แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้ จักแสดงธรรมเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
ธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงแสดงสั่งสอนก็เพื่อให้พ้นทุกข์ ตั้งต้นแต่ให้พ้นจากทุกข์ในโลกเช่นภัยเวรต่างๆ ตลอดจนถึงความเป็นผู้ไม่มีหนี้สินเป็นต้น ด้วยทรงสั่งสอนให้ถึงพร้อมด้วยความขยันหมั่นเพียรเล่าเรียนศึกษา ประกอบอาชีพการงาน เพื่อให้ได้ทรัพย์มาเป็นเครื่องทะนุบำรุงชีวิตให้มีความผาสุก ให้ถึงพร้อมด้วยการรักษาทรัพย์สมบัติที่หามาได้ ตลอดจนถึงการงานที่ประกอบกระทำ ให้ตั้งมั่นเป็นสมบัติคือเป็นความถึงพร้อม ให้คบเพื่อนมิตรที่ดีงาม และให้ใช้จ่ายตามกำลังแห่งทุนทรัพย์ที่หามาได้ มิให้เบียดกรอนัก มิให้ฟูมฟายนัก เป็นอันว่าได้พ้นจากความทุกข์ อันเกิดจากความไม่มีทรัพย์ที่ควรจะมี ไม่ขัดข้องในการที่จะบริโภคใช้สอย ไม่ประกอบการงานที่มีโทษ ไม่มีหนี้สิน ก็เป็นอันว่าได้ประสบความสุขในโลกปัจจุบัน และทรงสั่งสอนให้พ้นจากความทุกข์ในอบาย คือในภพหรือในภาวะที่ไม่เจริญ ที่ตกต่ำประกอบด้วยทุกข์ ทั้งในปัจจุบัน ทั้งในภายหน้า
ความเชื่อในสิ่งที่ควรเชื่อ
ด้วยทรงสั่งสอนให้ถึงพร้อมด้วยศรัทธา ความเชื่อในสิ่งที่ควรเชื่อ ประกอบด้วยปัญญาพิจารณา ไม่เชื่องมงาย โดยตรงก็คือเชื่อในความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า อันรวมถึงเชื่อในคำสั่งสอนของพระองค์ จึงเชื่อในกรรม เชื่อในวิบากคือผลของกรรม และเชื่อในความที่สัตว์มีกรรมเป็นของๆ ตน ทรงสั่งสอนให้ประกอบด้วยศีล เว้นจากความประพฤติที่เป็นภัยเป็นเวรทั้งหลาย ทรงสั่งสอนให้ถึงพร้อมด้วยจาคะคือการสละบริจาคช่วยเหลือเกื้อกูล ทรงสั่งสอนให้ถึงพร้อมด้วยปัญญาคือความรู้จักบาปบุญคุณโทษประโยชน์มิใช่ประโยชน์ เมื่อปฏิบัติดั่งนี้ก็ทำให้บรรลุถึงความเจริญทางกายทางวาจาทางใจ ไม่ตกต่ำ ไม่เป็นทุกข์ เพราะภัยเวรบาปอกุศลต่างๆ จึงมีความสุขทั้งในปัจจุบัน และสืบต่อไปในภายหน้า ทั้งในโลกนี้ทั้งในโลกอื่น
อนึ่ง ทรงสั่งสอนให้พ้นจากวัฏฏทุกข์ ทุกข์คือความเวียนว่ายตายเกิด ดังที่ได้ตรัสแสดงถึงทุกขสัจจะสภาพที่จริงคือทุกข์ ตั้งต้นแต่ทุกข์คือชาติความเกิด ทุกข์คือชราความแก่ ทุกข์คือมรณะความตาย อันเป็นสภาวะทุกข์ ทุกข์ตามสภาพ ตลอดจนถึงทุกข์ทางจิตใจ ซึ่งทุกข์ทั้งปวงนี้ก็เกิดจากตัณหาคือความดิ้นรนทะยานอยากไปต่างๆ การปฏิบัติเพื่อให้พ้นวัฏฏทุกข์ นี้ ก็เป็นข้อที่ผู้ปฏิบัติธรรมะจะพึงปฏิบัติตั้งแต่ในเบื้องต้น แม้ว่าจะยังต้องการดำรงชีวิตอยู่ในโลก ก็ควรต้องปฏิบัติในทางดับวัฏฏทุกข์ด้วย จึงจะพบความสุขของจิตใจอย่างแท้จริง แม้ว่าจะยังดับตัวทุกข์สมุทัยคือตัณหามิได้ ก็สามารถที่จะเป็นนายของตัณหาได้ ไม่เป็นทาสของตัณหา ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ตัณหาทาโส เป็นทาสของตัณหา หรือ ตัณหาทาสี เป็นทาสของตัณหา
ทุกข์ปัจจุบัน ทุกข์ภายหน้า
บุคคลที่เป็นทาสของตัณหานั้น ย่อมมีความทุกข์อย่างยิ่ง เพราะจะถูกตัณหา คือความดิ้นรนทะยานอยากในจิตใจของตนเอง มาบังคับขับไสให้ประกอบกรรมต่างๆ เพื่อสนองตัณหาคือความดิ้นรนทะยานอยาก เมื่อเป็นดั่งนี้จึงไม่อาจที่จะละบาปอกุศลทุจริต ประกอบบุญกุศลสุจริตต่างๆ ได้อย่างตามสมควร หรือว่าได้อย่างมาก
เพราะการปฏิบัติที่จะสนองตัณหาคือความดิ้นรนทะยานอยากนั้น ถ้าเป็นตัณหาอย่างแรงอันแสดงออกมาเป็นโลภโกรธหลงอย่างแรง ก็จะต้องฆ่าเขาบ้าง ลักของเขาบ้าง ประพฤติผิดในกามบ้าง พูดเท็จหลอกลวงเขาบ้าง ตลอดจนถึงดื่มสุรายาเมาอันเป็นทางที่ตั้งของความประมาทต่างๆ จึงเป็นเหตุทำลายความสุขที่จะพึงได้ทั้งในปัจจุบัน และทั้งในภายหน้า ไม่สามารถที่จะพ้นจากทุกข์ในปัจจุบัน ไม่สามารถที่จะพ้นจากอบายทุกข์ได้ เพราะฉะนั้นคนเป็นอัน(มาก)จึงต้องประสบความทุกข์ต่างๆ ในปัจจุบันและในภายหน้ากันอยู่เป็นอันมาก ควรที่จะประสบความสุขก็ไม่สามารถที่จะประสบความสุขได้ แม้ว่าจะมีเครื่องแวดล้อมอันน่าจะทำให้อยู่เป็นสุขในปัจจุบัน เช่นประกอบด้วยลาภยศสรรเสริญสุขต่างๆ อยู่ในปัจจุบัน ควรที่จะเสวยลาภยศสรรเสริญสุขในปัจจุบันนี้ให้ชีวิตมีความสุข แต่เมื่อเป็นทาสของตัณหาแล้วก็จะไม่ได้รับความสุขจากลาภยศสรรเสริญสุขนั้น และกลับที่จะใช้ลาภยศสรรเสริญสุขนั้นไปประกอบกรรมที่ชั่วต่างๆ เพื่อสนองตัณหาคือความดิ้นรนทะยานอยาก (เริ่ม) และแม้ว่า จะไม่ใช้ประกอบกรรมที่ชั่วอะไรมากนัก แต่ก็ไม่พบความสุขทั้งทางจิตใจ ทั้งทางกายในปัจจุบัน เพราะอำนาจของความดิ้นรนทะยานอยาก ยึดถือต่างๆ แผดเผาจิตใจ กลุ้มรุมจิตใจให้มีความทุกข์ และเมื่อประกอบกรรมที่ชั่วที่ผิดต่างๆ ก็ยิ่งจะได้รับผลเป็นอบาย คือความตกต่ำเสื่อมทรามสืบต่อไปในภายหน้า อันเป็นตัวอบายทุกข์ด้วย
สุขปัจจุบัน สุขภายหน้า
เพราะฉะนั้นแม้จะรู้สึกตนเองว่า ยังมีตัณหาคือความดิ้นรนทะยานอยาก และพอใจที่จะอยู่กับตัณหาคือความดิ้นรนทะยานอยาก เป็นโลกิยะคือเกี่ยวข้องอยู่กับโลก ก็ไม่ควรที่จะเป็นทาสของตัณหา เมื่อมีตัณหาอยู่ ก็ให้เป็นนายของตัณหาคือความดิ้นรนทะยานอยาก และเมื่อนายของตัณหาคือตนเอง ประกอบด้วยศรัทธาปัญญาในพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ก็จะได้อาศัยตัณหาประกอบกรรมที่ดีที่ชอบ คือให้อยากประกอบกรรมที่ดีที่ชอบ ขวนขวายประกอบกรรมที่ดีที่ชอบต่างๆ ยิ่งๆ ขึ้นไป เมื่อเป็นดั่งนี้แล้วก็จะสามารถบรรลุถึงความสุขทั้งในปัจจุบัน และทั้งในภายหน้า และเมื่อศรัทธาปัญญาเจริญเติบโตขึ้นมาก็จะละตัณหาได้ในที่สุด ได้ในข้อที่ว่าอาศัยตัณหาละตัณหาเสีย ดั่งนี้
เอกะวิหารี
การที่จะปฏิบัติดั่งนี้ได้ ก็ต้องอาศัยการปฏิบัติในทางละวัฏฏทุกข์ คือละตัณหา คือความดิ้นรนทะยานอยากนั้นเอง ตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้ จึงจะทำตนให้เป็นนายของตัณหาได้ ไม่ต้องเป็นทาสของตัณหา การที่ปฏิบัติดั่งนี้วิธีหนึ่งพระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอนไว้แก่พระภิกษุรูปหนึ่งชื่อว่า มิคะชาละ ท่านมิคะชาละได้กราบทูลถามพระพุทธองค์ว่า บุคคลที่ได้ชื่อว่า เอกะวิหารี คือเป็นผู้อยู่ผู้เดียว มิใช่อยู่โดยมีเพื่อนสอง ด้วยการปฏิบัติอย่างไร พระพุทธองค์ได้ตรัสตอบมีความว่า บุคคลที่จะชื่อว่าเอกะวิหารีอยู่ผู้เดียว มิใช่อยู่ด้วยมีเพื่อนสองนั้น ก็จะต้องปฏิบัติให้ตรงกันข้ามกับบุคคลที่ชื่อว่า มิใช่อยู่ผู้เดียว แต่ว่าอยู่ด้วยมีเพื่อนสอง
นันทิ ความเพลินติดใจยินดี
จึงได้ทรงแสดงถึงบุคคลที่มิใช่อยู่ผู้เดียว แต่อยู่ด้วยมีเพื่อนสองก่อน มีใจความว่า อันรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะสิ่งถูกต้อง และธรรมะคือเรื่องราวที่น่าใคร่น่าปรารถนาน่าพอใจ เป็นปิยะรูปคือเป็นสิ่งที่น่ารักใคร่ เป็นสิ่งที่ชวนให้ปรารถนา เป็นที่ตั้งแห่งความติดใจยินดีมีอยู่ ถ้าว่าภิกษุอภินันท์คือพอใจชมเชยหรือว่าชมชื่น ก็ย่อมจะมีนันทิคือความเพลิน เมื่อมีนันทิคือความเพลินก็ย่อมมีความติดใจ เมื่อมีความติดใจก็ย่อมจะมีความผูกพัน และเมื่อเป็นไปอยู่ดั่งนี้ แม้ว่าภิกษุนั้นจะอยู่ในป่าในสุมทุมพุ่มไม้อันเป็นที่สงบสงัด เป็นที่อันเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการความสงบสงัด ก็ไม่ชื่อว่าเป็นผู้อยู่ผู้เดียว อันเรียกว่าเอกะวิหารี แต่ว่าชื่อว่าอยู่ด้วยมีเพื่อนสอง เพื่อนสองนั้นก็คือตัณหา ความดิ้นรนทะยานอยาก อันหมายถึงอาการที่มีความเพลิน มีความติดใจ มีความผูกพัน อยู่ในรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะและธรรมะคือเรื่องราวดังกล่าวนั้นๆ เอง ยังละตัณหามิได้
ต่อจากนี้จึงทรงแสดงถึงผู้ที่อยู่ผู้เดียว มิใช่อยู่ด้วยมีเพื่อสองในทางตรงกันข้าม ซึ่งมีใจความว่ารูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะและธรรมะคือเรื่องราว ซึ่งน่ารักใคร่ปรารถนาพอใจ เป็นสิ่งที่เป็นที่รักอันเรียกว่าปิยะรูป ชวนให้ต้องการปรารถนา เป็นที่ตั้งของความติดใจมีอยู่ ถ้าภิกษุไม่อภินันท์ คือไม่พอใจ ไม่ชอบใจ ไม่ชมชื่น ก็ย่อมจะไม่มีนันทิคือความเพลิน เมื่อไม่มีนันทิคือความเพลิน ก็ไม่มีความติดใจรักใคร่ปรารถนา เมื่อไม่มีความติดใจก็ย่อมไม่มีความผูกพัน ดั่งนี้แหละชื่อว่าเป็นผู้ที่อยู่ผู้เดียว มิใช่อยู่ด้วยเพื่อนสอง ก็เพราะว่าละตัณหาคือความดิ้นรนทะยานอยากเสียได้ ดั่งนี้
และก็ได้ตรัสต่อไปว่าภิกษุที่ชื่อว่าอยู่ผู้เดียวมิใช่อยู่ด้วยมีเพื่อนสอง ดั่งนั้น แม้ว่าจะอยู่ในที่สุดบ้าน ดังที่เรียกว่าเป็น คามวาสี ยังเกลื่อนกล่นไปด้วยบุคคลทั้งหลาย และยังมีเสียงที่ไม่สงบเหมือนอย่างถิ่นที่เป็นบ้านเป็นเมือง แม้เช่นนั้น ก็ชื่อว่าเป็นผู้อยู่ผู้เดียว มิใช่อยู่ด้วยมีเพื่อนสอง เพราะละตัณหาคือความดิ้นรนทะยานอยากเสียได้ ดั่งนี้
หลักปฏิบัติที่มุ่งถึงจิตใจ
ตามพระพุทธภาษิตนี้ เป็นคำสั่งสอนที่ทำให้มองเห็นหลักปฏิบัติทางพุทธศาสนา ที่มุ่งเข้ามาโดยตรงถึงการปฏิบัติทำจิตใจนี้เอง ให้สงบสงัดเป็นประการสำคัญ และในการปฏิบัติทำจิตใจให้สงบสงัดนั้น ก็คือเป็นการปฏิบัติทำจิตใจให้พ้นทุกข์ ไม่อยู่กับทุกข์ ถ้าจิตใจยังไม่พ้นทุกข์ ยังอยู่กับทุกข์ จะอยู่ในป่าหรืออยู่ในบ้านก็ยังเป็นทุกข์อยู่นั้นเอง
อันจิตใจที่อยู่กับทุกข์ไม่พ้นทุกข์นั้น ก็คือจิตใจที่ยังมีความพอใจชมชื่น เพลิดเพลิน ติดใจรักใคร่ยินดี ผูกพันอยู่ในรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะสิ่งถูกต้อง และธรรมะคือเรื่องราว ที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจทั้งหลายซึ่งได้ประสบพบพานทางตาหูจมูกลิ้นกายและใจนี้เอง แม้ว่าจะหลบไปอยู่ในป่าอันเป็นที่สงบสงัดไม่มีผู้คนพลุกพล่าน ตาหูจมูกลิ้นกายก็ดูเหมือนสงบสงัด คือตาก็ไม่เห็นอะไรที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจ เห็นแต่ต้นไม้ภูเขา หูก็ไม่ได้ยินเสียงอะไรที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจ แต่ว่าอายตนะข้อที่ ๖ คือมโนใจนี้ยังมีความพอใจชื่นชมเพลิดเพลินติดใจผูกพัน อยู่ในรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะและธรรมะคือเรื่องราวต่างๆ ที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจทั้งหลาย โดยที่ยังหน่วงคิดไปถึงสิ่งเหล่านี้อยู่แล้ว ก็เป็นอันว่ายังอยู่กับทุกข์ ยังไม่พ้นทุกข์
อันสิ่งเหล่านี้ยังไม่มองเห็นว่าเป็นตัวทุกข์ แต่ยังมองเห็นว่าเป็นตัวสุข หรือเป็นตัวเหตุให้เกิดสุขอยู่ เมื่อเป็นดั่งนี้จึงเท่ากับว่ายังชื่นชมยินดีอยู่ในตัวทุกข์ หรือในสิ่งที่เป็นทุกข์ ยังไม่มองเห็นทุกข์ เมื่อเป็นดั่งนี้ก็ชื่อว่ายังเป็นทาสของตัณหา ยังอยู่กับตัณหา ยังมีตัณหานี้เป็นตัวเพื่อนอยู่ด้วยกัน ยังไม่พรากออกไปได้ ยังไม่ใช่ตัวคนเดียว ยังมีตัณหาเป็นเพื่อนอยู่อีกหนึ่ง คือยังมีเพื่อนสอง เมื่อเป็นดั่งนี้จึงไม่พ้นทุกข์ ยังอยู่กับทุกข์ จะอยู่ในป่าหรืออยู่ในบ้าน ก็อยู่กับทุกข์เหมือนกัน
ข้อปฏิบัติให้มองเห็นทุกข์
เพราะฉะนั้น จึงต้องการที่จะปฏิบัติให้มองเห็นสิ่งเหล่านี้ว่าเป็นตัวทุกข์ รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะธรรมะคือเรื่องราวเหล่านี้นี่แหละ ให้มองเห็นว่าเป็นตัวทุกข์ เป็นตัวเหตุเกิดทุกข์ ไม่ใช่เป็นตัวสุข เป็นตัวเหตุให้เกิดสุข ทั้งนี้ก็ด้วยใช้ปัญญาพิจารณาให้มองเห็นว่าสิ่งเหล่านี้ เป็นตัวทุกข์ที่ทำให้เกิดทุกข์ต่างๆ ได้สถานหนึ่ง ให้เห็นว่าเป็นตัวสังขารคือสิ่งผสมปรุงแต่ง ซึ่งต้องเกิดต้องดับ ก็คือไตรลักษณ์นั้นเอง อย่างหนึ่ง ให้เห็นว่าเป็นสิ่งที่ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปอีกอย่างหนึ่ง ดั่งนี้
เมื่อมองเห็นดั่งนี้จึงจะเห็นทุกข์ และเมื่อเห็นว่าเป็นทุกข์แล้วก็จะไม่ต้องการ ใจก็จะไม่ยินดีพอใจ ไม่ชมชื่น ไม่เพลิดเพลิน ไม่ติดใจ ไม่ผูกพัน เพราะเมื่อเห็นว่าเป็นตัวทุกข์แล้วก็ย่อมจะไม่ผูกพัน จะไปผูกพันไปต้องการทำไมเมื่อเห็นว่าเป็นตัวทุกข์ ที่ยังผูกพันยังพอใจอยู่ก็เพราะเห็นว่าเป็นตัวสุข ก็คือเป็นที่น่ารักใครปรารถนาพอใจ แต่ถ้าเห็นว่าเป็นตัวทุกข์แล้ว ก็จะเห็นว่าไม่ใช่เป็นที่น่ารัก น่าใคร่ น่าปรารถนาพอใจ ไม่ใช่เป็นสิ่งซึ่งจะพึงเป็นที่รัก ไม่ใช่สิ่งที่จะพึงปรารถนาต้องการ ไม่ใช่เป็นสิ่งที่จะพึงติดใจยินดี
อันนี้แหละเป็นข้อปฏิบัติอันสำคัญ หากว่าทำได้ เห็นทุกข์ในสิ่งที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจ ในสิ่งที่เข้าใจว่าเป็นสุขเหล่านี้ได้แล้ว จึงจะพ้นทุกข์ได้ คือจะเป็นนายของตัณหาได้ ดับตัณหาได้ตามภูมิตามชั้น
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป