แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
อันปัญญานั้นคู่กันกับคำว่าสติ ตามที่พระบรมศาสดาได้ทรงแสดงเอาไว้ในที่บางแห่ง ฉะนั้น จึงควรศึกษาทำความเข้าใจในคำว่าสติและคำว่าปัญญา สตินั้นคือความระลึกได้ ปัญญานั้นคือความรู้ทั่วถึง สติได้มีพระพุทธภาษิตตรัสสอนเอาไว้ให้ระลึกถึงการที่ทำคำที่พูดแม้นานได้ อันนับว่าเป็นสติคือความระลึกได้ทั่วไป
และได้มีพระพุทธภาษิตตรัสสอนเอาไว้ ให้ระลึกกำหนดในกายเวทนาจิตธรรม อันเป็นสติปัฏฐานทั้ง ๔ กับได้ตรัสสอนให้ระลึกถึงพระพุทธะ พระธรรม พระสงฆ์ อันเรียกว่าพุทธานุสสติ ธรรมานุสสติ สังฆานุสสติเป็นต้น ซึ่งใช้คำว่าอนุสสติแปลว่าระลึกตามไป หรือว่าตามระลึก สติเหล่านี้นับเข้าในคำว่าสัมมาสติระลึกชอบ และเมื่อตรงกันข้าม คือระลึกไปในทางผิดต่างๆ ก็เรียกว่ามิจฉาสติ ระลึกผิด เพราะว่าแม้ในทางที่ผิดต่างๆ นั้นก็ระลึกไปได้เหมือนกัน แต่ว่าเป็นมิจฉาสติระลึกผิด
สติ สัมปชัญญะ
สตินี้ยังมีธรรมะที่คู่กันโดยตรงก็คือสัมปชัญญะ ที่ท่านแปลว่าความรู้ตัว สติและสัมปชัญญะนี้เมื่อมาคู่กัน สติก็คือความระลึกได้ สัมปชัญญะก็คือความรู้ตัว เมื่อพิจารณาดูแล้วก็จะทำให้เข้าใจว่า ทั้งสองนี้ต้องมีประกอบกันอยู่ในการปฏิบัติทุกขณะทุกอย่าง คือจะต้องมีทั้งระลึกคือตัวกำหนด จะต้องมีทั้งความรู้ตัว คือจะต้องมีทั้งระลึกทั้งรู้ เมื่อเป็นดั่งนี้จึงจะเป็นสติที่สมบูรณ์ และจึงจะเป็นสัมปชัญญะที่สมบูรณ์ ถ้าขาดระลึกก็ย่อมจะไม่รู้ ต้องระลึกจึงจะรู้ และรู้ที่มาคู่กันกับระลึกนี้ ก็เป็นรู้ที่เป็นสัมปชัญญะ อีกอย่างหนึ่งถ้าขาดรู้ก็เป็นระลึกไม่ได้ ต้องมีรู้จึงจะเป็นระลึกได้ ฉะนั้นก็เป็นอันว่าสติและสัมปชัญญะในทางปฏิบัติต้องมีอยู่ด้วยกัน แม้ว่าจะแยกเรียกกันว่าสติคำเดียว ก็ต้องหมายถึงสัมปชัญญะด้วย จะเรียกแยกกันว่าสัมปชัญญะคำเดียวก็ต้องหมายถึงสติด้วย
ยกตัวอย่าง เช่น ลมหายใจเข้าลมหายใจออก ซึ่งทุกคนก็หายใจกันอยู่ทุกเวลา แต่ว่าเมื่อไม่ระลึกถึงก็ไม่รู้ว่าเราหายใจเข้าเราหายใจออก แต่เมื่อระลึกถึงคือกำหนดอยู่ที่ลมหายใจ ก็ย่อมรู้ว่าเราหายใจเข้าเราหายใจออก อาการที่กำหนดนี่แหละคือสติ และอาการที่รู้ว่าเราหายใจเข้าเราหายใจออก นี่คือสัมปชัญญะ คือรู้ตัว ฉะนั้น เมื่อกำหนดอยู่ที่ตัวก็รู้ตัว
เป็นอันว่าจะเป็นสติเป็นสัมปชัญญะขึ้นมาได้นั้นต้องกำหนดอยู่ที่ตัว ไม่ทิ้งตัว และเมื่อกำหนดก็เป็นสติ รู้ตัวก็เป็นสัมปชัญญะ แม้ในอิริยาบถยืนเดินนั่งนอนต่างๆ ก็เช่นเดียวกัน เมื่อสติกำหนดอยู่ที่อิริยาบถ ก็ย่อมจะรู้ตัวว่าเรากำลังเดิน เรากำลังยืน เรากำลังนั่ง เรากำลังนอน ดั่งนี้เป็นต้น
สติกำหนดอยู่ที่ตัวให้รู้ตัวนี้เป็นสติที่สมบูรณ์ คือมีความหมายเต็มของคำว่าสติ และแม้ว่าจะแยกเรียกจำเพาะสัมปชัญญะ อย่างในสัมปชัญญะปัพพะ ก้าวไปข้างหน้าก็รู้ว่าเราก้าวไปข้างหน้า ถอยไปข้างหลังก็รู้ว่าเราถอยไปข้างหลังเป็นต้น ที่ท่านเรียกว่าเป็นสัมปชัญญะปัพพะ ข้อว่าด้วยสัมปชัญญะ แต่ก็จะต้องมีสติกำหนดอยู่ที่อิริยาบถ จึงจะมีสัมปชัญญะคือความรู้ตัวอยู่ในอิริยาบถ แม้ในข้ออื่นก็เหมือนกัน ก็จะต้องมีทั้งสองนี้คู่กันไป ดั่งที่กล่าวมานั้น
สติต่างจากสัญญา
และคำว่าสตินี้ก็ต่างจากคำว่าสัญญา แม้ว่าสติคือความระลึกได้จะมีความหมายว่าจำได้ ระลึกถึงการที่ทำคำที่พูดแม้นานได้ ก็คือจำการที่ทำคำที่พูดแม้นานได้ สัญญานั้น สัญญาในขันธ์ ๕ รูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ ก็เป็นความจำได้หมายรู้ แต่ว่าเป็นความจำได้หมายรู้ที่เป็นเรื่องของขันธ์
ส่วนสตินั้นเป็นความจำที่เป็นธรรมปฏิบัติ ซึ่งจะทำให้ระลึกได้มากยิ่งไปกว่าสัญญาคือความจำที่เป็นขันธ์นี้มากมายนัก ดังที่แสดงไว้ในพระญาณของพระพุทธเจ้าอันบังเกิดขึ้นในราตรีที่ตรัสรู้ ว่าในปฐมยามทรงได้ปุพเพนิวาสานุสติญาณ ญาณความหยั่งรู้ ที่เป็นเหตุให้ทรงได้อนุสสติคือตามระลึกถึงขันธ์เป็นที่อาศัยอยู่ในปางก่อนได้ ดังที่เรียกว่าระลึกชาติหนหลังได้
ในมัชฌิมยามทรงได้จุตูปปาตญาณ ญาณคือความหยั่งรู้ ในความจุติคือความเคลื่อน และความอุปบัติคือความเข้าถึง ภพชาตินั้นๆ ของสัตว์ทั้งหลายว่าเป็นไปตามกรรม ในปัจฉิมยามทรงได้อาสวักขยญาณ ญาณอันเป็นเหตุสิ้นอาสวะคือกิเลสที่ดองจิตสันดาน จึงได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า พระผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ ดั่งนี้ เพราะฉะนั้น อนุสสติคือความระลึกตามที่ทรงได้ในปฐมยามแห่งราตรีนั้น อันเรียกว่าปุพเพนิวาสานุสสติญาณ จึงเป็นสติคือความระลึกได้ที่ยาวไกล และเป็นอย่างยิ่ง มากว่าสัญญาคือความกำหนดหมายหรือความจำได้หมายรู้ อันเป็นเรื่องของขันธ์ทั่วๆ ไป
สัญญาคือความจำได้หมายรู้อันเป็นเรื่องของขันธ์ ๕ นั้น ก็เป็นเรื่องของกายใจซึ่งเป็นตัววิบากขันธ์ ผู้ที่จะปฏิบัติธรรมะหรือไม่ปฏิบัติธรรมะ ก็ย่อมจะมีรูป มีเวทนา มีสัญญา มีสังขาร มีวิญญาณ มาตั้งแต่เกิดด้วยกัน อาจจะมีแตกต่างกันไปบ้าง เช่นมีสัญญาดี มีสัญญาไม่ดี ก็เช่นเดียวกับร่างกายที่เป็นส่วนรูป ก็มีแข็งแรง ไม่แข็งแรง แต่ว่าก็เป็นสิ่งที่ต้องเกิดต้องดับเหมือนอย่างรูปขันธ์คือกองรูป และก็มีกองรูปเป็นส่วนสำคัญอยู่ด้วย
ดังจะพึงเห็นได้ว่าในเมื่อรูปขันธ์คือกองรูปเจริญ เช่นกำลังอยู่ในวัยหนุ่มสาว สัญญาคือความจำก็ว่องไว จำอะไรได้ง่าย แต่เมื่อรูปขันธ์ไม่แข็งแรงแม้จะอยู่ในวัยหนุ่มสาวก็ตาม หรือว่าเป็นโรคบางอย่างเกี่ยวแก่ร่างกายบางส่วนอันสัมพันธ์กับสัญญาความจำ ก็ทำให้สัญญาคือความจำนั้นไม่ดี เช่นกระทบกระเทือนที่ศรีษะมากเพราะอุบัติเหตุบางอย่าง ก็ทำให้สัญญาคือความจำนั้นไม่ดี ต้องลืมไปหมดในบางครั้งบางคราว ดั่งนี้ก็มี และเมื่ออายุมากเข้าๆ สัญญาคือความจำก็เสื่อมลงไป มักจะจำได้แต่เรื่องเก่าๆ ที่เคยจำไว้ได้ตั้งแต่เมื่อยังเป็นหนุ่มเป็นสาวร่างกายยังแข็งแรง แต่ว่าเรื่องใหม่ๆ ไม่จำ คนแก่ก็มักจะเป็นดั่งนั้น สัญญาจึงเกี่ยวแก่รูปขันธ์หรือร่างกาย ส่วนนามธรรมอื่นๆ ก็เช่นเดียวกันมักจะเกี่ยวเนื่องอยู่กับรูปขันธ์คือร่างกาย ก็เป็นอันว่าต้องประกอบกันอยู่ดั่งนี้ เป็นส่วนของขันธ์
สติระลึกชาติ
แต่ว่าสติคือความระลึกได้ซึ่งเป็นความจำนี้เป็นธรรมะปฏิบัติ ที่เมื่อปฏิบัติทำสติอยู่เสมอแล้ว ก็จะทำให้สติคือความระลึกได้นี้ดี และไม่เกี่ยวแก่อายุมากอายุน้อย เมื่อปฏิบัติทำสติอยู่ อายุมากขึ้น สติคือความระลึกได้ก็ยังคงดี แต่ก็ต้องอาศัยร่างกายอีกเหมือนกัน ถ้าร่างกายพิกลพิการไปมาก ก็จะทำให้ความระลึกที่เป็นตัวสตินี้ปรากฏยาก หรือหยุดชงักไปได้อีกเหมือนกัน แต่ถ้าเป็นไปตามธรรมดาสามัญแล้ว แม้อายุมาก เมื่อหัดปฏิบัติทำสติอยู่เสมอ สติคือความระลึกได้ก็จะยังคงดี
และความระลึกได้ซึ่งเป็นตัวสตินี้ เมื่ออาศัยการปฏิบัติทำสมาธิให้ดีขึ้นด้วย คือเมื่อจิตได้สมาธิที่ดียิ่งขึ้นๆ จนถึงขั้นอัปปนาสมาธิ สมาธิที่แนบแน่น ย่อมจะทำให้สติคือความระลึกได้นี้ หากว่าเมื่อน้อมจิตที่เป็นสมาธินี้ไปเป็นอนุสสติ คือระลึกตามหรือตามระลึก ก็ย่อมจะนึกขึ้นมาได้ถึงอดีตในภพชาตินี้ ตลอดจนถึงข้ามภพชาติ ดังที่บังเกิดขึ้นแก่พระพุทธเจ้าเมื่อก่อนจะตรัสรู้ หรือเมื่อใกล้ที่จะตรัสรู้ เป็นปุพเพนิวาสานุสสติญาณ เป็นอนุสสติคือตามระลึกได้ จนถึงข้ามภพข้ามชาติไปในอดีตเป็นอันมาก ตลอดจนถึงรายละเอียดต่างๆ ของชาตินั้นๆ ตามกำลังของสติที่จะระลึกได้มากหรือน้อยเพียงใด
ทั้งนี้ก็เพราะว่าเมื่อยังเป็นผู้มีกิเลสอยู่ก็ยังต้องเกิดอีก เมื่อสิ้นกิเลสก็ไม่ต้องเกิด ขณะเมื่อมีกิเลสยังไปเกิดอีกนั้น ก็มักจะเรียกกันว่า วิญญาณไปเกิดบ้าง จิตไปเกิดบ้าง แต่ว่าตามพระพุทธภาษิตโดยตรงนั้น สำหรับในปฐมญาณที่ทรงได้ปุพเพนิวาสานุสสติญาณนั้น ในพระบาลีใช้คำว่า เรา เราก็หมายถึงองค์พระพุทธเจ้าเองเมื่อก่อนจะตรัสรู้นั้น ว่าเราคือพระองค์... ( เริ่ม) ทรงระลึกชาติในหนหลังได้ ว่าเราคือพระองค์เข้าถึงชาตินี้ เคลื่อนจากชาตินี้แล้วก็ไปเข้าถึงชาตินั้น เคลื่อนจากชาตินั้นแล้วก็เข้าไปถึงชาติโน้น มาโดยลำดับจนถึงในชาติปัจจุบัน ดั่งนี้ ฉะนั้น คำว่าเราคือพระองค์ที่ตรัสถึงนี้จึงเป็นผู้ที่ถือชาติภพต่างๆ มาโดยลำดับ แล้วก็เป็นเราคือพระองค์ซึ่งเป็น .. เรียกว่าคนเดียวกัน ไม่ใช่ต่างคนกัน
จึงมีปัญหาว่าเราคือพระองค์ที่ตรัสถึงนี้ได้แก่อะไร สิ่งที่ตรัสถึงนี้ต้องไม่ใช่ขันธ์ ๕ เป็นอย่างแน่นอน เพราะว่าขันธ์ ๕ นั้นก็เป็นสิ่งที่เกิดสิ่งที่ดับ คือไม่ใช่รูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณซึ่งเป็นขันธ์ ๕ อันเป็นสิ่งที่ต้องเกิดต้องดับ ต้องแตกต้องสลาย ต้องมีชาติคือความเกิด ต้องมีมรณะคือความตาย ฉะนั้น เราที่ตรัสถึงนี้จึงไม่ใช่ขันธ์ ๕
สัตตะ สัตวะ
แต่เมื่อเป็นเช่นนี้จะเป็นอะไร ก็ไปจับพิจารณาดูในพระญาณที่ ๒ คือจุตูปปาตญาณ หยั่งรู้ถึงจุติคือความเคลื่อน อุปบัติคือความเข้าถึงสัตว์ทั้งหลาย ว่าเป็นไปตามกรรม สัตว์เหล่าใดที่กระทำกรรมชั่วไว้ กายแตกทำลายก็เข้าถึงทุคติคือคติที่ชั่ว สัตว์เหล่าใดที่ประกอบกรรมที่ดีไว้ กายแตกทำลายไปก็เข้าถึงสุคติคือคติที่ดี ดั่งนี้ เพราะฉะนั้น คำว่าเราที่ตรัสถึงในพระญาณที่ ๑ มาถึงพระญาณที่ ๒ ก็ทรงใช้คำว่าสัตว์ ที่แปลว่าผู้ข้อง คือผู้ที่ยังข้องติดอยู่ ยังมีตัณหามีอุปาทานอยู่ ผู้ที่ยังข้องยังมีตัณหาอุปาทานอยู่ ก็ชื่อว่าเป็นสัตว์ สัตตะหรือสัตวะในคำว่า สัตวโลก คำว่าสัตว์นี้บางทีมาใช้เรียกสัตว์เดรัจฉาน เป็นเดรัจฉานจึงเรียกว่าสัตว์ ถ้ามิใช่เดรัจฉานก็ไม่เรียกว่าสัตว์ เช่นเรียกว่าบุคคล
โพธิสัตว์ มหาสัตว์
แต่ว่าตามภาษาธรรมะนั้น คำว่าสัตว์หรือสัตวะนั้นครอบหมด เมื่อยังมีตัณหาอุปาทาน ยังมีกิเลสอยู่ ก็เรียกว่าสัตวะหรือสัตตะทั้งนั้น และสัตวะหรือสัตตะนี้เมื่อเป็นผู้มุ่งความตรัสรู้ ปฏิบัติเพื่อความตรัสรู้ และได้รับพุทธพยากรณ์จากพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง มาว่าผู้นี้จะได้ตรัสเป็นพระพุทธเจ้าต่อไปข้างหน้า และก็ได้ปฏิบัติอยู่ใน พุทธการกธรรม คือธรรมที่จะกระทำให้เป็นพระพุทธเจ้า อันได้แก่บารมีทั้ง ๑๐ ก็เรียกว่าโพธิสัตว์ ยังเป็นผู้ข้องผู้ติด ยังมีตัณหาอุปาทาน แต่ว่าก็ได้ปฏิบัติในพุทธการกธรรมมุ่งพระโพธิญาณ หรือเรียกว่ามหาสัตว์ที่แปลว่าเป็นสัตว์ซึ่งเป็นผู้ใหญ่ หมายในทางดีก็คือพระโพธิสัตว์นั้นเอง
เพราะฉะนั้น ในทางธรรม คำว่า สัตวะหรือสัตว์ นั้นจึงมีความหมายทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นสัตว์เดรัจฉาน ไม่ว่าจะเป็นสัตว์นรก จกเปรต อสุรกาย ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ เป็นเทวดา เป็นมาร เป็นพรหม เมื่อยังมีกิเลสเป็นเหตุให้ข้องติด เป็นต้นว่ามีตัณหามีอุปาทานอยู่ ก็เรียกว่าสัตว์ทั้งนั้น เป็นสัตวะโลกทั้งนั้น
อะไรเป็นสัตวะ
เพราะฉะนั้น ตามพระบาลีที่ตรัสเอาไว้ ก็พบสองคำนี้เท่านั้น ในพระญาณที่ ๑ ก็ทรงใช้เรียกพระองค์เองว่าเรา เคลื่อนจากชาตินี้ไปสู่ชาตินั้น ดั่งนี้เป็นต้น มาถึงพระญาณที่ ๒ ก็ทรงใช้คำว่าสัตวะหรือสัตว์ ทุกๆ คนเมื่อยังมีกิเลสมีตัณหามีอุปาทานอยู่ ก็เรียกว่าสัตวะหรือสัตตะทั้งนั้น อะไรเป็นสัตวะหรือสัตตะนั้นทุกคนก็มีอยู่ด้วยกันแล้ว เพราะฉะนั้น จะสมมติเรียกกันว่าจิต เรียกว่าวิญญาณ หรืออะไรก็ตาม หรือเรียกว่าอัตตาตัวตนอะไรก็ตาม แต่ก็ต้องหมายถึงสภาพอันหนึ่งในทุกๆ คนนี้
เมื่อขันธ์ ๕ นี้แตกสลายไป แต่ว่าสภาพอันนั้นไม่แตกสลาย ยังไปถือภพถือชาติต่อไป แล้วก็เป็นบุคคลเดียวกันนี่แหละ ไม่ใช่ต่างกันออกไป เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงทรงสามารถบำเพ็ญพระบารมีสืบต่อกันได้
คราวนี้สภาพดังกล่าวนี้เองที่ผ่านภพชาติมาเป็นอันมากนั้น และก็ได้บำเพ็ญบุญบ้าง บาปบ้าง บุญบาปที่บำเพ็ญไว้นั้นก็ติดมาพร้อมทั้งกิเลส ก็เรียกว่าติดตัวมา สมมติเรียกว่าตัวหรือตนก็ได้ เรียกว่าสัตว์ก็ได้ หรืออะไรก็ได้ อันเป็นสภาพที่สืบต่อกันมานั้น และเมื่อยังมีกิเลสอยู่ก็ยังต้องถือชาติถือภพกันต่อมา ก็มีกิเลสมีบุญมีบาปอันเป็นตัวกรรมติดมา และเมื่อบำเพ็ญในปัจจุบัน จะเป็นบุญก็ตาม เป็นบาปก็ตาม บุญบาปที่บำเพ็ญไว้นั้นก็ไม่หายไป ยังอยู่กับผู้ทำซึ่งจะให้ผลต่อไป
บุญบาปเป็นของๆ ตน
เพราะฉะนั้น จึงได้ตรัสสอนให้พิจารณาเนืองๆ ว่า เรามีกรรมเป็นของของตน เราทำดีจักได้ดี เราทำชั่วจักได้ชั่ว แต่ว่าสิ่งอื่นนั้นไม่ตรัสว่าเป็นของของตน ชีวิตร่างกายนี้ก็ไม่ใช่เป็นของของตน ทรัพย์สมบัติทั้งหลายก็ไม่ใช่เป็นของของตน อะไรก็ไม่ใช่เป็นของของตนทั้งนั้น แต่ว่ากรรมที่กระทำไว้เป็นของของตน และยังตรัสไว้อีกว่าบุคคลผู้จะต้องตาย ทำบุญด้วยบาปด้วยทั้งสองอันใดไว้ในโลกนี้ ก็ย่อมนำเอาบุญบาปที่ทำทั้งสองนั้นไว้ไป อันหมายความว่าเมื่อกายนี้แตกสลาย ก็นำเอาบุญบาปทั้งสองนี้ไป ดั่งนี้ ก็แปลว่าสภาพที่ยังต้องไปเวียนว่ายตายเกิดอยู่นี้ ซึ่งนำเอากิเลสนำเอากรรมที่กระทำไว้ไป และได้รับผลของกรรมที่กระทำไว้นั้นไปโดยลำดับได้ผ่านภพชาติต่างๆ มาเป็นอันมากนับไม่ถ้วน เพราะฉะนั้นสภาพดังกล่าวนี้จึงเป็นที่เก็บสั่งสมทั้งกิเลส และทั้งบุญทั้งบาปเอาไว้ได้ จนกว่าจะสิ้นกิเลสไม่เกิดอีกก็เป็นว่าเสร็จสิ้น แต่ในขณะที่ยังไม่สิ้นกิเลสต้องเกิดอีก สภาพดังกล่าวนี้ก็เป็นที่เก็บเป็นที่สั่งสมทั้งกิเลส ทั้งบาปทั้งบุญที่ได้กระทำเอาไว้
สัตตภาวะ
อันนี้เองที่ทุกคนมีสภาพอันนี้อยู่ด้วยกัน สภาพเป็นเรา หรือว่าสัตตะภาวะสภาพเป็นสัตว์ที่ต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ด้วยกัน ซึ่งได้ผ่านชาติภพทั้งหลายต่างๆ มาเป็นอันมากนับไม่ถ้วน แต่ว่านึกไม่ได้ ก็เพราะเหตุว่าไม่มีสติ ไม่มีสมาธิอย่างสูงที่จะทำให้ระลึกได้ และที่จะทำให้ระลึกข้ามภพข้ามชาติไปได้นั้น จะต้องมาถึงตัวปัญญา ดังที่กล่าวมาแล้วว่าคู่กับสติ
เมื่อมีสติ มีสมาธิ ก็ย่อมจะทำให้ได้ปัญญาที่เป็นความรู้ เข้าถึงสัจจะที่เป็นตัวความจริง แต่ว่าก่อนที่จะเข้าถึงสัจจะที่เป็นตัวความจริง ก็ย่อมจะได้ปัญญาคือตัวความรู้ที่เป็นเหตุให้ได้อนุสสติคือความระลึกถึงอดีตได้ เมื่อน้อมใจระลึกถึงไปก็ย่อมจะระลึกถึงในอดีต จนถึงข้ามภพข้ามชาติ เป็นระลึกชาติได้ แต่ว่าแม้ว่าจะไม่ได้สติไม่ได้สมาธิ ไม่ได้ปัญญาที่จะทำให้ระลึกข้ามชาติข้ามภพได้ดังนั้น ปัญญานั้นก็จะทำให้รู้ทั่วถึงสัจจะที่เป็นตัวความจริง ตั้งต้นแต่ให้รู้ทั่วถึงว่าบาปบุญคุณโทษ ประโยชน์มิใช่ประโยชน์ ให้รู้ทั่วถึงในอริยสัจจ์คือ ทุกข์ เหตุเกิดทุกข์ ความดับทุกข์ ทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์
และแม้ว่าจะได้สมาธิอย่างสูงยิ่ง ได้สติที่ดียิ่ง ทำให้ได้ปัญญาอันเรียกว่าญาณคือความหยั่งรู้ ญาณคือความหยั่งรู้นี้หมายความว่ารู้หยั่งลงไป เหมือนอย่างหยั่งน้ำทะเลลึก หยั่งลึกลงไป เมื่อมีความสามารถก็หยั่งลึกลงไปได้ จนถึงที่สุดของความลึก ญาณคือความหยั่งรู้นี้ก็เช่นเดียวกัน เป็นตัวปัญญาที่หยั่งรู้ลงไปได้ และอาการที่หยั่งรู้ลงไปได้นี้ ก็คือว่าอาการที่ตามระลึก ระลึกได้ลึกซึ้งคือไกลออกไปตามอำนาจของญาณคือความหยั่งรู้ แต่แม้ว่าจะระลึกหยั่งลงไปได้ลึกซึ้งเช่นสาวไปในอดีตได้ไกล ตลอดจนถึงได้ญาณที่ ๒ รู้จุติและอุปบัติความเคลื่อน และความเข้าถึงของสัตว์ทั้งหลายว่าเป็นไปตามกรรม แต่ก็ยังละกิเลสไม่ได้ แม้ได้ญาณ ๒ ข้อนี้ก็ยังละกิเลสไม่ได้ เพราะฉะนั้นจึงมีปรากฏมาในอดีตเป็นอันมาก ว่ามีผู้ปฏิบัติธรรมะเป็นฤาษีชีไพร ได้ญาณที่ระลึกชาติได้ และได้ญาณที่หยั่งรู้ถึงความจุติอุปบัติของสัตว์ทั้งหลาย ว่าเป็นไปตามกรรม แต่ว่าได้เพียงเท่านั้น ก็ยังละกิเลสไม่ได้ เมื่อยังละกิเลสไม่ได้ญาณคือความหยั่งรู้นี้ก็ยังเสื่อมได้
เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงไม่บังเกิดขึ้นในโลก แม้ว่าจะมีผู้ได้ญาณทั้ง ๒ ข้างต้นกันมาแล้วในอดีตก่อนพระพุทธเจ้าบังเกิดขึ้นก็ตาม แต่ไม่ได้ญาณที่ ๓ คือ อาสวักขยญาณความรู้เป็นเหตุสิ้นอาสวะ พระพุทธเจ้านั้นได้ทรงได้จนถึงพระญาณที่ ๓ เพราะไม่ทรงติดอยู่ในญาณสองข้างต้น ว่าพอแล้ว เก่งแล้ว สามารถแล้ว แต่ว่าทรงพิจารณายิ่งขึ้นต่อไป ทรงแสวงหาต่อไป ญาณที่ระลึกชาติได้อันเป็นพระญาณที่ ๑ นั้น ก็ทำให้รู้ว่าต้องเวียนว่ายตายเกิดมานานนักหนา ญาณที่ ๒ ก็ทำให้รู้ว่าเวียนว่ายตายเกิดไปตามกรรม กรรมดีก็เวียนว่ายตายเกิดไปในทางดี ทรงเห็นทุกข์ ว่าความเวียนว่ายตายเกิดทั้งปวงนั้นเป็นตัวทุกข์ทั้งนั้น เห็นเหตุเกิดทุกข์ก็คือเห็นสมุทัย ตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก ความยึดถือ อันสืบเนื่องมาจากอวิชชา
ทรงเห็นความดับทุกข์ก็คือดับตัณหาเสียได้ เห็นมรรคทางปฏิบัติก็คือมรรคมีองค์ ๘ ทรงเห็นอาสวะคือกิเลสที่ดองสันดาน เหตุเกิดอาสวะก็คือตัณหาเป็นต้นนั้นนั่นแหละ ความดับอาสวะก็คือดับตัณหาเสียได้ ทางปฏิบัติให้ถึงความดับอาสวะก็คือมรรคมีองค์ ๘ กิเลสจึงสิ้นไป เมื่อกิเลสวัฏฏะเวียนวนคือกิเลสสิ้นไป กรรมวัฏฏะวนคือกรรมก็สิ้นไป วิบากวัฏฏะผลคือความเกิดต่อไปก็สิ้นไป จึงทรงเป็นพุทโธผู้ตรัสรู้ สิ้นกิเลสและกองทุกข์ด้วยประการทั้งปวง เป็นพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นในโลก เพราะฉะนั้นปัญญาพระพุทธเจ้าที่ตรัสรู้นี้จึงเป็นปัญญายอดที่สุด ที่ผู้มีปัญญาทั้งหลายจะพึงได้พึงถึง ไม่มีที่จะยิ่งไปกว่าปัญญาที่เป็นพระสัมมาสัมโพธิญาณนี้ บังเกิดขึ้นจากพระโพธิสัตว์ซึ่งได้ทรงปฏิบัติมาจนทรงพบทาง และได้ตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป