แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
วันนี้จักแสดงโพชฌงค์ ที่แปลว่าองค์ของความรู้ หรือองค์สมบัติ องค์คุณของความรู้ซึ่งเป็นตัวปัญญา
โพชฌงค์นี้เป็นหลักปฏิบัติสำคัญหมวดหนึ่ง รวมอยู่ในหมวดธรรมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน พระพุทธองค์ผู้พระบรมศาสดาได้ทรงแสดงโพชฌงค์แยกออกเป็นส่วนหนึ่งจากสติปัฏฐานก็มี ดังเช่นที่ได้ตรัสแสดงไว้ถึงหลักปฏิบัติไปโดยลำดับว่า
อินทรียสังวร ความสำรวมอินทรีย์ คือมีสติสำรวมใจเป็นไป ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจ อันเป็นอายตนะภายในทั้ง ๖ ซึ่งเรียกว่าอินทรีย์เพราะเป็นใหญ่แต่ละข้อในหน้าที่ของตน
ตาเป็นใหญ่ในทางเห็นรูป หูเป็นใหญ่ในทางฟังเสียง จมูกเป็นใหญ่ในการทราบกลิ่น ลิ้นเป็นใหญ่ในการทราบรส กายเป็นใหญ่ในทางถูกต้องสิ่งถูกต้อง มโนคือใจเป็นใหญ่ในทางคิดหรือรู้เรื่องราวทั้งหลาย (เริ่ม)... ความมีสติคอยสำรวมในขณะที่เห็นอะไร ได้ยินอะไร ได้ทราบอะไร ได้คิดได้นึกอะไร ไม่ให้สิ่งเหล่านั้นก่อกิเลสให้ไหลเข้ามาท่วมใจ ดั่งนี้ เรียกว่าอินทรียสังวร ความสำรวมอินทรีย์ ที่ตรัสสอนให้ปฏิบัติ และก็ได้ตรัสว่าเมื่อมีอินทรียสังวร ก็จะเป็นเหตุให้มีสุจริตทั้ง ๓ คือความประพฤติดีทางกาย ทางวาจา และทางใจ
เมื่อมีสุจริตทั้ง ๓ ก็จะทำให้ปฏิบัติในสติปัฏฐานทั้ง ๔ ได้ คือตั้งสติไปในกายในเวทนาในจิตในธรรม จนสติตั้งขึ้นได้ในกายในเวทนาในจิตในธรรม อันเป็นสติปัฏฐานทั้ง ๔ และเมื่อปฏิบัติในสติปัฏฐานทั้ง ๔ ได้ ก็จะปฏิบัติในโพชฌงค์ทั้ง ๗ สืบต่อไปได้ และเมื่อปฏิบัติในโพชฌงค์ทั้ง ๗ สืบต่อไปได้ ก็จะทำให้อบรมวิชชา ความรู้แจ่มแจ้งตามความเป็นจริง และวิมุติความหลุดพ้นบังเกิดขึ้นได้ดั่งนี้ นี้เป็นการที่ตรัสแสดงลำดับธรรมปฏิบัติ
อนึ่งก็ได้ตรัสแสดงอีกอย่างหนึ่ง ก็รวมโพชฌงค์ทั้ง ๗ นี้เข้าในสติปัฏฐานทั้ง ๔ ในหมวดธรรมานุปัสสนา ต่อจากหมวดอายตนะ และอีกอย่างหนึ่งได้ตรัสแสดงไว้โดยเอกเทศจำเพาะหมวดโพชฌงค์ สำหรับเป็นข้อปฏิบัติ ผู้ต้องการที่จะปฏิบัติโพชฌงค์โดยตรง ก็ย่อมจะปฏิบัติได้ แม้ว่าจะได้ตรัสแสดงโพชฌงค์ไว้ในที่ต่างๆ กันดังกล่าว คือว่าแสดงไปตามลำดับธรรมปฏิบัติต่อจากสติปัฏฐานก็มี แสดงรวมเข้าในสติปัฏฐานทั้ง ๔ ก็มี และแสดงโดยเอกเทศจำเพาะโพชฌงค์ทั้ง ๗ ก็มี อันนี้ไม่ทำให้ฟั้นเฝือ
แต่กลับเป็นการที่แสดงว่าโพชฌงค์นั้นเป็นหลักธรรมะอันสำคัญ ซึ่งจะต้องใช้ปฏิบัติในที่ทั้งปวง เมื่อต้องการจะปฏิบัติธรรมะขึ้นไปโดยลำดับ ก็จะต้องปฏิบัติในโพชฌงค์ด้วย เมื่อจะปฏิบัติในสติปัฏฐานทั้ง ๔ ก็ต้องมีโพชฌงค์รวมเข้ามาด้วย หรือแม้ว่าจะปฏิบัติโพชฌงค์โดยเอกเทศก็ปฏิบัติได้
ในวันนี้จะแสดง จะเรียกว่าลำดับปฏิบัติก็ได้ จะรวมเข้าในสติปัฏฐานทั้ง ๔ ก็ได้ หรือเรียกว่าโดยเอกเทศก็ได้ โดยที่มุ่งแสดงเป็นปัจจุบันธรรม โดยจับเอาอายตนะขึ้นมาเป็นข้อเริ่มต้น เพราะว่าในสติปัฏฐานข้อธรรมานุปัสสนา ซึ่งแสดงหมวดอายตนะนั้น เมื่อว่าตามลำดับก็เริ่มแต่นิวรณ์ แล้วก็มาขันธ์ ๕ แล้วก็มาหมวดอายตนะทั้ง ๖ จึงมาถึงหมวดโพชฌงค์
คราวนี้เมื่อแสดงเป็นปัจจุบันธรรม โดยจับเอาข้ออายตนะขึ้นมาเป็นที่ตั้งนำ จึงชื่อว่าเป็นการแสดงข้อธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐานตามลำดับดังกล่าว คืออายตนะ แล้วก็โพชฌงค์ก็ได้ และเมื่อแสดงโดยปัจจุบันธรรม จะเรียกว่าแสดงโพชฌงค์โดยเอกเทศก็ได้ เพราะอันที่จริงนั้นทุกๆ หมวดของสติปัฏฐานทั้ง ๔ ทุกๆ ปัพพะ คือทุกๆ ข้อของสติปัฏฐานเหล่านี้ และทุกๆ ข้อของโพชฌงค์ ทุกๆ ข้อของธรรมะที่เป็นไปตามลำดับปฏิบัติ ก็รวมอยู่ในกายอันยาววาหนึ่ง มีสัญญามีใจนี้นี่แหละ หรือว่ารวมอยู่ในกายและใจนี้นี่แหละ และกายและใจนี้ของทุกๆ คนก็มีอยู่ทั้งนั้น ที่ตั้งของสติปัฏฐานทั้ง ๔ กายเวทนาจิตธรรมก็มี ที่ตั้งของโพชฌงค์ก็มี แม้ว่าจะแสดงยกเอาอินทรียสังวร ยกเอาสุจริต ๓ ยกเอาสติปัฏฐาน ๔ ยกเอาโพชฌงค์ ๗ ยกเอาวิชชาวิมุติดังที่อ้างมาข้างต้นนั้น
ทั้งหมดเหล่านี้อินทรีย์ก็มีอยู่ในกายใจนี้ ก็คือตาหูจมูกลิ้นกายใจก็มีอยู่ รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะธรรมะเรื่องราวก็มีอยู่ กายวาจาใจอันเป็นที่ตั้งของสุจริตก็มีอยู่ กายเวทนาจิตธรรมก็มีอยู่ และที่ตั้งของโพชฌงค์ทั้ง ๗ ก็มีอยู่คือกายใจอันนี้นี่เอง ตลอดจนถึงที่ตั้งของวิชชาวิมุติก็มีอยู่ทั้งนั้น ก็รวมอยู่ในก้อนกายก้อนใจอันนี้ไม่ใช่ที่ไหน เพราะฉะนั้น เมื่อจะยกเอาอันใดขึ้นมา ก็ติดอันอื่นขึ้นมาเป็นพวงเดียวกันทั้งหมด
เพราะฉะนั้น เมื่อมุ่งแสดงโดยปัจจุบันธรรม ก็ให้กำหนดดูตาหูจมูกลิ้นกายและใจ ที่เป็นไปอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งทำหน้าที่รับรูป รับเสียง รับกลิ่น รับรส รับโผฏฐัพพะ รับเรื่องราวอยู่เดี๋ยวนี้ หรือว่าในเวลาที่แล้วมาก็ตาม ในเวลาต่อไปก็ตาม ในขณะที่กำลังรับอยู่ก็เรียกว่าเป็นปัจจุบันธรรม ที่รับมาแล้วก็เป็นอดีต ที่จะรับต่อไปก็เป็นอนาคต
คราวนี้ก็เอาปัจจุบันธรรมคือที่รับอยู่เดี๋ยวนี้ ที่รับอยู่เดี๋ยวนี้นั้นกำลังฟังธรรมบรรยาย ก็เป็นหน้าที่ของหูที่จะฟัง และเป็นหน้าที่ของใจที่จะตั้งใจฟังไปพร้อมกับหู และเมื่อหูฟังใจก็ตั้งที่จะฟังอยู่ ปัจจุบันธรรมเดี๋ยวนี้ก็คือฟังธรรมบรรยาย และถ้าหากว่าในขณะใดใจไม่ตั้งที่จะฟัง ใจออกไปคิดถึงเรื่องโน้นเรื่องนี้ต่างๆ หูก็ดับ ก็แปลว่าไม่ได้ยินเสียงที่อบรมนี้ กลับไปรู้ไปคิดในเรื่องอื่น เพราะฉะนั้น จึงให้มีสติพร้อมทั้งสัมปชัญญะ มีสติก็คือว่าระลึกได้ สัมปชัญญะก็คือว่ารู้ตัว คือมีความรู้ตัวอยู่ว่ากำลังฟังธรรมบรรยาย และมีสติที่จะกำกับใจ ให้ใจตั้งที่จะฟัง ก็เป็นอันว่าใจก็ฟัง หูก็ฟัง เมื่อเป็นดั่งนี้จึงจะได้ยิน หูไม่ดับ ได้ยินเสียงที่บรรยายนี้ทุกถ้อยคำไปโดยลำดับ ให้มีสติความระลึกได้พร้อมทั้งสัมปชัญญะความตั้งใจฟัง
แต่ว่าไม่ต้องการจะเรียกให้ยืดยาวว่าสติสัมปชัญญะ เรียกเอาคำเดียวว่าสติ ซึ่งมีความหมายครอบคลุมไปถึงสัมปชัญญะคือความรู้ตัวด้วย ซึ่งอาจจะรวมแปลสั้นๆ ว่าระลึกรู้ สติระลึกรู้ คือมีทั้งสติ มีทั้งสัมปชัญญะ สติก็ระลึก สัมปชัญญะก็รู้ รวมเข้าสองคำเรียกสั้นๆ รวมกันว่าสติคำเดียว และก็กล่าวได้ว่าความระลึกรู้ คือรวมสัมปชัญญะเข้าด้วยนี้เป็นตัวสติที่สมบูรณ์
ถ้าหากว่าไม่เช่นนั้นระลึกเลื่อนลอยไปก็ระลึกเหมือนกันแต่ว่าถ้ามีตัวรู้คอยดึงอยู่ คือรู้ตัว รู้ที่กำกับตัวอยู่ว่ากำลังฟังธรรมบรรยาย ก็ทำให้ตัวระลึก ระลึกอยู่ในคำที่ ..ที่แสดงไม่ไปไหนดั่งนี้จึงเป็นสติที่สมบูรณ์ แต่ถ้าหากว่าไม่มีตัวรู้คอยดึงเอาไว้ ใจก็ระลึกนึกเลื่อนลอยออกไปถึงโน่นถึงนี่ ก็ระลึกเหมือนกัน แต่ว่าไม่เรียกว่าสติในที่นี้
อันที่จริงก็สติเหมือนกันหากว่าจะเรียกว่าสติก็ได้ ดั่งที่ท่านเรียกว่ามิจฉาสติ ระลึกผิด ผิดที่ผิดทาง ตลอดจนถึงผิดที่อันตรงกันข้ามกับถูก อันหมายว่าไม่ดี ตรงกันข้ามกับดี แต่แม้ว่าไม่ถึงขนาดนั้น ระลึกผิดที่ผิดทางก็เป็นมิจฉาสติเหมือนกัน ดั่งเช่นขณะนี้กำลังฟังธรรมบรรยาย ควรที่จะระลึกไปตามถ้อยคำที่แสดง ตั้งใจฟัง นี่เรียกว่าระลึกถูกที่ถูกทาง เป็นสัมมาสติระลึกชอบ จึงต้องมีตัวรู้ รู้ตัว คอยยึดเอาไว้ไม่ให้จิตหลุดออกไป ระลึกเป็นมิจฉาสติ ระลึกผิด ก็คือผิดที่ผิดทาง ดั่งนี้ก็ไม่ได้สมาธิ เพราะฉะนั้นจึงต้องมีตัวสติระลึกรู้กำกับจิตใจอยู่ ให้จิตใจระลึกไปตามธรรมะที่แสดง ดั่งนี้เป็นตัวสติ และความระลึกที่เป็นตัวสติที่เป็นปัจจุบันธรรม คือในปัจจุบันอยู่เดี๋ยวนี้ ก็เรียกว่า สติสัมโพชฌงค์ องค์แห่งความรู้พร้อมคือสติ หรือ สติโพชฌงค์ องค์แห่งความรู้คือตัวสติได้ อันเป็นข้อที่ ๑
คราวนี้มาถึงข้อที่ ๒ ธัมวิจยสัมโพชฌงค์ องค์แห่งความรู้พร้อมคือธัมวิจยะ หรือว่า ธัมวิจยโพชฌงค์ องค์แห่งความรู้คือ ธัมวิจยะ อันคำว่าธัมวิจยะ นี้แปลว่าเลือกเฟ้นธรรม เรียกรวมกันว่าธรรมวิจัย และคำว่าวิจัยนี้ก็มาใช้ในภาษาไทย วิจัยสิ่งนั้น วิจัยสิ่งนี้ ก็คือการพิจารณาเลือกเฟ้น เลือกเฟ้นธรรม
พระพุทธเจ้าตรัสสอนเป็นหลักเอาไว้ว่า ก็คือเลือกเฟ้นธรรมว่า กุศลธรรมธรรมะที่เป็นกุศล หรืออกุศลธรรมธรรมะที่เป็นอกุศล ธรรมะที่มีโทษหรือว่าไม่มีโทษ ธรรมะที่เลวหรือว่าธรรมะที่ดี ธรรมที่ดำหรือว่าธรรมะที่ขาว
เพราะฉะนั้นจึงต้องทำความเข้าใจคำว่าธรรมะในที่นี้ ว่ามีความหมายเป็นกลางๆ ดีก็ธรรม ชั่วก็ธรรม เป็นคำกลางๆ ดังถ้าดีก็เรียกุศลธรรม ชั่วก็เรียกว่าอกุศลธรรม อันมีความหมายครอบถึงทุกๆ สิ่งทุกๆ อย่าง ดังที่เราเรียกกันว่า สิ่งนั้นดี สิ่งนั้นไม่ดี คำว่าสิ่งก็หมายถึงทุกๆ สิ่งทุกๆ อย่างนั้นเอง ดั่งนี้คือความหมายของคำว่าธรรมะในที่นี้ เพราะฉะนั้นเมื่อมีสติระลึกรู้ไปตามธรรมบรรยายที่ฟัง ก็ให้มีธรรมวิจัย คือให้เข้าใจไปด้วยว่า ข้อที่แสดงอยู่นี้ ข้อนั้นดีเป็นกุศล ไม่มีโทษ เป็นธรรมะที่ขาว ข้อนั้นไม่ดี เป็นอกุศลมีโทษ เป็นธรรมะที่ดำ
ดังเช่นที่แสดงถึงตัวสติ ที่อธิบายสติกับสัมปชัญญะ ซึ่งเรียกรวมกันว่าสติดังกล่าวนั้น และมีคำแปลที่รวมกันสั้นๆ ว่าระลึกรู้ เมื่อฟังก็มีสติกำกับใจให้ฟัง รู้ว่ากำลังฟัง ดึงจิตใจให้ๆ ฟังอยู่ ดั่งนี้เป็นตัวสัมมาสติ สติที่ถูกที่ถูกทาง ที่ชอบ ถ้าหากว่าจิตฟุ้งออกไป ไประลึกเรื่องอื่นก็เรียกว่ามิจฉาสติ ระลึกผิด ผิดที่ผิดทาง บางทีแม้ว่าเรื่องที่ระลึกนั้นจะเป็นเรื่องที่ดีก็ตาม แต่ว่าผิดที่ผิดทางผิดเวลา ไม่ใช่เป็นเวลาที่จะส่งจิตออกไประลึกเรื่องอื่น จะต้องระลึกไปตามถ้อยคำที่แสดงนี้ ดั่งนี้ก็มีความเข้าใจว่า ถ้าอย่างนี้ก็เป็นสัมมาสติ ถ้าอย่างนี้ก็เป็นมิจฉาสติ ก็เป็นธรรมวิจัยอย่างหนึ่ง คราวนี้ก็รู้ที่จิตใจนี้เองด้วย เมื่อจิตใจนี้เองระลึกถูกที่ถูกทางอยู่ ก็รู้ว่านี่เป็นสัมมาสติ ถ้าหากว่าจิตใจนี้เองระลึกผิดที่ผิดทางดังกล่าวก็เรียกว่าเป็นมิจฉาสติ ก็เรียกว่ารู้ทั้งถ้อยคำที่แสดง และรู้ทั้งความเป็นไปของจิตของตนเองว่าเป็นอย่างไร ถูกหรือผิดอย่างไร ถ้าเป็นสติ เป็นสัมมาสติถูกที่ถูกทาง หรือมิจฉาสติผิดที่ผิดทาง ดังที่กล่าวมานั้น ดั่งนี้ก็เป็นธรรมวิจัย
คราวนี้เมื่อมีธรรมวิจัยอยู่ดั่งนี้แล้ว ก็นับว่าเป็นโพชฌงค์ข้อที่ ๒ จึงมาถึงข้อที่ ๓ วิริยโพชฌงค์ หรือ วิริยสัมโพชฌงค์ โพชฌงค์หรือสัมโพชฌงค์ คือวิริยะความเพียร ก็ได้แก่ความที่มีการปฏิบัติจัดทำ ละส่วนที่ชั่วที่ผิด ส่วนที่เป็นอกุศล ส่วนที่เลว ส่วนที่ดำ อันเรียกว่า ปหานะ ปฏิบัติจัดทำละเสีย กับปฏิบัติจัดทำอบรมส่วนที่ดี ที่เป็นกุศลที่ไม่มีโทษ ที่เป็นส่วนขาว ดังเช่นเมื่อรู้ว่านี่เป็นมิจฉาสติ นี่เป็นสัมมาสติ ก็ต้องคอยเพียรที่จะละมิจฉาสติเสีย บางทีเผลอ พอรู้ตัวขึ้นก็ต้องนำใจกลับเข้ามาทันที นี่เป็นปหานะ ละมิจฉาสติ สติที่ผิดที่ผิดทางนั้นเสีย แล้วก็นำมาสู่สัมมาสติ ปฏิบัติทำสัมมาสติให้บังเกิดขึ้น
ความเพียร ๒ อย่าง
ส่วนที่ปฏิบัติจัดทำส่วนที่ดีให้เกิดขึ้นนี้เรียกว่าภาวนา เพียรนั้นจึงมี ๒ อย่าง เพียรละอันเรียกว่า ปหานะ อย่างหนึ่ง เพียรทำให้มีขึ้นเรียกว่า ภาวนา อีกอย่างหนึ่ง โดยที่ให้มีการเริ่มทำทันที และดำเนินการปฏิบัติจัดทำให้ก้าวหน้าต่อไป จนบรรลุถึงความสำเร็จ ดั่งนี้ก็เป็นโพชฌงค์ข้อที่ ๓ วิริยะสัมโพชฌงค์ หรือวิริยะโพชฌงค์
เมื่อมาถึงข้อที่ ๓ ดั่งนี้แล้ว ก็จะถึงข้อที่ ๔ ปีติสัมโพชฌงค์ หรือ ปีติโพชฌงค์ สัมโพชฌงค์หรือโพชฌงค์คือปีติความอิ่มใจ อันเป็นผลของวิริยะคือความเพียรข้อที่ ๓ นั้น เพราะว่าเมื่อมีการปฏิบัติจัดทำส่วนปหานะ ก็คือชำระธรรมะที่เป็นส่วนอกุศล เป็นส่วนมีโทษ เป็นส่วนเลว และเป็นส่วนที่ดำออกไป ปฏิบัติจัดทำธรรมะส่วนที่เป็นกุศล ที่ไม่มีโทษ ที่เป็นส่วนดี ที่เป็นส่วนขาวให้บังเกิดขึ้น ก็คือว่าทำสตินี่แหละให้บังเกิดมากขึ้นๆ และก็คอยละสิ่งที่เป็นอกุศลต่างๆ นิวรณ์ต่างๆ ที่บังเกิดขึ้น จิตใจก็จะบริสุทธิ์สะอาดขึ้นโดยลำดับ เมื่อจิตใจบริสุทธิ์สะอาดขึ้นโดยลำดับ จิตใจนี้เองก็จะเกิดความอิ่มเอิบด้วยความบริสุทธิ์ จึงปรากฏอาการเป็นปีติคือความอิ่มใจ คือใจที่บริสุทธิ์เอิบอิ่ม ไม่เศร้าหมอง เพราะบรรดาธรรมะที่เป็นอกุศลเป็นต้นดังที่กล่าวมานั้นทำให้ใจเศร้าหมองทั้งนั้น ครั้นเมื่อชำระออกไปเสียได้ อบรมส่วนที่ดีเข้ามาแทน จิตนี้ก็บริสุทธิ์ไม่เศร้าหมอง เมื่อไม่เศร้าหมองจิตก็เอิบอิ่มอยู่ด้วยความบริสุทธิ์ และดูดดื่มอยู่ในกุศลมากขึ้น เหมือนอย่างว่าดื่มน้ำที่สะอาดบริสุทธิ์ ก็ทำให้เกิดความอิ่มเอิบมากขึ้น ใจก็อิ่มเอิบต้องการที่จะดูดดื่มกุศลธรรมยิ่งขึ้นๆ ดั่งนี้ก็เป็นปีติ (เริ่ม)...อันเป็นข้อที่ ๔
และเมื่อมีปีติเป็นข้อที่ ๔ ก็จะถึงข้อที่ ๕ คือ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ หรือ ปัสสัทธิโพชฌงค์ สัมโพชฌงค์หรือโพชฌงค์คือปัสสัทธิความสงบ สงบกายสงบใจ มีสุข กายใจนี้เมื่อประกอบด้วยธรรมะที่เป็นอกุศล เป็นจิตใจที่เศร้าหมอง ก็เป็นจิตใจที่มีทุกข์ ทุกข์ที่ละเอียด หรือทุกข์ที่หยาบ แต่ว่าเมื่อเป็นจิตใจที่บริสุทธิ์ขึ้น มีปีติเอิบอิ่มในธรรม ต้องการดูดดื่มธรรมะมากขึ้น ก็มีความสุข กายใจที่เคยไม่สงบ ก็สงบ สงบนี้เองเป็นตัวปัสสัทธิ สงบกายสงบใจ มีสุข ก็เป็นโพชฌงค์ข้อที่ ๕
ก็จะถึงข้อที่ ๖ คือสมาธิสัมโพชฌงค์ หรือสมาธิโพชฌงค์ สัมโพชฌงค์หรือโพชฌงค์คือสมาธิ คือจิตใจก็จะตั้งมั่นเป็นสมาธิ ตั้งมั้นอยู่ในอารมณ์ของสมาธิที่ตั้งปฏิบัติ จะเป็นอารมณ์ของสมาธิข้อใดก็ตามที่ตั้งปฏิบัติมา เช่นว่าตั้งใจปฏิบัติทำอานาปานสติมา หรือข้อใดข้อหนึ่งอื่นก็ตาม เมื่อมีโพชฌงค์มาประกอบถึงขั้นนี้แล้ว ก็จะได้สมาธิดีขึ้น เพราะว่าอาการที่กายใจสงบมีสุขนี้เป็นที่ตั้งของสมาธิ ถ้าไม่มีสุขประกอบกับความสงบกายใจ สมาธิก็ยากที่จะตั้งได้ เหมือนอย่างบุคคลนั่งอยู่ในที่ร้อนก็นั่งไม่ติด จะต้องรีบลุกออกไป หรือต้องขยุกขยิกไม่ผาสุก แต่ว่านั่งอยู่ในที่สบาย กายใจเองก็สบายไม่เมื่อยไม่ขบ มีสุข ก็นั่งอยู่ได้นาน จิตก็เช่นเดียวกัน เมื่อจิตมีสุข มีความสงบจิตก็ตั้งอยู่ได้ดี ได้ดีในสมาธิที่ๆ ตั้งปฏิบัติมาตั้งแต่ต้น จะเป็นข้อใดก็ได้ทั้งนั้น
และหากว่าไม่ได้ตั้งปฏิบัติมาตั้งแต่ต้น เอาเป็นปัจจุบันธรรม โดยที่เริ่มปฏิบัติโพชฌงค์มาจากอายตนะ ดังที่ได้แสดงในวันนี้ ก็ยกเอาปัจจุบันธรรมคือฟังธรรมบรรยายนี่มาเป็นเริ่มต้น ก็แปลว่าไม่ได้ไปตั้งสมาธิไว้ในข้อไหนมาตั้งแต่ต้น ถ้าหากว่าไม่ได้ตั้งสมาธิข้อใดมาตั้งแต่ต้นดั่งนี้ ปฏิบัติทางโพชฌงค์เรื่อยมาจากปัจจุบันธรรมจริงๆ ดั่งนี้แล้ว เมื่อมาถึงขั้นนี้แล้วจิตก็จะสงบอยู่ภายใน ไม่ฟุ้งออกไป รวมเข้ามาเอง สงบอยู่ในภายใน และเมื่อสงบอยู่ในภายในนี้ อะไรผ่านเข้ามาทางอายตนะก็รู้ เสียงที่แสดงธรรมะนี้ก็เป็นเสียงที่ผ่านเข้ามาทางหู ก็รู้ รู้ทุกถ้อยคำของเสียงที่แสดง แต่ว่าจิตไม่ฟุ้งออกไปไหน ไม่ฟุ้งออกไปในเรื่องนั้นเรื่องนี้อะไรที่กล่าวมาข้างต้น ว่าเป็นมิจฉาสติ สติผิด ผิดที่ผิดทางดังกล่าวนั้น แต่ว่าเป็นสัมมาสติ สติชอบคือว่าถูกชอบ ถูกที่ถูกทาง สงบอยู่ในภายใน รู้แต่ไม่ออกไป
ดั่งนี้แหละคือตัวสมาธิสัมโพชฌงค์ สงบอยู่ภายใน รู้ แต่ไม่ออก อะไรเข้ามาทางหูก็รู้ อะไรเข้ามาทางตาก็รู้ ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็รู้ แต่จิตไม่ออกสงบอยู่ในภายใน และสิ่งที่เข้ามานั้นก็เหมือนอย่างว่าตกอยู่ข้างนอก ไม่เข้ามาสู่ใจ เหมือนอย่างว่าฝนตกลงมา บุคคลอยู่ในบ้านที่หลังคาไม่รั่ว ก็รู้ว่าฝนตกมากระทบหลังคา แต่ว่าก็ไม่ตกเข้ามาเปียกบุคคลที่อยู่ในห้องในบ้าน เพราะหลังคาไม่รั่ว แต่ก็รู้ว่าฝนตก เพราะฉะนั้นสมาธิในสัมโพชฌงค์นี้ก็เช่นเดียวกัน สงบอยู่ภายใน ตั้งมั่นอยู่ในภายใน ตาก็มองเห็น หูก็ได้ยิน จมูกลิ้นกายก็ทราบ ใจก็รู้ แต่ว่าสิ่งเหล่านี้ไม่รั่วเข้ามา จิตสงบอยู่ในภายใน ตั้งอยู่ในภายใน ดั่งนี้ก็คือสมาธิสัมโพชฌงค์ หรือสมาธิโพชฌงค์อันเป็นข้อที่ ๖
จึงมาถึงข้อที่ ๗ อุเบกขาสัมโพชฌงค์ หรือ อุเบกขาโพชฌงค์ สัมโพชฌงค์หรือโพชฌงค์คืออุเบกขา อุเบกขาแปลว่าความเข้าไปเพ่งดูอยู่ อันมีความหมายว่าจิตที่ตั้งสงบอยู่นั้นก็รู้ รู้อยู่ตลอดว่าจิตตั้งอยู่สงบ เหมือนอย่างคอยดูอยู่ด้วยลูกตาซึ่งจิตนั้น เป็นความที่เข้าไปเพ่งดู มีตัวรู้ด้วย รู้จิตนั้นว่าตั้งสงบ
ตัวรู้จิตนั้นที่ตั้งสงบนั้น เป็นตัวรู้ที่ไม่ออกไปเช่นเดียวกัน และเป็นตัวรู้ที่ไม่ยินดีไม่ยินร้าย เป็นตัวรู้ที่เป็นตัวรู้วาง รู้แล้วก็วาง และเมื่อวางได้ก็ไม่วุ่นวาย ความไม่วุ่นวายนี้เรียกว่าเฉย เพราะฉะนั้น จึงมีอาการที่เป็นตัวความวาง คือไม่ยึดถือ เป็นตัวความเฉยก็คือว่าไม่วุ่นวาย ไม่ดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่าย เป็นรู้ที่วาง และเป็นรู้ที่เฉยคือไม่วุ่นวายไม่กระสับกระส่าย แต่ว่ารู้ทุกอย่าง เหมือนอย่างนั่งอยู่ในบ้านในห้องที่หลังคามุงด้วยดีฝนลงมาก็รู้ และก็ฝนก็ไม่รั่วลงมารด อารมณ์ทั้งหลายที่ผ่านเข้ามา อย่างจะดูอะไร จะได้ยินอะไร จะทราบอะไร จะคิดอะไร ก็รู้ แต่ว่ารู้แล้วก็วาง ไม่วุ่นวายไม่กระสับกระส่าย สงบ ดั่งนี้คืออุเบกขาสัมโพชฌงค์ อันเป็นข้อสำคัญ อันเป็นข้อที่ ๗ ซึ่งจะต้องมีกำกับอยู่กับตัวสมาธิ จึงจะทำให้สมาธินี้เป็นสมาธิที่ก้าวหน้า เบื้องต้นก็เป็นบริกรรม ก็เป็นอุปจาระสมาธิ แล้วก็เป็นอัปปนาสมาธิ สมาธิที่แนบแน่นได้
เพราะฉะนั้น สมาธิแม้ที่เป็นอัปปนาสมาธิ สมาธิที่แนบแน่นนี้ ไม่ใช่ว่าไม่รู้ ไม่ใช่ว่าหลับ หรือไม่ใช่ว่าดับ ความหลับหรือความดับคือตัวหายไปเฉยๆ ดั่งนี้ไม่ใช่สมาธิ เป็นอาการของความหลับ เป็นถีนมิทธะอย่างหนึ่ง แต่เมื่อเป็นสมาธิแล้วยิ่งละเอียดเท่าไหร่ ก็จะต้องมีตัวรู้ ที่ตื่นที่สว่าง ที่แจ่มใสเพียงนั้น แต่ว่าเป็นตัวรู้ที่เป็นอุเบกขาดังกล่าว สงบไม่วุ่นวาย ไม่ยึดถือ แต่ว่ารู้ แล้วก็เป็นความรู้ที่รู้อยู่ในภายในไปโดยลำดับ ซึ่งบางคราวจะปรากฏเหมือนอย่างว่าไม่มีตัว แต่ว่ามีตัวรู้ อันความปรากฏเหมือนอย่างว่าไม่มีตัวนี้ ก็คือว่าเหมือนอย่างประสาททั้ง ๕ ดับหรือสงบ ประสาทตา ประสาทหู ประสาทจมูก ประสาทลิ้น ประสาทกาย ละเอียดสงบ จึงเหมือนอย่างไม่มีตา ไม่มีหู ไม่มีจมูก ไม่มีลิ้น ไม่มีกาย จึงคล้ายๆ รู้สึกว่าไม่มีตัว แต่ว่าอายตนะที่ ๖ คือมโนกับธรรมคือเรื่องราวนั้นยังอยู่ ใจไม่ดับ ใจสว่างใจตื่นใจโพลง และธรรมะที่รวมอยู่กับมโนนั้น ก็คือสติสมาธิอุเบกขานี้เอง เป็นตัวธรรมะที่ประกอบอยู่กับตัวมโน ดั่งนี้แหละจึงจะเป็นตัวสมาธิ และเป็นตัวอุเบกขา ที่เป็นสัมโพชฌงค์ที่ละเอียดประณีตยิ่งขึ้น
ต่อจากนี้ก็ขอให้ตั้งใจทำความสงบ ตั้งใจฟังสวดตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป