แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
ได้แสดงโพชฌงค์ หรือสัมโพชฌงค์องค์แห่งความรู้ หรือองค์แห่งความรู้พร้อม อันเป็นหลักปฏิบัติสำคัญหลักหนึ่งในพุทธศาสนา เชื่อมโยงกันอยู่กับสติปัฏฐานทั้ง ๔ ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว และเมื่อพิจารณาดูกระแสธรรมที่ได้ตรัสแสดง ย่อมจะจับความได้ว่า แม้จะเรียกว่าสติปัฏฐานแต่ก็ต้องประกอบด้วยโพชฌงค์ จึงจะส่งไปสู่ศีลสมาธิปัญญาอันสมบูรณ์ได้ และแม้กล่าวเพียงสมาธิอย่างเดียวก็ต้องประกอบโพชฌงค์ จึงจะได้สมาธิถึงอัปปนาสมาธิ เพราะว่าอันอัปปนาสมาธินั้นจะต้องมีองค์ประกอบ คืออุเบกขาอยู่ด้วย และอุเบกขาที่ประกอบนั้นจะพึงได้ก็ต้องอาศัยโพชฌงค์ส่งขึ้นมา จนถึงอุเบกขาสัมโพชฌงค์
สมาธิเป็นบาทของปัญญา
และหลักสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือเมื่อได้มีโพชฌงค์ประกอบอยู่ด้วยดั่งนี้ ย่อมจะทำให้สมาธิที่ได้เป็นสัมมาสมาธิ สมาธิอันถูกต้อง อันเป็นบาทของปัญญา คือความรู้ในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ ที่ได้ตรัสแสดงไว้สืบต่อจากโพชฌงค์ในธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน
ดังจะพึงเห็นได้ว่าการปฏิบัติทางสมาธินั้น จนถึงอัปปนาสมาธิ จนถึงฌาน รูปฌาน อรูปฌาน ได้มีมาเก่าก่อนพุทธกาล มีท่านผู้ที่ได้ออกปฏิบัติทำสมาธิจนบรรลุถึงฌาน ที่ท่านแสดงว่าเป็นเหตุให้ไปบังเกิดในพรหมโลกก็ได้มีอยู่แล้ว เมื่อพระพุทธเจ้ายังมิได้ตรัสรู้นั้น โลก เทวโลก พรหมโลก ก็ได้มีอยู่แล้วอย่างเต็มที่ ยังขาดแต่มรรคผลนิพพาน อันทำบุคคลให้เป็นอริยะ คือตัดกิเลสได้บางส่วนจนถึงสิ้นเชิง ยังไม่มีขึ้นในโลก จึงเป็นหลักที่ยืนยันว่าการปฏิบัติมาในศีลในสมาธิ ก็ได้มีมาอย่างเต็มที่แล้ว แต่เมื่อยังขาดปัญญาตัดกิเลส ก็บ่งความว่ายังมีกิเลส เมื่อยังมีกิเลส การบรรลุถึงศีลถึงสมาธิ หรือแม้ปัญญาเองก็ยังไม่ถึงที่สุด และก็ยังไม่แน่นอน เสื่อมได้
เพราะฉะนั้นแม้จะเกิดในพรหมโลกด้วยอำนาจของฌานที่ยังมีกิเลส ก็ยังมีโอกาสที่จะต้องเคลื่อนอันเรียกว่าจุติคือเคลื่อนจากภพภูมินั้น เมื่อพระพุทธเจ้าได้เสด็จอุบัติขึ้นในโลก ก็คือได้ตรัสรู้อริยสัจจ์ทั้ง ๔ ตัดกิเลสและกองทุกข์ได้สิ้น เพราะฉะนั้นจึงได้มีมรรคผลนิพพาน มีพระพุทธเจ้าพระธรรมพระสงฆ์ อย่างสมบูรณ์
ทั้งนี้ก็เพราะว่าหลักของการทำสติทำสมาธิในพุทธศาสนานั้น เป็นหลักที่จะนำไปสู่มรรคผลนิพพานได้โดยตรง คือสติก็ต้องเป็นสติปัฏฐานทั้ง ๔ และปัญญาที่ประกอบอยู่ก็จะต้องเป็นโพชฌงค์ เพราะฉะนั้นสติปัฏฐานและโพชฌงค์นี้ จึงเป็นหลักปฏิบัติที่นำไปสู่มรรคผลนิพพานโดยตรง และจะพึงเห็นได้ว่าหลักของสติปัฏฐาน ย่อมเป็นข้อปฏิบัติที่มีสตินำ ให้ได้สมาธิได้ปัญญา หรือได้สมถะ ได้วิปัสสนาโดยตรง
ปัญญาในการปฏิบัติ
และหลักของปัญญานั้นก็ต้องเป็นโพชฌงค์อันมีสตินำ ดังจะพึงเห็นได้ว่าในโพชฌงค์ข้อที่ ๒ ธัมวิจยะสัมโพชฌงค์ สัมโพชฌงค์คือการเลือกเฟ้นธรรม ซึ่งเป็นตัวปัญญา และเป็นตัวปัญญาในปฏิบัติธรรมนั้นเอง คือรู้ว่าการปฏิบัตินั้นของตนเป็นอย่างไร เป็นอกุศลมีโทษ เป็นฝ่ายดำ หรือว่าเป็นกุศลไม่มีโทษ เป็นฝ่ายขาว ดังที่ได้กล่าวอธิบายแล้ว เพราะฉะนั้นเมื่อมีธรรมวิจัยอยู่อย่างนี้ จึงรู้การปฏิบัติของตนว่าเป็นอย่างไร จึงกล่าวได้ว่าธัมวิจยะสัมโพชฌงค์นั้นเป็นปัญญาในการปฏิบัติ
และตัววิจัยนั้น ก็คือตัวโยนิโสมนสิการนั้นเอง การพิจารณาจับเหตุจับผล ที่แปลว่าทำไว้ในใจโดยแยบคาย แต่ว่าโดยพยัญชนะคือถ้อยคำนั้น ก็คือการทำไว้ในใจคือพิจารณาจับตัวเหตุให้ได้ ก็เป็นอันว่าครอบคลุมถึงว่าจับเหตุจับผลนั้นเอง ในการปฏิบัติให้ถูกต้อง ว่าอะไรเป็นการปฏิบัติถูก อะไรเป็นการปฏิบัติผิด เพราะฉะนั้นจึงเป็นปัญญาในการปฏิบัติ หรือจะเรียกว่าเป็นปัญญาในกรรม การงานที่กระทำทางกายทางวาจาทางใจก็ได้
ปัญญาในกรรม หรือปัญญาในการปฏิบัตินี้เป็นสิ่งสำคัญ ถ้าหากว่ามีอยู่ก็จะทำให้ปฏิบัติศีลเป็นศีล ปฏิบัติสมาธิเป็นสมาธิ คือว่าเป็นสัมมาสมาธิ แม้ในข้ออื่นก็เช่นเดียวกัน ปฏิบัติสติเป็นสัมมาสติ สติชอบ ดั่งนี้เป็นต้น เมื่อเป็นดั่งนี้แล้ว จึงทำให้วิริยะคือความเพียรปฏิบัตินั้นถูกต้อง คือว่าละอกุศลที่มีโทษที่เป็นฝ่ายดำ แต่ปฏิบัติทำให้มีให้เป็นขึ้นในฝ่ายกุศล ที่ไม่มีโทษที่เป็นฝ่ายขาว ดั่งนี้ เมื่อเป็นดั่งนี้แล้วการปฏิบัติจึงจะเป็นศีล จึงจะเป็นสมาธิที่เป็นตัวสัมมาสมาธิ สมาธิอันถูกต้องไปโดยลำดับ จนถึงเป็นสมาธิที่ประกอบด้วยอุเบกขา เมื่อเป็นดั่งนี้แล้ว สมาธิดั่งนี้จึงเป็นบาทของปัญญาที่จะเป็นปัญญาในอริยสัจจ์ต่อไป
ปัญญาในกรรม
เพราะฉะนั้น ปัญญาในโพชฌงค์นี้จึงเป็นปัญญาในการปฏิบัติ เป็นปัญญาในกรรม นำให้ปฏิบัติศีล ปฏิบัติสมาธิ และอบรมปัญญาด้วยเองนั้นให้ถูกต้อง ในขั้นปฏิบัติ ในขั้นที่เป็นกรรมเป็นการกระทำ จนถึงได้สมาธิประกอบด้วยอุเบกขา เป็นความสงบที่ตั้งอยู่ในภายใน และเป็นความสงบที่ประกอบด้วยความรู้ มีความรู้ที่ไม่ยึด และมีความรู้ที่ปล่อยวาง ก็คือไม่ยึดและเป็นความรู้ที่สงบไม่วุ่นวาย
อันความรู้ที่มีความปล่อยวาง และเป็นความรู้ที่มีความสงบไม่วุ่นวายนี้ คือลักษณะของอุเบกขาอันประกอบอยู่ในสมาธิ และเมื่อได้สมาธิดังนี้ จะเป็นอุปจาระสมาธิก็ตาม หรือที่ยิ่งไปกว่านั้นก็ตาม ก็เป็นสัมมาสมาธิ สมาธิที่ถูกต้อง เป็นบาทของปัญญาในอริยสัจจ์ ที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสแสดงไว้สืบต่อจากโพชฌงค์ ฉะนั้นจึงสรุปในตอนนี้ว่า จะต้องมี ปัญญาในการปฏิบัติ ปัญญาในกรรมก่อน ซึ่งจะทำให้การปฏิบัตินั้นเป็นศีลจริง เป็นสมาธิอันถูกต้องขึ้นจริง คือสมาธิที่ประกอบด้วยอุเบกขาดังกล่าวนั้น เมื่อเป็นดังนี้เรียกว่าเป็นการปฏิบัติพร้อมที่จะได้ปัญญาในอริยสัจจ์ เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงได้ทรงแสดงอริยสัจจ์ทั้ง ๔ คือของจริงหรือความจริงที่ทำผู้รู้ให้เป็นอริยบุคคล และความจริงหรือของจริงอันทำผู้รู้ให้เป็นอริยบุคคลนี้...(เริ่ม) ...ได้ตรัสแสดงไว้ ก็ได้แก่ความรู้ในทุกข์ ความรู้ในสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ ความรู้ในนิโรธความดับทุกข์ ความรู้ในมรรคทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์
สภาวทุกข์ ปกิณกทุกข์
และก็ได้ตรัสแสดงอธิบายไปทุกข้อ ตั้งต้นแต่ข้อทุกข์ ก็ได้แก่ ทุกข์คือความเกิด ทุกข์คือความแก่ ทุกข์คือความตาย อันเรียกว่าเป็น สภาวทุกข์ ทุกข์ตามสภาพ คือเป็นความทุกข์ที่มีขึ้นเป็นขึ้นตามเหตุปัจจัยของตนเอง และก็ได้ทรงชี้ให้รู้จักทุกข์ทางใจ และทางกายอย่างอื่นต่อไป ก็คือความโศกแห้งใจเป็นทุกข์ ความรัญจวนคร่ำครวญใจเป็นทุกข์ ความไม่สบายกายเป็นทุกข์ ความไม่สบายใจเป็นทุกข์ ความคับแค้นใจเป็นทุกข์ ทุกข์ทางใจและทุกข์ทางกายเหล่านี้ก็บังเกิดขึ้นแก่จิตใจและแก่กาย เรียกว่าเป็น ปกิณกทุกข์ คือเป็นทุกข์เบ็ดเตล็ดต่างๆ
ซึ่งมีอธิบายว่าทุกข์ที่บังเกิดขึ้นทางใจ ก็บังเกิดขึ้นเป็นครั้งเป็นคราว บังเกิดขึ้นอย่างนั้น บังเกิดขึ้นอย่างนี้ และทุกข์ซึ่งบังเกิดขึ้นทางกาย ก็มุ่งหมายถึงความเจ็บป่วยทางกาย ที่บังเกิดขึ้นในเวลาที่มีโรคภัยไข้เจ็บ เมื่อไม่มีโรคภัยไข้เจ็บก็เหมือนอย่างไม่เป็นอะไร ก็เป็นสิ่งที่บังเกิดขึ้นบางครั้งบางคราวเหมือนกัน เพราะฉะนั้นจึงรวมเข้าในหมวดปกิณกะทุกข์ ทุกข์เบ็ดเตล็ด
แต่ว่าเมื่อเพ่งอย่างละเอียดแล้วก็มีตรัสแสดงไว้เหมือนกันว่า แม้ทุกข์ทางกายอันเรียกว่าความเจ็บป่วย โรคภัยไข้เจ็บต่างๆ นั้น อันที่จริงนั้นย่อมมีประจำอยู่ตลอดเวลา จับพิจารณาดูที่ร่างกายอันนี้ก็จะเห็น ว่ามีตัวอาพาธ มีพยาธิประจำอยู่ตลอด แต่โดยปรกตินั้นก็มีการบำบัดแก้ไขกันไปได้ อาการของพยาธิ หรือของโรค ของอาพาธจึงไม่ปรากฏ เหมือนอย่างเมื่อนั่งนานๆ เมื่อย ก็เป็นความอาพาธทางกายอย่างหนึ่งเหมือนกัน ก็เปลี่ยนอิริยาบถเสียเมื่อยก็หาย เป็นรู้สึกสบาย ซึ่งอันที่จริงความสบายนั้นปรากฏขึ้นก็เพราะมีการแก้ไขตัวทุกข์ ซึ่งนับว่าเป็นอาพาธหรือเป็นพยาธิความป่วยไข้ซึ่งมีอยู่เป็นประจำ เพราะฉะนั้นเมื่อพิจารณาอย่างละเอียดแล้ว แม้ความป่วยไข้ก็มีประจำอยู่ตลอดเวลา แต่เพราะแก้ไขไปได้ก็ไม่ปรากฏ
แม้ความโศกเป็นต้น ซึ่งเป็นทุกข์ทางใจก็เหมือนกัน เมื่อยังมีกิเลสอยู่ ก็ย่อมจะต้องมีโสกะปริเทวะเป็นต้น ประจำอยู่ในจิตตลอดไปเหมือนกัน คืออาการของจิตที่ยังมีกิเลสนั้น จะต้องมีความแห้งผากมีความรัญจวน มีความไม่สบายใจ มีความคับแค้นใจ แต่ว่าเพราะเหตุว่าแก้ไขไปได้ ก็รู้สึกว่ามีความสุขใจ มีความสบายเพราะแก้ไขได้ เป็นครั้งเป็นคราวไป แต่ว่าอย่างละเอียดนั้นก็ยังมีอยู่นั่นเอง เพราะยังมีกิเลสอยู่ เพราะฉะนั้นเมื่อพิจารณาอย่างละเอียดแล้ว ก็เป็นทุกข์ที่มีอยู่ประจำเหมือนกัน แต่ว่าเป็นทุกข์ที่แก้ไขไปได้เป็นครั้งเป็นคราว จึงปรากฏเป็นความสุขขึ้นมา จึงทำให้รู้สึกว่าเกิดขึ้นเป็นบางครั้งบางคราวไม่เสมอไป จึงได้จัดเข้าเป็นอีกหมวดหนึ่ง เป็นหมวดปกิณกะทุกข์
โสกะปริเทวะ
และต่อจากนั้นก็ได้ตรัสสรุปเข้ามาเป็น ๒ หมวด คือความประจวบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก กับความพลัดพรากจากสิ่งที่เป็นที่รัก เป็นทุกข์ เป็นตัวทุกข์ที่ทรงชี้ถึงตัวเหตุประกอบไปด้วย ก็คือทุกข์เพราะประจวบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก ทุกข์เพราะพลัดพรากจากสิ่งที่เป็นที่รัก และตัวทุกข์จริงๆ นั้นก็คือโสกะปริเทวะเป็นต้นนั่นแหละ ซึ่งบังเกิดขึ้นเพราะความประจวบ กับความพลัดพราก อันไม่เป็นไปตามความปรารถนานั้นเอง
ทุกขสมุทัย
เพราะฉะนั้นจึงได้ตรัสสรุปเข้าอีกเป็นข้อเดียว คือปรารถนาไม่สมหวังเป็นทุกข์ และเมื่อตรัสสรุปเข้าดั่งนี้แล้ว ก็จะเป็นอันว่าได้ทรงชี้ให้เชื่อมโยงไปถึงตัวสมุทัย คือตัวความปรารถนา ซึ่งได้ตรัสไว้ในข้อสมุทัย อันเป็นอริยสัจจ์ข้อที่ ๒ และก็ได้ตรัสสรุปเข้าในขันธ์เป็นที่ยึดถือทั้ง ๕ ประการว่าเป็นทุกข์ ก็คือรูปอันเป็นที่ยึดถือ เวทนาสัญญาสังขารวิญญาณอันเป็นที่ยึดถือ ทั้ง ๕ นี้รวมเข้าเป็นรูปและนาม รูปก็คงเป็นรูป นามก็ได้แก่เวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ จึงรวมเข้าเป็นรูปและนามอันเป็นที่ยึดถือ และก็เป็นอันว่าได้ทรงชี้เอาตัวอุปาทานคือความยึดถือ เป็นตัวสมุทัยคือเป็นตัวเหตุ อันบ่งถึงว่าถ้าไม่ยึดถือก็ไม่เป็นตัวทุกข์ ซึ่งเกิดเพราะกิเลส
เพราะฉะนั้นเมื่อไม่มีความยึดถือก็ไม่ต้องมีโสกะ มีปริเทวะ เป็นต้น และตัวขันธ์ ๕ หรือนามรูปนั้นเองก็ยังต้องมีสภาวะทุกข์ คือเมื่อเกิดก็ต้องมีแก่ ต้องมีตาย และก็ต้องมีป่วยเจ็บอันเป็นตัวพยาธิ แต่ก็ไม่ยึดถืออีกเหมือนกัน เพราะฉะนั้นแม้จะมีสภาวะทุกข์อยู่ ก็ไม่ยึดถือในสภาวะทุกข์นั้น เพราะฉะนั้นจึงเป็นทุกข์แก่นามรูปหรือแก่ขันธ์ ๕ เอง หรืออีกอย่างหนึ่งกล่าวได้ว่าเป็นคติธรรมดาของขันธ์ ๕ หรือนามรูปเอง ซึ่งต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย เป็นคติธรรมดา หรือเป็นตัวธรรมดา ไม่เป็นทุกข์ในอริยสัจจ์อันเกิดจากสมุทัยคือตัณหาอุปาทาน ดังที่กล่าวมานั้น
เพราะฉะนั้นจึงได้ตรัสแสดงทุกข์อริยสัจจ์นี้เป็นอริยสัจจ์ข้อแรก แต่ว่าจะมีความรู้เข้าถึงสัจจะข้อนี้ได้ ก็จะต้องได้ปัญญาในการปฏิบัติในกรรม อันเป็นข้อธัมวิจยะสัมโพชฌงค์มาก่อน และก็ได้สมาธิประกอบด้วยอุเบกขาเป็นบาท แล้วก็น้อมจิตที่ประกอบด้วยสมาธิและอุเบกขานี้ไปพิจารณา จึงจะเห็นทุกข์ได้
ต่อจากนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป