แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิตในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์ พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์ เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
ตั้งสติพิจารณากายเวทนาจิตธรรมในสติปัฏฐานที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงสั่งสอนไว้ ทั้ง ๔ ข้อนี้ย่อมรวมกันอยู่ในกายและจิตนี้ของทุกๆ คนดั่งในบัดนี้เมื่อตั้งสติกำหนดลมหายใจเข้าออก หายใจเข้าก็ให้รู้ หายใจออกก็ให้รู้ก็เป็นตั้งสติกำหนดกายพิจารณากาย และเมื่อกายคือลมหายใจเข้าออกปรากฏเวทนาก็ย่อมตั้งอยู่ที่กายนี้ จิตก็ย่อมตั้งอยู่ที่กายนี้และทั้งหมดนี้ก็เป็นตัวธรรม อารมณ์ที่ตั้งอยู่ในจิต เพราะฉะนั้น ทั้ง ๔ นี้จึงรวมกันอยู่เป็นแต่เพียงว่าเมื่อตั้งสติกำหนดข้อไหน ข้อนั้นก็ปรากฏขึ้นแก่สติและข้ออื่นก็รวมเข้ามา
ความเป็นไปของกายเวทนาจิตธรรม
และเมื่อตั้งสติกำหนดในกาย คือลมหายใจเข้าออก เมื่อสติตั้งมั่นกายละเอียดเข้าเวทนาก็ปรากฏชัดขึ้น ก็จับเวทนารู้สุขรู้ทุกข์หรือเป็นกลางๆ ไม่ทุกข์ไม่สุขได้และเมื่อเวทนาปรากฏชัด จิตก็ปรากฏ ธรรมะในจิตก็ปรากฏและทั้งหมดนี้ก็รวมกันเป็นธรรมะอยู่ในจิตด้วย เป็นตัวธรรม
และในการปฏิบัติทำสตินั้น หัดใช้ปัญญากำหนดดูกระแสของจิต ซึ่งเป็นไปเพราะความเป็นไปของกายเวทนาจิตธรรมนี้ กายย่อมปรุงเวทนา เวทนาย่อมปรุงจิต ก็เป็นธรรมะขึ้นในจิต หัดกำหนดในสายธรรม คือจับเอาอายตนะภายในภายนอกที่ประจวบกัน ซึ่งปรากฏการประจวบกันอยู่เสมอ ตากับรูป หูกับเสียง จมูกกับกลิ่น ลิ้นกับรสกายและโผฏฐัพพะ สิ่งที่กายถูกต้อง มโนคือใจ กับธรรมะ คือเรื่องราว เมื่อลืมตาขึ้นก็ย่อมเห็นรูป เสียงมากระทบหูก็ย่อมได้ยินเสียง กลิ่นมากระทบจมูกก็ย่อมทราบกลิ่น รสมากระทบลิ้นก็ย่อมทราบรส โผฏฐัพพะมาถูกต้องกายก็ย่อมทราบโผฏฐัพพะ แม้ว่าความเย็นความร้อน เหลือบยุงอะไรเป็นต้น ก็เป็นโผฏฐัพพะ คือสิ่งที่มากระทบกายให้ทราบเย็นทราบร้อนเป็นต้น และแม้ยังไม่รับทางอายตนะทั้ง ๕ ข้างต้นดังกล่าวมานี้ ธรรมะคือเรื่องราวก็ยังโผล่ขึ้นในใจเป็นเรื่องนั้นเรื่องนี้ ที่ได้ประสบพบเห็นมาแล้วได้ยินได้ฟังมาแล้วเป็นต้นเมื่อวานนี้ วานซืนนี้ เช้านี้ เหล่านี้
จิตผูก สัญโญชน์เกิด
หัดทำสติกำหนดอายตนะภายในภายนอกที่มาประจวบกันความที่หัดกำหนดดั่งนี้ก็จะทำให้ได้รู้วาระจิตในขณะนั้นด้วยว่าจิตผูกหรือไม่ผูก จิตผูกเรียกว่าสัญโญชน์ สัญโญชน์เกิด ถ้าจิตไม่ผูกสัญโญชน์ก็ไม่เกิดและอาการที่จิตผูกนั้นมักจะทราบ ที่ปรากฏเป็นตัวฉันทราคะความติดใจยินดีพอใจหรือว่าตัวปฏิฆะกระทบกระทั่งใจ ในเมื่อเป็นสิ่งที่ชอบก็เกิดความติดใจยินดีพอใจเมื่อเป็นเรื่องที่ไม่ชอบก็เกิดความกระทบกระทั่งใจถ้าเป็นเรื่องที่ไม่พอจะให้ชอบหรือชังก็รู้สึกเฉยๆ บางทีก็ปล่อยผ่านไปๆ เรื่องที่เป็นกลางๆ นี้จะมีผูกบ้างก็เล็กน้อย
ความชอบ ความชัง
แต่เรื่องที่ปรากฏเป็นความชอบก็ตาม เป็นความชังก็ตามต้องเป็นเรื่องที่มีความผูกอันเรียกว่าสัญโญชน์ก่อน คือใจจะต้องผูกหรือว่าสิ่งนั้นมาผูกที่ใจ ใจไม่ปล่อย และเมื่อใจผูกดั่งนี้จึงเกิดความชอบหรือความชังตัวความชอบหรือความชังนี้แยกกันยากกับตัวความผูกเพราะฉะนั้นท่านจึงชี้เสียทีเดียวว่าสัญโญชน์คือความผูกนั้นก็คือตัวฉันทราคะชี้เอาฉันทราคะความติดใจยินดีพอใจขึ้นมาเป็นประธาน
แต่เมื่อพิจารณาดูแล้วก็จะเห็นว่าถ้าเป็นสิ่งที่ไม่ชอบใจก็ย่อมจะเกิดปฏิฆะความกระทบกระทั่งใจแต่ว่าปฏิฆะคือความกระทบกระทั่งใจนี้ก็จะต้องมาจากสัญโญชน์คือความผูกก่อนต้องมีสัญโญชน์คือความผูกก่อน พิจารณาดูให้ดีจึงจะพบตัวสัญโญชน์คือความผูกนี้คือในขณะที่ปล่อยจึงจะเห็นว่าปล่อยยาก เวลาชอบก็ถอนความชอบยากเวลาชังก็ถอนความชังยาก ตอนนี้เมื่อพิจารณาดูก็จะเห็นว่า เพราะเหตุว่าถอนความผูกไม่ได้นั้นเองคือใจผูก ใจไม่ปล่อย ถ้าใจปล่อยได้ไม่ผูก ชอบหรือชังก็ตกไปแต่ที่ชอบหรือชังนั้นยังครอบงำจิตใจอยู่ก็เพราะว่าใจผูก
การปฏิบัติที่เป็นปัจจุบันธรรม
ความกำหนดจับวาระจิตหรือกระแสจิตในขณะที่อายตนะภายในภายนอกประจวบกันอยู่เป็นประจำนี้ถ้าหากทำใหม่ๆ ก็จะจับไม่ค่อยจะทัน แต่ว่าถ้าหากจับพิจารณาอยู่บ่อยๆ ก็จะจับได้มากขึ้นและการที่จับพิจารณาอยู่บ่อยๆ นี้ อันที่จริงก็เป็นการปฏิบัติที่เป็นปัจจุบันธรรมนี้เองคือว่าตั้งสติกำหนดอายตนะภายในและภายนอกที่ประจวบกันอยู่ที่เป็นปัจจุบันนี้แหละให้มีสติกำกับอยู่ ดั่งนี้เป็นการที่ปฏิบัติทำสติกันจริงๆ เป็นการปฏิบัติทำสติในการใช้และคอยจับดูตัวจิตนี้ที่ผูกหรือไม่ผูก และเมื่อเกิดความชอบหรือความชังก็ให้รู้และก็ให้รู้ว่านี่แหละเป็นตัวผูก หรือว่าเกิดจากความผูกเมื่อยังผูกอยู่เพียงไร ก็ย่อมจะมีความชอบหรือความชังอยู่เพียงนั้นเมื่อดับความผูกเสียได้ ถอนความผูกเสียได้ ความชอบหรือความชังก็ย่อมจะตกไปดั่งนี้เป็นการหัดปฏิบัติธรรมะ จะเรียกว่าเป็นขั้นธรรมานุปัสสนาก็ได้พึงอาจหัดปฏิบัติได้เป็นประจำ
และคราวนี้ก็หัดจับให้รู้จักตัวธรรมะที่บังเกิดขึ้นในจิตว่าอันตัวสัญโญชน์คือความผูกก็ดี ความชอบหรือความชังก็ดีนี้เป็น เป็นธรรมะที่เกิดขึ้นในจิตนั้นเอง แต่ว่าเป็นอกุศลธรรมส่วนสติที่กำหนดอยู่ นี่ก็เป็นสติ และอันนี้แหละที่เป็นตัวธรรมานุปัสสนาในขั้นปฏิบัติสตินี้เป็นกุศลธรรม ธรรมะที่เป็นกุศล หัดทำความรู้ และเมื่อจะหัดกำหนดให้ละเอียดขึ้นไปกว่านั้น ก็หัดกำหนดต่อไปว่าอันอายตนะภายในอายตนะภายนอกที่มาประจวบกันอยู่ นี่ก็คือตัวกายจึงอาจจะปฏิบัติตั้งสติกำหนดดูตากำหนดดูรูปตากับรูปที่มาประจวบกันว่านี่ตานี่รูป ในขณะที่ตาเห็นรูปหูกับเสียงก็เช่นเดียวกัน จมูกกับกลิ่นก็เช่นเดียวกัน ลิ้นกับรสก็เช่นเดียวกัน กายและสิ่งที่กายถูกต้องอันเรียกว่าโผฏฐัพพะก็เช่นเดียวกันมโนคือใจกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นในใจก็เช่นเดียวกัน
และโดยที่เรื่องราวที่บังเกิดขึ้นในใจนั้นก็เป็นเรื่องรูป เรื่องเสียง เรื่องกลิ่น เรื่องรส เรื่องโผฏฐัพพะนั้นเองเพราะฉะนั้นในขั้นนี้จึงได้สรุปรวมเข้าไปในคำว่ากายยังไม่ต้องแยกเอาคู่ที่ ๖ คือมโนกับธรรมะเป็นใจ เพราะว่าเรื่องทั้งหลายที่เรียกว่าธรรมะอันผุดขึ้นในใจ ก็ล้วนเป็นเรื่องรูปเสียงเป็นต้นดังกล่าว ซึ่งนับว่าเป็นส่วนรูป หรือเป็นส่วนรูปกายนั้นเอง แต่มาเป็นอารมณ์อยู่ในจิตก็เอาเป็นว่ารวมเข้าในหมวดกายไว้ก่อน ยังไม่แยกว่านี่เป็นกาย และอันนี้แหละก็จะเป็นกายานุปัสสนาได้
กายปรุงเวทนา เวทนาปรุงจิต
คราวนี้ก็กำหนดจับเวทนาต่อไปคือว่าเมื่อตากับรูปเป็นต้นซึ่งเป็นส่วนกายนั้นมาประจวบกันก็ย่อมจะเกิดความสุขบ้าง เกิดความทุกข์บ้าง เกิดความกลางๆ ไม่ทุกข์ไม่สุขบ้างเช่นว่าเมื่อตาได้เห็นรูปที่พอใจก็ย่อมจะเกิดความสุขใจเมื่อตาเห็นรูปที่ไม่พอใจก็ย่อมจะเกิดความทุกข์ใจ สุขทุกข์ดั่งนี้เป็นเวทนาที่บังเกิดขึ้นอยู่เป็นอันมาก ทุกคราวที่อายตนะภายในอายตนะภายนอกประจวบกันดั่งนี้ก็หัดทำสติกำหนดว่านี่เป็นเวทนา ก็จะเป็นเวทนานุปัสสนาคราวนี้ก็ทำความรู้ว่าเมื่อเป็นดั่งนี้จึงได้กล่าวว่ากายปรุงเวทนา
ต่อจากนี้ก็หัดกำหนดดูจิต เพราะว่าเวทนานี้เองเป็นตัวปรุงจิตสุขเวทนาก็ปรุงให้เกิดฉันทราคะหรือความชอบทุกขเวทนาก็ปรุงให้เกิดปฏิฆะหรือโทสะความชัง เวทนาที่เป็นกลางๆ ไม่ทุกข์ไม่สุขก็ปรุงให้เกิดโมหะความหลงเพราะเหตุว่าไม่รู้ตามความเป็นจริง ในตอนนี้จึงเป็นช่วงที่ขันธ์กับกิเลสต่อกันคือลำพังกายดังที่ได้แสดงในวันนี้คืออายตนะภายในภายนอกที่ประจวบกันกับเวทนาเป็นเรื่องของขันธ์ คือรูปขันธ์ เวทนาขันธ์ อันรูปขันธ์กับเวทนาขันธ์นั้นเป็นวิบากขันธ์ไม่เป็นตัวกุศล ไม่เป็นตัวอกุศลแต่อย่างไร เพราะเป็นวิบากขันธ์
คราวนี้เมื่อมาเป็นเวทนาขึ้น เวทนานี้เองก็เป็นที่ต่อของกิเลสเพราะฉะนั้น ในปฏิจจสมุปบาทจึงได้มีแสดงว่า เวทนา ปัจจยา ตัณหาเพราะเวทนาเป็นปัจจัยเกิดตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก เมื่อแสดงโดยกิเลส ๓ กองก็ได้เพราะเป็นปัจจัยให้เกิดราคะหรือโทสะหรือโมหะ ดังที่ได้กล่าวแล้วเพราะฉะนั้นจิตจึงเป็นจิตที่ประกอบด้วยราคะ ประกอบด้วยโทสะ ประกอบด้วยโมหะก็ดูเข้ามาที่ตัวจิตนี้เองว่าเป็นยังไง ในเมื่อได้มีเวทนาดั่งนั้นโดยปรกติก็ย่อมจะพบว่าจิตมีราคะหรือโทสะหรือโมหะ
จิตตานุปัสสนา
ตรงนี้แหละที่ต้องตั้งสติคอยหัดจับให้ได้ว่าที่มีราคะคือชอบก็เพราะว่าได้สุขเวทนาจากกาย จิตมีโทสะก็เพราะว่าได้ทุกขเวทนาจากกายจิตมีโมหะก็เพราะว่าได้เวทนาที่เป็นกลางๆ จากกาย และมิได้พิจารณาให้รู้หัดตั้งสติจับทำความรู้ รู้เท่าดั่งนี้ แม้ว่าจะยังรู้เท่าไม่ชัดเจนนักก็ตามแต่ก็หัดทำความรู้เท่าเอาไว้ว่าเรื่องเป็นอย่างนี้ และเมื่อเป็นดั่งนี้ ก็เป็นอันว่า ได้ปฏิบัติในจิตตานุปัสสนา พิจารณาจิตรู้จิตว่าเป็นยังไง และเมื่อได้รู้จิตว่าเป็นอย่างไรอย่างนี้ ก็ดูความเป็นอย่างไร นั้นแหละของจิต ให้พบว่า บัดนี้ความชอบเกิดขึ้น บัดนี้โทสะความชังบังเกิดขึ้น บัดนี้โมหะความหลงบังเกิดขึ้นให้รู้จักว่านี่เป็นตัวนิวรณ์ นิวรณ์ที่แบ่งไว้เป็น ๕ นั้นย่อเข้ามาก็เป็น ๓ นี่แหละราคะ โทสะ โมหะ นี่แหละ ให้ดูให้รู้จักว่าเป็นตัวนิวรณ์
รูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ
และต่อจากนี้ก็หัดพิจารณาจับให้รู้จักว่า ตัวกิเลสคือนิวรณ์ที่ย่อเป็นราคะโทสะโมหะนี้ตั้งขึ้นที่จิตเพราะอาศัยเวทนาที่เกิดจากกาย คือว่ารูปขันธ์คืออายตนะภายในภายนอกดังกล่าวมาแล้วนั้นเป็นรูปขันธ์ เป็นตัวกาย ตัวกายปรุงกันขึ้นคือว่าตากับรูปเป็นต้นปรุงกันขึ้น คือว่าเห็นรูป นี่เป็นรูปขันธ์ แล้วก็เกิด...ตัวเห็นรูปเป็นวิญญาณขันธ์ซึ่งมาก่อน แล้วจึงมาเป็นเวทนาก็หัดกำหนดดูตัวเวทนาที่บังเกิดขึ้นให้รู้จัก ดังที่กล่าวมาแล้ว ก็เป็นเวทนาขันธ์แล้วก็กำหนดดูให้รู้จักต่อไปว่า เมื่อเกิดเวทนาขันธ์แล้ว เมื่อว่าในสายของขันธ์ก็ย่อมจะเป็นสัญญาขันธ์คือจำหมาย แล้วก็เป็นสังขารขันธ์ คือคิดปรุงหรือปรุงคิดแล้วในลำดับขันธ์นั้น ท่านจึงแสดงถึงวิญญาณขันธ์ คือตัววิญญาณ อันหมายถึงว่า ตัวเห็น ตัวได้ยิน ตัวได้ทราบกลิ่น ทราบรส ทราบโผฏฐัพพะ และตัวคิดรู้เรื่องราวนั้นเองก็เป็นวิญญาณขันธ์
ในขันธ์ ๕ นั้นเอาวิญญาณขันธ์มาไว้เป็นที่ ๕ ฉะนั้นหากพิจารณาจับตัวขันธ์ข้างซ้าย กายที่ตั้งต้นด้วยอายตนะดังกล่าวมาแล้ว ตามลำดับก็จะต้องเกิดวิญญาณขึ้นก่อน อายตนะภายในภายนอกประจวบกันก็เกิดเป็นวิญญาณ ( เริ่ม ) ...คือวิญญาณขันธ์นั่นเอง ไม่ใช่เป็นวิญญาณที่เรียกกันว่าวิญญาณไปเกิดเป็นต้นนั้น แต่หมายถึงความรู้ในขณะที่อายตนะภายในภายนอกประจวบกัน ก็เกิดความรู้ขึ้น คือ การเห็น การได้ยิน การได้ทราบ การได้คิดได้รู้ดังกล่าวแล้วนั้นเอง เป็นวิญญาณขันธ์ แล้วก็เป็นสัมผัส คือกระทบถึงใจ แล้วจึงเป็นเป็นเวทนา แล้วก็เป็นสัญญา แล้วก็เป็นสังขาร คือคิดปรุงหรือปรุงคิด แล้วก็เป็นวิญญาณขึ้นมาอีก ดั่งนี้เป็นเรื่องของขันธ์
กิเลสอาศัยขันธ์ ๕
กิเลสก็อาศัยขันธ์เหล่านี้เองบังเกิดขึ้น ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่ากายปรุงเวทนาและเพราะเวทนานี้เป็นปัจจัยก็เกิดกิเลส และกิเลสนั้นที่ดำเนินไปได้ก็อาศัยสัญญาคือจำได้ อาศัยสังขารคือปรุงคิดหรือคิดปรุง แล้วก็เป็นวิญญาณคือรู้ขึ้นอีกนั้นเองกิเลสก็อาศัยขันธ์นี้แหละบังเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ก็หัดจับพิจารณาให้รู้ขันธ์ก่อนให้รู้จักรูป รู้จักเวทนา รู้จักสัญญา รู้จักสังขาร รู้จักวิญญาณขันธ์ ๕ ตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ แล้วก็หัดจับพิจารณาให้รู้จักว่าความที่ขันธ์บังเกิดขึ้น เป็นกระแสความเป็นไปของกายและจิตอยู่ในปัจจุบันนี้ก็โดยอายตนะภายในอายตนะภายนอกนี่แหละ ของทุกๆ คนที่ปฏิบัติงานอยู่ซึ่งตัวอายตนะภายในภายนอกนั้นก็คือตัวรูปขันธ์ที่ปฏิบัติงานอยู่ จึงได้เกิดเวทนาแล้วก็เป็นสัญญา เป็นสังขาร เป็นวิญญาณ ตามลำดับที่ท่านให้พิจารณา
กระบวนของขันธ์ กระบวนของกิเลส
แต่ว่าตามลำดับเกิดนั้นวิญญาณเกิดก่อนคือขันธ์อันหมายถึงว่าอายตนะภายในภายนอกประจวบกัน ก็เป็นวิญญาณขึ้นมาก่อนแล้วเป็นสัมผัส แล้วก็เป็นเวทนา เป็นสัญญา เป็นสังขาร แล้วก็เป็นวิญญาณขึ้นอีกนี้เป็นกระบวนของขันธ์ ลำพังกระบวนของขันธ์นี้เป็นกลางๆ ไม่ใช่ดี ไม่ใช่ชั่วไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล แต่ว่าเมื่อกิเลสอาศัยขันธ์บังเกิดขึ้น ตัวกิเลสนั้นเป็นตัวอกุศลแล้วมาเชื่อมกันตรงเวทนานี้เอง เมื่อขันธ์ ๕ ดำเนินไปถึงขั้นเวทนากิเลสก็มาต่อขึ้นตรงเวทนานี้เอง อาศัยขันธ์เกิดขึ้นเป็นไปและกิเลสที่เป็นไปนี้มีสัญโญชน์คือความผูกนี่แหละบังเกิดขึ้นก่อน ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นแต่ว่าในขั้นแสดงกระบวนของกิเลสที่อาศัยขันธ์บังเกิดขึ้นนั้น ท่านไม่ได้กล่าวถึงสัญโญชน์ไว้เหมือนดังที่ไม่ได้กล่าวสัมผัสเอาไว้ก่อนเวทนาในขันธ์ ๕แต่ว่าในการแสดงอย่างละเอียดแล้วจะต้องมีสัมผัสบังเกิดขึ้นก่อนเวทนาในขันธ์ ๕ ฉันใดก็ดี จะต้องมีสัญโญชน์บังเกิดขึ้นก่อน จึงจะบังเกิดกิเลสตัณหาก็ดี ราคะหรือโทสะโมหะก็ดี ดังที่ได้กล่าวแล้ว
เพราะฉะนั้นหัดกำหนดพิจารณาจับดั่งนี้ก่อน ก็จะได้สติเป็นกายานุปัสสนา เวทนานุปัสสนา จิตตานุปัสสนา ธรรมานุปัสสนาซึ่งตัวสติที่กำหนดจับนี้เอง กับพร้อมทั้งปัญญาที่หยั่งรู้ก็จะเป็นฝ่ายกุศลธรรมเมื่อสติแรงขึ้น ปัญญาแรงขึ้น ขันธ์ก็จะไม่เป็นที่อาศัยบังเกิดกิเลส หรือว่าน้อยเข้า ดับง่ายเข้าเมื่ออายตนะภายนอกภายในซึ่งเป็นตัวรูปขันธ์ปฏิบัติงานก็จะต้องเกิดเวทนาแต่เมื่อมีสติคอยกำหนดอยู่แล้วเวทนาก็จะไม่เป็นปัจจัยต่อกิเลสเข้ามาเพราะเหตุว่าจะไม่มีสัญโญชน์คือความผูก ด้วยเหตุว่ามีสติกำหนดรู้เท่าทันอยู่แต่ว่าการปฏิบัติดั่งนี้ต้องหัดปฏิบัติอยู่เสมอ ก็จะสามารถป้องกันกิเลสไม่ให้บังเกิดขึ้นได้หรือบังเกิดขึ้นแล้วก็ระงับลงได้โดยง่าย
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป