แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
สติปัฏฐานตั้งสติกำหนดพิจารณากายเวทนาจิตธรรม ด้วยวิธีอนุปัสสนา คือดูตามกายเวทนาจิตธรรมที่เป็นไป เหมือนอย่างพี่เลี้ยงมองตามเด็กที่เลี้ยง ซึ่งยืนอยู่เบื้องหน้า เด็กนั้นจะเดินจะยืนจะนั่งจะนอน จะทำจะเล่นอะไรอยู่เบื้องหน้า ก็อยู่ในสายตาของพี่เลี้ยง ดั่งนี้เป็นสติที่เรียกว่าอนุปัสสนาดูตามไป เมื่อได้สติที่เป็นอนุปัสสนาดั่งนี้ก็ชื่อว่าได้สติปัฏฐาน สติตั้งขึ้นในด้านอนุปัสสนาคือดูตาม และเมื่อได้ในขั้นอนุปัสสนาดั่งนี้ก็เป็นทางให้ได้ปัญญาที่เป็นวิปัสสนาเห็นแจ้งรู้จริงต่อไป และแม้ปัญญาที่เป็นวิปัสสนาดั่งนี้เป็นตัวปัญญา แต่ก็นับรวมอยู่ในสติปัฏฐานด้วย เพราะมีสติเป็นเหตุให้ได้ปัญญาดังกล่าว และปัญญาที่เป็นวิปัสสนานี้ ก็ต้องอาศัยสติกำหนดในอารมณ์ของวิปัสสนา คือกายเวทนาจิตธรรมนี่แหละ
อารมณ์วิปัสสนา
แต่พระพุทธเจ้าผู้พระบรมศาสดาได้ตรัสสอนอารมณ์ของวิปัสสนาไว้ ยกเอาขันธ์ ๕ ขึ้นโดยมาก คือรูปขันธ์กองรูป เวทนาขันธ์กองเวทนา สัญญาขันธ์กองสัญญา สังขารขันธ์กองสังขาร วิญญาณขันธ์กองวิญญาณ ขันธ์ ๕ นี้ก็เป็นสมมติบัญญัติธรรมในกลุ่มเดียวกันกับกายเวทนาจิตธรรม กายเวทนาจิตธรรมก็เป็นสมมติบัญญัติธรรมในกายที่ยาววาหนาคืบ มีสัญญามีใจครองนี้ ขันธ์ ๕ ก็เป็นสมมติบัญญัติธรรมในกายที่ยาววาหนาคืบมีสัญญามีใจครองนี้เช่นเดียวกัน เป็นแต่เพียงว่าสมมติบัญญัติธรรมต่างชื่อกันไปเท่านั้น
เพราะฉะนั้น สติจะกำหนดกายเวทนาจิตธรรมดังที่สมมติบัญญัติไว้ในสติปัฏฐาน ๔ ดั่งนี้ก็ได้ จะกำหนดรูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณก็ได้ จะกำหนดย่อลงมาเป็นนามและรูปก็ได้ หรือว่าจะกำหนดโดยเป็นอายตนะภายใน ๖ ภายนอก ๖ ที่คู่กันอยู่ก็ได้ แต่ว่าให้กำหนดลงไปที่ กาย ยาววา หนาคืบ มีสัญญามีใจครองนี้นี่แหละ ไม่ใช่กำหนดที่อื่น กำหนดลงไปนี้เป็นตัวสติ คือเมื่อกำหนดดูไปที่อารมณ์ของวิปัสสนาดังกล่าว ลักษณะที่เป็นทุกขสัจจะสภาพที่จริงคือทุกข์ก็ย่อมจะปรากฏขึ้น พระบรมศาสดาได้ตรัสสอนไว้ในที่แห่งหนึ่งให้พิจารณาทุกข์ในลักษณะที่เป็นทุกขทุกข์ เป็นสังขารทุกข์... ( เริ่ม ) ...และเป็นวิปรินามทุกข์ คือทุกข์คำนี้นี่แหละ พิจารณาไปโดยอาการเป็น ๓
ทุกขทุกข์ ก็แปลว่า ทุกข์คือทุกข์ ทุกข์คือทุกข์นี้ ก็ตามที่พระบรมศาสดาได้ตรัสจำแนกแสดงเอาไว้ว่า ชาติ ความเกิดเป็นทุกข์ ชรา ความแก่เป็นทุกข์ มรณะ ความตายเป็นทุกข์ โสกะ ความแห้งใจ ปริเทวะ ความรัญจวนคร่ำครวญใจ ทุกขะ ความไม่สบายกาย โทมนัสสะ ความไม่สบายใจ อุปายาสะ ความคับแค้นใจเป็นทุกข์ ความประจวบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รักเป็นทุกข์ ความพลัดพรากจากสิ่งที่เป็นที่รักเป็นทุกข์ ความปรารถนาไม่ได้สมหวังเป็นทุกข์ กล่าวโดยย่อขันธ์เป็นที่ยึดถือทั้ง ๕ ประการเป็นทุกข์ ก็คือ รูปขันธ์ กองรูป เวทนาขันธ์ กองเวทนา สัญญาขันธ์ กองสัญญา สังขารขันธ์ กองสังขาร วิญญาณขันธ์ กองวิญญาณ
ความเกิดแก่ตายเป็นทุกข์
สติกำหนดพิจารณาทุกข์คือทุกข์นี้ ให้กำหนดให้เข้าถึงทุกข์เหล่านี้ที่กายยาววาหนาคืบมีสัญญามีใจครองดังกล่าว กำหนดพิจารณาชาติคือความเกิด คือความที่เกิดก่อขันธ์ทั้งปวง อายตนะทั้งปวง อันรวมเป็นนามรูปนี้ อันเป็นที่ตั้งแห่งสมมติบัญญัติว่าอัตภาพอันนี้ ตั้งแต่ถือกำเนิดเกิดก่อขึ้นในครรภ์ของมารดา คลอดออกมาเป็นอัตภาพร่างกายจิตใจอันนี้ เป็นชาติคือความเกิด ว่าเป็นตัวทุกข์ เพราะว่าเป็นตัวทุกข์อยู่ตามสภาพเอง และเป็นที่ตั้งของความทุกข์ทั้งหลายทั้งหมด
ตั้งสติกำหนดพิจารณาดูชรา คือความแก่ คือความที่ร่างกายชำรุดทรุดโทรม เป็นความชรา ดังที่ได้ประสบกัน และได้เห็นกันอยู่ ว่าเป็นตัวทุกข์ ดังที่ปรากฏว่าความแก่หรือคนแก่นั้นต้องเป็นทุกข์อย่างไร ตัวความแก่เองก็เป็นทุกข์ตามสภาพ
ตั้งสติกำหนดพิจารณาดูมรณะ คือความตาย ว่าเป็นตัวทุกข์ ทุกคนจึงกลัวตายเพราะเหตุที่ทุกคนยังรักชีวิต ความตายนั้นเป็นความสิ้นชีวิต ความตายเป็นทุกข์ตามสภาพ และยังเป็นตัวทุกข์ ซึ่งเป็นภัยคือเป็นที่กลัว
ตั้งสติกำหนดพิจารณาดูโสกะ ความแห้งใจ ปริเทวะความรัญจวนคร่ำครวญใจ ความไม่สบายกายความไม่สบายใจ ความคับแค้นใจต่างๆ ซึ่งทุกคนต่างเคยได้รับความทุกข์เหล่านี้ และก็ย่อมรู้สึกว่าเป็นตัวทุกข์ ที่แม้ว่าไม่ชอบแต่ก็ต้องพบต้องประสบในคราวใดคราวหนึ่ง น้อยหรือมาก
ตั้งสติกำหนดพิจารณาดูความทุกข์ต่างๆ ที่เกิดเพราะประจวบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก ที่เกิดเพราะพลัดพรากจากสิ่งที่เป็นที่รัก ที่เกิดเพราะปรารถนามิได้สมหวังต่างๆ และก็หัดพิจารณากำหนดดูตามที่พระพุทธเจ้าตรัสสรุป
ขันธ์ ๕ เป็นทุกข์
เมื่อกล่าวโดยย่อ ขันธ์เป็นที่ยึดถือทั้ง ๕ ประการเป็นทุกข์ ก็เพราะมีความยึดถืออยู่ในขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ จึงเป็นที่ยึดถือ ซึ่งเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าเป็นตัว อุปาทิ เข้าไปทรง คือเป็นที่เข้าไปยึดถือของจิตใจ จิตใจต้องติดอยู่ ต้องกังวลห่วงใยอยู่ ต้องแบกอยู่ ซึ่งขันธ์ ๕ เหล่านี้ ต้องแบกรูปขันธ์ คือรูปกายอันนี้ ต้องแบกเวทนาขันธ์สุขทุกข์หรือเป็นกลางๆ ไม่ทุกข์ไม่สุขต่างๆ ที่บังเกิดขึ้น ต้องแบกสัญญาขันธ์คือกองความจำต่างๆ ชอบก็จำ ไม่ชอบก็จำ เมื่อจำแล้วจะบังคับให้ลืมก็ไม่ได้
ต้องแบกสังขารคือความคิดปรุงหรือความปรุงคิดของตัวเอง ละไม่ได้ แม้จะรู้ว่าอันความทุกข์เดือดร้อนต่างๆ นั้นบังเกิดเพราะจิตใจนี้เองปรุง คือปรุงคิดไป เมื่อปรุงคิดไปเป็นทุกข์ก็ต้องเป็นทุกข์ หากว่าสามารถคิดปรุงไปให้เป็นสุขก็เป็นสุขได้ แต่ว่าในขณะที่ประสบเหตุอันเป็นที่ตั้งแห่งทุกข์ต่างๆ นั้น ยากที่จะปรุงคิดไปในทางให้เป็นสุข ก็คิดปรุงในทางที่เป็นทุกข์ เมื่อคิดปรุงไปเป็นทุกข์ก็ต้องเป็นทุกข์ ก็ต้องแบกเอาทุกข์อันนี้ไว้ อันเกิดจากความคิดปรุงของตัวเอง
และต้องแบกเอาวิญญาณขันธ์กองวิญญาณคือตัวความรู้เห็น รู้ได้ยิน รู้ได้ทราบ รู้คิดนึก ก็เพราะดับความรู้เหล่านี้ในอารมณ์ทั้งหลายไม่ได้ เมื่อตากับรูปประจวบกันก็ต้องรู้รูปคือเห็น จะเป็นรูปที่ชอบใจไม่ชอบใจก็ต้องเห็น หูกับเสียงประจวบกันก็ต้องได้ยิน สรรเสริญก็ได้ยิน นินทาก็ได้ยิน เมื่อจมูกกับกลิ่น ลิ้นกับรส กายและสิ่งถูกต้อง ประจวบกันก็ต้องทราบ ทราบกลิ่นทราบรสทราบสิ่งถูกต้อง จะให้ไม่ทราบก็ไม่ได้ เมื่อมโนคือใจกับธรรมะคือเรื่องราวประจวบกัน ก็ต้องรู้ต้องคิดในเรื่องเหล่านั้น จะไม่ให้รู้ก็ไม่ได้ จึงต้องแบกเอาสิ่งที่ได้เห็น สิ่งที่ได้ยิน สิ่งที่ได้ทราบ สิ่งที่ได้คิดได้รู้เหล่านี้เอาไว้
พอใจหรือไม่พอใจก็ต้องแบกเอาไว้ และนอกจากนี้ยังเป็นเหตุที่จะให้แสวงหา ที่จะให้ได้เห็นที่จะให้ได้ยินเป็นต้นในสิ่งที่ชอบปรารถนา หลีกหนีจากสิ่งที่ไม่ชอบไม่ปรารถนา จึงเป็นเหตุให้เกิดความขวนขวายต่างๆ ดังกล่าว ก็ต้องแบกเอาไว้ทั้งหมด เหล่านี้เป็นตัวทุกข์ เพราะไปยึดเอาไว้ แล้วก็ปล่อยก็ไม่ได้ แล้วยิ่งยึดก็ยิ่งเป็นทุกข์ ก็เป็นไปอยู่ดั่งนี้ ตามตัวอย่างที่แสดงมานี้คือหัดตั้งสติกำหนดพิจารณาดูทุกขทุกข์ คือทุกข์ตามที่พระพุทธเจ้าได้ทรงจำแนกแจกแจงแสดงสั่งสอนเอาไว้
สังขารทุกข์
อนึ่ง ก็หัดตั้งสติกำหนดพิจารณาสังขารทุกข์ ทุกข์คือสังขาร ก็คือบรรดาทุกขทุกข์ ทุกข์คือทุกข์ตามที่พระพุทธเจ้าทรงจำแนกแจกแจงเอาไว้ ตั้งแต่ชาติทุกข์ ทุกข์คือชาติคือความเกิดทั้งปวงนั้น ก็รวมเข้าเป็นสังขารคือเป็นสิ่งผสมปรุงแต่ง หรือความผสมปรุงแต่งทั้งนั้น ดังชาติคือความเกิด ก็คือความผสมปรุงแต่งของธาตุ ๖ เข้าด้วยกัน ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ธาตุอากาส และวิญญาณธาตุคือธาตุรู้ มาผสมกัน จึงก่อกำเนิดเกิดขึ้นมาเป็นบุคคล นี้ก็คือสังขารคือความผสมปรุงแต่ง หรือสิ่งผสมปรุงแต่ง ชราคือความแก่ มรณะคือความตายเป็นต้นก็เช่นเดียวกัน ก็เป็นสิ่งผสมปรุงแต่ง เป็นความผสมปรุงแต่ง
แม้โสกะความแห้งใจ ปริเทวะความคร่ำครวญใจเป็นต้น ก็เป็นสังขารคือเป็นสิ่งผสมปรุงปรุงแต่ง หรือเป็นความผสมปรุงแต่ง ก็คือว่าจิตกับอารมณ์อันเป็นที่ไม่ปรารถนาพอใจมาผสมกัน และจิตนี้เองก็คิดปรุงหรือปรุงคิดขึ้นมา เมื่อปรุงคิดหรือคิดปรุงขึ้นมาในทางทุกข์ก็เกิดทุกข์ เป็นโสกะ เป็นปริเทวะเป็นต้น ความประจวบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก ความพลัดพรากจากสิ่งที่เป็นที่รัก ก็เป็นสังขารคือเป็นสิ่งผสมปรุงแต่ง หรือความผสมปรุงแต่ง
เพราะว่าสิ่งที่เป็นที่รักก็ตาม ไม่เป็นที่รักก็ตาม ก็ล้วนเป็นสังขารคือสิ่งผสมปรุงแต่งทั้งนั้น เป็นบุคคลเป็นวัตถุสิ่งนั้นสิ่งนี้ ประกอบขึ้นด้วยธาตุทั้งหลายทั้งนั้น มาผสมปรุงแต่งขึ้นมาเป็นนั่นเป็นนี่ และอาการที่ประจวบก็คือความที่สิ่งเหล่านั้นมาผสมปรุงแต่งเข้ากับจิตใจ จิตใจไปยึดถือในสิ่งเหล่านั้นเอาไว้ไม่ปล่อย แม้ความพลัดพรากซึ่งดูเหมือนไม่ผสมปรุงแต่งก็ตาม แต่อันที่จริงเป็นความผสมปรุงแต่ง เพราะว่าจิตใจนี้ยังยึดถือ สิ่งที่เป็นที่รักต้องพลัดพรากไปด้วยเหตุใดก็ตาม ถ้าจิตใจไม่ยึดถือปล่อยได้ก็ไม่เป็นทุกข์ แต่เพราะจิตใจมีความยึดถือ ซึ่งตัวความยึดถือนี่แหละเป็นตัวสังขารคือความผสมปรุงแต่ง หรือสิ่งผสมปรุงแต่ง โดยเฉพาะจิตใจยังปรุงแต่งอยู่ ยังยึดถืออยู่ ว่านี่เราชอบ นี่เราไม่ชอบ สิ่งที่เราชอบเราไม่ได้ สิ่งที่เราชอบต้องเสียไป จิตยังผสมปรุงแต่งอยู่เป็นตัวสังขารอยู่ ความปรารถนาไม่สมหวังก็เช่นเดียวกัน ยังมีความปรารถนาซึ่งเป็นตัวความผสมปรุงแต่งอยู่ จึงต้องพบความไม่สมหวัง ซึ่งต้องมีอยู่เป็นประจำ
เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงได้ย่อลงในขันธ์ ๕ ซึ่งตัวขันธ์ ๕ นี้ก็ล้วนเป็นตัวผสมปรุงแต่งทั้งนั้น รูปขันธ์ก็ปรุงแต่ง ผสมปรุงแต่งจึงเป็นรูปขันธ์ขึ้นมา เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ ก็เป็นตัวผสมปรุงแต่ง เป็นสิ่งผสมปรุงแต่ง จึงเป็นเวทนา เป็นสัญญา เป็นสังขาร เป็นวิญญาณขึ้นมา เพราะฉะนั้น จึงล้วนเป็นสังขารคือสิ่งผสมปรุงแต่งทั้งหมด เมื่อยังเป็นสังขารคือสิ่งผสมปรุงแต่งอยู่ ก็ต้องเป็นทุกข์ เพราะฉะนั้น ในไตรลักษณ์จึงได้ตรัสสรุปเอาไว้ว่า สัพเพ สังขารา อนิจจา สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง สัพเพ สังขารา ทุกขา สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ สัพเพ ธัมมา อนัตตา ธรรมทั้งปวงก็คือทั้งสังขาร และทั้งวิสังขาร
วิสังขารคือสิ่งที่ไม่ผสมปรุงแต่งเป็นอนัตตา ไม่ใช่อัตตาตัวตน แต่โดยเฉพาะแล้วที่เป็นสังขารคือสิ่งผสมปรุงแต่งนั้นก็ต้องเป็นอนิจจะคือไม่เที่ยง ทุกขะเป็นทุกข์ อนัตตามิใช่อัตตาตัวตนทั้งหมด เพราะฉะนั้นก็ให้หัดตั้งสติกำหนดพิจารณาดูให้รู้จักสังขารทุกข์ ทุกข์คือสังขารดังกล่าวมานี้
วิปรินามทุกข์
และต่อจากนี้ก็หัดตั้งสติกำหนดพิจารณาดู วิปรินามทุกข์ ทุกข์คือความแปรปรวนเปลี่ยนแปลง สืบมาจากสังขารทุกข์ กล่าวคือสังขารสิ่งผสมปรุงแต่งทั้งปวงที่เป็นทุกข์นั้น ก็เพราะต้องตกอยู่ใน ทุกขทุกขะ ทุกข์คือทุกข์ดังที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสจำแนกแจกแจงเอาไว้ คือต้องเกิดต้องแก่ต้องตายเป็นต้น
และเมื่อสรุปมาแล้ว ก็ย่อมสรุปเข้าได้ใน สังขตลักษณะ ลักษณะของสิ่งที่ผสมปรุงแต่งอันเรียกว่าสังขารนั้นทั้งปวง คือ อุปาโทปัญญายติ ความเกิดปรากฏ วโยปัญญายติ วัยคือความเสื่อมไปปรากฏ ฐิตัสสะ อัญญะขัตตัง ปัญญายติ เมื่อยังตั้งอยู่ ความแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างอื่นปรากฏ เพราะฉะนั้นสังขารทั้งปวงจึงต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป ต้องเกิดต้องดับ ความพิจารณาให้เห็นวิปรินามทุกข์ ทุกข์คือความแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปดั่งนี้ ย่อมจะทำให้ได้มองเห็นไตรลักษณ์ชัดขึ้น จะทำให้ได้ปัญญาเห็นแจ้งรู้จริง ใน อนิจจตา ความเป็นของไม่เที่ยง ทุกขตา ความเป็นทุกข์ อนัตตา ความเป็นของมิใช่อัตตาตัวตนในสังขารทั้งปวง
และท่านแสดงว่าผู้ที่พิจารณามองเห็นทุกข์ เมื่อได้ปัญญาเป็นวิปัสสนาปัญญารู้แจ้งเห็นจริง ย่อมจะได้ ธรรมจักษุ คือดวงตาเห็นธรรม ว่า ยังกิญจิ สมุทยธัมมัง สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สัพพันตัง นิโรธธัมมัง สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับไปเป็นธรรมดา คือมองเห็นเกิดดับ ดั่งนี้ก็คือเห็นวิปรินามทุกข์ และเมื่อเห็นวิปรินามทุกข์ ก็เป็นอันว่าได้เห็น ทุกขทุกข์ ทุกข์คือทุกข์ สังขารทุกข์ ทุกข์คือสังขาร พร้อมทั้งวิปรินามทุกข์ ทุกข์คือความแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป
ต่อจากนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป