แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้พระบรมศาสดาได้ทรงแสดงธรรมะ อันเป็นสัจจะคือความจริงของจริงของแท้ รวมเข้าในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ คือทุกข์ เหตุเกิดทุกข์ ความดับทุกข์ และทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ทุกข์และเหตุเกิดทุกข์ เป็นสัจจะคือความจริงในด้านทุกข์ ความดับทุกข์ และทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ เป็นสัจจะคือความจริงในด้านดับทุกข์ พุทธศาสนาย่อมรวมลงในสัจจะทั้ง ๔ นี้ และพระบรมศาสดาก็ทรงพยากรณ์ปัญหาทั้งหลายในอริยสัจจ์นี้ ไม่ทรงพยากรณ์ปัญหานอกอริยสัจจ์ ซึ่งไม่อาจจะรู้เห็นได้ ที่ว่าไม่อาจจะรู้เห็นได้นั้น ก็คือบุคคลผู้ฟังไม่สามารถจะรู้เห็นได้ แต่อริยสัจจ์ผู้ฟังอาจรู้เห็นได้ ก็เพราะเป็นสัจจะคือความจริง ในกายอันยาววาหนึ่งมีสัญญามีใจนี้นั้นเอง ทรงแสดงอริยสัจจ์ในภายในขอบเขตแห่งกายที่ยาววาหนึ่งมีสัญญามีใจนี้ของทุกๆ คน เพราะฉะนั้นจึงอาจที่จะรู้เห็นได้ด้วยตนเอง
ทุกขสัจจะ
และ พหุลานุสาสนี คำสั่งสอนเป็นอันมากของพระองค์ ก็ทรงแสดงชี้ให้รู้จักทุกขสัจจะสภาพที่จริงคือทุกข์ อันประกอบอยู่ด้วยทุกขสมุทัย คือเหตุให้เกิดทุกข์ กายอันยาววาหนึ่งมีสัญญามีใจนี้ก็คือขันธ์ อายตนะ ธาตุ ของทุกๆ คน อันรวมเข้าเป็นนามและรูป หรือกายและใจที่หมายถึงนามและรูปนี้เอง และสิ่งนี้เองที่เป็นตัว ทุกขสัจจะ สภาพที่จริงคือทุกข์ คือกายที่ยาววาหนึ่งมีสัญญามีใจ หรือนามรูป หรือกายและใจนี้ เป็นตัวทุกขสัจจะสภาพที่จริงคือทุกข์ ประกอบอยู่ด้วยสมุทัยคือเหตุให้เกิดทุกข์
และตัวทุกข์นั้นก็จะพึงกล่าวได้ว่าเป็นทุกข์ ๒ ชั้น ที่ประกอบกันอยู่ คือเป็นตัวสภาวะทุกข์ ทุกข์ตามสภาพคือเกิดแก่เจ็บตาย ซึ่งเป็นตัวสภาวะทุกข์ ทุกข์ตามสภาพ มีแก่ขันธ์อายตนะธาตุ หรือกายใจหรือนามรูป หรือที่กล่าวว่ากายที่ยาววาหนึ่งมีสัญญามีใจนี้ของบุคคลทุกๆ คน ไม่ว่าจะเป็นนามรูปของใครก็ต้องประกอบด้วยสภาวะทุกข์อยู่ดั่งนี้ นี่เป็นทุกข์ชั้นหนึ่ง และทุกข์อีกชั้นหนึ่งก็คือทุกข์ทางจิตใจ เพราะมีตัณหาคือความดิ้นรนทะยานอยากประกอบอยู่ ก็ทำให้เกิดโสกะปริเทวะเป็นต้น อันเป็นทุกข์ทางจิตใจ หรือที่เรียกว่าปกิณกะทุกข์ ทุกข์เบ็ดเตล็ดทางใจต่างๆ อีกชั้นหนึ่งประกอบกันอยู่
ถ้าหากว่าจะเปรียบนามรูปนี้ หรือกายที่ยาววามีสัญญามีใจนี้ ก็เทียบได้กับก้อนถ่านไฟ (เริ่ม)...และตัวสภาวะทุกข์ก็เทียบได้กับไฟที่ติดอยู่กับก้อนถ่านไฟ นามรูปหรือกายใจ หรือกายที่ยาววามีสัญญามีใจนี้ จึงเป็นเหมือนอย่างก้อนถ่านไฟ ที่มีไฟติดอยู่แล้ว ก็คือไฟชาติ ไฟชรา ไฟมรณะ ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า ชาติปิทุกขา ชราปิทุกขา มรณัมปิทุกขัง ชาติความเกิดเป็นทุกข์ ชราความแก่เป็นทุกข์ มรณะเป็นทุกข์ ซึ่งติดเผาก้อนถ่านไฟคือกายใจนี้ มาพร้อมกับชาติคือความเกิด และก็เผาให้บุบสลายเรื่อยไปจนเป็นเถ้าในที่สุด ก็คือมรณะคือความตาย นี้เป็นตัว ขันธ์ อายตนะ ธาตุ กับสภาวะทุกข์ที่ประกอบกันอยู่เป็นทุกข์ชั้นหนึ่ง
ความหมายของคำว่า ทุกขสมุทัย
คราวนี้ถ้าถ่านไฟที่ประกอบด้วยไฟซึ่งเป็นตัวสภาวะทุกข์เผาอยู่นี้ วางอยู่โดยบุคคลไม่ยึดถือ บุคคลก็ไม่ร้อน แต่คราวนี้บุคคลไปยึดถือเอาก้อนถ่านไฟที่มีไฟนี้ เหมือนอย่างหยิบเอาก้อนถ่านไฟนี้มากำเอาไว้ในกำมือ ไฟก็ไหม้มือให้เกิดทุกขเวทนา เป็นความร้อนขึ้นอีกเพราะความยึดถือ นี่เป็นความทุกข์อีกชั้นหนึ่ง ที่บังเกิดทางจิตใจตลอดถึงกาย เพราะตัณหาอุปาทานของบุคคล ซึ่งเป็นตัวทุกขสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ และอันที่จริงนั้นตามคติทางพุทธศาสนา ตัณหา อุปาทาน ตัวทุกขสมุทัยนี้ย่อมเป็นตัวเหตุก่อชาติภพ คือเกิดก่อธาตุขันธ์ ซึ่งเป็นตัวทุกข์ เป็นไปตามสภาพดังกล่าวนั้นด้วย จึงชื่อว่าเป็นทุกขสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ เพราะก่อเกิดธาตุขันธ์ซึ่งเป็นตัวสภาวะทุกข์ และทั้งยังยึดถือเอาตัวธาตุขันธ์ ซึ่งประกอบด้วยสภาวะทุกข์นี้ เหมือนอย่างกำก้อนถ่านไฟนั้นไว้ในมือ ให้เกิดความร้อน ไม่ปล่อยเสีย เป็นความทุกข์ขึ้นอีกขั้นหนึ่ง เพราะฉะนั้น ทุกขสมุทัยจึงประกอบอยู่ด้วยกันในธาตุขันธ์ และในบุคคลทุกๆ คน และเพราะความยึดถือไว้ดั่งนี้ จึงเรียกว่ามีธาตุขันธ์เป็นที่ยึดถือไว้เป็นตัวเราเป็นของเรา
ตัณหาอุปาทานพร้อมกับอวิชชาชื่อว่าเป็นมาร หรือบัญญัติว่าเป็นมารในพุทธศาสนา และผู้ที่มีอยู่คือมีอวิชชาตัณหาอุปาทานดั่งนี้ก็ชื่อว่าเป็นสัตว์ และบัญญัติว่าเป็นสัตว์ที่แปลว่าผู้ข้อง และเพราะเหตุนี้จึงชื่อว่าเป็นทุกข์ และบัญญัติว่าเป็นทุกข์ ชื่อว่าเป็นโลก และบัญญัติว่าเป็นโลก
ความหมายของคำว่าโลก
คำว่าโลกๆ นี้ตามศัพท์ก็แปลว่าสิ่งที่ต้องชำรุด สิ่งใดต้องชำรุดสิ่งนั้นชื่อว่าโลก เพราะฉะนั้น โลกหรือบัญญัติว่าโลกจึงยังต้องประกอบด้วยทุกข์ และผู้ที่ยังยึดถือโลกไม่พ้นโลกจึงชื่อว่าเป็นสัตว์ สมมติบัญญัติว่าเป็นสัตว์ และก็ได้ชื่อว่ามาร สมมติบัญญัติว่าเป็นมาร คือยังมีมาร และยังมีสมมติบัญญัติว่าเป็นมารผู้ฆ่าผู้ทำลายอยู่ในตน
ฉะนั้น พระบรมศาสดาจึงได้ทรงตรัสวิสัชนาแก่ท่านพระสมิตธิ ผู้ซึ่งมากราบทูลถามว่าชื่อว่าเป็นมารบัญญัติว่าเป็นมาร ชื่อว่าเป็นสัตว์บัญญัติว่าเป็นสัตว์ ที่แปลว่าผู้ข้องผู้ติด ได้ชื่อว่าเป็นทุกข์ บัญญัติว่าเป็นทุกข์ ได้ชื่อว่าเป็นโลกบัญญัติว่าเป็นโลก ด้วยเหตุอย่างไร ได้ตรัสแสดงมีความว่า ตากับรูป และจักษุวิญญาณกับธรรมคือสิ่งทั้งหลายที่จะพึงรู้ได้ด้วยจักษุวิญญาณ หูกับเสียง และโสตวิญญาณกับธรรมคือสิ่งทั้งหลายที่จะพึงรู้ได้ด้วยโสตะวิญญาณ จมูกกับกลิ่น และฆานะวิญญาณกับธรรมคือสิ่งทั้งหลายที่จะพึงรู้ได้ด้วยฆานะวิญญาณ ลิ้นกับรส และชิวหาวิญญาณกับธรรมคือสิ่งทั้งหลายที่จะพึงรู้ได้ด้วยชิวหาวิญญาณ กายกับโผฏฐัพพะสิ่งที่กายถูกต้อง และกายวิญญาณกับธรรมคือสิ่งทั้งหลายที่จะพึงรู้ได้ด้วยกายวิญญาณ มโนคือใจกับธรรมะคือเรื่องราว
และมโนวิญญาณกับธรรมะคือสิ่งทั้งหลายที่จะพึงรู้ได้ด้วยมโนวิญญาณ มีอยู่ในที่ใด มารบัญญัติว่ามาร สัตว์บัญญัติว่าสัตว์คือผู้ติดผู้ข้อง ทุกข์บัญญัติว่าทุกข์ โลกบัญญัติว่าโลกก็มีอยู่ในที่นั้น แต่สิ่งทั้งหมดเหล่านี้ไม่มีอยู่ในที่ใด มารบัญญัติว่ามารเป็นต้น ก็ไม่มีอยู่ในที่นั้น ดั่งนี้
ความยึดถือว่าตัวเราของเรา
คำว่า มีอยู่นี้ จึงหมายถึงมีอยู่เป็นที่ยึดถือว่าตัวเราของเรานั้นเอง และที่ว่าไม่มีอยู่นั้นก็คือไม่มีอยู่เป็นที่ยึดถือว่าตัวเราของเรา ความที่มีอยู่โดยเป็นที่ยึดถือว่าตัวเราของเรานี้ จึงเหมือนอย่างที่มีก่อนถ่านไฟนี้อยู่ในมือ มือกำเอาไว้ไม่ปล่อย ไม่มีก็คือว่าไม่กำเอาไว้แต่ปล่อย และเมื่อปล่อยสิ่งทั้งหมดเหล่านี้ก็ไม่มีอยู่แก่บุคคล เพราะไม่ได้ยึดถือเอาไว้ เมื่อไฟที่เป็นตัวสภาวะทุกข์ คือไฟที่ติดอยู่ที่ก้อนถ่านไฟนี้ยังลุกติดเป็นไฟอยู่ ก็แปลว่าชาติชรามรณะที่เป็นตัวไฟที่เผาอยู่นั้นยังเผาไม่หมด อันนี้ก็ได้แก่ธาตุขันธ์ของท่านผู้ที่ถอนความยึดถือว่าตัวเราของเราในธาตุขันธ์เสียได้ คือพระพุทธเจ้าและพระพุทธสาวกทั้งหลาย ท่านเป็นพุทธะคือเป็นผู้รู้ เป็นผู้รู้พ้น ไม่ใช่เป็นผู้รู้ยึด เป็นผู้รู้พ้นคือไม่ยึด ก้อนถ่านไปที่ติดไฟอยู่ท่านไม่ได้กำเอาไว้ ท่านจึงไม่ร้อน ก้อนถ่านไฟนั้นก็ถูกไฟคือชาติชรามรณะเผาไป จนกว่าจะเป็นเถ้าไปหมดก็ดับ ก็คือดับขันธปรินิพพาน
แต่ว่าพระพุทธะ ท่านไม่ยึดท่านปล่อยท่านก็ไม่ร้อน สิ่งที่ต้องถูกไฟชาติชรามรณะเผาไปหมดนั้น ก็ไม่ใช่เป็นของท่านเพราะไม่ยึด ท่านจึงเป็นผู้พ้น และเป็นผู้ไม่แก่ไม่เจ็บไม่ตาย แก่เจ็บตายนั้นเป็นตัวไฟที่เผาก้อนถ่านไฟนั้นที่ท่านวางแล้ว ก้อนถ่านไฟนั้นเองต่างหากที่แก่ที่เจ็บ ..ที่เกิดที่แก่ที่เจ็บที่ตาย เมื่อท่านปล่อยเสียท่านก็ไม่แก่ไม่เจ็บไม่ตาย เป็นอมตะคือเป็นผู้ที่ไม่ตาย เพราะว่าท่านถอนความยึดถือเสียได้
มานานุสัย อหังการ มมังการ
อันความยึดถือดังกล่าวนี้เรียกอีกคำหนึ่งว่า มานานุสัย อนุสัยกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในจิตสันดาน อันได้แก่มานะคือความสำคัญหมายว่าตัวเราของเรา อันเรียกว่า อหังการ มมังการ อหังการนั้นแปลว่าสร้างให้เป็นตัวเรา ทำให้เป็นตัวเรา ปรุงแต่งให้เป็นตัวเรา มมังการนั้นแปลว่าสร้างกระทำหรือปรุงแต่งให้เป็นของเรา คือทำหรือปรุงให้เป็นตัวเราให้เป็นของเราขึ้นมา ให้เป็นตัวเราก็เรียกว่าอหังการ ให้เป็นของเราก็เรียกว่ามมังการ เป็นมานานุสัยกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในจิตสันดานคือตัวมานะ ความสำคัญหมายว่าตัวเราของเรา หรือเรียกว่า อัสมิมานะ ความสำคัญหมายว่าเรามีเราเป็น อันเป็นกิเลสละเอียดที่มีอยู่ในบุคคลทุกๆ คน เมื่อมีมานานุสัยที่เป็นตัวอหังการมมังการนี้อยู่ ย่อมจะมีความยึดถือว่าเป็นตัวเราของเราอยู่ในขันธ์อายตนะธาตุทั้งหลาย
ดังเช่นที่ได้มีแสดงถึงท่านพระอุปเสนะ ซึ่งท่านพักอยู่กับท่านพระสารีบุตร กับพระเถระภิกษุทั้งหลายใน สีตวัน อันมีงูพิษอยู่เป็นอันมาก งูพิษร้ายได้ตกต้องท่านพระอุปเสนะเถระ ท่านจึงได้บอกภิกษุทั้งหลายขอให้ยกท่านขึ้นนอนบนเตียง และรีบนำออกไปให้พ้นจากบริเวณกุฏิ ออกไปตั้งไว้ข้างนอก ก่อนที่ร่างกายของท่านจะถูกพิษของงูเผาไหม้เป็นขี้เถ้า กระจัดกระจายไป
ท่านพระสารีบุตรจึงได้กล่าวแก่ท่านว่า เราทั้งหลายยังไม่เห็นความเป็นไปอย่างอื่นของกายของท่าน ความแปรปรวนแห่งอินทรีย์ทั้งหลายของท่าน ไฉนท่านจึงได้กล่าวว่าให้รีบนำท่านออกไปให้พ้นจากบริเวณ ก่อนที่ร่างกายของท่านจะถูกเผาไหม้เป็นเถ้าธุลีไป
ท่านพระอุปเสนะจึงได้ตอบว่า ความสำคัญหมายยึดถืออันเรียกว่ามานานุสัยดังกล่าว ซึ่งเป็นตัวทำให้เกิดอหังการมมังการดังกล่าวนั้นมีอยู่ในผู้ใดว่า ตากับรูป หูกับเสียง จมูกกับกลิ่น ลิ้นกับรส กายและสิ่งที่กายถูกต้อง มโนคือใจกับธรรมะคือเรื่องราว เป็นตัวเราเป็นของเรา ความเป็นไปอย่างอื่นของกาย ความแปรปรวนปรวนไปของอินทรีย์ย่อมมีแก่ผู้นั้น แต่มานานุสัยอันเป็นตัวอหังการมมังการดังกล่าวไม่มีแก่ผู้ใด ความเป็นอย่างอื่นของกาย ความแปรปรวนของอินทรีย์ทั้งหลาย ย่อมไม่มีแก่ผู้นั้น
ก็จริงอย่างนั้น ท่านพระอุปเสนะได้ถอนมานานุสัย ซึ่งทำให้เป็นอหังการมมังการ ในขันธ์อายตนะธาตุทั้งหลายขึ้นได้หมดสิ้นแล้ว ความเป็นอย่างอื่นของกาย ความแปรปรวนของอินทรีย์ทั้งหลายจึงไม่ปรากฏ ภิกษุทั้งหลายได้หามท่านออกไปตั้งไว้ในภายนอก ร่างกายของท่านก็ถูกพิษร้ายของงูเผาทำลายเป็นเถ้าธุลีไป ดั่งนี้
เพราะฉะนั้น ทุกขสมุทัยของสามัญชนทั้งหลายจึงประกอบอยู่ด้วยกัน และก็ต้องเป็นทุกข์กัน ๒ ชั้น คือขันธ์อายตนะธาตุก็เป็นตัวสภาวะทุกข์ เหมือนอย่างเป็นก้อนถ่านไฟที่มีไฟติด คือไฟชาติชรามรณะเผาอยู่ ทุกข์อีกชั้นหนึ่งก็คือว่า บุคคลยังกำเอาก้อนถ่านไฟนี้ไว้ในกำมือ ให้ไหม้มือ ให้เป็นทุกข์ขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง ก็เป็นทุกข์กันอยู่ดั่งนี้ พระพุทธเจ้าจึงได้ทรงแสดงสั่งสอนชี้ให้บุคคลมองเห็นตัวทุกข์ กับทุกข์สมุทัยไว้เป็นอันมาก
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป