แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
จะแสดงสรุปธรรมะที่บรรยายมาโดยลำดับ ตามแนวพระสูตรใหญ่ที่ตรัสแสดงสติปัฏฐาน อันได้ชื่อว่ามหาสติปัฏฐานสูตร อันได้ถือเป็นหลักในการปฏิบัติของผู้ปฏิบัติธรรมทั่วไป พระบรมศาสดาได้ทรงแสดงชี้ ทางปฏิบัติอันเดียว อันเรียกโดยชื่อว่า เอกาย-นมรรค ทางไปอันเดียว คือทางปฏิบัติอันเดียว เพื่อความบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลาย เพื่อก้าวล่วงความโศก ความรัญจวนคร่ำครวญใจทั้งหลาย เพื่อดับทุกข์โทมนัสทั้งหลาย เพื่อบรรลุธรรมะอันถูกชอบที่พึงบรรลุ เพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งนิพพานคือความดับกิเลสและกองทุกข์ทั้งสิ้น ทางปฏิบัติอันเดียวนี้ก็คือสติปัฏฐานพิจารณากาย สติปัฏฐานพิจารณาเวทนา สติปัฏฐานพิจารณาจิต สติปัฏฐานพิจารณาธรรมะคือเรื่องในจิต
อุปการปฏิบัติ
และได้ทรงแสดงอุปการะปฏิบัติ คือข้อปฏิบัติที่เป็นอุปการะในการปฏิบัติสติปัฏฐานดังกล่าว คือ
๑. อาตาปี มีความเพียรปฏิบัติ
๒. สัมปชาโน มีความรู้พร้อม คือมีความรู้ตัวเรียกอีกชื่อหนี่งว่า สัมปชัญญะ ที่แปลว่าความรู้ตัว
๓. สติมา มีสติคือความระลึกได้ หรือความกำหนดพิจารณา
๔. วินัยโลเก อภิชา โทมนัสสัง กำจัดความยินดีความยินร้ายในโลกเสีย ดั่งนี้
และได้ทรงแสดงขอบเขตแห่งการปฏิบัติสติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้ไว้ด้วยว่า ตั้งสติพิจารณากายในกาย ตั้งสติพิจารณาเวทนาในเวทนา ตั้งสติพิจารณาจิตในจิต ตั้งสติพิจารณาธรรมในธรรม อันเป็นการเตือนให้ได้ทราบขอบเขตของการตั้งสติพิจารณาใน ๔ ข้อนี้ ว่าเมื่อพิจารณากายก็ต้องพิจารณาในกาย มิใช่ในที่อื่น อีก ๓ ข้อก็เหมือนกัน เมื่อจะปฏิบัติข้อไหน ก็ต้องตั้งสติพิจารณาในข้อนั้น มิใช่ในข้ออื่น และได้ทรงแสดงสถานที่สำหรับที่จะปฏิบัติไว้ก็คือ ป่า โคนไม้ เรือนว่าง อันเป็นสถานที่สงบสงัดดั่งในที่นี้ก็กล่าวได้ว่าเป็นเรือนว่าง คำว่า ว่าง นั่นก็คือสุญญะ ความว่างก็คือ สุญญตา
( เริ่ม) ในการปฏิบัติ จึงต้องการสถานที่อันประกอบด้วยสุญญตาคือความว่าง จะเป็นป่าก็ได้ โคนไม้ก็ได้ เรือนว่างก็ได้ ก็คือที่ที่มีความว่างอันสงบสงัดนั้นเอง และได้ตรัสถึงอิริยาบถแห่งการปฏิบัติซึ่งใช้โดยมาก ก็คือนั่งขัดบัลลังก์ ที่เรียกกันว่านั่งขัดสมาธิ หรือนั่งขัดสะหมาด ในบาลีไม่ได้บอกรายละเอียด แต่อาจารย์ผู้สอนปฏิบัติได้แนะเพิ่มเติม ว่าในการนั่งขัดสะหมาดนั้นเท้าขวาทับเท้าซ้าย ส่วนการวางมือก็ไม่ได้แสดงไว้ในพระบาลีถึงรายละเอียดของการวางมือ แต่อาจารย์ผู้สอนปฏิบัติก็มักจะสอนให้วางมือ จะชนกันหรือไม่ชนกัน หรือว่ามือขวาทับมือซ้าย ก็สุดแต่สัปปายะของแต่ละบุคคล แต่ได้ตรัสแนะให้นั่งตั้งกายตรง ดำรงสติจำเพาะหน้า คือรวมจิตเข้ามากำหนดอยู่เฉพาะหน้า นี้เป็นการเตรียมปฏิบัติ และในที่อื่นก็ได้มีสอนให้ตั้งใจถึงพระพุทธเจ้าพระธรรมพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล
ศีลเพื่อสมาธิ
อันศีลนั้นย่อมเป็นพื้นของสมาธิตามที่ได้ตรัสแสดงไว้ในที่อื่น และผู้ปฏิบัติธรรมเป็น ธรรมจารีบุคคล อยู่โดยปรกติก็มักจะมีศีลประจำอยู่ในตนเอง โดยปรกติก็ศีล ๕ ในโอกาสพิเศษเช่นวันอุโบสถก็ศีลอุโบสถคือศีล ๘ เมื่อออกบวชเป็นสามเณรก็ศีล ๑๐ เป็นภิกษุก็ศีล ๒๒๗ หรือศีลของสามเณรศีลของภิกษุ
แต่สำหรับศีลในขณะปฏิบัติทำสมาธิ หรือปฏิบัติวิปัสสนาทางปัญญา แม้ผู้ที่มิได้มีศีลเป็นธรรมจารีอยู่เป็นปรกติดังกล่าว เมื่อมีความสำรวมกายสำรวมวาจาสำรวมใจ ก็เป็นศีลขึ้นมาทันที แม้ว่ามิได้ตั้งใจที่จะสมาทานศีล แม้ว่าจะไม่รู้จักคำว่าศีล ไม่รู้จักข้อของศีลต่างๆ แต่เมื่อมีความสำรวมกายสำรวมวาจาสำรวมใจ ก็เป็นศีลขึ้นทันที ก็เป็นพื้นฐานของภาวนาทางจิตใจทางปัญญาได้ และความสำรวมกายวาจาใจดังกล่าวเป็นข้อสำคัญ อันเป็นที่ตั้งของสมาธิ
แม้ว่าจะสมาทานศีลอยู่ และก็มิได้ละเมิดศีลทางกายทางวาจา แต่มิได้มีความสำรวมกายวาจาใจในขณะที่นั่งปฏิบัติ คือใจไม่สำรวม คือใจไม่รวมเข้ามา ไม่ทำสติจำเพาะหน้า ดั่งนี้ การปฏิบัติก็ไม่ได้ และทางกายทางวาจาก็เหมือนกัน เช่นว่าในขณะที่มิได้มีความสำรวมกาย เช่นทำการงานอยู่ นั่งพักผ่อนอยู่ ซึ่งเหยียดมือเหยียดเท้าไปตามสบาย มิได้สำรวมวาจาพูดคุยอยู่ มิได้สำรวมใจ ใจคิดเรื่องราวอะไรต่ออะไรอยู่ดั่งนี้ ก็แปลว่ายังไม่มีศีลที่จะทำสมาธิ หรือยังไม่มีศีลเพื่อสมาธิ ศีลเพื่อสมาธิจึงต้องมีความสำรวมกาย มีร่างกายพร้อมที่จะปฏิบัติ
อาจจะเป็นนั่งก็ได้ เป็นเดินที่เรียกว่าเดินจงกรมก็ได้ หรือว่าอาจจะเป็นนอน แต่ว่าเป็นนอนนั้นมักจะใกล้กับความง่วง นอนปฏิบัติจึงไม่เป็นที่นิยม โดยมากก็ใช้จงกรมหรือนั่ง และเมื่อจะทำจิตให้สงบจริงๆ ก็ต้องนั่ง เพราะจะไม่ต้องไปพะวักพะวนในเรื่องของการเดิน ซึ่งจะต้องมีความพะวักพะวนมากกว่านั่ง อิริยาบถนั่ง นั่งกายตรง นั่งขัดสะหมาดหรือนั่งขัดสมาธิ นั่งขัดบัลลังก์ ตั้งกายตรง ย่อมเป็นอิริยาบถที่ทำจิตให้สงบได้ง่าย หรือแม้จะนั่งเก้าอี้สำหรับผู้ที่นั่งกับพื้นไม่สะดวกก็ใช้ได้ แต่ว่าให้นั่งกายตรงดีกว่าที่จะนั่งพิง นั่งพิงก็เป็นไปเพื่อง่วงง่ายอีกเหมือนกัน เหล่านี้เป็นเรื่องของจะต้องมีความสำรวมกายสำรวมวาจาสำรวมใจ ซึ่งเป็นศีลเพื่อสมาธิ
เป็นภิกษุเป็นสามเณรนึกว่ามีศีลอยู่แล้ว ไม่มีความสำรวมกายสำรวมวาจาสำรวมใจเพื่อสมาธิดั่งนี้ ก็ทำสมาธิไม่ได้ เป็นคฤหัสถ์มีศีล ๕ ศีล ๘ อยู่แล้ว แต่ว่าขาดสำรวมดังกล่าวก็ทำสมาธิไม่ได้ จึงต้องมีศีลเพื่อสมาธิคือความสำรวมดังกล่าวในขณะปฏิบัติ เป็นศีลเพื่อสมาธิ
เครื่องกำจัดภัยแห่งสมาธิ
และมีสรณะเป็นเครื่องกำจัดภัยแห่งสมาธิ เพราะจิตที่ถึงสรณะก็คือจิตที่ถึงพระพุทธเจ้า ถึงพระธรรม ถึงพระสงฆ์ อันเป็นวัตถุที่บริสุทธิ์ เมื่อจิตถึง แม้จะโดยสมมติบัญญัติแห่งพระพุทธเจ้าพระธรรมพระสงฆ์ ตามที่รู้จักตามที่เข้าใจก็ตาม แต่เมื่อมีความเข้าใจว่าสมมติบัญญัติ แห่งพระพุทธเจ้าพระธรรมพระสงฆ์ตามที่เข้าใจนั้น เป็นที่ตั้งของความบริสุทธิ์ เมื่อจิตถึงจิตก็ย่อมจะได้ความสงบได้ความเย็น ได้ศรัทธาได้ปสาทะ อันนำให้เป็นศีลคือความสำรวมกายสำรวมวาจาสำรวมใจขึ้นโดยอัตโนมัติ ควบคู่กันไปกับการถึงสรณะ
และเมื่อเป็นดั่งนี้ก็ชื่อว่าได้ทำการเตรียมตนพร้อมที่จะปฏิบัติ ทำสมาธิ ทำปัญญา จึงถึงการที่จะเลือกข้อปฏิบัติอันเรียกว่ากรรมฐานตามที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงสั่งสอนไว้ และเมื่อได้ตั้งเลือกสติปัฏฐาน คือตั้งสติกำหนดกายเวทนาจิตธรรม ก็น้อมนำสติปัฏฐานที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงสั่งสอนเอาไว้ และที่ครูบาอาจารย์ได้บอกกล่าวสั่งสอนกันต่อๆมา มากำหนดปฏิบัติด้วยสติที่ตั้งขึ้นจำเพาะหน้านั้น
ข้อปฏิบัติในสติปัฏฐาน
อาจปฏิบัติได้ตามข้อต่างๆที่ตรัสแสดงเอาไว้ อันเริ่มแต่ข้อกาย คือตั้งสติกำหนดลมหายใจเข้าออก ตั้งสติกำหนดอิริยาบถยืนเดินนั่งนอน ตั้งสติกำหนดอิริยาบถน้อยแห่งอิริยาบถใหญ่เหล่านั้น เช่นเดินก็เดินก้าวไปข้างหน้า หรือถอยไปข้างหลังเป็นต้น สำหรับข้ออิริยาบถใหญ่อิริยาบถน้อยนี้ มักเรียกว่าทำสัมปชัญญะคือความรู้ตัว แต่อันที่จริงนั้นก็ต้องด้วยกัน สติกับสัมปชัญญะต้องคู่กันไป ตั้งสติกำหนดกายนี้ว่าประกอบด้วยอาการ หรือสิ่งที่ปฏิกูลไม่สะอาดต่างๆ มี ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้น แยกออกไปเป็น ๓๑ ประการ ในที่บางแห่งก็เป็น ๓๒ ประการ จึงมักเรียกกันว่าอาการ ๓๒ ตั้งสติกำหนดพิจารณาธาตุทั้ง ๔ อันมีอยู่ในกายนี้ คือธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ในที่บางแห่งเติมอากาสธาตุ ธาตุอากาศคือช่องว่างเข้าอีกข้อ ๑ เป็นธาตุ ๕
ตั้งสติกำหนดป่าช้าทั้ง ๙ คือพิจารณาศพที่ทิ้งไว้ในป่าช้า หรือที่กำหนดพิจารณาเอาว่าเป็นศพที่ตายแล้ววันหนึ่ง สองวัน สามวัน มีสีเขียวน่าเกลียด พิจารณาศพที่ทิ้งไว้ในป่าช้าถูกสัตว์ทั้งหลายกัดกิน พิจารณาศพที่เป็นโครงร่างกระดูกมีเส้นเอ็นรึงรัด ประกอบด้วยเนื้อและเลือด พิจารณาศพที่เป็นโครงร่างกระดูก มีเส้นเอ็นรึงรัด ไม่มีเนื้อแต่ยังเปื้อนเลือด ยังมีเส้นเอ็นรึงรัด พิจารณาศพที่เป็นโครงร่างกระดูกที่ไม่มีเนื้อไม่มีเลือด แต่ยังมีเส้นเอ็นรึงรัด พิจารณาโครงร่างกระดูกที่ไม่มีเส้นเอ็นรึงรัด กระดูกจึงกระจัดกระจายไปในทิศทางต่างๆ ก็ พิจารณากระดูกที่เป็นสีขาวเหมือนดั่งสังข์ พิจารณากระดูกที่มีอายุล่วงไปปีหนึ่ง หรือเกินกว่าซึ่งอยู่เป็นกองๆ พิจารณากระดูกที่ผุป่นละเอียดไปในที่สุด
ก็เป็นอันว่า พิจารณา กาย เริ่มแต่กายที่ยังมีชีวิต ยังหายใจเข้าหายใจออก ผลัดเปลี่ยนอิริยาบถใหญ่น้อยได้ มีอาการ ๓๒ มีธาตุทั้ง ๔ ประกอบกันอยู่ และเป็นกายที่ยังดำรงชีวิต และพิจารณากายที่สิ้นชีวิตเป็นซากศพ ตั้งแต่เริ่มตายจนถึงเป็นกระดูกผุป่นไปในที่สุด ก็เป็นอันว่ากายอันนี้ก่อนจะเกิดก็ไม่มี และเมื่อเกิดเป็นชาติก็มีขึ้นมา และในที่สุดก็กลับไม่มีอีกตามเดิม
จากนั้นก็ตรัสสอนให้ พิจารณา เวทนา คือความรู้สึกเป็นสุขเป็นทุกข์เป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุขทางกายทางใจ ที่เป็น สามิส คือมีอามิสมีกิเลสเป็นเครื่องล่อ มีอารมณ์อันประกอบด้วยกิเลสเป็นเครื่องล่อให้บังเกิดขึ้นบ้าง เป็น นิรามิส คือ ไม่มีกิเลสไม่มีอารมณ์ประกอบด้วยกิเลสเป็นเครื่องล่อให้บังเกิดขึ้นบ้าง
จากนั้นก็ตรัสสอนให้ พิจารณา จิต นี้ จิตที่มีราคะมีโทสะโมหะก็ให้รู้ว่ามี จิตปราศจากราคะโทสะโมหะก็ให้รู้ว่ามี จิตที่ฟุ้งซ่านหรือจิตที่หดหู่อย่างไรก็ให้รู้ จิตที่ได้สมาธิที่เป็นจิตใหญ่ หรือจิตที่ไม่ได้สมาธิเป็นจิตที่คับแคบอย่างไรก็ให้รู้ จิตที่ยิ่งหรือไม่ยิ่งด้วยความที่มี หรือไม่มีธรรมปฏิบัติที่ยิ่งหรือไม่ยิ่งอย่างไรก็ให้รู้ จิตที่เป็นสมาธิหรือไม่เป็นสมาธิก็ให้รู้ จิตที่หลุดพ้นหรือไม่หลุดพ้นอย่างไรก็ให้รู้ กำหนดทำความรู้จิตของตนเข้ามา
และต่อจากนั้นก็ตรัสสอนให้หัดปฏิบัติ กำหนดดู ธรรมะในจิต เมื่อมีอกุศลธรรมเกิดขึ้นในจิตคือนิวรณ์ทั้ง ๕ ข้อใดข้อหนึ่งก็ให้รู้ ไม่มีก็ให้รู้ และหัดปฏิบัติให้รู้จนถึงว่านิวรณ์จะเกิดขึ้นอย่างไร จะละได้อย่างไร ละได้แล้วจะไม่เกิดขึ้นได้อย่างไร และตรัสสอนให้ตั้งสติกำหนดดู ขันธ์ อายตนะ พร้อมทั้งสัญโยชน์ที่บังเกิดขึ้น หรือไม่บังเกิดขึ้นทางอายตนะ ตลอดจนถึงสัญโยชน์เกิดขึ้นอย่างไรก็ให้รู้ ละได้อย่างไรก็ให้รู้ ละได้แล้วจะไม่เกิดขึ้นอย่างไรก็ให้รู้ อันขันธ์อายตนะนี้ นับว่าเป็นอัพยากตธรรม ธรรมะที่เป็นกลางๆ ไม่ใช่กุศลไม่ใช่อกุศล เพราะเป็นวิบากขันธ์วิบากอายตนะที่ได้มาตั้งแต่ชาติคือความเกิด
โพชฌงค์องค์ของความรู้
และก็ตรัสสอนให้ตั้งสติกำหนดโพชฌงค์ องค์ของความรู้ ก็คือตัวสตินั้นเอง ที่เมื่อได้ปฏิบัติมาโดยลำดับ เป็นสติที่กำหนดมาโดยลำดับดังกล่าว สตินี้เองก็เลื่อนขึ้นเป็นโพชฌงค์คือเป็นองค์ของความรู้ ทำให้ได้ธรรมวิจัยเลือกเฟ้นธรรมขึ้นในจิตใจเอง อะไรเกิดขึ้นในใจก็รู้ทันที ว่านี่ดี นี่ชั่ว นี่มีโทษ นี่ไม่มีโทษ ก็เป็นธรรมะวิจัย และก็จะเกิดความเพียรละขึ้นเอง คือส่วนที่เป็นชั่วหรือเป็นอกุศลก็จะละให้ดับหายไปได้ และก็จะได้ปีติคือความอิ่มใจ เพราะเหตุว่าจิตเริ่มบริสุทธิ์ หรือว่าบริสุทธิไปโดยลำดับจากเครื่องเศร้าหมองทั้งหลายที่ละเสียได้ เมื่อจิตบริสุทธิ์ จิตก็ย่อมจะอิ่มเอิบ ดูดดื่มอยู่ในธรรมะซึ่งเป็นส่วนความดี ดูดดื่มสติ ดูดดื่มสมาธิ ตลอดจนถึงญาณคือความหยั่งรู้เข้าในจิต ก็แปลว่าสติสมาธิญาณคือความหยั่งรู้นั้นซึมซาบเข้าไปเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับจิต เหมือนอย่างที่ดื่มน้ำระงับกระหายน้ำก็เข้าไปซึมซาบอยู่ในร่างกาย ดับร้อน
ฉะนั้นเมื่อละส่วนที่เศร้าหมอง รับเอาส่วนที่ดี ก็คือสติสมาธิญาณปัญญาเป็นต้นเหล่านี้เข้ามา ก็ทำให้จิตนี้เองผ่องใส ดูดดื่ม อิ่มเอิบ และก็มีความสุขความสงบทั้งทางกายทั้งทางใจ เมื่อเป็นดั่งนี้จิตก็ตั้งมั่นเป็นสมาธิมากขึ้น เป็นความตั้งมั่นสงบอยู่ในภายใน สงบอยู่ด้วยความรู้ เป็นความรู้ที่นิ่งสงบอยู่ในภายใน ไม่ออกไปในภายนอก อารมณ์อะไรผ่านเข้ามาก็ตกอยู่แค่ตา แค่หู แค่จมูก แค่ลิ้น แค่กาย แค่มนะคือใจ ไม่เข้าไปสู่จิต เพราะจิตตั้งสงบรู้อยู่ รู้อยู่ในภายในไม่ออกรับ อาการที่ตั้งสงบอยู่ในภายใน รู้อยู่ไม่ออกรับ ดั่งนี้คืออุเบกขา ก็เป็นโพชฌงค์ขึ้นมาสมบูรณ์
มรรค ๘
และเมื่อเป็นดั่งนี้ความรู้ที่เป็นสติ ที่เป็นสมาธิ ที่เป็นปัญญา ทุกอย่างก็ประมวลกันเข้าเป็นมรรคมีองค์ ๘ นำให้กำหนดรู้ทุกข์ รู้ทุกขสมุทัยเหตุเกิดทุกข์ รู้ทุกขนิโรธความดับทุกข์ รู้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ เป็นญาณความหยั่งรู้ในสัจจะทั้ง ๔ ขึ้นไปโดยลำดับ ดั่งนี้ก็เป็นตั้งสติกำหนดธรรมอันเป็นข้อที่ครบ ๔ เพราะฉะนั้นจึงเป็นทางปฏิบัติอันเดียวเป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลาย เพื่อก้าวล่วงโสกะปริเทวะเพื่อดับทุกข์โทมนัส เพื่อบรรลุธรรมที่ถูกที่ชอบไปโดยลำดับ เพื่อกระทำให้แจ้งนิพพาน... (เริ่ม) ...พระบรมศาสดาได้ทรงแสดงเอาไว้ถึงอานิสงส์ผลของผู้ปฏิบัติสติปัฏฐาน ว่าจะได้บรรลุอัญญาคือพระอรหัตผล หรือมิฉะนั้นก็ความเป็นอนาคามี
เป็นนิทัศนะในเบื้องสูงในเมื่อปฏิบัติได้สมบูรณ์ สุดแต่ว่าผู้ปฏิบัตินั้นจะเป็นบุคคลประเภทใด คือเป็นผู้รู้เร็ว รู้ช้า รู้ปานกลางเป็นต้น ซึ่งยกไว้เป็นนิทัศนะ ก็ ๗ ปี จนถึง ๗ วัน ก็เป็นนิทัศนะคือตัวอย่างอันแสดงว่า การปฏิบัตินั้นต้องได้รับผล ไม่เร็วก็ช้า และแม้จะช้ากว่านั้น เมื่อปฏิบัติไปโดยลำดับไม่ละเว้น ก็ย่อมจะบรรลุเข้าได้สักวันหนึ่ง ในปัจจุบันภพไม่ได้ก็ในอนาคตภพ การปฏิบัติย่อมเป็นอุปนิสัย เป็นนิสสัย เป็นอินทรีย์ เป็นบารมีที่เป็นพื้น และปฏิบัติเพิ่มเติมยิ่งขึ้นไป
เพราะฉะนั้นพระสูตรนี้จึงประกอบด้วยหลักปฏิบัติเป็นอันมาก ซึ่งผู้ปฏิบัติยกเอาเพียงข้อใดข้อหนึ่งขึ้นปฏิบัติ และเมื่อปฏิบัติไปๆ ทุกๆข้อก็ย่อมประมวลเข้ามา เพราะเป็นทางปฏิบัติอันเดียว ข้อสำคัญนั้นคือต้องมีความเพียรไม่หยุด ทำไปโดยลำดับน้อยหรือมากก็ตามทุกๆวัน มีสัมปชัญญะ มีสติ และคอยกำจัดความยินดียินร้ายในโลกไปโดยลำดับ
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป