แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
วันนี้จะได้แสดงว่าจะปฏิบัติอย่างไร จึงจะไม่เป็นทาสของตัณหา คือความดิ้นรนทะยานอยาก หรือเป็นทาสของกิเลสกองราคะโทสะโมหะ หรือว่ากองโลภโกรธหลง จะปฏิบัติด้วยธรรมะข้อไหน จะได้แสดงธรรมะข้อหนึ่งหรือสองข้อ ก็คือสติ หรือว่าสติและปัญญา ข้อปฏิบัติสำหรับที่จะทำให้ไม่เป็นทาสของตัณหา หรือทาสของกิเลส ก็คือปฏิบัติทำสติ หรือว่าสติและปัญญานี้เอง ถ้าหากว่าไม่ปฏิบัติทำสติ หรือสติและปัญญา จิตก็จะต้องตกเป็นทาสของตัณหา หรือเป็นทาสของกิเลส
เพราะฉะนั้นเมื่อไม่ต้องการที่จะเป็นทาสของตัณหา ไม่ต้องการเป็นทาสของกิเลส ก็จะต้องปฏิบัติอบรมสติให้มีขึ้น หรือว่าอบรมสติปัญญาให้มีขึ้น รักษาจิตใจ จิตใจจึงจะไม่เป็นทาสของตัณหาของกิเลส
สำหรับสตินั้นก็คือสติปัฏฐานนั้นเอง สติปัฏฐานก็ดังที่ได้เคยกล่าวมาแล้วในขั้นปฏิบัติ สติปัฏฐานก็แปลว่าตั้งสติ คือปฏิบัติตั้งสติ และในขั้นที่เป็นสติปัฏฐานขึ้นจริงๆ ก็แปลว่าสติตั้ง อันเป็นผลของการปฏิบัติตั้งสติ ฉะนั้นในขณะที่ปฏิบัติตั้งสติก็เรียกว่าสติปัฏฐาน และเมื่อปฏิบัติจนสติตั้งขึ้นได้ก็เรียกว่าสติปัฏฐาน แต่ว่าสติปัฏฐานในขั้นปฏิบัติตั้งสตินั้นเป็นเหตุ ส่วนสติปัฏฐานที่เป็นสติตั้งขึ้นเป็นผล ซึ่งจะต้องมีเหตุก่อนคือต้องปฏิบัติตั้งสติขึ้นมาก่อน จึงจะได้ผลคือสติตั้ง และเมื่อสติตั้งขึ้นมาได้ จิตก็จะไม่เป็นทาสของตัณหา ไม่เป็นทาสของกิเลส
เมื่อกล่าวยกเอาหมวดธรรมะขึ้นมาดั่งนี้ก็ดูเหมือนจะเป็นการปฏิบัติยาก แต่อันที่จริงนั้นไม่ใช่เป็นการปฏิบัติยาก ทุกคนปฏิบัติได้ ในเมื่อมีความเข้าใจในศัพท์แสง ในความหมายของศัพท์แสง ฉะนั้นในขั้นต้น ก็ให้ทำความเข้าใจคำว่าสติก่อน ว่าสติคือความระลึกได้ หรือความกำหนดจิตลงไปดูให้รู้ให้เห็น ดั่งนี้คือสติ
และสติปัฏฐานในขั้นปฏิบัติตั้งสติก็คือตั้งจิตกำหนดลงไปดูให้รู้ให้เห็น หากจะถามว่าดูให้รู้ให้เห็นอะไร ก็ตอบว่าดูให้รู้ให้เห็นกายคือกายนี้ ดูให้รู้ให้เห็นเวทนาคือความรู้เป็นสุขเป็นทุกข์หรือเป็นกลางๆ ไม่ทุกข์ไม่สุขที่มีอยู่นี้ ดูให้รู้ให้เห็นจิตคือจิตใจที่คิดที่รู้อยู่นี้ ดูให้รู้ให้เห็นธรรมคือเรื่องที่เกิดขึ้นในจิต นี้เป็นสติปัฏฐาน ๔ ก็คือสติเป็นไปในกาย ในเวทนา ในจิต และในธรรม
คราวนี้ในการปฏิบัติตั้งสติสำหรับที่จะรักษาจิตไม่ให้ตกเป็นทาสของตัณหาของกิเลสนั้น ก็คือเมื่อตัณหาความดิ้นรนทะยานอยากต่างๆ บังเกิดขึ้นในจิตใจ หรือเมื่อกิเลสกองโลภกองโกรธกองหลงบังเกิดขึ้นในจิตใจ ก็ทำสติคือตั้งจิตกำหนดดูตัณหาในจิตของตนเอง ดูโลภ ดูโกรธ ดูหลง หรือว่าดูราคะโทสะโมหะในจิตของตนเอง และทำความรู้จักว่าอาการที่จิตของตนดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่าย ดิ้นรนทะยานอยาก นี่แหละคือตัณหา อันเป็นตัวอกุศลธรรมคือธรรมะที่เป็นอกุศลบังเกิดขึ้นในจิต เมื่อความโลภบังเกิดขึ้น เมื่อราคะบังเกิดขึ้น ก็ดูอาการของโลภของราคะ ว่าอาการที่จิตอยากได้นี่แหละเป็นตัวโลภ อาการที่จิตติดใจยินดีนี่แหละคือราคะ อาการที่จิตขัดใจโกรธแค้นขัดเคืองนี่แหละคือโทสะ อาการที่จิตหลงสยบติดอยู่นี่แหละคือโมหะความหลง
ดูให้รู้จักว่าเหล่านี้ก็เป็นอกุศลธรรม ธรรมะที่เป็นอกุศลบังเกิดขึ้นในจิต ดูให้รู้จักหน้าตาของตัณหาของกิเลส ให้รู้จักว่านี่เป็นตัวอกุศลบังเกิดขึ้นในจิต ดั่งนี้ก็คือตั้งสติกำหนดดูธรรมะในจิตนั้นเอง ก็คือเรื่องที่บังเกิดขึ้นในจิต เมื่อเป็นตัณหาเป็นกิเลสก็ให้รู้ว่าตัณหากิเลสเหล่านี้เป็นอกุศลธรรม ดั่งนี้ก็เป็น ธรรมานุปัสสนา สติที่พิจารณาตามดูตามรู้ตามเห็นธรรม
คราวนี้มาดูจิตใจเองว่าจิตใจเป็นอย่างไร เมื่อจิตใจประกอบด้วยตัณหา จิตใจนี้เองก็ดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่าย ไปในรูปบ้าง ไปในอารมณ์คือเรื่องรูปบ้าง เรื่องเสียงบ้าง เรื่องกลิ่นบ้าง เรื่องรสบ้าง เรื่องโผฏฐัพพะสิ่งที่กายถูกต้องบ้าง เรื่องของเรื่องราวเหล่านั้นบ้าง อาการที่จิตดิ้นกวัดแกว่งกระสับกระส่ายนี้แหละคือจิตที่ประกอบด้วยตัณหา จิตที่ประกอบด้วยโลภะก็จะเป็นจิตที่อยากได้ จิตที่ประกอบด้วยราคะก็จะเป็นจิตที่ติดใจยินดี จิตที่ประกอบด้วยโทสะก็จะเป็นจิตที่โกรธแค้นขัดเคืองงุ่นง่าน จิตที่ประกอบด้วยโมหะก็จะเป็นจิตที่หลงสยบ เป็นจิตที่ง่วงงุนเคลิบเคลิ้มฟุ้งซ่านรำคาญเคลือบแคลงสงสัยต่างๆ เหล่านี้ เมื่อกำหนดดูให้รู้จักจิตอันประกอบด้วยตัณหาหรือกิเลสดังกล่าว ก็ทำความรู้จักว่าจิตนี้แหละเป็นจิตที่เป็นอกุศล เป็นจิตที่ประกอบด้วยอกุศล ตั้งสติกำหนดดูจิตดั่งนี้ก็เป็น จิตตานุปัสสนา สติที่ตามดูตามรู้ตามเห็นจิตของตนว่าเป็นอย่างไร
คราวนี้ก็หัดกำหนดดูเวทนา คือความรู้เป็นสุข เป็นทุกข์ หรือเป็นกลางๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข อันบางทีก็เป็นสุขซึ่งเนื่องมาจากตัณหา ซึ่งเนื่องมาจากกิเลส บางทีก็รู้สึกว่าเป็นทุกข์ อันเนื่องมาจากตัณหา อันเนื่องมาจากกิเลส บางทีก็เป็นกลางๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข อันเนื่องมาจากตัณหา หรือเนื่องมาจากกิเลส ในเมื่อมีความเพลิดเพลินมีความสมปรารถนา เพราะตัณหาหรือเพราะกิเลส ก็ทำให้รู้สึกเป็นสุข น้อยหรือมาก ในเมื่อไม่สมปรารถนาก็เป็นทุกข์ ในเมื่อยังเป็นกลางๆ อยู่ก็ยังเป็นกลางๆ แต่รวมความก็คือเป็นสุขหรือทุกข์หรือเป็นกลางๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข อันเนื่องมาจากตัณหา เนื่องมาจากกิเลสนั้นเอง
และเมื่อพิจารณาดูให้ดีอย่างละเอียดแล้วก็จะเห็นว่า แม้ที่เข้าใจว่าเป็นสุขนั้น คือแม้เป็นสุขเวทนานี่เอง ก็หาเป็นสุขเวทนาจริงๆ ไม่ แต่ว่าเป็นตัวทุกข์เวทนา เพราะเหตุว่าเมื่อจิตประกอบด้วยตัณหาประกอบด้วยกิเลส จิตใจก็จะต้องดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่าย ต้องร้อนมากหรือร้อนน้อย ฉะนั้นอาการที่ไม่สงบดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่าย หรืออาการที่ร้อนนั้น ก็จะมาปรากฏเป็นตัวทุกขเวทนานั้นเอง ดูให้ดีจึงจะมองเห็นตัวทุกขเวทนา อันซ่อนอยู่ในอาการที่เข้าใจว่าเป็นสุขเพราะตัณหาหรือเพราะกิเลส
เมื่อตั้งจิตกำหนดดูเวทนาดั่งนี้ ก็ดูให้รู้จักว่าแม้เวทนานี้ก็เป็นอกุศลเวทนา เวทนาที่เนื่องมาจากอกุศล และเมื่อมีโมหะไม่รู้จักตัวเวทนาของตนตามเป็นจริง ว่าอันที่จริงนั้นเป็นตัวทุกข์ต่างหาก ไม่ใช่เป็นตัวสุข แต่ยังมีความเข้าใจว่าเป็นสุข ดั่งนี้ก็เป็นอกุศลเวทนา เป็นเวทนาที่ทำให้เข้าใจผิด เป็นตัวอกุศล
และก็หัดกำหนดตั้งจิตพิจารณาดูกาย เมื่อกายประกอบด้วยตัณหาประกอบด้วยกิเลส กายนี้ก็จะทำจะพูดไปตามอำนาจของตัณหาตามอำนาจของกิเลส อาจจะประกอบอกุศลกรรมทางกายทางวาจา น้อยหรือมาก ตามอำนาจของตัณหาอำนาจของกิเลส ในเมื่อตัณหาแรงกิเลสแรง ก็จะทำให้ประกอบกรรมทางกายทางวาจา ซึ่งรวมเข้าในคำว่ากายนี้นั่นเอง เป็นการฆ่าเขาบ้าง ลักของเขาบ้าง ประพฤติผิดในกามบ้าง พูดเท็จหลอกลวงเขาบ้าง ดื่มน้ำเมาคือสุราเมรัยอันเป็นฐานประมาทบ้าง ดั่งนี้เป็นต้น เพราะฉะนั้น ก็ทำสติให้รู้จักว่า กายที่เป็นไปตามอำนาจของตัณหากิเลสดั่งนี้ ก็เป็นกายที่จะก่อกายกรรมวจีกรรมอันเป็นอกุศลต่างๆ ดั่งนี้ก็เป็น กายานุปัสสนา ตั้งสติกำหนดพิจารณาดูกาย
ความที่ตั้งจิตกำหนดดูให้รู้จักธรรม รู้จักจิต รู้จักเวทนา รู้จักกาย หรือว่าเรียงตามลำดับของท่าน ว่าตั้งสติกำหนดดูให้รู้จัก กาย เวทนา จิต ธรรม ที่เป็นไปอยู่ในปัจจุบันตามเป็นจริงดั่งนี้เป็นตัวสติ และเมื่อตั้งสติกำหนดดูให้รู้จักกายเวทนาจิตธรรมตามที่เป็นไปจริงๆ ดั่งนี้แล้ว นี้ก็เป็นสติ และเมื่อเป็นสติขึ้นมาดั่งนี้แล้ว สตินี้เองที่จะเป็นตัวพละอำนาจกำลัง สำหรับที่จะยับยั้งตัณหายับยั้งกิเลสไว้ได้ ตัณหากิเลสก็จะอ่อนกำลังลง ด้วยกำลังของสติที่กำหนดดูให้รู้จัก คือแปลว่าสตินี้เองไปต้านเอาไว้ เมื่อต้านไปไว้ได้ดั่งนี้ ตัณหากิเลสถอยกำลังลง ก็จะทำให้เกิดความยับยั้ง กล่าวคืออกุศลธรรมอันได้แก่ตัณหากิเลสอ่อนกำลัง จิตนี้ก็จะไม่ผลุนผลันไปตามอำนาจของตัณหาของกิเลส จิตนี้ก็จะเกิดความยับยั้งไม่ก่อมโนกรรมฝ่ายอกุศลขึ้นอย่างแรง และเมื่อเป็นดั่งนี้จิตก็จะผ่อนคลายจากความยึดถือบีบบังคับของตัณหาของกิเลส
เวทนาเองก็จะผ่อนคลายลงจากความที่เป็นทุกข์อย่างละเอียดบ้างอย่างหยาบบ้าง เพราะถูกกิเลสบีบคั้น มาเป็นเวทนาที่เป็นตัวความสุขที่เกิดจากความสงบขึ้น กายเองก็จะเป็นกายที่มีความปรกติขึ้น ไม่ประกอบก่อกายกรรมวจีกรรมฝ่ายอกุศลต่างๆ ก็เป็นอันว่าเกิดความยับยั้ง ซึ่งความยับยั้งนี้ก็คือตัวศีลนั้นเอง ทำให้ไม่ละเมิดกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ฝ่ายอกุศล แล้วก็เป็นตัวสมาธิอย่างอ่อนนั้นเอง ก็ทำให้จิตมีความสงบขึ้น ไม่ดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่ายไปต่างๆ ความดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่ายต่างๆ นั้นสงบลงไป
และเมื่อเป็นดั่งนี้แล้วก็จะเป็นทางนำปัญญา คือความรู้จักผิดชอบชั่วดีมากขึ้น คือรู้จักว่านี่เป็นอกุศล สติที่ยับยั้งไว้ได้นี่เป็นกุศล และปัญญาที่รู้จักว่านี่เป็นกุศล นี่เป็นอกุศลนี้เป็นตัวปัญญา อันเป็นพื้นฐานแห่งปัญญาสืบต่อไป นี้เป็นสติปัฏฐานในขั้นศีล คือทำให้บังเกิดเป็นศีลขึ้นมาได้ …( เริ่ม) ...และในขั้นสมาธิก็จะทำให้จิตสงบขึ้นจากกิเลสอย่างหยาบ และจากกิเลสอย่างกลางมากขึ้น
และเมื่อได้สติปัฏฐานในขั้นนี้ก็เป็นอันว่า เป็นการปฏิบัติที่จะทำให้จิตนี้ไม่ต้องเป็นทาสของตัณหา ไม่ต้องเป็นทาสของกิเลส ฉะนั้นการปฏิบัติดั่งนี้ทุกคนจึงสามารถปฏิบัติได้ด้วยการที่หยุดดูจิตของตนนั้นเอง หรือเมื่อกล่าวเป็นสติปัฏฐานทั้ง ๔ ก็คือหยุดดูธรรมะในจิตที่บังเกิดขึ้น ดูตัวจิตเอง ดูเวทนา และดูกายพร้อมทั้งวาจาของตนซึ่งรวมอยู่ในข้อว่ากาย
ฉะนั้นเมื่อมีสติ สติปัฏฐาน ตั้งสติขึ้นมาดั่งนี้ จนสติตั้งขึ้นมา แล้วศีลก็จะมา สมาธิก็จะมา ปัญญาก็จะมาโดยลำดับ และก็จะเปลื้องตนจากความเป็นทาสของตัณหา จากความเป็นทาสของกิเลสได้โดยลำดับ และก็เป็นสติปัฏฐานอันเป็นข้อที่พึงปฏิบัติได้ทั่วไปทุกกาลทุกเวลา เพราะว่าจิตนี้กับอารมณ์ซึ่งมาประกอบกันทุกคนต้องมีอยู่เป็นประจำ ฉะนั้นจึงต้องมีสติดังกล่าวนี้อยู่เป็นประจำ ให้เป็น สติเนปักกะ คือสติเป็นเครื่องรักษาตน รักษาจิตใจ ก็จะทำให้สามารถรักษาตนไว้ไม่ให้เป็นทาสของตัณหา ไม่ให้เป็นทาสของกิเลสได้ หรือว่าเป็นไปบ้างแล้วก็แก้ได้ในเมื่อมีสติที่เป็นสติพละ สติที่เป็นกำลัง อันเนื่องมาจากการหัดปฏิบัติได้เพียงพอ
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป