป็นตัวความจริง ปกปิดสัจจะที่เป็นตัวความจริงเสีย เมื่อเป็นดั่งนี้แล้วก็ให้รู้ว่า สิ่งที่มากองไว้ในใจ มาใส่ไว้ในใจ ทั้งปวงนั้นไม่ดีมีโทษ ไม่ควรจะนำมาใส่ไว้ในใจ ทุกคนก็รู้หากนำมาพิจารณาดู คือนำใจมาพิจารณาดูใจของตัวเอง
คราวนี้หากเรื่องอะไรที่นำมามาใส่ไว้ในใจ แล้วทำให้ไม่เกิดกามคือความใคร่ความปรารถนา ไม่เกิดภพคือความเป็นเราเป็นของเรา ไม่เกิดอวิชชาคือความไม่รู้ในสัจจะที่เป็นตัวความจริง และทำให้อาสวะเหล่านี้ที่มีอยู่นั้นลดน้อยลงไป เรื่องนั้นสิ่งเหล่านั้นแหละควรมนสิการ คือทำไว้ในใจ ใส่ใจถึง ทุกคนพิจารณาดูใจของตัวเองก็ย่อมจะเห็นได้ ดั่งนี้
เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าเมื่อได้ทรงแสดงธรรมะที่เป็นตัวหลักไว้ดั่งนี้แล้ว จึงได้ตรัสชี้ทางปฏิบัติสำหรับที่จะสังวร คือป้องกันอาสวะกิเลสดองสันดาน ทั้งปวงที่ยังไม่เกิดมิให้เกิดขึ้น และที่เกิดขึ้นแล้วก็ให้ดับไปได้ ไว้เป็นข้อๆ
ปัญญาที่เห็นทุกข์
ข้อหนึ่งที่จะนำมาแสดงในวันนี้ก็คือว่า ให้สังวรคือป้องกันดังกล่าว ด้วยทัศนะคือปัญญาที่รู้ที่เห็น โดยตรงก็คือปัญญาที่รู้ที่เห็นในสัจจะทั้ง ๔ คือในทุกข์ ในเหตุเกิดทุกข์ ในความดับทุกข์ ในทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ตามที่ได้ทรงสั่งสอนเอาไว้ โดยย่อในทุกข์ก็คือให้พิจารณาให้เห็นทุกข์ ตั้งต้นแต่สภาวะทุกข์ ทุกข์ตามสภาพ คือเกิดแก่ตายเป็นทุกข์ และให้รู้จักทุกข์ที่บังเกิดขึ้นทางจิตใจทั่วๆ ไปคือความโศกความแห้งใจ ความปริเทวะคร่ำครวญรัญจวนใจ ไม่สบายกาย ไม่สบายใจ คับแค้นใจ เป็นทุกข์ รวมเข้าก็ในความประจวบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รักเป็นทุกข์ ความพลัดพรากจากสิ่งที่เป็นที่รักเป็นทุกข์ รวมเข้าก็ปรารถนาไม่ได้สมหวังเป็นทุกข์ ย่อเข้าก็ขันธ์เป็นที่ยึดถือทั้ง ๕ ประการเป็นทุกข์ คือรูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ
หัดพิจารณาให้รู้จักทุกข์ตามที่ทรงสั่งสอนเอาไว้นี้นี่แหละ และให้รู้จักสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ก็คือให้รู้จักตัณหาความดิ้นรนทะยานอยากของใจ เป็นกามตัณหาบ้าง ภวตัณหาบ้าง วิภวตัณหาบ้าง คือดิ้นรนไปเพื่อจะได้ก็เป็นกาม ดิ้นรนไปเพื่อจะเป็น เป็นนั่นเป็นนี่ก็เป็นภพ ดิ้นรนไปเพื่อจะทำลายสิ่งที่ขัดขวางกาม ขัดขวางภพของตนก็เป็นวิภวะ เป็นสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ ก็หัดพิจารณาให้รู้จักตัณหาที่ใจของตัวเองนี่แหละ ว่านี่เป็นตัวสมุทัย จนดับตัณหาเสียได้ ทุกข์ก็จะดับไป ก็เป็นนิโรธความดับทุกข์ และให้รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ก็คือมรรคมีองค์ ๘ ย่อเข้าก็เป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญา ( เริ่ม) ...หัดปฏิบัติให้เป็นศีลเป็นสมาธิเป็นปัญญาขึ้นที่กายที่วาจาที่ใจ ดั่งนี้ และการปฏิบัติดั่งนี้เองก็เรียกว่าเป็นการมนสิการคือใส่ใจในสิ่งที่ควรใส่ไว้ในใจ คือนำเอาปัญญาที่รู้เห็นในสัจจะทั้ง ๔ นี้มาใส่ไว้ในใจ ใจจึงประกอบด้วยปัญญาที่รู้ที่เห็น และเมื่อเป็นดั่งนี้แล้วก็เป็นอันว่า ใจนี้เองก็พ้นจากเรื่องหรือสิ่งที่ไม่ควรจะนำมาใส่ไว้ในใจ
อันเรื่องที่ไม่ควรจะนำมาใส่ไว้ในใจนั้น ก็คือเรื่องที่ยึดถืออยู่ในสิ่งที่เป็นทุกข์เหล่านี้ว่าเป็นสุข ติดอยู่ในตัณหา จึงเป็นอันว่าติดอยู่ในทุกข์ และปฏิบัตินอกทางของศีลสมาธิปัญญา ของมรรคมีองค์ ๘ เป็นทางอกุศลกรรมบถต่างๆ เป็นทางของกิเลสต่างๆ นั่นไม่ควรจะใส่ไว้ในใจ แต่ว่านำเอาทัศนะคือปัญญาที่รู้ที่เห็นในสัจจะทั้ง ๔ นี้มาใส่ไว้ในใจ ก็เป็นอันว่าได้นำเอาศีลสมาธิปัญญา หรือมรรคมีองค์ ๘ มาใส่ไว้ในใจ นำเอาความดับทุกข์มาใส่ไว้ในใจ ใจก็พ้นทุกข์ได้แม้ในขณะที่ปฏิบัติ แม้ว่าจะยังเป็นการทำได้ชั่วครั้งชั่วคราวก็ตาม ก็ยังเป็นอันว่าได้หัดให้พบกับความดับทุกข์ได้
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป