แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
พระบรมศาสดาได้ทรงแสดงธรรมะที่เป็น พหุลานุสาสนี คือเป็นอนุสาสนีคำพร่ำสอนไว้เป็นอันมาก ให้บุคคลรู้ทุกข์ หรือรู้จักทุกข์ โดยที่ได้ทรงยกเอาขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ ขึ้นแสดงโดยทวิลักษณ์คือลักษณะ ๒ หรือไตรลักษณ์ ลักษณะ ๓ ดังเช่นในบทสวดแสดง สังเวควัตถุ คือวัตถุที่ตั้งแห่งความสังเวช ที่สวดต่อจากบทสรรเสริญคุณพระรัตนตรัย พุทโธ สุสุทโธ กรุณามหัณโว ( ไฟล์เสียงไม่มีประโยคเหล่านี้) คำสั่งสอนที่แสดงชี้ ยกเอาขันธ์ ๕ ขึ้นแสดงให้รู้จักลักษณะ ๒ คือ อนิจจลักษณะ ลักษณะที่ไม่เที่ยง และ อนัตตลักษณะ ลักษณะที่เป็นอนัตตา มิใช่ตัวตน ดั่งนี้ ก็เป็นพหุลานุสาสนี ถ้อยคำพร่ำสอนที่มีเป็นอันมากของพระพุทธเจ้าผู้พระบรมศาสดา
และที่แสดงโดยลักษณะ ๓ คือเติม ทุกขลักษณะ เข้าตรงกลาง เป็น อนิจจลักษณะ ลักษณะว่าไม่เที่ยง ทุกขลักษณะ ลักษณะเป็นทุกข์ และ อนัตตลักษณะ ลักษณะเป็นอนัตตา มิใช่อัตตาตัวตน ก็เป็นพหุลานุสาสนี คำพร่ำสอนที่มีเป็นอันมากเช่นเดียวกัน ก็ยกเอาขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ เหล่านี้ขึ้นเป็นที่ตั้ง เพื่อให้กำหนดพิจารณาให้รู้จักเช่นเดียวกัน
สำหรับที่แสดงลักษณะ ๒ คืออนิจจลักขณะ กับ อนัตตลักขณะนั้น หากจะมีปัญหาว่าไม่ขาด ทุกขลักษณะ ไปหรือ ก็ตอบได้ว่าไม่ขาด ทุกขลักษณะนั้นแม้ไม่แสดงก็รวมอยู่ในอนิจจลักขณะกับทั้งอนัตตลักขณะนั้นเอง และในบทสวดมนต์ตอนเช้าที่มิได้แสดงทุกขลักขณะด้วย เมื่อกำหนดดูบทสวดก็จะเห็นได้ว่าเริ่มด้วยที่สวดแสดงว่า เราทั้งหลายทุกคนเป็นผู้อันความทุกข์หยั่งลงแล้ว มีทุกข์เป็นเบื้องหน้าอยู่ด้วยกัน และความทุกข์ที่หยั่งลง ความทุกข์ที่เป็นเบื้องหน้าของทุกๆ คนนี้ ก็คือชาติทุกข์ ชราทุกข์ มรณะทุกข์ เป็นต้น
ดังที่พระบรมศาสดาได้ตรัสแสดงชี้ไว้ ในหมวดทุกขสัจจะสภาพที่จริงคือทุกข์ ในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ และทุกข์ที่แสดงไว้ว่าทุกคนมีทุกข์หยั่งลง มีทุกข์เป็นเบื้องหน้านี้ ก็เพื่อให้ทุกๆ คนได้บังเกิดธรรมสังเวช คือความสังเวชใจ เพราะเหตุที่มีทุกข์ประกอบอยู่ล้อมอยู่โดยรอบ เพื่อที่จะได้ขวนขวายปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ อันเป็นความมุ่งหมายในการปฏิบัติพระพุทธศาสนา
เพราะฉะนั้น คำว่าทุกข์นี้จึงเป็นคำที่รวมทั้งหมด ฉะนั้น เมื่อได้กำหนดพิจารณาให้เกิดความสังเวช ว่าทุกคนมีทุกข์หยั่งลง มีทุกข์เป็นเบื้องหน้าดั่งนี้ จึงได้สวดไปถึงพหุลานุสาสนีของพระพุทธเจ้า ยกเอาขันธ์ ๕ ขึ้นมาสวด เพื่อที่จะได้กำหนดพิจารณาต่อไปให้มองเห็นว่าเป็นทุกข์อย่างไร ก็คือว่าขันธ์ ๕ อันเป็นที่ตั้งแห่งสมมติบัญญัติว่าอัตภาพความเป็นตัวเราของเรานี้ ก็คือกองรูป กองเวทนา กองสัญญา กองสังขาร กองวิญญาณ ก็ล้วนไม่เที่ยง หรือล้วนเป็นอนัตตามิใช่อัตตาตัวตน เพราะบังคับให้เป็นไปตามความปรารถนามิได้ ไม่จำเป็นที่จะต้องแสดงทุกขลักษณะไว้ในที่นี้อีก เพราะได้ยกความทุกข์ขึ้นมาปรารภไว้ในเบื้องต้นแล้ว อันเป็นที่รวมของลักษณะทั้งหมด ก็เป็นอันว่า อนิจจตา ความไม่เที่ยง อนัตตตา ความเป็นอนัตตา ก็รวมอยู่ในคำว่าทุกข์คำเดียวกันนี้นั่นเอง
และก็จะพึงเข้าใจอีกได้ว่า อนิจจตาความไม่เที่ยงนั้นก็รวมเอาทุกขตาความเป็นทุกข์ไว้ด้วย เพราะขึ้นชื่อว่าความไม่เที่ยงก็เพราะเป็นสิ่งที่เกิดดับ ความเป็นสิ่งที่เกิดดับนี้เองคือตัวไม่เที่ยง ถ้าเที่ยงแล้วเกิดก็จะต้องไม่ดับ ดำรงอยู่โดยไม่ดับ ความที่ดำรงอยู่ดั่งนี้จึงจะเที่ยง แต่เมื่อดำรงอยู่ไม่ได้ต้องดับจึงชื่อว่าไม่เที่ยง และเพราะความไม่เที่ยงดั่งนี้จึงชื่อว่าเป็นทุกข์ คืออาการที่ต้องถูกความเกิดและความดับดั่งนี้บีบคั้นอยู่ตลอดเวลา มองลงไปในลักษณะที่ต้องเกิดต้องดับอยู่ตลอดเวลาดั่งนี้ เหมือนอย่างถูกความเกิดความดับบีบคั้น จึงมีลักษณะที่เป็นทุกข์
และแม้ไม่มองในลักษณะเหมือนอย่างถูกบีบคั้นดั่งนั้น ความที่ต้องเกิดต้องดับก็คือความที่ไม่ตั้งอยู่คงที่ ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป ลักษณะที่ไม่ตั้งอยู่คงที่ดั่งนี้ จึงชื่อว่าเป็นทุกข์ เพราะฉะนั้นทุกข์จึงอิงอยู่กับความไม่เที่ยงนั้นเอง และก็อิงอยู่กับความเป็นอนัตตา มิใช่อัตตาตัวตนด้วย ถึงจะไม่แสดงทุกขลักษณะเอาไว้ ทุกขลักษณะ ก็รวมอยู่ใน อนิจจตา ความไม่เที่ยง กับ อนัตตตา ความมิใช่อัตตาตัวตน ดังกล่าว
และข้อที่สวดกันว่า สัพเพ สังขารา อนิจจา สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง สัพเพ ธัมมา อนัตตา ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตามิใช่อัตตาตัวตน หรือว่าเติมข้อทุกข์เข้าตรงกลางเป็นไตรลักษณ์ว่า สัพเพ สังขารา อนิจจา สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง สัพเพ สังขารา ทุกขา สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ สัพเพ ธัมมาอนัตตา ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตามิใช่อัตตาตัวตน จึงมีปัญหาขึ้นข้อท้ายว่าทำไมจึงสวดว่า สัพเพ ธัมมา อนัตตา ไม่สวดว่า สัพเพ สังขารา อนัตตา ก็ตอบได้ว่าอันที่จริงก็สวดได้ว่า สัพเพ สังขารา อนัตตา สังขารทั้งปวงเป็นอนัตตามิใช่อัตตาตัวตน แต่จะต้องสวดเพิ่มอีกข้อหนึ่งว่า สัพเพ วิสังขาราอนัตตา วิสังขารทั้งปวงเป็นอนัตตา มิใช่อัตตาตัวตน ฉะนั้นเพื่อไม่ให้ต้องสวดเพิ่มเป็นสองข้อในข้ออนัตตา จึงใช้ธัมมาเข้ามาแทนเป็น ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา
สังขาร วิสังขาร
ฉะนั้นคำว่าธรรมทั้งปวงนี้ท่านจึงแสดงว่า หมายถึงทั้ง สังขตธรรม ธรรมะที่ถูกปรุงแต่งก็คือสังขาร และ อสังขตธรรม ธรรมะที่ไม่ถูกปรุงแต่งคือวิสังขาร เพราะอนัตตานี้ทั้งสังขารทั้งวิสังขารต่างเป็นอนัตตา มิใช่อัตตาตัวตนด้วยกัน สังขารนั้นก็คือสิ่งผสมปรุงแต่ง วิสังขารนั้นตรงกันข้าม คือสิ่งที่ไม่ผสมปรุงแต่ง ที่ท่านแสดงว่าอย่างสูงสุดก็ได้แก่นิพพาน หรือวิราคะธรรม ธรรมะที่สิ้นความติดใจยินดี หมดความปรุงแต่งด้วยประการทั้งปวง วิราคะธรรมหรือนิพพานสิ้นกิเลสเป็นเครื่องร้อยรัดใจทั้งหมด เป็นวิสังขาร หรืออสังขตธรรมที่เป็นยอด ตามพระพุทธภาษิตที่ได้แสดงไว้ว่าอสังขตธรรมทั้งหลายนั้น มีวิราคะธรรมคือนิพพานดั่งนี้เป็นยอด
และเมื่อแสดงอย่างนี้ก็บ่งว่า จะต้องมีวิสังขารหรืออสังขตธรรมมากอย่าง หรือหลายอย่างด้วยกัน ฉะนั้นเมื่อพิจารณาดูให้ดีก็ย่อมจะมองเห็นว่า บรรดาสิ่งทั้งหมดนั้นก็จะต้องมีสิ่งที่ปรุงแต่ง กับสิ่งที่ไม่ปรุงแต่งเป็นคู่กัน สิ่งที่ปรุงแต่งนั้นก็จะต้องมีว่าปรุงแต่งจากอะไร จะต้องมีสิ่งที่เป็นต้นเดิมมาเป็นส่วนปรุงแต่งขึ้น
ที่มาของคำว่าธาตุ
เพราะฉะนั้นจึงได้มีคำสมมติบัญญัติเรียกสิ่งที่เป็นต้นเดิม อันเป็นที่มาของสิ่งปรุงแต่งทั้งหลายว่าธาตุ ซึ่งบรรดาสังขารทั้งหลายนั้นก็จะต้องมาจากธาตุ และธาตุในทางพิจารณานั้นก็ดังเช่นที่ตรัสสอนให้พิจารณาว่ากายนี้ปรุงมาจากธาตุ ๔ คือธาตุดินธาตุน้ำธาตุไฟธาตุลม และเติมอากาสธาตุเข้าอีกก็เป็นธาตุ ๕ แต่โดยมากก็แสดงแค่ธาตุ ๔ สำหรับพิจารณา ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ก็ธาตุเหล่านี้มาปรุงขึ้นเป็นกาย และเมื่อกายแตกสลาย ธาตุทั้งหลายที่ปรุงเข้ามารวมกันเข้าเป็นกายนี้ก็แตกแยกกันออกไป และบุคคลทุกๆ คนนั้นยังมีวิญญาณธาตุคือธาตุรู้เข้ามาประกอบอีกด้วย จึงเป็นบุรุษสตรีเป็นบุคคล
ฉะนั้นพระบรมศาสดาจึงได้ทรงแสดงว่าบุรุษบุคคลเรานี้มีธาตุ ๖ คือธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ธาตุอากาส และวิญญาณธาตุคือธาตุรู้ดั่งนี้ มาประชุมปรุงแต่งกันขึ้นเป็นบุรุษสตรี เป็นบุคคลดังที่ปรากฏอยู่ เพราะฉะนั้น ธาตุเมื่อเป็นธาตุแท้ก็ย่อมเป็นวิสังขาร แต่ว่าธาตุในทางพิจารณานั้นก็อาจจะยังไม่ใช่เป็นธาตุแท้ อย่างธาตุดินธาตุน้ำธาตุไฟธาตุลม ก็ยังเป็นสังขารคือสิ่งผสมปรุงแต่งอีกนั่นเอง แต่ว่าถ้าแสดงโดยลักษณะเช่นว่าสิ่งที่แข้นแข็งเรียกว่าปฐวีธาตุธาตุดิน สิ่งที่เอิบอาบเหลวไหลเรียกว่าอาโปธาตุธาตุน้ำ สิ่งที่อบอุ่นเรียกว่าเตโชธาตุธาตุไฟ สิ่งที่พัดไหวเรียกว่าวาโยธาตุธาตุลม และสิ่งที่เป็นช่องว่างเรียกว่าอากาสธาตุธาตุอากาศ ดั่งนี้ ความเป็นธาตุก็ละเอียดเข้าไปอีก
อย่างไรก็ดีที่จะเป็นวิสังขาร คือไม่ใช่สิ่งปรุงแต่งอันเป็นต้นเดิมที่แท้จริงนั้น ก็จะต้องเป็นสิ่งที่แยกออกไปอีกไม่ได้ เป็นสิ่งที่ยืนตัวอยู่อย่างนั้น แยกออกไปไม่ได้จริงๆ จึงจะเป็นตัวธาตุแท้ และถ้าหากว่ามีอยู่ นั่นก็คือวิสังขารทางวัตถุ ซึ่งเป็นต้นเดิมของสังขารสิ่งประสมปรุงแต่งทางวัตถุทั้งหลาย
ส่วนทางจิตใจนั้น จิตใจที่เป็นวิญญาณธาตุ ธาตุรู้ ตัวรู้ที่ประกอบด้วยอวิชชา ตัณหา อุปาทาน กรรมทั้งหลาย นั่นก็ยังเป็นสังขารส่วนประสมปรุงแต่ง แต่ว่าตัวรู้ที่สิ้นอวิชชาตัณหาอุปาทานทั้งหมด เป็นตัวรู้ที่รู้พ้น ไม่มีสิ่งผสมปรุงแต่ง ไม่มีการผสมปรุงแต่งทั้งสิ้น เป็นรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระอรหันต์สาวกทั้งหลาย สิ้นอาสวะกิเลสทั้งหมด ซึ่งอาจจะแสดงออกมาเป็นสมมติบัญญัติก็เป็นวิชชาเป็นวิมุติ เป็นตัวรู้ที่บริสุทธิ์ไม่มีเครื่องปรุงแต่งด้วยประการทั้งปวง ดั่งนี้ก็กล่าวได้ว่าเป็นสภาพที่เป็นวิสังขาร ที่เป็นวิราคะธรรม หรือเป็นนิพพาน ส่วนวิญญาณธาตุ ธาตุรู้ ที่ยังประกอบด้วยอาสวะกิเลสก็ยังเป็นสังขารคือยังผสมปรุงแต่ง เพราะฉะนั้น วิสังขารหรืออสังขตธรรมทางวิญญาณธาตุนั้น แสดงได้ตามหลักพระพุทธศาสนา ดั่งนี้ เพราะฉะนั้นจึงเป็นสิ่งที่มีอยู่เป็นคู่กัน สังขาร วิสังขาร และทั้งหมดนี้ก็เป็นอนัตตามิใช่อัตตาตัวตน
เพราะว่าเป็นสภาพธรรมดา เป็นธรรมดาที่เป็นไปอยู่ดั่งนี้ ไม่ใช่เป็นใคร ไม่ใช่เป็นของใคร เหมือนอย่างดินฟ้าอากาศที่เป็นของธรรมชาติธรรมดา ไม่ใช่เป็นใคร ไม่ใช่เป็นของใคร ความเป็นใครเป็นของใครนั้นเพราะอุปาทานคือความยึดถือเท่านั้น เพราะฉะนั้นพระบรมศาสดาจึงได้ตรัสสอนให้บุคคลกำหนดพิจารณา ให้รู้จักตัวทุกข์อันมีอยู่แก่ทุกๆ คน ดังที่สวดว่ามีทุกข์หยั่งลงแล้ว มีทุกข์เป็นเบื้องหน้า เพื่อให้มองเห็นทุกข์
วิธีฝึกให้มองเห็นทุกข์
และความที่จะมองเห็นทุกข์นั้น วิธีที่พิจารณาที่เป็นพหุลานุสาสนีนี้ ก็เป็นวิธีที่สำหรับที่จะฝึกให้มองเห็นทุกข์ได้เป็นอย่างดี และก็จัดเข้าในฝ่ายวิปัสสนากรรมฐาน ซึ่งจะต้องมีสติเป็นเครื่องนำ ก็คือสติปัฏฐาน ซึ่งจะมาเป็นสติสัมโพชฌงค์ สติที่จะเป็นเหตุปัจจัยให้ได้ปัญญาวิจัยธรรมะ และเมื่อวิจัยธรรมะได้ ก็จะเป็นสัมมาสติวิจัยทุกข์ได้ มองเห็นทุกข์ได้ แต่ว่าการที่จะมองเห็นทุกข์นี้ที่เป็นสิ่งที่ยาก ก็เพราะว่าบุคคลยังติดอยู่ในทุกข์ ยังพอใจอยู่ในทุกข์ ยังมองเห็นว่าเป็นความสุข คือเห็นทุกข์ว่าเป็นความสุข ซึ่งลักษณะดังกล่าวนี้เรียกว่า นันทิ คือความเพลิน กับ ราคะ ความติดใจยินดี ดังเช่นขันธ์ ๕ อันเป็นสมมติบัญญัติว่าเป็นอัตภาพอันนี้ อันเป็นขมวดที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนว่า กล่าวโดยย่อขันธ์เป็นที่ยึดถือทั้ง ๕ ประการเป็นทุกข์ แต่แม้เช่นนั้นก็ยังมีความเพลินความติดใจยินดีอยู่ในทุกข์นี้ คือยังเพลินยังติดใจยินดีอยู่ในรูปขันธ์กองรูป ในเวทนาขันธ์กองเวทนา ในสัญญาขันธ์กองสัญญา ในสังขารขันธ์กองสังขาร ในวิญญาณขันธ์กองวิญญาณ
อาการที่เรียกว่าจิตดิ้นรนกวัดแกว่ง
และมิใช่แต่เท่านั้น เมื่อมีความเพลินมีความติดใจยินดี ก็ย่อมมีความดิ้นรนของใจ ใคร่ที่จะได้ ใคร่ที่จะเป็น ใคร่ที่จะทำลาย อันเกี่ยวแก่ความเพลินและความติดใจยินดีนี้ด้วย ใคร่ที่จะได้นั้น ก็คือใคร่ที่จะได้รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจต่างๆ ใคร่ที่จะเป็นนั้นก็คือใคร่ที่จะให้รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นของตนอยู่ตลอดไป... ( เริ่ม ) ...ใคร่ที่จะทำลายนั้นก็คือใคร่ที่จะทำลายสิ่งที่มาขัดขวาง ต่อความประสบความสำเร็จในการได้ต่อความที่จะเป็นของตน เป็นต้น อยู่ในขันธ์ ๕ นั้น จิตจึงมีความดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่าย
และอาการที่จิตมีความดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่ายไป เพื่อที่จะได้ เพื่อที่จะเป็น เพื่อที่จะทำลายนี้ นี้แหละที่พระพุทธเจ้าตรัสยกเอาข้อนี้ขึ้นมาว่า เป็นตัว ทุกขสมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์ คือตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก ดิ้นรนทะยานอยากไปเพื่อจะได้ เพื่อที่จะเป็น เพื่อที่จะทำลาย ซึ่งอาจจะย่อลงได้เป็น ๒ คือดิ้นรนทะยานอยากเพื่อที่จะดึงเข้ามาอย่างหนึ่ง เพื่อที่จะผลักออกไปอย่างหนึ่ง ความดิ้นรนทะยานอยากที่จะได้ที่จะเป็นนั้น เป็นความดิ้นรนทะยานอยากในอันที่จะดึงเข้ามา ความดิ้นรนทะยานอยากที่จะทำลายนั้น เป็นความดิ้นรนทะยานอยากเพื่อที่จะผลักออกไป ก็คือว่าดึงเอาที่ชอบใจเข้ามา ผลักที่ไม่ชอบใจออกไป
อาการของจิตที่เป็นความดิ้นรนทะยานอยากดั่งนี้เรียกว่าตัณหา และก็เนื่องมาจาก หรือประกอบกับตัวนันทิความเพลิดเพลิน กับราคะความติดใจยินดีอยู่ด้วยนั่นเอง เพราะฉะนั้น จึงมีความยึด ยึดอยู่ในขันธ์ ๕ ไม่ปล่อย ยึดว่าเป็นตัวเราของเรา หรือว่ายึดว่า เอตัง มะมะ นี่เป็นของเรา เอโส หะมัสมิ เราเป็นนี่ เอโส เม อัตตา นี่เป็นอัตตาตัวตนของเรา ย่อลงก็คือว่ายึดว่าเป็นตัวเราของเรา ยึดอยู่ว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นตัวเรา รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นของเรา ยังมีความยึดอยู่ดั่งนี้
ลักษณะที่ยึดนี้เรียกว่าอุปาทาน ลักษณะที่ดิ้นรนทะยานอยากของใจเรียกว่าตัณหา ลักษณะที่เพลิดเพลินเรียกว่านันทิ ลักษณะที่ติดใจยินดีเรียกว่าราคะ เหล่านี้รวมกันอยู่เป็นก้อนเดียว ซึ่งเป็นตัวทุกขสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวด และตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป