แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะ เป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์ พร้อมทั้งพระธรรม และพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจ สำรวมกาย วาจาใจ ให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟังเพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
สติปัฏฐาน ในอรรถะ คือความหมายว่า ตั้งสติ อันเป็นการปฏิบัติ ตั้งสติย่อมเป็นอุปการะในที่ทั้งปวง จึงได้มีพุทธศาสนสุภาษิตว่า สติจำปรารถนาในที่ทั้งปวง ในทางปฏิบัติตั้งสติที่กำหนดอายตนะภายใน อายตนะภายนอก ซึ่งประจวบกันอยู่อยู่ทุกขณะ ย่อมมีอุปการะมาก ทำให้บังเกิดเป็นอินทรียสังวร เป็นสติปัฏฐานเป็นต้น และทำให้จับสัญโญชน์ คือความผูกที่บังเกิดขึ้น อันเป็นเบื้องต้นของตัณหา หรือราคะ โทสะ โมหะ ดังที่เรียกว่านิวรณ์ของจิตใจ และสามารถที่จะจับพิจารณาให้รู้จักปัจจุบันธรรม คือขันธ์ ๕ ที่เป็นปัจจุบันรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ สามารถที่จะจับความเป็นไปของอายตนะภายในภายนอกที่ประจวบกัน ดั่งที่ได้กล่าวมาแล้ว ซึ่งล้วนเป็นการปฏิบัติในสติปัฏฐาน ตั้งสติ และการปฏิบัติตั้งสติดังกล่าวนี้ ปฏิบัติได้ในทุกขณะ จะทำให้มีสติรักษาจิตรักษาตนอยู่ทุกขณะ ไม่เผลอสติ
พึงปฏิบัติตั้งสติในที่ทั้งปวง
ฉะนั้น การปฏิบัติตั้งสติซึ่งเป็นสติปัฏฐานนี้ จึงมิได้หมายความว่า จะต้องปฏิบัติในขณะที่นั่งปฏิบัติ ดังที่เรียกกันว่านั่งสมาธิ เช่นนั่งหลับตาทำสมาธิ หรือลืมตาทำสมาธิก็ตาม ไม่ใช่หมายความว่าจะพึงปฏิบัติในขณะนั้นเท่านั้น แต่ว่า พึงปฏิบัติตั้งสติได้ในที่ทั้งปวง ในเวลาทั้งปวง คือทุกขณะที่ทำงานอยู่ เดินอยู่ นอนอยู่ นั่งอยู่ ยืนอยู่ คือทุกๆ ขณะ อันหมายความว่าตั้งสติอยู่ที่ตา ที่หู ที่จมูก ที่ลิ้น ที่กาย ที่ใจหรือโดยตรง ก็คือที่ใจนี้เอง มีสติคุมอยู่ในขณะที่เห็นรูปอะไรก็ตาม ได้ยินอะไรก็ตาม ได้ทราบกลิ่น ทราบรส ทราบโผฏฐัพพะอะไรก็ตาม ได้คิดรู้เรื่องราวอะไรก็ตาม ก็มีสติกำหนดอยู่ และมีความรู้อยู่ในขณะที่เห็นอะไร ได้ยินอะไร เป็นต้นนั้น อันเป็นความรู้ตัว ซึ่งท่านแยกเรียกว่า สติระลึกได้ สัมปชัญญะรู้ตัว
หรือว่าไม่แยกเรียก เรียกว่าสติคำเดียว แต่ก็หมายว่า จะต้องมีสัมปชัญญะ คือรู้ตัว รวมอยู่ด้วย สติจึงจะตั้ง ถ้าไม่รู้ตัว สติก็ไม่ตั้งอยู่ที่ตัว เมื่อรู้ตัว สติจึงตั้งอยู่ที่ตัว หรือว่าเมื่อสติตั้งอยู่ที่ตัว ก็รู้ตัว ถ้าสติไม่ตั้งอยู่ที่ตัว ก็ไม่รู้ตัว จึงต้องอาศัยซึ่งกันและกัน รู้ตัวก็คือมีสติตั้งอยู่ที่ตัว ดังจะพึงเห็นได้ว่าตัวเรากำลังทำอะไรอยู่ เช่นว่ากำลังเดินอยู่ แต่ว่าสติไม่ตั้งอยู่ที่ตัว ก็ไม่รู้ตัวว่าเรากำลังเดิน ข้อนี้สังเกตดูที่ตัวเอง ก็จะรู้ได้ว่า บางคราวนั้นกำลังเดินอยู่ แต่ว่าไม่รู้ตัวว่า เรากำลังเดินอยู่ เพราะเหตุว่าส่งใจไปคิดเรื่องอะไรต่ออะไรอื่น ก็แปลว่าใจนั้นส่งไปในที่อื่น
สตินำสัมปชัญญะ
อันที่จริงใจที่ส่งไปที่อื่นนั้น ก็เป็นสติเหมือนกัน คือเป็นความ ระลึกไป นึกไป คิดไป ในเรื่องอื่นๆ นั้น แต่ว่าเป็นสตินอกเรื่องที่ต้องการ เรื่องที่ต้องการนั้น ต้องการให้มาคิดอยู่ที่การเดิน คืออยู่ที่ตัวที่กำลังเดิน ที่เรียกว่านอกเรื่อง หรือในเรื่องนั้น ก็คือหมายความว่า สุดแต่ความต้องการปฏิบัติ ต้องการปฏิบัติที่จะทำสติในการเดิน ก็ต้องให้สติมาอยู่ที่การเดิน เว้นไว้แต่ว่า ถ้าไม่ต้องการสติให้อยู่ที่การเดิน ต้องการจะคิดในเรื่องอื่นในขณะนั้นก็ส่งใจคิดไป ก็แปลว่าความต้องการนั้น ต้องการให้คิดไปในเรื่องนั้น ในที่นี้เป็นการแสดงด้านปฏิบัติว่า ต้องการให้คิดอยู่ในเรื่องเดิน เมื่อสติส่งไปในที่อื่นก็แปลว่าสตินอกเรื่อง ไม่มากำหนดอยู่ที่การเดิน เมื่อเป็นดั่งนี้สัมปชัญญะก็ไม่มี คือไม่รู้ตัวอยู่ว่าตัวกำลังเดินดั่งนี้ก็คือว่าสตินำสัมปชัญญะ
สัมปชัญญะนำสติ
อีกอย่างหนึ่งสัมปชัญญะนำสติก็คือว่า เมื่อมีความรู้ตัวอยู่ เช่นเดินอยู่ก็รู้ตัวว่าเดินอยู่ดั่งนี้ สติคือความระลึกก็มาอยู่ที่การเดิน ไม่ไปที่อื่น ดั่งนี้เรียกว่าสัมปชัญญะนำสติ สตินำสัมปชัญญะ หรือสัมปชัญญะนำสตินี้ เป็นเรื่องที่พูดเท่านั้น แต่ว่าในทางปฏิบัตินั้น ต้องอยู่ด้วยกันนั้นเอง
ยกตัวอย่างอีกตัวอย่างหนึ่ง เมื่อทำอานาปานสติ กำหนดลมหายใจเข้า ลมหายใจออก หายใจเข้าก็รู้ หายใจออกก็รู้ ตรงไหนเป็นสติ ตรงไหนเป็นสัมปชัญญะ ตรงที่รู้ตัวว่าเราหายใจเข้าเราหายใจออก นี่รู้ตัว ..เป็นสัมปชัญญะ ตรงที่ระลึกกำหนดอยู่ในการหายใจเข้า ในการหายใจออก ..นี่เป็นตัวสติ
หากจะแสดงโดยฐานะที่สตินำ ก็แสดงว่าต้องมีความระลึกกำหนด คือจิตต้องกำหนดอยู่ที่ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก อาการที่จิตกำหนดอยู่นี้คือตัวสติ และเมื่อจิตกำหนดอยู่ดั่งนี้ ก็รู้ตัว หายใจเข้าก็รู้ตัวว่าเราหายใจเข้า หายใจออกก็รู้ตัวว่าเราหายใจออก ดั่งนี้เป็น สัมปชัญญะ
คราวนี้หากว่าจะแสดงในฐานะที่สัมปชัญญะนำ ก็แสดงได้ว่ารู้ตัวหายใจเข้าก็รู้ หายใจออกก็รู้ รู้ตัวว่าเราหายใจเข้า รู้ตัวว่าเราหายใจออก ดั่งนี้เป็นสัมปชัญญะ และเมื่อมีสัมปชัญญะอยู่ดั่งนี้ก็คือ สติก็ตั้งกำหนดอยู่ อาการที่จิตตั้งกำหนดอยู่ดั่งนี้ เป็นสติดั่งนี้ แสดงในฐานะที่สัมปชัญญะนำ คือว่าเมื่อมีความรู้ตัวตั้งอยู่ดั่งนี้ สติก็ต้องตั้งอยู่ด้วย คือตัวที่กำหนด ถ้าหากว่ารู้ตัวไม่ตั้งอยู่ สติก็ไม่ตั้งอยู่ ดังผู้ปฏิบัติที่ทำอานาปานสติ เมื่อใจไม่ตั้งอยู่ที่ลมหายใจ มีนิวรณ์ จิตหลุดออกไปในเรื่องนั้นในเรื่องนี้ ดั่งนี้ ก็ย่อมไม่รู้ตัวว่า เราหายใจเข้า เราหายใจออก ความรู้ไปตั้งอยู่ใน ..ในเรื่องที่จิตวิ่งออกไปนั้น ความรู้ไม่มาตั้งอยู่ที่ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก เพราะฉะนั้นจึงไม่รู้ตัวว่า เราหายใจเข้า เราหายใจออก
วิญญาณธาตุ ธาตรู้
โดยมากนั้น เมื่อไม่ปฏิบัติ จิตย่อมไปตั้งอยู่ในเรื่องนั้นเรื่องนี้ ตัวความรู้ก็ไปตั้งอยู่ในเรื่องนั้นเรื่องนี้ วันหนึ่งๆ บุคคลจึงไม่ค่อยจะมีความรู้ตัวว่าเราหายใจเข้าเราหายใจออก เพราะว่าจิตไม่ได้ตั้งกำหนด ดั่งนี้ เป็นการที่แสดงให้รู้จักว่า ตัวจิตนั้นเป็นธาตุรู้เป็นวิญญาณธาตุ ธาตุรู้ ดั่งที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสเอาไว้ ว่าบุรุษบุคคลนี้มีธาตุ ๖ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ธาตุอากาส และวิญญาณธาตุ คือธาตุรู้ ซึ่งหมายถึงตัวจิต ซึ่งเป็นธาตุรู้ ทุกคนจึงสามารถที่จะกำหนดให้รู้จักตัวจิตได้ที่ตัวความ "รู้" ความ "รู้" อยู่ที่ไหน จิตก็อยู่ที่นั่น เมื่อความรู้อยู่ที่ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก จิตก็อยู่ที่ลมหายใจเข้าลมหายใจออก
ฉะนั้น ความรู้จะตั้งอยู่ในที่ใด จิตก็ตั้งอยู่ในที่นั้น จึงรู้ได้ว่า จิตตั้งอยู่ที่นี่ จิตตั้งอยู่ที่นั่น ด้วยกำหนดให้รู้จักความรู้ ความรู้ที่ตั้งอยู่นั้น เมื่อความรู้ตั้งอยู่ที่ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก จิตก็ตั้งอยู่ที่ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ทำไมจึงจะทำให้จิตมาตั้งอยู่ที่อารมณ์ คือเรื่องที่ต้องการได้ ก็คือตัวที่ตั้งความกำหนดกำหนดลงไปที่นั่น เมื่อต้องการจะให้จิต ..จิตตั้งอยู่ที่ลมหายใจเข้าลมหายใจออกก็ต้องปฏิบัติทำความกำหนดอยู่ที่ลมหายใจเข้าอยู่ที่ลมหายใจออกเมื่อเป็นดั่งนี้ จิตก็ตั้งอยู่ที่ลมหายใจเข้าลมหายใจออก
อาการที่เรียกว่า สมาธิ
ตัวที่ปฏิบัติตั้งความกำหนดลงไปนี่แหละ คือตัวปฏิบัติตั้งสติ และเมื่อจิตตั้ง ก็ย่อมรู้ รู้ว่าเราหายใจเข้า รู้ว่าเราหายใจออก นี่คือตัวสัมปชัญญะ รู้ตัว คำว่าเราหายใจเข้า เราหายใจออก รู้ว่าเราหายใจเข้า เราหายใจออก เรานี่เองคือตัว รู้ตัว ซึ่งเป็นสมมติบัญญัติที่พูดรู้เรื่องกัน ซึ่งในตอนนี้ก็ยังไม่ต้องไปตั้งปัญหาว่าตัวมีหรือ หรือไม่มีตัวเป็นต้น เพราะว่าต้องการที่จะตั้งสติที่จะทำสติ แล้วในการที่จะพูดให้รู้เรื่องกันก็ต้องพูดสมมติบัญญัติกันอย่างนี้…(เริ่ม)...ตัวคืออัตตามีหรือไม่มีก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ยังไม่ต้องตั้งข้อสงสัยในตอนนี้ ก็เป็นเพียงว่า ต้องการที่จะปฏิบัติสำหรับตั้งสติ ตัวกำหนดนั่นเป็นสติ ตัวรู้ตัวรู้ตัวก็คือรู้ว่าเรา เรานี่แหละคือตัว เราหายใจเข้า เราหายใจออก นี่เป็นสัมปชัญญะ และเมื่อรู้ตัวอยู่ดั่งนี้แน่นเข้า คือแปลว่าสัมปชัญญะแน่นเข้า ตัวกำหนดซึ่งเป็นตัวสตินั้น ก็ย่อมตั้งอยู่ และเมื่อมีความรู้ตั้งอยู่ดั่งนี้ ก็คือว่าจิตตั้งอยู่ และอาการที่จิตตั้งอยู่ดังนี้แหละเรียกว่าสมาธิ ที่เรียกกันว่าตั้งจิตมั่น
ต้องมีคำว่ามั่นด้วย ก็คือว่าไม่ใช่ตั้งล้มๆ ซึ่งในการปฏิบัติเริ่มทำสมาธินั้นอยู่ในลักษณะที่ว่าตั้งล้มๆ ล้มลุกคลุกคลานเป็นการตั้งไม่มั่น แต่เมื่อปฏิบัติอยู่บ่อยๆ ให้สติที่เป็นตัวกำหนดแข็งแรงขึ้น สัมปชัญญะคือรู้ตัวแข็งแรงขึ้น หรือว่าลึกขึ้น ดั่งนี้ ก็ตั้งมั่นมากขึ้น เมื่อตั้งมั่นมากขึ้น สมาธิก็ดีขึ้น คือว่าจิตตั้งมั่น มั่นมากเข้า ไม่ล้มลุกคลุกคลาน ไม่ตั้งล้มๆ อยู่บ่อยๆ แต่ว่าตั้งแล้วก็ติด ติดแน่นเข้า แน่นพอสมควรก็เป็นอุปจารสมาธิ แน่นทีเดียวไม่ล้มอยู่นานๆ ก็เข้าเขตเป็นอัปปนาสมาธิ ซึ่งในอัปปนาสมาธินี้ ทีแรกก็จะต้องมีตัวกำหนด ตัวกำหนดอยู่ในอารมณ์ของสมาธิเมื่อทำอานาปานสติ ก็จะต้องมีความกำหนด หรือตัวกำหนดอยู่ในลมหายใจเข้าลมหายใจออก อันเรียกว่า วิตกวิจาร
วิตกวิจาร ที่เป็นองค์ของสมาธิ
วิตกนั้นมักแปลกันว่าความตรึก วิจารนั้นมักแปลกันว่าความตรอง แต่ว่าวิตกวิจารที่เป็นองค์ของสมาธิ อธิบายว่า อาการที่ตั้งจิตไว้ในอารมณ์คือ ยกเอาจิตมาตั้งไว้ในอารมณ์ หรือจะเรียกว่ายกอารมณ์ตั้งไว้ในจิตก็ได้ หรือว่ายกจิตขึ้นสู่อารมณ์ เรียกว่าวิตก ประคองจิตให้ตั้งอยู่ เรียกว่าวิจาร อาการที่ยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ และประคองจิตไว้ในอารมณ์ทั้งสองนี้ ต้องใช้อยู่เป็นประจำ ผู้ปฏิบัติย่อมจะรู้ได้ด้วยตัวเอง ว่าเมื่อทำสมาธิ ทำอานาปานสติเป็นตัวอย่างก็ต้องน้อมจิตเข้าสู่อารมณ์ คือลมหายใจเข้าลมหายใจออก คือตั้งกำหนดอารมณ์ คือตั้งกำหนดลมหายใจเข้าลมหายใจออกจิตนี้เคยคิดไปในเรื่องนั้นเรื่องนี้อื่น แต่เมื่อจะทำอานาปานสติ ก็ต้องตั้งจิตกำหนดลมหายใจเข้าลมหายใจออก ดั่งนี้คือ วิตก และก็ต้องคอยประคองจิตไว้ไม่ให้หลุดเรียกว่าวิจาร
คราวนี้เมื่อจิตหลุดออกไป รู้ว่าจิตหลุดออกไป ก็นำจิตเข้ามาตั้งไว้ใหม่ ก็เป็นวิตก แล้วคอยประคองไว้อีก ก็เป็นวิจาร ทำสมาธิใหม่ๆ ต้องใช้วิตกวิจารทั้งสองนี้อยู่เป็นประจำจะทิ้งเสียมิได้ ทิ้งเสียเมื่อใด ก็คือว่าต้องเลิกสมาธิกันเมื่อนั้น แต่ว่าเมื่อจะทำสมาธิต่อไป ก็ต้องใช้วิตกวิจารทั้งคู่นี้ ดังที่ได้กล่าวแล้วว่า จิตล้มลุกคลุกคลานอยู่เสมอ เพราะฉะนั้น ก็ต้องใช้วิตกวิจาร คือจับจิตมาตั้งไว้ใหม่ แล้วคอยประคองไว้ใหม่ หลุดไปอีกก็จับจิตมาตั้งไว้ใหม่แล้วประคองไว้ใหม่ อยู่ดั่งนี้
และเมื่อไม่ละความเพียร จิตก็จะเชื่องเข้า สงบเข้า ท่านจึงมีอุปมาไว้ว่า เหมือนอย่าง เอาเชือกผูกลูกโคไว้กับหลัก โดยที่ให้มีระยะห่างจากหลักพอสมควร ลูกโคที่ถูกผูกนั้น ต้องการจะให้หลุดจากเครื่องผูก ก็จะต้องวิ่งออกไป เมื่อวิ่งออกไปจนสุดเชือกที่อยู่ในระหว่างหลักกับตัวลูกโค ก็ติดอยู่แค่นั้น แล้วลูกโคก็จะวิ่ง แต่เมื่อวิ่งนั้น ก็วิ่งออกไปไม่ได้ เพราะมีเชือกผูกอยู่ วิ่งออกไปได้แค่สุดเชือก ก็ต้องวิ่งวนหลักอยู่นั่นแหละ และในที่สุด ลูกโคนั้นจะเหนื่อย เหนื่อยก็ต้องมานอนหมอบอยู่กับหลักนั้นเอง
วิตกวิจารเป็นอาการของสติ
จิตก็เป็นเช่นนั้น เมื่อจับผูกไว้ที่หลัก คืออารมณ์ของสมาธิ ดังเช่น ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ก็จะวิ่งออกจากหลัก คืออารมณ์ของสมาธิ แต่ว่ามีสติคอยผูกอยู่ ก็จะวิ่งออกไปได้ไม่ไกล สติก็จะนำเข้ามาสู่หลักใหม่ ก็คือตัววิตก วิจารนี้เอง ซึ่งเป็นอาการของสติในขั้นเริ่มปฏิบัติ วิตก วิจาร นี้เป็นอาการของสตินั้นเอง ที่คอยนำจิตเข้าสู่อารมณ์ของสมาธิ แล้วคอยประคองเอาไว้ หลุดออกไป ก็นำเข้ามาใหม่ แล้วคอยประคองไว้ใหม่ ก็ต้องต่อสู้กันอยู่ดั่งนี้ จนจิตจะเชื่องเข้า โดยที่บุคคลไม่ละความเพียรในการปฏิบัติ จิตก็จะสงบเข้า ความดิ้นรนของจิตก็จะน้อยลง
และเมื่อเป็นดั่งนี้ ก็จะได้ปีติได้สุขในการปฏิบัติ ปีติคือความอิ่มใจ สุขคือความสบาย สบายกาย สบายใจ ปีติก็มีลักษณะต่างๆ อย่างเบา อย่างปานกลาง อย่างแรง สุขก็เช่นเดียวกัน ซึ่งผู้ปฏิบัติย่อมจะได้เอง ในเมื่อจิตสงบก็จะได้ปีติ ได้สุข ขึ้นมา และเมื่อได้ปีติได้สุขขึ้นมา ก็คือจิตได้ปีติได้สุขจากสมาธิ จิตจึงจะเริ่มนั่งสงบอยู่ในปีติในสุข เพราะสบายเสียแล้ว ความดิ้นรนออกไปไหนก็จะน้อยเข้า เพราะว่าจิตนี้ ก็ต้องการปีติต้องการสุขมาหล่อเลี้ยง
ผลของปีติสุขในสมาธิ
ผู้ปฏิบัติก็จะพิจารณาเห็นได้เองว่า จิตที่ไม่สงบในขณะเริ่มปฏิบัตินั้น ไม่ได้ปีติไม่ได้สุขในการปฏิบัติ แต่ว่าได้ความกระสับกระส่าย ความฟุ้งซ่าน เรียกว่าได้ทุกข์จากการทำสมาธินั้นเอง จิตไม่ได้ปีติไม่ได้สุขจากการทำสมาธิ จิตจึงวิ่งออกไปหาอารมณ์ที่จะทำให้ได้รับความสบาย ก็บรรดาอารมณ์ที่รักใคร่ปรารถนาพอใจทั้งหลายนี้แหละ เป็นที่หนึ่ง อันเรียกว่ากามคุณารมณ์ เพราะว่าเมื่อจิตเข้าไปสู่กามคุณารมณ์ต่างๆ แล้วจิตมีความสบายเพราะเหตุว่ามีความรักใคร่ปรารถนาพอใจ เมื่อไปพบกับสิ่งที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจ จิตจึงวิ่งออกไปหาสิ่งนั้น จิตพอใจที่จะได้ความสบายความสุขก็ไปหาสิ่งที่จะให้ความสบายความสุข ก็คือ กามคุณารมณ์ แต่ยังไม่ได้ สุขจากสมาธิ
เพราะฉะนั้นเมื่อมาปฏิบัติทำสมาธิ มันก็ร้อนรุ่มร้อน ไม่เป็นสุข หยุกหยิกต่างๆ จิตก็ไม่ปรารถนาที่จะอยู่ เหมือนอย่างคนที่นั่งอยู่ในที่ร้อน ก็ไม่อยากที่จะนั่งอยู่ ก็จะต้องลุกหนีไป คราวนี้เมื่อมาได้ปีติ ได้สุขจากสมาธิแล้ว จิตก็จะกลับมาพอใจในปีติ ในสุข ซึ่งอันนี้แหละ จะให้เกิดผลสองอย่าง ผลอย่างหนึ่งก็คือว่า จะทำให้จิตนั่งสงบอยู่ในอารมณ์ของสมาธิดีขึ้น เพราะว่าได้ปีติ ได้สุข ผลอีกอย่างหนึ่งคือว่า ถ้าไปติดเข้าปีติสุข นี้เองก็จะกลายเป็น ..เป็นกามของสมาธิซึ่งทำให้ติด ทำให้หลง เพราะฉะนั้น จึงต้องมีเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน จิตตานุปัสสนา ธรรมานุปัสสนาต่อไปซึ่งเป็นการปฏิบัติที่ระงับกามในสมาธิ หรือความติดในสมาธิ ความหลงในสมาธิ แต่ว่าเอาผลข้อแรกก่อน ก็คือว่า ปีติสุขนี้เอง ทำให้จิตนั่งสงบ เพราะว่าสบายแล้วเมื่อสบายแล้วก็ไม่ต้องไปไหน อยู่กับที่ความสบายนั้นได้ ซึ่งเป็นธรรมดาก็เป็นอย่างนั้น
เอกัคคตา
และเมื่อเป็นดั่งนี้ก็ย่อมจะได้ เอกัคคตา คือความที่ จิตมีอารมณ์เป็นอันเดียว อันหมายความว่า อยู่ตัว กำหนดอยู่ในลมหายใจเข้าออก รู้ว่า เราหายใจเข้า เราหายใจออก สติ ที่เป็นตัวความกำหนดอยู่ในลมหายใจเข้าลมหายใจออก สัมปชัญญะที่เป็นที่รู้ตัวว่า เราหายใจเข้า เราหายใจออก รวมกันอยู่ในลมหายใจเข้าในลมหายใจออก เพียงเรื่องเดียวไม่ไปไหน อยู่ตัว ดั่งนี้คือ เอกัคคตา มีอารมณ์อันเดียว มียอดเป็นอันเดียว ไม่แตกกิ่งก้านไปหลายยอด มียอดเป็นอันเดียว มีอารมณ์เป็นอันเดียว อยู่ตัว เป็นสติเป็นสัมปชัญญะที่อยู่ตัวดั่งนี้ก็เป็น เอกัคคตา
วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา นี้ ที่แข็งแรง ก็เป็นปฐมฌาน คือ ความเพ่งที่ ๑ ซึ่งผู้ปฏิบัติสมาธิ แม้จะยังไม่ถึง ก็จะต้องอาศัย วิตก วิจาร ปีติ สุข ไปสู่เอกัคคตา ที่เป็นตัวสมาธิดีขึ้นก็เป็นอุปจารสมาธิ ดีมากแนบแน่นอยู่ตัว ก็เป็นอัปปนาสมาธิ ดั่งนี้เป็นการปฏิบัติตั้งสติ
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวด และตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป